วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 2 ภูมิหลังของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาก่อนการปฏิวัติของฟิเดล คาสโตร)


            ชาวจีนเดินทางไปเป็นแรงงานในภูมิภาคลาตินอเมริกามาเป็นเวลานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อสเปนซึ่งเข้ามาตั้งอาณานิคมในภูมิภาคดังกล่าวได้ใช้เมืองอาคาปัลโก (Acapulco) ของเม็กซิโกเป็นเมืองท่าหลักในการทำการค้ากับจีนผ่านเมืองมะนิลาของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1565 และในบันทึกของอเล็กซานแดอร์ วอน ฮัมโบลท์ (Alexander von Humboldt) นักภูมิศาสตร์ชาวปรัสเซียซึ่งเดินทางสำรวจภูมิภาคลาตินอเมริกาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้ระบุว่าพบแรงงานชาวจีนในเกาะคิวบา[1] แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยมากจนกระทั่งในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อการผลิตน้ำตาลในคิวบาเฟื่องฟูจนกลายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของโลก และแรงงานทาสผิวดำที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ[2] สเปนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าแรงงานจากจีนอย่างจริงจัง

การมาถึงขนานใหญ่ของชาวจีนเริ่มต้นใน ค.ศ. 1847 เมื่อแรงงานจากเมืองเซี่ยเหมินในมณฑลฝูเจี้ยนจำนวน 571 คนเดินทางมายังคิวบา นับจากนั้นจนถึง ค.ศ. 1874 ก็มีการแรงงานจีนเดินทางมายังคิวบาจำนวนรวมประมาณ 126,000 คน[3] ความสำคัญของแรงงานจีนต่อเศรษฐกิจของคิวบานั้นดูได้จากในทศวรรษ 1870 ที่การผลิตน้ำตาลต้องอาศัยแรงงานจีนถึงร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมด และจำนวนชาวจีนคิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนประชากรคิวบาทั้งหมดในขณะนั้น[4] ขณะเดียวกันก็มีชาวจีนบางส่วนที่ผันตนเองจากการเป็นแรงงานมาประกอบอาชีพส่วนตัวจนเริ่มมีชุมชนจีนชานเมืองฮาวานาในทศวรรษ 1860 พวกเขาเหล่านี้ประกอบกิจการร้านอาหาร ร้านขายของชำ ร้านขายผักและผลไม้ ร้านขายสินค้าหัตถกรรม ร้านขายยาจีน รวมทั้งยังมีการตั้งสมาคมและเริ่มมีหนังสือพิมพ์จีนเมื่อ ค.ศ. 1867 อย่างไรก็ตาม อิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวจีนในคิวบามีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับดินแดนใกล้เคียงอย่างจาเมกาและตรินิแดด เพราะพวกเขาเป็นเพียงผู้ประกอบการรายย่อยและไม่สามารถผูกขาดภาคส่วนใดๆ ในระบบเศรษฐกิจของคิวบาได้[5] 

                ประตูทางเข้าย่านไชน่าทาวน์ของกรุงฮาวานา


นอกจากความสำคัญในทางเศรษฐกิจแล้ว ชาวจีนในคิวบายังมีบทบาทในด้านการต่อสู้เพื่อเอกราชของคิวบาอีกด้วย ดังที่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า โดยปกติแล้วชาวจีนโพ้นทะเลในยุคอาณานิคมมักจะมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าคนพื้นเมืองและมักจะมีความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าอาณานิคม แต่ในกรณีของคิวบานั้น ชาวจีนโพ้นทะเลกลับกลายเป็นพลังในการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม[6] ดังแสดงออกให้เห็นชัดเจนในการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจการปกครองของสเปนทั้งสองครั้ง คือ ช่วง ค.ศ. 1868 – 1878 และช่วง ค.ศ. 1895 – 1898 จนคิวบาได้เอกราชอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1902 และใน ค.ศ. 1931 ทางการคิวบาได้อนุญาตให้มีการจัดสร้างป้ายจารึกวีรกรรมของชาวจีนโพ้นทะเลในการต่อสู้เพื่อเอกราช โดยมีการจารึกข้อความของกอนซาโล เดอ เกซาดา (Gonzalo de Quesada) ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชของคิวบาที่ทำงานคู่กับโฮเซ มาร์ตี (José Martí) ซึ่งระบุว่า “ไม่มีชาวจีนในคิวบาเลยสักคนที่หนีทหาร ไม่มีชาวจีนในคิวบาเลยสักคนที่ทรยศ”[7]  

ในระดับรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาเริ่มต้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อการเพิ่มจำนวนขึ้นของชาวจีนในคิวบาในช่วงดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนสนใจความเป็นไปของพวกเขา โดยใน ค.ศ. 1877 รัฐบาลราชวงศ์ชิงของจีนได้ทำสนธิสัญญากับสเปนซึ่งระบุให้ยกเลิกการใช้แรงงานจีนในระบบบังคับทำสัญญา โดยให้มีแต่แรงงานอิสระเท่านั้น และยังต้องปฏิบัติต่อชาวจีนในสถานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation)[8] อีกสองปีถัดมาหรือตรงกับ ค.ศ. 1879 จีนก็ได้เปิดสถานกงสุลในคิวบา โดยมีหลิวเลี่ยงหยวน (Liu Liangyuan) เป็นกงสุลคนแรก และเมื่อคิวบาได้เอกราชใน ค.ศ. 1902 รัฐบาลราชวงศ์ชิงของจีนก็ให้การรับรองสาธารณรัฐคิวบาและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีเดียวกัน ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 คิวบาก็ให้การรับรองสาธารณรัฐจีนในปีถัดมา และเมื่อพรรคกั๋วหมินตั่งซึ่งปกครองสาธารณรัฐจีนพ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์จีนในสงครามกลางเมืองจนต้องย้ายรัฐบาลไปตั้งที่กรุงไทเปเมื่อ ค.ศ. 1949 ทางการคิวบาก็ยังคงให้การรับรองรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันต่อไป โดยตลอดทศวรรษ 1950 คิวบาเป็นแหล่งลี้ภัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกั๋วหมินตั่งและบรรดานักบวชนิกายคาทอลิกจากจีนแผ่นดินใหญ่เป็นจำนวนราว 3,000 คน [9]

แม้ว่ารัฐบาลพรรคกั๋วหมินตั่งจะยังคงได้รับการรับรองจากรัฐบาลคิวบา และยังมีอิทธิพลอยู่มากในหมู่คนเชื้อสายจีนในคิวบา แต่พรรคก็ไม่สามารถผูกขาดความเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ได้ทั้งหมด ดังจะเห็นได้จากการมีความเคลื่อนไหวของคนเชื้อสายจีนในคิวบาที่นิยมลัทธิมากซ์มาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 แล้วดังเช่นกรณีของโฮเซ วอง (José Wong) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับจีนในเวลาต่อมา[10] เป็นต้น และในทศวรรษ 1940 ก็เกิดการรวมกลุ่มเป็นสมาคมของคนเชื้อสายจีนในคิวบาที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ใช้ชื่อว่า “พันธมิตรแห่งชาติเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของจีน (Alianza Nacional de Apoyo a la Democracía China)” และเป็นสมาคมที่เรียกร้องให้รัฐบาลคิวบารับรองรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนหลัง ค.ศ. 1949 แต่รัฐบาลคิวบาในขณะนั้นมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ตามสหรัฐอเมริกาและได้บีบบังคับให้สมาคมดังกล่าวหยุดดำเนินการใน ค.ศ. 1951[11] อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเชื้อสายจีนยังคงมีอยู่ต่อไป โดยในช่วง ค.ศ. 1956 – 1958 ที่ฟิเดล คาสโตรกำลังทำสงครามเพื่อโค่นล้มรัฐบาลบาติสตาอยู่นั้นก็มีคนเชื้อสายจีนเข้าร่วมด้วย โดยเป็นทั้งกองกำลังอยู่ในชนบทและอีกส่วนหนึ่งดำเนินงานใต้ดินอยู่ในเขตเมือง[12] อีกทั้งบางคนถึงกับได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายทหารระดับบังคับบัญชา เช่น อาร์มานโด ชอย (Armando Choy) กุสตาโว ชุย (Gustavo Chui) มัวเสส ซิโอ วอง (Moisés Sío Wong) เป็นต้น ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงทำงานในตำแหน่งสำคัญของกองทัพคิวบาต่อไปหลังจากฟิเดล คาสโตรทำการปฏิวัติสำเร็จใน ค.ศ. 1959[13]


------------------------------------------------------------------

[1] Walton Look Lai, “The Caribbean,” in The Encyclopedia of the Chinese Overseas, ed. Lynne Pan (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1999), 248.
[2] คิวบายังคงมีระบบทาสจนถึง ค.ศ. 1886
[3] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 289.
[4] Lai, ibid., 249.
[5] Ibid., 250-251.
[6] Gregor Benton, Chinese Migrants and Internationalism: Forgotten histories, 1917-1945 (Oxon: Routledge, 2007), 37.
[7] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 290. และดูข้อเขียนของกอนซาโล เดอ เกซาดาฉบับเต็มได้ใน Mauro García Triana and Pedro Eng Herrera, The Chinese in Cuba, 1847- Now, ed. and trans. by Gregor Benton (Lanham: Lexington Books, 2009), 185-194.
[8] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 290-291.
[9] Kathleen López, Chinese Cubans: A Transnational History (Chapel Hill, NC: The University of North Carolina Press, 2013), 221-222. 
[10] Triana and Herrera, ibid., 28-29.
[11] López, ibid., 222-223.
[12] Benton, ibid., 46.
[13] ดูเรื่องราวของนายทหารทั้งสามคนได้ใน Armando Choy, Gustavo Chui, and Moises Sío Wong, Our History Is Still Being Written: The Story of Three Chinese-Cuban Generals in the Cuban Revolution, ed. Mary-Alice Waters (New York: Pathfinder, 2005).   

ไม่มีความคิดเห็น: