แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาจะเป็นไปด้วยดีในต้นทศวรรษ
1960 แต่มิตรภาพระหว่างสองประเทศก็ดำเนินควบคู่ไปกับปัจจัยอีกสองประการ
ได้แก่ (1) การเมืองภายในของจีนที่กำลังเข้าสู่สมัยซ้ายจัด
อันเกิดจากความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะขับเคลื่อนการต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศให้ดำเนินต่อไป
หลังจากเกิดความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดที่เน้นการปลุกระดมมวลชนเมื่อสิ้นทศวรรษ
1950 จนทำให้เขาสูญเสียการควบคุมกิจการรายวันไปให้แก่กลุ่มผู้นำที่เป็นนักปฏิบัติอย่างหลิวเส้าฉี
โจวเอินไหล และเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) และ (2) ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1950 โดยเหมาเจ๋อตงได้ประณามนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับสหรัฐอเมริกาของนิกิตา
ครุสชอฟว่าเป็น “ลัทธิแก้” ซึ่งถือเป็นการทรยศต่อลัทธิสังคมนิยม
ทั้งนี้งานศึกษาของเฉินเจียน (Chen Jian) ชี้ให้เห็นว่า
การขับเคลื่อนการต่อสู้ทางชนชั้นภายในประเทศของเหมาเจ๋อตงนั้นจำเป็นต้องอาศัยนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวมาช่วยเสริมแรง[1]
สอดคล้องกับงานศึกษาของหลี่หมิงเจียง (Li Mingjiang) ที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการรณรงค์มวลชนภายในประเทศจีนที่เรียกว่า
“ขบวนการศึกษาลัทธิสังคมนิยม (The Socialist Education Movement)” ที่เริ่มต้นในปลาย ค.ศ. 1962 กับการที่จีนเริ่มใช้โวหารโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่
ค.ศ. 1963 หลังจากที่หยุดพักไปตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 1960 หรือที่เขาสรุปไว้ว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับมอสโกที่ตกต่ำลงนั้นดูจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อันเป็นผลมาจากสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในเชิงอุดมการณ์ เพราะทันทีที่ภารกิจเร่งด่วนภายในประเทศคือการต่อสู้ทางชนชั้นและการป้องกันไม่ให้เกิดลัทธิแก้
จีนก็ไม่อาจเห็นด้วยกับกรอบอุดมการณ์ของโซเวียตที่เน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับบรรดาประเทศทุนนิยมตะวันตกและการลดความเข้มงวดทางการเมืองภายในประเทศได้
สำหรับเหมา มันเป็นไปไม่ได้ที่จะหาคำอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความแตกต่างดังกล่าว[2]
ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตทำให้คิวบากลายเป็นหนึ่งในสนามของความขัดแย้งระหว่างสองประเทศไปด้วย
ทั้งนี้จีนได้โอกาสที่จะพยายามดึงคิวบาให้ออกห่างจากสหภาพโซเวียตและมาใกล้ชิดกับตนมากยิ่งขึ้นเมื่อนิกิตา
ครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกาโดยถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาในปลายเดือนตุลาคม
ค.ศ. 1962 จนสร้างความผิดหวังให้กับฟิเดล คาสโตร
ทำให้ในวันที่ 31 ตุลาคมของปีนั้น หนังสือพิมพ์ เหรินหมินรื่อเป้า
(ประชาชนรายวัน) ของทางการจีนได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่ชื่อว่า
“ปกป้องการปฏิวัติคิวบา” ซึ่งแม้จะไม่ได้วิจารณ์ครุสชอฟโดยตรง แต่ก็ระบุว่าคำสัญญาของสหรัฐฯ
ที่บอกว่าจะยุติการคุกคามคิวบาโดยแลกกับการที่ครุสชอฟยอมถอนขีปนาวุธนั้นเชื่อถือไม่ได้[3]
นอกจากนี้จีนยังหันมายอมรับด้วยว่าคิวบากำลังเดินบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม โดยบทบรรณาธิการเดียวกันได้ระบุว่าประชาชนชาวคิวบาได้พยายามปกป้อง
“มาตุภูมิสังคมนิยม” และถือเป็น “สหายร่วมอุดมการณ์” ของประชาชนจีน[4]
ความพยายามของจีนที่จะช่วงชิงความได้เปรียบเหนือสหภาพโซเวียตในความสัมพันธ์กับคิวบานั้นดูได้จากเมื่อหวังโย่วผิงจะเดินทางไปรับตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงฮาวานาในต้น
ค.ศ. 1964 เฉินอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เน้นย้ำกับเขาถึงประเด็นสำคัญที่ต้องสนใจเป็นพิเศษ
ซึ่งประเด็นที่เป็นอันดับสองรองจากความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับจีนก็คือ
ความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับสหภาพโซเวียต[5]
อย่างไรก็ตาม
ท่าทีของฟิเดล คาสโตรนั้นก็มิได้เข้าข้างจีนอย่างที่จีนปรารถนา
แม้ว่าในส่วนลึกเขาจะมีความคิดเหมือนกันเหมาเจ๋อตงในหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่าจิตสำนึกและการอุทิศตัวของประชาชนจะทำให้การปฏิวัติสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยขึ้นกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ
หรือการมองว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมผ่านการระดมมวลชนนั่นได้ผลดีกว่าการสั่งการตามระบบรัฐการโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของเทคโนแครต[6]
แต่เขาตระหนักดีว่าจีนสามารถให้ความช่วยเหลือแก่คิวบาในด้านต่างๆ
ได้น้อยกว่าสหภาพโซเวียต ดังเช่นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1963
ทั้งจีนและสหภาพโซเวียตต่างเสนอให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่คิวบา โดยจำนวนเงินของฝ่ายจีนนั้นไม่เป็นที่เปิดเผยแน่ชัด
ขณะที่สหภาพโซเวียตเสนอให้เงินกู้มากถึง 403 ล้านเหรียญสหรัฐ
และยังตกลงซื้อน้ำตาลจากคิวบาเพิ่มในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกอีกด้วย[7]
ทำให้ในปลายเดือนเมษายนของปีนั้น ฟิเดล คาสโตรเดินทางไปเยือนสหภาพโซเวียตเป็นเวลาเกือบ
6 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่เขาเคยบอกกับเจิงเทาเมื่อ ค.ศ. 1961
ว่าจะเยือนจีนเป็นลำดับแรก[8]
หรือที่มีนักวิชาการเปรียบเปรยไว้ว่า ฟิเดล คาสโตร “ฝากหัวใจไว้กับปักกิ่ง
แต่ฝากท้องไว้กับมอสโก”[9]
นอกจากจะไม่เข้าข้างจีนในการโจมตีสหภาพโซเวียตแล้ว
ฟิเดล คาสโตรพยายามเรียกร้องให้จีนและสหภาพโซเวียตกลับมาคืนดีกันเพื่อผนึกกำลังต่อต้านสหรัฐอเมริกา
ดังสุนทรพจน์ของเขาในโอกาสครบ 4
ปีของการปฏิวัติคิวบาเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1963 ที่ว่า
อะไรคือความเห็นต่างกันในครอบครัวสังคมนิยม
ความเห็นต่างกันอย่างเปิดเผยระหว่างสองพลังใหญ่ในค่ายสังคมนิยม? เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราทุกคน เพราะจักรวรรดิแยงกี้ (สหรัฐอเมริกา –
ผู้วิจัย) อยู่ห่างไปแค่ 90 ไมล์ เราทุกคนกังวลใจเกี่ยวกับความเห็นที่ต่างกันนี้มาก
ค่ายสังคมนิยมทั้งหมดต้องการเอกภาพและความแข็งแกร่งมากแค่ไหนในการเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู[10]
ต่อมาเมื่อนิกิตา
ครุสชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1964 โดยมีเลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid
Brezhnev) สืบทอดตำแหน่งดังกล่าว ฟิเดล คาสโตรก็ยิ่งมีความหวังว่าการเปลี่ยนผู้นำ
ณ กรุงมอสโกจะทำให้จีนกับสหภาพโซเวียตสามารถคืนดีกันได้ ทำให้ในเย็นวันที่ 18
ตุลาคมของปีนั้น เขาเดินทางไปยังพบหวังโย่วผิงที่สถานทูตจีนในกรุงฮาวานาโดยไม่แจ้งล่วงหน้าและแสดงความยินดีที่จีนประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดนิวเคลียร์เมื่อสองวันก่อน
จากนั้นก็กล่าวว่า “บัดนี้มีการเปลี่ยนผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตแล้ว จีนและสหภาพโซเวียตต่างเป็นประเทศสังคมนิยม
สมควรจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร”[11]
โจวเอินไหลจับมือกับเช เกวารา ณ กรุงปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1965
ถึงแม้ผลการเยือนกรุงมอสโกของโจวเอินไหลเพื่อหยั่งดูท่าทีของผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1964 จะไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตดีขึ้น
เพราะเบรชเนฟยังคงยืนยันจะดำเนินนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
และบทความในนิตยสาร ปักกิ่งรีวิว ในปลายเดือนเดียวกันได้เตือนให้ระวังการคงอยู่ของ
“ลัทธิครุสชอฟที่ปราศจากครุสชอฟ (Khrushchevism without Khrushchev)”[12] แต่ฟิเดล
คาสโตรก็ยังไม่ลดละความพยายาม โดยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1964 เขาส่งคาร์ลอส
ราฟาเอล โรดริเกซ (Carlos Rafael Rodriquez) ประธานสถาบันปฏิรูปการเกษตรของคิวบาเดินทางไปยังสหภาพโซเวียตและจีนพร้อมกับผู้แทนของพรรคคอมมิวนิสต์ในลาตินอเมริการวม
9 ประเทศ เพื่อขอให้ทั้งสองฝ่ายยุติการกล่าวโจมตีซึ่งกันและกัน
ผลปรากฏว่าเหมาเจ๋อตงยืนยันกับโรดริเกซว่า การต่อสู้กับลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียตนั้นจะต้องทำต่อเนื่องไปเป็นหมื่นปี[13]
ความพยายามครั้งสุดท้ายของฟิเดล คาสโตร เกิดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1965 เมื่อเขาส่งเช เกวารามาเยือนจีน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย หวังโย่วผิงระบุว่าหลังการเยือนของเช เกวาราในครั้งนั้น ผู้นำคิวบาก็มีท่าทีต่อจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง [14] หรือกล่าวได้ว่าเมื่อสิ้น
ค.ศ. 1964 ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาได้เริ่มขึ้นแล้ว
-----------------------------------------------------------
[1] Chen Jian, Mao’s China and the Cold War
(Chapel Hill, NC: The University of North Carolina Press, 2001), 11-12.
[2] Li Mingjiang, Mao’s China and the Sino-Soviet
Split: Ideological dilemma (London: Routledge, 2012), 117.
[3] มีการแปลบทบรรณาธิการดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ใน
Peking Review, 2 November 1962, 7-9.
[4] Ibid., 7.
[5] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 83.
[6] Cheng, ibid., 100.
[7] John Franklin Copper, China’s Foreign Aid: An
Instrument of Peking’s Foreign Policy (Lexington, MA: Lexington Books,
1976), 34.
[8] เจิงเทา, เรื่องเดียวกัน, 46.
[9] K. S. Karol, Guerrilla in Power: The Course of the
Cuban Revolution (New York: Hill & Wang, 1969), 304, cited in Cheng,
ibid., 100.
[10] “4th Anniversary of the Cuban Revolution,
January 2, 1963,” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1963/19630102.html;
accessed 20 February 2017.
[11] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 87.
[12] Peking Review, 27 November, 1964, 9.