“ในด้านการต่างประเทศ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา
ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพและมิตรภาพกับญี่ปุ่น และไปเยือน
2 ประเทศนี้อย่างเป็นทางการ
สหายฮว่ากั๋วเฟิงไปเยือนเกาหลีเหนือ โรมาเนีย
ยูโกสลาเวีย และอีก 4 ประเทศในยุโรป
สหายหลี่เซียนเนี่ยนและข้าพเจ้าไปเยือนหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกา
คณะผู้แทนของหน่วยงานหลายระดับอีกเป็นจำนวนมากก็ไปเยือนประเทศต่างๆ
ทั่วโลก
รองนายกรัฐมนตรีและรองประธานคณะกรรมการประจำสภาประชาชนแห่งชาติเกือบทุกคนเดินทางเยือนต่างประเทศ
...
กิจกรรมเหล่านี้เป็นการริเริ่มรูปแบบใหม่ทางการทูตของประเทศเรา ช่วยสร้างสภาวะระหว่างประเทศที่เป็นคุณต่อนโยบาย 4 ทันสมัย
ของเรา และยังช่วยขยายแนวร่วมระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านลัทธิครองความเป็นใหญ่อีกด้วย”
การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในทศวรรษ
1970 เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในทศวรรษเดียวกัน
กล่าวคือ การเยือนกรุงปักกิ่งของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard
Nixon) แห่งสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1972 ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า
จีนได้ลดความสำคัญของนโยบายต่างประเทศแบบปฏิวัติลงและยินดีจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศอื่นๆ
อีกครั้งและทำให้ประเทศในค่ายโลกเสรีจำนวนมากหันมากระชับหรือสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
ขณะที่การเยือนจีนของติโตเมื่อ ค.ศ. 1977 และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในปีถัดมาก็เป็นการส่งสัญญาณเช่นกันว่า
จีนยอมรับความแตกต่างและหลากหลายของลัทธิสังคมนิยมในประเทศต่างๆ และยุติการวางตนเป็นผู้ตัดสินความถูกผิดของโลกสังคมนิยม
ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงได้เน้นย้ำกับแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 1980 ว่า
ในยามที่พรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งแสดงความเห็นต่อการกระทำของพรรคภราดาในต่างประเทศ
พรรคดังกล่าวมักตัดสินพรรคอื่นด้วยรูปแบบที่เข้มงวดและตายตัว ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นแล้วว่าการทำเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์
เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น และการรวมพลังของชนชั้น แล้วเราจะเอารูปแบบที่ตายตัวไปใช้กับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไรกัน
... ความถูกต้องของหลักการและแนวทางภายในประเทศของพรรคนั้นๆ ก็ควรจะปล่อยให้พรรคและประชาชนของประเทศนั้นๆ
เป็นผู้ตัดสิน เพราะสหายเหล่านั้นย่อมรู้จักสภาพของประเทศตนเองดีที่สุด[2]
การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียได้เปิดทางให้จีนสามารถสมานไมตรีกับขบวนการยูโรคอมมิวนิสต์
(Eurocommunism) ได้สำเร็จ ขบวนการดังกล่าวก่อตัวขึ้นในอิตาลี
ฝรั่งเศส และสเปนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 โดยมุ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากลัทธิสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตที่เน้นการใช้กำลังทำลายล้างลัทธิทุนนิยม
และต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) ที่มุ่งเอาข้อดีบางด้านของลัทธิสังคมนิยมมาปฏิรูปลัทธิทุนนิยม
โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1980 จีนต้อนรับการเยือนของเอนริโก
เบอร์ลิงเกอร์ (Enrico Berlinguer) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก
โดยมีสมาชิกพรรคในขณะนั้นมากถึง 1,814,740 คน คิดเป็นร้อยละ 3.18
ของประชากรทั้งประเทศ และมีที่นั่งในสภาถึง 201 ที่นั่งจากทั้งหมด 630 ที่นั่ง[3]
ตามด้วยการเยือนจีนของซันติอาโก คาร์ริโย (Santiago Carrillo) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สเปนในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
ต่อมาที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 12 เมื่อเดือนกันยายน
ค.ศ. 1982 ก็ได้มีมติรับรองหลัก 4 ประการที่จีนใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์อื่นๆ
อันประกอบด้วย (1) การยอมรับความเป็นอิสระของกันและกัน (2)
ความเท่าเทียมกัน (3) การเคารพซึ่งกันและกัน
และ (4) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน[4] และจีนก็นำหลักการนี้ไปใช้ในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตซึ่งเริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคมของปีนั้น
จนทำให้เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1980 จีนได้กลับมามีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออก
หรือกล่าวได้ว่าการสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับโลกสังคมนิยมทั้งหมด
ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาแล้วได้นำไปสู่สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่ผ่อนคลายความตึงเครียดและเอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนนั่นเอง
หลี่เซียนเนี่ยน ประธานาธิบดีของจีนเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดเมื่อ ค.ศ. 1984
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียหลังอสัญกรรมของติโตเมื่อเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 1980 ยังคงดำเนินไปตามปกติ
ผู้นำระดับสูงของจีนที่เดินทางเยือนยูโกสลาเวียในทศวรรษดังกล่าวประกอบไปด้วยหูเย่าปัง
(Hu Yaobang) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 1983 หลี่เซียนเนี่ยน
ประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1984 และจ้าวจื่อหยาง
นายกรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 1986 ขณะที่ดราโกสลาฟ มาร์โควิช (Dragoslav
Markovic) ประธานสภาเปรซีเดียมแห่งสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเดินทางเยือนจีนเมื่อ
ค.ศ. 1984 ตามด้วยสเตฟาน โคโรเสช (Stefan Korosec) กรรมการสภาเปรซีเดียมเมื่อ ค.ศ. 1987 อย่างไรก็ตาม
ยูโกสลาเวียในทศวรรษ 1980 มิได้มีความสำคัญในสายตาของจีนเฉกเช่นในทศวรรษก่อนหน้านั้นอีกแล้ว
เพราะตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เป็นต้นมา จีนได้เริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต
การสร้างแนวร่วมระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตจึงค่อยๆ
ลดความสำคัญลงและหมดไปเมื่อจีนกับสหภาพโซเวียตกลับมามีความสัมพันธ์กันอย่างปกติใน
ค.ศ. 1989 และในทศวรรษนั้นเองที่จีนเริ่มมองการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียตามสภาพที่เป็นจริง
สิ่งพิมพ์ของทางการจีนนำเสนอปัญหานานาประการในระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวีย
ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดแคลนวัตถุดิบ และปัญหาเงินเฟ้อ[5] ยูโกสลาเวียจึงไม่ใช่ตัวแบบของการปฏิรูปที่น่าชื่นชมในสายตาของจีนอีกต่อไป
จีนมองความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และการแตกสลายของรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียใน
ค.ศ. 1992 ด้วยความกังวลใจ เนื่องจากจีนเองก็เป็นประเทศที่มีประชากรหลายชาติพันธุ์เช่นกัน
และในช่วงเวลานั้นเติ้งเสี่ยวผิงก็มีสุขภาพทรุดโทรมลงจนถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1997
รายงานฉบับหนึ่งของนักวิชาการจีนที่แจกจ่ายเฉพาะในหมู่ผู้นำระดับสูงของพรรคและรัฐเมื่อ
ค.ศ. 1993 ได้เตือนว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนทำให้รัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจลดลง
และหากผู้นำที่เข้มแข็งถึงแก่อสัญกรรม
จีนอาจมีชะตากรรมเฉกเช่นยูโกสลาเวียหลังสิ้นติโต[6]
อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองจากเจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ไปสู่หูจิ่นเทา (Hu Jintao) เมื่อ ค.ศ. 2002
และส่งต่อไปยังสีจิ้นผิง (Xi Jinping) เมื่อ
ค.ศ. 2012 ที่เป็นไปอย่างค่อนข้างราบรื่นนั้นได้พิสูจน์ให้เห็นว่า
รัฐสังคมนิยมจีนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างระบบการเมืองที่เป็นสถาบันโดยไม่ผูกติดกับตัวบุคคล
ตรงข้ามกับรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียซึ่งได้กลายเป็นอดีตไปเรียบร้อยแล้ว
----------------------------------------------------
[1] Deng Xiaoping, Selected Works Volume
II,
232.
[3] ประทุมพร, เรื่องเดียวกัน, 320.
[4] อู๋ซิงถัง,
เรื่องเดียวกัน.
[5] Beijing Review, 18 May 1981, 13-14; Beijing
Review, 15 February 1982, 15-16; Beijing Review, 10 January 1983,
12; Beijing Review, 18-14 January 1988, 12-13.
[6] “Internal Report: China Risks Breakup Like Yugoslavia,”
Agence France-Presse, 20 September 1993, in China Since Tiananmen:
Political, Economic, and Social Conflicts, ed. Lawrence R. Sullivan
(Armonk, NY: M.E. Sharpe, 1995), 100.