วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2557

มังกรในแดนโสม: การใช้กำลังของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น สุย และถังบนคาบสมุทรเกาหลี


“เกาหลีไม่ว่าจะถูกแบ่งแยกหรือว่ารวมเป็นปึกแผ่นต่างก็อ่อนแอเกินกว่าจะท้าทายความมั่นคงของจีนได้ด้วยตัวเอง ความกังวลหลักของจีนก็คือประเทศมหาอำนาจอาจใช้เกาหลีเพื่อคุกคามจีน”

(Nathan & Ross, 1998: 93)

 

            เกาหลีตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออก โดยมีลักษณะเป็นคาบสมุทรยื่นลงทะเลไปทางทิศใต้ ตอนเหนือของคาบสมุทรติดกับภูมิภาคไซบีเรียของรัสเซีย คาบสมุทรเหลียวตงและดินแดนที่เรียกกันในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ว่าแมนจูเรีย (Manchuria) ส่วนชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรอยู่ตรงข้ามกับคาบสมุทรซานตงของจีนโดยมีทะเลเหลืองกั้นกลาง ขณะที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของคาบสมุทรก็อยู่ไม่ห่างจากเกาะคิวชูและเกาะฮอนชูของญี่ปุ่นมากนัก ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทำให้เกาหลีเป็นแหล่งปะทะของอำนาจทางวัฒนธรรม การเมือง และการทหารของรัฐต่างๆ จนกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510: 810) และเมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์เกาหลีตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงการเปิดประเทศเมื่อ ค.ศ. 1876 แล้วจะพบว่า เกาหลีต้องเผชิญกับการรุกรานจากอาณาจักรเพื่อนบ้านอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นชาวชี่ตัน (契丹) ในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ชาวหนี่ว์เจิน (女真) ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวมองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ชาวญี่ปุ่นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และชาวแมนจูในคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่อาณาจักรเพื่อนบ้านที่รุกรานเกาหลีบ่อยครั้งและต่อเนื่องที่สุดก็คือ อาณาจักรจีนของชาวฮั่น โดยรุกรานเป็น 3 ระลอกใหญ่ ได้แก่

 

1.      ราชวงศ์ฮั่น (汉朝) รุกรานอาณาจักรโชซอนโบราณ (古朝鲜) เมื่อ 109 ปีก่อน ค.ศ.  

2.      ราชวงศ์สุย (隋朝) รุกรานอาณาจักรโกกุเรียว (高句丽) เมื่อ ค.ศ. 598, 612, 613 และ 614  

3.      ราชวงศ์ถัง (唐朝) รุกรานอาณาจักรโกกุเรียวเมื่อ ค.ศ. 645, 647, 660 และ 668

           

ทั้งนี้ในการรุกรานระลอกที่ 1 และ 3 นั้น กองทัพจีนสามารถทำลายอาณาจักรโชซอนโบราณและอาณาจักรโกกุเรียวได้สำเร็จ รวมทั้งผนวกเอาดินแดนดังกล่าวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรจีนอยู่ระยะหนึ่งด้วย บทความนี้จะชี้ให้เห็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของจีนต่อคาบสมุทรเกาหลีในยุคราชวงศ์ฮั่น สุย และถัง อีกทั้งยังจะชี้ให้เห็นด้วยว่านโยบายดังกล่าวแยกไม่ออกจากยุทธศาสตร์ใหญ่ด้านความมั่นคงของจีนที่มีต่อเอเชียตอนใน (Inner Asia) ทั้งหมด  

 

ภูมิหลังความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคาบสมุทรเกาหลี

            จีนมีความสัมพันธ์กับคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นระยะเวลาย้อนกลับไปได้หลายสหัสวรรษ ในบันทึก สือจี้ (史记) ที่ซือหม่าเชียน (司马迁) นักประวัติศาสตร์จีนเขียนเอาไว้เมื่อราวหนึ่งศตวรรษก่อน ค.ศ. ได้กล่าวถึงบุคคลที่มีนามว่า จีจื่อ (箕子) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ซางของจีน (商朝1,600 1,046 ปีก่อน ค.ศ.) ที่ได้พาผู้คนจำนวน 5,000 คนไปตั้งอาณาจักรใหม่ทางตอนใต้ของแมนจูเรียเมื่อราว 1,100 ปีก่อน ค.ศ. (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510: 818-819) หรือที่ต่อมาเรียกว่าอาณาจักรโชซอนโบราณ (古朝鲜 Old Choson) แม้นักประวัติศาสตร์จะยังคงถกเถียงกันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือเป็นเพียงตำนาน แต่ก็มีหลักฐานชัดเจนว่าในยุคราชวงศ์โจวตะวันออกของจีน (东周770-256 ปีก่อน ค.ศ.) แคว้นฉี (齐国) ในคาบสมุทรซานตงได้ทำการค้ากับอาณาจักรโชซอนโบราณ และแคว้นเยียน (燕国) ของจีนซึ่งขยายอำนาจเข้าไปในแมนจูเรียตอนใต้ก็เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านเกษตรกรรม การใช้โลหะ และแบบแผนการปกครองไปยังบริเวณดังกล่าวด้วย  (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510: 816 ; Kim Seong-hwan, 2004: 22)

            อิทธิพลทางวัฒนธรรมของจีนต่ออาณาจักรโชซอนโบราณได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีกหลัง 221 ปีก่อน ค.ศ. เมื่อราชวงศ์ฉินสามารถทำสงครามรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ ของจีนเป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ และทำให้ประชากรหลายแสนคนจากแคว้นฉีและแคว้นเยียนอพยพหนีการปราบปรามของราชวงศ์ฉินเข้าไปยังอาณาจักรโชซอนโบราณ รวมทั้งบุคคลผู้มีนามว่า เว่ยหม่าน (卫满) ที่ต่อมาในราว 190 ปีก่อน ค.ศ. ได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรดังกล่าวโดยมีเมืองหลวงอยู่ ณ บริเวณที่เป็นนครเปียงยางในปัจจุบัน เขาทำให้อาณาจักรโชซอนโบราณมีความเข้มแข็งจนกลายเป็นข้อกังวลด้านความมั่นคงของจีนในเวลาต่อมา

 

ราชวงศ์ฮั่นกับการพิชิตอาณาจักรโชซอนโบราณ

            เมื่อหลิวปัง (刘邦) หรือจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (汉高祖) ทรงสถาปนาราชวงศ์ฮั่นเมื่อ 206 ปีก่อน ค.ศ. นั้น ภัยคุกคามสำคัญของจีนมาจากพวกฉุงหนู (匈奴) ซึ่งรวมตัวกันเป็นจักรวรรดิมาตั้งแต่ปลายยุคราชวงศ์โจวตะวันออก โดยกินอาณาบริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของไซบีเรีย ตะวันตกของแมนจูเรีย มองโกเลีย ไปจนถึงเอเชียกลาง ความพยายามในการใช้กำลังของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่เพื่อจัดการกับฉุงหนูประสบความล้มเหลวเมื่อ 200 ปีก่อน ค.ศ. จนทำให้พระองค์ต้องหันมาประนีประนอมด้วยการส่งเจ้าหญิงจีนไปอภิเษกสมรสกับกษัตริย์ของพวกฉุงหนู รวมทั้งพระราชทานทองคำ ผ้าไหม และธัญพืชรายปีแก่กษัตริย์ของฉุงหนูอีกด้วย หรือที่เรียกว่า “นโยบายเหอชิน” (和亲) ซึ่งหมายถึงสันติภาพและการสร้างความเป็นญาติ (Lewis, 2007: 132) อย่างไรก็ตาม การที่พวกฉุงหนูมิได้มีกฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติจากพ่อสู่ลูกทำให้กษัตริย์ของฉุงหนูองค์ต่อๆ มามิได้เป็นพระญาติที่มีสายเลือดของราชวงศ์ฮั่น นโยบายดังกล่าวจึงไม่อาจยับยั้งการรุกรานของฉุงหนูได้อย่างถาวร ทำให้เมื่อถึงรัชสมัยของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (汉武帝) ราชวงศ์ฮั่นจึงหันมาใช้กำลังจัดการกับฉุงหนูอีกครั้งเมื่อ 134 ปีก่อน ค.ศ.

ยุทธศาสตร์ของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ในการจัดการกับพวกฉุงหนูคือการปิดล้อมฉุงหนูทั้งทางทิศตะวันตกและตะวันออก โดยในทางตะวันตกพระองค์ส่งขุนนางนามว่าจางเชียน (张骞) เข้าไปผูกไมตรีกับพวกเยว่จือ (月氏) ในเอเชียกลาง[1] ส่วนทางตะวันออกพระองค์ต้องการหลักประกันว่าอาณาจักรโชซอนโบราณจะไม่ให้ความร่วมมือกับฉุงหนูในการรุกรานจีน จึงทรงส่งขุนนางเดินทางไปยังโซซอนโบราณเพื่อขอคำมั่นสัญญาจากอาณาจักรดังกล่าวว่าจะไม่เป็นพันธมิตรกับฉุงหนู และขอให้กษัตริย์แห่งโชซอนโบราณเดินทางมาเข้าเฝ้าพระองค์ แต่ในที่สุดขุนนางของจีนกลับถูกโชซอนโบราณสังหาร ทำให้เมื่อ 109 ปีก่อน ค.ศ. ฮั่นอู่ตี้ทรงส่งกองทัพที่ประกอบไปด้วยทหารบกจำนวน 60,000 คนและทหารเรือจำนวน 7,000 คนไปโจมตีโชซอนโบราณจนได้รับชัยชนะในปีถัดมา (Han Woo-keun, 1970: 18; Lee Kai-baik, 1984: 17) และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีน โดยแบ่งการปกครองเป็น 4 จังหวัด ได้แก่ นังนัง (Nangnang) ชินบอน (Chinbon) อิมดุน (Imdun) และเฮียนโด (Hyondo)  

            อำนาจการปกครองของจีนเหนือคาบสมุทรเกาหลีเสื่อมถอยลงไปหลังการสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้เมื่อ 87 ปีก่อน ค.ศ. โดยจีนถอนตัวออกจากจังหวัดชินบอนและจังหวักอิมดุนเมื่อ 82 ปี ก่อน ค.ศ. และอำนาจของจีนบนคาบสมุทรเกาหลีก็ยิ่งลดลงไปอีกหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 ซึ่งเป็นเวลาที่เกาหลีเข้าสู่ยุคสามอาณาจักรอันประกอบไปด้วยโกกุเรียว (高句丽Koguryo) แปกเจ (百济 Paekche) และซิลลา (新罗 Silla) แม้ว่าราชวงศ์เว่ย (魏朝) ที่ปกครองภาคเหนือของจีนจะเข้ารุกรานอาณาจักรโกกุเรียวใน ค.ศ. 244 และผนวกดินแดนบางส่วนของโกกุเรียวเอาไว้ได้ แต่เมื่อถึง ค.ศ. 290 อำนาจของจีนก็หมดไปจากดินแดนดังกล่าว (Ledyard, 1983: 317) อย่างไรก็ตาม อาณาจักรทั้งสามยังส่งคณะทูตบรรณาการไปยังจีนรวมทั้งรับอิทธิพลและแบบแผนทางวัฒนธรรมจากจีนอย่างต่อเนื่อง โกกุเรียวร่างประมวลกฎหมายตามแบบจีน จัดตั้งสถาบันสอนปรัชญาขงจื่อและประวัติศาสตร์จีน แปกเจรับศาสนาพุทธจากพระสงฆ์ที่มาจากจีนและเป็นตัวกลางนำศาสนาพุทธและวัฒนธรรมจีนส่งต่อไปยังญี่ปุ่น ส่วนซิลลาก็ได้รับเอาระบบกฎหมาย ระบบราชการ และการนับศักราชแบบจีนไปใช้ (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510: 826-831)

 

                               สุยเหวินตี้ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์สุย


สงครามระหว่างราชวงศ์สุยกับอาณาจักรโกกุเรียว

            เมื่อหยางเจียน (杨坚) หรือจักรพรรดิสุยเหวินตี้ (隋文帝) ทรงสถาปนาราชวงศ์สุยขึ้นเมื่อ ค.ศ. 581 และรวบรวมแผ่นดินจีนที่แตกแยกมายาวนานกว่าสามศตวรรษหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ ภัยคุกคามสำคัญที่พระองค์ต้องเผชิญในขณะนั้นก็คือพวกทูเจวี๋ย (突厥) หรือเติร์กตะวันออก (Eastern Turks) ซึ่งในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 6 ได้ก่อตั้งจักรวรรดิขึ้นโดยกินอาณาบริเวณตั้งแต่แม่น้ำเหลียวในแมนจูเรียไปจนถึงประเทศมองโกเลียในปัจจุบัน พระองค์จึงมีรับสั่งให้บูรณะกำแพงเมืองจีนครั้งใหญ่โดยเกณฑ์แรงงานจำนวน 30,000 คนในปีที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ และเพิ่มเป็น 100,000 คนใน ค.ศ. 587 ต่อมาในรัชสมัยของจักรพรรดิสุยหยางตี้ (隋炀帝) ผู้เป็นพระราชโอรสได้เกณฑ์แรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,000,000 คนใน ค.ศ. 607 (Wright, 1979: 30) แต่ขณะเดียวกันสุยหยางตี้ทรงพยายามผูกไมตรีกับทูเจวี๋ยด้วยการดำเนินนโยบายเหอชินแบบราชวงศ์ฮั่น การพระราชทานของขวัญ การเปิดการค้าชายแดนเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าจำพวกม้ากับผ้าไหม การนำเชื้อพระวงศ์ของทูเจวี๋ยมารับการศึกษาที่นครฉางอานและลั่วหยาง รวมทั้งยังเสด็จไปทรงเยี่ยมข่านแห่งทูเจวี๋ยด้วยพระองค์เองเมื่อ ค.ศ. 607 (Wright, 1979: 41) ภัยคุกคามจากพวกทูเจวี๋ยทำให้จักรพรรดิราชวงศ์สุยวางยุทธศาสตร์แบบเดียวกับจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ นั่นคือการสร้างหลักประกันว่าอาณาจักรโกกุเรียวที่อยู่ตอนบนของคาบสมุทรเกาหลีจะไม่ร่วมมือกับทูเจวี๋ยจนเป็นภัยคุกคามต่อจีน

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนสมัยราชวงศ์สุยกับอาณาจักรโกกุเรียวนั้นเป็นไปตามระบบบรรณาการ และถึงแม้ว่าใน ค.ศ. 598 โกกุเรียวจะเข้ามาปล้นสดมภ์ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเหลียวซึ่งเป็นเขตอำนาจของราชวงศ์สุย หากแต่จักรพรรดิสุยเหวินตี้ก็มิได้ปรารถนาจะใช้กำลังกับโกกุเรียวในทันทีตราบเท่าที่ไม่มีภัยคุกคามจากกลุ่มอื่นๆ ในทางทิศเหนือ พระองค์จึงได้แต่เพียงตักเตือนกษัตริย์แห่งโกกุเรียวดังความในพระราชสาส์นตอนหนึ่งว่า

 

แม้ว่าราษฎรและดินแดนของราชอาณาจักรของฝ่าพระบาทที่อยู่นอกเส้นทางจะไม่สลักสำคัญอะไร หากแต่พวกเขาก็เหมือนราษฎรและดินแดนของหม่อมฉัน ถ้าหม่อมฉันปลดฝ่าพระบาทออกจากตำแหน่ง หม่อมฉันก็ไม่อาจปล่อยให้ตำแหน่งของฝ่าพระบาทว่างลงได้และคงต้องหาใครสักคนมาแทนที่ หากฝ่าพระบาทสามารถชำระล้างจิตใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และทำตามกฎพื้นฐานของจักรวรรดิ  หม่อมฉันก็คงจะได้เสนาบดีที่ดีมาเพิ่มโดยไม่ต้องไปเสียเวลาหาผู้มีความสามารถคนอื่นๆ ในการบริหารบ้านเมืองนั้น ผู้ปกครองในอดีตต่างยึดมั่นในหลักแห่งความยุติธรรม ใครทำดีก็ได้รางวัล ใครทำผิดต้องถูกลงโทษ ผู้คนในทะเลทั้งสี่[2]ต่างเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ถ้าหม่อมฉันใช้กำลังกับฝ่าพระบาทโดยไม่มีเหตุอันควร ผู้คนทั้งหลายจะคิดกับหม่อมฉันอย่างไร หม่อมฉันหวังว่าฝ่าพระบาทจะไตร่ตรองให้ดีและหยุดกระทำการใดๆ มากไปกว่านี้

(Hsü, 1926: 15, cited in Nelson, 1967: 40-41)  

 

อย่างไรก็ตาม กษัตริย์แห่งโกกุเรียวก็มิได้ทำตามคำขอของสุยเหวินตี้ ทำให้พระองค์ต้องส่งทหารจำนวน 300,000 คนเข้าไปกำราบโกกุเรียวในปีนั้นแต่ประสบความพ่ายแพ้จนต้องถอยทัพกลับโดยแลกกับการที่โกกุเรียวยอมส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์สุยตามเดิม ปัญหาใหม่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 607 ขณะที่จักรพรรดิสุยหยางตี้กำลังเสด็จประพาสพรมแดนทางทิศเหนือ พระองค์ได้ทราบข่าวว่าอาณาจักรโกกุเรียวส่งทูตไปถวายของขวัญแด่ข่านแห่งทูเจวี๋ย เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่สุยหยางตี้ว่าทูเจวี๋ยกับโกกุเรียวอาจกลายเป็นพันธมิตรกันเพื่อคุกคามราชวงศ์สุย พระองค์จึงส่งทูตไปเรียกร้องให้กษัตริย์แห่งโกกุเรียวเสด็จมาเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยตัวเอง แต่กษัตริย์แห่งโกกุเรียวปฏิเสธที่จะทำตาม สุยหยางตี้จึงตัดสินพระทัยนำกำลังทหารเข้าจัดการด้วยพระองค์เองและรับสั่งให้เกณฑ์แรงงานจำนวน 1,000,000 คนเพื่อขยายเส้นทางคลองต้ายุ่นเหอ (大运河) ขึ้นไปทางทิศเหนือเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสำหรับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้น (Bingham, 1970: 38)

            การรุกรานอาณาจักรโกกุเรียวของจักรพรรดิสุยหยางตี้ในครั้งนั้นกล่าวกันว่าใช้กำลังทหารมากถึง 1,000,000 คน (Zhang Fan, 2001: 152) โดยบุกไปทั้งทางบกและทางทะเล ในการโจมตีครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 612 กองทัพโกกุเรียวสามารถรักษาเมืองเหลียวหยาง (辽阳) และฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเหลียวเอาไว้ได้จนถึงฤดูร้อนที่มีฝนตกหนัก ทำให้สุยหยางตี้ต้องยกทัพกลับนครลั่วหยางในปลายเดือนสิงหาคมของปีนั้น การโจมตีครั้งที่สองเกิดขึ้นใน ค.ศ. 613 แต่หลังจากที่พระองค์ยกทัพข้ามแม่น้ำเหลียวไปได้ไม่นาน เสนาบดีกระทรวงพิธีการของพระองค์นามว่า หยางเสวียนก่าน (杨玄感) ได้ก่อกบฏ ทำให้พระองค์ต้องรีบยกทัพกลับ การโจมตีครั้งที่สามเกิดขึ้นใน ค.ศ. 614 โดยในครั้งนี้กองทัพสุยบุกเข้าไปถึงชานนครเปียงยางจนทำให้กษัตริย์แห่งโกกุเรียวประกาศยอมจำนน สุยหยางตี้ทรงดีพระทัยและรับสั่งให้ถอนทหารกลับ รวมทั้งสั่งให้กษัตริย์แห่งโกกุเรียวเดินทางมาเข้าเฝ้าพระองค์ แต่กษัตริย์พระองค์นั้นกลับปฏิเสธจนทำให้สุยหยางตี้เตรียมการโจมตีเป็นครั้งที่สี่ แต่แล้วความวุ่นวายภายในราชอาณาจักรของพระองค์ทำให้ต้องทรงล้มเลิกแผนการบุกโกกุเรียวไปโดยปริยาย (Bingham, 1970: 46) ภารกิจดังกล่าวจะได้รับการสานต่อโดยจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถังซึ่งขึ้นมามีอำนาจหลังการล่มสลายของราชวงศ์สุย

 



ราชวงศ์ถังกับการพิชิตอาณาจักรโกกุเรียว

            ภารกิจที่สำคัญอันดับแรกของหลี่ยวน (李渊) หรือจักรพรรดิถังเกาจู่ (唐高祖) ผู้ทรงสถาปนาราชวงศ์ถังเมื่อ ค.ศ. 618 นั้นก็คือการปราบปรามกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่แยกตัวเป็นอิสระในปลายราชวงศ์สุย พระองค์จึงทรงหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับพวกทูเจวี๋ย และทรงยอมรับว่าพระองค์มีสถานะที่ต่ำกว่าข่านแห่งทูเจวี๋ยอีกด้วย (Wang Zhenping, 2009: 240) และพระองค์ก็มิได้คิดจะสืบสานภารกิจของจักรพรรดิสุยหยางตี้ผู้เป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นชาย) ในการพิชิตอาณาจักรโกกุเรียวแต่อย่างใด[3] ราชวงศ์ถังกับโกกุเรียวเริ่มมีความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการใน ค.ศ. 619 และอีกสามปีต่อมาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแลกเปลี่ยนเชลยศึกที่ตกค้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย (Wechsler, 1979: 231) พระราชโองการของถังเกาจู่ถึงกษัตริย์แห่งโกกุเรียวเมื่อ ค.ศ. 622 ระบุว่าทรงยินดีที่ทั้งสองฝ่ายต่างเคารพบูรณภาพของดินแดนซึ่งกันและกัน (Wang Zhenping, 2009: 246)

            นโยบายของราชวงศ์ถังต่ออาณาจักรโกกุเรียวเริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่รัชสมัยของจักรพรรดิถังไท่จง (唐太宗) โดยใน ค.ศ. 630 พระองค์สามารถเอาชนะเสียลี่ข่าน (颉利可汗) แห่งทูเจวี๋ยจนได้รับการขนนพระนามว่า “ข่านแห่งสวรรค์” (天可汗) ทำให้ถังไท่จงทรงมั่นพระทัยในแสนยานุภาพทางทหารของราชวงศ์ถังยิ่งขึ้นจนต้องการสืบสานภารกิจที่จักรพรรดิสุยหยางตี้ทรงทำค้างไว้ นั่นคือการพิชิตอาณาจักรโกกุเรียว โดยใน ค.ศ. 641 พระองค์ได้ตั้งข้อสังเกตกับข้าราชสำนักว่าโกกุเรียวเคยเป็นส่วนหนึ่งของจีนในสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ และถ้าราชวงศ์ถังโจมตีโกกุเรียวทั้งทางบกและทางทะเลก็น่าจะสำเร็จได้ไม่ยาก และในปีเดียวกันพระองค์รับสั่งให้เฉินต้าเต๋อ (陈大德) อธิบดีกรมองค์กรทหารส่วนภูมิภาค (职方部) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านข่าวกรองและการทำแผนที่ชายแดนให้ไปสืบสถานการณ์ด้านการทหารในโกกุเรียวเพื่อที่ราชวงศ์ถังจะได้วางแผนการบุกต่อไป (Wechsler, 1979: 232)

            โอกาสของราชวงศ์ถังในการบุกอาณาจักรโกกุเรียวมาถึงใน ค.ศ. 642 เมื่อเกิดรัฐประหารในราชสำนักโกกุเรียว โดยบุคคลที่มีนามว่ายอน แกโซมุน (泉蓋蘇文Yon Gaesomun) ได้ปลงพระชนม์กษัตริย์ผู้ได้รับการรัรองสถานะจากราชวงศ์ถัง และได้นำหลานลุงของอดีตกษัตริย์พระองค์นั้นมาขึ้นครองราชย์แทนโดยที่เขาเป็นผู้กุมอำนาจที่แท้จริงอยู่เบื้องหลัง ยอน แกโซมุนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน โดยใน ค.ศ. 643 อาณาจักรซิลลาซึ่งเป็นรัฐบรรณาการของราชวงศ์ถังได้ถวารางานต่อจักรพรรดิถังไท่จงว่าอาณาจักรโกกุเรียวร่วมมือกับอาณาจักรแปกเจในการใช้กำลังโจมตีซิลลา รวมทั้งยังขัดขวางคณะทูตของซิลลาที่กำลังเดินทางไปนครฉางอาน ถังไท่จงจึงทรงส่งทูตไปตักเตือนโกกุเรียว แต่ยอน แกโซมุนกลับจับทูตจีนขังคุก เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ถังไท่จงทรงเกรงว่าโกกุเรียวจะรวมคาบสมุทรเกาหลีให้เป็นปึกแผ่นและกลายเป็นพันธมิตรกับพวกม่อเหอ (靺鞨) หรือมากัล (Magal) ทางตะวันออกของแมนจูเรีย (Wechsler, 1979: 232-233) พระองค์จึงตัดสินพระทัยนำทัพบุกโกกุเรียวด้วยพระองค์เองเมื่อ ค.ศ. 645

            กองทัพบกของราชวงศ์ถังจำนวนประมาณ 100,000 คนบุกเข้าไปยังคาบสมุทรเหลียวตง ขณะที่กองทัพเรือของราชวงศ์ถังที่ประกอบไปด้วยเรือ 500 ลำ และทหารอีก 43,000 คนก็มุ่งหน้าโจมตีโกกุเรียวทางทะเล แต่แล้วพระองค์ก็ไม่สามารถตีเมืองอานซื่อ (安市) บนคาบสมุทรเหลียวตงได้จนทรงล่าถอยกลับไปเมื่อถึงฤดูหนาว ส่วนการโจมตีทางเรือก็ล้มเหลวเช่นกัน ต่อมาใน ค.ศ. 647 พระองค์ทรงนำทัพบุกโกกุเรียวอีกครั้งแต่ก็ไม่ได้รับชัยชนะ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยจะเอาชนะให้ได้ โดยใน ค.ศ. 648 มีรับสั่งให้สร้างกองเรือขนาดใหญ่และเตรียมทหาร 300,000 คนเพื่อที่จะบุกโกกุเรียวอีกครั้งหนึ่ง ทว่าพระองค์ทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์เสียก่อนในปีถัดมา แผนการบุกโกกุเรียวจึงต้องระงับไป (Wechsler, 1979: 234-235) พระราชโอรสของพระองค์คือจักรพรรดิถังเกาจง (唐高宗) ซึ่งมีพระอัครมเหสีคือพระนางอู่เจ๋อเทียน (武则天หรือบูเช็กเทียน) หรือที่คนในสมัยนั้นขานพระนามรวมกันว่า “ทวิราช” (二圣) จะเป็นผู้สืบสานภารกิจดังกล่าวจนสำเร็จ[4]  

            การที่กองทัพของอาณาจักรโกกุเรียวสามารถต้านทานการรุกรานของราชวงศ์ถังไว้ได้ทำให้ยอน แกโซมุนมีความมั่นใจที่จะขยายอำนาจของโกกุเรียวให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยการบุกโจมตีชาวชี่ตันทางใต้ของแมนจูเรียใน ค.ศ. 655 และในปีถัดมายังได้ร่วมมือกับอาณาจักรแปกเจบุกโจมตีอาณาจักรซิลลา ด้วยเหตุนี้ใน ค.ศ. 660 ราชวงศ์ถังจึงร่วมมือเป็นพันธมิตรกับซิลลาเพื่อบุกโจมตีโกกุเรียวและแปกเจทั้งทางบกและทางทะเล กองทัพเรือของราชวงศ์ถังที่มีทหาร 100,000 คนได้ร่วมกับทหารบกของซิลลาจำนวน 50,000 คนบุกทำลายแปกเจได้สำเร็จในปีนั้นพร้อมกับนำตัวเชื้อพระวงศ์ของแปกเจไปเป็นตัวประกัน ณ นครฉางอาน (Twitchett & Wechsler, 1979: 282)   รวมทั้งตั้งสำนักงานผู้บัญชาการทหารแห่งฉุงจิน (熊津都督府) ขึ้นในปีเดียวกันเพื่อปกครองดินแดนที่เคยเป็นของแปกเจ (Tan Qixiang, 1996: 40-41)  อย่างไรก็ตาม กองทัพพันธมิตรถัง-ซิลลาไม่ประสบความสำเร็จในการพิชิตโกกุเรียวและต้องล่าถอยกลับไปใน ค.ศ. 662

            โอกาสของราชวงศ์ถังในการพิชิตอาณาจักรโกกุเรียวมาถึงใน ค.ศ. 666 เมื่อยอน แกโซมุนเสียชีวิตลงและเกิดการแย่งชิงอำนาจภายในราชสำนักโกกุเรียว ราชวงศ์ถังจึงอาศัยจังหวะดังกล่าวร่วมมือกับอาณาจักรซิลลาบุกโจมตีโกกุเรียวทั้งทางบกและทางทะเลอีกครั้งใน ค.ศ. 668 จนสามารถยึดนครเปียงยางไว้ได้รวมทั้งกวาดต้อนเชลยศึกราว 200,000 คนไปยังจีน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือกษัตริย์แห่งโกกุเรียวที่ถูกนำตัวไปคุกเข่า ณ สุสานของจักรพรรดิถังไท่จง โกกุเรียวกลายเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยมีการจัดตั้ง “สำนักงานรักษาความสงบของบูรพาทิศ” (安东都护府) ณ นครเปียงยาง โดยมีทหารจีนจำนวน 20,000 คนประจำการอยู่ที่นั่น (Twitchett & Wechsler, 1979: 284) อย่างไรก็ตาม อำนาจการปกครองของราชวงศ์ถังเหนือดินแดนดังกล่าวก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน ทั้งนี้เป็นผลมาจากแรงต่อต้านที่รุนแรงจากซิลลา ขณะเดียวกันราชวงศ์ถังต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงทางทิศตะวันตก นั่นคือกรณีของทิเบตที่เข้ามารุกรานดินแดนแถบเสฉวนและกานซู่ ทำให้เมื่อถึงครึ่งหลังของทศวรรษ 670 จีนจึงถอนตัวออกจากคาบสมุทรเกาหลีโดยย้ายสำนักงานรักษาความสงบของบูรพาทิศไปยังคาบสมุทรเหลียวตงซึ่งเป็นดินแดนของโกกุเรียวที่จีนยังคงยึดครองเอาไว้ได้ตราบจนสิ้นราชวงศ์ถังใน ค.ศ. 907 และแม้ว่าซิลลาจะยังมีความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการกับราชวงศ์ถัง แต่ในทางปฏิบัติถือได้ว่าเป็นอิสระจากการควบคุมของจีนอย่างแท้จริง

 

ข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคาบสมุทรเกาหลีหลังสิ้นราชวงศ์ถัง

หลังสิ้นราชวงศ์ถังใน ค.ศ. 907 ราชวงศ์ต่อๆ มาของจีนมิได้พยายามจะเข้าไปผนวกคาบสมุทรเกาหลีมาเป็นส่วนหนึ่งของจีนอีกเลย เรื่องนี้นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่าเหตุใดแม้กระทั่งราชวงศ์ของจีนในสมัยหลังที่สามารถสร้างเอกภาพและเปี่ยมด้วยแสนยานุภาพทางการทหารอย่างราชวงศ์หมิง (明朝ค.ศ. 1368-1644) และราชวงศ์ชิง (清朝ค.ศ. 1644-1911) กลับเลือกที่จะติดต่อกับเกาหลีในระบบบรรณาการ โดยเข้าแทรกเฉพาะเมื่อมีภัยคุกคามอย่างยิ่งยวดเท่านั้น ดังเช่นการที่ราชวงศ์หมิงส่งทหารเข้าไปยังอาณาจักรโชซอนเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นต้น คำตอบที่พอเป็นไปได้ก็คือ (1) เมื่อเข้าสู่ยุคอาณาจักรโชซอน (朝鲜ค.ศ. 1392-1910) เกาหลีได้กลายเป็นดินแดนที่รับเอาแบบแผนและวัฒนธรรมของจีนเข้าไปจนสมบูรณ์แล้ว ทำให้จีนมองว่าอารยธรรมเกาหลีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอารยธรรมจีนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เกาหลีจึงเป็นดินแดนของผู้มีอารยธรรมที่จีนไม่จำเป็นต้องใช้กำลังเข้าไปขัดเกลาอีกต่อไป (2)  จีนมองว่าระบบบรรณาการมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้กำลังทหาร อีกทั้งยังจะได้ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจอีกด้วย (Larsen, 2008: 40-41) และ (3) ราชวงศ์ชิงในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สามารถควบคุมอนารยชนกลุ่มอื่นๆ ทางเหนือไว้ได้ทั้งหมด จึงไม่มีความกังวลใจว่าจะมีรัฐใดใช้เกาหลีเป็นพันธมิตรหรือเป็นฐานที่มั่นที่จะบ่อนทำลายความมั่นคงของจีนจนต้องเข้าไปควบคุมโดยตรง เกาหลีจึงเป็นอิสระจากการควบคุมของจีน

คาบสมุทรเกาหลีกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของจีนอีกครั้งในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เนื่องจากญี่ปุ่นได้เข้ามาบีบบังคับให้อาณาจักรโชซอนลงนามในสนธิสัญญาเปิดประเทศ ที่เรียกว่าสนธิสัญญากังหวา (The Treaty of Kanghwa) เมื่อ ค.ศ. 1876 ราชวงศ์ชิงจึงตระหนักว่าความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการที่เป็นอยู่ไม่เพียงพอที่จะรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนได้อีกต่อไป ราชวงศ์ชิงจึงหันมาดำเนินนโยบายแบบลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism) ต่ออาณาจักรโชซอนด้วยการทำสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียม (unequal treaty) รวมทั้งอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเรือปืนและโทรเลขในการรักษาผลประโยชน์ของตนเหนืออาณาจักรโชซอนเอาไว้ ทั้งหมดนี้ไม่ต่างไปจากพฤติกรรมของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ที่ทำกับจีนและเกาหลีในช่วงเวลาเดียวกัน (Larsen, 2008: 41) อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวของราชวงศ์ชิงนำไปสู่การเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นจนกลายเป็นสงครามใน ค.ศ. 1894 ซึ่งจีนเป็นฝ่ายแพ้และสูญเสียอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีที่มีมายาวนานกว่าสองพันปีไปในที่สุด เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1910 และต้องรอจนถึงความปราชัยของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อ ค.ศ. 1945 จีนจึงได้กลับมามีบทบาทและอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีอีกครั้งหนึ่ง

 

บทสรุปและส่งท้าย

            จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า คาบสมุทรเกาหลีมีความสำคัญต่อความมั่นคงของจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ การใช้กำลังของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นเพื่อยึดครองอาณาจักรโชซอนโบราณนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้อาณาจักรดังกล่าวเป็นพันธมิตรกับพวกฉุงหนูที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของจีน ขณะที่การใช้กำลังของจีนสมัยราชวงศ์สุยและถังเพื่อยึดครองอาณาจักรโกกุเรียวนั้นก็เพื่อป้องกันมิให้อาณาจักรดังกล่าวกลายเป็นพันธมิตรกับพวกทูเจวี๋ยซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อจีนเช่นเดียวกัน ดังที่ Ledyard (1983) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าการใช้กำลังของจีนในแมนจูเรียและคาบสมุทรเกาหลีนั้นแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการจัดการกับอนารยชนทางทิศเหนือทั้งหมด และยุทธศาสตร์ดังกล่าวก็ยังคงมีอิทธิพลมาจนถึงจีนในยุคสมัยใหม่ ดังเช่นในทศวรรษ 1960 ถึง 1980 ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเผชิญกับภัยคุกคามทางทิศเหนือจากสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย จีนก็ได้พยายามสร้างอิทธิพลของตนในเกาหลีเหนือเพื่อป้องกันมิให้เกาหลีเหนือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโซเวียตมากเกินไปจนกลายเป็นการปิดล้อมจีนเพิ่มขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (Ledyard, 1983: 333-335)

ขณะเดียวกัน การใช้กำลังของจีนบนคาบสมุทรเกาหลีนำมาสู่การตั้งคำถามถึงการที่ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบันยืนยันว่าตนเองเป็นประเทศที่มีจิตวิญญาณรักสันติภาพตามแบบลัทธิขงจื่อมาแต่โบราณ และการเติบโตของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะเป็นไปอย่างสันติ ต่างจากประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในอดีตที่ดำเนินนโยบายตามแบบลัทธิจักรวรรดินิยม[5] แต่เมื่อมาพิจารณาถึงการใช้กำลังที่ราชวงศ์ฮั่น สุย และถังทำกับคาบสมุทรเกาหลีแล้วก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าจีนก็เคยดำเนินนโยบายเหมือนลัทธิจักรวรรดินิยมมาก่อนเช่นเดียวกัน[6] ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวดูจะเป็นจุดอ่อนของจีนในการสร้างอำนาจในการดึงดูดความนิยม (soft power) เพื่อต่อสู้กับทฤษฎีภัยคุกคามจากจีน (China Threat Theory) ที่แพร่หลายในโลกตะวันตกในปัจจุบัน

 


เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

ไรสเชอร์, เอ็ดวิน โอ. และยอห์น เค. แฟรแบงค์. (2510). อู่อารยธรรมตะวันออก เล่ม 3 (จำนงค์ ทองประเสริฐ นิทัศน์ ชูทรัพย์ วินิตา ไกรฤกษ์ และเขียน ธีระวิทย์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. (2553). เจิ้งเหอในฐานะทูตสันติภาพของจีน: เรื่องจริงหรืออิงนิยาย?. วารสารสังคมลุ่มน้ำโขง 6(2): 1-26.

 

ภาษาจีน

Tan Qixiang 谭其骧 (). (1996).  简明中国历史地图集 . 北京: 中国社会科学院.

Zhang Fan 张帆. (2001) . 中国古代简史.  北京 : 北京大学出版社.

 

ภาษาอังกฤษ

Bingham, W. (1970). The Founding of the T’ang Dynasty: The Fall of Sui and Rise of T’ang. New York: NY: Octagon Books.

Han Woo-Keun. (1970). The History of Korea (Lee Kyung-shik, trans.). Seoul: Eul-yoo Publishing Company. 

Hsü, Shuhsi. (1926). China and Her Political Entity: A Study of China’s Foreign Relations with Reference to Korea, Manchuria and Mongolia. New York, NY: Oxford University Press. Cited in M. F. Nelson. (1967). Korea and the Old Orders in Eastern Asia. New York, NY: Russell & Russell.  

Kim Seong-hwan. (2004). Atlas of Korean History. Singapore: Stallion Press.

Larsen, K. W. (2008). Tradition, Treaties, and Trade: Qing Imperialism and Choson Korea, 1850-1910. Cambridge, MA: Harvard University Press.   

Ledyard, G. (1983). Yin and Yang in the China-Manchuria-Korea Triangle. In M. Rossabi. (Ed.). China among Equals: the Middle Kingdom and its Neighbors, 10th-14th Centuries. (pp. 313-353). Berkeley, CA: University of California Press.

Lee  Ki-baik. (1984). A New History of Korea (E. W. Wagner & E. J. Shultz, trans.). Cambridge, MA: Harvard University Press.    

Lewis, M. E. (2007). The Early Chinese Empires: Qin and Han. Cambridge, MA: The Belknap Press of Harvard University Press.

Nathan, A. J. & R. S. Ross. (1998). The Great Wall and the Empty Fortress. New York, NY: W. W. Norton & Company.

Twitchett, D. & H. J. Wechsler. (1979). Kao-tsung (reign 649-83) and the empress Wu: the inheritor and the usurper. In D. Twitchett (Ed.), The Cambridge History of China, Volume 3, Sui and T’ang China, 589-906, Part I (pp. 242-289). New York, NY: Cambridge University Press.  

Wang Zhenping. (2009). Ideas concerning Diplomacy and Foreign Policy under the Tang Emperors Gaozu and Taizong. Asia Major. THIRD SERIES 22(1): 239-285.

Wechsler, H. J. (1979). T’ai-tsung (reign 626-49). In D. Twitchett (Ed.), The Cambridge History of China, Volume 3, Sui and T’ang China, 589-906, Part I (pp. 188-241). New York, NY: Cambridge University Press.  

Wright, A. F. (1979). The Sui dynasty (581-617). In D. Twitchett (Ed.), The Cambridge History of China, Volume 3, Sui and T’ang China, 589-906, Part I (pp. 48-149). New York, NY: Cambridge University Press.   

Wu Genyou. (2007). Peace: The Roots of the Cultural Tradition and Values of the Chinese People. Beijing: Foreign Languages Press.

------------------------------------------------------

                        [1] พวกเยว่จือต่อมาได้รุกรานภาคเหนือของอินเดียและสถาปนาราชวงศ์กุษาณะ (Kushana Dynasty ค.ศ. 78 – 248)  
[2] หมายถึงอนารยชนทั้งสี่ทิศ
[3]  จักรพรรดิสุยหยางตี้กับจักรพรรดิถังเกาจู่ทรงเป็นพระญาติเกี่ยวดองกันทางสายพระราชชนนี โดยทรงมีพระอัยกา (ตา) ร่วมกัน
[4]  พระนางอู่เจ๋อเทียนเป็นพระสนมในจักรพรรดิถังไท่จง และต่อมาได้เป็นพระสนมและพระอัครมเหสีในจักรพรรดิถังเกาจงอีกรัชกาลหนึ่งด้วย และเมื่อถังเกาจงทรงพระประชวรด้วยพระโรคเส้นพระโลหิตในสมองแตกเมื่อ ค.ศ. 660 พระนางก็เป็นผู้สำเร็จราชการแทนตราบจนถังเกาจงสิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 683 และได้สถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิหญิงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนเมื่อ ค.ศ. 690 และครองราชย์อยู่จนถึง ค.ศ. 705 ดังนั้นการทำสงครามพิชิตอาณาจักรโกกุเรียวในทศวรรษ 660 น่าจะเป็นการตัดสินพระทัยของพระนางโดยหารือกับเหล่าเสนาบดีมากกว่าจะเป็นการตัดสินพระทัยของจักรพรรดิ 
[5] ดูใน Wu Genyou (2007) และสิทธิพล เครือรัฐติกาล (2553)
[6] คำว่า “จักรวรรดินิยม” หรือในภาษาอังกฤษคือ imperialism มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า imperium หมายถึง การบังคับบัญชา เริ่มใช้กันครั้งแรกในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เพื่ออธิบายความทะเยอทะยานของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 (Napoleon III) ผู้ทรงต้องการให้ฝรั่งเศสกลับมายิ่งใหญ่ในทวีปยุโรปอีกครั้งเฉกเช่นในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 (Napoleon I) ผู้เป็นพระปิตุลาของพระองค์ หรือเทียบเท่าจักรวรรดิโรมันในสมัยโบราณ จนกระทั่งเมื่อนโปเลียนที่ 3 พ่ายแพ้สงครามกับปรัสเซียและหมดอำนาจไปใน ค.ศ. 1870 จึงมีการนำคำดังกล่าวไปใช้เรียกปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ คำว่า “จักรวรรดินิยม” เน้นไปที่การที่ประเทศหนึ่งเข้าไปมีอำนาจและจัดการปกครองเหนือดินแดนอื่นๆ โดยอาจเป็นการปกครองทางตรงหรือทางอ้อมผ่านผู้นำท้องถิ่นของดินแดนเหล่านั้นก็ได้