“ไต้หวันมีบุญคุณอย่างยิ่งต่อสิงคโปร์
โดยเฉพาะอดีตประธานาธิบดีเจี่ยงจิงกั๋วที่ช่วยให้สิงคโปร์มีสถานที่ฝึกทหาร เราไม่อาจลืมหนี้บุญคุณได้ เราชำระหนี้บุญคุณเท่าที่เราใช้ไปและไม่ได้ชำระเกินแม้แต่ดอลลาร์เดียว
มันคือความสัมพันธ์พิเศษ”
นายกรัฐมนตรีลีกวนยิวของสิงคโปร์
กล่าวต่อนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงของจีนเมื่อ ค.ศ. 1990
(Lee, 2011, pp. 633-634)
บทนำ
สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีประชากรจำนวน
3 ใน 4 เป็นคนเชื้อสายจีน
จนเคยเป็นที่หวาดระแวงของประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็นว่าเป็น
“ประเทศจีนที่สาม” (The Third China) ที่อาจเป็นแนวร่วมของสาธารณรัฐประชาชนจีนในการส่งออกการปฏิวัติสังคมนิยม
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วจะพบว่าสิงคโปร์มีแนวนโยบายต่อจีนในลักษณะพิเศษ
กล่าวคือ ขณะที่ประเทศอื่นๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคสงครามเย็นเลือกที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งระหว่างรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่กับรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน
สิงคโปร์ซึ่งมีความร่วมมือทางการทหารกับไต้หวันกลับเลือกที่จะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนหรือไต้หวันเลย
แต่กระนั้นสิงคโปร์ก็มีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการที่ค่อนข้างดีกับทั้งสองฝ่ายตลอดทศวรรษ
1970 และ 1980 ดังจะเห็นได้จากการที่ลีกวนยิว
(Lee Kuan Yew李光耀) นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์กลายเป็นมิตรที่สนิทสนมกับทั้งเติ้งเสี่ยวผิง
(邓小平) ผู้นำสูงสุดของจีนและเจี่ยงจิงกั๋ว (蒋经国) ประธานาธิบดีของไต้หวัน แม้ว่าในที่สุดแล้วสิงคโปร์ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อ
ค.ศ. 1990 หากแต่ความร่วมมือด้านการทหารกับไต้หวันก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบันโดยที่จีนเองก็รับทราบ
ต่างจากประเทศอื่นๆ
ที่เมื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแล้วจะต้องจำกัดความสัมพันธ์กับไต้หวันให้อยู่แต่เฉพาะในด้านเศรษฐกิจ
วัฒนธรรม วิชาการ และความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมเท่านั้น
บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า
ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันมีจุดกำเนิดมาจากความช่วยเหลือด้านการทหารของไต้หวันและมิตรภาพส่วนตัวของผู้นำทั้งสองฝ่าย
ซึ่งช่วยบรรเทาสภาวะล่อแหลมต่ออันตราย (vulnerability)
ของประเทศที่เกิดใหม่ในยุคสงครามเย็นอย่างสิงคโปร์ลงไปได้ อย่างไรก็ตาม
ความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มประสบปัญหานับตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ
ได้แก่ (1) การเติบโตของประชาธิปไตยในไต้หวันที่นำไปสู่กระแสการเรียกร้องเอกราชจนเกิดความตึงเครียดกับจีน
และขัดกับผลประโยชน์ของสิงคโปร์ที่สนับสนุนการรักษาสถานะเดิม (status quo) ของสองฝั่งช่องแคบไต้หวันเอาไว้เพื่อให้เกิดสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีเสถียรภาพ
และ (2) ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างสิงคโปร์กับจีนซึ่งทำให้สิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะโอนอ่อนตามแรงกดดันของจีนในประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันมากยิ่งขึ้น
สถานการณ์ข้ามช่องแคบไต้หวันและท่าทีของจีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันในอนาคต
สภาวะแวดล้อมด้านนโยบายต่างประเทศของสิงคโปร์กับจุดยืนต่อจีนและไต้หวัน
งานศึกษาของ Ganesan (2543) Leifer (2000) และ Huxley
(2006) ได้ชี้ให้เห็นตรงกันว่าสิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้
“สภาวะล่อแหลมต่ออันตราย” (vulnerability) มาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ
กล่าวคือ สิงคโปร์ได้สิทธิในการปกครองตนเองจากอังกฤษและมีการเลือกตั้งเมื่อ ค.ศ. 1959
โดยมีลีกวนยิวจากพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party –
PAP) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1963 สิงคโปร์พร้อมด้วยอาณานิคมของอังกฤษอีก 2 แห่งคือ
ซาราวัก (Sarawak) และบอร์เนียวเหนือ (northern
Borneo) หรือซาบาห์ (Sabah) ได้เข้าร่วมกับสหพันธรัฐมลายา
(The Federation of Malaya) และตั้งชื่อประเทศใหม่ว่า “สหพันธรัฐมาเลเซีย”
(The Federation of Malaysia) อย่างไรก็ตาม
ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับรัฐบาลที่กรุงกัวลาลัมเปอร์เป็นไปอย่างไม่ราบรื่น
ซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางเชื้อชาติระหว่างประชากรส่วนใหญ่ของสิงคโปร์ที่เป็นคนเชื้อสายจีนกับประชากรส่วนใหญ่บนคาบสมุทรมลายูที่เป็นชาวมาเลย์
ในที่สุดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 สิงคโปร์จึงได้แยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียอย่างเป็นทางการ หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าเอกราชของสิงคโปร์เกิดขึ้นท่ามกลางบาดแผลในความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านทางทิศเหนือ
ขณะเดียวกัน ประเทศเอกราชใหม่อย่างสิงคโปร์ก็ต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นมิตรของประธานาธิบดีซูการ์โน
(Sukarno) แห่งอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านขนาดใหญ่ทางทิศใต้
กล่าวคือ
ซูการ์โนมองว่าอังกฤษยังคงพยายามรักษาลัทธิจักรวรรดินิยมของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอาไว้ด้วยการทำข้อตกลงด้านความมั่นคงกับสหพันธรัฐมลายาเมื่อ
ค.ศ. 1957 และเพื่อเป็นการตอบโต้อังกฤษที่สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหพันธรัฐมาเลเซียขึ้นใน
ค.ศ. 1963 ซูการ์โนจึงประกาศ “นโยบายเผชิญหน้า” (Confrontasi)
กับมาเลเซียเฉกเช่นที่เขาทำกับเนเธอร์แลนด์ในกรณีของอีเรียน จายา (Irian
Jaya) เมื่อ ค.ศ. 1960 และการแยกตัวเป็นเอกราชของสิงคโปร์ใน
ค.ศ. 1965 ก็มิได้ช่วยให้เขามีทัศนคติที่ดีขึ้น เพราะซูการ์โนยังคงมองว่าสิงคโปร์เป็นที่มั่นสำคัญของจักรวรรดินิยมและศูนย์รวมของคนเชื้อสายจีนที่เปรียบเสมือนตัวปรสิต
(Leifer, 2000, p. 72)
สัดส่วนของประชากรก็เป็นปัจจัยที่ท้าทายความมั่นคงภายในและภายนอกของสิงคโปร์อยู่ไม่น้อย
สิงคโปร์มีประชากรเชื้อสายจีนร้อยละ 76.5 เชื้อสายมาเลย์ร้อยละ
14.8 เชื้อสายอินเดียและศรีลังการ้อยละ 5.5 และที่เหลือเป็นชนเชื้อสายอื่นๆ (Ganesan, 2543, น. 194)
ปัจจัยดังกล่าวนอกจากจะทำให้สิงคโปร์ไม่อาจสร้างเอกลักษณ์ประจำชาติได้แล้ว
ยังก่อให้เกิดความตึงเครียดทางเชื้อชาติอีกด้วย
โดยเฉพาะความไม่พอใจของคนเชื้อสายมาเลย์ทั้งที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์และที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งมองว่าคนเชื้อสายจีนมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงกว่าพวกตน
จนมีการเปรียบเปรยในทำนองที่ว่าคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ยืนอยู่ท่ามกลางความไม่เป็นมิตรของโลกมาเลย์
เช่นเดียวกับที่ชาวยิวในอิสราเอลที่ถูกห้อมล้อมด้วยโลกอาหรับที่เป็นศัตรู (Leifer,
2000, p. 64)
แม้ว่าสิงคโปร์จะมีที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก
แต่ในอีกมุมหนึ่งต้องถือว่ามีความอาภัพด้านภูมิศาสตร์และทรัพยากรที่จำกัด
สิงคโปร์เป็นเกาะที่มีพื้นที่ขนาดเล็กเพียงราว 600 ตารางกิโลเมตร
และต้องติดต่อกับโลกภายนอกโดยอาศัยน่านน้ำและน่านฟ้าของมาเลเซียกับอินโดนีเซียซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยเป็นมิตรนัก
ข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้สิงคโปร์ไม่อาจตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันของประชาชนจนต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและน้ำจืดจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างสูงโดยเฉพาะจากมาเลเซีย
(Ganesan, 2543, น. 201) และหากเกิดสงคราม
ประชาชนชาวสิงคโปร์จะไม่มีสถานที่สำหรับอพยพหลบภัยและเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจนได้รับบาดเจ็บได้ง่ายมาก
(Huxley, 2006, p. 144)
รัฐบาลสิงคโปร์ได้ศึกษาประสบการณ์ด้านการป้องกันประเทศจากสวิตเซอร์แลนด์และสวีเดนซึ่งมีประชากรน้อยและตั้งอยู่ใกล้กับประเทศมหาอำนาจที่มีประชากรและพื้นที่มากกว่า
จนมีการประกาศแนวคิดที่เรียกว่า “การป้องกันแบบเบ็ดเสร็จ” (Total Defence) เมื่อ ค.ศ. 1984 อันประกอบไปด้วยการป้องกันใน 5
ด้าน ได้แก่ (1) การป้องกันทางทหาร (Military
Defence) หมายถึง
การเตรียมกองทัพให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ (2) การป้องกันทางพลเรือน
(Civil Defence) หมายถึง
การเตรียมพร้อมตลอดเวลาสำหรับประชาชนในยามฉุกเฉิน ทั้งการปฐมพยาบาล การอพยพหลบภัย
รวมทั้งการเตรียมสิ่งที่จำเป็นในยามวิกฤต เช่น เลือด น้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น (3)
การป้องกันทางเศรษฐกิจ (Economic Defence) การทำให้ประเทศมีความสามารถด้านการแข่งขันท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
การทำให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้แม้ในยามวิกฤต
และการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป (4)
การป้องกันทางสังคม (Social Defence) หมายถึง
การสร้างความกลมเกลียวระหว่างประชาชนในสิงคโปร์ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา
และ (5) การป้องกันทางจิตวิทยา (Psychological Defence)
หมายถึง การทำให้ประชาชนในสิงคโปร์รักและภูมิใจในประเทศของตน
รวมทั้งมีความมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง (What is Total Defence,
2010, Jan 15)
ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีอิทธิพลต่อการกำหนดท่าทีของสิงคโปร์ต่อจีนและไต้หวันในลักษณะที่แตกต่างไปจากประเทศอื่นๆ
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ ในเวลาที่สิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซียเมื่อ
ค.ศ. 1965 พม่า ลาว เวียดนามเหนือ กัมพูชา
และอินโดนีเซียต่างมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ขณะที่ไทย เวียดนามใต้ มาเลเซีย
และฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน
แต่สิงคโปร์กลับเลือกที่จะไม่สถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวกับจีนหรือไต้หวันเลย
ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ 2 ประการ คือ (1) ประชากรเชื้อสายจีนในสิงคโปร์มีทั้งผู้ที่สนับสนุนพรรคกั๋วหมินตั่งและพรรคคอมมิวนิสต์จีน
การจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลจีนหรือไต้หวันย่อมนำมาซึ่งความแตกแยกในหมู่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
(Rau, 1974, pp. 156-157, 286) และ (2)
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านมองสิงคโปร์ด้วยความหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลมาเลเซียซึ่งกังวลเกี่ยวกับความช่วยเหลือของจีนที่ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา
(The Communist Party of Malaya) ในการทำสงครามกองโจรเพื่อ
“ปลดปล่อย” คาบสมุทรมลายู ขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต (Suharto)
ก็ตั้งข้อสงสัยว่าจีนอยู่เบื้องหลังความพยายามในการก่อรัฐประหารในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันที่
30 กันยายน ค.ศ. 1965 จนนำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อวันที่
30 ตุลาคม ค.ศ. 1967 ด้วยเหตุนี้สิงคโปร์จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้าใจผิดว่าตนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของจีน
(Ganesan, 2543, น. 197) ทั้งๆ
ที่ในความเป็นจริงแล้วลีกวนยิวก็มองพรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนให้การสนับสนุนว่าเป็นภัยคุกคามต่อสิงคโปร์เช่นเดียวกัน
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ แม้จะมิได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
แต่สิงคโปร์ก็ตระหนักดีว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียซึ่งไม่อาจละเลยความสำคัญไปได้
สิงคโปร์จึงมีท่าทีให้การรับรองจีนโดยนัย (tacit recognition)
มาตั้งแต่เริ่มเป็นเอกราช ดังปรากฏในแถลงการณ์ของอาบู บาการ์ บิน ปาวันชี (Abu
Bakar bin Pawanchee) ทูตสิงคโปร์ประจำองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่
14 ตุลาคม ค.ศ. 1965 ที่ระบุชัดเจนว่าสิงคโปร์สนับสนุนให้จีนเข้าเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน
(Extract from statement, 1968, p. 150) แต่ในแถลงการณ์เดียวกันก็ระบุว่า
ไต้หวันควรมีสิทธิในการกำหนดการปกครองของตนเอง (self-determination) ว่าจะเข้าร่วมกับจีนหรือไม่ และหากต้องการแยกเป็นอิสระ
ไต้หวันก็ควรได้รับสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (Extract
from statement, 1968, p. 150) และแม้ว่าใน ค.ศ. 1971 สิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงคะแนนเสียงสนับสนุนจีนจนทำให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาติได้สำเร็จ
รวมทั้งเน้นย้ำนโยบายจีนเดียวที่ระบุว่าปัญหาไต้หวันเป็นกิจการภายในของจีน
แต่ผู้แทนถาวรของสิงคโปร์ประจำองค์การดังกล่าวก็ไม่ลืมที่จะเน้นย้ำว่าประชาชนบนเกาะไต้หวันควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวด้วย
(Lee, 2011, p. 577)
สอดคล้องกับข้อสังเกตของ Ganesan (2543) ที่ว่าสภาวะล่อแหลมต่ออันตรายที่สิงคโปร์ต้องเผชิญได้ทำให้มีแนวโน้มที่สิงคโปร์จะเห็นอกเห็นใจประเทศเล็ก
โดยมองว่าการที่ประเทศใหญ่คุกคามบูรณภาพทางดินแดนของประเทศเล็กนั้นเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(p. 190)
ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันในปลายทศวรรษ 1960 ถึงต้นทศวรรษ 1990
การก่อตั้งประเทศภายใต้สภาวะล่อแหลมต่ออันตรายทำให้สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพเป็นอย่างยิ่ง
โดยในขั้นแรกสิงคโปร์พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยการขอความช่วยเหลือทางการทหารจากประเทศที่เป็นสมาชิกขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
(Non-Aligned Movement – NAM) แต่ทั้งนายกรัฐมนตรีลัล
บาฮาดูร์ ศาสตรี (Lal Bahadur Shastri) แห่งอินเดีย
และประธานาธิบดีนัสเซอร์ (Nasser) แห่งอียิปต์ต่างปฏิเสธคำขอของสิงคโปร์
(Lee, 2011, p. 15) ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1965 สิงคโปร์จึงเริ่มรับความช่วยเหลือทางทหารจากอิสราเอล
แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวก็มีข้อจำกัดที่สำคัญ 2 ประการ
ได้แก่ (1) อิสราเอลสามารถให้ความช่วยเหลือได้เฉพาะการส่งเจ้าหน้าที่มาจัดระบบกองทัพสิงคโปร์เท่านั้น
แต่ไม่อาจเอื้อเฟื้อสถานที่สำหรับให้ทหารสิงคโปร์ใช้ในการฝึกฝนได้เนื่องจากอิสราเอลเองก็มีข้อจำกัดด้านพื้นที่
และ (2) ความร่วมมือกับอิสราเอลนำมาซึ่งความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมและมีจุดยืนเข้าข้างโลกอาหรับในความขัดแย้งกับอิสราเอล
และเมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮาโรลด์ วิลสัน (Harold Wilson) แห่งอังกฤษประกาศเมื่อ ค.ศ. 1968 ว่าจะถอนทหารออกจากทิศตะวันออกของคลองสุเอช
(ซึ่งหมายถึงทวีปเอเชีย) ให้หมดภายใน ค.ศ. 1971 สิงคโปร์ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นที่จะต้องพัฒนากองทัพของตนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
จนนำไปสู่ความร่วมมือทางการทหารกับไต้หวัน
ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันมีจุดเริ่มต้นใน
ค.ศ. 1967 เมื่อไต้หวันส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาพบโก๊ะเก็งสวี
(Goh Keng Swee 吴庆瑞)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมของสิงคโปร์พร้อมกับข้อเสนอที่จะช่วยสิงคโปร์พัฒนากองทัพโดยแลกกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ข้อเสนอดังกล่าวแม้จะตรงกับความต้องการอย่างยิ่งยวดของสิงคโปร์ที่จะพัฒนากองทัพให้มีประสิทธิภาพ
แต่สิงคโปร์ก็ไม่ยินยอมที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน
และยินยอมให้มีเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น จนมีการตั้ง
“สำนักงานผู้แทนการค้าแห่งสาธารณรัฐจีน” (中华民国商务代表办事处)
ในสิงคโปร์เมื่อ ค.ศ. 1969 โดยสิงคโปร์เน้นย้ำว่าการเปิดสำนักงานดังกล่าวมิใช่การรับรองรัฐหรือรัฐบาล
ณ กรุงไทเปแต่อย่างใด (Lee, 2011, p. 559)
ภายหลังจากที่ไต้หวันสูญเสียที่นั่งในองค์การสหประชาชาติให้แก่จีนเมื่อ
ค.ศ. 1971 และทำให้ประเทศต่างๆ
เริ่มทยอยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันและหันไปสถาปนาความสัมพันธ์กับจีน
จนเจี่ยงจิงกั๋วซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องประกาศนโยบาย “การทูตเบ็ดเสร็จ” (总体外交 total
diplomacy) ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศอย่างรอบด้านโดยอาศัยช่องทางที่หลากหลาย
ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อรักษามิตรประเทศเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
(Kim, 1994, p. 150) ไต้หวันจึงได้พยายามแสวงหาความร่วมมือกับสิงคโปร์อีกครั้งหนึ่ง
ในที่สุดนายกรัฐมนตรีลีกวนยิวได้ตอบรับคำเชิญไปเยือนไต้หวันครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 1973 โดยเจี่ยงจิงกั๋วได้พาลีกวนยิวไปชมกิจการของกองทัพด้วยตนเอง
และในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1974 ลีกวนยิวก็ได้ไปเยือนไต้หวันเป็นครั้งที่
2 โดยเจี่ยงจิงกั๋วได้จัดพิธีการต้อนรับเทียบเท่าประมุขของรัฐ
(Lee, 2011, p. 561) และในครั้งนั้นเองที่ลีกวนยิวเอ่ยปากขอความร่วมมือทางทหารจากไต้หวันจนนำไปสู่ข้อตกลงในเดือนเมษายน
ค.ศ. 1975 ที่อนุญาตให้สิงคโปร์ส่งทหารราบ ทหารปืนใหญ่
หน่วยยานเกราะ และหน่วยคอมมานโดเดินทางไปฝึกที่ไต้หวันเป็นประจำทุกปี
โดยเรียกความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “โครงการแสงดาว” (星光计划) และเรียกปฏิบัติการและทหารที่เข้าร่วมโครงการว่า “ปฏิบัติการแสงดาว” (星光演习) และ “กองกำลังแสงดาว” (星光部队) ตามลำดับ
โดยมีฐานปฏิบัติการฝึกอยู่ที่ตำบลเหิงชุน (恒春镇) อำเภอผิงตง (屏东县) ทางใต้ของเกาะไต้หวัน (ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์, 2005) จนเมื่อสิ้นทศวรรษ
1980 ก็มีทหารสิงคโปร์เข้าร่วมโครงการนี้แล้วทั้งสิ้นราว 130,000
คน (Chong, 2006, p. 182) และหนึ่งในสัญลักษณ์ที่สิงคโปร์แสดงออกเพื่อขอบคุณความช่วยเหลือของไต้หวันก็คือ
การที่ประธานาธิบดีวีคิมวี (Wee Kim Wee黄金辉) ของสิงคโปร์ได้มอบเหรียญตราทางทหารชั้นสูงสุดให้แก่ห่าวป๋อชุน
(郝柏村) เสนาธิการทหารของไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1988 (Chang & Tai, 1996,
p. 171)
ขณะเดียวกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศก็เป็นไปอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง ค.ศ. 1973
จนถึงสิ้นทศวรรษ 1980 ลีกวนยิวเดินทางไปเยือนไต้หวันเกือบทุกปีและกลายเป็นมิตรที่สนิทสนมกับเจี่ยงจิงกั๋วผู้ซึ่งบางครั้งถึงกับเดินทางไปต้อนรับลีกวนยิวที่สนามบินด้วยตนเอง
ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาไม่ปฏิบัติกับแขกต่างชาติทั่วไป (Taylor, 2000, p.
383) รวมทั้งมีการปิดพิพิธภัณฑ์พระราชวังโบราณแห่งชาติ (国力故宫博物院) ณ กรุงไทเปและนำเอาโบราณวัตถุชิ้นพิเศษมาจัดแสดงเพื่อให้ลีกวนยิวชมเป็นการเฉพาะ
(Chen, 2002, pp. 69-70) เมื่อเจี่ยงจิงกั๋วถึงแก่อสัญกรรมใน
ค.ศ. 1988 ลีกวนยิวก็เดินทางไปร่วมงานศพทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่หลีกเลี่ยงการส่งบุคคลระดับสูงไปร่วมงานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับจีน
ลีกวนยิวอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวว่ามีรากฐานจากการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
ดังปรากฏในบันทึกความทรงจำของเขาตอนหนึ่งว่า
นอกจากข้าพเจ้าจะเข้ากันได้ดีเป็นการส่วนตัวกับเจี่ยงจิงกั๋วแล้ว
รากฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างเราก็คือ
การที่เราทั้งคู่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นศัตรูตัวฉกาจของเขา
ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์มลายาซึ่งเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เป็นศัตรูตัวฉกาจของข้าพเจ้า
เราทั้งสองมีความมุ่งหมายร่วมกัน
(Lee, 2011, p. 560)
ในด้านเศรษฐกิจ
สิงคโปร์เปิดสำนักงานผู้แทน ณ กรุงไทเปเมื่อ ค.ศ. 1979 และมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศก็เพิ่มขึ้นจาก
546.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนั้นเป็น 765 ล้านเหรียญสหรัฐในปีถัดมา หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 (Chong, 2006,
p. 183) รวมทั้งมีการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจอีกหลายฉบับ อาทิ
ข้อตกลงด้านการบินเมื่อ ค.ศ. 1975 ข้อตกลงด้านการยกเว้นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนเมื่อ
ค.ศ. 1981 ข้อตกลงด้านการส่งเสริมและปกป้องการลงทุนเมื่อ
ค.ศ. 1990 (Chang & Tai, 1996, p. 174) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายที่ขยายตัวนำมาสู่การเดินทางเยือนสิงคโปร์ของบุคคลสำคัญจากไต้หวัน
ได้แก่ อี๋ว์กั๋วหัว (俞国华) นายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนมิถุนายน
ค.ศ. 1987 เหลียนจ้าน (连战) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1988 และหลี่เติงฮุย (李登辉) ประธานาธิบดีเมื่อเดือนมีนาคม
ค.ศ. 1989
แม้จะมีความสัมพันธ์กับไต้หวันในหลายด้าน
แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ สิงคโปร์พยายามหลีกเลี่ยงการสร้างความระคายเคืองให้กับจีน
การเดินทางเยือนไต้หวันของลีกวนยิวในแต่ละครั้งจึงแทบไม่ปรากฏเป็นข่าว การประกาศนโยบาย
“การทูตที่เน้นผลในทางปฏิบัติ” (务实外交 pragmatic diplomacy) หรือ “การทูตแบบยืดหยุ่น” (弹性外交 flexible diplomacy)
ของหลี่เติงฮุยเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1988 เพื่อขยายพื้นที่ของไต้หวันในเวทีโลกยิ่งทำให้สิงคโปร์ต้องดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างระมัดระวังมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากเมื่อหลี่เติงฮุยเดินทางเยือนสิงคโปร์ใน ค.ศ. 1989 ลีกวนยิวได้สั่งห้ามมิให้ปฏิบัติต่อเขาเหมือนประมุขแห่งรัฐ ห้ามประดับธงชาติไต้หวัน
ห้ามมีทหารกองเกียรติยศคอยต้อนรับ รวมทั้งให้เรียกหลี่เติงฮุยว่า
“ประธานาธิบดีจากไต้หวัน” (President from Taiwan) แทนที่จะเป็น
“ประธานาธิบดีของไต้หวัน” (President of Taiwan) (Lee,
2011, pp. 566-567) ทั้งหมดนี้เพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับจีน
ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับจีนก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ประเทศเอกราชใหม่อย่างสิงคโปร์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่การเมืองภายในของจีนกำลังจะเข้าสู่สมัยซ้ายจัดที่เรียกกันว่า
“การปฏิวัติวัฒนธรรม” (The Cultural Revolution) ซึ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการใน
ค.ศ. 1966 ก่อนที่จะแผ่วเบาลงหลัง ค.ศ. 1969 และสิ้นสุดพร้อมกับการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตง (毛泽东)
ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ. 1976 การปฏิวัติดังกล่าวส่งผลให้นโยบายต่างประเทศของจีนเข้าสู่สมัยซ้ายจัดไปด้วย
ทั้งนี้จีนได้เพิ่มการสนับสนุนแก่ขบวนการฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ มากขึ้นกว่าเดิมซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่มุ่งจะ
“ปลดปล่อย” มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยใน ค.ศ. 1968 วิทยุปักกิ่งได้ประณามลีกวนยิวว่าเป็นสุนัขรับใช้จักรวรรดินิยม
และจีนยังได้พยายามนำเอาเอกสารและสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับเหมาเจ๋อตงเข้ามาเผยแพร่เพื่อปลุกปั่นคนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์อีกด้วย
(Lee, 2011, p. 575) ทั้งหมดนี้ทำให้สิงคโปร์มองจีนด้วยความหวาดระแวง
อย่างไรก็ตาม
ผู้นำของสิงคโปร์ก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเอาไว้
โดยทันทีที่สิงคโปร์เป็นเอกราชในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1965 ลีกวนยิวก็ประกาศว่ารัฐบาลสิงคโปร์อนุญาตให้สาขาของธนาคารแห่งประเทศจีน
(Bank of China) สามารถดำเนินกิจการในสิงคโปร์ต่อไปได้เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อทางเศรษฐกิจกับจีน
ทั้งๆ
ที่เดิมรัฐบาลของสหพันธรัฐมาเลเซียกำลังจะไม่ต่อใบอนุญาตให้เนื่องจากมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคง
(Rau, 1974, p. 291) และสถิติช่วง ค.ศ. 1966 ถึง 1969 ได้ชี้ให้เห็นปริมาณการค้าระหว่างสิงคโปร์กับจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
(ดูตารางที่ 1) โดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เป็นฝ่ายนำเข้าสินค้าจากจีนจำพวกเสื้อผ้า
เครื่องแก้ว เครื่องใช้ในครัวเรือน และสินค้าบริโภค
ซึ่งช่วยบรรเทาความขาดแคลนในยามที่สิงคโปร์ยังไม่สามารถสินค้าได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ
(Rau, 1974, pp. 288-290) อย่างไรก็ตาม
กิจกรรมทางเศรษฐกิจกับจีนทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของ International
Trading Company (Intraco) ที่รัฐบาลสิงคโปร์จัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1968
เพื่อกำกับการค้ากับประเทศสังคมนิยม (เขียน
ธีระวิทย์, 2541, น. 319)
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตจนเกิดสงครามชายแดนเมื่อ
ค.ศ. 1969 ทำให้จีนเริ่มหันไปปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาจนประธานาธิบดีริชาร์ด
นิกสัน (Richard Nixon) เดินทางเยือนจีนใน ค.ศ. 1972 และจีนก็พยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับสิงคโปร์เช่นกันเพื่อป้องกันไม่ให้สหภาพโซเวียตเข้ามามีที่มั่นทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยใน ค.ศ. 1970 สถานทูตจีนในประเทศต่างๆ
ได้เริ่มเชิญทูตสิงคโปร์ประจำประเทศนั้นๆ มาร่วมงานฉลองวันชาติ สิงคโปร์จึงได้ส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมการแข่งขันปิงปองมิตรภาพแอฟริกา-เอเชีย
(The Afro-Asian Table Tennis Friendship Games) ณ
กรุงปักกิ่ง เมื่อ ค.ศ. 1971 (Lee, 2011, pp.
575-576) การที่ประเทศเพื่อนบ้านของสิงคโปร์อย่างมาเลเซียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 1974 ทำให้ลีกวนยิวเห็นความสำคัญของจีนมากยิ่งขึ้นจนทำให้เอส
ราชารัตนัม (S. Rajaratnam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปเยือนจีนในเดือนมีนาคม
ค.ศ. 1975 ซึ่งในครั้งนั้นราชารัตนัมได้กล่าวกับโจวเอินไหล (周恩来)
นายกรัฐมนตรีของจีนว่าสิงคโปร์จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนต่อเมื่ออินโดนีเซียฟื้นฟูความสัมพันธ์ดังกล่าวกับจีนได้สำเร็จเสียก่อน
ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้อินโดนีเซียเข้าใจผิดว่าสิงคโปร์อยู่ใต้อิทธิพลของจีน (Lee,
2011, pp. 577-578)
ลีกวนยิวเดินทางเยือนจีนในเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 1976 โดยมีจุดยืนที่สำคัญคือ (1)
สิงคโปร์จะเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
(2) สิงคโปร์จะไม่อนุญาตให้สหภาพโซเวียตใช้สิงคโปร์เป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านจีน
(3) สิงคโปร์ยอมรับว่าโลกนี้มีจีนเดียวคือสาธารณรัฐประชาชนจีน
และยินดีติดต่อกับจีนในด้านการค้า การกีฬา และวัฒนธรรม และ (4) สิงคโปร์ไม่ใช่ “ประเทศสังคญาติ” (kinsman country) ของจีน
ดังนั้นการพบปะระหว่างลีกวนยิวกับผู้นำของจีนจะใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทั้งหมด (Lee,
2011, pp. 578-579) ขณะนั้นโจวเอินไหลได้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว
ส่วนเหมาเจ๋อตงก็ป่วยหนักจนสามารถพบกับลีกวนยิวได้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ คู่สนทนาสำคัญของลีกวนยิวในครั้งนั้นก็คือ
ฮว่ากั๋วเฟิง (华国锋) นายกรัฐมนตรีคนใหม่
โดยลีกวนยิวได้แสดงความไม่สบายใจที่จีนยังคงให้ความช่วยเหลือแก่พรรคคอมมิวนิสต์มลายา
ซึ่งฮว่ากั๋วเฟิงอธิบายแต่เพียงว่าจีนแยกความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐออกจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคต่อพรรค
(Lee, 2011, p. 582) และเมื่อฮว่ากั๋วเฟิงหยิบยกประเด็นความร่วมมือทางการทหารระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันขึ้นมาโดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการจีนเดียว
ลีกวนยิวก็ได้อธิบายเรื่องนี้ในทันที ดังปรากฏในบันทึกความทรงจำของเขาว่า
จริงอยู่ที่สิงคโปร์ยอมรับหลักการจีนเดียวและถือว่าทั้งไต้หวันและแผ่นดินใหญ่ล้วนเป็นประเทศเดียวกัน
แต่ในขณะนี้รัฐบาลกั๋วหมินตั่งที่ถอยร่นไปจากแผ่นดินใหญ่ยังคงปกครองไต้หวันอยู่
ข้าพเจ้าจึงต้องติดต่อกับผู้มีอำนาจที่แท้จริงในไต้หวัน
ถ้าวันใดสาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถยึดครองไต้หวันได้สำเร็จ
ข้าพเจ้าก็จะเข้าหาสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อขอสถานที่ฝึกทหารในไต้หวัน
สิงคโปร์จำเป็นต้องมีความสามารถในการป้องกันตนเอง
(Lee, 2011, pp. 584-585)
ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับจีนเริ่มเข้าสู่ศักราชใหม่เมื่อเติ้งเสี่ยวผิง
รองนายกรัฐมนตรีของจีนเดินทางมาเยือนสิงคโปร์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1978 โดยหวังหาเสียงสนับสนุนจากประเทศในอาเซียนเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของเวียดนามซึ่งมีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง
ลีกวนยิวจึงใช้โอกาสนี้บอกกับเติ้งเสี่ยวผิงว่าประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะมาเลเซียและอินโดนีเซียนั้นมองจีนว่าเป็นภัยคุกคามมากกว่าเวียดนาม
เพราะจีนยังคงให้การสนับสนุนแก่พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ หากจีนต้องการความร่วมมือจากประเทศในอาเซียนเพื่อต่อต้านเวียดนามและสหภาพโซเวียตก็ควรยุติความช่วยเหลือเหล่านี้เสีย
ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงก็รับฟังอย่างใส่ใจ (Lee, 2011, pp. 599-600) และเมื่อลีกวนยิวเดินทางไปเยือนจีนครั้งที่ 2 ในเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1980 จ้าวจื่อหยาง (赵紫阳) นายกรัฐมนตรีของจีนก็ระบุว่าจีนกำลังทยอยยุติความช่วยเหลือที่ให้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ
(Lee, 2011, p. 605) ทั้งหมดนี้ทำให้สิงคโปร์มองจีนด้วยความหวาดระแวงน้อยลง
การประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อ
ค.ศ. 1978 เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้สิงคโปร์มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนมากยิ่งขึ้น
โดยในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1979 สิงคโปร์กับจีนได้ตกลงที่จะตั้งสำนักงานผู้แทนการค้าไปประจำ
ณ กรุงปักกิ่งและสิงคโปร์ และสำนักงานดังกล่าวได้เปิดทำการใน ค.ศ. 1981 (เขียน ธีระวิทย์, 2541, น. 320) ต่อมาใน ค.ศ. 1985 ทั้งสองประเทศได้ลงนามในข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนและการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อนที่เอื้ออำนวยให้คนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์เข้าไปลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น
โดยในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1984 ถึง 1986 การลงทุนของสิงคโปร์ในจีนคิดเป็นมูลค่า
24.96 ล้านเหรียญสหรัฐ (สุรชัย
ศิริไกร, 2537, น. 53-55)
นอกจากนี้ สิงคโปร์ในทศวรรษ
1980 ได้กลายเป็นที่สนใจของจีนในฐานะตัวแบบด้านการพัฒนาของคนเชื้อสายจีนที่สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเอาไว้ได้ควบคู่กัน
โดยในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1985 จีนได้เชิญโก๊ะเก็งสวี
อดีตรองนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการท่องเที่ยวของจีน
(Leifer, 2000, p. 117) และในระหว่างที่ลีกวนยิวเดินทางเยือนจีนเป็นครั้งที่
3 ในเดือนกันยายนของปีนั้น เขาได้ตั้งข้อสังเกตกับจ้าวจื่อหยางว่าจีนซึ่งเป็นประเทศใหญ่กลับมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนเพียง
1 ล้านคนต่อปี
ขณะที่ประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนถึงปีละ 3 ล้านคน ลีกวนยิวจึงเสนอให้จีนส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมและดูงานที่สิงคโปร์
ซึ่งจ้าวจื่อหยางก็ตอบรับข้อเสนอ (Lee, 2011, p. 609)
ขณะเดียวกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศก็พัฒนาไปจนกลายเป็นความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ลีกวนยิวผู้ซึ่งระบุว่าเติ้งเสี่ยวเผิงเป็น
“ผู้นำที่น่าประทับใจที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยพบ” (Lee, 2011, p. 601) กลายเป็นผู้นำประเทศเพียงคนเดียวในทศวรรษ 1980 ที่สามารถเดินไปไปเยือนทั้งกรุงปักกิ่งและกรุงไทเปได้โดยที่ทั้งจีนและไต้หวันไม่คัดค้านหรือแสดงความไม่พอใจ
อีกทั้งเขายังกลายเป็นตัวกลางในการสื่อสารข้ามช่องแคบไต้หวันอีกด้วย ดังเช่นใน
ค.ศ. 1985 เมื่อทราบจากลีกวนยิวว่าเจี่ยงจิงกั๋วมีสุขภาพที่ทรุดโทรมและยังมิได้จัดการเรื่องการสืบทอดอำนาจ
เติ้งเสี่ยวผิงจึงกังวลว่าถ้าเจี่ยงจิงกั๋วถึงแก่อสัญกรรมลงอาจเกิดความวุ่นวายในไต้หวันจนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงและทำให้การรวมสองฝั่งช่องแคบให้เป็นหนึ่งเดียวกันไม่อาจเกิดขึ้นได้
เติ้งเสี่ยวผิงจึงขอให้ลีกวนยิวนำข้อความดังกล่าวไปบอกกับเจี่ยงจิงกั๋วเพื่อหาโอกาสนัดปรึกษาหารือกันในเรื่องนี้
(Lee, 2011, pp. 611-612, 614) แม้ว่าในที่สุดแล้วเจี่ยงจิงกั๋วจะมิได้ตอบกลับไปยังเติ้งเสี่ยวผิง
แต่เรื่องดังกล่าวก็สะท้อนบทบาทที่ค่อนข้างพิเศษของลีกวนยิวได้เป็นอย่างดี
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทำให้เห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับจีนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในทศวรรษ
1960 และ 1970 ที่สิงคโปร์กังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามจากพรรคคอมมิวนิสต์มลายาที่จีนให้การสนับสนุน
มาเป็นความไว้วางใจซึ่งกันและกันและการมีความสัมพันธ์ในมิติที่หลากหลายมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ
1980 โดยที่สิงคโปร์ยังคงสามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการทหารกับไต้หวันได้อยู่ต่อไป
ดังคำให้สัมภาษณ์ของราชารัตนัมในฐานะรัฐมนตรีอาวุโสเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1985 ความตอนหนึ่งว่า
เรามิได้ต่อต้านไต้หวัน
แล้วก็มิได้สนับสนุนไต้หวันด้วย
เราตัดสินใจที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีอย่างระมัดระวังกับทั้งไต้หวันและจีนโดยไม่ทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ
ทุกวันนี้เราส่งทหารไปฝึกในไต้หวัน
แต่เราก็รักษาความสัมพันธ์อันดีกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเอาไว้ ... แม้จะไม่มีคณะทูต
แต่เราก็มีความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีนที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับจีนนั้นก็เหมือนความสัมพันธ์ทางการทูต
เพียงแต่ไม่มีสถานทูตหรือเอกอัครรัฐทูตเท่านั้น
(Interview No. 1, 30 November 1985, in
Chan & Haq, 2007, pp. 478-479)
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสิงคโปร์กับจีน และความสัมพันธ์พิเศษกับไต้หวันที่เปลี่ยนแปลงสมัยประธานาธิบดีหลี่เติงฮุย
การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับอินโดนีเซียตั้งแต่
ค.ศ. 1967 ถือเป็นอุปสรรคที่ทำให้สิงคโปร์ไม่พร้อมที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
แต่ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้พบปะกับเฉียนฉีเชิน (钱其琛)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในงานพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ
(Hirohito) ณ กรุงโตเกียวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989
ทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มกระบวนการเจรจาจนสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตได้สำเร็จเมื่อวันที่
8 สิงหาคม ค.ศ. 1990 สิงคโปร์จึงไม่มีความลังเลใดๆ
ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอีกต่อไป ลีกวนยิวได้ส่งองเต็งเชียง
(Ong Teng Cheong王鼎昌) รองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปกรุงไทเปเพื่อแจ้งให้ไต้หวันทราบล่วงหน้าที่การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น
(Chong, 2006, p. 186) และในการพบปะกับหลี่เผิง (李鹏) นายกรัฐมนตรีของจีนที่แวะมาเยือนสิงคโปร์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมของปีนั้น
ลีกวนยิวก็กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันเป็นความสัมพันธ์พิเศษ
และสิงคโปร์จะไม่ยุติการส่งทหารไปฝึกยังไต้หวันแต่อย่างใด
ซึ่งหลี่เผิงก็แสดงความเข้าใจและบอกว่าจีนจะไม่บังคับให้สิงคโปร์ยุติความสัมพันธ์ทางทหารกับไต้หวัน
(Lee, 2011, pp. 633-634)
สิงคโปร์กับจีนออกแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่
3 ตุลาคม ค.ศ. 1990 โดยมีข้อที่น่าสังเกตก็คือ
แถลงการณ์ดังกล่าวสั้นมากโดยระบุแต่เพียงว่าทั้งสองฝ่ายจะมีความสัมพันธ์กันบนพื้นฐานของหลักปัญจศีล
(The Five Principles of Peaceful Coexistence)[1] และกฎบัตรสหประชาชาติ โดยไม่มีการกล่าวถึงหลักการจีนเดียวหรือสถานะของไต้หวันเลย
(แถลงการณ์ร่วมฯ, 3 ตุลาคม 1990) ต่างจากปกติที่จีนจะแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศส่วนใหญ่โดยเน้นย้ำหลักจีนเดียวที่ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นสถานะพิเศษของสิงคโปร์ที่สามารถสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนโดยยังคงความสัมพันธ์ทางการทหารกับไต้หวันได้อยู่ต่อไป
และใน ค.ศ. 1991 สิงคโปร์ก็เริ่มฝึกซ้อมรบทางทะเลร่วมกับไต้หวันเป็นครั้งแรก
ถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทำเช่นนี้กับไต้หวัน (Chen, 2002, p. 137)
ผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสิงคโปร์ยังเดินทางไปเยือนไต้หวันอย่างสม่ำเสมอตลอดต้นทศวรรษ
1990 โดยในวันที่ 27
ตุลาคม ค.ศ. 1990 ลีกวนยิวเดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งที่
21 เพื่อยืนยันว่าความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
นอกเสียจากการเปลี่ยนชื่อสำนักงานผู้แทนการค้าแห่งสาธารณรัฐจีน ณ
ประเทศสิงคโปร์เสียใหม่เป็น “สำนักงานผู้แทนไทเป” (台北代表处) เท่านั้น (Lee Kuan Yew: Singapore - ROC Relations ‘Same’, 1
November 1990) และตั้งแต่ ค.ศ. 1993 ถึง 1995
โก๊ะจ๊กตง (Goh Chok Tong吴作栋) นายกรัฐมนตรี
โหยวหนิงหง (Yeo Ning Hong杨林丰) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ว่องกันเซ็ง (Wong Kan Seng黄根成) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่างเดินทางเยือนไต้หวัน
ขณะที่ห่าวป๋อชุนและเหลียนจ้านได้เดินทางเยือนสิงคโปร์ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม
ค.ศ. 1990 และเดือนมกราคม ค.ศ. 1994 ตามลำดับ
และใน ค.ศ. 1995 ประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยได้มอบอิสริยาภรณ์แห่งรัฐ
Order of Resplendent Banner with Grand Cordon แก่อึงจุ้ยผิง
(Ng Jiu Ping黄维彬) เสนาธิการทหารของสิงคโปร์
อันสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์อันดีด้านการทหารระหว่างสองฝ่าย (Chang &
Tai, 1996, pp. 169, 171)
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1993
สิงคโปร์ได้เป็นสถานที่ที่ใช้จัดการเจรจาระหว่างสมาคมเพื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน
(海峡两岸关系协会 Association
for Relations Across the Taiwan Straits - ARATS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งทางการของจีน
กับมูลนิธิแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบ (海峡交流基金会Straits Exchange
Foundation - SEF) ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งทางการของไต้หวัน
หรือที่เรียกกันว่า “การเจรจาวัง-กู” (Wang-Koo Talks) ตามชื่อของวังเต้าหาน
(汪道涵) ผู้แทนฝ่ายจีน และกูเจิ้นฝู่ (辜振甫) ผู้แทนของไต้หวัน ถึงแม้ว่าการประชุมดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สองฝ่ายยังความคำว่า “จีนเดียว” ต่างกันออกไป (Sheng,
2001, p. 100) แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าสิงคโปร์ได้รับความไว้วางใจจากทั้งจีนและไต้หวันให้เป็นตัวกลางในความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ
ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันเริ่มประสบความยากลำบากในกลางทศวรรษ
1990 เมื่อประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยสามารถรวบอำนาจและขจัดคู่แข่งในพรรคกั๋วหมินตั่งออกไปได้จนทำให้เขามีความมั่นใจที่จะดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบในเชิงรุกมากยิ่งขึ้นด้วยการเดินทางไปเยือนประเทศต่างๆ
โดยอ้างว่าเป็นการพักผ่อนส่วนตัวหรือที่เรียกว่า “การทูตวันหยุด” (vacation
diplomacy) ดังเช่นใน ค.ศ. 1994 เขาเดินทางเยือนไทยเป็นการส่วนตัวและได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่ง Leifer (2001, p. 179) มองว่าไม่ต่างจากการเยือนอย่างเป็นทางการในระดับประมุขของรัฐ (state
visit)[2] ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1995 เมื่อสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกาอนุมัติวีซ่าแก่หลี่เติงฮุยเพื่อให้เขาเดินทางไปรับปริญญากิตติมศักดิ์
ณ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และในสุนทรพจน์ของเขา ณ มหาวิทยาลัยดังกล่าว หลี่เติงฮุยมิได้เอ่ยถึงหลักการจีนเดียวเลย
อีกทั้งยังเรียกไต้หวันว่า “สาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน” (The Republic of
China on Taiwan) ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีหลี่เผิงของจีนเชื่อว่าหลี่เติงฮุยต้องการผลักดันให้ไต้หวันเป็นเอกราช
(Lee, 2011, p. 568) และในช่วงของการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกของไต้หวันเมื่อเดือนมีนาคม
ค.ศ. 1996 ซึ่งหลี่เติงฮุยลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับชัยชนะ
จีนก็ได้ข่มขู่ด้วยการซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันจนทำให้สหรัฐอเมริกาซึ่งมีพันธะในการปกป้องไต้หวันตามกฎหมายภายในของสหรัฐฯ
ที่เรียกว่า รัฐบัญญัติความสัมพันธ์กับไต้หวัน ค.ศ. 1979
(Taiwan Relations Act) ต้องส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ลำมายังช่องแคบไต้หวันเพื่อปรามการกระทำของจีน
การทูตเชิงรุกของหลี่เติงฮุยที่นำไปสู่วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันช่วง
ค.ศ. 1995 ถึง 1996 ทำให้สิงคโปร์หวั่นเกรงว่าเหตุการณ์จะบานปลายจนกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาซึ่งจะสั่นคลอนเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชียและส่งผลในทางลบต่อประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์
โดยในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1995 ลีกวนยิวในฐานะรัฐมนตรีอาวุโส
(Senoir Minister) ได้กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องให้ไต้หวันให้คำมั่นว่าจะไม่ประกาศเอกราช
รวมทั้งเรียกร้องให้จีนเปิดพื้นที่ให้กับไต้หวันในเวทีระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น (Nathan,
2011, p. 590) ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1996
ลีกวนยิวพยายามคลี่คลายสถานการณ์อีกครั้งโดยกล่าวว่า
บรรดาผู้นำของจีนต่างบอกว่าข้าพเจ้าเป็นเพื่อนเก่า
และข้าพเจ้าก็เป็นเพื่อนที่เก่ายิ่งกว่าของไต้หวัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหาย
สิงคโปร์ก็จะเสียหายเช่นกัน และถ้าทั้งสองฝ่ายเสียหายด้วยกันทั้งคู่
สิงคโปร์ก็จะเสียหายเป็นสองเท่า
สิงคโปร์จะได้ประโยชน์เมื่อทั้งสองฝ่ายเจริญรุ่งเรือง เมื่อทั้งสองฝ่ายร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันจนเจริญรุ่งเรือง
(Lee, 2011, p. 568)
Leifer (2001) ตั้งข้อสังเกตว่า
แม้สิงคโปร์จะไม่เห็นด้วยกับการกระทำของหลี่เติงฮุย
แต่สิงคโปร์ก็ดูเหมือนจะเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กล้าเรียกร้องอย่างเปิดเผยไม่ให้จีนใช้กำลังกับไต้หวัน
(p. 182) อย่างไรก็ตาม เฉียนฉีเชิน
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาตอบโต้ลีกวนยิวว่า
ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันเป็นกิจการภายในของจีน และไม่เกี่ยวข้องกับคนนอก (Lee,
2011, p. 568)
วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันทำให้ลีกวนยิวเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับหลี่เติงฮุย
เขามองว่าการที่หลี่เติงฮุยละทิ้งหลักการจีนเดียวส่งผลให้จีนไม่พอใจจนต้องนำเอาประเด็นการรวมชาติมาเป็นระเบียบวาระเร่งด่วน
(Lee, 2011, p. 569) ความตึงเครียดที่หลี่เติงฮุยก่อขึ้นทำให้ประเทศเล็กๆ
ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งจีนและไต้หวันอย่างสิงคโปร์วางตัวได้ยากลำบากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์กับจีนก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้แม้จะมีปัญหาอยู่บ้างก็ตาม[3] โดยในเดือนกันยายน ค.ศ. 1993 สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในจีนมากที่สุดในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียน
ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ (Chang
& Tai, 1996, p. 165) และมูลค่าการค้าระหว่างสิงคโปร์กับจีนก็เพิ่มขึ้นจนแซงหน้ามูลค่าการค้าระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันเป็นครั้งแรกใน
ค.ศ. 1998 และแซงหน้าอย่างถาวรเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000
(ดูตารางที่ 2) สิงคโปร์จึงต้องระมัดระวังที่จะดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวันโดยไม่ให้กระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับจีน
ด้วยเหตุนี้ แม้สิงคโปร์จะยังคงส่งทหารไปฝึกในไต้หวันตามปกติ
แต่ลีกวนยิวก็มิได้เดินทางไปเยือนไต้หวันอีกเลยตั้งแต่ ค.ศ. 1995 ตราบจนสิ้นสุดสมัยของประธานาธิบดีหลี่เติงฮุยใน ค.ศ. 2000 หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า
ยุคสมัยที่ลีกวนยิวสามารถเดินทางไปเยือนทั้งจีนและไต้หวันได้อย่างไร้ปัญหาเฉกเช่นทศวรรษ
1980 นั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว
ปัญหาในความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันสมัยประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันเมื่อ
ค.ศ. 2000 ถือเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจทางการเมืองที่ยาวนานกว่าห้าทศวรรษของพรรคกั๋วหมินตั่ง
ชัยชนะตกเป็นของเฉินสุยเปี่ยน (陈水扁) จากพรรคหมินจิ้นตั่ง (民进党) หรือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party – DPP) ซึ่งในระหว่างหาเสียงเขาได้ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน
แม้ในสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมของปีนั้น เฉินจะประกาศหลักการ “ห้าไม่” (Five Nos) อันได้แก่ (1) ไม่ประกาศเอกราช (2) ไม่เปลี่ยนชื่อประเทศ (3) ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยบรรจุคำว่า
“ความสัมพันธ์พิเศษแบบรัฐต่อรัฐ” (特殊国与国关系special state-to-state relations) ซึ่งหลี่เติงฮุยเคยใช้อธิบายความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบเมื่อ ค.ศ. 1999
ลงไปด้วย (4) ไม่จัดการลงประชามติว่าด้วยเอกราชของไต้หวัน
และ (5) ไม่ยกเลิกคำชี้นำในการรวมประเทศ (国家统一纲领National Unification Guidelines) ที่หลี่เติงฮุยเคยประกาศเอาไว้เมื่อ ค.ศ. 1991[4] แต่เขามักจะอธิบายต่อประชาชนชาวไต้หวันว่า สาเหตุที่ไม่จำเป็นต้องประกาศเอกราชก็เพราะไต้หวันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองอยู่แล้ว
(Li, 2001, p. 76) ซึ่งแน่นอนว่าคำกล่าวในลักษณะนี้ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับจีน
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไต้หวันเมื่อ
ค.ศ. 2000 ส่งผลกระทบที่สำคัญ
2 ประการต่อสิงคโปร์ ประการแรก กระแสการเรียกร้องเอกราชของไต้หวันก่อให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวัน
เพราะสิงคโปร์มีจุดยืนว่าต้องการเห็นเสถียรภาพและการรักษาสถานะเดิม (status
quo) ของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน จึงไม่สนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวัน
นำไปสู่การประท้วงต่อต้านสิงคโปร์ระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวันครั้งแรกในรอบ 6
ปีของลีกวนยิวเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2000 โดยบรรดาสมาชิกพรรคเอกราชไต้หวัน
(建国党Taiwan
Independence Party) ซึ่งมีหวงอี้ว์เหยียน (黄玉炎) เป็นเลขาธิการพรรคได้ชุมนุมขับไล่ลีกวนยิวบริเวณหน้ารีสอร์ทที่ลีกวนยิวกำลังพบปะกับไช่อิงเหวิน
(蔡英文)
ประธานสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน (行政院大陆委员会) หวงอี้ว์เหยียนตั้งคำถามว่า “ในเมื่อสิงคโปร์ยังเป็นเอกราชจากมาเลเซียได้
แล้วเหตุใดไต้หวันจะทำแบบเดียวกันไม่ได้” (Huang, 2000, Sep 23) ประการที่สอง ความตึงเครียดข้ามช่องแคบไต้หวันทำให้จีนจับตาดูความเคลื่อนไหวด้านการต่างประเทศของไต้หวันมากเป็นพิเศษจนทำให้สิงคโปร์ต้องดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวันอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น
ดังที่จงฉิน (钟琴)
อธิบดีประจำสำนักงานสารนิเทศของรัฐบาลไต้หวันปฏิเสธที่จะแถลงรายละเอียดของการสนทนาระหว่างลีกวนยิวกับนายกรัฐมนตรีถังเฟย
(唐飞)
โดยระบุว่าเป็นคำร้องขอของลีกวนยิว (Huang, 2000, Sep 25)
เมื่อพรรคหมินจิ้นตั่งได้ที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนธันวาคม
ค.ศ. 2001 เฉินสุยเปี่ยนก็มีความมั่นใจในสถานะทางการเมืองของตนเองมากกว่าเดิม
โดยในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 2002 เขาได้นำเสนอแนวคิดที่ว่าทั้งสองฝั่งของช่องแคบนั้นเป็นคนละประเทศ
(一边一国论) ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจมากขึ้นไปอีก
และเมื่อลีกวนยิวเตรียมเดินทางเยือนไต้หวันอีกครั้งเพื่อเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรีในวันที่
16 กันยายน ค.ศ. 2002 สือกว่างเซิง (石广生) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศของจีนได้ส่งสัญญาณเตือนโดยบอกกับจอร์จ
โหยว (George Yeo杨荣文) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน
จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ณ ประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 14 กันยายนของปีนั้นว่า
“หากประเทศของคุณลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีกับไต้หวัน คุณจะสร้างปัญหาให้กับตัวเอง”
(Singapore reported to plan free trade talks with Taiwan, 2002, Sep 15) แรงกดดันจากจีนทำให้ในที่สุดแล้วทางการสิงคโปร์ต้องออกมาระบุว่า
การเดินทางเยือนไต้หวันของลีกวนยิวในครั้งนี้ไม่มีเรื่องของการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี
สิงคโปร์ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากจีนอีกครั้งหนึ่งเมื่อลีเซียนลุง
(Lee Hsien Loong李显龙) รองนายกรัฐมนตรีผู้เป็นบุตรชายของลีกวนยิววางแผนเดินทางเยือนไต้หวันในวันที่
10 กรกฎาคม ค.ศ. 2004 ก่อนที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ในเดือนสิงหาคมของปีนั้น
โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะรับทราบสถานการณ์ของไต้หวันและความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันด้วยตนเอง
หลังจากที่เขาว่างเว้นการเยือนไต้หวันมานานถึง 12 ปี (Jayakumar,
2011, pp. 270-271) แต่ขณะนั้นประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนเพิ่งได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่
2 และยังคงยืนยันที่จะผลักดันเรื่องเอกราชของไต้หวันอยู่ต่อไป
ทางการจีนจึงคัดค้านการเยือนไต้หวันอย่างเต็มที่
แต่ลีเซียนลุงก็ยังคงเดินทางไปไต้หวันตามกำหนดการเดิมที่วางเอาไว้
จีนจึงได้ดำเนินมาตรการตอบโต้สิงคโปร์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการที่โจวเสี่ยวชวน (周小川) ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติจีนยกเลิกการเดินทางเยือนสิงคโปร์
และเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีน 126 คนยกเลิกการเดินทางมาดูงานด้านเศรษฐศาสตร์การจัดการและบริหารรัฐกิจ
ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Rodan, 2005, p. 144)
แม้ว่าลีเซียนลุงจะเดินทางเยือนไต้หวันโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากจีน
แต่สิงคโปร์ก็ไม่สบายใจที่สื่อมวลชนไต้หวันประโคมข่าวการเยือนในครั้งนี้อย่างเต็มที่
และประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนก็อ้างว่านี่เป็นการฝ่าอุปสรรค (breakthrough)
ทางการทูตครั้งสำคัญของไต้หวัน ทั้งๆ
ที่ก่อนหน้านี้สิงคโปร์ได้ขอร้องให้ไต้หวันงดการนำเสนอข่าว (Jayakumar,
2011, p. 275) อีกทั้งสิงคโปร์ตระหนักดีว่าการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีนเป็นสิ่งจำเป็นทั้งในด้านความมั่นคงและในด้านเศรษฐกิจ
สิงคโปร์จึงไม่รอช้าที่จะรีบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
โดยในสุนทรพจน์เนื่องในการชุมนุมวันชาติเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม
ค.ศ. 2004 ลีเซียนลุงได้ระบุถึงจุดยืนของสิงคโปร์ต่อปัญหาไต้หวันอย่างชัดเจนว่า
นโยบายจีนเดียวของสิงคโปร์จะไม่เปลี่ยนแปลง
การที่ไต้หวันพยายามเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชนั้นมิใช่ผลประโยชน์ของสิงคโปร์
แล้วก็มิใช่ผลประโยชน์ของภูมิภาค หากไต้หวันประกาศเอกราช
สิงคโปร์ก็จะไม่รับรองไต้หวัน และจริงๆ
แล้วก็ไม่มีประเทศใดในเอเชียที่จะรับรองไต้หวัน
(PM Lee Hsien Loong’s
National Day Rally Speech, 2004, Aug 22)
และเมื่อประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนกล่าวสุนทรพจน์วันชาติในวันที่
10 ตุลาคม ค.ศ. 2004
ที่ระบุว่า “สาธารณรัฐจีนคือไต้หวัน และไต้หวันก็คือสาธารณรัฐจีน”
และยังระบุด้วยว่าดินแดนของสาธารณรัฐจีนประกอบไปด้วยเกาะไต้หวัน (台湾岛) หมู่เกาะเผิงหู (澎湖列岛) เกาะจินเหมิน (金门岛) และเกาะหมาจู่ (马祖岛) โดยไม่รวมถึงแผ่นดินใหญ่ (Taiwan Straits Timeline, 2007) สิงคโปร์ก็ได้แสดงจุดยืนคัดค้านเฉินสุยเปี่ยนอย่างชัดเจน จอร์จ โหยว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ได้กล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่
24 ตุลาคมของปีนั้นว่า
ความเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของไต้หวันเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จนทำให้มาร์ค เฉิน (Mark Chen陈唐山) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันออกมาตอบโต้สิงคโปร์อย่างรุนแรงโดยระบุว่า
สิงคโปร์เป็นประเทศขนาดเล็กเท่าเศษขี้มูกที่ชอบ “จับกระโปกจีน” (拍中国的卵葩) (Chen, 2004, Sep 28)[5] และที่เมืองเกาสุง (高雄) ทางภาคใต้ของไต้หวันก็มีการชุมนุมประท้วงและเผาธงชาติสิงคโปร์ด้วย
(Sinapore flag burned, 2004, oct 2)
ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันตั้งแต่ปลาย
ค.ศ. 2004 ไปจนสิ้นสุดสมัยของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยนใน
ค.ศ. 2008 จึงเป็นไปอย่างห่างเหิน
แม้ไต้หวันจะยังคงต้อนรับทหารสิงคโปร์ที่เดินทางมาฝึกตามปกติ
หากแต่สิงคโปร์กลับไม่อนุญาตให้เรือรบของไต้หวันจำนวน 2 ลำเข้าเทียบท่าในเดือนมีนาคม
ค.ศ. 2005 (Chong, 2006, p. 193) และเมื่อสภาผู้แทนประชาชนจีน
(全国人民代表大会) ได้ออก กฎหมายต่อต้านการแบ่งแยกประเทศ (反分裂国家法) ในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 2005 โดยระบุชัดว่าถ้าไต้หวันแยกตัวเองออกจากจีนหรือทำให้หนทางในการรวมประเทศอย่างสันติหมดไป
จีนก็จะใช้ “วิถีทางที่ไม่สันติ” (non-peaceful means) เพื่อรักษาอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดน
(Anti-Secession Law, 2005)
ลีกวนยิวก็ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Spiegel ว่ากฎหมายดังกล่าวมิได้สะท้อนความก้าวร้าวของจีน
หากแต่เป็นความพยายามที่จะรักษาสถานะเดิม (status quo) ของช่องแคบไต้หวันเอาไว้
(Interview with Singapore’s Lee Kuan Yew, 2005, Aug 8) ต่อมาในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร
CommonWealth ของไต้หวันในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006
เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวัน
ลีกวนยิวก็ได้ให้คำตอบว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างเรานั้นใกล้ชิดกันมาก
เพราะเราช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตลอด
แต่ถ้ารัฐบาลและสื่อมวลชนของไต้หวันต้องการใช้สิงคโปร์เพื่อให้จีนระคายเคือง
ความสัมพันธ์ระหว่างเราก็จะยุ่งยากยิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์อย่างเงียบๆ
ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ข้าพเจ้าเดินทางไปมาระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันโดยไม่มีรายงานข่าว
แม้เราจะมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด แต่ข้าพเจ้าก็มักให้สัมภาษณ์เฉพาะในสิงคโปร์
ไม่ใช่ในไต้หวัน
ถ้าหากไต้หวันทำโฉ่งฉ่างเกินไปก็จะนำมาซึ่งความยุ่งยากต่อทั้งสิงคโปร์และไต้หวันเอง
เพราะเท่ากับว่าไต้หวันกำลังท้าทายให้จีนออกมาขัดขวาง
คุณก็คงทราบว่าสิงคโปร์ลงทุนในจีนเป็นจำนวนมาก และจีนอาจดำเนินมาตรการทางลบต่อธุรกิจของเราก็ได้
ซึ่งเราไม่อยากมีปัญหา
(An
Interview with Lee Kuan Yew, 2006, Jun 21)
จากคำให้สัมภาษณ์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า
ลีกวนยิวไม่สบายใจที่ไต้หวันพยายามนำเอาความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมเอกราช
เพราะการทำเช่นนี้เท่ากับสร้างความตึงเครียดกับจีนซึ่งเป็นประเทศที่สิงคโปร์มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจละเลยหรือมองข้ามไปได้
และข้อที่น่าสังเกตก็คือ ลีกวนยิวมิได้เดินทางไปเยือนไต้หวันเลยตลอดสมัยที่ 2
ของประธานาธิบดีเฉินสุยเปี่ยน
นัยว่าเป็นการแสดงออกซึ่งการไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของไต้หวัน
รวมทั้งป้องกันไม่ให้จีนเข้าใจผิดเกี่ยวกับจุดยืนของสิงคโปร์ต่อไต้หวัน
สถานการณ์และทิศทางของความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ
ค.ศ. 2008
การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันเมื่อ
ค.ศ. 2008 จบลงด้วยชัยชนะของหม่าอิงจิ่ว
(马英九) ผู้สมัครจากพรรคกั๋วหมินตั่งที่สนับสนุนหลักการจีนเดียว
(อย่างน้อยในทางทฤษฎี)[6]
บรรยากาศของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันจึงผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปมาก
การประชุมระหว่างสมาคมเพื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวัน (ARATS) กับมูลนิธิแลกเปลี่ยนข้ามช่องแคบ
(SEF) ที่หยุดชะงักไปตั้งแต่ ค.ศ. 1999 ก็เริ่มต้นอีกครั้งหนึ่งที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 12 มิถุนายน
ค.ศ. 2008 ตามมาด้วยการที่จีนยินยอมให้ไต้หวันมีพื้นที่ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น
เช่น การยินยอมให้ไต้หวันเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การอนามัยโลก (World
Health Organization – WHO) เมื่อ ค.ศ. 2009 โดยใช้ชื่อว่า
“จีนไทเป” (中华台北Chinese
Taipei) เป็นต้น (สิทธิพล เครือรัฐติกาล และวรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2554)
ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบที่ดีขึ้นทำให้สิงคโปร์มีความสบายใจในการดำเนินความสัมพันธ์กับไต้หวัน
ดังที่ลีกวนยิวได้กล่าวไว้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 ว่า
“ตราบเท่าที่ไต้หวันมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงและเป็นมิตรกับจีน มีความร่วมมือมากขึ้นในทางการค้า
การลงทุน และการท่องเที่ยว
สิงคโปร์กับไต้หวันก็จะสามารถร่วมมือกันในด้านดังกล่าวได้มากขึ้นเช่นกัน” (Taiwan
unlikely to enjoy more international space, 2008, May 9) และในวันที่
5 สิงหาคม ค.ศ. 2010 สิงคโปร์กับไต้หวันได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะมีการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าเสรีที่ชื่อว่า
“ข้อตกลงระหว่างสิงคโปร์กับดินแดนศุลกากรอิสระไต้หวัน เผิงหู จินเหมิน และหมาจู่ว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ”
(Agreement between Singapore and the Separate Customs Territory of
Taiwan, Penghu, Kinmen and Matsu on Economic Partnership - ASTEP)
และเริ่มการเจรจากันอย่างเป็นทางการเมื่อต้น ค.ศ. 2011 (Chung, 2011, Dec
1) ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 ลีกวนยิวได้เดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรกในรอบ
9 ปี โดยแสดงความชื่นชมต่อนโยบาย “3 ไม่”
(Three Nos) ของประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วอันประกอบไปด้วย (1)
ไม่รวมประเทศกับจีน (2) ไม่ประกาศเอกราช และ
(3) ไม่ใช้กำลังกับจีน (Lee Kuan Yew leaves after incognito
Taiwan visit, 2011, Apr 1)
อย่างไรก็ตาม
ยังคงมีปัจจัยบางประการที่ก่อให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของประชาธิปไตยในไต้หวันตั้งแต่ ค.ศ. 1988 เป็นต้นมาที่เปิดโอกาสให้อัตลักษณ์ความเป็นไต้หวันเบ่งบาน จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยการเมืองแห่งชาติไต้หวัน (国立政治大学 National
Chengchi University) เมื่อ ค.ศ. 2008 มีคนที่มองว่าตัวเองเป็นคนไต้หวัน
(Taiwanese) สูงถึงประมาณร้อยละ 50 ขณะที่มีคนที่มองว่าตัวเองเป็นคนจีน
(Chinese) เพียงแค่ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น (Wang et al., 2011, p. 261) ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 ในงานรำลึกการปฏิวัติซินไฮ่
(辛亥革命 The Xinhai Revolution ค.ศ. 1911) ที่จัดโดยสำนักงานผู้แทนไทเป ณ
โรงแรมแชงกรีลาในสิงคโปร์ เมื่อวาเนสซา สือ (Vanessa Shih史亚平) หัวหน้าสำนักงานดังกล่าวได้จัดให้มีการเชิญธงชาติและร้องเพลงชาติของสาธารณรัฐจีน
(ไต้หวัน)
ซึ่งถือว่าเกินขอบเขตที่เคยตกลงกับทางการสิงคโปร์เอาไว้ (Shih, 2012, Jul
21) ทางการสิงคโปร์ไม่พอใจเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ไม่น้อย
ดูได้จากในเดือนถัดมาที่ทางการสิงคโปร์ไม่เชิญสำนักงานผู้แทนไทเปไปร่วมงานรำลึกการปฏิวัติซินไฮ่ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์
และในที่สุดวาเนสซา สือ ก็ถูกเรียกตัวกลับไต้หวันและถูกสอบสวนโดยสำนักควบคุม (监察院The
Control Yuan) ด้วยข้อหาบกพร่องในหน้าที่ (Hsu, 2012, Jul
17)
ขณะเดียวกัน
ความเบ่งบานของประชาธิปไตยในไต้หวันก็ทำให้รัฐบาลไต้หวันมีข้อจำกัดในการควบคุมสื่อมวลชน
เดิมในทศวรรษ 1970 และ 1980 ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันดำเนินไปโดยแทบไม่ปรากฏเป็นข่าว
เนื่องจากขณะนั้นไต้หวันอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการและกฎอัยการศึกที่มีการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด
แต่นับจากทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา
รัฐบาลไต้หวันไม่อาจควบคุมการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ได้อีกต่อไป
ต่างจากรัฐบาลพรรคกิจประชาชนของสิงคโปร์ที่ยังคงมีกลไกควบคุมสื่อมวลชนอย่างมั่นคง
สื่อมวลชนจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย
ตัวอย่างล่าสุดเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 เมื่อเกาหัวจู้
(高华柱)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไต้หวันเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างลับๆ
แต่ข่าวกลับรั่วไหลออกมาจากสื่อมวลชนไต้หวันซึ่งทำให้สิงคโปร์ไม่พอใจอย่างมาก
จนถึงขนาดมีข่าวลือว่าสิงคโปร์ขอยุติความร่วมมือทางการทหารทั้งหมด ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวันได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว (กระทรวงต่างประเทศระบุฯ,
25 กุมภาพันธ์ 2012) ขณะที่ทางการสิงคโปร์ไม่ได้ออกมาชี้แจงเรื่องนี้แต่อย่างใด
ความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อมวลชนในไต้หวันจึงยังคงมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันได้อีกในอนาคต
สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำสิงคโปร์เมื่อ ค.ศ. 2008
ที่ว่า
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ที่อยู่ตรงกลางความขัดแย้งข้ามช่องแคบไต้หวันแล้วทำให้เห็นได้ว่า
ผู้นำ ณ กรุงไทเปที่ลดการเผชิญหน้ากับจีนน่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันดีขึ้น
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีในไต้หวัน สิงคโปร์ก็จะยังคงต้องรับมือกับประชาธิปไตยและเสรีภาพของสื่อที่คาดการณ์ไม่ได้ในไต้หวันอยู่ต่อไป
และทำให้บางครั้งจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนแบบไตรภาคีระหว่างไต้หวัน
จีน และสิงคโปร์
(Singapore and Taiwan – Better Days
Ahead?, 2008, Jan 18)
สรุป
Hey (2003) ซึ่งศึกษาพฤติกรรมด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐเล็ก (small state) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐเล็กต้องเผชิญไว้ว่า
ในทางหนึ่งรัฐเหล่านี้มักตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของระบบระหว่างประเทศที่กำหนดโดยประเทศหรือกลุ่มประเทศมหาอำนาจ
แต่ในอีกทางหนึ่งผู้นำของรัฐเล็กก็พยายามต่อสู้กับข้อจำกัดโดยดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางที่เห็นว่าจะสนองผลประโยชน์ของรัฐตน
หากแต่ในที่สุดแล้วความพยายามดังกล่าวก็ไม่บรรลุผลอย่างตลอดรอดฝั่ง และมักจะลงเอยด้วยการยอมโอนอ่อนตามแรงกดดันของประเทศมหาอำนาจ
(Hey, 2003, p. 192) ข้อสังเกตดังกล่าวสอดคล้องกับกรณีความสัมพันธ์พิเศษระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวันภายใต้หลักการจีนเดียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน
กล่าวคือ
สิงคโปร์ตระหนักดีว่าจีนเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียและได้ยอมรับในหลักการจีนเดียวมาตั้งแต่เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติใน
ค.ศ. 1971 หากแต่ความจำเป็นด้านการป้องกันประเทศทำให้สิงคโปร์เริ่มมีความร่วมมือทางทหารกับไต้หวันใน
ค.ศ. 1975 โดยพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างความระคายเคืองให้กับจีน
แต่แล้วเมื่อกระแสเรียกร้องเอกราชของไต้หวันก่อตัวขึ้นในทศวรรษ
1990 และพุ่งขึ้นสูงในทศวรรษ 2000 จนทำให้จีนไม่พอใจ
ประกอบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างสิงคโปร์กับจีน
ทำให้ในที่สุดแล้วสิงคโปร์ต้องยอมโอนอ่อนตามแรงกดดันของจีน
ไม่ว่าจะเป็นการที่ลีกวนยิวงดเว้นการเดินทางไปเยือนไต้หวันเป็นเวลาหลายปี
และความชะงักงันของการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างสิงคโปร์กับไต้หวัน
จนเมื่อความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบไต้หวันกลับมาดีขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันเมื่อ
ค.ศ. 2008 สิงคโปร์จึงสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับไต้หวันได้มากขึ้นอีกครั้ง
การเมืองภายในของไต้หวันและบรรยากาศของความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายของสิงคโปร์ที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันต่อไปในอนาคต
ตารางที่
1
มูลค่าการค้าที่สิงคโปร์ทำกับจีนช่วง
ค.ศ. 1966 ถึง 1969
(หน่วย:
ล้านเหรียญสิงคโปร์)
ปี
|
นำเข้า
|
ส่งออก
|
รวม
|
1966
|
266.3
|
134.5
|
400.8
|
1967
|
368.2
|
93.9
|
462.1
|
1968
|
450.9
|
79.6
|
530.5
|
1969
|
410.2
|
171.3
|
581.5
|
ที่มาของข้อมูล : Rau (1974, p. 289)
ตารางที่
2
มูลค่าการค้าที่สิงคโปร์ทำกับไต้หวันและจีนช่วง
ค.ศ. 1995 ถึง 2009
(หน่วย:
ล้านเหรียญสิงคโปร์)
ค.ศ.
|
มูลค่าการค้ากับไต้หวัน
|
มูลค่าการค้ากับจีน
|
1995
|
14,073
|
9,640
|
1996
|
14,288
|
11,042
|
1997
|
16,575
|
14,484
|
1998
|
14,445
|
14,917
|
1999
|
17,017.5
|
16,291.6
|
2000
|
24,492
|
21,564
|
2001
|
20,050
|
22,445
|
2002
|
20,617
|
28,122
|
2003
|
23,275
|
36,915
|
2004
|
29,902
|
53,329
|
2005
|
34,658
|
67,079
|
2006
|
39,271.7
|
85,255.3
|
2007
|
37,076.9
|
91,562.9
|
2008
|
36,606.1
|
91,412.5
|
2009
|
31,177.5
|
75,710.5
|
ที่มาของข้อมูล: Yearbook of Statistics Singapore (2006, 2007,
2008, 2009, 2010)
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
กระทรวงต่างประเทศระบุ
ความสัมพันธ์ไต้หวัน – สิงคโปร์แนบแน่นเปลี่ยนแปลง. (27 กุมภาพันธ์
2012). Radio Taiwan International. สืบค้นจากเว็บไซต์ http://thai.rti.org.tw
เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2012.
เขียน ธีระวิทย์. (2541). นโยบายต่างประเทศจีน.
กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
สิทธิพล เครือรัฐติกาล และวรศักดิ์
มหัทธโนบล. (2554). ความมั่นคงของมนุษย์ในการกำหนดนโยบายของจีน: กรณีศึกษาการยินยอมให้ไต้หวันเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การอนามัยโลกเมื่อ
ค.ศ. 2009. ใน เอกสารประกอบการสัมมนาระดับชาติ เรื่อง
“จีนกับความมั่นคงของมนุษย์” วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ณ ห้องประชุมจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยโครงการความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (HS1069A) ร่วมกับศูนย์จีนศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
สุรชัย ศิริไกร. (2537). นโยบายต่างประเทศของจีนต่อประเทศอาเซียนในยุคสังคมนิยมทันสมัยภายใต้อิทธิพลของเติ้งเสี่ยวผิง
(1978 – ปัจจุบัน). กรุงเทพฯ:
โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
องอาจ เดชอิทธิรัตน์. (2551).
เบื้องลึกเบื้องหลังความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวันภายใต้นโยบายจีนเดียว. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
Ganesan, N. (2543). สภาวะแวดล้อมของนโยบายต่างประเทศของสิงคโปร์
(โคริน เฟื่องเกษม, ผู้แปล). ใน สีดา สอนศรี (บรรณาธิการ). เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
: นโยบายต่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ (พิมพ์ครั้งที่ 3, น. 183-209). กรุงเทพฯ: โครงการฝึกอบรมหลักสูตรพิเศษ คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ภาษาจีน
ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่า
“การทูตที่เน้นผลในทางปฏิบัติ” ของไต้หวันตกอยู่ในความยากลำบากอีกครั้งหนึ่ง (台湾与新加坡关系的变化透视出台“务实外交”再陷困境).
(25 มีนาคม 2005). สืบค้นจากเว็บไซต์ http://www.china.com.cn/zhuanti2005/txt/2005-03/25/content_5821130.htm
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2012.
แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลสิงคโปร์
(中国政府和新加坡政府关于建立外交关系的联合公报). (3 ตุลาคม 1990). สืบค้นจากเว็บไซต์
http://news.xinhuanet.com/ziliao/2002-04/17/content_361379.htm เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2013.
ภาษาอังกฤษ
An Interview with Lee Kuan Yew. (2006,
June 21). CommonWealth. Available from http://english.cw.com.tw/print.do?action=print&id=3197.
Accessed January 1, 2013.
Anti-Secession Law (Adopted at the Third
Session of the 10th National People’s Congress on March 14, 2005).
(2005, March 24). Beijing Review 48(12): 27.
Chang, D. W. & H. C. Tai. (1996,
October). The Informal Diplomacy of the Republic of China, with a Case Study of
ROC’s Relations with Singapore. American Journal of Chinese Studies 3(2):
148-175.
Chen, J. (2002). Foreign Policy of the
New Taiwan: Pragmatic Diplomacy in Southeast Asia. Cheltenham: Edward
Elgar.
Chen, M. (2004, September 28). Foreign
Minister slams Singapore. Taipei Times. Available from http//:www.taipeitimes.com/News/taiwan/print/2004/09/28/2003204697.
Accessed December 22. 2012.
Chong, A. (2006). Singapore’s Relations
with Taiwan 1965-2005: From Cold War Coalition to Friendship under Beijing’s
Veto. In H. K. Leong & H. K. Chung (Eds.), Ensuring Interests: Dynamics
of China-Taiwan Relations and Southeast Asia (pp. 177-200). Kuala Lumpur:
Institute of China Studies, University of Malaya.
Chung, O. (2011, December 1). Looking to
a Tiny, Shiny Southern Star. Taiwan Review. Available from http://taiwanreview/nat.gov.tw.
Accessed December 22, 2012.
Extract from statement by Singapore
Ambassador to the United Nations, Abu Bakar bin Pawanchee, in the General
Assembly, 14 October 1965. Official Records, General Assembly, Twentieth
Session, Doc. A/PV 1362. (1968). In P. Boyce, Malaysia and Singapore in
International Diplomacy: Documents and Commentaries. Sydney: Sydney
University Press.
Hey, J. A. K. (2003). Refining Our
Understanding of Small State Foreign Policy. In J. A. K. Hey (Eds.), Small
States in World Politics: Explaining Foreign Policy Behavior (pp. 185-195).
London: Lynne Rienner Publishers.
Hsu. S. (2012, July 17). Control Yuan
report to remain secret. Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com/News/front/print/2012/07/17/2003537939.
Accessed December 12, 2012.
Huang, J. (2000, September 25). Lee kuan
Yew meets with President Chen. Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com/News/front/print/2000/09/25/0000054759.
Accessed December 22, 2012.
Huxley, T. (2006). Singapore’s Strategic
Outlook and Defense Policy. In J. C. Liow & R. Emmers (Eds.), Order and
Security in Southeast Asia: Essays in memory of Michael Leifer (pp.
141-160). Oxon: Routledge.
Interview No. 1. (30 November 1985). In
Chan H. C. & O. ul Haq (Eds., 2007), S. Rajaratnam: The Prophetic and
the Political (2nd edition, pp. 469-493). Singapore: Institute
of Southeast Asian Studies.
Interview with Singapore’s Lee Kuan Yew.
(2005, August 8). Spiegel. Available from http://www.spigel.de. Accessed
January 4, 2013.
Jayakumar, S. (2011). Diplomacy: A
Singapore Experience. Singapore: Straits Times Press.
Kim, S. S. (1994). Taiwan and the
International System: The Challenge of Legitimation. In R. G. Sutter & W.
R. Johnson (Eds.), Taiwan in World Affairs (pp. 145-189). Boulder, CO:
Westview Press.
Lee K. Y. (2011). From Third World to
First: Singapore and the Asian Economic Boom. New York, NY: HarperCollins
Publishers.
Lee Kuan Yew leaves after incognito
Taiwan visit. (2011, April 1). Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com/News/front/print/2011/04/01/2003499626.
Accessed December 23, 2012.
Leifer, M. (2000). Singapore’s Foreign
Policy: Coping with Vulnerability. London: Routledge.
Leifer, M. (2001). Taiwan and Southeast
Asia: The Limits of Pragmatic Diplomacy. In R. L. Edmonds & S. M. Goldstein
(Eds.), Taiwan in the Twentieth Century: A Retrospective View (pp.
173-185). Cambridge: Cambridge University Press.
Li C. (2001, January/February). China in
2000: A Year of Strategic Rethinking. Asian Survey 41(1): 71-90.
Nathan, S. R. (2011). An Unexpected
Journey: Path to the Presidency. Singapore: Editions Didier Millet.
PM Lee Hsien Loong’s National Day Rally
Speech. (2004, Aug 22). Available from http://www.getforme.com/pressreleases/leehl_220804_nationaldayrally2004.htm.
Accessed January 2, 2013.
Rau, R. L. (1974). Singapore’s Foreign
Relations 1965-1972 with Emphasis on the Five Power Commonwealth Group
(Doctoral dissertation, The University of Michigan, 1974). Ann Arbor, MI:
University Microfilms International.
Rodan, G. (2005, January/February).
Singapore in 2004: Long-Awaited Leadership Transition. Asian Survey 41(1):
140-145.
Sheng L. J. (2001). China’s Dilemma:
The Taiwan Issue. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies.
Shih, H. C. (2012, July 21). Vanessa Shih
insists ties with Singapore are good. Taipei Times. Available from http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/print/2012/07/21/2003538279.
Accessed February 9. 2013.
Singapore and Taiwan – Better Days
Ahead?. (2008, January 18). Available from, http://wikileaks.org/cable/2008/01/08SINGAPORE71.htm.
Accessed December 12, 2012.
Singapore flag burned in angry protest.
(2004, October 2). Taipei Times. Available from http://taipeitimes.com/News/taiwan/print/2004/10/02/2003205220.
Accessed December 22, 2012.
Singapore reported to plan free trade
talks with Taiwan. (2002, September 15). Reuters. Available from http://www.singapore-window.org/sw02/020915re.htm.
Accessed January 6, 2013.
Taiwan Straits Timeline. (2007).
Available from Center for Strategic and International Studies http://csis.org/files/media/csis/programs/taiwan/timeline/pt6.htm.
Accessed May 2, 2011.
Taiwan unlikely to enjoy more
international space, despite easing China – Taiwan tension: Lee Snr. (2008, May
9). Channel News Asia. http://www.singapore-window.org//sw08/080509GN.HTM.
Accessed January 6, 2013.
Taylor, J. (2000). The Generalissimo’s
Son: Chiang Ching-kuo and the Revolutions in China and Taiwan. Cambridge,
MA: Harvard University Press.
Wang, T. Y., W. C. Lee, & C. H. Yu.
(2011). Taiwan’s Expansion of International Space: opportunities and
challenges. Journal of Contemporary China 20(69): 249-267.
What is Total Defence. (2010, January
15). Available from http://www.totaldefence.sg. Accessed February 12, 2013.
Yearbook of Statistics Singapore.
(2006). Singapore: Department of Statistics, Ministry of Trade & Industry,
Republic of Singapore.
Yearbook of Statistics Singapore.
(2007). Singapore: Department of Statistics, Ministry of Trade & Industry,
Republic of Singapore.
Yearbook of Statistics Singapore.
(2008). Singapore: Department of Statistics, Ministry of Trade & Industry,
Republic of Singapore.
Yearbook of Statistics Singapore.
(2009). Singapore: Department of Statistics, Ministry of Trade & Industry,
Republic of Singapore.
Yearbook of Statistics Singapore.
(2010). Singapore: Department of Statistics, Ministry of Trade & Industry,
Republic of Singapore.
------------------------------------------------------
*งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในชุดโครงการวิจัยเรื่อง
“ความร่วมมือนานาชาติกับความมั่นคงของมนุษย์” โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ
ของสํานักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (HS1069A-56)
[1] หลักปัญจศีลเป็นหลักการที่จีนประกาศใช้มาตั้งแต่
ค.ศ. 1954 เพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศที่มีระบอบการปกครองแตกต่างไปจากจีน
หลักดังกล่าวประกอบไปด้วย (1) การเคารพในบูรณภาพทางดินแดนของกันและกัน
(2) การไม่รุกรานกันและกัน (3) การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
(4) ความเสมอภาคและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และ (5) การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
[3] หนึ่งในปัญหาสำคัญในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสิงคโปร์กับจีนในทศวรรษ
1990 ก็คือกรณีที่สิงคโปร์ไปลงทุนในโครงการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou
Industrial Park) โดยมีการทำข้อตกลงกัน ณ
กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1994 แต่แล้วเจ้าหน้าที่ในระดับมณฑลกลับตั้งนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมาในบริเวณใกล้เคียงกัน
เรียกว่า “เขตใหม่ซูโจว” (Suzhou New District) โดยคิดค่าที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานในราคาที่ต่ำกว่าจนลดความน่าดึงดูดของสวนอุตสาหกรรมซูโจวในสายตานักลงทุน
ในที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1999 สิงคโปร์จึงได้ทำข้อตกลงกับจีนโดยระบุว่าสิงคโปร์จะดำเนินโครงการสวนอุตสาหกรรมซูโจวให้แล้วเสร็จเฉพาะพื้นที่
8 ตารางกิโลเมตรแรกเท่านั้น ส่วนอีก 70 ตารางกิโลเมตรที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในซูโจวที่จะก่อสร้างต่อไปตามตัวอย่างที่สิงคโปร์วางไว้ให้
ดูรายละเอียดได้ใน Lee (2011, pp. 649-654)
[4]คำชี้นำดังกล่าวประกอบไปด้วย (1) แผนระยะสั้น
ให้มีการแลกเปลี่ยนและปฏิบัติต่างตอบแทน (2) แผนระยะกลาง
ให้มีความเชื่อใจและความร่วมมือซึ่งกันและกัน และ (3) แผนระยะยาว
ให้มีการปรึกษาหารือและรวมประเทศ (เขียน ธีระวิทย์, 2541,
น. 161)
[6] หลักการจีนเดียวในทัศนะของแต่ละฝ่ายนั้นมีความแตกต่างกัน
สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน หลักการจีนเดียวหมายความว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน
แต่สำหรับพรรคกั๋วหมินตั่ง
หลักการจีนเดียวหมายความว่าทั้งจีนและไต้หวันต่างเป็นส่วนหนึ่งของ “รัฐจีน” (The
State of China) ความแตกต่างดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่จีนแผ่นดินใหญ่พอจะยอมรับได้
เพราะอย่างน้อยต่างก็มีจุดยืนร่วมกันคือ การคัดค้านไม่ให้ไต้หวันแยกตัวเป็นเอกราช