วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มรณกรรมของหลินเปียวเมื่อ ค.ศ. 1971: จุดจบของผู้นำที่ทะเยอทะยาน หรือเหยื่อของการเมืองจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม?


สิทธิพล เครือรัฐติกาล

*****บทความฉบับร่าง อย่าเพิ่งนำไปอ้างอิง***** 

“เกี่ยวกับความเป็นมาของการต่อสู้บดขยี้กลุ่มหลินเปียวที่ค้านพรรค
และอาชญากรรมของกลุ่มนี้ ทั่วทั้งพรรค ทั่วทั้งกองทัพ
และประชาชนทั่วประเทศต่างก็ทราบกันดีแล้ว ในที่นี้จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวอะไรมากนัก

(โจวเอินไหล, 24 สิงหาคม 1973)

 

“หลินเปียวคงทราบดีตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1970 แล้วว่าเขาขาดความไว้วางใจจากเหมา

ส่วนเขาจะแก้ด้วยวิธีการจะลอบสังหารเหมาจริงหรือไม่นั้น ความจริงเรื่องยังมีเงื่อนงำ”

(เขียน ธีระวิทย์, 2527)

 

บทนำ

            จอมพลหลินเปียว (林彪) รองประธานพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966 – 1976) ควบคู่ไปกับแก๊งสี่คน (四人帮)[1] ในการเชิดชูลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) ของเหมาเจ๋อตง (毛泽东) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน การเสียชีวิตของเขาพร้อมด้วยเย่ฉวิน (叶群) ภรรยาและหลินลี่กั่ว (林立果) บุตรชายด้วยเหตุเครื่องบินตกที่เมืองอุนดูร์ข่าน (Undur Khan) สาธารณรัฐประชาชนมองโกเลีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1971 ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่และปริศนาสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีน เอกสารของทางการจีนระบุว่า หลินเปียว เย่ฉวิน และหลินลี่กั่ว ได้วาง “โครงการ 571” (五七一工程)[2] เพื่อก่อรัฐประหารด้วยการวางระเบิดขบวนรถไฟของเหมาเจ๋อตงซึ่งกำลังแล่นจากหางโจวไปยังเซี่ยงไฮ้ แต่เหมารู้ทันจึงได้ให้ขบวนรถไฟวิ่งออกจากหางโจวก่อนกำหนดและกลับถึงกรุงปักกิ่งอย่างปลอดภัย เมื่อแผนลอบสังหารล้มเหลว ทั้งสามคนจึงได้ขึ้นเครื่องบินหลบหนีไปยังสหภาพโซเวียต แต่ประสบอุบัติเหตุตกกลางทาง (หลิวหุยเหนียน และคณะ, 1980; Zong, 1989, pp. 153-154; Hu, 1994, pp. 671-672) หลังจากนั้นไม่นานนายทหารคนสนิทของหลินเปียวจำนวน 4 คน ประกอบไปด้วยหวงหย่งเซิ่ง (黄永胜) อู๋ฝ่าเสี้ยน (吴法宪) หลี่จั้วเผิง (李作鹏) และชิวฮุ่ยจั้ว (邱会作) ต่างถูกจับกุม ต่อมาใน ค.ศ. 1973 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ลงมติขับไล่   “กลุ่มของหลินเปียวที่คัดค้านพรรค” (林彪反党集团) ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค และเหมาเจ๋อตงยังได้วิจารณ์ว่าหลินเปียวเป็นผู้ที่นิยมความคิดแบบขงจื่อ ซึ่งคำวิจารณ์ดังกล่าวได้พัฒนาเป็น “ขบวนการวิพากษ์หลินเปียว วิพากษ์ขงจื่อ” (批林批孔运动) ใน ค.ศ. 1974 (Hu, 1994, p. 695) รวมทั้งยังมีการตีแผ่ความล้มเหลวของหลินเปียวในฐานะนักการทหารอีกด้วย (Chan, 1976)

            หลังการอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงเมื่อ ค.ศ. 1976 ทางการพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิง (邓小平) ได้จัดให้มีการชำระคดีความที่เกิดขึ้นในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม โดยในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1980 สภาผู้แทนประชาชนมีมติให้จัดตั้งศาลและอัยการพิเศษเพื่อพิจารณาคดีของหลินเปียวไปพร้อมกับแก๊งสี่คน คำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1981 ยืนยันความผิดของหลินเปียว เย่ฉวิน และหลินลี่กั่วในการวางแผนก่อรัฐประหาร รวมทั้งยังวินิจฉัยด้วยว่า แม้นายทหารคนสนิทของหลินเปียวทั้งสี่คนจะมิได้มีส่วนรู้เห็นโดยตรงในการวางแผนรัฐประหาร หากแต่ก็ได้กระทำความผิดหลายกระทงตลอดยุคปฏิวัติวัฒนธรรม ศาลตัดสินจำคุกหวงหย่งเซิ่ง 18 ปี อู๋ฝ่าเสี้ยนกับหลี่จั้วเผิงคนละ 17 ปี และชิวฮุ่ยจั้ว 16 ปี รวมทั้งตัดสิทธิทางการเมืองอีกคนละ 5 ปี (A Great Trial in Chinese History, 1981) ซึ่งเฟ่ยเสี้ยวทง (费孝通) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้พิพากษาระบุว่า การดำเนินคดีครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และสะท้อนว่าไม่มีผู้ใดจะละเมิดหลักแห่งกฎหมาย (rule of law) ได้ตามใจชอบ (Fei, 1981)

            อย่างไรก็ตาม การพิจารณาคดีดังกล่าวมิได้ดำเนินไปโดยปราศจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ดังที่ เขียน ธีระวิทย์ นักวิชาการด้านจีนศึกษาของไทยตั้งข้อสังเกตโดยสรุปว่า (1) กฎหมายอาญาที่บังคับใช้ในคดีนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1980 จึงเท่ากับเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังอันขัดกับหลักยุติธรรมสากล (2) เผิงเจิน (彭真) ประธานคณะกรรมการร่างกฎหมายอาญา และเจียงฮว๋า (江华) ประธานคณะผู้พิพากษาต่างเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม และ (3) ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่อัยการฟ้อง หากจำเลยไม่ตอบหรือตอบไม่ตรงประเด็นก็ให้ถือว่าจำเลยยอมรับโดยไม่ต้องหาข้อพิสูจน์ใดๆ อีกต่อไป ซึ่งทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (เขียน ธีระวิทย์, 2527, น. 16-17)

            การที่กรณีของหลินเปียวเป็นคดีทางการเมือง ประกอบกับระบบการเมืองที่ค่อนข้างปิดลับของจีนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อคำอธิบายของทางการจีนเกี่ยวกับการตายของเขา หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นที่โจษจันกันมากในทศวรรษ 1980 ชื่อว่า The Conspiracy and Death of Mao’s Heir เขียนโดยผู้ใช้นามแฝงว่า Yao Ming-le เมื่อ ค.ศ. 1983 ซึ่งแม้จะระบุตรงกับทางการจีนว่าหลินเปียวเป็นบุคคลที่ทะเยอทะยานและวางแผนก่อรัฐประหาร แต่คำอธิบายที่แตกต่างออกไปก็คือ หลินเปียวและเย่ฉวินมิได้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตก หากแต่ถูกเหมาเจ๋อตงและนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล (周恩来) วางแผนสังหารด้วยจรวดขณะนั่งรถกลับจากงานเลี้ยงอาหารค่ำที่เหมาจัดขึ้น ณ บ้านพักชานกรุงปักกิ่ง ส่วนหลินลี่กั่วเมื่อรู้ว่าบิดาและมารดาถูกสังหารจึงขึ้นเครื่องบินหนีไปสหภาพโซเวียต แต่ก็ถูกจรวดของจีนยิงตกในมองโกเลีย (หยาวหมิงเล่อ, 2528) อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามค่อนข้างมากเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลในหนังสือเล่มนี้ (บุญศักดิ์ แสงระวี, 2528, น. 205-207)

            ในบทความนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอมุมมองแบบทวนกระแส (revisionist views) เกี่ยวกับกรณีของหลินเปียว โดยอาศัยข้อมูลจากงานศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับหลินเปียวโดยตรงจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ (1) The Tragedy of Lin Biao: Riding the Tiger during the Cultural Revolution, 1966-1971 เขียนโดย Frederick C. Teiwes & Warren Sun (1996) และ (2) The Culture of Power: The Lin Biao Incident in the Cultural Revolution เขียนโดย Jin Qiu (1999) บุตรสาวของอู๋ฝ่าเสี้ยน นายทหารที่ใกล้ชิดหลินเปียวที่ถูกศาลตัดสินจำคุก และยังอาศัยข้อมูลจากงานศึกษาทางวิชาการชิ้นอื่นๆ ที่กล่าวถึงกรณีของหลินเปียวอีกด้วย เช่น หนังสือชีวประวัติโจวเอินไหลที่เขียนโดย Gao Wenqian (2007) อดีตเจ้าหน้าที่ประจำสำนักวิจัยเอกสารแห่งศูนย์กลางพรรค เป็นต้น ซึ่งงานศึกษาเหล่านี้อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งอื่นที่นอกเหนือไปจากเอกสารของทางการจีน เช่น บันทึกของจางหยุนเซิง (张云生) เลขานุการประจำสำนักงานของหลินเปียว บันทึกของกวนเหว่ยซวิน (官伟勋) เจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศที่เป็นครูสอนวรรณคดีให้แก่เย่ฉวิน เป็นต้น ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏชวนให้เราต้องหันมาทบทวนกรณีของหลินเปียวกันใหม่

 

ชีวิตทางการเมืองของหลินเปียว

            หลินเปียวเกิดที่มณฑลหูเป่ยเมื่อ ค.ศ. 1907 ตรงกับยุคปลายราชวงศ์ชิง เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองในกลางทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรรคกั๋วหมินตั่งกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนจับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อปราบขุนศึกภาคเหนือ เขาเข้าศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยหวงผู่ (黄埔军校) ที่เมืองกว่างโจวเมื่อ ค.ศ. 1925 ซึ่ง ณ ที่นั้นมีโจวเอินไหลเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายการเมือง และเมื่อสองพรรคแตกหักกันใน ค.ศ. 1927 หลินเปียวได้เข้าร่วมกับกองทัพแดงของเหมาเจ๋อตงและจูเต๋อ (朱德) ณ ฐานที่มั่นเขาจิ่งกัง (井冈山) และเจริญก้าวหน้าทางการทหารอย่างรวดเร็ว โดยในการเดินทัพทางไกล (The Long March) ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหนีการปราบปรามครั้งใหญ่ของพรรคกั๋วหมินตั่งช่วง ค.ศ. 1934 ถึง ค.ศ. 1935 หน่วยทหารของหลินเปียวทำหน้าที่เป็นแนวหน้าคอยเบิกทาง ซึ่งเท่ากับช่วยรักษาความปลอดภัยให้กับผู้นำคนสำคัญของพรรคจนทำให้เหมาเจ๋อตงไว้วางใจเขามากขึ้น (Jin, 1999, pp. 64-66) ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1938 หลินเปียวได้รับบาดเจ็บสาหัสจนส่งผลกระทบต่อกระดูกสันหลังและระบบประสาทส่วนกลางจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง (Jin, 1999, p. 147) เขาต้องพักฟื้นอยู่จนถึง ค.ศ. 1942 จึงกลับมาปฏิบัติงานได้ และต่อมาในสงครามกลางเมืองตั้งแต่ ค.ศ. 1946 ถึง ค.ศ. 1949 หลินเปียวได้แสดงความสามารถทางการทหารจนเอาชนะทหารกั๋วหมินตั่งในสมรภูมิเหลียวซี-เสิ่นหยาง (辽沈战役) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมรภูมิเป่ยผิง-เทียนจิน (平津战役) ทางภาคเหนือซึ่งเป็นสองในสามสมรภูมิชี้ขาดชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน[3] และเมื่อถึง ค.ศ. 1955 หลินเปียวในวัยเพียง 48 ปีได้เลื่อนยศขึ้นเป็นจอมพล นับเป็นจอมพลที่อายุน้อยที่สุดของกองทัพปลดปล่อยประชาชน (Jin, 1999, p. 70)

            เป็นที่น่าสังเกตว่าในทศวรรษ 1950 หลินเปียวมิได้มีบทบาททางการเมืองมากนัก แม้เขาจะได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 1954 กรรมการกรมการเมืองเมื่อ ค.ศ. 1955 และรองประธานพรรคเมื่อ ค.ศ. 1958 ก็ตาม ทั้งนี้เหตุผลมาจากปัญหาสุขภาพเป็นสำคัญ เขาไม่ได้แสดงบทบาทในสงครามเกาหลีช่วง ค.ศ. 1950 ถึง ค.ศ. 1953 และมิได้ปรากฏตัวในการประชุมสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนแห่งประเทศจีนเมื่อดือนตุลาคม ค.ศ. 1957 อีกด้วย และยังมีแหล่งข้อมูลระบุว่าเขาป่วยจนต้องเดินทางไปรักษาตัวที่สหภาพโซเวียตในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษ 1950 (Teiwes & Sun, 1996, pp. 171-173; Jin, 1999, p. 70) ปัญหาสุขภาพที่เรื้อรังส่งผลให้หลินเปียวเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัวและไม่พบปะกับใครบ่อยนัก การขอเข้าพบหลินเปียวหรือสื่อสารกับเขามักจะต้องกระทำผ่านเย่ฉวินผู้เป็นภรรยา (Jin, 1999, p. 147)

            เหตุการณ์ทางการเมืองในปลายทศวรรษ 1950 ทำให้หลินเปียวกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ในการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองที่หลูซาน (庐山) มณฑลเจียงซี เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1959 จอมพลเผิงเต๋อหวย (彭德怀) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของเหมาเจ๋อตงอย่างรุนแรงจนเหมาสั่งปลดออกจากตำแหน่งและให้หลินเปียวรับตำแหน่งแทน รวมทั้งตำแหน่งรองประธานกรรมาธิการทหารของพรรคในปีถัดมา ข้อที่น่าสังเกตก็คือ หลินเปียวมิได้ให้ความสนใจกับตำแหน่งใหม่มากนักและได้มอบหมายงานส่วนใหญ่ให้กับจอมพลหลัวรุ่ยชิ่ง (罗瑞庆) และจอมพลเฮ่อหลง (贺龙) เป็นผู้รับผิดชอบแทน (Sun, 1999) แต่ในเวลาเดียวกันนั้นเอง เหมาเจ๋อตงผู้ซึ่งรู้สึกว่าตนเองกำลังสูญเสียบทบาทการนำในพรรคให้กับกลุ่มของหลิวเส้าฉี (刘少奇) ก็ต้องการฐานสนับสนุนจากหลินเปียวและกองทัพปลดปล่อยประชาชน ทำให้หลินเปียวไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยินยอมตามความต้องการของเหมา โดยในช่วงครี่งแรกของทศวรรษ 1960 กองทัพปลดปล่อยประชาชนได้จัดพิมพ์ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง (毛泽东著作选读) และ คติพจน์ประธานเหมา (毛主席语录) แจกจ่ายไปทั่วประเทศหลายร้อยล้านเล่ม (Jin, 1999, pp. 76-77) จนทำให้เหมามีความมั่นใจในฐานสนับสนุนทางการเมืองและพร้อมที่จะก่อการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นใน ค.ศ. 1966

            การปฏิวัติวัฒนธรรมนำไปสู่อวสานทางการเมืองของหลิวเส้าฉีผู้เป็นกรรมการประจำกรมการเมืองอันดับที่สองรองจากเหมาเจ๋อตงมาตั้งแต่ ค.ศ. 1956 จนเคยเป็นที่เข้าใจกันว่าเขาคือทายาททางการเมืองของเหมา[4] และเพื่อให้การปฏิวัติดำเนินไปได้ลุล่วง เหมาจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสียงสนับสนุนจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนให้คงอยู่ต่อไป ฉะนั้นในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเต็มคณะครั้งที่ 11 ของการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 8 เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1966 หลินเปียวซึ่งกำลังลาป่วยและพักฟื้นอยู่ที่ต้าเหลียนจึงถูกเรียกตัวกลับมายังกรุงปักกิ่งเพื่อรับตำแหน่งกรรมการประจำกรมการเมืองอันดับสองรองจากเหมา แม้หลินเปียวจะพยายามปฏิเสธไม่รับตำแหน่งทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษร แต่เหมาก็ยืนกรานจนหลินเปียวต้องยินยอม ในครั้งนั้นเหมาได้วิจารณ์ว่าหลินเปียวเหมือนจักรพรรดิหมิงซื่อจง (明世宗ครองราชย์ ค.ศ. 1522 – 1566) ที่เอาแต่เก็บตัวเพื่อแสวงหาความเป็นอมตะจนไม่สนใจกิจการบ้านเมือง (Teiwes & Sun, 1996, p. 64; Jin, 1999, p. 79; Gao, 2007, p. 189)

            เมื่อถึงฤดูร้อนของ ค.ศ. 1967 เหมาเจ๋อตงเริ่มตระหนักว่าปฏิบัติการของยามพิทักษ์แดง (红卫) ในการปฏิวัติวัฒนธรรมกำลังบานปลายจนนำประเทศจีนเข้าสู่สภาวะอนาธิปไตย ดังนั้นเหมาจึงต้องอาศัยหลินเปียวและกองทัพปลดปล่อยประชาชนในการยุติสภาวะดังกล่าวและฟื้นฟูระเบียบขึ้นมาใหม่ การให้ความสำคัญกับหลินเปียวและกองทัพเห็นได้ชัดเจนจากการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 ซึ่งกรรมการกรมการเมืองชุดใหม่จำนวน 12 ใน 25 คนมาจากกองทัพ ซึ่งรวมถึงนายทหาร 4 คนที่ใกล้ชิดกับหลินเปียว ได้แก่ หวงหย่งเซิ่ง อู๋ฝ่าเสี้ยน หลี่จั้วเผิง และชิวฮุ่ยจั้ว ส่วนเย่ฉวิน ภรรยาของหลินเปียวก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการกรมการเมืองด้วย (เจียงชิง江青 ภรรยาของเหมาเจ๋อตงก็เช่นกัน) สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ที่ประชุมมีมติรับรองธรรมนูญพรรคฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาระบุลงไปชัดเจนว่าหลินเปียวคือทายาททางการเมืองของเหมา (MacFarquhar, 1991, pp. 306-308)

            แม้ว่าการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 จะดูเป็นความสำเร็จในชีวิตทางการเมืองของหลินเปียว หากแต่สถานะทายาททางการเมืองทำให้เขาวางตัวลำบากยิ่งขึ้น หลินเปียวได้เห็นตัวอย่างมาแล้วจากชะตากรรมของหลิวเส้าฉี อดีตผู้นำอันดับสองของพรรค รวมทั้งกรณีของเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งหลินเปียวมองว่าทั้งสองคนไม่ได้กระทำความผิดใดๆ  (Jin, 1999, p. 78; Gao, 2007, p. 189) ฉะนั้นเมื่อโจวเอินไหลกล่าวปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 โดยยกย่องว่าหลินเปียวเป็นผู้ปรีชาสามารถและเหมาะสมกับตำแหน่งทายาททางการเมืองของเหมา หลินเปียวจึงรีบลุกขึ้นปฏิเสธคำยกย่องของโจวในทันที (Gao, 2007, pp. 198-199) ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดว่าเขาจะแข่งบารมีกับเหมาเจ๋อตง

 

บทบาทของเย่ฉวิน

            การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9 เมื่อ ค.ศ. 1969 นอกจากจะยืนยันสถานะทางการเมืองของหลินเปียวแล้ว ยังสะท้อนบทบาทที่เพิ่มขึ้นของเย่ฉวินผู้เป็นภรรยาที่ได้รับเลือกเป็นกรรมการกรมการเมืองอีกด้วย เย่ฉวินเกิดเมื่อ ค.ศ. 1917 แต่งงานกับหลินเปียวเมื่อ ค.ศ. 1943 มีบุตรด้วยกันสองคน คนแรกเป็นบุตรสาวนามว่า หลินลี่เหิง (林立蘅เกิด ค.ศ. 1944) ซึ่งไม่ลงรอยกับเย่ฉวินผู้เป็นมารดา[5] คนที่สองเป็นบุตรชายนามว่า หลินลี่กั่ว (เกิด ค.ศ. 1945) และด้วยเหตุที่หลินเปียวมีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ประกอบกับเย่ฉวินมีบุคลิกที่แข็ง ทำให้นางกลายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการดำเนินชีวิตของหลินเปียว ดังตัวอย่างที่ปรากฏในหนังสือของกวนเหว่ยซวินซึ่งทำงานในสำนักงานของหลินเปียว ความตอนหนึ่งว่า

           

            จาง เพื่อนของฉันที่เป็นครูสอนวรรณคดีให้กับเย่เคยเห็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งด้วยตนเอง ในฤดูร้อน ค.ศ. 1971 เมื่อเขากำลังนั่งชมภาพยนตร์พร้อมกับเย่ฉวินและคนอื่นๆ ภายหลังจากว่ายน้ำเสร็จ มีเจ้าหน้าที่ของหลินเดินมาหาเย่แล้วพูดว่า “ท่านผู้บัญชาการ (หมายถึงหลินเปียว – ผู้เขียนบทความ) บอกว่าท่านมีเสมหะในปาก ไม่ทราบควรจะกลืนหรือคาย จึงให้มาถามคุณ” เย่ตอบอย่างขยะแขยงว่า “ให้ท่านคายออกซะ” เจ้าหน้าที่ในสำนักงานของหลินเปียวเคยชินกับเรื่องแบบนี้เสียแล้ว ไม่มีใครมองว่าเป็นเรื่องแปลกหรือตลกแต่อย่างใด

(Guan, 1993, pp. 213-214 อ้างใน Jin, 1999, p. 146)

 

            ช่วงทศวรรษ 1950 เย่ฉวินเป็นเพียงแม่บ้านที่ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองใดๆ (กรณีของเจียงชิงก็เช่นกัน) แต่เมื่อหลินเปียวรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อ ค.ศ. 1959 บทบาทของนางก็เพิ่มขึ้นตามสามี โดยใน ค.ศ. 1960 นางได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานของหลินเปียว ซึ่งเหมาเจ๋อตงก็เห็นดีด้วย (Teiwes & Sun, 1996, p. 187) บทบาทของเย่ฉวินยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ “กระแสทวนเดือนกุมภาพันธ์” (二月逆流February Adverse Current) เมื่อ ค.ศ. 1967 ซึ่งส่งผลให้เหมาเจ๋อตงสั่งพักงานกรรมการกรมการเมืองหลายคน[6] เหมาจึงอนุญาตให้เย่ฉวินเข้าประชุมกรมการเมืองได้เสมือนเป็นสมาชิก (Jin, 1999, p. 150)

            การปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้เมื่อถึงปลายทศวรรษ 1960 เหมาเจ๋อตงสามารถกำจัดศัตรูทางการเมืองออกไปได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือการแย่งชิงอำนาจระหว่างแก๊งสี่คนที่นำโดยเจียงชิงกับกลุ่มของหลินเปียว ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ต่างได้ดิบได้ดีจากการปฏิวัติดังกล่าว และเย่ฉวินก็ได้แสดงบทบาทไม่แพ้เจียงชิงในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อ ค.ศ. 1969 ในขั้นตอนการลงคะแนนเลือกกรรมการกลางของพรรค เย่ฉวินได้บอกให้บรรดานายพลผู้ใกล้ชิดหลินเปียวไปชักชวนไม่ให้ผู้แทนจากกองทัพลงคะแนนให้กับกลุ่มของเจียงชิง จนทำให้กลุ่มดังกล่าวได้คะแนนเสียงน้อยกว่ากลุ่มของหลินเปียวจนสร้างความไม่พอใจแก่เจียงชิงเป็นอย่างยิ่ง (Jin, 1999, p. 120) ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวจะกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่จุดจบของหลินเปียวในที่สุด

            หลินเปียวมิได้สบายใจนักกับบทบาททางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของภรรยา เขาเคยเขียนโคลงสองบรรทัดให้ภรรยาแขวนไว้ที่หัวเตียงเพื่อเตือนไม่ให้แสวงหาเกียรติยศ ตำแหน่ง และอำนาจ (Jin, 1999, p. 120) แต่กระนั้นเขาซึ่งชอบเก็บเนื้อเก็บตัวก็ยังต้องพึ่งพาภรรยาในการปฏิสัมพันธ์กับบุคลลต่างๆ อยู่ดี และมีหลายครั้งที่เย่ฉวินดำเนินการต่างๆ ในนามของหลินเปียวโดยที่เจ้าตัวไม่ได้รับรู้ด้วย ดังบันทึกของจางหยุนเซิง เลขานุการประจำสำนักงานของหลินเปียวซึ่งได้ตอบข้อสงสัยของผู้อ่านไว้ดังนี้

 

คำถาม: คุณวิจารณ์เย่ฉวินเอาไว้หลายแห่งในหนังสือ ดูเหมือนว่าเย่ฉวินดำเนินการต่างๆ โดยไม่ให้หลินเปียวรู้ เป็นความจริงหรือไม่?

คำตอบ: เย่ฉวินเป็นหัวหน้าสำนักงานของหลินเปียว ข้าพเจ้าซึ่งเป็นเลขานุการต้องติดต่อกับนางอยู่ตลอด เป็นเหตุให้ในบันทึกความทรงจำข้าพเจ้าต้องกล่าวถึงนางบ่อยครั้ง เย่ปิดบังสิ่งที่ตนเองทำไม่ให้หลินรู้ แต่เธอก็อ้างชื่อหลินอย่างเต็มปาก ... แต่ก็ใช่ว่าหลินจะไม่รู้อะไรเลย ปัญหาก็คือเย่มักจะโกหก และยากที่จะบอกได้ว่าเย่ฉวินพูดความจริงกับหลินเปียวมากแค่ไหน

คำถาม: แล้วทำไมเจ้าหน้าที่ในสำนักงานไม่บอกเรื่องนี้ให้หลินรู้?

คำตอบ: ตอนนั้นใครจะกล้า เย่ชอบขู่ว่าใครที่ต่อต้านเธอเท่ากับต่อต้านหลินเปียว และใครที่ต่อต้านหลินเปียวก็เท่ากับต่อต้านประธานเหมา มีใครบ้างอยากโดนประณามว่าเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัติ

(Zhang, 1989 อ้างใน Jin, 1999, p. 152)

 

            ขณะเดียวกันเย่ฉวินก็พยายามส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของหลินลี่กั่วซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชิงหัว และเมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมทำให้สถานศึกษาต้องหยุดการเรียนการสอน นางจึงจัดการผ่านอู๋ฝ่าเสี้ยน ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเพื่อให้บุตรชายได้เข้าทำงาน โดยในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1969 อู๋ฝ่าเสี้ยนแต่งตั้งให้หลินลี่กั่วเป็นรองหัวหน้าสำนักงานทั่วไปและรองหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของกองทัพอากาศ ซึ่งอู๋เข้าใจตลอดมาว่าคำขอของเย่ฉวินคือความต้องการของหลินเปียว หากแต่บันทึกของจางหยุนเซิงระบุว่านางทำไปโดยพลการ เพราะเกรงว่าหลินเปียวจะคัดค้านการใช้ช่องทางพิเศษเพื่อส่งเสริมบุตรชาย (Jin, 1999, p. 157) หลังจากนั้นหลินลี่กั่วและเพื่อนร่วมงานนามว่า โจวอี้ว์ฉือ (周宇驰) ได้อาศัยชื่อของหลินเปียวในการแสวงหาพรรคพวกและขยายอิทธิพลในกองทัพอากาศ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “กลุ่มสำรวจและวิจัย” (调研组) หรือที่ต่อมาเรียกว่า “กองเรือร่วม” (联合舰) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนายทหารวัยหนุ่มที่ต้องการแสวงหาเส้นทางลัดในหน้าที่การงาน[7]

 

รอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างเหมาเจ๋อตงกับหลินเปียว: ความขัดแย้งระหว่างพรรคกับกองทัพ หรือความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ?

            ความสัมพันธ์ระหว่างเหมาเจ๋อตงกับหลินเปียวเสื่อมลงอย่างรวดเร็วหลังการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อ ค.ศ. 1969 จนนำไปสู่อวสานของหลินในอีกเพียงสองปีถัดมา นักวิชาการหลายคนลงความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีที่มาจากปัจจัยสำคัญได้แก่ (1) การที่เหมาเจ๋อตงเกรงว่าหลินเปียวและกองทัพจะมีบทบาททางการเมืองมากเกินไปขัดกับหลักการที่ว่า “พรรคควบคุมปากกระบอกปืน” (จุลชีพ ชินวรรโณ, 2542, น. 26; MacFarquhar, 1991, pp. 312-313) และ (2) การที่หลินเปียวคัดค้านนโยบายปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาของเหมาเจ๋อตงและโจวเอินไหล (MacFarquhar, 1991, pp. 320-323; Ross, 2009, pp. 206-213) ซึ่งความเห็นทำนองนี้มีประเด็นที่โต้แย้งได้พอสมควร

            แม้ว่าการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 จะสะท้อนบทบาทที่เพิ่มขึ้นของกองทัพในการเมืองจีน ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนตัวแทนจากกองทัพที่เข้ามานั่งเป็นกรรมการกลางพรรคเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 45 (MacFarquhar, 1991, pp. 306-307) แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าเป็นผลมาจากอิทธิพลของหลินเปียวทั้งหมด เพราะขณะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตอยู่ในสภาวะตึงเครียดอย่างมาก การที่สหภาพโซเวียตบุกเชโกสโลวะเกียเมื่อ ค.ศ. 1968 และประกาศหลักการเบรชเนฟ (The Brezhnev Doctrine) ซึ่งระบุว่าสหภาพโซเวียตมีความชอบธรรมในการใช้กำลังกับประเทศสังคมนิยมที่ออกนอกลู่นอกทาง ทำให้จีนเกรงกลัวภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตมากยิ่งขึ้น มีการปะทะกันทางทหารที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนรวมสองครั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1969 รวมทั้งมีการสร้างหลุมหลบภัยตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศเพื่อใช้ในกรณีที่สหภาพโซเวียตถล่มจีนด้วยอาวุธนิวเคลียร์ สภาวะเช่นนี้ทำให้เหมาเจ๋อตงเห็นความสำคัญกับกองทัพในการรักษาความมั่นคงของจีนเอาไว้ ซึ่ง Teiwes & Sun (1996) มองว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่กองทัพจะมีที่นั่งในกรรมการกลางพรรคมากขนาดนี้หากเหมาเจ๋อตงไม่ให้ความเห็นชอบ (p. 130) ส่วนความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะลดบทบาทของกองทัพนั้นเกิดขึ้นภายหลังการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 10 เมื่อ ค.ศ. 1973 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมามีสุขภาพอ่อนแอลงมาก เขาจึงตัดสินใจโยกย้ายนายทหารในภูมิภาคต่างๆ ครั้งใหญ่ และให้เติ้งเสี่ยวผิงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเพื่อเป็นหลักประกันว่ากองทัพจะอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรค[8]

            ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหภาพโซเวียตทำให้เหมาเจ๋อตงและโจวเอินไหลแสวงหาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่การเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1972 โดยเหมาบอกกับนิกสันว่าหลินเปียวคัดค้านการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ (Teiwes & Sun, 1996, p. 123) และต่อมาในการสนทนากับอดีตนายกรัฐมนตรีเอ็ดเวิร์ด ฮีท (Edward Heath) แห่งสหราชอาณาจักรฯ เหมาถึงกับระบุว่าหลินเปียวเป็นคนของสหภาพโซเวียต (Mao, 1998, p. 456) อย่างไรก็ตาม คำพูดของเหมาทั้งสองครั้งมีขึ้นหลังจากที่หลินเปียวเสียชีวิตและถูกประณามจากทางการจีนว่าเป็นผู้ทรยศต่อพรรค แต่ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่เขาไม่เคยแสดงทัศนะด้านการต่างประเทศที่ชัดเจนออกมาเลย นักวิชาการจีนหลายคนลงความเห็นว่าหลินเปียวมีอิทธิพลและความสนใจเรื่องการต่างประเทศน้อยมาก (Hamrin, 1994, p. 88, n. 44) สอดคล้องกับบันทึกของจางหยุนเซิงที่ระบุว่าหลินเปียวนั่งหลับขณะฟังรายงานเกี่ยวกับปัญหากัมพูชาเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1970[9] (Teiwes & Sun, 1996, p. 124) รวมทั้งไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันได้ว่าเขาเป็นคนของสหภาพโซเวียต

 

การประชุมที่หลูซาน ค.ศ. 1970 กับปัญหาเรื่อง “ประธานแห่งรัฐ” และ “อัจฉริยภาพ” ของเหมาเจ๋อตง

            จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างเหมาเจ๋อตงกับหลินเปียวเกิดขึ้นในการประชุมกรรมการกลางพรรคตั้งแต่วันที่ 17 ถึง 20 มีนาคม ค.ศ. 1970 เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสภาผู้แทนประชาชนครั้งที่ 4 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเหมาเจ๋อตงบอกกับที่ประชุมอย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีตำแหน่ง “ประธานแห่งรัฐ” (国家主席) หรือประธานาธิบดีอีกต่อไป[10] แต่ในวันที่ 11 เมษายนของปีนั้น หลินเปียวได้เขียนหนังสือถึงเหมาเจ๋อตงขอให้คงตำแหน่งดังกล่าวเอาไว้โดยระบุว่าเหมาเป็นผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ที่สุด และการที่ไม่มีประธานแห่งรัฐนั้นขัดกับ “ภาวะทางจิตใจ” (心理状态) ของประชาชน แต่เหมาเจ๋อตงยังคงยืนยันให้ยกเลิกตำแหน่งนี้ (A Chronology of the PRC, 1989, p. 41) แม้กระนั้นหลินเปียวก็ยังไม่ลดละความพยายาม โดยในการประชุมกรรมการกลางพรรคเต็มคณะครั้งที่ 2 ของการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 ที่หลูซานตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ถึง 6 กันยายน ค.ศ. 1970 หลินเปียวได้กล่าวคำปราศรัยในวันเปิดประชุมว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรรับรองเหมาเจ๋อตงในฐานะ “ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ประมุขแห่งรัฐ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด” (伟大领袖 国家元首最高统帅) ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันให้คงตำแหน่งประธานแห่งรัฐเอาไว้นั่นเอง (Bianxiezu, 2010, 250)

            นักวิชาการหลายคนรวมทั้งสิ่งพิมพ์ของทางการจีนมักอธิบายว่าหลินเปียวต้องการขึ้นเป็นประธานแห่งรัฐเพื่อยกสถานะทางการเมืองของตนเอง (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2547, น. 118-119; Zong, 1989, p. 151) แต่การอธิบายลักษณะนี้มีข้อโต้แย้งอยู่พอสมควร กล่าวคือ (1) หลินเปียวมีปัญหาสุขภาพเรื้อรังและไม่ชอบพบปะผู้คน เขาจึงไม่น่าจะปรารถนาตำแหน่งประธานแห่งรัฐที่ต้องมีบทบาทมากในทางพิธีการ (2) ธรรมนูญพรรคเมื่อ ค.ศ. 1969 รับรองแล้วว่าหลินเปียวเป็นทายาททางการเมืองของเหมาเจ๋อตง จึงไม่น่าจะมีเหตุผลอันใดที่เขาจะต้องไขว่คว้าตำแหน่งเชิงพิธีการเช่นประธานแห่งรัฐเพื่อเสริมสร้างอำนาจ และ (3) การดำรงตำแหน่งประธานแห่งรัฐของหลินเปียวขณะที่เหมาเจ๋อตงยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นการแข่งบารมีกับเหมาได้ง่ายๆ ดังกรณีของหลิวเส้าฉีที่เคยเป็นประธานแห่งรัฐมาก่อน หลินเปียวจึงไม่น่าจะปรารถนาตำแหน่งนี้ (Teiwes & Sun, 1996, p. 136; Jin, 1999, p. 129) ถ้าเป็นเช่นนั้น เหตุใดเขาจึงขอให้เหมาคงตำแหน่งนี้เอาไว้ คำอธิบายที่เป็นไปได้ก็คือ เหมาเจ๋อตงเป็นผู้ที่มีลักษณะ “ปากไม่ตรงกับใจ” ดังเช่นก่อนการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เหมาบอกว่าเจียงชิงไม่มีคุณสมบัติเหมาะกับการเป็นกรรมการกรมการเมือง แต่โจวเอินไหลก็ยังคงใส่ชื่อเจียงชิงลงไปจนนางได้รับตำแหน่งดังกล่าว หลินเปียวจึงอาจมองว่าเหมาเพียงแต่ปฏิเสธตำแหน่งประธานแห่งรัฐตามมารยาทเท่านั้น (Teiwes & Sun, 1996, p. 137)

            ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งในการประชุมที่หลูซานก็คือ วิวาทะว่าด้วยความเป็นอัจฉริยะของเหมาเจ๋อตง โดยในการประชุมกลุ่มย่อยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1970 อู๋ฝ่าเสี้ยน กรรมการกรมการเมืองที่อยู่ในกลุ่มของหลินเปียวได้เสนอให้ระบุว่าเหมาเจ๋อตงเป็น “อัจฉริยะ” (天才) ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จนนำไปสู่การถกเถียงระหว่างอู๋ฝ่าเสี้ยนฝ่ายหนึ่ง กับจางชุนเฉียว (张春桥) และคังเซิง (康生) อีกฝ่ายหนึ่ง ขณะที่เฉินโป๋ต๋า (陈伯达) แสดงความเห็นสนับสนุนอู๋ฝ่าเสี้ยน (Teiwes & Sun, 1996, p. 141) เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าจางชุนเฉียวและคังเซิงอยู่ในกลุ่มของเจียงชิง (คังเซิงเป็นคนแนะนำเหมาเจ๋อตงให้รู้จักเจียงชิงจนแต่งงานกันเมื่อ ค.ศ. 1939) ขณะที่เดิมเฉินโป๋ต๋าเคยใกล้ชิดกับเจียงชิง แต่เริ่มเอนเอียงมาทางกลุ่มของหลินเปียวในปลายทศวรรษ 1960 ด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัดนัก ดังนั้นในทัศนะของสมาชิกกลุ่มของเจียงชิง การที่อู๋ฝ่าเสี้ยนยกย่องเหมาว่าเป็นอัจฉริยะมิใช่อะไรอื่นนอกเสียจากเป็นความพยายามที่จะช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ซึ่งกลุ่มของเจียงชิงไม่อาจยอมได้

            ในการประชุมที่หลูซานเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1970 หลินเปียวได้เสนอให้บรรจุข้อความเกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะของเหมาเจ๋อตงลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมาซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมก็มิได้คัดค้าน (Teiwes & Sun, 1996, p. 144) เมื่อเป็นเช่นนี้เย่ฉวินจึงสั่งให้สมาชิกในกลุ่มของหลินเปียวร่วมกันผลักดันเรื่องอัจฉริยภาพของเหมาต่อไป โดยในการประชุมกลุ่มย่อยที่แบ่งตามภูมิภาคเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม เฉินโป๋ต๋า เย่ฉวิน อู๋ฝ่าเสี้ยน ชิวฮุ่ยจั้ว และหลี่จั้วเผิงได้แยกย้ายไปประชุมในกลุ่มย่อยต่างๆ และได้กล่าวยกย่องเหมาพร้อมกับตั้งคำถามถึงคนที่คัดค้านการเชิดชูอัจฉริยภาพของเหมาเจ๋อตง ผลปรากฏว่าผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเชิดชูอัจฉริยภาพของเหมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวังตงซิง (汪东兴) กรรมการสำรองของกรมการเมืองและหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยของเหมา และจอมพลเฉินอี้ (陈毅) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศผู้ซึ่งกล่าวว่าการคัดค้านอัจฉริยภาพของเหมาเจ๋อตงถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง (Teiwes & Sun, 1996, p. 145; Jin, 1999, pp. 124-125) และในที่สุดเฉินโป๋ต๋าก็เฉลยในห้องประชุมกลุ่มจีนเหนือ (North China group) ว่าบุคคลที่คัดค้านก็คือจางชุนเฉียว ผลปรากฏว่าผู้เข้าประชุมจำนวนมากที่ไม่พอใจบทบาทของจางชุนเฉียวในการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วพากันแสดงความไม่พอใจต่อเขามากขึ้นไปอีก

            เมื่อจางชุนเฉียวตกเป็นเป้าของการโจมตีจากกลุ่มของหลินเปียว เจียงชิงจึงยื่นมือมาช่วยเหลือด้วยการพาจางชุนเฉียวและเหยาเหวินหยวน (姚文元) ไปพบเหมาเจ๋อตงในเช้าวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเหมาได้แสดงความไม่พอใจต่อเฉินโป๋ต๋าเป็นอย่างมาก โดยเรียกประชุมกรรมการประจำกรมการเมืองเป็นการด่วนในบ่ายวันนั้นพร้อมออกคำสั่งให้ยุติการอภิปรายเกี่ยวกับสุนทรพจน์ของหลินเปียวในทันที รวมทั้งห้ามมิให้เผยแพร่รายงานการอภิปรายของกลุ่มจีนเหนือ (Teiwes & Sun, 1996, pp. 147-148) ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม เหมาเขียนจดหมายประณามเฉินป๋อต๋าว่าเป็นคนฉ้อฉลทางการเมือง ส่งผลให้เฉินต้องเขียนคำวิจารณ์ตนเอง และที่ประชุมกรมการเมืองในวันถัดมาได้วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของเฉินโป๋ต๋า เย่ฉวิน อู๋ฝ่าเสี้ยน ชิวฮุ่ยจั้ว และหลี่จั้วเผิง (Jin, 1999, p. 127) การที่บุคคลเหล่านี้เริ่มตกที่นั่งลำบากทางการเมืองย่อมส่งผลต่อหลินเปียวผู้เป็นหัวหน้ากลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือเท่ากับว่าการกระทำของบุคคลใกล้ชิดได้ดึงเขาไปสู่ความตกต่ำทางการเมืองโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ

            คำถามที่ว่า อะไรเป็นแรงจูงใจให้เหมาเจ๋อตงเข้าข้างเจียงชิงในกรณีนี้แล้วหันมาเล่นงานกลุ่มของหลินเปียวยังเป็นเรื่องที่หาคำตอบแน่ชัดไม่ได้ Teiwes & Sun (1996, pp. 148-149) วิเคราะห์ว่าในมุมมองของเหมา ผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยที่แสดงความไม่พอใจต่อจางชุนเฉียวหลายคนได้รับผลกระทบในทางลบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลเฉินอี้ เหมาจึงมองว่าแท้จริงแล้วการวิพากษ์วิจารณ์จางชุนเฉียวก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ตัวเขาและการปฏิวัติวัฒนธรรมในทางอ้อมนั่นเอง ขณะที่ Lucian Pye (2000, pp. 150-151) มองว่าเหมาเป็นคนที่ระแวงผู้นำหมายเลขสองรองจากตนเอง ดังความสัมพันธ์ระหว่างเขากับหลิวเส้าฉีที่จบลงด้วยโศกนาฎกรรม ดังนั้นเมื่อหลินเปียวกลายเป็นผู้นำอันดับสองตั้งแต่ ค.ศ. 1966 เหมาก็เริ่มสะสมความหวาดระแวงในตัวหลินเปียวจนตัดสินใจเข้าข้างเจียงชิงในครั้งนี้ แต่ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร ผลที่ปรากฏออกมาก็คือ หลังการประชุมที่หลูซานเมื่อ ค.ศ. 1970 หลินเปียวก็ไม่เป็นที่ไว้วางใจของเหมาอีกต่อไป หากการประชุมที่หลูซานเมื่อ ค.ศ. 1959 เป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ทางการเมืองของหลินเปียว การประชุม ณ ที่เดียวกันเมื่อ ค.ศ. 1970 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของอวสานทางการเมืองของเขา

 

การรุกคืบของเหมาเจ๋อตงและอวสานของหลินเปียว

            หลังเสร็จสิ้นการประชุมที่หลูซานในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1970 เหมาเจ๋อตงก็เริ่มดำเนินการลิดรอนอำนาจกลุ่มของหลินเปียวตามยุทธวิธีที่เรียกในเวลาต่อมาว่า “โยนหิน ผสมทราย ขุดหลุมวางฐาน” (甩石头、掺沙子、挖墙脚) ซึ่งมีความหมายตามลำดับคือ (1) การจัดรณรงค์วิพากษ์เฉินโป๋ต๋าช่วงเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นจนถึงเดือนเมษายนของปีถัดมา โดยตราหน้าว่าเขาเป็นผู้ต่อต้านพรรคและเป็นผู้นิยมลัทธิมากซ์ตัวปลอม (2) การแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ เพื่อลดอำนาจสมาชิกในกลุ่มของหลินเปียว เช่น การแต่งตั้งจี้เติงขุย (纪登奎) จางไฉเชียน (张才千) และหลี่เซียนเนี่ยน (李先念) เข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการทหารของพรรคเพื่อคานอำนาจกับหวงหย่งเซิ่งและอู๋ฝ่าเสี้ยนในเดือนเมษายน ค.ศ. 1971 เป็นต้น และ (3) การโยกย้ายบุคคลในกองทัพที่ใกล้ชิดกับหลินเปียวอย่างหลี่เสวี่ยเฟิง (李雪峰) และเจิ้งเหวยซาน (郑维山) รวมทั้งกองทัพที่ 38 ออกไปจากมณฑลทหารปักกิ่ง (MacFarquhar, 1991, pp. 323-325; Teiwes & Sun, 1996, p. 153)

            เอกสารของทางการจีนระบุว่าหลังการประชุมที่หลูซาน หลินเปียวได้เริ่มวางแผนก่อรัฐประหาร โดยในต้น ค.ศ. 1971 เขาและเย่ฉวินได้มอบหมายให้หลินลี่กั่วไปดำเนินการร่าง “โครงการ 571” เพื่อสังหารเหมาเจ๋อตงและยึดอำนาจรัฐ (A Chronology of PRC, 1989, pp. 42-43; Zang, 1989, p. 153) อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวปราศจากหลักฐานที่ชัดเจน  มีความเป็นไปได้ว่า “โครงการ 571” เป็นสิ่งที่หลินลี่กั่วและพรรคพวกในกลุ่ม “กองเรือร่วม” ร่างขึ้นมาโดยที่หลินเปียวและเย่ฉวินมิได้รับรู้ด้วย ทั้งนี้หลินลี่กั่วมีทัศนะเกี่ยวกับเหมาเจ๋อตงแตกต่างไปจากบิดาและมารดาของเขา สำหรับคนรุ่นหลินเปียวและเย่ฉวินนแล้ว เหมาเจ๋อตงคือผู้นำและนักการทหารที่ยิ่งใหญ่ ผู้ทำสงครามชนะพรรคกั๋วหมินตั่งและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน การตัดสินใจใดๆ ของเหมาไม่ว่าจะผิดหรือถูกล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนเคารพและไม่กล้าขัดขืน[11] แต่สำหรับหลินลี่กั่วมิใช่เช่นนั้น เขาและพรรคพวกในกองทัพอากาศเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นภายหลังการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน และเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นผลงานของหลินเปียวหรือหลินลี่กั่ว เนื้อหาของ “โครงการ 571” ก็ไม่ใช่แผนปฏิบัติการสำหรับการทำรัฐประหารแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงคำประกาศที่วิพากษ์วิจารณ์เหมาเจ๋อตงเท่านั้น (Jin, 1999, pp. 160-161)

            เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1971 ก็เป็นที่แน่ชัดว่าชีวิตทางการเมืองของหลินเปียวกำลังจะจบลง เพราะในกลางเดือนนั้นเองเหมาเจ๋อตงได้เดินทางโดยรถไฟไปตรวจงานทางภาคใต้และกล่าวกับผู้ปฏิบัติงานของพรรคในท้องถิ่นว่า “คนบางคนอยากเป็นประธานแห่งรัฐและหวังจะให้พรรคแตกแยกเพื่อเข้ายึดอำนาจ” (A Chronology of the PRC, 1989, p. 43) ซึ่งเป็นการแสดงความไม่พอใจต่อหลินเปียวออกมาอย่างชัดเจน และในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีประกาศเป็นทางการว่าการประชุมกรรมการกลางพรรคจะเริ่มขึ้นหลังการฉลองวันชาติในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญเฉกเช่นการประชุมเมื่อ ค.ศ. 1966 ที่เป็นจุดจบทางการเมืองของหลิวเส้าฉี ปัจจัยเหล่านี้สร้างแรงกดดันต่อหลินเปียวและคนใกล้ชิด หลินลี่เหิงผู้เป็นบุตรสาวเสนอให้บิดาของเธอเดินตามรอยจอมพลจูเต๋อผู้มีเกียรติและไม่ต่อสู้เพื่อตำแหน่งทางการเมือง (Teiwes & Sun, 1996, p. 160) ขณะที่หลินลี่กั่วเสนอให้บิดาสู้ต่อไป โดยในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1971 เขาเดินทางไปที่สนามบินซีเจียว (西郊) ชานกรุงปักกิ่งเพื่อประชุมหารือกับพรรคพวกในกองทัพอากาศถึงความเป็นไปได้ในการสังหารเหมาเจ๋อตง แต่พรรคพวกของเขาหลายคนไม่เอาด้วย (Jin, 1999, pp. 170-171)

            ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าหลินเปียวรู้เห็นกับการไปประชุมที่สนามบินซีเจียวหรือไม่ เพราะหลักฐานชิ้นเดียวที่เชื่อมโยงเขาเข้ากับการวางแผนสังหารเหมาเจ๋อตงก็คือ กระดาษแผ่นหนึ่งที่มีตัวหนังสือเขียนด้วยลายมือของเขาว่า “จงทำตามคำสั่งของสหายลี่กั่วและอี๋ว์ฉือ” (盼照立果、宇驰同志传达的命令) ซึ่งเป็นหลักฐานที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และมีข้อสงสัยกันมากว่าเป็นลายมือของเขาลงวันที่ 8 กันยายนจริงหรือไม่ (Teiwes & Sun, 1996, pic. 13; Jin, 1999, p. 172) จางหนิง (张宁) คู่หมั้นของหลินลี่กั่วระบุว่าในช่วงสุดท้ายของชีวิต หลินเปียวซึ่งพำนักอยู่ที่เป่ยไต้เหอ (北戴河)[12] เอาแต่นั่งเฉยๆ และไม่สนใจอ่านหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ใดๆ อีกต่อไปจนเหมือนกับทำใจยอมรับชะตากรรม (Hannam & Lawrance, 1994) แต่ต่อให้เขารู้เห็นกับการไปประชุมเพื่อวางแผนสังหารเหมาจริง เราก็ไม่อาจสรุปว่าเขาเป็นบุคคลที่ทะเยอทะยานทางการเมืองตามแบบที่ทางการจีนกล่าวหา เพราะในขณะนั้นเขาอยู่ในสภาพตกต่ำทางการเมืองอย่างมากจนต้องป้องกันตนเอง ดังที่เกาเหวินเชียน (高文谦) อดีตเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานวิจัยเอกสารกลางพรรคซึ่งเขียนประวัติอย่างเป็นทางการของโจวเอินไหลให้ความเห็นว่า หลินเปียวทำไปเพราะป้องกันตนเอง หาใช่เพราะต้องการยึดอำนาจรัฐแต่แรกไม่ (Gao Wenqian, 2007, p. 197)

            ความล้มเหลวของการประชุมที่สนามบินซีเจียว ประกอบกับการที่เหมาเจ๋อตงเดินทางโดยรถไฟกลับมาถึงกรุงปักกิ่งในบ่ายวันที่ 12 กันยายน พร้อมกับเรียกประชุมนายทหารระดับสูงในเมืองหลวง ทำให้หลินลี่กั่วรีบเดินทางไปถึงเป่ยไต้เหอเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. เพื่อรายงานสถานการณ์ทั้งหมดให้เย่ฉวินทราบจนนำไปสู่การตัดสินใจหนีในคืนนั้น โดยยังคงมีข้อถกเถียงกันว่าหลินเปียวสมัครใจขึ้นเครื่องบินหนีไปหรือไม่ เพราะหลินลี่เหิงซึ่งไม่ได้หนีไปด้วยยืนยันว่าคืนนั้นบิดาของเธอกินยานอนหลับและเข้านอนไปแล้ว แต่มารดาและน้องชายของเธอมาลักพาตัวบิดาหนีไป (Jin, 1999, p. 173) ไม่ว่าหลินเปียวจะมีสติหรือไม่ก็ตาม ในที่สุดเครื่องบินรุ่นไตรเดนท์ (Trident) หมายเลข 256 ที่มีหลินเปียว เย่ฉวิน และหลินลี่กั่วโดยสารอยู่ก็ทะยานขึ้นจากสนามบินซานไห่กวาน (山海关) เมื่อเวลา 0.30 น. ของเช้ามืดวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1971 และตกในเขตประเทศมองโกเลียเมื่อเวลาประมาณ 2.30 น. ของวันเดียวกัน โดยไม่มีผู้ใดรอดชีวิต

 

สรุปและส่งท้าย

            ในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์นิพนธ์จีนฉบับทางการพรรคคอมมิวนิสต์ได้อธิบายเหตุการณ์ในยุคเหมาเจ๋อตง (ค.ศ. 1949 – 1976) โดยยึดตามแนวทางของเอกสารที่ชื่อว่า มติเกี่ยวกับปัญหาบางประการในประวัติศาสตร์พรรคตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (关于建国以来党的若干历史问题的决议) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 อย่างไรตาม เอกสารดังกล่าวใช่ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ดังที่ Weigelin-Schwiedrzik (2007, pp. 120-121) แสดงความเห็นไว้ว่า ประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับทางการไม่อาจผูกขาดประวัติศาสตร์จีนหลัง ค.ศ. 1949 เอาไว้ได้เนื่องจากมีแหล่งข้อมูลอื่นที่ไม่ใช่ทางการอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉาะบันทึกความทรงจำและงานเขียนประเภทอื่นๆ ของบุคคลร่วมสมัย ซึ่งหลายคนยังมีชีวิตอยู่ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21

            มติเกี่ยวกับปัญหาบางประการในประวัติศาสตร์พรรคตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน อธิบายว่าหลินเปียวเป็นผู้มีความทะเยอทะยานทางการเมือง เขามีส่วนสำคัญในการปลุกกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยถือโอกาสที่เหมาเจ๋อตงกำลังหลงใหลในลัทธิบูชาบุคคลและการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และเขายังได้ใส่ร้ายป้ายสีคนเป็นจำนวนมากซึ่งรวมถึงผู้นำระดับสูงอย่างหลิวเส้าฉี จนในที่สุดหลินเปียวก็เผยธาตุแท้ออกมาด้วยการพยายามก่อรัฐประหารใน ค.ศ. 1971 (Resolution on Certain Questions, 1981, pp. 41-43) ขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นที่ไม่ใช่ของทางการได้ชี้ให้เห็นภาพอีกด้านหนึ่งของหลินเปียวในฐานะผู้นำที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังและชอบเก็บตัว รวมทั้งการเป็นคนที่ไม่ชอบดิ้นรนต่อสู้หรือทะเยอทะยานทางการเมือง ความรุ่งโรจน์ของเขาในทศวรรษ 1960 เป็นผลมาจากความต้องการของเหมาเจ๋อตงที่จะใช้กองทัพเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างลัทธิบูชาบุคคลของตนเอง ซึ่งหลินเปียวต้องยอมคล้อยตามอย่างไม่มีทางเลือก แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่าหลินเปียวและคนใกล้ชิดเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ดังที่พวกเขาหลายคนได้เป็นกรรมการกรมการเมืองในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อ ค.ศ. 1969 แต่ในที่สุดแล้ว ความเคลื่อนไหวของคนใกล้ชิด ความขัดแย้งกับกลุ่มของเจียงชิง และความยากลำบากในการจัดการความสัมพันธ์กับเหมาเจ๋อตงได้นำพาให้หลินเปียวพบจุดจบทางการเมืองไปพร้อมกับจุดจบของชีวิตในอีกเพียงสองปีถัดมา

            ท้ายที่สุด มรณกรรมของหลินเปียวเมื่อ ค.ศ. 1971 ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งอวสานของการปฏิวัติวัฒนธรรมและลัทธิบูชาบุคคลของเหมาเจ๋อตงอีกด้วย กล่าวคือ จุดจบของหลินเปียวนำมาซึ่งคำถามในสังคมจีนช่วงทศวรรษ 1970 ว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นไปเพื่อเสริมสร้างลัทธิสังคมนิยมและสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชน หรือว่าเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มผู้นำเท่านั้น และการที่ทางการจีนหลัง ค.ศ. 1971 ออกมาประณามหลินเปียวว่าเป็นผู้ทรยศก็นำมาสู่คำถามอีกเช่นกันว่า ถ้าเป็นไปตามที่กล่าวหาจริง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเหมาเจ๋อตงไม่เคยระแวงสงสัยหลินเปียวเลยหรือ เหตุใดเหมาผู้เปี่ยมไปด้วย “อัจฉริยภาพ” จึงได้แต่งตั้งคนทรยศผู้นี้เป็นทายาทการเมือง หรือว่าที่จริงแล้วเหมาก็ไม่ต่างจากผู้นำทั่วไปที่อาจตัดสินใจผิดพลาด หาใช่ “อัจฉริยะ” แบบที่กลไกโฆษณาการของทางการจีนยกย่องกันไม่   กรณีหลินเปียวจึงเป็นการลดความศักดิ์สิทธิ์ของเหมาเจ๋อตงในบั้นปลายชีวิตไปโดยปริยาย

---------------------------------------


[1] ประกอบไปด้วยเจียงชิง (江青ภรรยาของเหมาเจ๋อตง) จางชุนเฉียว (张春桥) หวังหงเหวิน (王洪文) และเหยาเหวินหยวน (姚文元)
[2] อ่านว่า อู่-ชี-อี ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า 武起义 (อู๋-ฉี่-อี้)ที่หมายถึงการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ
[3] อีกสมรภูมิหนึ่งก็คือ สมรภูมิหวยไห่ (淮海战役) ในแถบลุ่มแม่น้ำฉางเจียง ซึ่งเป็นผลงานของเติ้งเสี่ยวผิง
[4] หลิวเส้าฉีล้มป่วยและเสียชีวิตอย่างอเนจอนาถเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1969 โดยขาดการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง
[5] คนใกล้ชิดมักเรียกเธอว่า หลินโต้วโต้ว (林豆豆) เนื่องจากเธอชอบรับประทานเต้าหู้มาตั้งแต่เด็ก เย่ฉวินตั้งท้องโต้วโต้วในช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (ค.ศ. 1937 – 1945) ความลำบากในช่วงสงครามทำให้นางพยายามทำแท้งหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จจนกระทั่งคลอดโต้วโต้วออกมาขณะตั้งครรภ์ได้เพียง7 เดือน เรื่องนี้ทำให้โต้วโต้วเชื่ออยู่ลึกๆ ว่ามารดามิได้รักตนหรือเย่ฉวินอาจไม่ใช่มารดาที่ให้กำเนิดตนเองด้วยซ้ำ(Jin, 1999, p. 153)
[6] ในที่ประชุมกรมการเมืองซึ่งมีโจวเอินไหลเป็นประธานเมื่อวันที่11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 ถานเจิ้นหลิน(谭震林)เฉินอี้ (陈毅)เย่เจี้ยนอิง (叶剑英) หลี่ฟู่ชุน (李富春) หลี่เซียนเนี่ยน (李先念) สวีเซี่ยงเฉียน (徐向前) และเนี่ยหรงเจิน (聂荣臻)ได้วิพากษ์วิจารณ์การปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตง ทำให้เหมาไม่พอใจและตราหน้าว่าคนเหล่านี้ขัดขวางกระแสการปฏิวัติ
[7] ก่อนทศวรรษ 1980 จีนยังไม่มีระบบคัดเลือกพลเรือนเข้าทำงานในสำนักงานของกองทัพ นายทหารจำนวนมากที่นั่งทำงานในสำนักงานจึงเติบโตในหน้าที่การงานค่อนข้างช้า เว้นแต่จะมีโอกาสได้เป็นเลขานุการของนายทหารระดับผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการ (Jin, 1999, p.157)
[8] กล่าวกันว่าหลังจากที่เหมาเจ๋อตงเรียกตัวเติ้งเสี่ยวผิงกลับมาทำงานใน ค.ศ. 1973 เติ้งได้เตือนเหมาว่าหากปล่อยให้ทหารมีอำนาจมากเกินไปจะเกิดสภาวะ“แผ่นดินจะจลาจล“ (天下大) เมื่อสิ้นยุคเหมาไปแล้ว คำเตือนของเติ้งมีอิทธิพลต่อเหมาในการตัดสินใจโยกย้ายนายทหารในปีนั้น
[9] หมายถึงเหตุการณ์ที่นายพลลอนนอล (Lon Nol) ยึดอำนาจจากรัฐบาลสมเด็จพระนโรดม สีหนุ แล้วสถาปนาสาธารณรัฐเขมร (Khmer Republic) โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
[10] ตำแหน่งประธานแห่งรัฐเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1954 โดยเหมาเจ๋อตงดำรงตำแหน่งดังกล่าวจนถึง ค.ศ. 1959จากนั้นหลิวเส้าฉีก็ดำรงตำแหน่งแทนจนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม ตำแหน่งนี้จึงว่างลงในทางพฤตินัย และรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1975 และ ค.ศ. 1978 ก็ยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว จนมารื้อฟื้นอีกครั้งในรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. 1982 ที่ยังคงใช้อยู่จนปัจจุบัน
[11] ดูการวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ใน Teiwes (2010, pp. 129-157)
[12] เป่ยไต้เหอเป็นเมืองชายทะเลในมณฑลเหอเป่ย ซึ่งในฤดูร้อนผู้นำระดับสูงของจีนจะไปพักผ่อนและประชุมเตรียมการสำคัญ
 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

เขียน ธีระวิทย์. (2527). จีนผลัดแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

จุลชีพ ชินวรรโณ. (2542). การเมืองสาธารณรัฐประชาชนจีน: อดีต ปัจจุบัน และอนาคต. ใน ประทุมพร วัชรเสถียร และไชยวัฒน์ ค้ำชู (บรรณาธิการ), จีนในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง (น. 1-54). กรุงเทพฯ: ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

โจวเอินไหล. (24 สิงหาคม 1973). คำรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน. ใน เอกสารสมัชชาผู้แทนทั่วประเทศครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน. เอกสารการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ สมัยที่ 1 ชุดที่ 4 แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน. (ม.ป.ป., น. 3-56). กรุงเทพฯ: กลุ่มเยาวชนรักชาติ.

บุญศักดิ์ แสงระวี. (2528). หมายเหตุผู้แปล. ใน หยาวหมิงเล่อ. หลินเปียว เบื้องลึกแผนลับโค่นประธานเหมาฯ (น. 205-207). กรุงเทพฯ: หลักไท.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2547). เศรษฐกิจการเมืองจีน. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หยาวหมิงเล่อ. (2528). หลินเปียว เบื้องลึกแผนลับโค่นประธานเหมาฯ (บุญศักดิ์ แสงระวี, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: หลักไท. 

หลิวหุยเหนียน จ้าวฉี ฉี่ซินหวา โจวฉือปู้ และหยางจินโจว. (24 พฤศจิกายน 1980). บันทึกความพินาศแห่งการรัฐประหารปฏิปักษ์ปฏิวัติของหลินเปียว. เหรินหมินรึเป้า. ใน หยาวหมิงเล่อ. (2528). หลินเปียว เบื้องลึกแผนลับโค่นประธานเหมาฯ (บุญศักดิ์ แสงระวี, ผู้แปล, น. 209-236). กรุงเทพฯ: หลักไท. 

 

ภาษาจีน

Bianxiezu. (2010). Zhongguo Jinxiandai Lishi Gangyao (เค้าโครงประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่). Beijing: Gaodeng jiaoyu chubanshe.

Guan Weixun. (1993). Wo suo zhidao de Ye Qun (เย่ฉวินที่ข้าพเจ้ารู้จัก). Beijing: Zhongguo wenxue chubanshe. อ้างใน Jin Qiu. (1999). The Culture of Power: The Lin Biao Incident in the Cultural Revolution. Stanford, CA: Stanford University Press.

Zhang Yunsheng. (1988). Maojiawan jishi: Lin Biao mishu huiyilu (บันทึกเหตุการณ์ในเหมาเจียวันผ่านความทรงจำของเลขานุการของหลินเปียว). Beijing: Chunqiu chubanshe. อ้างใน Jin Qiu. (1999). The Culture of Power: The Lin Biao Incident in the Cultural Revolution. Stanford, CA: Stanford University Press.

 

ภาษาอังกฤษ

A Chronology of the People’s Republic of China. (1989). Beijing: New Star Publishers.

A Great Trial in Chinese History: The Trial of the Lin Biao and Jiang Qing Counter-Revolutionary Cliques, Nov. 1980 – Jan. 1981. (1981). Beijing: New World Press.

Chan Shih-pu. (1976). Great Victory for the Military Line of Chairman Mao Tsetung – A Criticism of Lin Piao’s Military Line in the Liaohsi-Shenyang and Peiping-Tientsin Campaigns. Peking: Foreign Languages Press.

Fei Hsiao Tung. (1981). Reflections of a Judge – By Way of a Preface. In A Great Trial in Chinese History: The Trial of the Lin Biao and Jiang Qing Counter-Revolutionary Cliques, Nov. 1980 – Jan. 1981 (pp. 1-11). Beijing: New World Press.

Gao Wenqian. (2007). Zhou Enlai: The Last Perfect Revolutionary (Peter Rand & Lawrence R. Sullivan, Trans.). New York, NY: Public Affairs.

Hamrin, Carol Lee. (1994). Elite Politics and the Development of China’s Foreign Relations. In Thomas W. Robinson & David Shambaugh (Eds.), Chinese Foreign Policy: Theory and Practice. Oxford: Clarendon Press.

Hannam, Peter & Susan V. Lawrence. (1994, January 31). Solving a Chinese Puzzle: Lin Biao’s final days and death, after two decades of intrigue. U.S. News & World Report. Retrieved October 25, 2012, from http://www.usnews.com.

Hu Sheng. (1994). A Concise History of the Communist Party of China. Beijing: Foreign Languages Press.

Jin Qiu. (1999). The Culture of Power: The Lin Biao Incident in the Cultural Revolution. Stanford, CA: Stanford University Press.

MacFarquhar, Roderick. (1991). The Succession to Mao and the End of Maoism. In Roderick MacFarquhar & John K. Fairbank (Eds.), The Cambridge History of China. Volume 15, The People’s Republic. Part 2, Revolutions within the Chinese Revolution, 1966-1982 (pp. 305-401). New York, NY: Cambridge University Press.

Mao Zedong. (1998). Mao Zedong on Diplomacy. Beijing: Foreign Languages Press.

Pye, Lucian W. (2000, Jul). The Thin Line between Loyalty and Treachery in Mao’s China [Review of the book The Culture of Power: The Lin Biao Incident in the Cultural Revolution and The Tragedy of Lin Biao: Riding the Tiger during the Cultural Revolution, 1966-1971]. The China Journal, 44, pp. 145-152.

Resolution on Certain Questions in the History of Our Party since the Founding of the People’s Republic of China. (1981). In Orville Schell & David Shambaugh (Eds.,1999). The China Reader: The Reform Era (pp. 37-49). New York, NY: Vintage Books.   

Ross, Robert S. (2009). Chinese Security Policy: Structure, Power and Politics. London: Routledge.     

Sun, Warren. (1998). Lin Biao. In Colin Mackerras & Donald H. Mcmillen (Eds.). Dictionary of the Politics of the People’s Republic of China (pp. 140-141). London: Routledge.

Teiwes, Frederick C. (2010). Mao and His Followers. In Timothy Cheek (Ed.), A Critical Introduction to Mao (pp. 129-168). New York, NY: Cambridge University Press.    

Teiwes, Frederick C. & Warren Sun. (1996). The Tragedy of Lin Biao: Riding the Tiger during the Cultural Revolution, 1966-1971. Honolulu, HI: University of Hawaii Press.

Weigelin-Schwiedrzik, Susan. (2007). In Search of a Master Narrative for 20th-Century Chinese History. In Julia Strauss (Ed.), The History of the PRC (1949-1976) (pp. 216-237). Cambridge: Cambridge University Press.   

Zong Huiwen. Years of Trial, Turmoil and Triumph – China from 1949 to 1988. Beijing: Foreign Languages Press.