วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 9 การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย)


หลังการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1968 ทางการจีนได้เริ่มยุติการกล่าวโจมตียูโกสลาเวีย ทั้งนี้ดูได้จากสาส์นอำนวยพรที่เหมาเจ๋อตงส่งไปยังกรุงติรานาเนื่องในโอกาสวันปลดปล่อยแอลเบเนียเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนของปีนั้นที่ไม่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์ยูโกสลาเวียซึ่งเป็นศัตรูของแอลเบเนียเลย ซึ่งต่างไปจากสาส์นเนื่องในโอกาสเดียวกันเมื่อ ค.ศ. 1966 และ 1967[1] และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1969 ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการปะทะกันบริเวณชายแดนจีน - โซเวียต อตานาส อิโคโนมอฟสกี้ (Atanas Ikonomovski) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของยูโกสลาเวียก็เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อทำข้อตกลงการค้าและการชำระเงิน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1958 ที่มีการติดต่อกันในระดับรัฐมนตรี หลังจากนั้นมูลค่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศก็เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในทศวรรษถัดมา (ดูตารางที่ 2) และในที่สุด เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1969 จีนกับยูโกสลาเวียก็ตกลงส่งเอกอัครรัฐทูตกลับไปประจำยังประเทศของกันและกันอีกครั้ง หลังจากที่ลดระดับเหลือเพียงอุปทูตมานาน 11 ปี

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแสวงหาแนวร่วมเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต ทางการจีนได้แก้ไขเนื้อหาในแบบเรียนวิชาประวัติศาสตร์โลกชั้นมัธยมศึกษา กล่าวคือ ในทศวรรษ 1960 แบบเรียนดังกล่าวระบุว่า ยูโกสลาเวียเป็นตัวอย่างของประเทศที่เชื่อว่าการเปลี่ยนจากลัทธิทุนนิยมไปเป็นลัทธิสังคมนิยมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้อย่างสันติ หรือที่เรียกว่า “การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ (peaceful transition)” ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของเหมาเจ๋อตง แต่เมื่อถึงครึ่งแรกของทศวรรษ 1970 ได้มีการลบข้อความเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านอย่างสันติของยูโกสลาเวียออกไปจากแบบเรียน[2] อีกทั้งจีนยังนำเอาหลักปัญจศีลที่ประกาศใช้กับประเทศนอกค่ายสังคมนิยมตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 มาปรับใช้กับประเทศที่ตนเคยประณามว่าเป็นลัทธิแก้อย่างยูโกสลาเวียอีกด้วย โดยในงานเลี้ยงรับรองที่เอกอัครรัฐทูตยูโกสลาเวียประจำกรุงปักกิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1970 เฉียวกว้านหวา (Qiao Guanhua) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้กล่าวว่า

 

รัฐบาลจีนยึดมั่นเสมอมาว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศควรดำเนินไปภายใต้หลัก 5 ประการว่าด้วยการเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพทางดินแดนของกันและกัน การไม่รุกรานกันและกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ความเสมอภาคและผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ หลักการนี้ควรใช้กับทุกประเทศไม่ว่าจะมีระบบสังคมที่เหมือนหรือแตกต่างกัน เรามีความยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาดำเนินไปบนหลักการดังกล่าว (เน้นโดยผู้วิจัย)[3]

 

นอกจากนี้ จีนยังได้ยกย่องและสนับสนุนยูโกสลาเวียที่ยืนหยัดในการรักษาเอกราชและต้านทานแรงกดดันจากอภิมหาอำนาจอยู่ตลอดมา ดังเช่นเมื่อมีร์โก เทปาวัช (Mirko Tepavac) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูโกสลาเวียเดินทางเยือนจีนในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 หลี่เซียนเนี่ยน (Li Xiannian) รองนายกรัฐมนตรีของจีนก็กล่าวในงานเลี้ยงรับรองว่า

 

ประชาชนชาวยูโกสลาเวียมีขนบของการปฏิวัติที่รุ่งโรจน์ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พวกเขาได้ต้านทานแรงกดดันจากต่างชาติและต่อสู้อย่างองอาจกับการแทรกแซง การบ่อนทำลาย และการข่มขู่คุกคามของอภิมหาอำนาจ ประชาชนจีนชื่นชมในจิตวิญญาณของชาวยูโกสลาเวียที่กล้าท้าทายและต่อสู้กับพลังอันหนักหน่วง เพื่อนๆ ชาวยูโกสลาเวียจงมั่นใจเถิดว่า ในการต่อสู้เพื่อต่อต้านการคุกคามจากต่างชาติและรักษาเอกราชของชาติของพวกท่านนั้น ประชาชนจีนให้การสนับสนุนพวกท่านอย่างแน่วแน่เสมอ[4]

 
                             เหมากับบิเจดิชเมื่อ ค.ศ. 1975
 
 

การพบปะครั้งสำคัญระหว่างผู้นำของจีนกับยูโกสลาเวียเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1975 เมื่อเซมาล บิเจดิช (Dzemal Bijedic) นายกรัฐมนตรีของยูโกสลาเวียเดินทางเยือนจีนและพบปะกับเหมาเจ๋อตง ข้อเขียนของกงเลี่ยฟูซึ่งขณะนั้นเป็นนักการทูตจีนประจำกรุงเบลเกรดเล่าถึงการที่เหมากล่าวชื่นชมติโตต่อหน้าบิเจดิชว่า “ติโต ภาษาจีนอ่านว่า เถี่ยทัว คำนี้หมายถึงเหล็กที่ไม่กลัวแรงบีบคั้นจากสหภาพโซเวียต”[5] และยังเล่าต่อไปว่า บิเจดิชได้เชิญเติ้งเสี่ยวผิงในฐานะรองนายกรัฐมนตรีให้ไปเยือนยูโกสลาเวีย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้แนะนำให้ไปเยือนในครึ่งแรกของ ค.ศ. 1976[6] แต่แล้วก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ เพราะหลังจากโจวเอินไหลถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1976 สถานการณ์ทางการเมืองภายในของจีนก็สับสนวุ่นวายอยู่เกือบตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นการปลดเติ้งออกจากตำแหน่งหลังการชุมนุม ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อเดือนเมษายน การถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเมื่อเดือนกันยายน และการจับกุมแก๊งสี่คน (The Gang of Four) ที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อเดือนตุลาคม  

จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ ค.ศ. 1968 เป็นต้นมา เหมาเจ๋อตงได้ให้ความเห็นชอบต่อการสมานไมตรีกับยูโกสลาเวียเอาไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อการเมืองภายในของจีนกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งหลังเดือนตุลาคม ค.ศ. 1976 โดยมีฮว่ากั๋วเฟิงเป็นประธานพรรคและนายกรัฐมนตรี จีนก็ได้เดินหน้าสมานไมตรีต่อไป โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1977 เมื่อนายกรัฐมนตรีบิจดิชของยูโกสลาเวียถึงแก่อสัญกรรมจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกระหว่างเดินทางจากกรุงเบลเกรดไปยังเมืองซาราเจโว (Sarajevo) ฮว่าในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ส่งสาส์นไปยังติโตเพื่อแสดงความเสียใจโดยระบุว่า บิเจดิชเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ทำให้จีนกับยูโกสลาเวียมีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกันมากขึ้น และรัฐบาลจีนยังส่งพวงหรีดไปให้ทั้งที่สถานทูตยูโกสลาเวียประจำกรุงปักกิ่งและที่กรุงเบลเกรด[7] ตามด้วยการเดินทางเยือนยูโกสลาเวียของคณะผู้แทนจากสภาประชาชนแห่งชาติจีนที่นำโดยไซฟูดิน (Saifudin) และเลี่ยวเฉิงจื้อ (Liao Chengzhi) ในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น และที่สำคัญที่สุดก็คือ การเดินทางเยือนจีนของติโตในวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1977 โดยมีผู้นำระดับสูงของจีนอย่างฮว่ากั๋วเฟิง เติ้งเสี่ยวผิง และหลี่เซียนเนี่ยนไปรับเขาถึงสนามบิน ทางการจีนได้จัดประชาชนมายืนต้อนรับทั้งที่สนามบินและที่จัตุรัสเทียนอันเหมินรวมกันถึง 100,000 คน บทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน ฉบับวันนั้นระบุว่า การเดินทางเยือนจีนของติโตจะยิ่งทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านลัทธิครองความเป็นใหญ่ (hegemonism) ที่แข็งแกร่งขึ้นและมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในระดับสากล[8]   


---------
ตารางที่ 2
มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียช่วง ค.ศ. 1970 – 1980 ตามตัวเลขของทางการจีน
 
ค.ศ.
การส่งออกไปยังยูโกสลาเวีย
(พ้นล้านเหรียญสหรัฐ)
การนำเข้าจากยูโกสลาเวีย
(พ้นล้านเหรียญสหรัฐ)
1970
1,050
820
1972
4,020
11,600
1974
14,880
70,260
1976
10,800
19,360
1978
58,410
29,190
1980
46,350
150,120
ที่มาของข้อมูล: Trade Statistics of China 1970-1985 – Utilization and Appraisal (Tokyo: Institute of Developing Economies, 1987), 3, 10.  
 
--------------------------------------------

[1] Peking Review, 2 December 1966, 9-11, 27; Peking Review, 1 December 1967, 6-7; Peking Review, 29 November 1968, 14-15.
[2] Dorothea A. L. Martin, The Making of a Sino-Marxist World View: Perceptions and Interpretations of World History in the People’s Republic of China (Armonk, NY: M. E. Sharpe, 1990), 84.
[3] Peking Review, 4 December 1970, 23.
[4] Peking Review, 18 June 1971, 4.  
[5] กงเลี่ยฟู, “อีจิ่วชีชีเหนียนหนานซือลาฟูจ๋งถ่งเถี่ยทัวฝ่างหัวเฉียนไถมู่โห้ว,” (เบื้องหน้าเบื้องหลังการเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีติโตแห่งยูโกสลาเวียเมื่อ ค.ศ. 1977) จากเว็บไซต์ข่าวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน http://dangshi.people.com.cn/n/2013/0426/c85037-21291224-5.html, เข้าไปเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2558.
[6] เพิ่งอ้าง.
[7] Peking Review, 28 January 1977, 5, 15.
[8] Peking Review, 2 September 1977, 3-6.

ไม่มีความคิดเห็น: