วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 12 ยูโกสลาเวียกับการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน)


แม้ว่าการสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียจะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1968 แต่สิ่งหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงเมื่อ ค.ศ. 1976 ก็คือ ความสนใจของจีนต่อรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของยูโกสลาเวีย แม้ว่าในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จะยังคงมีการช่วงชิงอำนาจระหว่างฮว่ากั๋วเฟิงกับเติ้งเสี่ยวผิง แต่ทั้งคู่ก็เห็นพ้องต้องกันบนหลักการที่ว่าระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเองของเหมาจะต้องได้รับการปฏิรูป[1] รายงานของฮว่าในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1978 ได้นำเอาแผน 10 ปี (ค.ศ. 1976-1985) ที่อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลวางเอาไว้เมื่อ ค.ศ. 1975 มาประกาศใช้โดยมีเนื้อหาส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศ และนำหลักการเรื่องการได้รับผลตอบแทนตามความสามารถในการปฏิบัติงาน (from each according to his ability, to each according to his work) มาใช้[2] ซึ่งต่างจากยุคเหมาที่ยึดหลักการให้ผลตอบแทนตามความจำเป็น (from each according to his ability, to each according to his need) ขณะที่เติ้งเสี่ยวผิงใน ค.ศ. 1978 ได้เน้นย้ำเรื่องการแสวงหาสัจจะจากข้อเท็จจริง (seeking truth from facts) โดยระบุว่า นอกจากการค้ากับโลกภายนอกแล้ว จีนยังควรเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศและศึกษาประสบการณ์ในการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของต่างประเทศ[3] ซึ่งในที่สุดนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนธันวาคมของปีนั้น

            ประชาชนในกรุงเบลเกรดต้อนรับการมาเยือนของฮว่ากั๋วเฟิงเมื่อ ค.ศ. 1978



ภูมิภาคหนึ่งที่จีนให้ความสนใจศึกษาประสบการณ์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจก็คือยุโรปตะวันออก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของประเทศสังคมนิยมเช่นเดียวกับจีนและมีประสบการณ์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจให้พ้นไปจากระบบวางแผนจากส่วนกลางแบบสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของยูโกสลาเวียซึ่งมีระบบที่เรียกว่า “การจัดการตนเองแบบสังคมนิยม (socialist self-management)” โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ระบบดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ของวิสาหกิจต่างๆ จากของรัฐมาเป็นของผู้ที่ทำงานในวิสาหกิจนั้นๆ โดยจัดตั้งคณะมนตรีคนงาน (workers’ council) ขึ้นในแต่ละโรงงาน และถือว่าวิสาหกิจแต่ละแห่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ทำงานในวิสาหกิจนั้นที่จะตัดสินใจในนโยบายต่างๆ อันจำเป็นต่อวิสาหกิจของตน ซึ่งต่อมามีการขยายระบบนี้ไปใช้กับการผลิตเกือบทุกประเภท[4] โดยใน ค.ศ. 1978 มีการส่งคณะจากจีนไปดูงานในยูโกสลาเวียหลายครั้ง ทั้งด้านการเกษตรและการพลังงาน[5] ซึ่งในการเดินทางเยือนยูโกสลาเวียของฮว่ากั๋วเฟิงเมื่อเดือนสิงหาคมของปีนั้น เขาได้เยี่ยมชมศูนย์เกษตรอุตสาหกรรมในกรุงเบลเกรดที่ชื่อว่า Poljoprevredni Kombinat Beograd (Belgrade Agricultural Combine) ซึ่งเขามีท่าทีสนใจมากและสั่งให้ทดลองตั้งศูนย์แบบดังกล่าวขึ้นในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์และมณฑลเฮยหลงเจียง ขณะที่จ้าวจื่อหยาง (Zhao Ziyang) เลขาธิการพรรคประจำมณฑลซื่อชวน (Sichuan) ที่เดินทางไปด้วยก็ได้ทดลองตั้งศูนย์แบบเดียวกันในมณฑลของตน[6] รวมทั้งมีเรื่องเล่าติดตลกว่ามีคณะดูงานจากจีนไปเยือนศูนย์ดังกล่าวในยูโกสลาเวียมากเสียจนวัวที่นั่นจำหน้าคนจีนและพูดคำว่า “สวัสดี” เป็นภาษาจีนได้[7]

จีนในปลายทศวรรษ 1970 พยายามฉายภาพความสำเร็จในการบริหารจัดการเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียเพื่อจูงใจให้สาธารณชนในประเทศยอมรับแนวทางการปฏิรูปและเปิดประเทศภายใต้กรอบของลัทธิสังคมนิยม หูเฉียวมู่ (Hu Qiaomu) ประธานบัณฑิตยสภาสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (The Chinese Academy of Social Sciences) และเลขานุการประจำสำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ยกย่องติโตวในฐานะบุคคลแรกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าลัทธิสังคมนิยมไม่จำเป็นต้องมีตัวแบบเดียว[8] ส่วนซุนเหย่ฟาง (Sun Yefang) นักเศรษฐศาสตร์จีนที่เคยไปดูงานในยูโกสลาเวียเป็นเวลา 5 สัปดาห์ในปลาย ค.ศ. 1978 ก็ระบุว่า การบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียยังคงอยู่ภายใต้กรอบของลัทธิสังคมนิยม และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศสามารถสร้างลัทธิสังคมนิยมตามสภาวการณ์เฉพาะของตนเองได้[9] ขณะที่บันทึกความทรงจำของถังเจียเสวียน (Tang Jiaxuan) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนถึงกับบอกว่า ยูโกสลาเวียคือตัวแบบ (role model) ในการช่วงปีแรกๆ ของการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน[10]

การเรียนรู้จากประสบการณ์ของยูโกสลาเวียเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นที่กล่าวถึงแล้วในประเทศจีนปัจจุบัน หนังสือของหลี่หลานชิง (Li Lanqing) อดีตรองนายกรัฐมนตรีซึ่งเผยแพร่ในทศวรรษ 2000 อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับกำเนิดของนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนนั้นระบุเพียงว่า การดูงานในต่างประเทศครั้งสำคัญที่นำไปสู่การประกาศใช้นโยบายดังกล่าวของเติ้งเสี่ยวผิงก็คือ การเดินทางเยือนญี่ปุ่นและสิงคโปร์ของเติ้งเมื่อเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1978 และการเดินทางเยือนฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก สวีเดน เดนมาร์ก และเบลเยียมของกู่มู่ (Gu Mu) รองนายกรัฐมนตรีในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน[11] โดยไม่ได้กล่าวถึงการเดินทางเยือนยูโกสลาเวียของฮว่ากั๋วเฟิงในปีนั้นเลย สาเหตุที่อาจเป็นไปได้นั้นมี 2 ประการ ประการแรก หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหาไปตามแนวทางของทางการจีนที่มุ่งฉายภาพให้เติ้งเป็นผู้ให้กำเนิดนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ขณะที่ฉายภาพให้ฮว่าเป็นผู้นำที่ล้าหลังและยึดมั่นในแนวทางของเหมาเจ๋อตง ประการถัดมา การแตกสลายของรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียในต้นทศวรรษ 1990 สะท้อนว่าแท้จริงแล้วระบบเศรษฐกิจของยูโกสลาเวียมีปัญหาเรื้อรังมานาน การที่จีนเคยมองยูโกสลาเวียในทางเศรษฐกิจอย่างชื่นชมจึงเป็นการนำเสนอข้อมูลด้านเดียวเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้ง และถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรนำมากล่าวถึงอีกต่อไป

อย่าไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่จีนได้เรียนรู้จากยูโกสลาเวียและยังคงมีผลต่อระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ประสบการณ์การเข้าเป็นสมาชิกขององค์การทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในระบบทุนนิยม เพราะในทศวรรษ 1970 ยูโกสลาเวียเป็น 1 ใน 2 ประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่เป็นสมาชิกธนาคารโลก (The World Bank อีกประเทศหนึ่งคือโรมาเนีย) และเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคดังกล่าวที่เป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (The International Monetary Fund - IMF) และในปลายทศวรรษนั้นเองที่จีนเปลี่ยนทัศนะจากเดิมที่มองว่าองค์การเหล่านี้คือเครื่องมือของลัทธิจักรวรรดินิยม มาเป็นการให้ความสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากองค์การดังกล่าวเพื่อสนองต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของตนโดยศึกษาจากประสบการณ์ของยูโกสลาเวีย ดังที่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1979 จีนส่งคณะดูงานไปยังยูโกสลาเวียเพื่อศึกษาว่าประเทศที่ไม่ได้มีระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (nonmarket economies) สามารถทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเหล่านี้ได้อย่างไร และใช้เงินกู้จากธนาคารโลกมาทำโครงการด้านใดบ้าง โดยฝ่ายยูโกสลาเวียก็แสดงท่าทีสนับสนุนจีนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่[12] จนในที่สุดจีนได้กลายเป็นสมาชิกของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศตั้งแต่ ค.ศ. 1980 เป็นต้นมาตราบจนปัจจุบัน        

------------------------------------------------

[1] Frederick C. Teiwes and Warren Sun, “China’s New Economic Policy under Hua Guofeng: Party Consensus and Party Myths,” The China Journal, no. 66 (July 2011): 1-23.
[2] Peking Review, 10 March 1978, 18-26.
[3] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume II (1975-1982) (Beijing: Foreign Languages Press, 1984), 142, 161.
[4] ประทุมพร, เรื่องเดียวกัน, 140.
[5] Peking Review, 3 March 1978, 25-27; Peking Review, 24 March 1978, 41-42.
[6] Nina P. Halpern, “Learning from Abroad: Chinese Views of the East European Economic Experience, January 1977-June 1981,” Modern China 11, no. 1 (January 1985): 77-109.  
[7] Tang Jiaxuan, Heavy Storm & Gentle Breeze: A Memoir of China’s Diplomacy (New York, NY: HarperCollins, 2011), 205.
[8] Peking Review, 19 May 1980, 4.
[9] Ibid., 5.
[10] Tang Jiaxuan, ibid., 205.
[11] Li Lanqing, Breaking Through: The Birth of China’s Opening-Up Policy (Hong Kong: Oxford University Press and Foreign Language Teaching and Research Press, 2009), 52-67.
[12] Jacobson and Oksenberg, ibid., 66, 71.

ไม่มีความคิดเห็น: