เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายของจีนในทศวรรษ 1970
ที่จะสร้างแนวร่วมกับประเทศต่างๆ
ทั่วโลกเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตแล้ว ยูโกสลาเวียเป็นประเทศที่มีคุณสมบัติที่น่าสนใจสำหรับจีนอย่างน้อย
2 ประการ ประการแรก ยูโกสลาเวียภายใต้การปกครองของติโตมีจุดยืนที่ต่อต้านการครอบงำของสหภาพโซเวียตมาโดยตลอด
แม้ว่าในต้นทศวรรษ 1960 จะมีการสมานไมตรีกับสหภาพโซเวียตอีกครั้ง
และใน ค.ศ. 1964 ติโตก็นำยูโกสลาเวียเข้าเป็นสมาชิกสมทบของคณะมนตรีความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน
(The Council for Economic Mutual Assistance) หรือองค์การโคเมคอน
(COMECON)
ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของโคเมคอนถึง
21 ด้าน
รวมทั้งมีสิทธิเข้านั่งประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารของโคเมคอน[1]
แต่ติโตก็ไม่ได้นำประเทศของตนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอแต่อย่างใด
มีเพียงแต่การให้ความร่วมมือทางการทหารกับสหภาพโซเวียตเป็นกรณีๆ ไปเท่านั้น เช่น
การอนุญาตให้เครื่องบินของสหภาพโซเวียตแวะจอดในยูโกสลาเวียระหว่างลำเลียงสิ่งของและยุทโธปกรณ์ไปช่วยเหลืออียิปต์ในการทำสงครามกับอิสราเอลเมื่อ
ค.ศ. 1967 เป็นต้น[2]
นอกจากนี้ ติโตยังคงยืนยันจุดยืนเดิมที่ว่า
ประเทศสังคมนิยมมีสิทธิในการเลือกทางเดินของตนเองโดยไม่อยู่ใต้การชี้นำของสหภาพโซเวียต
ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก” ใน ค.ศ. 1968 ติโตเดินทางไปกรุงมอสโกในเดือนเมษายนของปีนั้นเพื่อขอให้เบรชเนฟไม่ใช้กำลังกับเชโกสโลวะเกียโดยให้เหตุผลว่า
ความเคลื่อนไหวของดุบเชกไม่ใช่การต่อต้านการปฏิวัติ (counter-revolution) เหมือนกรณีฮังการีเมื่อ ค.ศ. 1956 ต่อมาในวันที่ 9
สิงหาคม ค.ศ. 1968 เขาเดินทางไปเยือนกรุงปรากเพื่อแสดงท่าทีสนับสนุน “รูปแบบประชาธิปไตยใหม่ของลัทธิสังคมนิยม (new democratic
form of Socialism)[3]
และเมื่อสหภาพโซเวียตใช้กำลังบุกเชโกสโลวะเกียในวันที่ 20 ของเดือนนั้น ติโตก็ออกแถลงการณ์ในวันถัดมาโดยระบุว่า
การที่กองกำลังของต่างชาติบุกเข้าไปยังเชโกสโลวะเกียโดยไม่ได้รับคำเชิญหรือการอนุมัติจากรัฐบาลที่ชอบธรรมของประเทศนั้นก่อให้เกิดความกังวลอย่างใหญ่หลวง
นี่คือการละเมิดและเหยียบย่ำอธิปไตยของประเทศสังคมนิยม
อีกทั้งยังส่งผลสะเทือนอย่างหนักต่อพลังสังคมนิยมและพลังที่ก้าวหน้าของทั่วโลก[4]
ขณะเดียวกัน
ติโตยังขอให้ประชาชนชาวยูโกสลาเวียร่วมกันปกป้องเอกราชของประเทศ โดยให้ชายและหญิงที่มีอายุ
18 - 65 ปีมาลงชื่อตามความสมัครใจเพื่อเป็นกำลังพลสำรอง
ซึ่งได้รับการตอบรับมากพอสมควร และมีการเดินขบวนต่อต้านสหภาพโซเวียตในหลายเมืองทั่วประเทศ[5]
ท่าทีของติโตน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้จีนหันมาเห็นความสำคัญของยูโกสลาเวียในฐานะพลังต่อต้านสหภาพโซเวียต
ดูได้จากในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1968 เมื่อเบคีร์ บาลลูกู (Beqir Balluku) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของแอลเบเนียเดินทางเยือนจีน
บาลลูกูได้ขอความช่วยเหลือด้านอาวุธจากจีนเพื่อใช้ป้องกันภัยคุกคามจากทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา
แต่โจวเอินไหลกลับกล่าวว่า
แอลเบเนียเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กเกินกว่าจะป้องกันตนเองได้และควรลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับยูโกสลาเวียและโรมาเนีย[6]
เบรชเนฟ (ซ้าย) กับติโต (ขวา) ในการประชุมที่กรุงเฮลซิงกิเมื่อ ค.ศ. 1975
ประการถัดมา ติโตได้รับความเคารพนับถือจากบรรดาผู้นำของประเทศโลกที่
3 และมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าผู้นำของประเทศสังคมนิยมคนอื่นๆ
ดูได้จากในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 1960 ครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพูดของฮาโรลด์ แมกมิลแลน
(Harold Macmillan) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษด้วยการนำรองเท้าของตนเองขึ้นมาฟาดบนโต๊ะ
ส่วนฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ผู้นำของคิวบาก็ปรากฏตัวในชุดกองโจร
ไว้หนวดเครายาว และโจมตีสหรัฐอเมริกาด้วยถ้อยคำที่รุนแรง
ต่างจากติโตที่ปรากฏตัวในชุดสูทสีดำ สวมแว่นตา
และกล่าวคำปราศรัยด้วยถ้อยคำที่สุภาพ สุนทรพจน์ของเขามีเนื้อหาสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของอาณานิคม
การลดอาวุธระหว่างประเทศมหาอำนาจ
และการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่ยากจน[7]
เวทีระดับพหุภาคีที่ทำให้ติโตรับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประเทศโลกที่
3 ก็คือ การประชุมกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดซึ่งใน ค.ศ. 1961
ติโตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรก ณ กรุงเบลเกรด โดยมีประเทศที่เข้าร่วม
28 ประเทศ ต่อมาในการประชุมครั้งที่ 2 ณ กรุงไคโร
ประเทศอียิปต์เมื่อ ค.ศ. 1964 มีประเทศที่เข้าร่วมเพิ่มเป็น 57 ประเทศ
ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 63 ประเทศและ 104
ประเทศในการประชุมครั้งที่ 3 ณ กรุงลูซากา ประเทศแซมเบียเมื่อ ค.ศ. 1970 และในการประชุมครั้งที่ 4 ณ กรุงแอลเจียร์ ประเทศแอลจีเรียเมื่อ ค.ศ. 1973 ตามลำดับ[8] และเมื่อประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอียิปต์ถึงแก่อสัญกรรมใน
ค.ศ. 1970 ติโตก็กลายเป็นรัฐบุรุษผู้ก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเพียงคนเดียวที่ยังมีชิวิตอยู่
นอกจากนี้ ติโตยังดำเนินการทูตในระดับทวิภาคีอีกเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1952
ไปจนถึง ค.ศ. 1979 เขาเดินทางเยือนประเทศต่างๆ รวม 57 ประเทศ[9] สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์เกียรติภูมิของติโตในระดับระหว่างประเทศก็คือ
เมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1980 ผู้นำประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมรัฐพิธีศพของเขาอย่างล้นหลาม
ดังที่ผู้เขียนชีวประวัติของติโตคนหนึ่งบรรยายไว้ว่า
ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยว่ามีผู้นำทั่วโลกมาร่วมรัฐพิธีศพมากมายเช่นนี้
มากเสียยิ่งกว่าพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ณ
กรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ. 1901 หรือแม้กระทั่งรัฐพิธีศพของเคนเนดี้และวินสตัน
เชอร์ชิลก็ไม่มากเท่านี้ ผู้เข้าร่วมประกอบไปด้วยกษัตริย์ 4 พระองค์
ประธานาธิบดี 31 คน เจ้าชาย 6 พระองค์
นายกรัฐมนตรี 22 คน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 47 คน โดยมาจาก 128 ประเทศทั่วโลก ทั้งจากค่ายโลกเสรี
ค่ายสังคมนิยม และกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด[10]
การที่ทฤษฎีสามโลกของเหมาเจ๋อตงระบุว่าจีนเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่
3 ประกอบกับความเป็นจริงที่ว่าติโตเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาผู้นำของกลุ่มประเทศดังกล่าว
ทำให้จีนคาดหวังว่าการสมานไมตรีกับติโตจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์โดยรวมระหว่างจีนกับประเทศในโลกที่
3 อันจะทำให้จีนมีแนวร่วมในการต่อต้านสหภาพโซเวียตที่เข้มแข็งมากขึ้น
ดังที่หวงหัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวต่อผู้ปฏิบัติงานด้านวิเทศสัมพันธ์เป็นการภายในเมื่อวันที่
30 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 ความตอนหนึ่งว่า
ประธานาธิบดีติโตได้รับการยกย่องใน 3 ด้านดังต่อไปนี้ หนึ่ง เขาต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสต์จนสามารถปลดปล่อยประชาชนและนำประเทศสู่เอกราชได้สำเร็จ
สอง เขาต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติและเดินบนเส้นทางแห่งเอกราชและอธิปไตย สาม
เขาส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของโลกที่ 3 และประเทศกำลังพัฒนา …
คราวนี้พวกคุณลองบอกผมซิว่า เราควรหรือไม่ควรที่จะร่วมมือกับบุคคลเช่นนี้
… [ไม่มีเสียงตอบจากผู้ฟัง][11]
------------------------------------------------
[1] ประทุมพร,
เรื่องเดียวกัน, 95.
[2] Ridley, ibid., 384.
[3] Ibid., 385-387.
[4] Andjelko Blazevic, Tito on Peace, Security and
Cooperation in Europe (Belgrade: Jugoslovenska Stvarnost – Medjunarodna
Politika, 1977), 64.
[5] Ridley, ibid., 387.
[6] Letter of the CC of the Party
of Labour and the Government of Albania to the CC of the Communist Party and
the Government of China (Tirana: The 8 Nentori Publishing House, 1978), 37-38.
[7] Ridley, ibid., 353-354.
[8] Milan Bajec and Petar Stojanovic, Yugoslavia – History
in the Making (Belgrade: Jugoslovenska Rejiva, 1978), 86-90.
[9] Ridley, ibid., 364.
[10] Ibid., 19.
[11] Huang Hua, “Problems with Indonesia,
Albania, and Yugoslavia,” 281-282.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น