ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ
1950 ได้เริ่มผ่อนคลายความตึงเครียดลงจนกลับมามีความสัมพันธ์กันอย่างปกติในทศวรรษ
1970 โดยติโตเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม
ค.ศ. 1977 และนับเป็นประมุขแห่งรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนจีนหลังการอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงเมื่อ
ค.ศ. 1976 บันทึกความทรงจำของหวงหัว ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนช่วง
ค.ศ. 1976 – 1982 ระบุว่า การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเป็นผลงานของเติ้งเสี่ยวผิงซึ่งกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกครั้งตามมติของคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันที่
16 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 [1] อย่างไรก็ตาม บันทึกดังกล่าวเผยแพร่ในทศวรรษ 2000 ซึ่งเป็นช่วงที่เติ้งเสี่ยวผิงถึงแก่อสัญกรรมไปแล้วและทางการจีนพยายามฉายภาพลักษณ์เขาในฐานะรัฐบุรุษผู้มีวิสัยทัศน์ในการปฏิรูปและเปิดประเทศ
บันทึกนี้จึงให้ความสำคัญกับเติ้งเสี่ยวผิงมากเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว
ภารกิจที่เติ้งเสี่ยวผิงได้รับมอบหมายหลังจากกลับมาดำรงตำแหน่งรองประธานพรรคเมื่อ
ค.ศ. 1977 ก็คือ งานด้านวิทยาศาสตร์และการศึกษา[2] ขณะที่งานด้านการต่างประเทศอยู่ในการควบคุมของฮว่ากั๋วเฟิง
ผู้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคและประธานกรรมาธิการทหารของพรรคต่อจากเหมาเจ๋อตง และยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากโจวเอินไหลอีกด้วย
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจาก สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง เล่ม 2 (ค.ศ. 1975-1982) แล้วจะพบว่า ในครึ่งหลังของ
ค.ศ. 1977 มีคำปราศรัยของเติ้งเสี่ยวผิงจำนวน 5 ครั้ง โดยแบ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการศึกษา 3 ครั้ง ทฤษฎีทางการเมือง 1 ครั้ง และการทหาร 1
ครั้ง โดยไม่มีเรื่องการต่างประเทศอยู่เลย[3] เนื้อหาในลำดับต่อไปจะชี้ให้เห็นว่า การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในทศวรรษ
1970 ไม่ได้เป็นผลงานในยุคของฮว่ากั๋วเฟิงและเติ้งเสี่ยวผิง แต่เป็นผลงานที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายยุคเหมาเจ๋อตง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตระหนักถึงภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตในปลายทศวรรษ 1960 ซึ่งทำให้จีนปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศและมีท่าทียืดหยุ่นทางอุดมการณ์ต่อยูโกสลาเวียมากยิ่งขึ้น
ในปลายทศวรรษ 1960 ได้เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกที่ส่งผลให้จีนต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ
กล่าวคือ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1968 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เชโกสโลวะเกียมีมติให้อเล็กซานเดอร์ ดุบเชก (Alexander Dubcek) ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรังมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ
1960 ดุบเชกประกาศแผนการปฏิรูปในเดือนเมษายนของปีนั้นโดยระบุว่า
เขาจะปรับระบบเศรษฐกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาด ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน ให้สื่อมวลชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นอิสระ
รวมทั้งเสนอให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่ออนุญาตให้มีพรรคฝ่ายค้าน[4]ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมาว่า
“ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก (The Prague Spring)” คำประกาศของดุบเชกได้รับการตอบรับจากประชาชนจำนวนมาก
แต่กลับสร้างความกังวลใจแก่สหภาพโซเวียตซึ่งต้องการควบคุมยุโรปตะวันออกเอาไว้อย่างมั่นคง
ทำให้ในวันที่ 20 สิงหาคมของปีนั้น
สหภาพโซเวียตและประเทศบริวารอื่นๆ คือ โปแลนด์ ฮังการี บัลกาเรีย และเยอรมนีตะวันออกได้ส่งทหารจำนวน
250,000 คนบุกเข้าไปทำลายบรรยากาศเสรีในเชโกสโลวะเกียและปลดดุบเชกออกจากตำแหน่ง
และในวันที่ 13 กันยายนของปีเดียวกัน เลโอนิด เบรชเนฟ
ผู้นำสหภาพโซเวียตได้ประกาศหลักการเบรชเนฟ (The Brezhnev Doctrine) โดยระบุว่า สหภาพโซเวียตมีความชอบธรรมในการส่งทหารเข้าไปแทรกแซงประเทศสังคมนิยมอื่นๆ
เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกภาพของโลกสังคมนิยม
จีนได้ออกมาประณามการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตอย่างรุนแรง
โดยในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1968 โจวเอินไหลระบุว่า
การกระทำของสหภาพโซเวียตสะท้อนให้เห็นลัทธิคลั่งชาติ (chauvinism) ของผู้นำโซเวียตที่กลายสภาพไปเป็นพวกสังคมจักรวรรดินิยม (social-imperialists)
และสังคมฟาสซิสต์ (social-fascists) และจีนสนับสนุนประชาชนชาวเชโกสโลวะเกียในการต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อต่อต้านการยึดครองทางทหารของสหภาพโซเวียต[5]
ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1969 เกิดการปะทะกันทางทหารครั้งใหญ่ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตบริเวณชายแดนมณฑลเฮยหลงเจียง
(Heilongjiang) ซึ่งทำให้จีนยิ่งหวาดกลัวภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตมากขึ้นไปอีก
ดังจะเห็นได้จากในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9 ในเดือนเมษายนของปีนั้น หลินเปียว (Lin Biao) รองประธานพรรคและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่า
จีนต้องเตรียมตัวรับมือกับสงครามขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงสงครามนิวเคลียร์ อีกทั้งยังจะต้องแสวงหาความร่วมมือจากประเทศและประชาชนทั่วโลกเพื่อสร้าง
“แนวร่วมที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (the broadest possible
united front)” ในการเอาชนะลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิแก้[6] หรืออาจกล่าวได้ว่า
เมื่อสิ้นทศวรรษ 1960 จีนได้ส่งสัญญาณแล้วว่าจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ
เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติเมื่อ ค.ศ. 1974
ภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตประกอบกับกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่แผ่วลงในต้นทศวรรษ
1970 ทำให้จีนหันมาปรับปรุงการต่างประเทศที่เสียหายไปในยุคซ้ายจัดและหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลในการแสวงหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ
เพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต จนในที่สุดปรากฏออกมาเป็น “ทฤษฎีสามโลก (The
Three Worlds Theory)” ซึ่งเหมาเจ๋อตงกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในการสนทนากับเคนเนท
เดวิด คาอุนดา (Kenneth David Kaunda) ประธานาธิบดีแห่งแซมเบียเมื่อวันที่
22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 ว่า โลกที่ 1
ประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ส่วนโลกที่ 2 ประกอบไปด้วยญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ขณะที่โลกที่ 3 ประกอบไปด้วยจีนและประเทศในเอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา[7] ต่อมาในวันที่
10 เมษายนของปีเดียวกัน เติ้งเสี่ยวผิงได้นำเนื้อหาของทฤษฎีดังกล่าวไปขยายความในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติโดยระบุว่า
ประเทศโลกที่ 1 อย่างสหรัฐอมริกาและสหภาพโซเวียตต่างเป็นอภิมหาอำนาจจักรวรรดินิยมผู้กดขี่ขูดรีด
รวมทั้งตั้งข้อสังเกตด้วยว่าสหภาพโซเวียตนั้นร้ายกาจเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการบุกเชโกสโลวะเกีย ส่วนประเทศโลกที่ 2 นั้นแม้จะกดขี่ขูดรีดประเทศอื่น แต่ก็ถูกกดขี่ขูดรีดจากประเทศโลกที่ 1
ด้วยในเวลาเดียวกัน ส่วนประเทศโลกที่ 3 นั้นล้วนแต่ถูกกดขี่ขูดรีดจากลัทธิจักรวรรดินิยมและถือเป็นพลังสำคัญที่จะหมุนกงล้อของประวัติศาสตร์โลกและต่อสู้กับอภิมหาอำนาจโลกที่
1[8]
ตลอดทศวรรษ 1970 ทางการจีนได้พยายามสร้างความชอบธรรมให้กับทฤษฎีสามโลกของเหมาเจ๋อตงด้วยคำอธิบายภายใต้กรอบของลัทธิมากซ์-เลนิน โดยใน
ค.ศ. 1977 ฝ่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน
ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “ทฤษฎีสามโลกของประธานเหมาคือคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อลัทธิมากซ์-เลนิน”
โดยระบุว่า การแบ่งโลกเป็น 3 ส่วนถือเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์โลกอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ตามแบบมากซ์
เนื่องจากในปัจจุบันโลกนี้ยังคงมีการต่อสู้ระหว่างลัทธิจักรวรรดินิยมกับการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเฉกเช่นที่เลนินเคยระบุเอาไว้
และเป็นหน้าที่ของชนชั้นกรรมาชีพที่จะต้องผนึกกำลังกับผู้ที่ถูกกดขี่จากลัทธิจักรวรรดินิยมทั่วโลก[9] บทความยังระบุต่อไปว่า
แม้สหรัฐอเมริกาจะยังคงเป็นอภิมหาอำนาจ แต่ก็อ่อนกำลังลงมากจากสมรภูมิในเวียดนาม รวมทั้งยังเผชิญกับการท้าทายทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นและยุโรปตะวันตกอีกด้วย
ทำให้สหรัฐฯ ไม่เป็นภัยคุกคามเท่าในอดีต ต่างจากสหภาพโซเวียตที่เป็นภัยคุกคามมากกว่าด้วยเหตุผล
4 ประการ คือ (1)
สหภาพโซเวียตเป็นประเทศจักรวรรดินิยมที่มาทีหลังและไม่พอใจกับการแบ่งสรรผลประโยชน์ที่ประเทศจักรวรรดินิยมอื่นๆ
ตกลงกันไว้แล้ว (2)
สหภาพโซเวียตอ่อนด้อยกว่าสหรัฐฯ ในด้านเศรษฐกิจ
ทำให้ต้องขยายอำนาจด้วยเครื่องมือทางทหารเป็นหลัก (3)
ผู้ผูกขาดทุนและผู้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองในสหภาพโซเวียตคือคนกลุ่มเดียวกัน การระดมเอาพลังทางเศรษฐกิจทั้งหมดไปใช้เพื่อการทหารจึงทำได้ง่าย
และ (4) สหภาพโซเวียตสามารถหลอกลวงคนทั่วโลกได้อย่างแนบเนียนโดยอ้างว่าตนเองเป็นยังคงเป็นลัทธิสังคมนิยมที่สืบสานปณิธานของเลนิน[10] บทความชี้อีกด้วยว่า
การแสวงหาแนวร่วมกับลัทธิจักรวรรดินิยมกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอีกกลุ่มหนึ่งเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ภายใต้กรอบของลัทธิมากซ์-เลนิน
ดังที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สตาลินได้ร่วมมือกับประเทศจักรวรรดินิยมที่ไม่ก้าวร้าว
(nonaggressive countries) อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ
เพื่อต่อสู้กับประเทศจักรวรรดินิยมที่ก้าวร้าว (aggressive countries) อย่างอิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่น ซึ่งในที่สุดแล้วชัยชนะของสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่
2 ก็นำไปสู่การเกิดประเทศสังคมนิยมเพิ่มขึ้น[11] และการอธิบายในลักษณะนี้เองที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับจีนในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
เพื่อคานอำนาจกับสหภาพโซเวียตตลอดทศวรรษ 1970
ยุโรปตะวันออกจัดอยู่ในโลกที่ 2 ของทฤษฎีสามโลกและเป็นภูมิภาคหนึ่งที่จีนประสงค์จะแสวงหาแนวร่วมเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต
แม้ว่าตลอดทศวรรษ 1960 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียจะทำให้จีนไม่มีฐานที่มั่นทางการทูตของตนในภูมิภาคดังกล่าว
(ยกเว้นแต่แอลเบเนียซึ่งเป็นประเทศเล็กและไม่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะสนองผลประโยชน์ของจีนได้)
แต่กระนั้น
จีนยังคงมองเห็นโอกาสของตนจากความตึงเครียดที่ดำรงอยู่ระหว่างยุโรปตะวันออกกับสหภาพโซเวียต
ดังคำกล่าวของเหมาเจ๋อตงในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนกันยายน
ค.ศ. 1963 และในการสนทนากับคิคุนามิ คัตสึมิ (Kikunami
Katsumi) กรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่นเมื่อเดือนมกราคม
ค.ศ. 1964 ที่ระบุว่า มีแนวโน้มที่ค่อนข้างชัดเจนว่ายุโรปตะวันออกจะพยายามต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากการครอบงำของสหภาพโซเวียต[12] และการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตเมื่อ
ค.ศ. 1968 ก็เป็นโอกาสที่จีนจะสานสัมพันธ์กับยุโรปตะวันออกอีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยูโกสลาเวียซึ่งมีประวัติในการต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตมาอย่างต่อเนื่อง
------------------------------------------------
[1] Huang Hua, Huang Hua Memoirs: Contemporary History
and Diplomacy of China (Beijing: Foreign Languages Press, 2008), 287,
295-296.
[2] Erza Vogel, Deng Xiaoping and the Transformation of
China (Cambridge,
MA: The Belknap Press of Harvard University Press, 2011), 200.
[3] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng
Xiaoping Volume II (1975-1982) (Beijing: Foreign Languages Press, 1984), 7.
[4] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, เรื่องเดียวกัน,
315.
[5] Peking Review, 23 August 1968 (Supplement), 3-4.
[6] Peking Review, 30 August 1969, 34.
[7] Mao Zedong, On Diplomacy, 454.
[8] Peking Review, 12 April 1974 (Supplement), 2.
[9] Peking Review, 4 November 1977, 11.
[10] Ibid., 22-23.
[11] Ibid., 15.
[12] Mao Zedong, On Diplomacy, 387-388.
1 ความคิดเห็น:
BetMGM Launches Casino in the US - The JetXtra
BetMGM, the 영주 출장마사지 leading online 진주 출장안마 casino, is now live in the US, and the company was launched 의왕 출장마사지 in 2019. New players can sign 세종특별자치 출장안마 up, make 수원 출장안마 deposit and
แสดงความคิดเห็น