การเยือนจีนของติโตเมื่อ ค.ศ. 1977 เป็นเพียงการสมานไมตรีในระดับรัฐต่อรัฐเท่านั้น โดยยังไม่มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้เหมาเจ๋อตงได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่ายูโกสลาเวียภายใต้การนำของติโตเป็นลัทธิแก้
การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียขึ้นมาทันทีจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากผู้นำสูงสุดของจีนในขณะนั้นอย่างฮว่ากั๋วเฟิง ผู้ซึ่งพยายามสร้างความชอบธรรมและสร้างฐานอำนาจทางการเมืองด้วยการอ้างว่าตนคือผู้สืบสานแนวคิดของเหมาเจ๋อตง
ดังที่เขายึดมั่นในหลักการที่เรียกว่า “อะไรก็ตาม 2 ประการ (The
Two Whatevers)” นั่นคือ การยึดมั่นในนโยบายอะไรก็ตามที่เหมาตัดสินใจแล้ว
และการทำตามคำสั่งอะไรก็ตามที่เหมาเคยให้ไว้[1] ดังนั้น
สุนทรพจน์ของฮว่าในงานเลี้ยงรับรองติโตจึงยังคงยืนยันว่าในด้านการต่างประเทศ
จีนจะยึดมั่นในลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ[2]
สอดคล้องกับคำกล่าวของหวงหวาต่อผู้ปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศเมื่อวันที่ 30
กรกฎาคม ค.ศ. 1977 ซึ่งก็ยืนยันว่ายูโกสลาเวียเป็นลัทธิแก้ที่จีนจำเป็นต้องสมานไมตรีด้วยเพื่อหาแนวร่วมในการต่อต้านสหภาพโซเวียต
ดังความตอนหนึ่งว่า
เราต้องยืนยันความเป็นจริงที่ว่ายูโกสลาเวียเป็นลัทธิแก้
คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยท่านประธานเหมาที่ยิ่งใหญ่และบรรดานักปฏิวัติกรรมาชีพรุ่นอาวุโสอย่างนายกรัฐมนตรีโจว
สหายคังเซิง และสหายเติ้งเสี่ยวผิงได้ตอบจดหมายฉบับวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1963 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต
โดยในส่วนที่ 3 ของจดหมายที่มีทั้งหมด 9 ฉบับนั้นใช้ชื่อหัวข้อว่า “ยูโกสลาเวียเป็นประเทศสังคมนิยมหรือไม่?”
ซึ่งได้แสดงและวิเคราะห์อย่างละเอียดถึงลักษณะพื้นฐานของลัทธิแก้ของยูโกสลาเวีย
บนพื้นฐานของลักษณะของรัฐยูโกสลาเวีย การเป็นเจ้าของวิถีการผลิต
นโยบายภายในและนโยบายต่างประเทศ ทัศนะของต่อติโตต่อสันติทั้ง 3 (หมายถึง การเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ การแข่งขันอย่างสันติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
– ผู้วิจัย) ทัศนะของเขาต่อความเป็นปึกแผ่นของค่ายสังคมนิยมและต่อขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติ
ทัศนะของเขาต่อหลักการพื้นฐานของลัทธิมากซ์-เลนิน รวมทั้งนโยบายและระบบที่ใช้ในหมู่บ้านชนบทและภายในประเทศทั้งหมด
วันนี้
เรายังไม่เปลี่ยนมุมมองดังกล่าว ขณะที่พื้นฐานทางอุดมการณ์และข้อเท็จจริงที่สนับสนุนทัศนะดังกล่าวก็ยังไม่เปลี่ยน
ติโตเคยเป็นลัทธิแก้ และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่
ถ้าคุณบอกว่าติโตคือหัวหน้าของลัทธิแก้ที่เก่าแก่ที่สุด นั่นก็ถูกต้อง ...
ภารกิจหลักในปัจจุบันของเราคือการผนึกกำลังกับประชาชนและประเทศที่ถูกกดขี่ทั่วโลก
รวมทั้งผนึกกำลังกับประเทศและประชาชนที่รักสันติภาพและก้าวหน้าทั่วโลกเพื่อสร้างแนวร่วมระหว่างประเทศที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
เพื่อต่อสู้แบบปฏิวัติกับอภิมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับลัทธิสังคมจักรวรรดินิยมที่เป็นลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียตที่กำลังขึ้นสู่กระแสสูง
ประเทศใดก็ตามที่ต่อต้านอภิมหาอำนาจ สนับสนุนเอกราชของชาติ การปลดปล่อยแห่งชาติ
และการปฏิวัติของประชาชน ประเทศนั้นก็สามารถยืนเคียงข้างเราในแนวร่วมนี้ได้โดยไม่ต้องสนใจว่าเขามีระบบสังคมและการเมืองเช่นไร
และไม่ต้องสนใจด้วยว่าในอดีตเขาเป็นมิตรกับเราหรือไม่
แม้ตอนนี้สันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียจะเป็นปฏิปักษ์กับพรรคของเราโดยพื้นฐาน
แต่ก็ยังเป็นไปได้ที่เราจะมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับรัฐและประชาชนชาวยูโกสลาเวีย[3]
ฮว่ากั๋วเฟิงกับติโตเมื่อ ค.ศ. 1978
ในวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนกำลังเตรียมต้อนรับการมาเยือนของติโตอยู่นั้น
เกิ่งเปียว (Geng Biao) รัฐมนตรีประจำทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
และหลี่อีหมาง (Li Yimang) ผู้เป็นรัฐมนตรีช่วยได้จัดทำรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเสนอให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในระดับพรรคต่อพรรคเป็นการภายในเสียก่อน
จากนั้นให้เว้นระยะสำหรับ “หักเลี้ยว” แล้วจึงประกาศอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่ออดีตผู้นำอย่างเหมาเจ๋อตงมากเกินไป[4] ข้อเสนอนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการประจำกรมการเมืองในเดือนถัดมา
และในงานเลี้ยงอาหารกลางวันแด่ติโตเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมของปีนั้น
ฝ่ายจีนได้เรียกติโตว่า “สหาย”[5]
ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1978 หลี่อีหมาง อวี๋กวงหย่วน (Yu
Guangyaun) และเฉียวสือ (Qiao Shi) ได้นำคณะเดินทางไปดูงานที่ยูโกสลาเวียเป็นเวลา
3 สัปดาห์ จากนั้นก็เขียนรายงานส่งไปยังคณะกรรมการกลางพรรคโดยระบุว่า
ประเทศสังคมนิยมสามารถมีรูปแบบทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย การที่สตาลินพยายามนำระบบเศรษฐกิจแบบสหภาพโซเวียตมาบังคับใช้กับยูโกสลาเวียนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
และจีนควรยอมรับว่ายูโกสลาเวียคือประเทศสังคมนิยม[6] ทำให้ในเดือนมิถุนายน
ค.ศ. 1978 จีนกับยูโกสลาเวียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคขึ้นมาใหม่อย่างเป็นทางการ
สาส์นอำนวยพรจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ส่งไปยังกรุงเบลเกรดเนื่องในการประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียครั้งที่
11 เมื่อวันที่ 19 ของเดือนนั้นยอมรับอย่างชัดเจนว่ายูโกสลาเวียเป็นประเทศสังคมนิยม
ดังความตอนหนึ่งว่า
สันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียที่นำโดยสหายติโต
ผู้นำที่โดดเด่นแห่งประชาชนทุกชนชาติในยูโกสลาเวียได้นำเอาความจริงสากลของลัทธิมากซ์-เลนินมาปรับใช้กับสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติของยูโกสลาเวีย
สันนิบาตดังกล่าวได้นำพาประชาชนทั้งประเทศในการต่อสู้แบบปฏิวัติอย่างไม่ลดละเพื่อเป้าหมายแห่งชัยชนะอย่างต่อเนื่องของลัทธิสังคมนิยม[7]
เมื่อฮว่ากั๋วเฟิงเดินทางเยือนยูโกสลาเวียในเดือนสิงหาคม
ค.ศ. 1978 เขาได้กล่าวในงานเลี้ยงรับรองว่า
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียตั้งอยู่บนลัทธิมากซ์-เลนิน[8]
และเมื่อติโตถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1980 ฮว่าได้ส่งสาส์นแสดงความเสียใจไปยังกรุงเบลเกรดโดยยกย่องว่าติโตเป็น
“มากซิสต์ที่ยิ่งใหญ่และนักปฏิวัติกรรมาชีพที่โดดเด่น”[9]
-----------------------------------------------------
[1] Zong Huaiwen, Years of Trial, Turmoil and Triumph –
China from 1949 to 1988 (Beijing: Foreign Languages Press, 1989), 176.
[2] Peking Review, 2 September 1977, 9.
[3] Huang Hua, “Problems with Indonesia, Albania, and Yugoslavia,” 280-281.
[4] อู๋ซิงถัง, “จงก้งต่างจี้กวานซี่ซื่อเซี่ยงหยวนเจ๋อเตอะโหยวไหล (เซี่ย),” (ที่มาของหลักการ 4 ข้อในความสัมพันธ์ระหว่างพรรคของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ตอนที่ 2) 21 สิงหาคม 2012, จาก http://roll.sohu.com/20120821/n351163915.shtml, เข้าไปเมื่อ
11 พฤศจิกายน 2015.
[5] เพิ่งอ้าง.
[6] Yu Guangyuan, Deng Xiaoping Shakes the World: An
Eyewitness Account of China’s Party Work
Confernece and the Third Plenum (November-December 1978), eds. Ezra F. Vogel
and Steven I. Levine (Norwalk, CT: EastBridge, 2004), 55-56.
[7] Peking Review, 23 June 1978, 3.
[8] Peking Review, 1 September 1978, 14.
[9] Peking Review, 12 May 1980, 10.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น