วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 11 ท่าทีของจีนกับยูโกสลาเวียต่อการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม)


การร่วมมือกันระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสหภาพโซเวียตนั้นปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในปัญหากัมพูชาช่วงปลายทศวรรษ 1970 กล่าวคือ หลังการทำสงครามรวมประเทศสำเร็จใน ค.ศ. 1975 เวียดนามได้ดำเนินนโยบายอิงเข้าหาสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อยๆ จนลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1978 และในวันที่ 25 ธันวาคมของปีเดียวกัน เวียดนามได้รุกรานกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) ที่ปกครองโดยพอลพต (Pol Pot) ผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่มีจีนให้การอุปถัมภ์ และได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (The People’s Republic of Kampuchea) ที่นิยมเวียดนามขึ้นในเดือนมกราคมของปีถัดมา โดยมีเฮง สัมริน (Heng Samrin) เป็นประมุข จีนมองว่าทั้งหมดเป็นแผนการของสหภาพโซเวียตที่จะขยายอำนาจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเวียดนาม ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงให้สัมภาษณ์กับนักข่าวจากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1979 ความตอนหนึ่งว่า

 

การรุกรานกัมพูชาขนานใหญ่ของเวียดนามไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์โลกของลัทธิครองความเป็นใหญ่ของมหาอำนาจ ผลกระทบของเรื่องนี้จะไม่จำกัดอยู่แต่เวียดนามและกัมพูชาเท่านั้น เราสามารถพูดได้ว่าการรุกรานครั้งนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่ยังส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศโดยรวม นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จีนเชื่อว่าผู้ที่แสวงหาสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพทั่วโลกควรกังวลกับเหตุการณ์นี้ให้มาก ความยุติธรรมอยู่ข้างกัมพูชา เราจึงควรสนับสนุนกัมพูชาในการต่อต้านการรุกรานของเวียดนาม[1]

 
พระชายาโมนิค สมเด็จพระนโรดม สีหนุ และเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อ ค.ศ. 1975
 

สำหรับท่าทีของยูโกสลาเวียนั้น ติโตมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชามาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 ซึ่งเป็นยุคของสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (Norodom Sihanouk) ที่ดำเนินนโยบายรักษาความเป็นกลางของกัมพูชาด้วยการเข้าร่วมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และติโตได้เดินทางเยือนกัมพูชาเมื่อ ค.ศ. 1968[2] ยูโกสลาเวียยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาเมื่อนายพลลอน นอล (Lon Nol) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนได้ก่อรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระนโรดม สีหนุเมื่อ ค.ศ. 1970 และกลับมามีความสัมพันธ์อีกครั้งเมื่อกลุ่มเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองได้ใน ค.ศ. 1975 ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของจีนที่มีต่อกัมพูชามาโดยตลอด ทำให้เมื่อกัมพูชาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามหลังเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ติโตได้เป็นอีกเสียงสำคัญที่ช่วยจีนในการเรียกร้องให้เวียดนามถอนทหารออกไป อีกทั้งยังได้งดวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่จีนตอบโต้เวียดนามด้วยการนำทหารบุกภาคเหนือของเวียดนามในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 ก่อนที่จะถอนกำลังกลับในอีก 4 สัปดาห์ต่อมา หรือที่เรียกว่าสงครามจีนสั่งสอนเวียดนาม

ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดครั้งที่ 6 ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1979 ที่มี 93 ประเทศเข้าร่วมประชุม ฟิเดล คาสโตรในฐานะเจ้าภาพได้กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมโดยประกาศตนเข้าข้างสหภาพโซเวียตอย่างชัดเจน เขากล่าวว่าเวียดนามมีความชอบธรรมที่จะโค่นล้มระบอบการปกครองของเขมรแดงที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนนับล้าน และบัดนี้สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาถือเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมเพียงหนึ่งเดียวของกัมพูชา โดยที่จีนไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะใช้กำลังสั่งสอนเวียดนามในเรื่องดังกล่าว[3] ติโตจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ตอบโต้คาสโตรโดยระบุว่า การประกาศเข้าข้างสหภาพโซเวียตของคาสโตรเป็นการทำลายหลักการของการก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในกัมพูชาโดยระบุว่า

 

เรามีความกังวลอย่างมากต่อวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายลงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีการใช้กำลังและอาวุธเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่มีอยู่ สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อความมั่นคงและเอกราชของประชาชนในภูมิภาคนี้ และยังเป็นภัยที่อาจลุกลามเป็นความขัดแย้งที่กว้างออกไป

            เหนือสิ่งอื่นใด เราจะต้องไม่ยอมให้มีการใช้การแทรกแซงทางการทหารเพื่อให้ชาติหนึ่งไปบังคับประชาชนของอีกชาติหนึ่งได้ พฤติกรรมเช่นนี้ขัดกับหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติและนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างสิ้นเชิง จึงขอย้ำอีกครั้งว่า วิกฤตการณ์จะคลี่คลายได้ต่อเมื่อต่างชาติถอนทหารทั้งหมดออกจากดินแดนของประเทศอื่นและเคารพในเอกราช ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างสันติของประเทศในภูมิภาคแห่งนั้น[4]  

 

การต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตยังคงเป็นประเด็นสำคัญในการหารือระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียก่อนที่ติโตจะถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1980 โดยการพบปะกันครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในการเยือนยูโกสลาเวียของหวงหวา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1979 ซึ่งในครั้งนั้น โยซิฟ เวอร์โฮเวช (Josif Vrhovec) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของยูโกสลาเวียบอกกับหวงหวาว่า ลัทธิจักรวรรดินิยมของสหภาพโซเวียตยังคงสร้างความปั่นป่วนไม่หยุด ส่วนติโตวิเคราะห์ว่าในครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 ที่จะมาถึงนี้ไม่น่าจะเกิดสงครามขนาดใหญ่ เพราะสหภาพโซเวียตกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ขณะที่หวงหวาแสดงความขอบคุณต่อบทบาทของยูโกสลาเวียทั้งในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดและในกิจการระหว่างประเทศโดยรวม[5]

--------------------------------------------------------

[1] Peking Review, 12 January 1979, 17.
[2] สมเด็จนโรดม สีหนุ และเบอร์นาร์ด กริสเชอร์, ความทรงจำของสมเด็จนโรดมสีหนุ : ผู้นำของโลกที่ข้าพเจ้ารู้จัก, แปลโดย สว่าง วงศ์พัวพันธุ์ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดวงกมล, 2534), 191-205.
[3] Executive Intelligence Review, 18-24 September 1979, 31-33.
[4] Ibid., 34-35.
[5] Huang Hua, Memoirs, 297-298; ประชาชนรายวัน, 9 พฤศจิกายน 1979, จาก http://www.ziliaoku.org/rmrb/1979-11-09-5, เข้าไปเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2015.  

ไม่มีความคิดเห็น: