จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 (9 – 11 พฤศจิกายน
ค.ศ. 2005, 18 – 22 ธันวาคม ค.ศ. 2006,
8 – 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007) และการทดลองขีปนาวุธและระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
แม้ว่าการประชุมษัฏภาคีรอบที่
4 จะมีความคืบหน้ากว่าการประชุมรอบก่อนๆ
และมีการตกลงกันว่าจะจัดการประชุมรอบต่อไปภายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 แต่แล้วสถานการณ์กลับตึงเครียดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะในเดือนกันยายนของปีนั้นเอง ทางการสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบและพบความเป็นไปได้ที่ว่าบัญชีเงินฝากของเกาหลีเหนือในธนาคารเดลตาเอเชีย
(Banco Delta Asia)
ซึ่งตั้งอยู่ในเขตบริหารพิเศษมาเก๊าของจีนนั้นเป็นแหล่งฟอกเงินของเกาหลีเหนือ กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาจึงออกคำสั่งห้ามไม่ให้สถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาทำธุรกรรมกับธนาคารดังกล่าว
และคำสั่งนี้ก็ส่งผลให้ทางการมาเก๊าประกาศอายัดเงินจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐในบัญชีธนาคารดังกล่าวของเกาหลีเหนืออีกด้วย[1] ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีเหนือเป็นอย่างมาก
และทำให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 ซึ่งเริ่มขึ้นในวันที่ 9
พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง
โดยหัวหน้าคณะผู้แทนของทุกฝ่ายยังคงเป็นบุคคลเดิมเหมือนการประชุมรอบที่ 4 นั้นไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากเกาหลีเหนือประกาศว่าไม่ยอมเจรจาใดๆ อีก
จนกว่าสหรัฐอเมริกาจะยุติการคว่ำบาตรทางการเงิน[2] ทำให้ต้องพักการประชุมไปอย่างไม่มีกำหนดในวันที่
11 พฤศจิกายนของปีนั้น ความชะงักงันดังกล่าวทำให้จีนต้องแสดงความพยายามชักจูงเกาหลีเหนือให้กลับเข้าสู่การประชุมอีกครั้ง
โดยในการเยือนจีนช่วงวันที่ 10 – 18 มกราคม ค.ศ. 2006
คิมจองอิลได้พูดกับหูจิ่นเทาถึง “ความยากลำบาก” ของการประชุมษัฏภาคี
ซึ่งหูจิ่นเทาก็ยืนยันกับคิมจองอิลถึงจุดยืนของจีนว่าการประชุมดังกล่าวเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา[3] ต่อมาในช่วงวันที่
27 – 28 เมษายนของปีเดียวกัน ถังเจียเสวียน มุขมนตรีของจีนเดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อชักจูงให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจา
แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากเกาหลีเหนือยังคงยืนยันจุดยืนเดิมว่าสหรัฐอเมริกาต้องยุติการคว่ำบาตรทางการเงินเสียก่อน[4]
สถานการณ์เลวร้ายลงในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2006 เมื่อคณะกรรมการบริหารองค์การพัฒนาพลังงานแห่งคาบสมุทรเกาหลี
(KEDO) ซึ่งตั้งขึ้นตามกรอบความตกลงเมื่อ ค.ศ. 1994 มีมติให้ยุติการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาโดยให้เหตุผลว่าเกาหลีเหนือละเมิดกรอบความตกลงดังกล่าว
ทำให้ในวันที่ 5 กรกฎาคมของปีนั้น เกาหลีเหนือได้ทดลองยิงขีปนาวุธจำนวน
7 ลูกตกลงในทะเลญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก
และในวันที่ 15 กรกฎาคมของปีเดียวกัน จีนจึงได้ร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการลงมติที่
1695 ประณามการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับขีปนาวุธทั้งหมดและกลับเข้าสู่การประชุมษัฏภาคีทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
รวมทั้งห้ามไม่ให้สมาชิกองค์การสหประชาชาติซื้อและขายสินค้าที่อาจนำไปประกอบเป็นขีปนาวุธกับเกาหลีเหนือ[5] อย่างไรก็ตาม
มติดังกล่าวไม่มีการกล่าวถึงหมวดที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติที่ว่าด้วยการใช้กำลังทหาร
เนื่องจากจีนและรัสเซียไม่เห็นด้วย[6]
การปะทะกันทางวาจาระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
(ARF) ในช่วงวันที่
24 – 28 กรกฎาคม ค.ศ. 2006
ดังบันทึกความทรงจำของหลี่จ้าวซิงที่ระบุว่า
ในการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซึ่งจัดขึ้น
ณ ประเทศมาเลเซียในปีนั้น ข้าพเจ้าได้พบกับแปกนัมซุน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ เราได้สนทนากันในเรื่องขีปนาวุธ
ทั้งสองฝ่ายมีทั้งประเด็นที่เห็นตรงกันและเห็นต่างกัน ข้าพเจ้าเลยต่อว่าไปว่าทำไมสหายเกาหลีเหนือถึงไม่แจ้งล่วงหน้าสักคำว่าจะทดลองยิงขีปนาวุธ
แปกนัมซุนตอบเพียงแค่ประโยคเดียวอันมีใจความสำคัญว่า “ข้าพเจ้าอยู่มาจนอายุจะ 80 ปีแล้ว และรู้ดีว่าควรจะปฏิบัติต่อผู้อื่นเช่นไร
ข้าพเจ้าเข้าร่วมการปฏิวัติมากี่ปีแล้ว และรู้ดีว่าจะต่อสู้คลื่นลมในชีวิตนี้อย่างไร”[7]
ความเคลื่อนไหวที่น่าสังเกตของจีนเกิดขึ้นในเดือนกันยายน
ค.ศ. 2006 เมื่อมีการแต่งตั้งหลิวเสี่ยวหมิง (Liu Xiaoming) เป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเปียงยางคนใหม่
เขาเกิดเมื่อ ค.ศ. 1956 และถือเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเปียงยางคนแรกที่เกิดหลังสงครามเกาหลี
จึงแตกต่างจากเอกอัครราชทูตคนก่อนๆ ที่เคยสัมผัสบรรยากาศของพันธมิตรจีน - เกาหลีเหนือที่ทำสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกัน
นอกจากนี้เขาไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับคาบสมุทรเกาหลี แต่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์แห่งมหาวิทยาลัยทัฟท์ส์
(Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University) ในสหรัฐอเมริกาและใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานที่กรมอเมริกาเหนือและโอเชียเนีย[8] การที่จีนแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสหรัฐอเมริกาไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงเปียงยางหลังการทดลองยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือจึงเหมือนเป็นการส่งสัญญาณแก่เกาหลีเหนือว่าจีนพร้อมที่จะใช้ไม้แข็งกับเกาหลีเหนือหากมีความจำเป็น
ในวันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 2006 เกาหลีเหนือประกาศว่าจะทำการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ
และในที่สุดก็ได้ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินเป็นครั้งแรกในวันที่ 9 ตุลาคมของปีนั้น บันทึกความทรงจำของจอร์จ
ดับเบิลยู บุชได้ตั้งข้อสังเกตว่าหูจิ่นเทามีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างรุนแรงมากกว่าการทดลองยิงขีปนาวุธเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
หูจิ่นเทาบอกกับบุชว่า “รัฐบาลจีนคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่
เราได้พยายามบอกให้เกาหลีเหนือยับยั้งชั่งใจ
แต่ประเทศเพื่อนบ้านรายนี้กลับไม่ฟังคำแนะนำของเรา”[9]
และในวันที่ 14 ตุลาคมของปีเดียวกัน
จีนได้ร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการลงมติที่
1718
ซึ่งถือเป็นมติที่ลงโทษเกาหลีเหนืออย่างรุนแรงที่สุดนับจากสิ้นสงครามเกาหลี
ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้มีการตรวจค้นพาหนะบรรทุกสินค้าที่มุ่งหน้าไปยังเกาหลีเหนือว่ามีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงหรือไม่
การห้ามซื้อขายสินค้าจำพวกรถถัง ยานเกราะ เรือรบ เครื่องบินรบ
และขีปนาวุธกับเกาหลีเหนือ
การอายัดบัญชีของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธของเกาหลีเหนือ
และการห้ามส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยไปยังเกาหลีเหนือ[10] ซึ่งจีนก็ได้ปฏิบัติตามมตินี้
ดังมีรายงานข่าวเกี่ยวกับการตรวจค้นเรือสินค้าของเกาหลีเหนือ ณ
เขตบริหารพิเศษฮ่องกง[11] และจีนยังมีมาตรการที่นอกเหนือไปจากมติที่
1718 อีกด้วย โดยธนาคารของรัฐบาลจีนจำนวน 4 แห่งหยุดให้บริการโอนเงินตราต่างประเทศไปยังเกาหลีเหนือ[12]
ขณะเดียวกัน จีนก็พยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือกลับมาประชุมษัฏภาคีรอบที่
5 อีกครั้ง ถังเจียเสวียน อู่ต้าเหว่ย และไต้ปิ่งกั๋วเดินทางไปพบคิมจองอิลในวันที่
18 ตุลาคม ค.ศ. 2006
โดยคิมจองอิลระบุว่าเกาหลีเหนือไม่มีแผนการจะทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 2[13] และเมื่อถังเจียเสวียนเดินทางกลับถึงกรุงปักกิ่งและพบกับคอนโดลีซซา ไรซ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเดินทางเยือนจีนในวันที่ 20
ตุลาคมของปีนั้น เขาบอกกับไรซ์ว่า
“โชคดีที่การเดินทางไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีของข้าพเจ้าในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า”[14] แสดงให้เห็นว่าการที่จีนร่วมลงมติที่
1718 เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้นทำให้เกาหลีเหนือมีท่าทีที่ประนีประนอมมากขึ้น
และในวันที่ 31 ตุลาคมของปีเดียวกัน เกาหลีเหนือก็ประกาศว่ายินดีกลับเข้าประชุมษัฏภาคี
การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 5 เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง โดยเกาหลีใต้และรัสเซียส่งหัวหน้าคณะผู้แทนคนใหม่มาร่วมประชุม
ได้แก่ ชุนยุงวู (Chun Yung Woo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้า
และเซอร์เกย์ ราซอฟ (Sergey Razov)
เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงปักกิ่ง ซึ่งในที่ประชุมสหรัฐอเมริกายืนยันว่าฝ่ายตนยังคงยึดมั่นในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่
19 กันยายน ค.ศ. 2005 และเสนอแผนดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนืออย่างเป็นขั้นตอนเพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด
แต่เกาหลีเหนือก็ไม่ยินยอมโดยยังคงยืนยันจุดยืนเดิมว่าสหรัฐอเมริกาต้องยุติการคว่ำบาตรทางการเงินเสียก่อน[15] จึงมีพักการประชุมชั่วคราวเมื่อวันที่
22 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ก่อนจะกลับมาประชุมใหม่ในช่วงวันที่ 8
– 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 และจบลงด้วยแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่าเกาหลีเหนือจะปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเข้าไปตรวจสอบ โดยแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะส่งน้ำมันเตาหนัก
(heavy fuel oil) จำนวน 50,000 ตันให้แก่เกาหลีเหนือภายใน 60 วัน[16] และมีการตกลงกันด้วยว่าจะจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่
6 ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2007
---------------------------------------------
[1] Ilso David Cho and Meredith Jung-En Woo, “North Korea
in 2006: The Year of Living Dangerously,” Asian Survey 47
(January/February 2007): 71.
[2] Funabashi, The Peninsula Question, 412.
[3] “Kim Jong Il Pays Unofficial Visit to China,” People’s
Korea 225 (28 January 2006), available from
http://www1.korea-np.co.jp/pk/225th_issue/2006012809.htm, accessed 27 April
2014.
[4] “China’s confirm Tang’s N. Korea visit, mum on
content,” Kyodo News International, availble from http://www.thefreelibrary.com/China+confirms+Tang's+N.+Korea+visit,+mum+on+content.-a0146168814,
accessed 27 April 2014.
[5] Security Council Condemns Democratic People’s
Republic of Korea’s Missile Launches, Unanimously Adopting Resolution 1695
(2006), Security Council SC 8778, 15 July 2006, available from http://www.un.org/News/Press/docs/2006/sc8778.doc.htm,
accessed 27 April 2014.
[6] “UN votes for N Korean sanctions,” BBC News, 15 July
2006, available from http://news.bbc.co.uk/2/hi/asia-pacific/5184112.stm,
accessed 27 April 2014.
[7] หลี่จ้าวซิง, ซัวปู้จิ่นเตอะว่ายเจียว,
ตอนที่ 5.
[8] ดูประวัติการศึกษาและการทำงานของหลิวเสี่ยวหมิงได้ที่
“Liu Xiaoming,” China Vitae, available
from http://www.chinavitae.com/biography/Liu_Xiaoming/career, accessed 27 April
2014.
[9] Bush, Decision Points, 425.
[10] “Security Council imposes sanctions on DPR Korea
after its claimed nuclear test,” UN News Centre, 16 October 2006, available
from http://www.un.org/apps/news/story.asp?NewsID=20261&Cr=DPRK&Cr1=#.U1zFZVJZroY,
accessed 27 April 2014.
[11] “Foreign Ministry Spokesman
Liu Jianchao's Regular Press Conference on 24 October 2006,” Embassy of
the People’s Republic of China in the Federal Republic of Germany, available
from http://www.china-botschaft.de/det/fyrth/t278405.htm,
accessed 27 April 2014.
[12] Ibid.
[13] Ibid.
[14] “China calls for dialogue to solve Korean nuclear
issue,” Xinhua News Agency, 20 October 2006, available from
http://www.chinadaily.com.cn/china/2006-10/20/content_713315_2.htm, accessed 27
April 2014.
[15] Cho and Woo, “North Korea in 2006,” 72.
[16] “Six-Party Talks End with Joint Document,” Xinhua
News Agency, 13 February 2007, available from http://www.china.org.cn/english/news/200018.htm,
accessed 27 April 2014.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น