วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 13)


จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 (26 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม, 13 – 19 กันยายน ค.ศ. 2005)

            การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 เริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่ง โดยมีแต่หัวหน้าคณะผู้แทนของเกาหลีเหนือและรัสเซียเท่านั้นที่ยังคงเป็นบุคคลเดิมเหมือนการประชุมรอบที่แล้ว ส่วนหัวหน้าคณะผู้แทนของประเทศอื่นๆ นั้นเป็นคนใหม่ซึ่งประกอบไปด้วย ซงมินซูน (Song Min Soon) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้ คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซาเซเอะ เคนิริโระ (Sasae Kenichiro) รองอธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนียของญี่ปุ่น และอู่ต้าเหว่ย (Wu Dawei) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนผู้มาทำหน้าที่แทนหวังอี้ที่ย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำญี่ปุ่น

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาในที่ประชุมมีสองเรื่องสำคัญ ได้แก่ (1) ขอบเขตของคำว่า “การปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์” ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการให้คำนี้หมายรวมถึงโครงการยูเรเนียมเสริมสมรรถนะของเกาหลีเหนือ ขณะที่เกาหลีเหนือปฏิเสธการมีอยู่ของโครงการดังกล่าว และ (2) การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งเกาหลีเหนือถือว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของรัฐเอกราช ขณะที่สหรัฐอเมริการะบุว่าจะยอมเจรจาเรื่องการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติก็ต่อเมื่อเกาหลีเหนือยอมทำลายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ยอมกลับเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ และยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอเสียก่อน[1] ดังนั้นสหรัฐอเมริกา (รวมทั้งญี่ปุ่น) จึงต้องการให้ในวันปิดประชุมมีแถลงการณ์ร่วมที่ระบุว่าเกาหลีเหนือจะต้องไม่ยกเลิกแต่เฉพาะ “โครงการอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด (all the nuclear weapons programs)” เท่านั้น หากแต่จะต้องยกเลิก “โครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด (all the nuclear programs)” อีกด้วย[2] ท่าทีเช่นนี้ของสหรัฐอเมริกาทำให้เกาหลีเหนือต้องต่อรองโดยหยิบยกเรื่องการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาที่สหรัฐอเมริกายังติดค้างเกาหลีเหนืออยู่ตามกรอบความตกลงเมื่อ ค.ศ. 1994 มาพูดอีกครั้งหนึ่งโดยระบุว่าถ้าสหรัฐอเมริกาจัดหาสิ่งดังกล่าวให้แก่เกาหลีเหนือได้ก็ถือเป็น “เครื่องพิสูจน์ทางกายภาพของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (physical proof of confidence-building)[3] ข้อเรียกร้องเช่นนี้เป็นสิ่งที่คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ไม่สามารถให้คำตอบได้ในทันที ทำให้ต้องพักการประชุมชั่วคราวในวันที่ 7 สิงหาคมเพื่อให้ผู้แทนของสหรัฐอเมริกากลับไปปรึกษาหารือกับรัฐบาลของตนเสียก่อน โดยตกลงกันว่าทุกฝ่ายจะกลับมาประชุมกันอีกในสัปดาห์ที่เริ่มต้น ณ วันที่ 29 สิงหาคม  

            เป็นที่น่าสังเกตว่าในระหว่างการประชุมษัฏภาคีรอบนี้ จีนพยายามเอาใจใส่ความรู้สึกของเกาหลีเหนือเป็นพิเศษเพื่อให้การประชุมมีความคืบหน้า ดังที่เมื่อสหรัฐอเมริกายื่นร่างแถลงการณ์ร่วมที่ผ่านการปรึกษาหารือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มาให้จีนพิจารณา จีนก็อาศัยสถานะเจ้าภาพในการลบคำบางคำที่อาจสร้างความระคายเคืองให้แก่เกาหลีเหนือออกไปจากร่างแถลงการณ์ดังกล่าว เช่นคำว่า “สิทธิมนุษยชน (human rights)” “ประเด็นด้านมนุษยธรรม (humanitarian issues)” “ระบบก่อการร้าย (terrorism)” เป็นต้น[4] และเมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศระหว่างพักการประชุมว่าจะจัดการซ้อมรบร่วมกับเกาหลีใต้ช่วงวันที่ 22 สิงหาคม – 2 กันยายน ค.ศ. 2005 จนทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจและมีความเป็นไปได้อย่างมากกว่าจะไม่มีการประชุมตามที่ตกลงกันไว้  อู่ต้าเหว่ยก็เดินทางเยือนกรุงเปียงยางในวันที่ 27 สิงหาคมของปีนั้นเพื่อพบกับแปกนัมซุน (Paek Nam Sun) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือและรัฐมนตรีช่วยอีกสองคน คือ คิมคีกวานและคิมยองอิล[5] แม้ทางการจีนจะไม่เปิดเผยรายละเอียดของการสนทนา แต่เมื่ออู่ต้าเหว่ยเดินทางกลับกรุงปักกิ่งในวันที่ 29 สิงหาคม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือก็ประกาศในวันเดียวกันว่าฝ่ายตนยินดีกลับเข้าประชุมษัฏภาคีในสัปดาห์ที่เริ่มต้น ณ วันที่ 12 กันยายน [6] เรื่องนี้สะท้อนบทบาทของจีนในการทำให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจาได้เป็นอย่างดี

            คณะผู้แทนของแต่ละประเทศกลับมาเริ่มประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 อีกครั้งในวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2005 โดยฝ่ายจีนเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมที่แก้ไขใหม่ให้ที่ประชุมพิจารณา ประเด็นสำคัญในร่างดังกล่าวได้แก่ (1) การแก้ไขคำจากเดิมที่ระบุว่าเกาหลีเหนือจะต้องยกเลิก “อาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมด (all nuclear weapons and nuclear programs)” เปลี่ยนเป็น “อาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด (all nuclear weapons and existing nuclear programs)” ซึ่งการที่จีนใส่คำว่า “ที่มีอยู่” (existing) ลงไปนั้นเป็นคำร้องขอของเกาหลีเหนือที่ต้องการสื่อความว่าตนเองยินดียกเลิกโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ขอรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ในอนาคตหากมีความจำเป็น และ (2) การเพิ่มเติมข้อความที่ระบุว่าเกาหลีเหนือมีสิทธิในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และประเทศอื่นๆ ที่ร่วมเจรจานั้นยินดีจะหารือเกี่ยวกับการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาให้แก่เกาหลีเหนือ “ในเวลาที่เหมาะสม” (at an appropriate time)[7]

ร่างแถลงการณ์ร่วมของจีนได้รับเสียงสนับสนุนจากรัสเซียและเกาหลีใต้ ขณะที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นต้องการให้ตัดเรื่องการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาออกไป แต่เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมรวมทั้งการกดดันจากจีนทำให้สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก็ยอมตกลงตามร่างแถลงการณ์นี้ในที่สุด อย่างไรก็ดี คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ได้กล่าวถึงนิยามของคำว่า “เวลาที่เหมาะสม” ในมุมมองของฝ่ายอเมริกันว่าหมายถึงเมื่อเกาหลีเหนือทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ทั้งหมดโดยปฏิบัติตามสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอแล้วเท่านั้น[8]การประชุมจึงปิดฉากลงในวันที่ 19 กันยายนของปีนั้นโดยมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น ดังแถลงการณ์ร่วมซึ่งมีใจความสำคัญว่า   

 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีจะทำลายอาวุธนิวเคลียร์และโครงการนิวเคลียร์ที่มีอยู่ทั้งหมด และจะกลับเข้าร่วมสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และข้อตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศในเร็ววัน ... สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีถือว่าตนเองมีสิทธิในการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งฝ่ายอื่นๆ ก็เคารพสิทธิดังกล่าวและยินดีจะหารือเกี่ยวกับการจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาให้แก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีในเวลาที่เหมาะสม[9]

 
                      หูจิ่นเทาเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005
 
 

            ทางการจีนยินดีกับความสำเร็จในการจัดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 ค่อนข้างมาก ถังเจียเสวียน มุขมนตรีที่ดูแลด้านการต่างประเทศของจีนได้ออกมาชื่นชมแถลงการณ์ร่วมในครั้งนี้โดยระบุว่าเป็น “เอกสารที่สมดุล ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย และสร้างสรรค์ (a balanced, win-win and constructive document)[10] และหูจิ่นเทาก็ยินดีเดินทางเยือนกรุงเปียงยางอย่างเป็นทางการในช่วงวันที่ 28 – 30 ตุลาคม ค.ศ. 2005 ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือในฐานะประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นครั้งแรกหลังจากที่คิมจองอิลเคยพยายามเชิญมาแล้วในระหว่างเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2004[11] โดยหูจิ่นเทาตกลงมอบความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือคิดเป็นมูลค่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ[12] การเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของผู้นำระดับสูงสุดของจีนในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นการตอบแทนเกาหลีเหนือที่ให้ความร่วมมือกับจีนจนทำให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 มีความคืบหน้า


---------------------------------------


[1] Funabashi, The Peninsula Question, 379.
[2] Ibid., 382.
[3] Ibid., 383.
[4] Ibid, 381.
[5] “Parties keep working on DPRK nuclear talks,” Xinhuanet, 29 August 2005, available from http://news.xinhuanet.com/english/2005-08/29/content_3416877.htm, accessed 22 April 2014.
[6] “DPRK to stay away from 2nd phase of nuke talks,” Xinhuanet, 29 August 2005, available from http://news.xinhuanet.com/english/2005-08/29/content_3420406.htm, accessed 22 April 2014.
[7] Funabashi, The Peninsula Question, 385.
[8] “North Korea -- U.S. Statement (September 19, 2005),” U.S. Department of State Archive, available from http://2001-2009.state.gov/r/pa/prs/ps/2005/53499.htm, accessed 23 April 2014.
[9] Joint Statement of the Fourth Round of Six-Party Talks, Beijing, 19 September 2005,” U.S. Department of State, available from http://www.state.gov/p/eap/regional/c15455.htm, accessed 23 April 2014.
[10] Ding Ying, “Making A Statement,” Beijing Review 48 (29 September 2005): 10.
[11] Ni Yanshuo, “Neighbor Relations,” Beijing Review 48 (10 November 2005): 10.
[12] Yongho Kim, North Korean Foreign Policy, 150.

ไม่มีความคิดเห็น: