จีนกับการจัดประชุมษัฏภาคีครั้งที่ 1 (27-29 สิงหาคม
2003)
หลังความล้มเหลวของการประชุมไตรภาคี
จีนได้พยายามเพิ่มจำนวนประเทศที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือให้มากยิ่งขึ้น
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าวก็คือ ไต้ปิ่งกั๋ว (Dai Bingguo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน โดยในวันที่ 3
กรกฎาคม ค.ศ. 2003 ข่งเฉวียน (Kong Quan) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมาแถลงว่าไต้ปิ่งกั๋วอยู่ระหว่างการเยือนรัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี[1] ต่อมาในวันที่
12 ของเดือนเดียวกัน ไต้ปิ่งกั๋วได้เดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อพบกับคิมจองอิลและคังซกจู
(Kang Sok Ju) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ
โดยยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนประเทศที่จะเข้าร่วมประชุม ซึ่งเกาหลีเหนือก็ยังไม่ตอบตกลงเนื่องจากต้องการเจรจาแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกามากกว่า
และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แถลงในวันที่ 17 ของเดือนนั้นว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบของการจัดประชุมครั้งต่อไป[2] ในวันนั้นเองไต้ปิ่งกั๋วก็เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาเพื่อพบกับพลเอกโคลิน
พาวเวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่าสาเหตุที่เกาหลีเหนือลังเลที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งต่อไปเพราะเกรงว่าจะไม่มีโอกาสในการพูดคุยแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา
พลเอกพาวเวลล์จึงกล่าวว่าสหรัฐอเมริกายินดีพูดคุยกับเกาหลีเหนือแบบทวิภาคีแม้ว่าจะเป็นการประชุมแบบพหุภาคี[3]และยังยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องเชิญพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเข้าร่วมประชุมด้วย
ซึ่งไต้ปิ่งกั๋วก็ยินยอมตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยแลกกับการที่พลเอกพาวเวลล์เห็นชอบกับข้อเสนอของจีนที่ให้เชิญรัสเซียเข้าร่วมด้วย[4] เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้
เกาหลีเหนือจึงคลายความกังวลลงไประดับหนึ่งและประกาศในวันที่ 30 กรกฎาคมของปีนั้นว่ายินดีเข้าร่วมการประชุมษัฏภาคีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์
ผู้แทนของ 6 ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมษัฏภาคีครั้งที่ 1
การประชุมษัฏภาคีครั้งที่
1 จัดขึ้น ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถในกรุงปักกิ่งช่วงวันที่
27 – 29 สิงหาคม ค.ศ. 2003 โดยหัวหน้าคณะผู้แทนของแต่ละฝ่ายประกอบไปด้วย
(1) หวังอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน (2)
คิมยองอิล (Kim Yong Il) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ
(3) มิโตะจิ ยะบุนะกะ (Mitoji Yabunaka) อธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น (4) ลีซูฮยุค (Lee Soo Hyuk) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของเกาหลีใต้
(5) อเล็กซานเดอร์ ลอสยูคอฟ (Alexander Losyukov) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย และ (6) เจมส์ เคลลี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จีนได้วางแผนในการจัดโต๊ะประชุมหกเหลี่ยมโดยเรียงลำดับอักษรภาษาอังกฤษเสียใหม่
เพราะหากเรียงลำดับชื่อประเทศตามตัวอักษรภาษาอังกฤษแบบเดิมคือ China, DPRK,
Japan, ROK, Russia, USA แล้ว เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้นั่งติดกัน
เนื่องจากมีจีนคั่นกลาง ในการนี้จีนจึงเปลี่ยนไปใช้ชื่ออย่างเป็นทางการของตนว่า People’s
Republic of China ซึ่งทำให้จีนต้องเปลี่ยนไปนั่งคั่นกลางระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้
ซึ่งเท่ากับเปิดทางให้เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาได้นั่งติดกัน
เพื่อเอื้ออำนวยให้สองประเทศที่เผชิญหน้ากันมีโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น[5] และในงานเลี้ยงรับรองคณะผู้แทนที่มาประชุม
จีนก็ได้พยายามเปิดโอกาสให้เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาได้พูดคุยกันให้มากที่สุด
ดังที่หลี่จ้าวซิงเขียนในบันทึกความทรงจำว่า
ในงานเลี้ยงรับรองที่ข้าพเจ้าจัดขึ้นเพื่อต้อนรับคณะผู้แทนนั้น
ฝ่ายพิธีการได้จัดงานโดยครุ่นคิดมากเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าคือเจ้าภาพ
ขวามือของข้าพเจ้าคือหัวหน้าคณะผู้แทนของเกาหลีเหนือ อันแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีฉันเพื่อนบ้านระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ
ซ้ายมือของข้าพเจ้าคือหัวหน้าคณะผู้แทนของรัสเซีย ส่วนหัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐอเมริกานั้นถูกจัดให้นั่งอยู่ข้างหัวหน้าคณะผู้แทนของเกาหลีเหนือ
ตลอดงานเลี้ยงข้าพเจ้าตั้งใจใช้เวลาส่วนใหญ่สนทนากับหัวหน้าคณะผู้แทนของรัสเซีย และข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าหัวหน้าคณะผู้แทนของเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาได้สนทนากันแบบ
“ทวิภาคี” ผ่านล่าม[6]
อย่างไรก็ตาม การประชุมษัฏภาคีครั้งที่
1 ก็ประสบความล้มเหลวเฉกเช่นการประชุมไตรภาคีที่ผ่านมา
ทั้งนี้เป็นผลมาจากจุดยืนที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา
กล่าวคือ คิมยองอิลเสนอว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องเลิกวางตนเป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือเสียก่อนด้วยการลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ และการยุติการขัดขวางความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเกาหลีเหนือกับพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
ถ้าทำได้เช่นนี้เกาหลีเหนือจึงจะยินยอมยกเลิกโครงการนิวเลียร์ ขณะที่เจมส์
เคลลีระบุว่าเกาหลีเหนือจะต้องยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ลงเสียก่อนในลักษณะที่ “ตรวจสอบได้”
(verifiable) และ “ฟื้นคืนไม่ได้” (irreversible) จากนั้นสหรัฐอเมริกาจึงจะยอมทำตามความต้องการของเกาหลีเหนือ[7] ทำให้เมื่อมีการประชุมเพื่อร่างแถลงการณ์ร่วม
(joint statement) ที่จะใช้ในพิธีปิดการประชุม ผู้แทนของเกาหลีเหนือกลับไม่ปรากฏตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือไม่พอใจท่าทีของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
การประชุมครั้งนี้จึงจบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วมใดๆ
อย่างไรก็ตาม จีนก็มิได้ลดละความพยายามที่จะจัดให้มีการประชุมษัฏภาคีครั้งใหม่โดยเร็ว
โดยก่อนที่คณะผู้แทนจะแยกย้ายกันเดินทางกลับประเทศ พวกเขาก็ได้มีโอกาสพบกับถังเจียเสวียน
มุขมนตรี (State Councilor) ของจีนที่ดูแลเรื่องการต่างประเทศซึ่งกล่าวย้ำว่า
การพบปะพุดคุยกันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาความมั่นคงของภูมิภาค และทุกฝ่ายควรงดเว้นจากการกระทำที่ยั่วยุฝ่ายอื่นๆ
รวมทั้งมีความอดทนเพื่อที่จะไปถึงทางออกอันเป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย[8] และต่อมาในเดือนธันวาคม
ค.ศ. 2003 จีนได้แต่งตั้งหนิงฟู่ขุ่ย (Ning Fukui) ซึ่งเคยศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคิมอิลซุงให้เป็นเอกอัครราชทูตที่รับผิดชอบปัญหาคาบสมุทรเกาหลีโดยเฉพาะ
รวมทั้งมีการตั้งหน่วยงานใหม่ที่รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวสังกัดกรมเอเชีย กระทรวงการต่างประเทศ[9] อันสะท้อนให้เห็นความปรารถนาของจีนที่จะทำให้การประชุมษัฏภาคีเป็นกลไกในการธำรงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลีในระยะยาว
-------------------------------------------
[1] “Foreign Ministry Spokesperson's
Press Conference on July 3, 2003,” Permanent Mission of
the People’s Republic of China to the UN, available from http://www.china-un.org/eng/hyyfy/t28967.htm,
accessed 18 April 2014.
[2] “Foreign
Ministry Spokesperson's Press Conference on July 17, 2003,” Permanent
Mission of the People’s Republic of China to the UN, available from
http://www.china-un.org/eng/hyyfy/t28975.htm, accessed 18 April 2014.
[3] Funabashi,
The Peninsula Question, 281.
[4] Ibid., 280.
[5] Ibid., 337.
[6] หลี่จ้าวซิง, ซัวปู้จิ่นเตอะว่ายเจียว, ตอนที่
5.
[7] Funabashi, The Peninsula Question, 340-341.
[8] “Chinese state councilor
expounds implications of six-party talks,” Xinhua News
Agency, 29 August 2003, available from http://news.xinhuanet.com/english/2003-08/29/content_1053394.htm,
accessed 18 April 2014.
[9] Funabashi, The Peninsula Question, 289-290.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น