วันจันทร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 12)


ความชะงักงันหลังการประชุมษัฏภาคีรอบที่ 3 และบทบาทของจีน

แม้ว่าแถลงการณ์ของประธานในการปิดประชุมษัฏภาคีรอบที่ 3 จะกำหนดให้มีการประชุมรอบต่อไปภายในเดือนกันยายน ค.ศ. 2004 แต่การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 ก็มิได้มีขึ้นตามกำหนด เพราะในครึ่งหลังของ ค.ศ. 2004 สหรัฐอเมริกาเข้าสู่บรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยจอห์น แคร์รี (John Kerry) ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตได้เสนอให้มีการเจรจาแบบทวิภาคีกับเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตรงกับความต้องการของเกาหลีเหนือมาแต่เดิม ทำให้เกาหลีเหนือประวิงเวลาเพื่อรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน[1] ขณะเดียวกันประธานาธิบดีบุชก็สร้างความไม่พอใจแก่เกาหลีเหนือด้วยการลงนามใน รัฐบัญญัติสิทธิมนุษยชนเกาหลีเหนือ (North Korean Human Rights Act) เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมของปีนั้น โดยจะมีการจัดสรรเงินปีละ 24 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ[2] การลงนามดังกล่าวตรงกับวันที่คิมยองนัม ประธานสมัชชาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเนื่องในโอกาสครบรอบ 55 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ โดยได้พบกับอู๋ปังกั๋ว ประธานสภาประชาชนสูงสุดผู้ซึ่งบอกให้คิมยองนัมคำนึงว่าความสำเร็จของการประชุมษัฏภาคีรอบที่ผ่านมานั้นมิได้ได้มาโดยง่าย และจีนหวังว่าจะมีการประชุมรอบต่อไปโดยเร็วที่สุด[3]

ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาตึงเครียดมากยิ่งขึ้นเมื่อบุชชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหนึ่ง โดยในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2005 เขาประกาศว่าสหรัฐอเมริกาจะต่อสู้กับ “ระบบทรราชย์ (tyranny)” ขณะที่คอนโดลีซซา ไรซ์ (Condoleezza Rice) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาก็ระบุว่าเกาหลีเหนือ คิวบา พม่า อิหร่าน เบลารุส และซิมบับเวเป็น “ด่านหน้าของลัทธิทรราชย์ (outposts of tyranny)”[4] ทำให้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ของปีนั้น เกาหลีเหนือประกาศว่ายอมรับอย่างชัดเจนว่าตนเองมีอาวุธนิวเคลียร์และขอถอนตัวจากการประชุมษัฏภาคีอย่างไม่มีกำหนด



      ปักปองจู นายกรัฐมนตรีเกาหลีเหนือ เดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005




จีนมีปฏิกิริยาต่อคำประกาศของเกาหลีเหนือในทันที โดยในช่วงวันที่ 12 – 16 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 หลี่จ้าวซิงได้โทรศัพท์สนทนากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เพื่อขอให้ทุกฝ่ายระงับอารมณ์และสงบนิ่งเพื่อให้การประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปเกิดขึ้นโดยเร็ว[5] ต่อมาในช่วงวันที่ 19 – 22 ของเดือนนั้น หวังเจียรุ่ย (Wang Jiarui) รัฐมนตรีทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (International Liaison Department) ได้นำคณะเดินทางเยือนกรุงเปียงยางและได้พบกับคิมจองอิลผู้ซึ่งบอกกับหวังเจียรุ่ยว่า เกาหลีเหนือไม่ได้ต่อต้านการประชุมษัฏภาคี เพียงแต่ต้องการรอให้เงื่อนไขต่างๆ เอื้ออำนวยเท่านั้น ขณะที่หวังเจียรุ่ยตอบกลับไปว่าจีนต้องการให้การประชุมษัฏภาคีรอบต่อไปเกิดขึ้นโดยเร็วและจะไม่ละเลยต่อความกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผลของเกาหลีเหนือ[6] และเมื่อปักปองจู (Pak Pong Ju) นายกรัฐมนตรีของเกาหลีเหนือเดินทางเยือนจีนในช่วงวันที่ 22 – 27 มีนาคมของปีเดียวกัน เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนก็ได้เน้นย้ำว่าการประชุมษัฏภาคีคือ “ทางเลือกที่เป็นไปได้จริง (realistic choice)” ในการแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์[7] ขณะที่หลิวเจี้ยนเชา (Liu Jianchao) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในวันที่ 25 มีนาคมของปีนั้นโดยเรียกร้องให้ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาลดการเผชิญหน้ากัน ดังความตอนหนึ่งว่า

 

ขณะนี้ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันของฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับการกลับมาประชุมษัฏภาคี โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา ความแตกต่างนี้เป็นอุปสรรคของการจัดประชุมรอบต่อไป ปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกันและการกระทำที่ส่งผลในทางลบของทั้งสองฝ่าย เราหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะอดทนและระงับอารมณ์เพื่อให้เกิดความไว้วางใจกันมากขึ้นและกลับมาประชุมกันอีกครั้งโดยเร็ว[8]

 

ความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาเริ่มคลี่คลายลงในกลาง ค.ศ. 2005 โดยในวันที่ 10 พฤษภาคมปีนั้น คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) โดยระบุว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐเอกราช (sovereign state) และสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีแผนการใช้กำลังบุกเกาหลีเหนือ[9] เกาหลีเหนือจึงยอมส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกาที่นครนิวยอร์กในกลางเดือนนั้น ต่อมาในการประชุม ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมของปีเดียวกัน คิมคีกวาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้ตกลงกับคริสโตเฟอร์ ฮิลล์ (Christopher Hill) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาว่าจะกลับเข้าประชุมษัฏภาคีอีกครั้ง ซึ่งตรงกับวันที่คอนโดลีซซา ไรซ์เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งพอดี ในการนี้ไรซ์ได้กล่าวชื่นชมความพยายามของจีนที่ชักจูงเกาหลีเหนือกลับคืนสู่โต๊ะเจรจา[10] และในช่วงวันที่ 12 – 14 กรกฎาคมนั้นเอง ถังเจียเสวียน มุขมนตรีของจีนได้เดินทางเยือนกรุงเปียงยางเพื่อส่งสาส์นจากหูจิ่นเทาถึงคิมอิลซุงอันมีใจความแสดงความหวังว่า ความร่วมมือระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือจะทำให้เกิด “ความคืบหน้าอย่างใหญ่หลวง (substantial progress)” ในการประชุมษัฏภาคีรอบต่อไป[11] ซึ่งเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณว่าจีนต้องการผลักดันให้การประชุมษัฏภาคีรอบที่ 4 ที่จะมีขึ้นในปลายเดือนเดียวกันนี้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการประชุมรอบที่ผ่านๆ มา


--------------------------------------------------------


[1] Jonathan Pollack, “The United States and Asia in 2004: Unfinished Business,” Asian Survey 45 (January/February 2005): 2.
[2] Kyung-Ae Park, “North Korea in 2004: From Brisk Diplomacy to Impasse,” Asian Survey 45 (January/February 2005): 19.
[3] Foreign Ministry Spokesperson Zhang Qiyue's Press Conference on 19 October 2004,” Embassy of the People’s Republic of China in Papua New Guinea, available from http://pg.china-embassy.org/eng/fyrth/t166090.htm, accessed 20 April 2014. 
[4] Ding Zhitao, “All Eyes Turn To Pyongyang,” Beijing Review 48 (3 March 2005): 10.
[5] “Foreign Ministry Spokeman Kong Quan’s Press Conference on 17 February 2005,” Embassy of the People’s Republic of China in the Republic of Turkey, available from http://tr.china-embassy.org/eng/fyrth/t183887.htm, accessed 20 April 2014. 
[6] “DPRK Still Has Intention To Participate in 6-Party Talks,” The People’s Korea 214 (26 February 2005), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/214th_issue/2005022601.htm, accessed 20 April 2014. 
[7] “DPRK Premier Visits China,” The People’s Korea 215 (31 March 2005), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/215th_issue/2005033101.htm, accessed 20 April 2014.  
[8] “Foreign Ministry Spokesman Liu Jianchao's Press Conference on 24 March 2005,” Embassy of the People’s Republic of China in the Federal Republic of Germany, available from http://www.china-botschaft.de/det/fyrth/t189040.htm, accessed 21 April 2014. 
[9] “Rice Describe North Korea as a ‘Sovereign State’,” Bloomberg, available from http://www.bloomberg.com/apps/news?pid=newsarchive&sid=a4XRcUq6Sj9Y, accessed 20 April 2014.
[10] Yan Wei, “Nuke-Talks Stalemate Ends,” Beijing Review 48 (21 July 2005): 19.
[11] “DPRK: Nuke-free peninsula our goal,” China Daily, 14 July 2005, available from http://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2005-07/14/content_460029.htm, accessed 20 April 2014.

ไม่มีความคิดเห็น: