จีนกับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่
2
กรอบความตกลง (Agreed Framework) ที่ลงนามกันระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา ณ นครเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อยุติวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1
เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1994 มีใจความสำคัญว่า เกาหลีเหนือยอมยุติการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดและยอมรับการตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(ไอเออีเอ) โดยแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะจัดสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำมวลเบาที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า
2,000 เมกกะวัตต์ให้แก่เกาหลีเหนือภายใน ค.ศ. 2003 และขณะที่การจัดสร้างเตาปฏิกรณ์ยังไม่เสร็จสิ้น
สหรัฐอเมริกาจะส่งน้ำมันให้เกาหลีเหนือเป็นการชดเชยปีละ 500,000 ตัน ต่อมาใน ค.ศ. 1995 มีการตั้งองค์การพัฒนาพลังงานแห่งคาบสมุทรเกาหลี
(Korean Peninsula Energy Development Organization - KEDO) เพื่อทำหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง
โดยคณะกรรมการบริหารองค์การดังกล่าวประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้
และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรป (European Atomic Energy Community –
EURATOM) โดยมีสำนักงานเลขาธิการอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม
การจัดสร้างเตาปฏิกรณ์เป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินจำนวนมากถึง 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ให้ความร่วมมือในการอนุมัติงบประมาณเพื่อการดังกล่าว
ทำให้เมื่อสิ้นทศวรรษ 1990 จึงไม่มีวี่แววว่าสหรัฐอเมริกาจะสามารถจัดสร้างเตาปฏิกรณ์ให้แก่เกาหลีเหนือได้ทันตามกำหนด
ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ความตึงเครียดอีกครั้งเมื่อจอร์จ
ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) จากพรรครีพับลิกันขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาในเดือนมกราคม
ค.ศ. 2001 และในระหว่างที่ประธานาธิบดีคิมแดจุงแห่งเกาหลีใต้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนมีนาคมของปีนั้น
ประธานาธิบดีบุชได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับนโยบายตะวันฉาย (Sunshine Policy)
ของผู้นำเกาหลีใต้ที่เน้นความร่วมมือและการมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ
ต่อมาภายหลังเหตุการณ์วินาศกรรม ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2001 สหรัฐอเมริกาก็ยิ่งเพ่งเล็งไปยังบรรดา
“รัฐอันธพาล” (rogue state) ที่อาจให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่ผู้ก่อการร้ายมากยิ่งขึ้น
โดยในสุนทรพจน์แถลงนโยบายประจำปี (State of the Union Address) เมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 2002 บุชได้เรียกเกาหลีเหนือ อิหร่าน และอิรักว่า “อักษะแห่งปีศาจ (Axis
of Evil)” ทำให้ในอีก 2 วันต่อมา
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือออกมาประณามสุนทรพจน์ดังกล่าวโดยระบุว่าไม่เคยมีรัฐบาลอเมริกันชุดใดที่กล้าพูดคุกคามเอกราชและอธิปไตยของเกาหลีเหนือชัดเจนเท่ารัฐบาลชุดนี้[1] ในเวลาเดียวกัน
หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกาก็เริ่มสงสัยว่าเกาหลีเหนืออาจกำลังเดินหน้าโครงการยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ
(High-Enriched Uranium Program - HEU)
ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาจึงส่งเจมส์ เคลลี (James
Kelly) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปยังกรุงเปียงยางในช่วงวันที่
3 - 5 ตุลาคม
ค.ศ. 2002 เพื่อหยั่งดูท่าทีของเกาหลีเหนือ ผลปรากฏว่าคิมคีกวาน
(Kim Kye Kwan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือได้ยอมรับกับเคลลีถึงการมีอยู่ของโครงการดังกล่าว
เหตุผลที่ทำให้เกาหลีเหนือออกมายอมรับเกี่ยวกับโครงการยูเรเนียมเสริมสมรรถนะนั้นยังคงเป็นที่คาดเดากันไปต่างๆ
นานา และอาจเป็นไปได้ว่าขณะนั้นสหรัฐอเมริกากำลังพัวพันกับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
(war on terrorism) ในอัฟกานิสถานและกำลังวางแผนการบุกอิรักอีกด้วย
เกาหลีเหนือจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดการเจรจากับสหรัฐอมริกาโดยใช้ประเด็นเรื่องอาวุธนิวเคลียร์มาเป็นเหตุ
โดยมั่นใจว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ใช้กำลังทหารจัดการกับตน[2] ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร
การยอมรับของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ได้นำไปสู่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งที่ 2
โดยทางการสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม
ค.ศ. 2002 ว่าเกาหลีเหนือละเมิดกรอบความตกลง และในวันที่ 14
พฤศจิกายนของปีเดียวกัน องค์การพัฒนาพลังงานแห่งคาบสมุทรเกาหลีก็ประกาศระงับการส่งน้ำมันแก่เกาหลีเหนือ
ขณะที่ฝ่ายเกาหลีเหนือได้ตอบโต้โดยประกาศเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่งในวันที่
12 ธันวาคม ค.ศ. 2002 และขับไล่เจ้าหน้าที่ของไอเออีเอออกไปจากประเทศในวันที่
27 ธันวาคมของปีเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 10 มกราคม
ค.ศ. 2003 เกาหลีเหนือก็ประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์
จีนกับการจัดประชุมไตรภาคี (23 - 25 เมษายน ค.ศ. 2003)
วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 2 กลายเป็นปัญหาที่ทำให้จีนต้องเข้ามาพัวพันด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่ในช่วงแรกของวิกฤตการณ์ดูเหมือนว่าจีนต้องการให้เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระดับทวิภาคี
ดังเช่นเมื่อประธานาธิบดีบุชใช้โอกาสที่เจียงเจ๋อหมินเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในช่วงวันที่
22 – 25 ตุลาคม
ค.ศ. 2002 ขอร้องให้จีนช่วยกดดันเกาหลีเหนือ เจียงเจ๋อหมินก็ปฏิเสธโดยอ้างว่าการใช้อิทธิพลกดดันเกาหลีเหนือเป็นเรื่องยุ่งยาก[3] เขาแสดงจุดยืนของจีนในเรื่องดังกล่าวกับบุชแต่เพียงว่า
เราสนับสนุนให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ตลอดมา
และหวังว่าคาบสมุทรดังกล่าวจะคงสันติภาพและเสถียรภาพเอาไว้ได้ การมีอาวุธนิวเคลียร์ของฝ่ายใดก็ตามบนคาบสมุทรเกาหลีเป็นเรื่องที่ขัดกับผลประโยชน์ของภูมิภาค
สหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีได้บรรลุกรอบความตกลงไปแล้วเมื่อ
ค.ศ. 1994 หลังจากที่ปรึกษาหารือกันอย่างยืดเยื้อ ในเมื่อความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างยากลำบากและเป็นผลประโยชน์ของทุกฝ่าย
จึงไม่ควรละทิ้งไปเสียง่ายๆ เราชื่นชมความตั้งใจของสหรัฐอเมริกาที่จะแก้ปัญหาในขณะนี้อย่างสันติ
เราหวังว่าสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีจะแก้ปัญหาข้อขัดแย้งผ่านการสนทนา
จีนจะยังคงแสดงบทบาทเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลี[4]
(เน้นโดยผู้วิจัย)
แต่เมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 2003 จีนเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว
เพราะในเดือนมกราคมของปีนั้น ประธานาธิบดีบุชได้บอกเจียงเจ๋อหมินว่าหากเกาหลีเหนือยังเดินหน้าโครงการนิวเคลียร์อยู่ต่อไป
สหรัฐอเมริกาไม่อาจห้ามปรามคู่แข่งของจีนอย่างญี่ปุ่นในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้เช่นกัน
และในเดือนถัดมาบุชก็บอกกับเจียงเจ๋อหมินถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐอเมริกาจะใช้กำลังทหารเข้าจัดการกับเกาหลีเหนือ[5]
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่จีนไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น พลเอกโคลิน พาวเวลล์ (Colin
Powell) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในปลายเดือนกุมภาพันธ์
ค.ศ. 2003 เพื่อขอร้องให้จีนเป็นตัวกลางจัดประชุมเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์
ซึ่งในที่สุดจีนก็ตอบตกลง[6] ทำให้ในวันที่
8 มีนาคมของปีเดียวกัน เฉียนฉีเชิน รองนายกรัฐมนตรีเดินทางไปกรุงเปียงยางเพื่อพบกับคิมจองอิลและยื่นข้อเสนอในการจัดประชุมไตรภาคีอันประกอบไปด้วยเกาหลีเหนือ
สหรัฐอเมริกา และจีน โดยเฉียนฉีเชินบอกกับคิมจองอิลว่าจีนจะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางเท่านั้น
และการประชุมดังกล่าวในทางพฤตินัยจะมีลักษณะทวิภาคีระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกา[7] ซึ่งคิมจองอิลก็ตอบตกลง
หลังจากนั้นจีนก็ส่งหวังอี้ (Wang Yi) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อแจ้งผลแก่พลเอกโคลิน
พาวเวลล์
การประชุมไตรภาคีจัดขึ้น
ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ (Diaoyutai
State Guesthouse) ในกรุงปักกิ่งช่วงวันที่ 23 – 25 เมษายน ค.ศ. 2003 โดยเกาหลีเหนือส่งหลี่กึน (Li
Gun) รองอธิบดีกรมอเมริกาเหนือเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ขณะที่สหรัฐอเมริกาส่งเจมส์ เคลลี่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน
ส่วนจีนส่งฟู่อิ๋ง (Fu Ying) อธิบดีกรมเอเชียเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ทั้งเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาต่างส่งตัวแทนมาล่วงหน้าเพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำของจีนก่อนเริ่มประชุม
กล่าวคือในวันที่ 21 เมษายนของปีนั้น โจ เมียง ร็อค (Jo
Myong Rok) รองประธานคณะกรรมาธิการป้องกันประเทศของเกาหลีเหนือได้เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเป็นเวลา
3 วัน และพบกับหูจิ่นเทา
ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่ในวันเดียวกัน เจมส์ เคลลี
ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาก็เดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งและเข้าพบหวังอี้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน[8]
อย่างไรก็ตาม การประชุมไตรภาคีก็จบลงโดยไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเกาหลีเหนือเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาเลิกวางตนเป็นศัตรูด้วยการทำสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน
(mutual non-agression treaty) เป็นอันดับแรก จากนั้นเกาหลีเหนือจึงจะยอมล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์
แต่สหรัฐอเมริกากลับเสนอในทางตรงกันข้ามว่าเกาหลีเหนือจะต้องล้มเลิกโครงการพัฒนานิวเคลียร์เสียก่อน
จากนั้นสหรัฐอเมริกาจึงจะยอมเจรจาเรื่องการทำสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกัน[9]
การประชุมสิ้นสุดลงโดยทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันว่าจะมีการประชุมในครั้งต่อไปหรือไม่
ทำให้หลี่จ้าวซิง (Li Zhaoxing) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนต้องหาวิธีการเพื่อนัดประชุมครั้งต่อไปให้ได้
ดังที่เขาเล่าไว้ในบันทึกความทรงจำว่า
ในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 2003
ข้าพเจ้าได้พบปะเพื่ออำลาคณะผู้แทนจากเกาหลีเหนือและสหรัฐอเมริกาซึ่งมาประชุมไตรภาคีที่กรุงปักกิ่ง
ตอนนั้นไม่มีการตกลงกันว่าจะประชุมครั้งต่อไปเมื่อไหร่
และจะมีการเจรจากันอีกหรือไม่ ข้าพเจ้าพบกับผู้แทนของเกาหลีเหนือก่อน
จากนั้นจึงพบกับผู้แทนของสหรัฐอเมริกา และได้สั่งการให้ฝ่ายต้อนรับแขกเผื่อเวลาไว้สักนิดหนึ่งเพื่อที่จะให้ผู้แทนของเกาหลีเหนือกับผู้แทนของสหรัฐอเมริกามา
“จ๊ะกัน” ข้าพเจ้าเดินไปส่งผู้แทนของเกาหลีเหนือที่ประตู
พอพวกเขาเดินออกไปก็พบกับผู้แทนของสหรัฐอเมริกา “อย่างบังเอิญ” ถึงตอนนี้ข้าพเจ้าก็อาศัยความเป็นเจ้าภาพหัวเราะและพูดว่า
“เอาละ ทุกคนมาอยู่พร้อมหน้ากันพอดี เรามาตกลงเรื่องการประชุมครั้งต่อไปดีกว่า พวกคุณยังอยากกลับมาประชุมที่กรุงปักกิ่งหรือไม่”
ในสถานการณ์แบบนี้ สหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือต่างไม่กล้าหักหน้าเจ้าภาพ หัวหน้าคณะผู้แทนของสหรัฐอเมริกาเลยบอกว่า
ตกลง หวังว่าครั้งหน้าจะได้เจอกันที่กรุงปักกิ่งอีก ฝ่ายเกาหลีเหนือก็ตอบทันทีว่า
ตกลง หวังว่าจะได้เจอกันอีก จากนั้นหัวหน้าคณะผู้แทนของทั้งสองฝ่ายก็จับมือกันอย่างสุภาพแล้วพูดกึ่งเต็มใจ
กึ่งไม่เต็มใจว่า “แล้วพบกันใหม่” ก็เป็นอันตกลงกันว่าจะมีการประชุมครั้งต่อไป[10]
--------------------------------
[1] “Spokesman for DPRK Foreign
Ministry slams Bush's accusations,” Korean News, 31 January 2002,
available from http://www.kcna.co.jp/index-e.htm, accessed 12 April 2014.
[2] Yongho Kim, North Korean Foreign Policy: Security
Dilemma and Succession (Lanham, MD: Lexington Books, 2014), 123.
[3] George W. Bush, Decision Points (New York, NY:
Crown Publishers, 2010), 424.
[4] Jiang Zemin, Selected Works of Jiang Zemin, Volume
III (Beijing: Foreign Languages Press, 2013), 509-510.
[5] Bush, Decision Points, 424.
[6] Yoichi Funabashi, The Peninsula Question: A
Chronicle of the Second Korean Nuclear Crisis (Washington, D.C.: Brookings
Institution Press, 2007), 273-274.
[7] Ibid., 264.
[8] “Korean Nuclear Talks Kick Off in Beijing,” China
Daily, 24 April 2003, available from http://www.china.org.cn/english/2003/Apr/63152.htm,
accessed 14 April 2014.
[9] “All Delegates in Beijing Ready for Nuclear Talks,” People’s
Daily, 26 August 2003, available from http://english.peopledaily.com.cn/200308/26/eng20030826_123089.shtml,
accessed 13 April 2014.
[10] หลี่จ้าวซิง, ซัวปู้จิ่นเตอะว่ายเจียว
(การทูตที่ไม่รู้จบ) (เป่ยจิง: จงซิ่นชูป่านเส้อ, 2014),
ตอนที่ 5, สืบค้นจาก http://bbs1.people.com.cn/post/6/1/2/136584830.html, http://bbs1.people.com.cn/post/6/1/2/136652664.html, เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2014.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น