ในปลายทศวรรรษ
1960 ต่อต้นทศวรรษ 1970 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาที่ตึงเครียดมาตั้งแต่
ค.ศ. 1965 นั้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเล็กน้อยโดยมีปัจจัยเอื้ออำนวยอยู่สามประการ
ปัจจัยแรกคือการลดลงของกระแสซ้ายจัดในการเมืองจีนเมื่อถึง ค.ศ. 1968 และความพยายามของจีนที่จะฟื้นฟูความเสียหายด้านการต่างประเทศที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม
โดยในเดือนมกราคมของปีนั้น โจวเอินไหลได้ออกคำสั่งให้นักการทูตจีนอยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัด
และในวันแรงงานของ ค.ศ. 1969
เหมาเจ๋อตงได้กล่าวกับคณะทูตต่างประเทศบนประตูเทียนอันเหมินว่าจีนพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ[1]
และในปีเดียวกันจีนได้เริ่มส่งเอกอัครรัฐทูตกลับไปประจำการในต่างประเทศอีกครั้งหลังจากที่หยุดไปตั้งแต่
ค.ศ. 1967
ปัจจัยเอื้ออำนวยประการที่สองคือ
การที่ทั้งจีนและคิวบาต่างมีความเห็นตรงกันในหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1970
โดยเมื่อนายพลลอนนอล (Lon Nol) ก่อการรัฐประหารโค่นล้มสมเด็จพระนโรดม
สีหนุ (Norodom Sihanouk) แห่งกัมพูชาเมื่อเดือนมีนาคมของปีนั้นโดยมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุน
ทั้งจีนคิวบาต่างก็รับรองรัฐบาลพลัดถิ่นของสีหนุที่กรุงปักกิ่ง และต่อมาเมื่อนักลัทธิมากซ์อย่างซัลวาดอร์
อัลเยนเด (Salvador Allende) ชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีของชิลีในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน
จีนก็แสดงความยินดีและสนับสนุนนโยบายของอัลเยนเดในการขจัดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ[2]
รวมทั้งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับชีลีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมของปีนั้น
นับเป็นประเทศที่สองในลาตินอเมริกาต่อจากคิวบาที่จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้สำเร็จ
ขณะที่คิวบาเองก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับชิลีในปีถัดมา
ผู้แทนของจีนแสดงความดีใจที่จีนได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติใน ค.ศ. 1971
ปัจจัยเอื้ออำนวยประการที่สามคือ
ความสำเร็จของจีนในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวันเมื่อวันที่ 25
ตุลาคม ค.ศ. 1971 หลังจากที่พยายามมาถึง 22
ปี โดยที่คิวบาเป็นผู้สนับสนุนจีนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องไม่เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่
ค.ศ. 1960
แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะอยู่ในสภาวะตึงเครียดในครึ่งหลังของทศวรรษดังกล่าวก็ตาม
ฟิเดล คาสโตรให้สัมภาษณ์กับสื่อของเม็กซิโกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน
ค.ศ. 1971 ว่าการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของจีนจะทำให้ประเทศในลาตินอเมริกามีความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจีนมากยิ่งขึ้น
และสถานะของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคดังกล่าวกำลังถูกสั่นคลอน[3]
ขณะที่สุนทรพจน์ของเฉียวกว้านหัว (Qiao Guanhua) ผู้แทนของจีนในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติในเดือนเดียวกันก็ได้ขอบคุณบรรดาประเทศที่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้
ความตอนหนึ่งว่า
ด้วยการยึดมั่นในหลักการและความยุติธรรม
ทั้ง 23 ประเทศที่เสนอมตินี้อันประกอบไปด้วยแอลเบเนีย
แอลจีเรีย พม่า ซีลอน คิวบา อีเควทอเรียลกินี กินี อิรัก มาลี มอริเตเนีย เนปาล
ปากีสถาน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเยเมน สาธารณรัฐประชาชนคองโก โรมาเนีย
เซียร์ราลีโอน โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย สาธารณรัฐอาหรับเยเมน
ยูโกสลาเวีย และแซมเบียได้พยายามอย่างไม่ลดละและบังเกิดผลในการฟื้นคืนสิทธิอันชอบธรรมของจีนในองค์การสหประชาชาติ
... ในนามของรัฐบาลและประชาชนจีน
ข้าพเจ้าขอขอบคุณจากใจไปยังรัฐบาลและประชาชนของประเทศเหล่านี้[4]
บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาที่ผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปนั้นดูได้จากในวันแรงงาน
ค.ศ. 1970 ที่เหมาเจ๋อตงได้กล่าวกับผู้รักษาการแทนเอกอัครรัฐทูตคิวบาประจำกรุงปักกิ่งบนประตูเทียนอันเหมินว่า
“ต้องการคิวบา ไม่ต้องการสหรัฐอเมริกา”[5]
ต่อมาในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน
จีนได้ส่งคณะผู้แทนไปเยือนคิวบาเพื่อร่วมงานฉลองวันกบฏแห่งชาติ (Day of the
National Rebellion)[6] ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ที่จีนส่งคณะเดินทางไปเยือนคิวบา
และฝ่ายคิวบาก็ได้จัดงานฉลองครบรอบ 10 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับคิวบาที่กรุงฮาวานา[7]
รวมทั้งส่งบัลโดเมโร อัลวาเรส (Baldomero Alvarez) ประธานสมาคมมิตรภาพคิวบา-จีนมาเยือนจีนในเดือนตุลาคมของปีนั้น[8]
ขณะที่จีนก็ส่งเอกอัครรัฐทูตกลับไปประจำยังกรุงฮาวานาอีกครั้งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1970
และในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1971
โจวเอินไหลได้เข้าร่วมงานฉลองวันปฏิวัติคิวบาที่สถานทูตคิวบาในกรุงปักกิ่งพร้อมกับแสดงความหวังที่จะเปิดศักราชใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ[9]
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาที่มีเค้าลางว่าจะดีขึ้นกลับเลวร้ายลงเมื่อถึง
ค.ศ. 1972 อันเป็นผลจากการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต
ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ของปีนั้น
และจีนเริ่มลดระดับความรุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
ทั้งนี้โจวเอินไหลกล่าวรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 10 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือนกันยายน ค.ศ. 1973 ว่าจีนจำเป็นต้องประนีประนอมกับประเทศจักรวรรดินิยมอย่างสหรัฐฯ
เพื่อต่อสู้กับลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียต โดยเขายกตัวอย่างของเลนินที่เคยสงบศึกกับประเทศจักรวรรดินิยมอย่างเยอรมนีในต้น
ค.ศ. 1918 ด้วยการทำสนธิสัญญาแบรสต์-ลิตอฟสก์
(The Brest-Litovsk Treaty) เพื่อความอยู่รอดของการปฏิวัติรัสเซีย[10]
ตรงข้ามกับคิวบาที่ยังคงมองสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ความแตกต่างระหว่างจีนกับคิวบานั้นเห็นได้ชัดเจนเมื่อประธานาธิบดีอัลเยนเดแห่งชิลีสั่งยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐจนกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน
จนรัฐบาลอเมริกันสนับสนุนให้นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ (Augusto Pinochet) ก่อรัฐประหารสำเร็จเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1973 และอัลเยนเดได้ฆ่าตัวตาย แม้บทความใน ปักกิ่งรีวิว
จะระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นฝีมือของ “พลังปฏิกิริยา” ทั้งในและนอกชิลี
และโจวเอินไหลได้ส่งจดหมายไปแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของอัลเยนเดและยกย่องให้เขาเป็นเสมือนมรณสักขี
(martyr)[11] แต่จีนก็มิได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลใหม่ของชิลีแต่อย่างใด มีแต่การเรียกเอกอัครรัฐทูตกลับประเทศเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะส่งกลับไปปฏิบัติงานที่กรุงซันติอาโกอีกครั้งในกลางปีถัดมา[12]
ตรงข้ามกับคิวบาและประเทศสังคมนิยมส่วนใหญ่ที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับชิลี ทั้งนี้ฟิเดล
คาสโตรได้กล่าวสุนทรพจน์วิจารณ์จีนในเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1976 ความว่า
มีหลายครั้งที่ลัทธิจักรวรรดินิยมได้ฉุดรั้งการปลดแอกในบางประเทศเช่นชิลี
หลายครั้งที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร หรือการสนับสนุนให้รัฐบาลในบางประเทศปราบปรามนักปฏิวัติหรือยุยงให้เกิดความแตกแยกให้หมู่พลังที่ก้าวหน้า
ดังเช่นที่เกิดขึ้นในขบวนการชาตินิยมอาหรับ และที่ไร้ยางอายอย่างมากก็คือ
บางคนที่อยู่ในขบวนการปฏิวัติกลับส่งเสริมยุทธศาสตร์เช่นนี้โดยทรยศต่อหลักการของลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ
อาจเป็นเพราะความหลงตัวเอง ความไม่คงเส้นคงวาเชิงอุดมการณ์ ความทะเยอทะยานส่วนตัว
หรืออาจเป็นเพราะความถดถอยและอ่อนแอเนื่องจากชรา
ดังเช่นกรณีของกลุ่มที่หยิ่งผยองและเสียสติซึ่งกุมชะตากรรมของประเทศจีนเอาไว้[13]
-------------------------------------------------------
[1] Han Nianlong (ed.), Diplomacy of Contemporary
China (Hong Kong: New Horizon Press, 1990), 261.
[2] Wang Chien-hsun, Changes in Relations Between
Peiping and Latin American Countries (Taipei: World Anti-Communist League,
China Chapter, 1973), 26-27.
[3] “Castro’s Activities in Chile,” in Castro Speech
Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1971/19711111-4.html;
accessed 4 March 2017.
[4] Peking Review, 19 November 1971, 5-6.
[5] หวังเจียรุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 100.
[6] วันที่ระลึกถึงขบวนการปฏิวัติของฟิเดล
คาสโตรซึ่งเริ่มก่อการครั้งแรกในวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1953
[7] Wang Chien-hsun,
ibid., 25.
[8] Peking Review, 20 November 1970, 21.
[9] หวังเจียรุ่ย, เรื่องเดียวกัน,
100.
[10] Peking Review, 7 September 1973, 23-24.
[11] Peking Review, 21 September 1973, 3, 22.
[12] หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 91.
[13] Michael Taber (ed.), Fidel Castro Speeches: Cuba’s
Internationalist Foreign Policy 1975-80 (New York: Pathfinder Press, 1981),
108.
[14] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 297.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น