ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตตลอดทศวรรษ
1960 และ 1970 ตั้งอยู่บนข้อกล่าวหาที่ฝ่ายแรกมีต่อฝ่ายหลังรวม
2 ข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาแรกมีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960
นั่นคือ การระบุว่าสหภาพโซเวียตเป็น “ลัทธิแก้”
เนื่องจากผู้นำโซเวียตตีความลัทธิมากซ์-เลนินเสียใหม่ว่าโลกสังคมนิยมกับโลกทุนนิยมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ ซึ่งจีนไม่เห็นด้วยและเชื่อมั่นว่าตนเองเดินตามเส้นทางของลัทธิมากซ์-เลนินอย่างแท้จริง
และยิ่งเมื่อการเมืองจีนเริ่มมีลักษณะซ้ายจัดมากขึ้นในกลางทศวรรษ
1960 ทางการจีนก็ถึงกับเสนอว่าแนวคิดของเหมาเจ๋อตงนั้นถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงและสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการปฏิวัติทั่วโลก[1]
ส่วนข้อกล่าวหาที่สองนั้นเกิดขึ้นหลังการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1968
นั่นคือการระบุว่าสหภาพโซเวียตเป็น “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม”
อันหมายถึง การอ้างตนว่าเป็นลัทธิสังคมนิยม
แต่กลับมีพฤติกรรมเฉกเช่นลัทธิจักรวรรดินิยม[2]
อย่างไรก็ตาม
หลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงใน ค.ศ. 1976 และการกลับสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิงในปีถัดมา
ทางการจีนได้เริ่มแสดงท่าทียืดหยุ่นมากขึ้นในการตีความเกี่ยวกับอุดมการณ์ ดังที่ในช่วง
ค.ศ. 1977 – 1978 เติ้งเสี่ยวผิงได้วิจารณ์แนวคิด
“อะไรก็ตามสองประการ (The Two Whatevers)” ของฮว่ากั๋วเฟิง (Hua
Guofeng) ผู้สืบทอดตำแหน่งประธานพรรคต่อจากเหมาเจ๋อตง อันหมายถึงการดำเนินการตามนโยบายและคำสั่งของเหมาเจ๋อตงอย่างเคร่งครัด[3]
เขายังเสนอด้วยว่าแท้จริงแล้วแนวคิดของเหมาเจ๋อตงตั้งอยู่บนการ
“แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง (seek truth from facts)”[4] ทั้งหมดนี้ปูทางไปสู่การประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในเดือนธันวาคม
ค.ศ. 1978 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนท่าทีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ
ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวกับคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ว่า
ในยามที่พรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งแสดงความเห็นต่อการกระทำของพรรคภราดาในต่างประเทศ
พรรคดังกล่าวมักตัดสินพรรคอื่นด้วยรูปแบบที่เข้มงวดและตายตัว
ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นแล้วว่าการทำเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์
เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน
ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น และการรวมพลังของชนชั้น แล้วเราจะเอารูปแบบที่ตายตัวไปปรับใช้กับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไร
... กล่าวโดยสรุปก็คือ
เราจะต้องเคารพวิถีทางที่พรรคและประชาชนในต่างประเทศจัดการกับเรื่องของพวกเขา
และควรปล่อยให้พวกเขาแสวงหาทางเดินของตนเองและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
ไม่ควรจะมีพรรคใดทำตัวเป็นพรรคปิตาธิปไตยและออกคำสั่งแก่พรรคอื่นๆ[5]
เลโอนิด เบรชเนฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1964-1982
อย่างไรก็ตาม
เมื่อถึง ค.ศ. 1980 พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์ได้สำเร็จเฉพาะกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตเท่านั้น
เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียใน ค.ศ. 1978[6]
และขบวนการยูโรคอมมิวนิสต์
(Eurocommunism) ใน ค.ศ. 1980[7] เป็นต้น โดยที่ยังไม่ได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมที่ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตซึ่งรวมถึงคิวบาแต่อย่างใด
เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ยังตึงเครียดกันอยู่ในกรณีเวียดนามยึดครองกัมพูชาและสหภาพโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถานซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น
ดังจะเห็นได้ว่าแม้ในต้น ค.ศ. 1979 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะแจกจ่ายเอกสารไปยังเจ้าหน้าที่ของพรรคโดยระบุว่าสหภาพโซเวียตนั้นไม่ใช่
“ลัทธิแก้” อีกต่อไปแล้ว แต่เอกสารดังกล่าวก็ยังคงระบุถึงภัยคุกคามที่เกิดจาก
“ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม” หรือ “ลัทธิครองความเป็นใหญ่” ของสหภาพโซเวียต[8]
ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตมาเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมิคาอิล
ซุสลอฟ (Mikhail Suslov) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและนักทฤษฎีคนสำคัญที่โต้เถียงกับจีนมาตั้งแต่ทศวรรษ
1960 ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1982 ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศและความอ่อนล้าทางการทหารได้ทำให้สหภาพโซเวียตเริ่มมีท่าทีประนีประนอมกับจีนมากขึ้น
โดยในเดือนมีนาคมของปีนั้น เลโอนิด เบรชเนฟ เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความประสงค์จะเริ่มต้นเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง
หลังจากที่หยุดชะงักไปเมื่อสิ้น ค.ศ. 1979 และนำไปสู่การเจรจาระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในช่วง
ค.ศ. 1982 - 1983 รวมกันถึง 3 ครั้ง
ถึงแม้ว่าจีนกับสหภาพโซเวียตจะยังต้องใช้เวลาจนถึง
ค.ศ. 1989 จึงจะปรับความสัมพันธ์กันจนเป็นปกติได้อย่างสมบูรณ์
แต่ก็กล่าวได้ว่าช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เป็นต้นมา บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในมุมมองของจีนนั้นดีขึ้นมาก
ดูได้จากรายงานที่หูเย่าปัง (Hu Yaobang) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่
12 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1982
ซึ่งระบุว่า ภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกนั้นเกิดจากการแข่งขันกันระหว่างอภิมหาอำนาจ[9]
ต่างจากรายงานของฮว่ากั๋วเฟิงที่เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 11 เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1977 ที่เน้นว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าสหรัฐอเมริกา[10]
อีกทั้งคำว่า “ลัทธิแก้” และ “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม”
ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญของจีนฉบับ ค.ศ. 1975 และฉบับ ค.ศ. 1978
นั้นก็หายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1982
และในช่วงเวลาเดียวกัน ทางการจีนก็ไม่พูดถึง “ทฤษฎีสามโลก”
ของเหมาเจ๋อตงที่เน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านสหภาพโซเวียตอีกต่อไป[11]
และแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ (independent
foreign policy)” ซึ่งมีจุดเน้น 4ด้าน ได้แก่ สันติภาพ
การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ และการรวมประเทศให้เป็นเอกภาพ[12]
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้
การปรับเปลี่ยนนโยบายวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการเริ่มต้นปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตได้ทำให้จีนหลัง
ค.ศ. 1982 ไม่จำเป็นต้องนำคิวบามาเป็นเป้าโจมตีทางศีลธรรมเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตเหมือนที่เคยเป็นมา
หรือที่ Dittmer กล่าวว่า “การเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็นปกติระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตทำให้จีนไม่ต้องนำเรื่องการต่อต้านลัทธิครองความเป็นใหญ่มาเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็นปกติกับกับประเทศสังคมนิยมในโลกที่สามอีกต่อไป”[13]
โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1983 จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเอ็มพีแอลเอของแองโกลาที่คิวบาให้การสนับสนุน
จึงเท่ากับลดความตึงเครียดระหว่างจีนกับคิวบาลงไปอีก และปูทางไปสู่การเริ่มต้นปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในปีนั้น
--------------------------------------------------------------
[1] Lin Biao, “Long Live the Victory of People’s War
(September 3, 1965),” available from Lin Biao Reference Archive
https://www.marxists.org/reference/archive/lin-biao/1965/09/peoples_war/index.htm;
accessed 8 March 2017.
[2] Peking Review, 6 September 1968, 12.
[3] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping
Volume II (1975-1982), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/02/25/the-two-whatevers-do-not-accord-with-marxism/;
accessed 26 March 2017.
[4] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping
Volume II (1975-1982), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/02/25/hold-high-the-banner-of-mao-zedong-thought-and-adhere-to-the-principle-of-seeking-truth-from-facts/;
accessed 26 March 2017.
[5] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping
Volume II (1975-1982), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/02/25/an-important-principle-for-handling-relations-between-fraternal-parties/;
accessed 25 March 2017.
[6] ดูรายละเอียดใน สิทธิพล เครือรัฐติกาล. รายงานการวิจัยเรื่อง
จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต: อุดมการณ์และการสมานไมตรีในทศวรรษ
1970. กองทุนวิจัยวิทยาลัยสหวิทยาการ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557.
[7] ขบวนการยูโรคอมมิวนิสต์ก่อตัวขึ้นในอิตาลี
ฝรั่งเศส และสเปนมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 โดยมุ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมผ่านระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งต่างจากลัทธิสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตที่เน้นการใช้กำลังทำลายล้างลัทธิทุนนิยม
และต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) ที่มุ่งเอาข้อดีบางด้านของลัทธิสังคมนิยมมาปฏิรูปลัทธิทุนนิยม
[8] Dittmer, ibid., 37.
[9] Beijing Review, 13 September 1982, 31.
[10] Peking
Review, 26 August 1977, 40.
[11] จีนไม่เคยประกาศยกเลิกทฤษฎีสามโลกอย่างเป็นทางการ
แต่ต่อมาในหนังสือประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับทางการที่ตีพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ
70 ปีของพรรคใน ค.ศ. 1991 นั้นยอมรับว่าบางส่วนของทฤษฎีนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
ดูใน Hu Sheng (ed.), A Concise History of the Communist Party of
China (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 694.
[12] Sanqiang Jian, Foreign Policy Restructuring as
Adaptive Behavior: China’s Independent Foreign Policy 1982-1989 (New York:
University Press of America, Inc, 1996), 219.
[13] Dittmer, ibid., 132.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น