ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1966 หรือ 4 เดือนหลังจากที่เกิดสงครามข้าวระหว่างจีนกับคิวบา การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนก็ปะทุขึ้นและนำมาซึ่งความโกลาหลทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศอีกด้วย และเมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1967 ยามพิทักษ์แดง (The Red Guards) ซึ่งเป็นกลุ่มมวลชนผู้เทิดทูนอุดมการณ์ของเหมาเจ๋อตงอย่างสุดโต่งได้บุกยึดกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้เฉินอี้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีไม่สามารถควบคุมกระทรวงของตนได้อีกต่อไป ในช่วงนั้นจีนมิได้มีแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจน นอกเสียจากการปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปตามกระแสแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมเท่านั้น[1] และในปีเดียวกันนั้นเองได้มีการเรียกเอกอัครรัฐทูตจีนเกือบทั้งหมดกลับประเทศ (ยกเว้นเอกอัครรัฐทูตประจำกรุงไคโร)[2] เพื่อมารับการอบรมเข้มเชิงอุดมการณ์ และบางคนยังถูกไต่สวนโดยยามพิทักษ์แดงอีกด้วย ขณะที่สถานทูตต่างชาติหลายแห่งในกรุงปักกิ่งก็ถูกปิดล้อมและโจมตีโดยยามพิทักษ์แดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานทูตสหภาพโซเวียตและสถานทูตสหราชอาณาจักรฯ ซึ่งเป็นตัวแทนของลัทธิแก้และลัทธิจักรวรรดินิยมตามลำดับ
คิวบาจะมีท่าทีตระหนกตกใจต่อการปฏิวัติวัฒนธรรมอยู่ไม่น้อย
ดังที่รองประธานบัณฑิตยสภาแห่งคิวบา (The Cuban Academy of Sciences) กล่าวกับนักการทูตโซเวียตที่ประจำอยู่ ณ
กรุงฮาวานาภายหลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1966
ว่า
“มันยากที่จะจินตนาการว่าพวกยามพิทักษ์แดงและประชาชนที่ทำตามพวกเขานั้นโง่ถึงระดับไหน
พวกที่นิยมฮิตเลอร์คงจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากพวกเขาได้”[3]
ขณะที่เหยาเหวินหยวน (Yao Wenyuan) ผู้นำคนสำคัญในการปฏิวัติวัฒนธรรมก็ประณามว่าฟิเดล
คาสโตรเป็นพวกลัทธิแก้[4]
แต่คิวบาก็ตกเป็นเป้าโจมตีจากจีนในช่วงดังกล่าวน้อยกว่าสหภาพโซเวียตและประเทศอื่นๆ
ที่อยู่ในค่ายสังคมนิยมด้วยกัน (ยกเว้นแอลเบเนีย โรมาเนีย และเวียดนามเหนือที่ไม่โดนโจมตีเลย)[5]
กล่าวคือ นอกจากข้อกล่าวหาเรื่องลัทธิแก้แล้ว คิวบาก็ไม่ตกเป็นเป้าโจมตีของจีนในลักษณะอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม
ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมได้ส่งผลกระทบทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาเช่นกัน
โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1967 ขณะที่นักศึกษาจีนจำนวนรวม 69
คนกำลังเดินทางจากฝรั่งเศสและฟินแลนด์โดยทางรถไฟเพื่อกลับมาร่วมการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน
พวกเขาได้แวะพักที่กรุงมอสโกและเดินทางไปวางพวงหรีดที่อนุสรณ์สถานเลนินและหลุมศพของสตาลิน
ณ จัตุรัสแดง จากนั้นก็ได้ตะโกนข้อความที่อยู่ในหนังสือ คติพจน์เหมาเจ๋อตง
และร้องเพลง ดิ แองแตร์นาซิอองนาล (The Internationale) ซึ่งเป็นเพลงประจำลัทธิสังคมนิยมจนถูกตำรวจของโซเวียตใช้กำลังเข้าทุบตีจนได้รับบาดเจ็บกว่า
30 คน จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า กรณีจัตุรัสแดง
(The Red Square Incident) และทำให้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ของปีนั้น ทางการจีนระดมมวลชน 100,000 คนมารวมตัวกันที่โรงพลศึกษากรรมกรปักกิ่ง
(Beijing Workers’ Gymnasium) เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านการใช้ความรุนแรงของสหภาพโซเวียตต่อนักศึกษาจีน
และยังมีประชาชนไปปิดล้อมสถานทูตโซเวียตในกรุงปักกิ่งอีกด้วย[6]
กรณีจัตุรัสแดงส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในแง่ที่ว่า
เมื่อเกิดการประท้วงต่อต้านสหภาพโซเวียตขึ้นในกรุงปักกิ่งแล้ว
สำนักงานบริการเจ้าหน้าที่การทูตแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Service Bureau
for Diplomatic Missions) ซึ่งทำหน้าที่ให้บริการแก่นักการทูตต่างชาติได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชาวจีนที่สังกัดสำนักงานดังกล่าวให้ไปร่วมการประท้วงด้วย
โดยในบันทึกความทรงจำของสวีอี้ชง ผู้ทำหน้าที่ดูแลเจ้าหน้าที่ชาวจีนในสถานทูตคิวบา
ณ กรุงปักกิ่งระบุว่า เมื่อออสการ์ ปิโน ซานโตส (Oscar Pino Santos) เอกอัครรัฐทูตคิวบาประจำประเทศจีนทราบข่าวว่ามีเจ้าหน้าที่ชาวจีนในสถานทูตของตนไปร่วมการประท้วงต่อต้านสหภาพโซเวียตก็ไม่พอใจเป็นอย่างมาก
และไล่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นรวม 7 คนออกไปจากสถานทูต
แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ยินยอมจนทำให้เจ้าหน้าที่ชาวคิวบาต้องใช้กำลังเข้าจัดการ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ของสำนักข่าวซินหัวสามารถถ่ายภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ
ประตูใหญ่ของสถานทูตเอาไว้ได้ ทำให้ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1967 ทางการคิวบาส่งเมาโร จี การ์เซีย (Mauro G. Garciá) อธิบดีกรมประเทศสังคมนิยมและอดีตเอกอัครรัฐทูตประจำกรุงฮานอยเดินทางมายังกรุงปักกิ่งเพื่อขอโทษจีนและให้รับตำแหน่งเอกอัครรัฐทูตแทนซานโตส
รวมทั้งอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ที่ถูกไล่ออกกลับเข้ามาทำงานได้ตามเดิม[7]
โปสเตอร์สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม เขียนว่า "ลัทธิแก้ของโซเวียตจงพินาศ"
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ
1960 ก็คือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความตึงเครียดจนมูลค่าการค้าระหว่างสองฝ่ายลดลงจาก
216.01 ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. 1965 เหลือ
120.37 ล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ. 1969 แต่คิวบาก็ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในลาตินอเมริกา[8]
ทั้งนี้คิวบาถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจากจีน โดยมีมูลค่าเฉลี่ยตั้งแต่
ค.ศ. 1960 ถึง ค.ศ. 1973 อยู่ที่ปีละประมาณ
79 ล้านเหรียญสหรัฐ[9]
รวมทั้งยังมีการลงนามในพิธีสารการค้าประจำปีกันตามปกติ จนมีข้อสังเกตจากนักวิชาการว่าเรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นมิติเชิงสัมฤทธิผลนิยมในนโยบายต่างประเทศของทั้งสองฝ่าย
รวมทั้งฝีมือของเทคโนแครตที่สามารถประคับประคองความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ท่ามกลางความตึงเครียด[10]
------------------------------------------
[1] Jeremy Friedman, Shadow Cold War: The Sino-Soviet
Competition for the Third World (Chapel Hill, NC: The University of North
Carolina Press, 2015), 153.
[2] เอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงไคโรในขณะนั้นคือ
หวงหัว (Huang Hua)
[3] Friedman, ibid., 154.
[4] Boris T. Kulik, Sovetsko-Kitaiskii Raskol:
Prichiny I Posledstviia (The Sino-Soviet Schism: Reasons and Consequences)
(Moscow: Russian Academy of Sciences, 2000), 444, cited in ibid., 154.
[5] แอลเบเนียเป็นประเทศสังคมนิยมนอกค่ายโซเวียตและมีความสัมพันธ์อันดีกับจีนมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ
1950
ส่วนโรมาเนียในครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 แม้จะยังอยู่ในค่ายโซเวียต
แต่ก็แสดงความเป็นอิสระด้านนโยบายต่างประเทศด้วยการมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา
ขณะที่เวียดนามเหนือในช่วงนั้นเป็นสนามในการแย่งชิงอิทธิพลระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต
[6] ดูรายละเอียดของกรณีจัตุรัสแดงได้ใน Ma
Jisen, The Cultural Revolution in the Foreign Ministry of China (Hong
Kong: The University of Hong Kong Press, 2004), 168-172.
[7] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 27-35.
[8] จงกั๋วตุ้ยว่ายจิงจี้เม่าอี้อู่สือเหนียนเปียนเหว่ยหุ้ย
(บก.), จงกั๋วตุ้ยว่ายจิงจี้เม่าอี้อู่สือเหนียน (50 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของจีน) (เป่ยจิง: ตางไต้สื้อเจี้ยชูป่านเส้อ, 1999),
508.
[9] He Li, ibid. 26.
[10] Fernandez,
ibid., 20.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น