วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 10 คิวบาในมุมมองของจีนจนถึงต้นทศวรรษ 1980: หุ่นเชิดของลัทธิสังคมจักรวรรดินิยมโซเวียตและเป้าโจมตีทางศีลธรรม)


นโยบายต่างประเทศของคิวบาหลังการปฏิวัติเมื่อ ค.ศ. 1959 นั้นมีความโดดอยู่ประการหนึ่ง กล่าวคือ การเป็นประเทศขนาดเล็กที่ส่งกำลังทหารออกไปปฏิบัติการข้ามทวีปเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1970 และ 1980 จนทำให้คิวบาเป็นประเทศที่ส่งทหารออกไปปฏิบัติการข้ามทวีปมากเป็นอันดับสองในยุคสงครามเย็น โดยเป็นรองแต่เพียงสหรัฐอเมริกาเท่านั้น[1] สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้นำคิวบามองว่าการส่งทหารไปช่วยเหลือขบวนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ จะเป็นการลดทอนอิทธิพลของสหรัฐฯ ในทางอ้อม รวมทั้งมองว่าตนเองมีพันธะที่จะต้องช่วยเหลือประเทศโลกที่สามมากกว่าประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

เหล่าผู้นำคิวบาเชื่อว่าประเทศของพวกเขามีความเห็นอกเห็นใจเป็นพิเศษต่อโลกที่สามที่ไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะลาตินอเมริกาเท่านั้น และคิวบาจะต้องแสดงบทบาทที่พิเศษ สหภาพโซเวียตและพันธมิตรในยุโรปตะวันออกล้วนแต่เป็นคนขาวและถือว่าร่ำรวยถ้าวัดโดยมาตรฐานของโลกที่สาม ส่วนจีนก็แสดงความอหังการในฐานะมหาอำนาจที่กำลังทะยานขึ้นและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมแอฟริกันและลาตินอเมริกัน ในทางตรงกันข้าม คิวบาไม่ใช่คนขาว ยากจน ถูกคุกคามจากศัตรูที่ทรงอำนาจ และยังมีวัฒนธรรมที่เป็นลาตินอเมริกันและแอฟริกัน คิวบาจึงเป็นลูกผสมที่มีลักษณะเฉพาะ นั่นคือ การเป็นประเทศสังคมนิยมที่มีสำนึกของความเป็นโลกที่สาม[2]  

 

อย่างไรก็ตาม  จีนไม่ได้เข้าใจพฤติกรรมของคิวบาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้เป็นเพราะปฏิบัติการทางการทหารของคิวบาในช่วงทศวรรษ 1970 นั้นเกิดขึ้นในบริบทสำคัญสองบริบท บริบทแรกคือการที่จีนมองสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามมากยิ่งขึ้นภายหลังกรณีเชโกสโลวะเกียเมื่อ ค.ศ. 1968 และการปะทะกันตามแนวชายแดนจีน-โซเวียตในปีถัดมา โดยในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9 ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1969 หลินเปียวระบุว่าจีนต้องเตรียมตัวรับมือกับสงครามขนาดใหญ่ซึ่งรวมถึงสงครามนิวเคลียร์ และต้องแสวงหาความร่วมมือจากประเทศและประชาชนทั่วโลกเพื่อสร้าง “แนวร่วมที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (the broadest possible united front)” ในการเอาชนะลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิแก้[3] หรือที่ต่อมาพัฒนาเป็นทฤษฎีสามโลก (Three Worlds Theory)” ซึ่งเสนอโดยเหมาเจ๋อตงใน ค.ศ. 1974[4] บริบทถัดมาคือความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับสหภาพโซเวียตที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 โดยในการประชุมกลุ่มประเทศในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (The Non - Aligned Movement) ณ ประเทศแอลจีเรียเมื่อ ค.ศ. 1973 ฟิเดล คาสโตรประณามการตีตราว่าสหภาพโซเวียตเป็นลัทธิจักรวรรดินิยมเหมือนสหรัฐอเมริกา[5] และต่อมาใน ค.ศ. 1975 สหภาพโซเวียตได้เชิญคิวบาเข้าร่วมการประชุมอินเตอร์คิท (Interkit) อันเป็นเวทีประสานความร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ในการกำหนดท่าทีต่อจีน ด้วยเหตุนี้จีนจึงมองพฤติกรรมหรือจุดยืนของคิวบาในกรณีต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 1970 ว่าเป็นแผนการของ “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยมโซเวียต (Soviet social-imperialism)” ที่จะขยายอำนาจไปยังต่างประเทศ และจีนกับคิวบาก็มีจุดยืนที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนในกรณีของแองโกลาและกัมพูชา


    การ์ตูนล้อเลียนความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับสหภาพโซเวียต
        ในนิตยสาร ปักกิ่งรีวิว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982


ในต้นทศวรรษ 1970 แองโกลายังคงเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส โดยมีขบวนการที่กำลังทำสงครามต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมรวม 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ขบวนการประชาชนเพื่อการปลดปล่อยแองโกลา หรือเอ็มพีแอลเอ (MPLA) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1956 โดยเป็นขบวนการที่ประกาศตนว่าเดินตามลัทธิมากซ์อย่างชัดเจนและได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธและการฝึกจากทั้งจีน สหภาพโซเวียต และคิวบา[6] (2) แนวร่วมแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อยแองโกลา หรือเอฟเอ็นแอลเอ (FNLA) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1962 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่างประธานาธิบดีโมบูตู (Mobutu) แห่งซาอีร์[7] ผู้ซึ่งหวังจะยึดครองแหล่งน้ำมันในแองโกลาและสร้างมหาอาณาจักรซาอีร์ (Greater Zaire)[8] และ (3) สหภาพแห่งชาติเพื่อการเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์ของแองโกลา หรือยูนิตา (UNITA) ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1966 โดยแยกตัวออกมาจากเอฟเอ็นแอลเอ และถึงแม้ว่ายูนิตาจะประกาศตนว่าได้รับแรงบันดาลใจการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตง ทว่าจีนก็ให้ความช่วยเหลือแก่ยูนิตาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น[9] แต่แล้วใน ค.ศ. 1973 เมื่อตระหนักว่าสหภาพโซเวียตกำลังมีอิทธิพลเหนือเอ็มพีแอลเอมากเกินไป จีนจึงละทิ้งเอ็มพีแอลเอและหันมาสนับสนุนเอฟเอ็นแอลเอแทน หรือเท่ากับว่าจีนสนับสนุนขบวนการเดียวกับสหรัฐฯ เพื่อคานอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในแองโกลา

แองโกลากลายเป็นปัญหามากขึ้นเมื่อเกิดการรัฐประหารในโปรตุเกสเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1974 และรัฐบาลใหม่ที่กรุงลิสบอนซึ่งไม่ต้องการแบกรับภาระด้านงบประมาณในการดูแลอาณานิคมได้สั่งให้ถอนเจ้าหน้าที่และทหารออกจากแองโกลา การถอนตัวของเจ้าอาณานิคมยิ่งเปิดช่องให้ขบวนการเรียกร้องเอกราชทั้งหลายและประเทศที่อยู่เบื้องหลังเร่งช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง จีนส่งครูฝึก 112 คนไปยังซาอีร์เพื่อช่วยเหลือเอฟเอ็นแอลเอในเดือนพฤษภาคมของปีนั้น และยังส่งอาวุธไปให้อีก 450 ตันในต้นเดือนกันยายนของปีเดียวกัน[10] ส่วนสหรัฐอเมริกาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1975 ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เอฟเอ็นแอลเอและยูนิตาเป็นมูลค่า 14 ล้านเหรียญสหรัฐ[11] ขณะเดียวกันในต้น ค.ศ. 1975 สหภาพโซเวียตก็เร่งส่งอาวุธมากให้แก่เอ็มพีแอลเอ ส่วนคิวบาก็ส่งที่ปรึกษาทางทหารมาช่วยเอ็มพีแอลเอวางแผนการรบและยังส่งเงินช่วยเหลือจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐมาให้ในเดือนสิงหาคมของปีนั้นอีกด้วย[12] ในที่สุดแล้วเมื่อถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1975 เอ็มพีแอลเอซึ่งมีสหภาพโซเวียตและคิวบาให้การสนับสนุนก็สามารถยึดครองเมืองเอกของ 11 จังหวัดจาก 15 จังหวัดไว้ได้ หรือเท่ากับว่าเอฟเอ็นแอลเอซึ่งมีจีนและสหรัฐอเมริกาสนับสนุนนั้นกำลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในแองโกลา แต่สถานการณ์กลับพลิกผันในต้นเดือนตุลาคมของปีนั้น เมื่อแอฟริกาใต้ซึ่งขณะนั้นยังคงยึดครองนามิเบียและไม่ต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับตนทางทิศเหนืออย่างแองโกลาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียต ได้ส่งกองกำลังราว 3,000 คน พร้อมเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน และยานเกราะเข้ามาช่วยเอฟเอ็นแอลเอและยูนิตาจนสามารถยึดดินแดนที่อยู่ในการควบคุมของเอ็มพีแอลเอคืนมาได้เป็นจำนวนมาก และมีทีท่าว่าจะสามารถยึดกรุงลูอันดาได้ในระยะเวลาไม่นานนัก

ทั้งจีนและคิวบาต่างมีปฏิกิริยาต่อการเข้าแทรกแซงของแอฟริกาใต้ในแองโกลาด้วยกันทั้งคู่ แต่เป็นไปในลักษณะที่ต่างกัน กล่าวคือ จีนตกใจมากกับการเข้าแทรกแซงดังกล่าว เพราะเท่ากับว่าจีนกำลังกลายเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลของประเทศที่มีการเหยียดสีผิว (apartheid) ไปโดยปริยาย ซึ่งขัดกับจุดยืนที่จีนยึดมั่นมาตลอดเกี่ยวกับการปลดปล่อยอาณานิคมและการต่อต้านรัฐบาลของชนกลุ่มน้อยผิวขาวในทวีปแอฟริกา และจะกระทบต่อสถานะและความน่าเชื่อถือของจีนในสายตาของประเทศจำนวนมากในทวีปดังกล่าวอย่างแน่นอน ทำให้ในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. 1975 จีนตัดสินใจถอนตัวออกจากความขัดแย้งในแองโกลา[13] ขณะที่คิวบาก็ตกใจเช่นเดียวกัน ด้วยเกรงว่าการเข้าแทรกแซงดังกล่าวจะทำให้เอ็มพีแอลเอพ่ายแพ้และอำนาจการปกครองแองโกลาจะตกอยู่ในมือของกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทำให้ในต้นเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันนั้น คิวบาตัดสินใจส่งทหารเข้าแทรกแซงในแองโกลาจนสามารถช่วยเอ็มพีแอลเอป้องกันกรุงลูอันดาเอาไว้ได้ ต่อมาในวันที่ 11 พฤศจิกายนของปีนั้นเอง เอ็มพีแอลเอก็ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนแองโกลา (The People’s Republic of Angola) และนับจากนั้นจนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 คิวบาได้ส่งทหารไปปฏิบัติการคุ้มครองรัฐบาลเอ็มพีแอลเอเป็นจำนวนรวมถึง 375,000 คน[14]

แม้ว่าจีนจะถอนตัวออกไปจากแองโกลาก่อนการมาถึงของทหารคิวบาจนทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ปะทะกันทางทหารโดยตรง แต่กรณีดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นที่ทั้งจีนและคิวบาใช้ในการกล่าวโจมตีซึ่งกันและกันในเวลาต่อมา โดยในการให้สัมภาษณ์กับสื่อของฝรั่งเศสเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1977 ฟิเดล คาสโตรระบุว่าจีนกำลังดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ทรยศต่อลัทธิสากลนิยมและลัทธิมากซ์-เลนิน และหนึ่งในตัวอย่างก็คือกรณีของแองโกลาที่จีนเข้าเป็นพวกเดียวกับสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐอเมริกา (Central Intelligence Agency - CIA) ลัทธิอาณานิคมใหม่ และพวกเหยียดเชื้อชาติ[15] ขณะที่ฝ่ายจีนก็ได้นำเรื่องการแทรกแซงทางทหารของคิวบาในแองโกลามาใช้ทำลายความน่าเชื่อถือในการเป็นผู้นำขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของคิวบา ดังบทความใน ปักกิ่งรีวิว เมื่อ ค.ศ. 1978 ที่ตั้งคำถามว่า หากคิวบาเข้าแทรกแซงทางทหารในแองโกลาโดยมีจุดประสงค์เพื่อการปลดปล่อยประชาชนจากลัทธิจักรวรรดินิยมจริง เหตุใดคิวบาจึงไม่เข้าแทรกแซงเสียตั้งแต่เมื่อชาวแองโกลาต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมอย่างโปรตุเกส แต่กลับเพิ่งเข้ามาแทรกแซงเมื่อโปรตุเกสละทิ้งอาณานิคมไปแล้ว และบทความดังกล่าวเปรียบเปรยว่าคิวบากำลังเป็นม้าโทรจัน (Trojan horse) ให้กับสหภาพโซเวียตในการบ่อนทำลายขบวนการฝักใฝ่ฝ่ายใด[16]   

นอกจากปัญหาแองโกลาแล้ว กัมพูชาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นำไปสู่การกล่าวโจมตีกันอย่างรุนแรงระหว่างจีนกับคิวบา ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1978 เวียดนามได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหภาพโซเวียต และในวันที่ 25 ของเดือนถัดมา เวียดนามได้รุกรานกัมพูชาประชาธิปไตย (Democratic Kampuchea) ที่ปกครองโดยพอลพต (Pol Pot) ผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่มีจีนให้การอุปถัมภ์ และได้สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (The People’s Republic of Kampuchea) ที่นิยมเวียดนามขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1979 โดยมีเฮง สัมริน (Heng Samrin) เป็นประมุข ซึ่งจีนมองว่าทั้งหมดเป็นแผนการของสหภาพโซเวียตที่จะขยายอำนาจเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเวียดนาม ทำให้ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ของปีนั้น จีนตอบโต้การเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างเวียดนามกับสหภาพโซเวียตด้วยการนำทหารจำนวน 170,000 คนบุกภาคเหนือของเวียดนามเป็นเวลา 4 สัปดาห์ก่อนที่จะถอนกำลังกลับ หรือที่เรียกกันว่า สงครามจีนสั่งสอนเวียดนาม[17]

หลังจากที่จีนเริ่มบุกเวียดนามได้เพียง 4 วัน หรือตรงกับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 ฟิเดล คาสโตรได้จัดการระดมมวลชนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนเวียดนามขึ้นที่กรุงฮาวานา โดยกล่าวว่าจีนกำลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของพวกฟาสซิสต์ซึ่งทรยศต่อลัทธิสังคมนิยมและหันไปร่วมมือกับประเทศจักรวรรดินิยมอย่างสหรัฐอเมริกาในบุกเวียดนาม ฟิเดล คาสโตรระบุด้วยว่าเติ้งเสี่ยวผิงเป็น “ไอ้โง่ (numbskull)” และเป็นเสมือนภาพล้อของฮิตเลอร์[18] ต่อมาเมื่อคิวบาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำขบวนการฝักใฝ่ฝ่ายใดที่กรุงฮาวานาในวันที่ 3 กันยายนของปีนั้น ฟิเดล คาสโตรได้กล่าวสุนทรพจน์โจมตีจีน ความตอนหนึ่งระบุว่า

 

จีนมีสิทธิ์อะไรในการสั่งสอนเวียดนาม บุกเข้าไปยังดินแดนของเขา ทำลายมั่งคั่งที่พวกเขามีอยู่ปานกลาง และสังหารประชาชนของเขาไปหลายพันคน กลุ่มผู้ปกครองประเทศจีนสนับสนุนให้ปิโนเชต์โค่นล้มอัลเยนเด สนับสนุนให้แอฟริกาใต้รุกรานแองโกลา สนับสนุนชาห์[19] สนับสนุนโซโมซา[20] สนับสนุนและส่งอาวุธให้ซาดัต[21] เห็นชอบกับการที่พวกแยงกี้ปิดล้อมคิวบา ปกป้องการคงอยู่ขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ และเข้าเป็นฝ่ายเดียวกับสหรัฐอเมริกาและพลังปฏิกิริยาส่วนใหญ่ในยุโรปและในส่วนอื่นๆ ของโลก คนกลุ่มนี้ไม่มีเกียรติหรือมีจุดยืนทางศีลธรรมที่จะไปสั่งสอนใครทั้งนั้น[22]

 

จีนได้ตอบโต้สุนทรพจน์ของฟิเดล คาสโตรผ่านบทบรรณาธิการใน ประชาชนรายวัน เมื่อวันที่ 14 กันยายนของปีนั้น โดยระบุว่าสหภาพโซเวียตคือผู้เบื้องหลังการกระทำของทั้งคิวบาและเวียดนาม และถือเป็นศัตรูที่อันตรายที่สุดของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ดังความตอนหนึ่งว่า

 

แง่ดีของการประชุมสุดยอด ณ กรุงฮาวานาก็คือ สมาชิกจำนวนมากในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดได้เห็นโฉมหน้าอันแท้จริงของคิวบาและเวียดนามที่บอกว่าตนเอง “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” และได้ตระหนักถึงความเข้มแข็งของเอกภาพในการต่อสู้ เราคงพอทำนายได้ว่าคิวบาและเวียดนามที่มีสหภาพโซเวียตคอยกระตุ้นอยู่นั้นคงจะพยายามสร้างอุปสรรคทุกชนิดเพื่อขัดขวางเส้นทางของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวบาซึ่งคงจะใช้อำนาจอย่างผิดๆ ในฐานะที่เป็น “ประธานปัจจุบัน”ในการผลักดันแผนการของสหภาพโซเวียตที่จะบ่อนทำลายหลักการพื้นฐานและทิศทางของขบวนการ[23]

 

ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาที่กินเวลาต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 นั้นไม่สัมพันธ์กับระดับของภัยคุกคามที่คิวบามีต่อจีนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศโลกที่สามอย่างอินเดียและเวียดนามซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต และเป็นศัตรูในสายตาของจีนในช่วงสองทศวรรษสุดท้ายของสงครามเย็น กล่าวคือ ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียและระหว่างจีนกับเวียดนามนั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การที่อินเดียและเวียดนามตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในต้นและปลายทศวรรษ 1970 ตามลำดับนั้นถือเป็นภัยคุกคามระยะประชิดต่อพรมแดนทางทิศตะวันตกและทิศใต้ของจีนอย่างชัดเจน จึงไม่น่าแปลกที่จีนจะมองทั้งสองประเทศนี้เป็นศัตรูตัวฉกาจที่ร่วมมือกับสหภาพโซเวียตในการปิดล้อมจีน และต้องรอให้มีการเริ่มต้นกระบวนการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในต้นทศวรรษ 1980 เสียก่อน การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียและเวียดนามจึงเกิดขึ้นตามมาในปลายทศวรรษเดียวกัน

ในทางตรงกันข้าม คิวบามีที่ตั้งห่างไกลจากจีนมาก และถึงแม้จะส่งทหารไปปฏิบัติการในต่างประเทศ แต่คิวบาก็ไม่มีปฏิบัติการในภูมิภาคที่รายล้อมพรมแดนของจีนเลย อีกทั้งการแสดงจุดยืนของคิวบาที่เข้าข้างเวียดนามในการบุกกัมพูชาและเข้าข้างสหภาพโซเวียตในการบุกอัฟกานิสถานในปลายทศวรรษ 1970 ก็เป็นเพียงการสนับสนุนทางวาจาเท่านั้น โดยมิได้มีการกระทำอื่นใดที่จะยกระดับภัยคุกคามในระยะประชิดต่อจีนให้ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม หรือกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบานั้นปรากฏออกมาในรูปของการโต้เถียง (polemics) เป็นส่วนใหญ่ ต่างจากกรณีของอินเดียและเวียดนามที่บั่นทอนความมั่นคงของจีนอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ในเมื่อเป็นเช่นนี้ จีนน่าจะมีโอกาสปรับปรุงความสัมพันธ์กับคิวบาได้ง่ายกว่าปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต อินเดีย และเวียดนาม แต่เหตุใดในที่สุดแล้วเหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้ก็คือ จีนไม่อาจริเริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับคิวบาได้เนื่องจากต้องการใช้คิวบาเป็นเป้าโจมตีทางศีลธรรมเพื่อแสวงหาการยอมรับจากประเทศโลกที่สามในการต่อต้านสหภาพโซเวียต ดังที่ Chih-yu Shih ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับศีลธรรม (morality) ในนโยบายต่างประเทศของจีนยุคสงครามเย็นไว้ว่า

 

จีนไม่ได้มองโลกที่สามในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ จีนจึงไม่สามารถยอมรับประเทศด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งยินดีรับใช้รัฐที่แสวงหาความเป็นใหญ่ (hegemonic states) ให้มาเป็นพันธมิตรกับจีนได้ ตัวอย่างของประเทศเหล่านี้ที่จีนมองว่าเป็นผู้แปรพักตร์นั้นได้แก่ คิวบา อินเดีย และเวียดนาม จีนจึงปฏิเสธที่จะสานสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับว่าจีนกำลังทำลายความน่าเชื่อถือในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านลัทธิครองความเป็นใหญ่[24] 

 

            ด้วยเหตุที่พฤติกรรมของสหภาพโซเวียตในสายตาของจีนยังคงแสดงออกถึงลัทธิครองความเป็นใหญ่ตลอดทศวรรษ 1970 ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาจึงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษนั้น และถึงแม้ว่าในเดือนกันยายน ค.ศ. 1979 จีนจะเริ่มเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตโดยขอให้ลดการวางกำลังทหารตามแนวชายแดนที่ติดกับจีนและในมองโกเลีย รวมทั้งยุติความช่วยเหลือแก่เวียดนาม ขณะที่สหภาพโซเวียตขอให้จีนยุติการกล่าวโจมตีตนและขยายความร่วมมือทางการค้าและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม[25] แต่การเจรจาก็ต้องยุติลงกลางคันเมื่อสหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถานในเดือนธันวาคมของปีนั้น โดยในการประชุมฉุกเฉินนัดพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1980 จีนร่วมมือกับอีก 103 ประเทศลงมติเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานในทันที ขณะที่คิวบาคัดค้าน[26] ทั้งนี้มติจากการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 2 ของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาในเดือนธันวาคมของปีนั้นระบุว่า คิวบายินดีที่ชาวอัฟกันได้รับการปลดปล่อยจากระบอบการปกครองที่เป็นทรราชและกึ่งศักดินา[27] 

หลังการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตในปลาย ค.ศ. 1979 ไปจนถึงต้น ค.ศ. 1982 สิ่งพิมพ์ของทางการจีนยังคงกล่าวโจมตีคิวบาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง โดยเมื่อคิวบาถอนตัวจากการลงสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1980 บทความใน ปักกิ่วรีวิว ก็แสดงความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่คิวบาสนับสนุนการรุกรานอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตจนทำลายหลักการของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จึงสมควรแล้วที่คิวบาจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจนต้องถอนตัวไปในที่สุด[28] จนกระทั่งถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1982 บทความใน ปักกิ่งรีวิว ก็ยังคงระบุว่าคิวบาเป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจของสหภาพโซเวียต[29] แต่แล้วในเดือนถัดมาเมื่อสหภาพโซเวียตแสดงท่าทีว่าต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน การเจรจาระหว่างสองฝ่ายจึงเริ่มต้นอีกครั้งในเดือนตุลาคมของปีนั้น จนนำไปสู่การที่สหภาพโซเวียตเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศในส่วนที่กระทบต่อความมั่นคงของจีน ทำให้การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาเกิดขึ้นได้ในลำดับถัดมา อันจะได้กล่าวถึงต่อไป


-----------------------------------------------------------

[1] Piero Gleijeses, “Cuba and The Cold War, 1959-1980,” in The Cambridge History of the Cold War, Volume II: Crisis and Détente, eds. Melvyn P. Leffler and Odd Arne Westad (Cambridge: Cambridge University Press, 2010), 327.  
[2] Ibid, 341-342.
[3] Peking Review, 30 August 1969, 34.
[4] เหมาเจ๋อตงกล่าวถึงทฤษฎีสามโลกเป็นครั้งแรกในการสนทนากับเคนเนท เดวิด คาอุนดา (Kenneth David Kaunda) ประธานาธิบดีแห่งแซมเบียเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 โดยระบุว่า โลกที่หนึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตซึ่งล้วนเป็นประเทศจักรวรรดินิยม ส่วนโลกที่สองประกอบไปด้วยญี่ปุ่น ประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ขณะที่โลกที่สามประกอบไปด้วยจีนและประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาทั้งหมด  โดยจีนจะต้องสร้างแนวร่วมกับโลกที่สองและโลกที่สามเพื่อต่อสู้กับโลกที่หนึ่ง
[5] Domínguez, ibid., 104-105.
[6] Ian Taylor, China and Africa: Engagement and Compromise (Oxon: Routledge, 2006), 76; Elizabeth Schmidt, Foreign Intervention in Africa: From the Cold War to the War on Terror (New York: Cambridge University Press, 2013), 96.
[7] ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
[8] Schmidt, ibid., 92-93. 
[9] Taylor, ibid., 77.
[10]  Ibid., 78.
[11] Ibid., 80.
[12] Schmidt, ibid., 96.
[13] Ibid., 97.
[14] Choi et al., ibid., 79.
[15] “Interview to French Weekly Afrique-Asie,” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1977/19770506.html; accessed 22 March 2017.
[16] Peking Review, 9 June 1978, 21-22.
[17] เดิมเข้าใจกันว่าสงครามจีนสั่งสอนเวียดนามเป็นปฏิกิริยาตอบโต้การที่เวียดนามรุกรานกัมพูชาในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 แต่การศึกษาในชั้นหลังได้พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจีนเริ่มวางแผนจะบุกเวียดนามตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1978 หลังจากทราบข่าวการลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารระหว่างเวียดนามกับสหภาพโซเวียต ดูรายละเอียดใน Xiaoming Zhang, Deng Xiaoping’s Long War: : The Military Conflict between China and Vietnam, 1979-1991 (Chapel Hill, NC: University of North Carolina Press, 2015).
[18] Fidel Castro, “Vietnam is not alone,” in Taber (ed.), ibid., 167-179.   
[19] ในทศวรรษ 1970 จีนมองอิหร่านภายใต้การปกครองในระบอบกษัตริย์ของชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Pahlavi) ในฐานะพันธมิตรเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต โดยในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1978 ฮว่ากั๋วเฟิง (Hua Guofeng) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังคงเดินทางเยือนกรุงเตหะราน ทั้งๆ ที่ขณะนั้นรัฐบาลของชาห์ควบคุมความวุ่นวายในประเทศไม่ได้แล้ว และเกิดการปฏิวัติจนพระองค์ต้องสละราชสมบัติในเดือนมกราคมของปีถัดมา ดูใน John W. Garver, China and Iran: Ancient Partners in a Post-Imperial World (Seattle, WA: University of Washington Press, 2006), 54-56.
[20] ระบอบเผด็จการของตระกูลโซโมซา (Somoza) ซึ่งปกครองของนิการากัวในช่วง ค.ศ. 1936 – 1979 นั้นเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาในสงครามเย็น แต่นิการากัวในช่วง ค.ศ. 1965 – 1985 นั้นมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลของสาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวัน ข้อกล่าวหาของฟิเดล คาสโตรที่ว่าจีนสนับสนุนระบอบโซโมซาจึงดูจะเป็นการเหมารวมเกินไปว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ ทั้งหมดในทศวรรษ 1970 คือพันธมิตรของจีน
[21] อันวาร์ ซาดัต (Anwar Sadat) ประธานาธิบดีอียิปต์ช่วง ค.ศ. 1970 – 1981 เป็นพันธมิตรสำคัญของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน ทั้งนี้ในทศวรรษ 1970 จีนมีพันธมิตรสำคัญในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตอยู่สองประเทศ หรือที่มีนักวิชาการเรียกว่านโยบายเดินบนขาทั้งสองข้าง (walking on two legs) ข้างหนึ่งคืออันวาร์ ซาดัต อีกข้างหนึ่งคือชาห์แห่งอิหร่าน โปรดดู Yitzhak Shichor, “In Search of Alternatives: China’s Middle East Policy after Sadat,” The Australian Journal of Chinese Affairs, no. 8 (July 1982): 101-110.
[22] Fidel Castro, “Keynote to the Sixth Summit Conference,” in Taber (ed.), ibid., 209.  
[23] Beijing Review, 21 September 1979, 23.
[24] Chih-yu Shih, China’s Just World: The Morality of Chinese Foreign Policy (London: Lynne Rienner Publishers, 1993), 186. 
[25] Lowell Dittmer, Sino-Soviet Normalization and Its International Implications, 1945-1990 (Seattle, WA: University of Washington Press, 1992), 71.
[26] Beijing Review, 4 February 1980, 14.
[27] “Resolution on international policy,” in Taber (ed.), ibid., 441. 
[28] Beijing Review, 3 November 1980, 14.
[29] Beijing Review, 22 February 1982, 11-12.

ไม่มีความคิดเห็น: