“40 กว่าปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาได้ผ่านทั้ง “ช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์”
“ช่วงแห่งความตกต่ำ” “ช่วงแห่งการฟื้นฟู”
และปัจจุบันได้เข้าสู่ “ช่วงแห่งการมีวุฒิภาวะ” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
จูเสียงจง
อดีตนักการทูตจีนประจำคิวบา[1]
ฟิเดล คาสโตร เยี่ยมชมกำแพงเมืองจีนในระหว่างเดินทางเยือนจีนเมื่อ ค.ศ. 1995
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
นับตั้งแต่การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ
ค.ศ. 1921 ลาตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่พรรคมีการติดต่อด้วยล่าช้ามาก
โดยความสัมพันธ์ทางตรงระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับบรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่งเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน
ค.ศ. 1956[2] และนับจากการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ ค.ศ. 1949 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเกิดขึ้นของสงครามเย็นระหว่างค่ายโลกเสรีกับค่ายสังคมนิยม
จีนก็ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศใดในภูมิภาคลาตินอเมริกาซึ่งเป็น
“สนามหลังบ้าน” ของสหรัฐอเมริกาเลย ตราบจนกระทั่งฟิเดล คาสโตร (Fidel
Castro) ทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลบาติสตา (Batista) ซึ่งเป็นรัฐบาลของคิวบาที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้สำเร็จใน ค.ศ. 1959
คิวบาภายใต้ระบอบใหม่ที่ต่อต้านการครอบงำของสหรัฐฯ จึงกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคดังกล่าวที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเมื่อวันที่
28 กันยายน ค.ศ. 1960
แม้ว่าในการปฏิวัติคิวบาเมื่อ
ค.ศ. 1959 ฟิเดล
คาสโตรจะไม่ได้ประกาศชัดว่าตนเองเป็นนักลัทธิมากซ์-เลนิน
(Marxist-Leninist) แต่ความสำเร็จของการปฏิวัติดังกล่าวซึ่งมีฐานที่มั่นในชนบทก็มีความคล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องสงครามประชาชน
(People’s War) ของเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยทั้งสองต่างมองว่าการปฏิวัติในประเทศของตนนั้นคือการปฏิวัติใน “ชนบทโลก (countryside
of the world)” ซึ่งจะนำไปสู่การปิดล้อมและบั่นทอนกำลังของลัทธิจักรวรรดินิยมที่นำโดยสหรัฐอเมริกา[3]
และทั้งสองต่างก็มองว่าความสำเร็จของการปฏิวัตินั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางอัตวิสัยมากกว่าเงื่อนไขทางวัตถุวิสัยแบบมากซ์
รวมทั้งยังเชื่อด้วยว่าการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (peaceful coexistence) กับลัทธิจักรวรรดินิยมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้[4]
ความคล้ายคลึงที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ทางการจีนในต้นทศวรรษ
1960 ให้ความสนใจต่อคิวบาในระบอบใหม่เป็นอย่างมากโดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ
3 ประการ ได้แก่ (1) การคาดหวังให้คิวบาเป็นปัจจัยบั่นทอนความมั่นคงของสหรัฐฯ
ในลาตินอเมริกา (2) การคาดหวังให้คิวบาเป็นพันธมิตรที่ช่วยนำประสบการณ์การปฏิวัติของจีนไปเผยแพร่ให้ขบวนการปฏิวัติฝ่ายซ้ายอื่นๆ
ในลาตินอเมริกา และ (3) การคาดหวังว่าภายใต้ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ
1950 นั้น คิวบาจะมีจุดยืนเข้าข้างจีนในการต่อต้าน “ลัทธิแก้
(revisionism)” ของสหภาพโซเวียต[5]
ดังนั้นในต้นทศวรรษ 1960 จีนจึงแสดงจุดยืนสนับสนุนคิวบาอย่างเต็มที่ในการต่อต้านสหรัฐฯ
ไม่ว่าจะเป็นการประณามความพยายามของสหรัฐฯ ในการบุกอ่าวหมู (Bay of Pigs) เพื่อโค่นล้มฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 1961 การประณามนิกิตา
ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำสหภาพโซเวียตที่ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ
ด้วยการถอนขีปนาวุธออกจากคิวบาในปีถัดมา และจีนยังตกลงให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่คิวบาซึ่งถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ
อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาก็ดำเนินไปอย่างเป็นมิตรเฉพาะในช่วงปีแรกๆ ของความสัมพันธ์ทางการทูตเท่านั้น
ดูได้จากหลังการเยือนจีนของเช เกวารา (Che Guevara) นักปฏิวัติและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของคิวบาเมื่อ
ค.ศ. 1965 แล้วก็ไม่มีการเดินทางเยือนกันและกันในระดับรัฐมนตรีขึ้นไปอีกเลย
โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1966 จีนได้ยุติความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคกับคิวบา[6]
และในเดือนถัดมา เหมาเจ๋อตงก็ประณามฟิเดล คาสโตรว่าเป็น
“คนเลวที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ”[7]
ต้องรอจนจนกระทั่ง ค.ศ. 1983 ทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มมีการติดต่อกันในระดับรัฐมนตรีอีกครั้ง
ตามด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคเมื่อ ค.ศ. 1988 และที่สำคัญที่สุดก็คือ การเดินทางเยือนกันและกันของบุคคลระดับประมุขแห่งรัฐ
โดยเจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin) ในฐานะประธานาธิบดีได้เดินทางเยือนกรุงฮาวานาเมื่อ
ค.ศ. 1993 นับเป็นประมุขแห่งรัฐของจีนคนแรกที่เดินทางเยือนคิวบา
และฟิเดล คาสโตรในฐานะประธานาธิบดีก็เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1995
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดความบาดหมางระหว่างสองประเทศอย่างเป็นทางการ
งานวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบานั้นมีอยู่ไม่มาก
โดยงานชิ้นแรกๆ ที่วิเคราะห์เรื่องดังกล่าวคืองานของ Johnson เมื่อ ค.ศ. 1970 ซึ่งเสนอว่า หลังจากที่ฟิเดล คาสโตร
ผิดหวังที่สหภาพโซเวียตยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกาในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเมื่อ
ค.ศ. 1962 จีนก็ได้พยายามให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ
แก่คิวบามากยิ่งขึ้นเพื่อหวังให้คิวบามีจุดยืนที่เข้าข้างจีนในความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียต
อย่างไรก็ตาม จีนไม่มีความสามารถเฉกเช่นสหภาพโซเวียตในการให้ความช่วยเหลือทางการทหารและเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อความต้องการของคิวบา
ทำให้เมื่อถึง ค.ศ. 1964 ฟิเดล คาสโตรซึ่งต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทั้งจีนและสหภาพโซเวียตจึงได้เรียกร้องให้จีนยุติการรณรงค์ต่อต้านสหภาพโซเวียต
ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจคิวบาเป็นอย่างยิ่ง[8]
ขณะที่งานของ Halperin เมื่อ ค.ศ. 1981 ซึ่งวิเคราะห์ข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนกับคิวบาในกลางทศวรรษ
1960 ก็ระบุว่า การที่คิวบาไม่แสดงท่าทีเข้าข้างจีนในการต่อต้านสหภาพโซเวียตส่งผลให้ในปลาย
ค.ศ. 1965 จีนได้แจ้งต่อคิวบาว่าจะขอปรับลดปริมาณการส่งออกข้าวไปยังคิวบาใน
ค.ศ. 1966 ลงจากเดิมเกือบร้อยละ 50 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคิวบาซึ่งถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกา
จึงทำให้ฟิเดล คาสโตรไม่พอใจจีนเป็นอย่างมาก[9]
งานวิชาการเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาที่เขียนขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น
ไม่ว่าจะเป็นงานของเหมาเซียงหลินเมื่อ ค.ศ. 1997 และงานของสวีซื่อเฉิงเมื่อ
ค.ศ. 2003 ต่างยืนยันเฉกเช่นงานชิ้นก่อนๆ
ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบา[10]
แม้กระทั่งงานศึกษาชิ้นล่าสุดของ Yinghong Cheng เมื่อ ค.ศ. 2007
ซึ่งอาศัยข้อมูลจากบันทึกความทรงจำของนักการทูตจีนก็ยังคงยืนยันข้อสรุปเดียวกัน
โดยระบุว่าหลังการสิ้นอำนาจของครุสชอฟใน ค.ศ. 1964 ฟิเดล
คาสโตรพยายามเรียกร้องให้จีนปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้นำชุดใหม่ของสหภาพโซเวียต
ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจ[11]
อย่างไรก็ตาม
งานที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเน้นไปที่การอธิบายจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาในกลางทศวรรษ
1960 แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปและเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบเพิ่มเติมก็คือ
มีปัจจัยอื่นใดบ้างที่หล่อเลี้ยงให้ความขัดแย้งนั้นคงอยู่ยาวนานถึงสองทศวรรษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษ 1970 ที่จีนยอมสมานไมตรีกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของคิวบาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต
และยังเป็นทศวรรษที่ทั้งจีนและคิวบาต่างมีบทบาทอย่างแข็งขันในการสานสัมพันธ์กับประเทศโลกที่สามเพื่อระดมเสียงสนับสนุนอีกด้วย
ปัจจัยเหล่านี้มีกระทบผลอย่างไรบ้างต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และในที่สุดแล้วมีปัจจัยอะไรในทศวรรษ
1980 ที่เอื้ออำนวยให้จีนกับคิวบาหันมาปรับปรุงความสัมพันธ์กันได้สำเร็จจนนำไปสู่การเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูงสุดในครึ่งแรกของทศวรรษ
1990
งานศึกษาที่ตอบคำถามเหล่านี้ได้ใกล้เคียงที่สุดชิ้นแรกคืองานของ
Ratliff เมื่อ ค.ศ. 1990 ซึ่งระบุว่าสงครามกลางเมืองในแองโกลาช่วงกลางทศวรรษ
1970 และการที่เวียดนามยึดครองกัมพูชาในปลายทศวรรษเดียวกันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกับคิวบาไม่เป็นมิตรต่อกันมาจนถึงทศวรรษ
1980[12] งานชิ้นที่สองคืองานของ Fernandez เมื่อ ค.ศ. 1993
ซึ่งระบุว่า การสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตทำให้จีนกับคิวบามีจุดยืนที่ตรงข้ามกันในหลายกรณี
นอกจากกรณีของแองโกลาและกัมพูชาแล้ว ยังรวมถึงกรณีการรัฐประหารในชิลีเมื่อ ค.ศ. 1973
และการบุกอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1979 อีกด้วย ต้องรอจนกระทั่งจีนเริ่มกระบวนการเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเมื่อ
ค.ศ. 1982
การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาจึงค่อยเริ่มในปีถัดมา
อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1989
– 1991 ก็ยิ่งทำให้สองประเทศนี้เห็นความจำเป็นในการกระชับความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น[13]
แต่งานของทั้ง Ratliff และ Fernandez
ต่างใช้เอกสารอ้างอิงจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์ภาษาสเปนที่สะท้อนมุมมองของทางการคิวบา
มากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยข้อมูลจากฝ่ายจีน
สิ่งพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนถือเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจจุดยืนและมุมมองของจีนที่มีต่อคิวบาในยุคสงครามเย็น
และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ได้มีแหล่งข้อมูลใหม่เพิ่มเติมที่ทยอยตีพิมพ์เผยแพร่ออกมา
นั่นคือ บันทึกความทรงจำของบรรดาผู้นำ นักการทูต และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความสัมพันธ์กับคิวบา
แม้ว่าบันทึกเหล่านี้จะมิได้แสดงทัศนะที่ผิดแผกไปจากทัศนะที่ปรากฏในสิ่งพิมพ์ของทางการจีนมากนัก
แต่ก็ได้ให้รายละเอียดหรือเบื้องหลังของการดำเนินความสัมพันธ์ซึ่งช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของประเด็นต่างๆ
ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ งานวิจัยเรื่อง “ปักกิ่งปะทะฮาวานา:
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995”
จึงมีความมุ่งหมายที่จะวิเคราะห์เรื่องนี้โดยอาศัยแหล่งข้อมูลที่สะท้อนมุมมองของจีน
อันจะช่วยฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในช่วงดังกล่าวให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
คำถามและสมมติฐานการวิจัย
งานวิจัยนี้มุ่งตอบคำถามสำคัญ
3 ข้อ ได้แก่
- ความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาในกลางทศวรรษ 1960 เกิดขึ้นจากสาเหตุใด
- มีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้ความขัดแย้งดังกล่าวยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงทศวรรษ 1980
- มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้จีนกับคิวบาปรับปรุงความสัมพันธ์ได้สำเร็จในปลายทศวรรษ 1980 และนำไปสู่การเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูงสุดในครึ่งแรกของทศวรรษ 1990
สมมติฐานของงานวิจัยนี้ก็คือ
การที่จีนพยายามชักจูงให้คิวบามีจุดยืนที่เข้าข้างตนในการต่อต้านสหภาพโซเวียต ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศในกลางทศวรรษ
1960 ต่อมาเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 การที่จีนหันไปสมานไมตรีกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของคิวบาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตก็ยิ่งทำให้จีนกับคิวบามีจุดยืนที่ตรงข้ามกันในหลายกรณีและทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศบานปลายมากยิ่งขึ้น
ต้องรอจนกระทั่ง ค.ศ. 1982 เมื่อจีนปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศด้วยการรักษาระยะห่างจากสหรัฐฯ
และเริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต
การฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีระหว่างจีนกับคิวบาจึงเริ่มขึ้นได้ อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกสังคมนิยมในช่วงปลายทศวรรษ
1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 ก็ยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศหันมากระชับความสัมพันธ์กันยิ่งขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองของตน
วิธีการวิจัย
แหล่งข้อมูล และขอบเขตด้านระยะเวลา
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาในเชิงคุณภาพที่เน้นการพรรณนาและวิเคราะห์เหตุการณ์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
โดยอาศัยหลักฐานจากเอกสารต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เอกสารของทางการจีน ได้แก่ สรรนิพนธ์ ข้อเขียน
บทสนทนา และสุนทรพจน์ของผู้นำและนักการทูตที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยทางการจีน รวมทั้งบทบรรณาธิการและบทความในสิ่งพิมพ์ที่สะท้อนจุดยืนของทางการจีน
2. บันทึกความทรงจำของผู้นำ
นักการทูต และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ของจีนที่เกี่ยวข้องกับคิวบา ดังมีรายนามต่อไปนี้
- เจียงเจ๋อหมิน เลขาธิการพรรคช่วง
ค.ศ. 1989 – 2002 และประธานาธิบดีช่วง ค.ศ. 1993 - 2003[14]
- หลี่เผิง (Li Peng)
นายกรัฐมนตรีช่วง ค.ศ. 1987 - 1998[15]
- เฉียนฉีเชิน (Qian
Qichen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศช่วง ค.ศ. 1988 –
1998[16]
- หลี่เป๋ยไห่ (Li
Beihai) รัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคช่วง ค.ศ. 1993
- 1997[17]
- เจิงเทา (Zeng Tao)
หัวหน้าสำนักข่าวซินฮว๋าประจำกรุงฮาวานาเมื่อ ค.ศ. 1960[18]
- หวังโย่วผิง (Wang
Youping) เอกอัครรัฐทูตประจำคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 - 1969[19]
- หวงจื้อเหลียง (Huang
Zhiliang) นักการทูตประจำคิวบาในทศวรรษ 1960[20]
- จูเสียงจง (Zhu
Xiangzhong) นักการทูตประจำคิวบาช่วง ค.ศ. 1969 - 1975 และ 1980 – 1985[21]
- เฉินจิ่วฉาง (Chen
Jiuchang) เอกอัครรัฐทูตประจำคิวบาช่วง ค.ศ. 1990 – 1993[22]
- สวีอี้ชง (Xu
Yicong) เอกอัครรัฐทูตประจำคิวบาช่วง ค.ศ. 1993 - 1996[23]
- หยางไป่ปิง (Yang
Baibing) รองอธิบดีกรมลาตินอเมริกาแห่งทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคช่วงทศวรรษ
1980[24]
- ผังปิ่งอัน (Pang
Bing’an) เจ้าหน้าที่สำนักข่าวซินฮว๋าประจำกรุงฮาวานาช่วง ค.ศ. 1959
- 1965[25]
3. เอกสารชั้นรองจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยทั่วโลก เช่น งานวิจัย วิทยานิพนธ์
หนังสือ บทความ หรือข้อเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบา เป็นต้น
ทั้งนี้ งานวิจัยนี้มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในมุมมองของจีนเป็นหลัก
โดยกำหนดขอบเขตระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ ค.ศ. 1964 อันเป็นปีที่เริ่มเกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
และสิ้นสุดที่การเดินทางเยือนจีนของฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 1995
--------------------------------------------------
[1] จูเสียงจง, ไจ้ลาเหม่ยเริ่นจื๋อเตอะสุ้ยเยว่
(ช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติหน้าที่ในลาตินอเมริกา) (เป่ยจิง: สื้อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ, 2003), 18.
[2] “หลีฉี่ซินถงจื้อถานหวอต่างถงลาเหมยต่างเตอะเจ่าชีกวานซี่
(สหายหลีฉี่ซินกล่าวถึงความสัมพันธ์ในช่วงต้นระหว่างพรรคของเรากับพรรคในลาตินอเมริกา),”
ใน จงเหลียนปู้ซื่อสือเหนียน (40 ปีของทบวงวิเทศสัมพันธ์), บก. โดย หลี่เป๋ยไห่ และคณะ (เป่ยจิง: เหรินหมินฮว่าเป้าเส้อ,
1992), 59-65.
[3] Cecil Johnson, Communist China & Latin America
1959-1967 (New York & London: Columbia University Press, 1970),
100.
[4] William Ratliff, “Cuban Foreign Policy toward Far
East and Southeast Asia,” in Cuba: The International Dimension, eds.
Georges Fauriol and Eva Loser (New Brunswick, NJ: Transaction Publishers,
1990), 207.
[5] Cecil, ibid., 129-130.
[6] เหมาเซียงหลิน,
“จงกั๋วเหอกู่ปากวานซี่เตอะหุยกู้อวี่เฉียนจาน
(การย้อนพินิจและมองไปข้างหน้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบา),” ลาติงเหม่ยโจวเหยียนจิว (วารสารลาตินอเมริกาศึกษา), 2
(1997): 38.
[7] Mao Tse-tung, “Talk At The Enlarged Meeting Of The
Political Bureau, March 20, 1966,” in Selected Works of Mao Tse-tung Vol.
IX, available from https://www.marxists.org/reference/archive/mao/selected-works/volume-9/mswv9_55.htm,
accessed 3 February 2017.
[8] Johnson, ibid., 129-180.
[9] Maurice Halperin, The Taming of Fidel Castro
(Berkeley, CA: University of California Press, 1981), 195-207.
[10] เหมาเซียงหลิน, เรื่องเดียวกัน, 35-39;
สวีซื่อเฉิง, กู่ปา(คิวบา) (เป่ยจิง: เส้อหุ้ยเคอเสวียเหวินเซี่ยนชูป่านเส้อ,
2003), 296.
[11] Yinghong Cheng, “Sino-Cuban Relations during the
Early Years of the Castro Regime, 1959-1966,” Journal of Cold War Studies
9, no. 3 (Summer 2007): 78-114.
[12] Ratliff, ibid., 206-215.
[13] Damian J. Fernandez, “Cuba’s Relations with China:
Economic Pragmatism and Political Fluctuation,” in Cuba’s Ties to a Changing
World, ed. Donna Rich Kaplowitz (Boulder, CO: Lynne Rienner Publishers,
1993), 17-31.
[14] จงจือเฉิง, เว่ยเลอซื่อเจี้ยเกิ้งเหมยห่าว:
เจียงเจ๋อหมินชูฝ่างจี้สือ (เพื่อให้โลกงดงามยิ่งขึ้น:
บันทึกการเยือนต่างประเทศของเจียงเจ๋อหมิน) (เป่ยจิง:
ซื่อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ, 2006).
[15] หลี่เผิง, เหอผิง
ฟาจ่าน เหอจั้ว: หลี่เผิงว่ายสื้อรื่อจี้ (สันติภาพ พัฒนา ความร่วมมือ:
บันทึกการต่างประเทศของหลี่เผิง) (เป่ยจิง:
ซินฮว๋าชูป่านเส้อ, 2008).
[16] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน
10 เรื่อง, แปลโดย อาทร
ฟุ้งธรรมสาร (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549).
[17] หลี่เป๋ยไห่, “เซียงเฟิงอี๋เสี้ยวหมิ่นเอินโฉว
– หวอสั่วชินลี่เตอะจงกู่กวานซี่เตอะหุยฟู่อวี่ฉงเจี้ยน
(การพบปะกันและยิ้มให้กันก็ลบล้างความเกลียดชัง –
การฟื้นฟูและการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาขึ้นมาใหม่ที่ข้าพเจ้าประสบด้วยตนเอง),”
17 กันยายน 2010, เข้าไปที่เว็บไซต์ข่าวพรรคคอมมิวนิสต์จีน
http://cpc.people.com.cn/GB/68742/187710/191095/12756716.html, เข้าไปเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2017.
[18] เจิงเทา, ว่ายเจียวเซิงหยาสือชีเหนียน
(17 ปีแห่งชีวิตการทูต) (หนานจิง: เจียงซูเหรินหมินชปู่านเส้อ, 1997).
[19] หวังโย่วผิง, ชูสื่อชีกั๋วจี้สือ
(บันทึกการไปเป็นทูตยังเจ็ดประเทศ) (เป่ยจิง: ซื่อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ,
1996), 82-95.
[20] หวงจื้อเหลียง, จงลาเจี้ยนเจียวจี้สือ
(บันทึกเรื่องการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับลาตินอเมริกา) (ซ่างไห่: ซ่างไห่สือซูชูป่านเส้อ, 2007).
[21] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน.
[22] เฉินจิ่วฉาง, อิ้งฮั่นข่าซือเท่อหลัว:
จงกั๋วจู้กู่ปาต้าสื่อโส่วจี้ (บุรุษเหล็กคาสโตร:
บันทึกของเอกอัครรัฐทูตจีนประจำคิวบา) (เป่ยจิง:
จงกั๋วเหวินสื่อชูป่านเส้อ, 2009).
[23] สวีอี้ชง, หวออวี่ข่าซือเท่อหลัว
(ข้าพเจ้ากับคาสโตร) (เป่ยจิง: ตงฟางชูป่านเส้อ,
2014).
[24] หยางไป่ปิง, “ถานถานตุ้ยลาเหม่ยกงจั้วเตอะจี๋เตี่ยนถี่หุ้ย
(ประสบการณ์บางประการในการทำงานเกี่ยวกับลาตินอเมริกา)” ใน จงเหลียนปู้ซื่อสือเหนียน
(40 ปีของทบวงวิเทศสัมพันธ์), เรื่องเดียวกัน, 179-186.
[25] ผังปิ่งอัน, ชินลี่กู่ปา:
อี๋เก้อจงกั๋วจู้ว่ายจี้เจ๋อเตอะโส่วจี้ (คิวบาที่ได้พบเห็น: บันทึกของนักข่าวจีนที่ประจำอยู่ต่างประเทศ) (เป่ยจิง: ซินฮว่าชูป่านเส้อ, 2000).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น