ต้นทศวรรษ 1960
ถือได้ว่าเป็นช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาอย่างแท้จริง โดยในทางการเมือง
จีนแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนจุดยืนของคิวบาในการต่อต้านสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อสหรัฐฯ
พยายามบุกอ่าวหมูเพื่อล้มรัฐบาลของฟิเดล คาสโตรในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1961
เอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงฮาวานาได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ในสถานทูตให้ร่วมเป็นร่วมตายกับคิวบา[1]
ขณะที่ทางการจีนได้ออกแถลงการณ์ประณามสหรัฐฯ ในวันที่ 20 เมษายน[2]
และในวันถัดมาที่กรุงปักกิ่งก็มีการการระดมมวลชนกว่า 100,000 คนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนคิวบา[3]
จีนจัดการระดมมวลชนลักษณะดังกล่าวอีกครั้งเพื่อตอบโต้การที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ
เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐฯ สั่งปิดล้อมคิวบาในวิกฤตการณ์ขีปนาวุธช่วงปลายเดือนตุลาคม
ค.ศ. 1962 (ดูภาพประกอบ) โดยเผิงเจิน (Peng
Zhen) เลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ
มหาศาลาประชาชนซึ่งระบุว่า
การคุกคามของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันต่อคิวบานั้นถือเป็นการคุกคามประชาชนจีนไปด้วย[4]
ทหารบ้าน
(militia) ในกรุงปักกิ่งเดินมุ่งหน้าไปยังสถานทูตคิวบา
เพื่อแสดงพลังสนับสนุนในต้นเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1962
ที่มาของภาพ: Peking
Review, 9 November 1962, 10.
ในทางเศรษฐกิจ จีนส่งออกสินค้าจำพวกข้าว
ถั่วเหลือง น้ำมัน เนื้อสัตว์กระป๋อง เคมีภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องกลไปยังคิวบา
ขณะที่คิวบาส่งออกน้ำตาล แร่นิเกิล และแร่ทองแดงไปยังจีน
ปริมาณการค้าระหว่างสองฝ่ายใน ค.ศ. 1965 คิดเป็นมูลค่า 224 ล้านเปโซ (ดูตารางที่ 1) หรือเท่ากับร้อยละ 14
ของปริมาณการนำเข้าและส่งออกของคิวบาทั้งหมด
และทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับสองของคิวบารองจากสหภาพโซเวียต[5]
นอกจากนี้ จีนยังให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่คิวบาอีกด้วย โดยในเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1960 จีนทำข้อตกลงให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ยแก่คิวบาตั้งแต่
ค.ศ. 1961 ถึง ค.ศ. 1965 เป็นมูลค่า 240
ล้านรูเบิล[6]
และใน ค.ศ. 1965 จีนยังตกลงให้เงินกู้แก่คิวบาอีกก้อนหนึ่งคิดเป็นมูลค่า
22.8 ล้านเปโซเพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าที่คิวบามีต่อจีน[7]
สำหรับความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมนั้น
เมื่อคิวบาประสบพายุเฮอร์ริเคนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1963
จนเกิดความเสียหายกว่าครึ่งประเทศ จีนก็ได้ส่งของไปช่วยเหลือคิดเป็นมูลค่า 70
ล้านหยวน โดยเป็นน้ำตาล 5,000 ตัน เนื้อหมู 3,000 ตัน และเวชภัณฑ์อื่นๆ[8]
ข้อที่น่าสังเกตก็คือ การค้าและความช่วยเหลือเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ในต้นทศวรรษ
1960 จีนเองก็ประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารอันเป็นผลมาจากความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดด
(The Great Leap Forward) จนมีผู้คนอดอยากจนล้มตายไปกว่า 20
ล้านคน
ตารางที่
1
ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับคิวบาช่วง
ค.ศ. 1961 – 1965
(หน่วย:
ล้านเปโซ)
ค.ศ.
|
จีนส่งออกไปคิวบา
|
คิวบาส่งออกไปจีน
|
รวมมูลค่า
|
1961
|
108.00
|
98.00
|
206.00
|
1962
|
62.00
|
80.00
|
142.00
|
1963
|
77.61
|
70.77
|
148.38
|
1964
|
95.11
|
81.11
|
176.22
|
1965
|
127.00
|
97.00
|
224.00
|
ที่มาของตาราง:
Peking Review, 4 February 1966, 15.
ขณะเดียวกัน
คิวบาก็ได้ตอบแทนมิตรภาพและความช่วยเหลือจากจีน โดยในต้นทศวรรษ 1960 มีการรับนักศึกษาจีน 100 กว่าคนไปศึกษาภาษาสเปนในคิวบา
และมียังการส่งครูสอนภาษาสเปนมาทำงานในจีนอีกด้วย[9]
และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ คิวบาแสดงออกชัดเจนว่าสนับสนุนให้จีนเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน
โดยตั้งแต่ ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา คิวบาได้ลงมติสนับสนุนเมื่อมีการนำร่างมติเกี่ยวกับเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การดังกล่าว
และได้อธิบายเหตุผลอย่างชัดเจนในสุนทรพจน์ของฟิเดล คาสโตร ณ ที่นั้นเมื่อวันที่ 26
กันยายน ค.ศ. 1960 ความตอนหนึ่งว่า
จีนคิดเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรโลก
รัฐบาลใดเป็นผู้แทนที่แท้จริงของประชากรที่มากที่สุดในโลก? ไม่มีรัฐบาลใดอื่นอีกแล้วนอกจากรัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทว่า ยังคงมีการรักษาที่นั่งของอีกกลุ่มหนึ่งเอาไว้ในสงครามกลางเมืองที่สะดุดลงเพราะมีกองเรือที่เจ็ดของสหรัฐอเมริกาเข้ามาแทรกแซง
เราขอถามหน่อยเถิดว่ากองเรือของประเทศหนึ่ง แถมเป็นประเทศที่อยู่ต่างทวีป มีสิทธิ์อะไรมาแทรกแซงเรื่องที่เป็นกิจการภายในล้วนๆ
ของจีน เราอยากฟังคำอธิบายเรื่องนี้อย่างมาก
การทำเช่นนี้มีจุดประสงค์เพื่อรักษาอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ฝั่งตัวเองเอาไว้และขัดขวางการปลดแอกประเทศจีนทั้งหมด
นี่คือจุดยืนที่งี่เง่าและผิดกฎหมาย และเป็นเหตุผลว่าทำไมสหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้นำเรื่องผู้แทนของสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาอภิปรายกันที่นี่
เราขอแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน ณ ที่นี้ว่า
เราสนับสนุนการอภิปรายเรื่องดังกล่าวและสนับสนุนการให้ที่นั่งแก่ผู้แทนที่แท้จริงของประชาชนจีนในองค์การสหประชาชาติ[10]
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในระดับผู้นำช่วงต้นทศวรรษ
1960 ก็ดำเนินไปด้วยดีเช่นกัน ดูได้จากการเดินทางเยือนกันและกันหลายครั้ง
โดยฝ่ายคิวบานั้น เช เกวาราในฐานะประธานธนาคารแห่งชาติเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน
ค.ศ. 1960 โดยได้พบปะกับเหมาเจ๋อตงและกล่าวว่าประสบการณ์การปฏิวัติของจีนอันยาวนาน
22 ปีนั้นถือว่ามีค่ามากสำหรับประชาชนชาวคิวบา[11]
และการสร้างความเป็นพันธมิตรระหว่างกรรมกรกับชาวนาของจีนนั้นก็ช่วยชี้แนะแนวทางข้างหน้าสำหรับลาตินอเมริกาได้เป็นอย่างดี[12]
ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 1961 ออสวัลโด ดอร์ติคอส ทอร์เรโด (Osvaldo
Dorticos Torrado) ประธานาธิบดีของคิวบาเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการและออกแถลงการณ์ร่วมกับหลิวเส้าฉี
(Liu Shaoqi) ประธานาธิบดีของจีนเพื่อต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและผดุงสันติภาพของโลก[13]
ส่วนฟิเดล คาสโตรแม้จะยังไม่ได้เดินทางเยือนจีน แต่เขาก็ไปรับประทานอาหาร ณ
สถานทูตจีนในกรุงฮาวานาเป็นอยู่ประจำ[14]
สำหรับฝ่ายจีน กัวม่อรั่ว (Guo Moruo) รองประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติเดินทางเยือนกรุงฮาวานาในเดือนมกราคม
ค.ศ. 1961 เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสครบ 2 ปีของการปฏิวัติคิวบา ส่วนโจวเอินไหลได้ยกภาษิตโบราณที่ว่า “สิ่งที่ได้มาง่ายนั้นไร้ค่า
มิตรภาพต่างหากหนาที่เป็นสิ่งหายาก (อี้ฉิวอู๋เจี้ยเป่า หนานเต๋อโหย่วซินเหริน)” มาฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนกับคิวบา[15]
และใน ค.ศ. 1964 เขาตอบรับคำเชิญของฟิเดล คาสโตรเพื่อไปเยือนกรุงฮาวานาในเดือนธันวาคมของปีนั้น[16]
แต่แล้วความตึงเครียดที่ก่อตัวขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในปลาย ค.ศ. 1964
ทำให้ต้องยกเลิกกำหนดการที่วางเอาไว้
------------------------------------------
[1] หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 88-89.
[2] Peking Review, 21 April 1961 (Supplement).
[3] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน, 11-12.
[4] Peking Review, 2 November 1962,
3-4.
[5] He Li, Sino-Latin American Economic Relations
(New York: Preager, 1991), 25.
[6] Home News Agency Library of the Xinhua News Agency, China’s
Foreign Relations: A Chronology of Events (1949-1988) (Beijing: Foreign
Languages Press, 1989), 515-516.
[7] He, ibid., 25.
[8] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน, 12.
[9] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 294.
[10] Fidel Castro, Speech at the United Nations,
General Assembly session, September 26, 1960 (New York: Fair Play for Cuba
Committee, 1960), 28.
[11] นับจาก ค.ศ. 1927 อันเป็นปีที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนล้มเหลวในยุทธศาสตร์การปฏิวัติในเขตเมืองจนนำไปสู่การตั้งฐานที่มั่นในชนบท
ไปจนถึง ค.ศ. 1949 อันเป็นปีที่พรรคยึดอำนาจรัฐได้สำเร็จ
[12] Peking Review, 22 November 1960, 10.
[13] Peking Review, 6 October 1961, 9-11.
[14] หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 86-87.
[15] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน. 13.
[16] หยุนสุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 84.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น