การปฏิวัติในคิวบาเมื่อ
ค.ศ. 1959 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของสงครามเย็นที่จีนกับสหรัฐอเมริกาเป็นศัตรูกัน
และข้อเท็จจริงที่ว่าจีนในทศวรรษ 1950 ไม่เคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศในลาตินอเมริกาซึ่งเป็น
“สนามหลังบ้าน” ของสหรัฐฯ เลยนั้น ทำให้จีนสนใจในรัฐบาลใหม่ของคิวบาซึ่งมีจุดยืนต่อต้านสหรัฐฯ
เป็นอย่างมาก เหมาเจ๋อตงบอกกับลาซาโร คาร์เดนาส (Lázaro Cárdenas) อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโกที่เดินทางเยือนจีนเมื่อวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1959 ว่า “ข้าพเจ้าคิดว่ากรณีของคิวบาถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในปัจจุบัน
ชาวเอเชียควรช่วยพวกเขาต่อต้านสหรัฐอเมริกา”[1]
ต่อมาในวันที่ 25 ของเดือนนั้น
ทางการจีนได้จัดการรณรงค์มวลชนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนชาวคิวบาและต่อต้านสหรัฐฯ
ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง และบรรดาองค์กรต่างๆ ที่อยู่ในการควบคุมของทางการจีน
ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประชาชนจีนเพื่อสันติภาพของโลก (The Chinese
People’s Committee for World Peace) ปวงสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศจีน
(The All-China Federation of Trade Unions)
ปวงสหพันธ์สตรีแห่งประเทศจีน (The All-China Women’s Federation) และปวงสหพันธ์เยาวชนจีน (The All-China Youth Federation) ต่างพากันส่งสารแสดงความยินดีไปยังรัฐบาลใหม่ของคิวบา[2]
การ์ตูนล้อเลียนสหรัฐอเมริกาที่กำลังต่อสู้กับจีนและคิวบา
ที่มาของภาพ:
Peking Review, 4 October 1960,
47.
อย่างไรก็ตาม จีนยังคงไม่แน่ใจนักว่าคิวบาภายใต้ระบอบใหม่จะเดินไปทิศทางใด
เพราะแม้ว่าตั้งแต่ครึ่งหลังของทศวรรษ 1950 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเริ่มติดต่ออย่างเป็นทางการกับพรรคคอมมิวนิสต์ในลาตินอเมริกา
แต่ในกรณีของคิวบานั้น พรรคที่จีนติดต่อมาตลอดและเคยเชิญผู้แทนมาร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่
8 ณ กรุงปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1956 ก็คือ พรรคสังคมนิยมประชาชนคิวบา
(Partido Socialista Popular – PSP) ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับขบวนการ
26 กรกฎาคม (Movimiento 26 de
Julio) ของฟิเดล คาสโตรที่ก่อการปฏิวัติ และในช่วง ค.ศ. 1959
- 1960 ฟิเดล คาสโตรก็มิได้ประกาศชัดว่าตนเองจะนำคิวบาเดินไปบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม
จนกระทั่งหลังจากความพยายามของสหรัฐอเมริกาในการบุกอ่าวหมูเพื่อโค่นระบอบใหม่ของคิวบาในเดือนเมษายน
ค.ศ. 1961 ประสบความล้มเหลว ฟิเดล คาสโตรซึ่งต้องการหลักประกันด้านความมั่นคงจากประเทศมหาอำนาจค่ายสังคมนิยมจึงประกาศว่าคิวบาเป็นรัฐสังคมนิยมอย่างชัดเจนในสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสวันแรงงานในเดือนถัดมา[3]
และประกาศตนเป็นนักลัทธิมากซ์-เลนินในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน[4]
ความไม่ชัดเจนในช่วงต้นว่ารัฐบาลคิวบาในระบอบใหม่จะเดินบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยมหรือไม่นั้นทำให้สิ่งพิมพ์ของทางการจีนในต้นทศวรรษ
1960 กล่าวถึงแต่การปฏิวัติคิวบาในแง่ของความรักชาติและการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมเป็นหลัก
โดยไม่กล่าวถึงลัทธิสังคมนิยมเลย[5]
และแม้กระทั่งเมื่อฟิเดล คาสโตรประกาศชัดเจนใน ค.ศ. 1961 แล้วว่า คิวบาจะเดินบนเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม
ทางการจีนก็ยังไม่ได้ยอมรับเรื่องดังกล่าวในทันที ดูได้จากการสนทนาระหว่างเหมาเจ๋อตงกับยาสุอิ
คาโอรุ (Yusui Kaoru) ประธานสมาคมต่อต้านระเบิดนิวเคลียร์และระเบิดไฮโดรเจนของญี่ปุ่นเมื่อวันที่
3 มกราคม ค.ศ. 1962 ที่เหมาได้กล่าวว่า
คุณถามข้าพเจ้าถึงลักษณะของการปฏิวัติในคิวบา
ข้าพเจ้ามองว่าการปฏิวัติในคิวบาเป็นการปฏิวัติแบบประชาธิปไตยชาตินิยม
เป็นการปฏิวัติแบบชาตินิยมที่ต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน
และต่อสู้กับระบอบบาติสตา พวกนายทุนที่เป็นนายหน้า และพวกศักดินา
นับจากนี้คิวบาจะเดินไปทางใดนั้นคงต้องเฝ้าดูต่อไป[6]
นอกจากนี้ คิวบาภายใต้ระบอบใหม่ก็ยังมิได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในทันที
และเดิมเมื่อมีการเสนอร่างมติเกี่ยวกับการให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีที่นั่งแทนสาธารณรัฐจีน
(ไต้หวัน) เข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ คิวบาในระบอบบาติสตาก็จะลงมติคัดค้านเป็นประจำ
แต่ใน ค.ศ. 1959 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนของคิวบาในระบอบใหม่เข้าประชุม
คิวบาก็มิได้สนับสนุนร่างมติดังกล่าว แต่กลับงดออกเสียง[7]
และด้วยปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ทางการจีนมิได้กระตือรือร้นที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคิวบาในทันที
หากแต่จะเริ่มต้นทำความรู้จักกับคิวบาในระบอบใหม่โดยอาศัยช่องทางกึ่งทางการไปพลางก่อน
สอดคล้องกับข้อสังเกตของนักวิชาการเกี่ยวกับลักษณะสำคัญของการทูตจีน นั่นคือ การใช้โวหารทางการเมืองที่โดดเด่น
แต่กลับดำเนินการทูตแบบเงียบๆ ไม่ให้เป็นที่สังเกต และในกรณีของคิวบานั้น
จีนเริ่มต้นด้วยท่าทีที่อดทนและระมัดระวัง[8]
ช่องทางกึ่งทางการที่จีนใช้ในการติดต่อกับคิวบาก็คือ
สำนักข่าวซินฮว๋า (The Xinhua News Agency) โดยในเดือนมีนาคม
ค.ศ. 1959 จีนได้ติดต่อขอตั้งสาขาของสำนักข่าวดังกล่าว ณ
กรุงฮาวานา ซึ่งฝ่ายคิวบาก็ตอบตกลงอย่างรวดเร็ว นักข่าวของซินฮว๋าจึงเริ่มปฏิบัติงานที่นั่นในเดือนถัดมา[9]
และในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น ราอุล คาสโตร (Raul Castro) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของคิวบาได้เสนอให้จีนส่งเจ้าหน้าที่ที่มีความสำคัญมารับตำแหน่งหัวหน้าสาขาของสำนักข่าวดังกล่าว
โดยขอให้ทำหน้าที่เสมือนสถานทูต[10]
ในที่สุดก็มีการตั้งสำนักงานสาขาอย่างเป็นทางการ ณ กรุงฮาวานาในเดือนธันวาคมของปีนั้น
นับเป็นครั้งแรกที่สำนักข่าวซินฮว๋ามีสาขาอยู่ในซีกโลกตะวันตก
(หมายถึงทวีปอเมริกาทั้งหมด) และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1960 จีนส่งเจิงเทา
รองเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ซึ่งมีความใกล้ชิดกับจอมพลเฉินอี้ (Chen Yi)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นให้ไปรับตำแหน่งหัวหน้าสาขาของสำนักงานดังกล่าว
แม้จะยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศก็ได้เริ่มขึ้นแล้วใน
ค.ศ. 1959 การที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อคิวบาทำให้คิวบาขาดแคลนรายได้ที่เคยมีจากการส่งออกน้ำตาล
จีนจึงได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยในเดือนธันวาคมของปีนั้น จีนตกลงซื้อน้ำตาลจากคิวบาเป็นจำนวน
50,000 ตัน[11]
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1960 หลูซวี่จาง (Lu Xuzhang)
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของจีนได้เดินทางเยือนคิวบา
โดยมีลงนามในข้อตกลงการค้า 5 ปี ข้อตกลงเกี่ยวกับการชำระเงิน
และข้อตกลงอื่นๆ ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวม 13 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง
และจีนตกลงซื้อน้ำตาลจากคิวบาอีก 500,000 ตัน
แลกกับการที่คิวบาซื้อข้าวและของใช้ในชีวิตประจำวันจากจีน[12]
ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าจีนกับคิวบามีการเจรจาอะไรกันบ้างหรือไม่ก่อนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ บันทึกความทรงจำของเจ้าหน้าที่จีนที่ปฏิบัติงาน
ณ กรุงฮาวานาใน ค.ศ. 1960 อย่างเจิงเทาและหวงจื้อเหลียงต่างระบุตรงกันว่า
การสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเรื่องกะทันหันที่เกิดจากการริเริ่มของฝ่ายคิวบาโดยไม่แจ้งให้จีนทราบล่วงหน้า[13]
กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของของจีนที่ทำงานในกรุงฮาวานาได้รับคำเชิญให้ไปร่วมงานปราศรัยของฟิเดล
คาสโตร ณ จัตุรัสแห่งการปฏิวัติในกรุงฮาวานาเมื่อวันที่ 2 กันยายนของปีนั้น
โดยมีประชาชนมาร่วมฟังปราศรัยกว่า 1 ล้านคน และ ณ
ที่แห่งนั้นเองที่ฟิเดล คาสโตรก็ประกาศว่าคิวบาจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน
โดยประชาชนที่อยู่ ณ จัตุรัสต่างส่งเสียงยินดี และทางการคิวบายังได้นำเนื้อหาในคำปราศรัยดังกล่าวมาตีพิมพ์เป็นเอกสารที่ชื่อ
แถลงการณ์ฮาวานา (The Declaration of Havana) ความตอนหนึ่งว่า
สมัชชาแห่งชาติของประชาชนคิวบาให้ความเห็นชอบกับนโยบายที่จะเป็นมิตรกับประชาชนทั่วโลก
ยืนยันความประสงค์ที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสังคมนิยมทั้งหลาย
และนับจากนี้ไป โดยอาศัยอำนาจอธิปไตยอันสมบูรณ์และเจตจำนงอิสระ ขอแจ้งให้รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนทราบว่า
เราตกลงจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ดังนั้น เราจึงขอตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลหุ่นเชิดในฟอร์โมซาที่มีกองเรือที่เจ็ดคุ้มครองอยู่[14]
แม้จีนอาจจะไม่ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อนล่วงหน้า
แต่อย่างน้อยการที่แถลงการณ์ดังกล่าวระบุชัดเจนว่าคิวบาจะยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันก็ตรงกับเงื่อนไขเบื้องต้นที่จีนใช้ในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ
มาตั้งแต่ ค.ศ. 1949 ดังนั้น ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1960 จีนกับคิวบาจึงได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ
โจวเอินไหล (Zhou Enlai) นายกรัฐมนตรีของจีนส่งสารถึงฟิเดล
คาสโตรแสดงความยินดีที่สองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้กันสำเร็จ และยังระบุด้วยว่าหากมีความจำเป็น
รัฐบาลและประชาชนจีนก็ยินดีจะให้ความช่วยเหลืออย่างสุดกำลังแก่ประชาชนชาวคิวบาในการต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระเสรี[15]
ขณะที่นิตยสาร ปักกิ่วรีวิว ของทางการจีนฉบับวันที่ 4 ตุลาคมของปีนั้นก็ตีพิมพ์บทความแสดงความยินดีกับเรื่องดังกล่าว
โดยระบุว่าแม้จะอยู่ห่างไกลกัน แต่จีนกับคิวบาก็เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทเนื่องจากมีศัตรูเดียวกัน
นั่นคือ ลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน[16]
และนิตยสารฉบับนั้นยังตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนสหรัฐอเมริกาว่าเหมือนดอน กิโฆเต (Don
Quixote) ตัวละครในวรรณกรรมของสเปน ซึ่งกำลังต่อสู้กับจีนและคิวบาที่เป็นกังหันลม
โดยเข้าใจผิดว่ากังหันลมดังกล่าวเป็นยักษ์ (ดูภาพประกอบ)
----------------------------------------------------------------
[1] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 291.
[2] เพิ่งอ้าง, 291.
[3] Fidel Castro, “May Day Celebration (1961): Cuba is a
Socialist Nation,” speech on 1 May 1961, available from Castro Internet Archive
https://www.marxists.org/history/cuba/archive/castro/1961/05/01.htm, accessed
12 February 2017.
[4] “Castro declares himself a Marxist-Leninist,” available
from http://www.history.com/this-day-in-history/castro-declares-himself-a-marxist-leninist;
accessed 12 February 2017.
[5] ตัวอย่างเช่น Peking Review, 21
April 1961 (Supplement).
[6] จงฮว๋าเหรินหมินก้งเหอกั๋วว่ายเจียวปู้
จงก้งจงยางเหวินเสี้ยนเหยียนจิวซื่อ บก., เหมาเจ๋อตงว่ายเจียวเหวินเสวี่ยน
(สรรนิพนธ์การทูตของเหมาเจ๋อตง) (เป่ยจิง: จงก้งเหวินเสี้ยนชูป่านเส้อ
ซื่อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ, 1995), 488.
[7] Yu San Wang, “The Republic of China’s Relations with
Latin America,” in Foreign Policy of the Republic of China on Taiwan: An
Unorthodox Approach, ed. Yu San Wang (New York: Praeger, 1990), 158.
[8] Xiaohong Liu, Chinese Ambassadors: The Rise of
Diplomatic Professionalism since 1949 (Seattle, WA: University of
Washington Press, 2001), 221, footnote 12.
[9] Cheng, ibid., 81.
[10] สวีซื่อเฉิง, เรื่องเดียวกัน, 292.
[11] เพิ่งอ้าง, 292.
[12] เพิ่งอ้าง, 292.
[13] เจิงเทา, เรื่องเดียวกัน; หวงจื้อเหลียง, เรื่องเดียวกัน, 82-86.
[14] “The Havana Declaration, September 2, 1960,” in
Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1960/19600902-2.html;
accessed 16 February 2017.
[15] จูเสียงจง, เรื่องเดียวกัน, 9.
[16] Peking Review, 4 October 1960, 46-47.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น