วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 5 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในบริบทของการเมืองภายในของจีน)


         ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียนอกจากจะมีนัยที่เกี่ยวข้องกับสหภาพโซเวียตแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของจีนอีกด้วย ดังบันทึกของอู๋ซิ่วเฉวียน เอกอัครราชทูตประจำกรุงเบลเกรดคนแรกที่ระบุว่า ความถดถอยในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางชนชั้น (class struggle) ภายในประเทศจีน[1] สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการอย่างเฉินเจียน (Chen Jian) ที่ชี้ให้เห็นความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะขัเคลื่อน “การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง (continuous revolution)” ภายในประเทศของตนโดยใช้นโยบายต่างประเทศมาช่วย ดังความตอนหนึ่งว่า

 

เพื่อรักษาไว้ซึ่งแรงขับเคลื่อนของการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง เหมาจำเป็นต้องหาวิธีการปลุกระดมมวลชน และในกระบวนการหาวิธีการดังกล่าวนี้เองที่เหมาตระหนักว่า นโยบายต่างประเทศที่ปฏิวัตินั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง ... นโยบายต่างประเทศที่ปฏิวัตินั้นช่วยให้โครงการเปลี่ยนแปลงรัฐและสังคมทั้งหลายของเหมาทรงพลังจนกลายเป็นแนวทางระดับชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเอาชนะข้อกังวลจากท้องถิ่น ภูมิภาค หรือกลุ่มการเมืองได้ เมื่อเกิดความตึงเครียดระหว่างเหมากับสมาชิกคนอื่นๆ ของพรรค หรือระหว่างพรรคกับประชาชน นโยบายต่างประเทศที่ปฏิวัติก็เป็นวิถีทางที่มีประสิทธิผลและอาจเป็นวิถีทางเดียวที่ช่วยให้เหมาสามารถยกระดับอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องได้[2]

 

           ความตกต่ำของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียซึ่งเริ่มต้นในครึ่งหลังของทศวรรษ 1950 นั้นตรงกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในจีน 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือ ขบวนการแก้ไขความคิดให้ถูกต้องและต่อต้านฝ่ายขวา (The Rectification and anti-Rightist Movement) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1957 ไปจนถึงฤดูร้อนของ ค.ศ. 1958 โดยหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า มีผู้ถูกทางการตราหน้าว่าเป็นฝ่ายขวารวมกันถึง 550,000 ค[3] การประณามยูโกสลาเวียในช่วงเวลานั้นจึงช่วยให้ขบวนการดังกล่าวทรงพลังและมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ดูได้จากคำกล่าวของเหมาเจ๋อตงต่อบรรดาเลขานุการของคณะกรรมการพรรคในมณฑลต่างๆ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1957 ซึ่งผูกโยงยูโกสลาเวีย โปแลนด์ และฮังการีเข้ากับชนชั้นเจ้าที่ดิน ชาวนารวย กระฎุมพี และบรรดาพรรคประชาธิปไตยในจีนซึ่งรอคอยโอกาสจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ความตอนหนึ่งว่า

 

จากการสำรวจในกรุงปักกิ่ง นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นบุตรของเจ้าที่ดิน ชาวนารวย กระฎุมพี และชาวนากลางที่มีอันจะกิน ขณะที่นักศึกษาจากครอบครัวของกรรมกรและชาวนาจนนั้นมีไม่ถึงร้อยละ 20 นี่อาจเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ฉายภาพทั้งประเทศ สถานการณ์เช่นนี้จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องอาศัยเวลา โกมูวกาเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักศึกษาของเรา ติโตและคาร์เดจก็เช่นกัน จริงอยู่ ตอนที่เกิดความไม่สงบในโปแลนด์และฮังการี เจ้าที่ดินกับชาวนาในชนบท รวมทั้งนายทุนและสมาชิกพรรคประชาธิปไตยต่างประพฤติตัวดีและไม่ออกมาสร้างปัญหาหรือออกมาขู่ฆ่าคนนับพันนับหมื่น แต่เราก็ควรวิเคราะห์ว่าทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น ก็เพราะพวกเขาไม่มีทุนทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว กรรมกรกับชาวนาจนและชาวนากลางระดับล่างไม่ฟังพวกเขาอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเลยไม่มีที่ยืน แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ พวกเขาจะไม่เปลี่ยนไปหรือ? คุณอย่ามั่นใจนักว่าพวกเขาจะไม่เปลี่ยน เพราะท้ายที่สุดจะเกิดการรวมตัวกันของเจ้าที่ดิน ชาวนารวย กระฎุมพี และสมาชิกของพรรคประชาธิปไตยทั้งหลาย[4] (เน้นโดยผู้วิจัย)

 

            เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ การประกาศนโยบายก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) ที่เริ่มในฤดูหนาวปลาย ค.ศ. 1957 ไปจนถึง ค.ศ. 1959 อันเป็นความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะนำจีนไปสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมโดยอาศัยการระดมมวลชนมาทำการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งมีแกนนำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า “มติเกี่ยวกับการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกรรมกรที่กรุงมอสโก”  ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 นอกจากจะเป็นการตอบโต้ถ้อยแถลงของยูโกสลาเวียในการประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนก่อนหน้านั้นแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนจากเหมาไปยังผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายก้าวกระโดดด้วยว่า  พวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกลัทธิแก้เหมือนติโต[5]

            แม้ว่านโยบายก้าวกระโดดของเหมาเจ๋อตงจะประสบความล้มเหลวจนเหมาต้องเปิดทางให้หลิวเส้าฉี โจวเอินไหล และเติ้งเสี่ยวผิงเข้ามารับหน้าที่ฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของประเทศในต้นทศวรรษ 1960 โดยอาศัยกลไกตลาดบางส่วน แต่เหมาก็มิได้ลดละที่จะรณรงค์เรื่องการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการฟื้นตัวของลัทธิทุนนิยม โดยใน ค.ศ. 1962 เหมาจัดให้มีขบวนการศึกษาสังคมนิยม (The Socialist Education Movement) และในปีถัดมาเหมาประกาศว่า ลัทธิแก้ได้ก่อตัวขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว[6] เอกสารของทางการจีนใน ค.ศ. 1964 ระบุชัดเจนว่า ระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพได้กลายเป็นลัทธิแก้เนื่องจากความเสื่อมถอยของผู้นำพรรคและรัฐ โดยมีบทเรียนสำคัญคือกรณีของยูโกสลาเวีย จึงต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับจีน[7]


  เหมาเจ๋อตงต้อนรับการชุมนุมของพวกยามแดง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1966
  (ภาพจาก www.hugchina.com )


            การเมืองจีนเข้าสู่ยุคซ้ายจัดใน ค.ศ. 1966 เมื่อเหมาเจ๋อตงเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) บุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับยูโกสลาเวียถูกนำตัวมาสอบสวนเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้ที่สมคบคิดกับพวกลัทธิแก้ เช่น เผิงเจินและอู๋ซิ่วเฉวียนถูกสอบสวนในกรณีที่พบปะกับติโตเป็นการส่วนตัวเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1957 ทั้งๆ ที่การพบปะดังกล่าวได้รับอนุญาตจากโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี[8] อู๋ซิ่วเฉวียนยังถูกสอบสวนเพิ่มเติมเนื่องจากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบลเกรด เขาได้รับเชิญให้ไปล่าสัตว์กับติโตเป็นประจำทุกปี[9] และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 สถานทูตยูกสาเวียในกรุงปักกิ่งก็ตกเป็นเป้าโจมตีของพวกยามแดง (The Red Guards) ซึ่งศรัทธาในอุดมการณ์ปฏิวัติของเหมา[10] ต่อมาในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน แบรนโก โบกูโนวิช (Branko Bogunovic) ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวยูโกสลาเวียประจำประเทศจีนก็ถูกทางการจีนเชิญออกนอกประเทศด้วยข้อหาบิดเบือนและโจมตีการปฏิวัติวัฒนธรรม[11]

--------------------------------------------------


[1] Wu Xiuquan, ibid., 125-126.
[2] Chen Jian, Mao’s China and the Cold War (Chapel Hill, NC: The University of North Carolina Press, 2001), 11-12.
[3] Hu Sheng, A Concise History of the Communist Party of China (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 528.
[4] Mao Zedong, “"Talks at a Conference of Secretaries of Provincial, Municipal, and Autonomous Region Party Committees, January 1957,” available from https://www.marxists.org/reference/archive/mao/selected-works/volume-5/mswv5_57.htm, accessed 5 October 2015.
[5] “General Introduction,” in Communist China 1955-1959: Policy Documents with Analysis, ibid.,19.
[6] Hu Sheng, ibid., 605.
[7] “On Krushchov’s Phoney Communism and Its Historical Lessons for the World,” ibid.
[8] Wu Xiuquan, ibid., 118-119.
[9] Ibid., 108.
[10] A. Ross Johnson, ibid., 190.
[11] Peter Cheng, A Chronology of the People’s Republic of China from October 1, 1949 (Totowa, NJ: Littelfield, Adams & Co., 1972), 250.

ไม่มีความคิดเห็น: