“สหายโจวเอินไหลและผู้นำคนอื่นๆ กล่าวว่า ประชาชนจีนและยูโกสลาเวียต่างมีเป้าหมายร่วมกัน
นั่นคือการธำรงสันติภาพของโลกและการสร้างลัทธิสังคมนิยมโดยมีลัทธิมากซ์-เลนินเป็นตัวชี้นำ
บนพื้นฐานดังกล่าว ทั้งสองประเทศน่าจะพัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นมิตรและมุ่งไปสู่เป้าหมายแบบสังคมนิยมได้
แต่แล้วการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศ
รวมทั้งปัจจัยจากทั้งภายในและภายนอก
ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไม่พัฒนาไปอย่างที่ปรารถนาเอาไว้”
อู๋ซิ่วเฉวียน
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตที่ล่าช้าระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย
ยูโกสลาเวียเป็นประเทศที่ถือกำเนิดขึ้นใน
ค.ศ. 1918 หลังการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
อันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และนับจากนั้นจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่
2 ใน ค.ศ. 1945 ยูโกสลาเวียมิได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน
(The Republic of China) ที่นำโดยพรรคกั๋วหมินตั่ง (Guomindang)
เลย มีแต่เพียงกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ นครเซี่ยงไฮ้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม
นักการทูตของจีนและยูโกสลาเวียมีการติดต่อกันอยู่บ้าง ดังปรากฏหลักฐานว่าใน ค.ศ. 1940
นักการทูตจีน ณ กรุงอังการา ประเทศตุรกี เป็นตัวกลางในการเจรจาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างยูโกสลาเวียกับสหภาพโซเวียต[2]
และเมื่อยูโกสลาเวียเปลี่ยนแปลงการปกครองจากราชอาณาจักรมาเป็นรัฐสังคมนิยมที่ชื่อว่า
“สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย (The Federal People’s Republic of
Yugoslavia)” ใน ค.ศ. 1945 หรือที่ต่อมาใน
ค.ศ. 1963 เปลี่ยนชื่อเป็น
“สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (The Socialist Federal Republic of
Yugoslavia)” รัฐบาลกั๋วหมินตั่งจึงเริ่มสนใจจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูโกสลาเวียอย่างจริงจัง
แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่าเหตุใดรัฐบาลกั๋วหมินตั่งจึงสนใจเรื่องดังกล่าว
แต่ก็ปรากฏหลักฐานว่าทั้ง 2 ฝ่ายได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันอย่างลับๆ
ในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1947 โดยที่สหภาพโซเวียตให้ความเห็นชอบ[3]
แต่แล้วความสัมพันธ์ก็สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1949 เมื่อพรรคกั๋วหมินตั่งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองจนต้องย้ายไปตั้งรัฐบาลบนเกาะไต้หวัน
และยูโกสลาเวียได้หันมารับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน (The People’s Republic
of China) ที่สถาปนาโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ กรุงปักกิ่ง
ในมุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ความสำเร็จของติโต ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย (หรือที่ใน ค.ศ. 1952
เปลี่ยนชื่อเป็น “สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย”)
ในการปฏิวัติและสถาปนารัฐสังคมนิยมเมื่อ ค.ศ. 1945 นั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เนื่องจากเป็นการปฏิวัติตามประสบการณ์และแนวทางของตนเองโดยไม่ถูกชี้นำจากสหภาพโซเวียต
ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของเหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทั้งนี้
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ่งพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตีพิมพ์บทความชื่นชมการปฏิวัติของติโตกว่า
600 เรื่อง[4] และในเดือนกรกฎาคม
ค.ศ. 1947 พรรคได้ส่งหลิวหนิงอี (Liu Ningyi) ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานในเขตปลดปล่อยของจีน (The Federation of
Trade Unions of the Liberated Regions of China) เดินทางไปยูโกสาเวียเพื่อทำความรู้จักและสานสัมพันธ์กับติโต ทว่า
ความขัดแย้งระหว่างยูโกสลาเวียกับสหภาพโซเวียตในปีถัดมาทำให้การสานสัมพันธ์ดำเนินต่อไปไม่ได้
ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดจากการที่สหภาพโซเวียตต้องการให้ติโตพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมของตนอย่างเข้มงวด
ขณะที่ติโตพยายามรักษาความเป็นอิสระ (autonomy) ของยูโกสลาวียเอาไว้และวางแผนจะร่วมมือกับบัลแกเรียเพื่อสร้างค่ายการเมือง
(bloc) ของตนเองในคาบสมุทรบอลข่าน ทำให้ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.
1948 สหภาพโซเวียตประกาศขับไล่ยูโกสลาเวียออกจากองค์การโคมินฟอร์ม
และประณามติโตว่าทรยศต่อลัทธิสังคมนิยมและลัทธิสากลนิยม (internationalism)
ความขัดแย้งระหว่างยูโกสลาเวียกับสหภาพโซเวียตเกิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเป็นฝ่ายรุกในสงครามกลางเมืองกับพรรคกั๋วหมินตั่ง
เหมาเจ๋อตงตระหนักดีว่าเมื่อมีการสถาปนาประเทศจีนใหม่ภายใต้การปกครองของเขาแล้ว สหภาพโซเวียตจะเป็นที่พึ่งสำคัญของจีนทั้งในด้านการป้องกันภัยคุกคามจากโลกเสรีที่นำโดยสหรัฐอเมริกา
และในด้านการฟื้นฟูบูรณะประเทศที่เสียหายจากสงคราม พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงต้องแสดงท่าทีสนับสนุนสหภาพโซเวียต[5] โดยในวันที่
7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1948 หนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน
(เหรินหมินรื่อเป้า) ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “ลัทธิสากลนิยมและลัทธิชาตินิยม (Internationalism and
Nationalism)” เขียนโดยหลิวเส้าฉี (Liu Shaoqi) แกนนำระดับสูงของพรรค โดยมีใจความตอนหนึ่งประณามติโตว่าเป็นกระบอกเสียงของลัทธิชาตินิยมกระฎุมพีที่แฝงตัวเข้ามาในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ[6] และข้อเขียนของเหมาเจ๋อตงเมื่อวันที่
28 สิงหาคม ค.ศ. 1949 ก็ระบุว่า รัฐบาลยูโกสลาเวียของติโตเป็นลูกสมุนของ
“รัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จฝ่ายขวา (Rightist totalitarian government ) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา[7]
ความสำคัญของสหภาพโซเวียตในสายตาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนทำให้เมื่อมีการสถาปนารัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นแล้วเมื่อวันที่
1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 จีนไม่กล้าที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูโกสลาเวีย
โดยวันที่ 5 ตุลาคมของปีนั้น
เมื่อรัฐบาลยูโกสลาเวียส่งโทรเลขมาให้การรับรองรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ตั้งขึ้นมาใหม่และแสดงความประสงค์จะมีความสัมพันธ์ทางการทูต
ทางการจีนก็มิได้ให้คำตอบกลับไป[8]
ยูโกสลาเวียจึงเป็นประเทศสังคมนิยมเพียงแห่งเดียวในต้นทศวรรษ 1950 ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน แต่ยูโกสลาเวียก็ยังสนับสนุนจีนในเวทีองค์การสหประชาชาติ
ทั้งการเรียกร้องที่นั่งในองค์การดังกล่าวแทนที่ไต้หวัน และการลงมติอื่นๆ ที่เป็นคุณกับจีนในสงครามเกาหลี
(The Korean War ค.ศ. 1950-1953) ต้องรอจนกระทั่งโจเซฟ
สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำของสหภาพโซเวียตถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมีนาคม
ค.ศ. 1953 และผู้นำคนใหม่คือ นิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev)
หันไปสมานไมตรีกับยูโกสลาเวียและเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดในเดือนพฤษภาคม
ค.ศ. 1954 รวมทั้งส่งผู้แทนจากกรุงมอสโกมายังกรุงปักกิ่งเพื่อแจ้งแก่เหมาเจ๋อตงในฤดูใบไม้ร่วงของปีนั้นว่า
การที่สหภาพโซเวียตประณามยูโกสลาเวียในอดีตนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จีนจึงมีความสบายใจที่จะติดต่อกับยูโกสลาเวียจนนำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่
2 มกราคม ค.ศ. 1955
จะเห็นได้ว่า ความจำเป็นในการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหภาพโซเวียตเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเกิดขึ้นอย่างล่าช้า
ดังที่เหมาเจ๋อตงเปิดเผยเรื่องนี้ในภายหลังระหว่างการเยือนจีนของผู้แทนสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียเมื่อเดือนกันยายน
ค.ศ. 1956 โดยระบุเหตุผลที่ไม่ตอบโทรเลขของยูโกสลาเวียที่ให้การรับรองรัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อ
ค.ศ. 1949 ว่าเป็นเพราะต้องการลดความหวาดระแวงของสหภาพโซเวียตที่มองว่าตนคือ
“ติโตคนที่ 2” ซึ่งหมายถึงผู้นำประเทศสังคมนิยมที่ไม่ยอมเดินตามแนวทางของสหภาพโซเวียต
และความหวาดระแวงดังกล่าวเพิ่งมาหมดไปเมื่อจีนเข้าช่วยเหลือเกาหลีเหนือในสงครามเกาหลี
ดังความตอนหนึ่งว่า
เหตุผลที่เราไม่ตอบรับการรับรองจากคุณก็คือ
ตอนนั้นสหายโซเวียตไม่อยากให้เราสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับคุณ ... สหายเอ๋ย
ในตอนนั้นถ้าสหภาพโซเวียตแสดงความเห็นใดๆ ออกมา ก็ยากที่เราจะไม่เห็นด้วย
มีการพูดกันในขณะนั้นว่า โลกนี้มีติโต 2 คน
คนหนึ่งอยู่ที่ยูโกสลาเวีย อีกคนหนึ่งอยู่ที่จีน ... ข้าพเจ้าเคยถามสหายโซเวียตว่า
“คุณเคยสงสัยว่าข้าพเจ้าเป็น “กึ่งติโต” ใช่หรือไม่?” มาถึงตอนนี้พวกเขาไม่ยอมรับเสียแล้ว
แล้วพวกเขาเลิกตีตราว่าข้าพเจ้าเป็น “กึ่งติโต” ตั้งแต่เมื่อไหร่? ก็ตั้งแต่เราต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันในสงครามเกาหลีนั่นแหละ[9]
ภายหลังจากสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตแล้วเสร็จ
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนยูโกสลาเวียก็เป็นไปอย่างราบรื่น การที่จีนส่งอู๋ซิ่วเฉวียน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและกรรมการกลางพรรคไปเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบลเกรดคนแรกนั้นสร้างความประทับใจไม่น้อยแก่ติโต
ด้วยแสดงให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับยูโกสลาเวียเป็นพิเศษ[10] แม้จะมีประเด็นที่สร้างความระคายเคืองระหว่างกันอยู่บ้าง
เช่น ในระหว่างการมาเยือนจีนของคณะผู้แทนสหภาพแรงงานจากยูโกสลาเวียเพื่อร่วมงานวันแรงงานสากลใน
ค.ศ. 1955 แผนที่โลกในแขวนไว้ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งระบุว่า
ยูโกสลาเวียเป็นประเทศทุนนิยมและเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกัน[11]
ซึ่งเข้าใจว่าเป็นแผนที่ที่เขียนขึ้นในช่วงที่จีนยังคงประณามติโตตามอย่างสหภาพโซเวียต
เป็นต้น แต่ประเด็นนี้ก็มิได้ลุกลามบานปลายจนกระทบความสัมพันธ์โดยรวม
แต่แล้ววิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกที่เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1956 จะเป็นชนวนที่นำไปสู่ความร้าวฉานในความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศจนต้องเผชิญหน้ากันและกลายเป็นศัตรูกันที่สุด
[1] Wu
Xiuquan, Eight Years in the Ministry of Foreign Affairs (January 1950 - October
1958) – Memoirs of a Diplomat (Beijing: New World Press, 1985), 120.
[2] Jovan Cavoski, “Overstepping the Balkan boundaries:
The Lesser known history of Yugoslavia’s early relations with Asian countries
(new evidence from Yugoslav/Serbian archives),” Cold War History 11
(November 2011): 562.
[3] Ibid.: 561.
[4] Ibid.: 562-563.
[5] Michael H. Hunt, The Genesis of Chinese Communist
Foreign Policy (New York: Columbia University Press, 1996), 178-179.
[6] นำมาตีพิมพ์อีกครั้งเป็นจุลสารใน
ค.ศ. 1952 ดูใน Liu Shaoqi, Internationalism
and Nationalism (Peking: Foreign Languages Press, 1952), available from https://www.marxists.org/reference/archive/liu-shaoqi/1952/internationalism_nationalism/,
accessed 1 October 2015.
[7] Mao Zedong, Selected Works of Mao Zedong, Volume IV
(Peking: Foreign Languages Press, 1961), 445.
[8] Wu Xiuquan, Ibid., 94-95.
[9] Mao Zedong, On Diplomacy (Beijing: Foreign
Languages Press, 1998), 195-196.
[10] Wu Xiuquan, Ibid., 103
[11] Ibid., 98.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น