วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 1 บทนำ)


“พวกลัทธิแก้สมัยใหม่อย่างคณะผู้ปกครองของยูโกสลาเวียนั้นใช้ลัทธิชาตินิยมกระฎุมพีมาคัดค้านลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ ใช้ชาติเป็นเครื่องอำพรางเพื่อต่อต้านความเป็นปึกแผ่นแบบสากลนิยม

และกลายเป็นเสียงสะท้อนของลัทธิจักรวรรดินิยมไปอย่างเต็มตัวแล้ว”

เติ้งเสี่ยวผิง, ค.ศ. 1959[1]

 

“นับตั้งแต่พรรคของเราทั้งสองกลับมาติดต่อกันอีกครั้ง ความสัมพันธ์ก็เป็นไปอย่างดีมาก สหายติโตมาเยือนจีนก่อนและเป็นผู้เปิดหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสองพรรค ตอนนั้นประธานพรรคของเราคือฮว่ากั๋วเฟิง ส่วนข้าพเจ้าพบกับสหายติโตในฐานะทหารอาวุโส เราสนทนากันอย่างมีไมตรีและตกลงที่จะลืมอดีตเพื่อมุ่งสู่อนาคต ... จริงอยู่ที่การวิเคราะห์อดีตนั้นเป็นสิ่งมีค่า แต่ข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ แต่ละพรรคไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่ เล็ก หรือกลางต่างควรเคารพประสบการณ์และการเลือกของพรรคอื่น รวมทั้งหยุดวิจารณ์แนวทางการดำเนินงานของพรรคและประเทศอื่น ... น่าเสียดายที่จีนเองก็เคยทำผิดด้วยการวิจารณ์พรรคอื่นมาก่อน”

เติ้งเสี่ยวผิง, ค.ศ. 1987[2]

 

                                เติ้งเสี่ยวผิงกับติโต เมื่อ ค.ศ. 1977

(ภาพจาก http://cpc.people.com.cn/GB/69112/69113/69685/69697/4724009.html)
 

           

ในยุคสงครามเย็น จีนและยูโกสลาเวียต่างเป็นรัฐสังคมนิยมที่มีลักษณะบางประการคล้ายคลึงกัน ประการแรก การปฏิวัติสังคมนิยมของทั้งสองประเทศเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของผู้นำอย่างเหมาเจ๋อตง (Mao Zedong) และโยซิฟ บรอส ติโต (Josif Broz Tito) ซึ่งมีฐานสนับสนุนจากมวลชนในชนบท จนมีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิวัติของทั้งสองประเทศเกิดขึ้นจากการปลุกระดมชาวนา (peasant mobilization) เพื่อต่อสู้กับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง[3] ซึ่งในกรณีของจีนคือการต่อสู้กับลัทธิแสนยนิยม (militarism) ของญี่ปุ่น และในกรณีของยูโกสลาเวียคือการต่อสู้กับลัทธินาซี (Nazism) ของเยอรมนี ต่างจากรัฐสังคมนิยมส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันออกที่สถาปนาขึ้นด้วยอำนาจทางการทหารของสหภาพโซเวียตในครึ่งหลังของทศวรรษ 1940

ความคล้ายคลึงกันประการที่สองก็คือ หลังการสถาปนารัฐสังคมนิยมในยูโกสลาเวียและจีนเมื่อ ค.ศ. 1945 และ 1949 ตามลำดับ ทั้งสองประเทศต่างดำเนินนโยบายพึ่งพิงสหภาพโซเวียตอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเกิดความตึงเครียดจนต้องยุติความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน ดังจะเห็นได้ว่ายูโกสลาเวียมีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตจนถูกขับไล่ออกจากองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform) ใน ค.ศ. 1948 และถึงแม้ว่าใน ค.ศ. 1954 ทั้งสองฝ่ายจะกลับมาสมานไมตรีกัน แต่ยูโกสลาเวียก็มิได้เป็นประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตเฉกเช่นหลายประเทศในยุโรปตะวันออก ขณะที่จีนในปลายทศวรรษ 1950 ก็มีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นการเผชิญหน้าและแข่งขันกันอย่างยาวนานจนถึงทศวรรษ 1980 จึงมีการปรับปรุงความสัมพันธ์จนเข้าสู่สภาวะปกติ

แม้ว่าจีนและยูโกสลาเวียจะมีลักษณะบางประการที่คล้ายคลึงกันตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในยุคสงครามเย็นกลับไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นและสนิมสนม ดูได้จากภายหลังการสถาปนารัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ผ่านไปไม่ถึง 4 เดือน จีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศสังคมนิยมจำนวน 11 ประเทศ[4] ขาดแต่ยูโกสลาเวียเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะในช่วง ค.ศ. 1949 ถึงกลางทศวรรษ 1950 จีนดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่จีนเป็นจำนวนมาก จีนจึงไม่กล้าที่จะเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐสังคมนิยมที่เป็นศัตรูกับสหภาพโซเวียตอย่างยูโกสลาเวีย[5] ต้องรอจนกระทั่งสหภาพโซเวียตกับยูโกสลาเวียกลับมาสมานไมตรีกันอีกครั้งใน ค.ศ. 1954 จีนจึงตกลงใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูโกสลาเวียในปีถัดมา   

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียหลังการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตใน ค.ศ. 1955 ก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างสองฝ่ายเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของรัฐสังคมนิยมฮังการีที่ต้องการเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1956 กล่าวคือ จีนสนับสนุนการใช้กำลังบุกฮังการีของสหภาพโซเวียตเพื่อสยบความเคลื่อนไหวดังกล่าว ขณะที่ยูโกสลาเวียแม้จะสนับสนุนการใช้กำลังในครั้งนั้น แต่ติโตก็ได้แสดงความเห็นว่ามูลเหตุของความไม่สงบในฮังการีส่วนหนึ่งมาจากการที่สหภาพโซเวียตควบคุมยุโรปตะวันออกอย่างเข้มงวดและกดขี่ ทัศนะดังกล่าวของติโตทำให้จีนมองว่ายูโกสลาเวียกำลังทำลายเอกภาพของโลกสังคมนิยมและเดินไปสู่การเป็นลัทธิแก้ (revisionism)[6] ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียจึงเข้าสู่ความตึงเครียดจนกระทั่งใน ค.ศ. 1958 ทั้งสองฝ่ายได้ลดความสัมพันธ์เหลือแค่ระดับอุปทูต (chargé d’affaires) และการที่การเมืองจีนเข้าสู่สมัยซ้ายจัดในทศวรรษ 1960 จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) ใน ค.ศ. 1966 ก็ยิ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้การสมานไมตรีระหว่างสองประเทศไม่อาจเกิดขึ้นได้

ในปลายทศวรรษ 1960 เมื่อกระแสแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนเริ่มแผ่วลง จีนได้หันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่เสียหายไป จีนกับยูโกสลาเวียตัดสินใจกลับมามีความสัมพันธ์ในระดับเอกอัครราชทูตอีกครั้งใน ค.ศ. 1970 และที่สำคัญก็คือการเดินทางเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูงสุดของทั้งสองฝ่าย โดยติโตในฐานะประธานาธิบดีและประธานสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย (The League of Communists of Yugoslavia) เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งใน ค.ศ. 1977 และฮว่ากั๋วเฟิง (Hua Guofeng) ประธานพรรคอมมิวนิสต์และนายกรัฐมนตรีของจีนเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดเป็นการตอบแทนในปีถัดมา และเมื่อติโตถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1980 ฮว่ากั๋วเฟิงก็ได้เดินทางเยือนกรุงเบลเกรดอีกครั้งเพื่อร่วมในรัฐพิธีศพ

ในปัจจุบัน งานทางวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในช่วงทศวรรษ 1970 มีจำนวนไม่มาก โดยอาจแบ่งข้อสรุปของงานศึกษาเหล่านี้ได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกมองว่าจีนกับยูโกสลาเวียหันมาสมานไมตรีกันเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตและการประกาศหลักการเบรชเนฟ (The Brezhnev Doctrine) ใน ค.ศ. 1968 ที่อ้างความชอบธรรมของสหภาพโซเวียตในการใช้กำลังลงโทษประเทศสังคมนิยมอื่นๆ ที่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง[7] ขณะที่งานในกลุ่มที่สองมองว่า จริงอยู่ที่การสมานไมตรีระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเริ่มขึ้นในต้นทศวรรษ 1970 เพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่มีนัยสำคัญตราบจนกระทั่งการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงใน ค.ศ. 1976 และการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำคนใหม่อย่างฮว่ากั๋วเฟิงและเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยศึกษาประสบการณ์ของยูโกสลาเวียเป็นตัวอย่าง จนนำไปสู่การเดินทางเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูงสุดของทั้ง 2 ฝ่าย[8]

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่งานวิชาการทั้งสองกลุ่มไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนก็คือ ในบริบทของทศวรรษ 1970 ที่รัฐธรรมนูญของจีนฉบับ ค.ศ. 1975 และฉบับ ค.ศ. 1978 ล้วนแต่เน้นย้ำให้เชิดชูลัทธิสากลนิยมของชนชั้นกรรมาชีพ (proletarian internationalism) ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ อีกทั้งผู้นำสูงสุดของจีนในขณะนั้นคือเหมาจ๋อตงและฮว่ากั๋วเฟิงต่างก็เป็นผู้นำรุ่นนักปฏิวัติและยังคงมีนโยบายสนับสนุนขบวนการฝ่ายซ้ายในการทำสงครามในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกนั้น ทางการจีนอธิบายหรือสร้างความสมเหตุสมผลอย่างไรในการสมานไมตรีกับยูโกสลาเวียซึ่งเป็นประเทศที่ตนตราหน้าว่า “ลัทธิแก้” โดยไม่ขัดกับกรอบอุดมการณ์ที่กำหนดโดยลัทธิมากซ์-เลนิน (Marxism – Leninism)




[1] Teng Hsiao-ping, “The Great Unity of the Chinese People and the Great Unity of the Peoples of the World,” in Ten Glorious Years, 1949-1959 (Beijing: Foreign Languages Press, 1960), 102.
[2] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume III (1982-1992) (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 234.
[3] Chalmers A. Johnson, Peasant Nationalism and Communist Power: The Emergence of Revolutionary China 1937-1945 (Stanford: Stanford University Press, 1962), 156-175.
[4] ได้แก่ สหภาพโซเวียต บัลแกเรีย โรมาเนีย ฮังการี เกาหลีเหนือ เชโกสโลวะเกีย โปแลนด์ มองโกเลีย เยอรมนีตะวันออก แอลเบเนีย และเวียดนาม  
[5] จางเหมี่ยนลี่, “จงกั๋วอวี่หนานซือลาฟูเจี้ยนเจียวสื่อม่อ,” (กระบวนการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย) ตางไต้จงกั๋วสื่อเหยียนจิว (วารสารประวัติศาสตร์จีนร่วมสมัยศึกษา) 13 (พฤษภาคม 2006): 93-100.
[6] Roderick MacFarquhar, The Origins of the Cultural Revolution 1: Contradictions among the People 1956-1957 (New York: Columbia University Press, 1974), 171-174.
[7] ตัวอย่างงานในกลุ่มแรกคือ A Ross Johnson, “Yugoslavia and the Sino-Soviet Conflict: The Shifting Triangle, 1948-1974,” Studies in Comparative Communism 7 (Spring-Summer, 1974); 184-203; Harish Kapur, Distant Neighbours: China and Europe (London: Pinter Publishers, 1990), 108-117; เซียวจงจื้อ, “ซื่อลุ่นจงกั๋วอวี่หนานซือลาฟูกวานซี่เตอะเหยี่ยนเปี้ยนจี๋เฉิงอิน,” (ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย) ต๋างสื่อเหยียนจิวอวี่เจี้ยวเสวีย (วารสารการวิจัยและการสอนประวัติศาสตร์พรรค) 3 (1999): 31-35; กุ้ยชาง, จงกั๋วอวี่หนานซือลาฟูกวานซี่จงเตอะซูเหลียนยินซู่ (ปัจจัยโซเวียตในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย) (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยการต่างประเทศจีน, 2007), 29-34.  
[8] ตัวอย่างงานกลุ่มที่สองคือ David A. Andelman, “China’s Balkan Strategy,” International Security 4 (Winter 1979/80): 60-79; Melvin Gurtov and Byong-Moo Hwang, China under Threat: The Politics of Strategy and Diplomacy (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 1980), 254-255; David Shambaugh, “China and Europe,” Annals of the American Academy of Political and Social Science 519 (January 1992): 101-114. 

ไม่มีความคิดเห็น: