วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 3 วิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย)


             วิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกเมื่อ ค.ศ. 1956 เกิดขึ้นในโปแลนด์และฮังการี กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น กลุ่มกรรมกรแห่งเมืองพอซนาน (Poznan) ในโปแลนด์จำนวน 50,000 คนได้หยุดงานประท้วงเรียกร้องให้แก้ปัญหาขาดแคลนอาหารและให้มีการเลือกตั้งเสรี ภายใต้คำขวัญ “ขนมปังและเสรีภาพ” รวมทั้งให้รื้อฟื้นศาสนาจักรคาทอลิก[1] เมื่อการประท้วงขยายออกไปทั่วประเทศ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์จึงยอมผ่อนปรนโดยให้ฟวาดิสวาฟ โกมูวกา (Wladyslaw Gomulka) อดีตเลขาธิการพรรคที่ถูกปลดไปเมื่อ ค.ศ. 1948 กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง สหภาพโซเวียตซึ่งเกรงว่าตนจะเสียการควบคุมประเทศบริวารอย่างโปแลนด์จึงเตรียมใช้กำลังทหารเข้าจัดการ แต่ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็จบลงอย่างสันติเมื่อโกมูวกาให้คำมั่นกับครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตว่า โปแลนด์ต้องการเพียงอิสระในการดำเนินนโยบายภายในประเทศ โดยที่ยังคงเป็นพันธมิตรร่วมค่ายสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียตอยู่ต่อไป[2]



                       การทำลายอนุสาวรีย์ของสตาลินในฮังการีเมื่อ ค.ศ. 1956
            (ภาพจาก http://adst.org/2013/10/the-hungarian-revolution-of-1956/ )


            ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน เกิดความไม่สงบขึ้นในฮังการี นักศึกษาและประชาชนนับหมื่นคนก่อการประท้วงในกรุงบูดาเปสต์ มีการเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเลือกอิมเร นอจ (Imre Nagy) อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกปลดไปเมื่อปีก่อนให้กลับมาบริหารประเทศ รวมทั้งเรียกร้องให้ฟื้นคืนประชาธิปไตย ขับไล่กองทัพของสหภาพโซเวียตออกไป และทำลายอนุสาวรีย์ของสตาลิน ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีจึงยอมเปิดทางให้นอจกลับมาบริหารประเทศ และในวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีนั้น นอจประกาศถอนฮังการีออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (The Warsaw Pact) ซึ่งเป็นองค์การพันธมิตรทางทหารที่สหภาพโซเวียตก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1955 ทำให้ในอีก 3 วันต่อมา สหภาพโซเวียตได้ยกกำลังทหารบุกฮังการีและปลดนอจออกจากตำแหน่ง มีประชาชนเสียชีวิตราว 2,000 คน บาดเจ็บและถูกจับกุมอีกนับหมื่นคน[3]    

            สำหรับท่าทีของจีนต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกนั้น จีนแสดงจุดยืนสนับสนุนแนวทางการดำเนินนโยบายภายในประเทศที่เป็นอิสระของโกมูวกา เนื่องจากจีนเองก็ต้องการความเป็นอิสระระดับหนึ่งโดยที่ยังคงรักษาเอกภาพในค่ายสังคมนิยมเอาไว้[4] และมีความเป็นไปได้ว่า การเดินทางเยือนกรุงมอสโกของหลิวเส้าฉีและเติ้งเสี่ยวผิงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1956 เพื่อแสดงจุดยืนดังกล่าวต่อครุสชอฟนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้สหภาพโซเวียตยุติแผนการใช้กำลังกับโปแลนด์ แต่ในกรณีของฮังการี จีนเห็นว่าการประกาศถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเป็นการทำลายเอกภาพของค่ายสังคมนิยมอย่างชัดเจน จีนจึงสนับสนุนการใช้กำลังเข้าปราบปรามของสหภาพโซเวียต[5]

            สำหรับยูโกสลาเวีย แม้ติโตจะสนับสนุนการตัดสินใจของสหภาพโซเวียตทั้งในกรณีของโปแลนด์และฮังการี แต่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองปูลา (Pula) โดยระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศนี้มาจากอิทธิพลที่ครอบงำยุโรปตะวันออกของลัทธิสตาลิน (Stalinism) ที่เน้นลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) การปกครองโดยคนๆ เดียวซึ่งละเลยบทบาทและความต้องการของมวลชน สุนทรพจน์ดังกล่าวทำให้จีนเกรงว่าจะเป็นการทำลายเอกภาพของค่ายสังคมนิยม ในวันที่ 29 ธันวาคมของปีนั้น หนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) จึงได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการชื่อว่า “เพิ่มเติมว่าด้วยประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพเพื่อวิจารณ์ติโต โดยระบุว่า จริงอยู่ที่สตาลินเคยกระทำบางอย่างผิดพลาด แต่การที่ติโตนำเอาทุกเรื่องในทางลบไปเกี่ยวโยงกับสตาลินนั้นถือเป็นการสร้าง “ลัทธิแก้” ซึ่งนอกจากจะทำลายลัทธิมากซ์-เลนินแล้ว ยังเป็นการเสริมแรงให้กับลัทธิจักรวรรดินิยมอีกด้วย[6] แต่กระนั้น บทบรรณาธิการดังกล่าวก็เน้นย้ำว่านี่คือ “คำชี้แนะแบบพี่น้อง”[7] และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียยังดำเนินไปตามปกติ ดูได้จากการเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดของเผิงเจิน (Peng Zhen) ในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการประจำแห่งสภาประชาชนแห่งชาติ (The National People’s Congress) เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1957

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเลวร้ายลงอย่างเป็นรูปธรรมในปลาย ค.ศ. 1957 ต่อถึงต้น ค.ศ. 1958 กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1957 สหภาพโซเวียตได้เชิญผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จากประเทศต่างๆ มาประชุมที่กรุงมอสโกเนื่องในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการปฏิวัติบอลเชวิกส์ และผู้แทนเหล่านั้นได้ลงนามใน “คำประกาศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (The Declaration of the Communist Parties)” ซึ่งมีเนื้อหายอมรับความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตในขบวนการสังคมนิยมของโลก แต่ผู้แทนของยูโกสลาเวียกลับไม่ยอมลงนาม ต่อมาในต้น ค.ศ. 1958 เมื่อสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเตรียมจัดประชุมสมัชชาครั้งที่ 7 และได้เผยแพร่เอกสารการประชุมให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ อ่านล่วงหน้า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวก็คือ ยูโกสลาเวียถือว่าประเทศสังคมนิยมทั้งหลายมีสถานะเท่าเทียมกันและไม่ยอมรับความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต ด้วยเหตุนี้ สหภาพโซเวียตจึงแจ้งแก่บรรดาประเทศสังคมนิยมทั้งหลายว่าไม่ให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุม โดยให้ส่งแต่ผู้สังเกตการณ์ไปเท่านั้น รวมทั้งไม่ให้มีการกล่าวแสดงความยินดีต่อสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียอีกด้วย ซึ่งจีนก็ปฏิบัติตามคำสั่งของสหภาพโซเวียต[8]  

            เมื่อมีการเปิดประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1958 ที่เมืองลูบลิยานา (Ljubljana) ยูโกสลาเวียก็กล่าวโจมตีการที่สหภาพโซเวียตเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศอื่นอย่างรุนแรง ทำให้เอกอัครราชทูตจีน โซเวียต และประเทศในยุโรปตะวันออก (ยกเว้นโปแลนด์) พากันเดินออกจากห้องประชุม[9] ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคมของปีเดียวกัน สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออก “มติเกี่ยวกับการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกรรมการที่กรุงมอสโก” ซึ่งประณามยูโกสลาเวียว่าเป็นลัทธิแก้ที่ต้องการบ่อนทำลายขบวนการคอมมิวนิสต์สากล[10] และในเดือนนั้นเอง จีนเรียกเอกอัครราชทูตประจำกรุงเบลเกรดกลับประเทศและลดความสัมพันธ์ลงเหลือเพียงระดับอุปทูต  


--------------------------------------------------
[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อีกฟากหนึ่งของยุโรป: ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปตะวันออก ค.ศ. 1800-2000 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553), 301.
[2] เพิ่งอ้าง, 301-302.
[3] เพิ่งอ้าง, 308-309.
[4] Mercy A, Kuo, Contending with Contradictions: PRC Policy towards Soviet Eastern Europe with Special Reference to Poland, 1953-1960 (Ph.D. Dissertation, the University of Oxford, 1999), 115.   
[5] Kapur, ibid., 31.
[6] More On the Historical Experience of the Dictatorship of the Proletariat, editorial in People’s Daily, December 29, 1956,” in Communist China 1955-1959: Policy Documents with Analysis, ibid., 264-265.  
[7] Ibid., 265.
[8] Wu Xiuquan, ibid., 123.
[9] Ibid., 123-124.
[10] Resolution on the Moscow Meetings of Representatives of the Communist and Workers’ Parties, adopted May 23, 1958, by the Second Session of the Eighth Party Congress of the Chinese Communist Party, in Communist China 1955-1959: Policy Documents with Analysis, ibid., 410-416.  

ไม่มีความคิดเห็น: