วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 19)


จีนกับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในเกาหลีเหนือจากคิมจองอิลสู่คิมจองอึน

 

            คิมจองอิลมีอายุครบ 60 ปีใน ค.ศ. 2002 เดิมผู้สังเกตการณ์เกาหลีเหนือวิเคราะห์ว่าคิมจองอิลน่าจะให้บุตรชายคนโตนามว่า คิมจองนาม (Kim Jong Nam เกิด ค.ศ. 1971) ซึ่งเกิดจากซงเฮริม (Song Hye Rim) เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง หากแต่จุดอ่อนของคิมจองนามก็คือการที่ซงเฮริมผู้เป็นมารดาเคยแต่งงานมาแล้วและไม่ได้รับการยอมรับจากคิมอิลซุงให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และเมื่อซงเฮริมเสียชีวิตใน ค.ศ. 2002 ทางการเกาหลีเหนือได้เริ่มสร้างลัทธิบูชาบุคคลให้กับโกยองฮี (Ko Young Hee) ภรรยาอีกคนหนึ่งของคิมจองอิล ทำให้มีการคาดหมายกันว่าผู้ที่จะสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไปน่าจะเป็นบุตรชายคนใดคนหนึ่งของนางซึ่งได้แก่ คิมจองโชล (Kim Jong Chol เกิด ค.ศ. 1981) และคิมจองอึน (Kim Jong Un เกิด ค.ศ. 1983)[1] อย่างไรก็ตาม เมื่อคิมจองอิลล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 ก็ยังไม่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง

การล้มป่วยหนักของคิมจองอิลโดยที่ยังไม่มีการกำหนดทายาททางการเมืองอย่างชัดเจน รวมทั้งการยุตินโยบายตะวันฉายของเกาหลีใต้และวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่คลี่คลายได้สร้างความกังวลใจให้กับจีนเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในเกาหลีเหนือและสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี จีนจึงมีปฏิกิริยาต่อการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2009 อย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มแรงกดดันเกาหลีเหนือ โดยเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมด่วนในบ่ายวันนั้น ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำองค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้คณะมนตรีฯ “ดำเนินการร่วมกันอย่างแข็งขัน (strong collective action)” ต่อเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังได้ประสานงานกับสหราชอาณาจักรฯ และเกาหลีใต้ในการร่างมติลงโทษเกาหลีเหนือเอาไว้แล้ว[2] แต่จางเย่สุ้ย (Zhang Yesui) เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติก็ขอให้คณะมนตรีฯ มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและในระดับที่เหมาะสม (cautious and proportionate)[3] ทำให้ในที่สุดคณะมนตรีฯ จึงออกแต่เพียงแถลงการณ์ของประธาน (presidential statement) ในวันที่ 13 เมษายนโดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือเคารพมติที่ 1718 และสนับสนุนให้ใช้การประชุมษัฏภาคีในการเจรจาแก้ไขปัญหา[4]

แม้ว่าจีนจะหันมากดดันเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้นหลังการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 โดยร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในมติที่ 1874 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนของปีนั้นเพื่อการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการงดซื้อขายอาวุธทุกชนิดกับเกาหลีเหนือ (ยกเว้นอาวุธเบา) การห้ามให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกาหลีเหนือ (ยกเว้นความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการพัฒนาในทางพลเรือน) แต่จีนยังคงจุดยืนเดิมที่ไม่สนับสนุนการใช้มาตรการทางทหารกับเกาหลีเหนือโดยระบุว่าอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ข้อกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผล และสิทธิในการพัฒนาของเกาหลีเหนือในฐานะประเทศเอกราชและสมาชิกองค์การสหประชาชาตินั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพ และควรใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติ[5] ต่อมาเมื่อเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธจำนวน  7 ลูกลงในทะเลญี่ปุ่นอีกในวันที่ 4 กรกฎาคมของปีเดียวกันซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา จีนก็ยังคงขอให้ทุกฝ่ายสงบนิ่งและมีความยับยั้งชั่งใจ[6] และในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาของสวีไฉโห้ว (Xu Caihou) รองประธานกรรมาธิการทหารแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคมของปีนั้น โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ถือโอกาสหารือเกี่ยวกับมาตรการที่จะใช้ในการรับมือกับเกาหลีเหนือ แต่สวีไฉโห้วตอบแต่เพียงสั้นๆ ว่า “ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ”[7]

ความพยายามของจีนที่จะลดแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือเพื่อประคับประคองสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้ให้มีเสถียรภาพมากที่สุดในยามที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจในกรุงเปียงยางนั้นเห็นได้ชัดอีกครั้งหลังการจมของเรือโชนัน (Cheonan) ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ในทะเลเหลืองเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งมีลูกเรือเสียชีวิต 46 คน และคณะผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และสวีเดนได้เสนอรายงานการสืบสวนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมของปีนั้นโดยสรุปว่าเรือลำดังกล่าวถูกยิงโดยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ แต่หม่าจาวซวี่ (Ma Zhaoxu) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกลับระบุว่าเรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อนและจีนก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จีนจึงต้องรับฟังและประเมินข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน[8]




โจวหย่งคัง (คนที่สองจากขวา) กรรมการประจำกรมการเมืองของจีนเยือนกรุงเปียงยางเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010


การสืบทอดอำนาจทางการเมืองในเกาหลีเหนือมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อพรรคกรรมกรเกาหลีจัดประชุมสมัชชาพรรคครั้งแรกในรอบ 30 ปีในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2010 โดยคิมจองอึน บุตรชายคนเล็กของคิมจองอิลได้รับการประดับยศเป็นนายพลและดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของพรรค ซึ่งเท่ากับว่าเขาคือว่าที่ผู้นำรุ่นต่อไป และเกาหลีเหนือก็ได้เชิญผู้นำระดับสูงของจีนให้ไปร่วมงานฉลอง 65 ปีของพรรคกรรมกรเกาหลีในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ซึ่งจีนได้ส่งโจวหย่งคัง (Zhou Yongkang) กรรมการประจำกรมการเมืองและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์เดินทางไปร่วมงานโดยได้รับเกียรติให้ยืนติดกับคิมจองอิลในพิธีสวนสนาม[9] ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำระดับสูงของจีนได้พบกับคิมจองอึน และด้วยเหตุที่จีนต้องการให้การสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือดำเนินไปอย่างราบรื่น จีนจึงละเว้นการกดดันเกาหลีเหนือที่ยิงถล่มเกาะยอนเปียง (Yeonpyeong) ของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนของปีนั้นจนมีผู้เสียชีวิต 4 คน โดยหงเหล่ย (Hong Lei) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แต่ออกมาแสดงความเสียใจต่อสูญเสียที่เกิดขึ้น และเมื่อนักข่าวถามว่าควรนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือไม่ เขาก็ตอบแต่เพียงว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ควรใช้การเจรจาพูดคุยกัน[10] ต่อมาในการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของเมิ่งเจี้ยนจู้ (Meng Jianzhu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ของจีนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 เขาก็ได้แสดงความชื่นชมต่อการที่เกาหลีเหนือสามารถจัดการเรื่องผู้สืบทอดอำนาจได้สำเร็จ[11] ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับสถานะว่าที่ผู้นำของคิมจองอึนนั่นเอง
 
            ข้อที่น่าสังเกตก็คือ การส่งบุคคลอย่างโจวหย่งคังและเมิ่งเจี้ยนจู้ซึ่งดูแลกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ไปเยือนเกาหลีเหนือนั้นสะท้อนให้เห็นความกังวลลึกๆ ของจีนเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือ ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นก็อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในเกาหลีเหนือและอาจมีผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือเข้ามาในจีนมากขึ้น ซึ่งการจัดการกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้นำของจีนยังไม่รู้จักกับคิมจองอึนเป็นการส่วนตัวมากเพียงพอ แม้จะมีรายงานข่าวจากเกาหลีใต้ว่าคิมจองอึนเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อทำความรู้จักกับผู้นำของจีนในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011[12] แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันการเดินทางดังกล่าวจากทั้งสื่อของจีนและสื่อของเกาหลีเหนือ และมีหลักฐานแต่เพียงว่าเขาเดินทางไปรับประทานอาหารเย็นพร้อมกับบิดา ณ สถานทูตจีนในกรุงเปียงยางเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2011[13] อย่างไรก็ตาม เมื่อคิมจองอิลวัย 69 ปีถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการหัวใจวายในวันที่ 17 ธันวาคมของปีเดียวกัน จีนซึ่งต้องการให้การสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างราบรื่นก็รีบรับรองผู้นำคนใหม่อย่างคิมจองอึน โดยในวันที่ 19 ธันวาคมของปีนั้น หยางเจี๋ยฉือ (Yang Jiechi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แสดงความเชื่อมั่นกับปักเมียงโฮ (Pak Myong Ho) อุปทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศจีนว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิมจองอึนจะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สังคมนิยมและเกิดสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี[14]

 
----------------------------


[1] Seong – Chang Cheong, “A Study on North Korea’s Power Succession in Kim Jong Il’s Regime,” East Asian Review 17, no. 1 (Spring 2005): 24-25.
[2] “UN Security Council meets on DPRK rocket launch,” Xinhua News Agency, 6 April 2009, available from http://news.xinhuanet.com/english/2009-04/06/content_11136566.htm, accessed 1 May 2014.
[3] Ibid.
[4] “UN Security Council Statement on N. Korea,” Reuters, 14 April 2009, available from http://in.reuters.com/article/2009/04/13/korea-north-un-text-idINN1333144920090413, accessed 1 May 2014. 
[5] “Security Council, acting unanimously, condemns in strongest terms Democratic People’s Republic of Korea nuclear test, toughens sanctions,” UN News Centre, 12 June 2009, available from http://www.un.org/News/Press/docs//2009/sc9679.doc.htm, accessed 1 May 2014. 
[6] “China hope relevant sides of Korea nuke issue remain calm, restraint,” Xinhua News Agency, 5 July 2009, available from http://news.xinhuanet.com/english/2009-07/05/content_11655220.htm, accessed 1 May 2014.
[7] Robert. M. Gates, Duty: memoirs of a Secretary at war (New York, NY: Alfred A. Knof, 2014), 414.
[8] “Foreign Ministry Spokeperson Ma Zhaoxu’s Regular Press Conference on May 27, 2010,” Embassy of the People’s Republic of China in the Federal Republic of Germany, available from http://de.chineseembassy.org/det/fyrth/t705632.htm, accessed 31 May 2014.
[9] “Senior Chinese official observes DPRK grand parade,” Xinhua News Agency, 10 October 2010, available from http://www.china.org.cn/world/2010-10/10/content_21093037.htm, accessed 31 May 2014.
[10] “Hong Lei, China’s Response to the Yeonpyeong Island Incident, November 25, 2010,” University of Southern California’s US-China Institute, available from http://china.usc.edu/Default.aspx, accessed 31 May 2014.  
[11] Jeremy Laurence, “China openly backs North Korea succession plan – report,” Reuter, 15 February 2011, available from http://uk.reuters.com/article/2011/02/15/uk-korea-north-idUKTRE71E0J120110215, accessed 31 May 2014.
[12] “หานเหมยเชิงจินเจิ้งเอินซื่อเยว่เจียงตานตู่ฝ่างฮว๋า,” (สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคิมจองอึนจะเดินทางเยือนจีนคนเดียวในเดือนเมษายน) ข่าวบีบีซี (ภาคภาษาจีน), สืบค้นจาก http://www.bbc.co.uk/zhongwen/simp/world/2011/03/110326_brief_nkorea_china_kim.shtml, เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2014.
[13] Peter M. Beck, “North Korea in 2011: The Next Kim Takes the Helm,” Asian Survey 52 (January/February 2012): 68.
[14] “China expresses condolences on Kim’s death,” China Daily, 19 December 2011, available from http://www.chinadaily.com.cn/china/2011-12/19/content_14288718.htm, accessed 31 May 2014.

ไม่มีความคิดเห็น: