วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 17)


ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ

 

            ในช่วง ค.ศ. 1999 – 2011 เกาหลีเหนือยังคงประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดูได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เติบโตน้อยและติดลบในบางปี (ดูตารางที่ 8) ในช่วงเวลาดังกล่าว จีนยังคงบทบาทเป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเช่นเดียวกับทศวรรษก่อนหน้านั้น โดยมีบทบาททั้งการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการชักจูงให้เกาหลีเหนือปฏิรูปเศรษฐกิจ

                            สะพานมิตรภาพจีน - เกาหลีเหนือ เมืองตานตง มณฑลเหลียวหนิง 
 
 

ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ

จีนให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนแก่เกาหลีเหนือเป็นจำนวนมากทั้งในลักษณะของเงินให้เปล่า อาหาร และพลังงาน อย่างไรก็ตาม ทางการจีนไม่เคยเปิดเผยตัวเลขการให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนืออย่างเป็นทางการ ตัวเลขส่วนใหญ่จึงเป็นข้อมูลของหน่วยงานนอกประเทศจีน (ดูตารางที่ 9, 10 และ 11) ซึ่งรวบรวมตัวเลขจากรายงานข่าวของสื่อมวลชน ดังปรากฏรายงานข่าวว่าในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 เมื่อคิมยองนัมเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง จีนได้มอบเมล็ดธัญพืชจำนวน 150,000 ตันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ และถ่านหินอีก 40,000 ตันแก่เกาหลีเหนือเพื่อการผลิต[1] และในการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของเจียงเจ๋อหมินเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2001 เขาได้ให้ความช่วยเหลือแก่เกาหลีเหนือด้านอาหารรวม 200,000 ตัน และน้ำมันดีเซลอีก 30,000 ตัน[2]ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2002 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบวันเกิด 90 ปีของคิมอิลซุงผู้ล่วงลับ จีนได้มอบเงินให้เปล่าเพื่อช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนืออีกเป็นจำนวน 6 ล้านเหรียญสหรัฐ[3] นอกจากนี้ ในบางครั้งจีนยังใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกาหลีเหนือหันมาให้ความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตการณ์นิวเคลียร์อีกด้วย ดังเช่นการสร้างโรงงานผลิตแก้วมูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่เกาหลีเหนือเมื่อ ค.ศ. 2003 เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือยอมเข้าประชุมษัฏภาคีรอบที่ 2[4] และมีนักวิชาการที่ใช้สถิติสะท้อน (mirror statistics) เพื่อชี้ให้เห็นว่าตัวเลขการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนแก่เกาหลีเหนือนั้นน่าจะมากกว่าที่ปรากฏในรายงานข่าว เพราะตัวเลขเท่าที่ปรากฏไม่น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือดำเนินไปได้ ตัวเลขที่ไม่ปรากฏจึงน่าจะมาจากจีนเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเกาหลีเหนือไม่มีที่พึ่งอื่นๆ มากนัก[5]  ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวว่าเกาหลีเหนือได้ตอบแทนน้ำใจของจีนอยู่บ้างเป็นจำนวนเงินไม่มาก เช่นเมื่อจีนต้องเผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มณฑลเสฉวนในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2008 เกาหลีเหนือได้มอบเงินช่วยเหลือแก่จีนจำนวน 100,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหลิวเสี่ยวหมิง เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเปียงยางได้แสดงความชื่นชมการให้ความช่วยเหลือแก่จีนทั้งๆ ที่เกาหลีเหนือเองก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน[6]

อย่างไรก็ตาม จีนตระหนักดีว่าบทบาทในการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือของตนนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการต่ออายุให้กับระบอบเผด็จการของคิมจองอิล ด้วยเหตุนี้จีนจึงเน้นย้ำว่าความช่วยเหลือดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวเกาหลีเหนือ ดังที่เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีนได้บอกกับนักข่าว ณ กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2009 ว่า

 

จีนพยายามอย่างแข็งขันที่จะให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์และมีการประชุมษัฏภาคีอีกครั้ง ในระหว่างนี้จีนซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ปฏิบัติตามมติคณะมนตรีมาโดยตลอด ส่วนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือก็เป็นไปเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมติของคณะมนตรี[7] (เน้นโดยผู้วิจัย)

 

การค้า

จีนเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000 ยังคงสถานะเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือในยุคหลังสงครามเย็นเอาไว้เฉกเช่นในทศวรรษ 1990 โดยการค้าระหว่างสองฝ่ายใน ค.ศ. 2010 คิดเป็นมูลค่า 3,465 ล้านเหรียญสหรัฐ (ดูตารางที่ 12) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าทางบกผ่านสะพานมิตรภาพจีน – เกาหลีเหนือซึ่งทอดข้ามแม่น้ำยาลู่ที่เมืองตานตง (Dandong) มณฑลเหลียวหนิง อันเป็นเมืองชายแดนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งข้อมูลใน ค.ศ. 2012 ระบุว่าร้อยละ 70 ของการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือกระทำผ่านเมืองดังกล่าว[8]

เมื่อพิจารณาจากตัวเลขทางการค้าระหว่างสองฝ่ายในทศวรรษ 2000  ตามตารางที่ 12 แล้วจะพบข้อที่น่าสังเกตรวม 2 ประการ ประการแรก เกาหลีเหนือมีแนวโน้มที่จะพึ่งพาการค้ากับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยใน ค.ศ. 2000 การค้ากับจีนคิดเป็นร้อยละ 20.4 ของการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีเหนือทั้งหมด จากนั้นเพิ่มสูงขึ้นจนถึงร้อยละ 57 ใน ค.ศ. 2010 ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญคือ (1) ความตกต่ำของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากการลักพาตัวชาวญี่ปุ่น 13 คนและวิกฤตการณ์นิวเคลียร์จนทำให้ญี่ปุ่นใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือหลายระลอกตลอดทศวรรษ 2000 และ (2) การที่รัฐบาลใหม่ของเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 2008 นำโดยประธานาธิบดีลีเมียงบัค (Lee Myung Bak) ยุตินโยบายตะวันฉายที่ใช้กับเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ ค.ศ. 1998[9]   การสูญเสียคู่ค้าอย่างญี่ปุ่นและการค้ากับเกาหลีใต้ที่ลดลงจึงเป็นที่มาของการที่เกาหลีเหนือต้องพึ่งพาการค้ากับจีนมากยิ่งขึ้น ตรงข้ามกับจีนซึ่งพึ่งพาการค้ากับเกาหลีเหนือน้อยมาก โดยใน ค.ศ. 2009 เกาหลีเหนือเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 82 และตลาดนำเข้าอันดับที่ 77 ของจีน[10] ประการที่สอง เกาหลีเหนืออยู่ในสถานะเสียเปรียบดุลการค้ากับจีนอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลมาจากการที่เกาหลีเหนือมีโครงสร้างทางอุตสาหกรรมที่ล้าหลังจนส่งออกไปยังจีนได้แต่เพียงสินค้าจำพวกถ่านแอนทราไชต์ (anthracite) แร่เหล็ก และอาหารทะเล ขณะต้องนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากจีนตั้งแต่เครื่องใช้ในครัวเรือนไปจนถึงเครื่องจักรและน้ำมัน[11] ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นการพึ่งพากันและกันแบบไม่สมดุลในทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน


-----------------------------


[1] “Pyongyang and Beijing Vow to Further Strengthen Traditional Friendship,” People’s Korea 98 (9 June 1999), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/098th_issue/99060907.htm, accessed 21 April 2013.
[2] “President Jiang Zemin Revisits DPRK in 11 Years: Traditional Ties Revived to Match New century,” People’s Korea 168 (15 September 2001), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/168th_issue/2001091501.htm, accessed 21 April 2013.
[3] “China to Offer $6 Mil. Grant Aid to DPRK,” People’s Korea 179 (27 April 2002), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/179th_issue/2002042707.htm, accessed 21 April 2013.
[4] China Offers Gratis Glass Plant to DPRK,” People’s Korea 207 (31 July 2004), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/207th_issue/2004073104.htm, accessed 21 April 2013.
[5] Jaewoo Choo, “Mirroring North Korea’s Growing Economic Dependence on China: Political Ramifications,” Asian Survey 48 (March/April 2008): 364.
[6] “DPRK mourns China earthquake victims,” People’s Daily, 19 May 2008, available from http://english.people.com.cn/90001/90776/6414064.html, accessed 27 May 2014.
[7] “เวินเจียเป่า: จงฟางจือฉือเฉาเหม่ยจิ้นสิงเริ่นเจินเจี้ยนเส้อซิ่งเตอะตุ้ยฮว่า,” (เวินเจียเป่าระบุ จีนสนับสนุนให้เกาหลีเหนือกับสหรัฐอเมริกาเจรจากันอย่างจริงจังและสร้างสรรค์) สำนักข่าวจงซิน, 10 ตุลาคม 2009, สืบค้นจาก http://www.chinanews.com/gn/news/2009/10-10/1902937.shtml, เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2014.  
[8] “DPRK – China to Hold Joint Trade Fair,” DPRK Business Monthly 3, No. 2 (June 2012): 2, available from https://vtncankor.files.wordpress.com/2012/07/monthlyjune12.pdf, accessed 27 May 2014.
[9] Seung-Hyun Yoon and Seung-Ook Lee, “From old comrades to new partnerships: dynamic development of economic relations between China and North Korea,” The Geographical Journal 179, no. 2 (March 2013): 22.
[10] Dick K. Nanto and Mark E. Manyin, “China-North Korea Relations,” CRS Report for Congress, 28 December 2010, available from https://www.fas.org/sgp/crs/row/R41043.pdf, accessed 27 May 2014.
[11] Yoon and Lee, “From old comrades to new partnerships,” 22.

ตารางที่ 8

อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

ช่วง ค.ศ. 2000 – 2010

(หน่วย: ร้อยละ)

 

ค.ศ.
เกาหลีเหนือ
เกาหลีใต้
2000
0.4
8.8
2001
3.8
4.0
2002
1.2
7.2
2003
1.8
2.8
2004
2.1
4.6
2005
3.8
4.0
2006
-1.0
5.2
2007
-1.2
5.1
2008
3.1
2.3
2009
-0.9
0.3
2010
-0.5
6.2

ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ http://www.bok.or.kr/eng/engMain.action, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2014

 

ตารางที่ 9

เงินให้เปล่าที่จีนให้แก่เกาหลีเหนือช่วง ค.ศ. 1999 – 2004

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
1999
2000
2001
2002
2003
2004
จำนวน
48.4
27.6
69.1
16.0
10.9
14.6

ที่มาของข้อมูล: ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ อ้างถึงใน Jaewoo Choo, “Mirroring North Korea’s Growing Economic Dependence on China: Political Ramifications,” Asian Survey 48 (March/April 2008): 364.


ตารางที่ 10

ความช่วยเหลือด้านอาหารของจีนแก่เกาหลีเหนือช่วง ค.ศ. 1999 – 2005

(หน่วย: ล้านตัน)

 

ค.ศ.
1999
2000
2001
2002
2003
2004
2005
จำนวน
0.15
0.04
0.20
0.33
0.22
0.13
0.51

ที่มาของข้อมูล: กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ อ้างถึงใน Jaewoo Choo, “Mirroring North Korea’s Growing Economic Dependence on China: Political Ramifications,” Asian Survey 48 (March/April 2008): 352.

 

ตารางที่ 11

ความช่วยเหลือด้านพลังงานของจีนแก่เกาหลีเหนือช่วง ค.ศ. 1999 – 2003

(หน่วย: ตัน)

 

ค.ศ.
ประเภทของพลังงาน
ปริมาณ
1999
ถ่านโค้ก
400,000
2000
น้ำมันดีเซล
14,000
2001
น้ำมันดีเซล
45,000
2002
น้ำมันดีเซล
ถ่านโค้ก
25,000
22,000
2003
น้ำมันดีเซล
10,000

ที่มาของข้อมูล: กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ อ้างถึงใน Jaewoo Choo, “Mirroring North Korea’s Growing Economic Dependence on China: Political Ramifications,” Asian Survey 48 (March/April 2008): 360.


ตารางที่ 12

ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือช่วง ค.ศ. 2000 – 2010

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
จีนนำเข้าจากเกาหลีเหนือ
จีนส่งออกไปเกาหลีเหนือ
มูลค่ารวม
ร้อยละของการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือต่อการค้ากับต่างประเทศของเกาหลีเหนือทั้งหมด
2000
37.2
450.8
488.0
20.4
2001
166.8
570.7
737.5
27.6
2002
270.7
467.3
738.0
25.4
2003
395.3
627.6
1022.9
32.8
2004
585.7
799.5
1385.2
39.0
2005
499.2
1081.2
1580.4
39.0
2006
467.7
1231.9
1699.6
39.1
2007
581.5
1392.5
1974.0
41.7
2008
754
2033.2
2787.2
49.5
2009
793
1887.7
2680.7
52.6
2010
1187.8
2277.8
3465.6
57.0

ที่มาของข้อมูล: กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้, องค์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนของเกาหลีใต้ และสถาบันวิจัยฮุนได  อ้างถึงใน Seung-Hyun Yoon and Seung-Ook Lee, “From old comrades to new partnerships: dynamic development of economic relations between China and North Korea,” The Geographical Journal 179, no. 2 (March 2013): 22.

ไม่มีความคิดเห็น: