วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 7)


 

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1990

 

            เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือที่เน้นการพึ่งตนเองตามปรัชญาจูเชเริ่มประสบปัญหาเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1980 ทำให้ใน ค.ศ. 1987 คิมอิลซุงประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 7 ปีฉบับใหม่ที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและพึ่งพาการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น แต่แล้วเกาหลีเหนือก็ถูกซ้ำเติมจากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเกาหลีเหนือในครึ่งหลังของทศวรรษ 1980 (ดูตารางที่ 3) โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1990 สหภาพโซเวียตได้แจ้งให้เกาหลีเหนือทราบว่านับจากนี้การค้าระหว่าง 2 ประเทศจะดำเนินไปตามราคาตลาดและใช้เงินตราสกุลแข็ง (hard currency) เท่านั้น[1] จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross National Product – GNP) ของเกาหลีเหนืออยู่ในสภาวะติดลบ ขณะเดียวกันเกาหลีเหนือก็เริ่มประสบกับสภาวะขาดแคลนอาหารอันเป็นผลมาจากน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยในต้นทศวรรษ 1990 ทางการได้รณรงค์ให้ประชาชนรับประทานอาหารวันละ 2 มื้อ[2] และมีการประมาณการกันว่าในกลางทศวรรษนั้นเองมีชาวเกาหลีเหนือเสียชีวิตเนื่องจากขาดอาหารไม่ต่ำกว่า 2,000,000 คน[3]

            วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและความอดอยากในเกาหลีเหนือทำให้ตลอดทศวรรษ 1990 จีนให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนืออย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการล่มสลายของระบอบการปกครองของตระกูลคิมและรักษาเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้ ดังจะเห็นได้ว่าแม้จีนใน ค.ศ. 1991 จะแจ้งให้เกาหลีเหนือทราบแล้วว่านับจากนี้การค้าระหว่าง 2 ประเทศจะดำเนินไปตามราคาตลาด หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วจีนยังคงใช้ “ราคามิตรภาพ” (friendship price) กับเกาหลีเหนืออยู่ต่อไป[4]  จนจีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของเกาหลีเหนือแทนที่สหภาพโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกน้ำมันไปยังเกาหลีเหนือ (ดูตารางที่ 4) แต่ในทางตรงกันข้าม การค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือนั้นคิดเป็นมูลค่าน้อยมากจนเทียบไม่ได้เลยกับการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ (ดูตารางที่ 5) อันสะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันแบบไม่สมดุล (asymmetrical interdependence) ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ นอกจากนี้จีนยังส่งอาหารไปบรรเทาความอดอยากในเกาหลีเหนืออีกด้วย โดยมีรายงานว่าใน ค.ศ. 1993 จีนส่งอาหารไปให้ 1,000,000 ตัน[5] ความอดอยากดังกล่าวยังนำมาซึ่งผู้ลี้ภัยที่ข้ามพรมแดนเข้ามาในจีนจนกลายเป็นปัญหาสำคัญเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000





             ขณะเดียวกัน จีนยังคงพยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือหันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศเฉกเช่นจีน โดยในระหว่างการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรียอนเฮียงมุก (Yon Hyong Muk) เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 เจียงเจ๋อหมินได้พาเขาไปชมเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen Special Economic Zone) พร้อมกับอธิบายว่าการปฏิรูปกับการเดินบนเส้นทางสังคมนิยมเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไปได้[6] ต่อมาเมื่อเกาหลีเหนือทดลองเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 ด้วยการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจและการค้าเสรีนาจิน-ซอนบอง (Rajin-Sonbong Free Economic Trade Zone) ขึ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแม่น้ำถูเหมินที่ติดกับรัสเซีย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจีนที่ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Development Programme – UNDP) เพื่อพัฒนาลุ่มแม่น้ำถูเหมินเป็นสะพานให้มณฑลจี๋หลินมีทางออกสู่ทะเลญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาเขตแม่น้ำถูเหมิน” (The Tumen River Area Development ProgrammeTRADP) จีนจึงได้เข้าไปลงทุนด้านการขนส่ง โรงแรม ภัตตาคาร โรงงานผลิตยา และโรงงานแปรรูปอาหารทะเล โดยในกลาง ค.ศ. 1998 มีบริษัทจีนจำนวน 63 บริษัทเข้าไปลงทุนในเขตดังกล่าว ของเกาหลีเหนือ หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของบริษัทต่างชาติทั้งหมดในเขตนั้น[7] แต่เมื่อถึงสิ้น ค.ศ. 1998 ทางการเกาหลีเหนือกลับชะลอการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาในเขตเศรษฐกิจและการค้าเสรีนาจิน-ซอนบองจึงหยุดชะงักไปชั่วคราว

 

ตารางที่ 2

การเดินทางเยือนกันระหว่างผู้นำของจีนกับเกาหลีเหนือ

ระดับเลขาธิการพรรค ประธานาธิบดี ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรี ในทศวรรษ 1990

 

ค.ศ.
ฝ่ายจีน
ฝ่ายเกาหลีเหนือ
1990
เจียงเจ๋อหมิน เลขาธิการพรรค
คิมอิลซุง เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี
ยอนเฮียงมุก นายกรัฐมนตรี
1991
หลี่เผิง นายกรัฐมนตรี
คิมอิลซุง เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดี
1992
หยางซ่างคุน ประธานาธิบดี
-
1993
-
-
1994
-
-
1995
-
-
1996
-
-
1997
-
-
1998
-
-
1999
-
คิมยองนัม ประธานสมัชชาประชาชนสูงสุด
ฮงซงนัม นายกรัฐมนตรี

ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์สถานทูตจีนประจำกรุงเปียงยาง http://kp.chineseembassy.org/chn/, สืบค้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2013  

 

ตารางที่ 3

มูลค่าการค้าระหว่างเกาหลีเหนือกับสหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซีย

จีน และญี่ปุ่น ช่วง ค.ศ. 1989-1998

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
สหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซีย
จีน
ญี่ปุ่น
1989
2,393
562
496
1990
2,564
483
476
1991
365
610
508
1992
292
697
480
1993
227
899
472
1994
140
624
493
1995
83
550
595
1996
65
566
518
1997
84
656
489
1998
65
413
395

ที่มาของข้อมูล: กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้ อ้างถึงใน Kongdan Oh and Ralph C. Hassig, North Korea through the Looking Glass (Washington D.C.: Brooking Institution Press, 2000), 44-45.


ตารางที่ 4

ปริมาณการส่งออกน้ำมันของจีนและสหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซียไปยังเกาหลีเหนือ

ช่วง ค.ศ. 1989 – 1992

(หน่วย: ล้านตัน)

 

ประเทศ
ค.ศ. 1989
ค.ศ. 1990
ค.ศ. 1991
ค.ศ. 1992
จีน
1.07
1.06
1.10
1.10
สหภาพโซเวียต/สหพันธรัฐรัสเซีย
 
0.50
 
0.41
 
0.04
 
0.03

ที่มาของข้อมูล: Yong-Sup Han, “China’s Leverages over North Korea,” Korea and World Affairs 18 (Summer 1994): 246. 

 

ตารางที่ 5

มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

ช่วง ค.ศ. 1994 – 1998

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
มูลค่าการค้ากับเกาหลีเหนือ
มูลค่าการค้ากับเกาหลีใต้
1994
623.72
11,721.60
1995
549.80
16,982.53
1996
565.67
19,992.66
1997
656.29
24,045.47
1998
413.02
21,264.33

ที่มาของข้อมูล: เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน http://www.stats.gov.cn/english/statisticaldata/yearlydata/, สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2013  

 

------------------------------------------------------


                [1] Oh and Hassig, ibid., 155.
                [2] Ibid., 52.
                [3] Buzo, ibid., 206.
                [4] Lee, China and Korea, 140.
            [5] Yong-Sup Han, “China’s Leverages over North Korea,” Korea and World Affairs 18 (Summer 1994): 247. 
                        [6] Lee, China and Korea, 138.
                [7] Rajin-Sonbong Economic & Trade Zone: Investment & Business Guide (Beijing: The United Nations Industrial Development Organisation, 1998), 8, available from http://www.nkeconwatch.com/nk-uploads/undp_rajin-report-1998.pdf, accessed 20 September 2013.

ไม่มีความคิดเห็น: