จีนกับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1
ในทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 จีนถือว่าการมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิทธิอันชอบธรรมของทุกประเทศ
โดยจำกัดเฉพาะประเทศมหาอำนาจเท่านั้น
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่จีนเชื่อว่าการมีอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นการคานอำนาจกับประเทศมหาอำนาจและนำโลกไปสู่เสถียรภาพ
อีกทั้งจีนในขณะนั้นกำลังมีโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเช่นกัน[1] แต่หลังจากที่จีนทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จใน
ค.ศ. 1964 ท่าทีของจีนก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยในต้นทศวรรษ 1970
จีนเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาเลเทโลโก (Treaty of Tlateloco) ซึ่งห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน
และจีนเริ่มหันมายอมรับวิถีปฏิบัติระหว่างประเทศ (international regime) เกี่ยวกับการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศในทศวรรษ
1980 โดยมีสาเหตุสำคัญคือ (1) จีนต้องการใช้พลังงานมากขึ้นจนต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปฏิกรณ์นิวเคลียร์
และ (2) จีนต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาเพื่อให้การปฏิรูปเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้[2] จีนจึงเข้าเป็นสมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
(International Atomic Energy Agency – IAEA) เมื่อ ค.ศ. 1984
และลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation
Treaty - NPT) เมื่อ ค.ศ. 1992 อันเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่
1 กำลังก่อตัวขึ้น
เกาหลีเหนือสนใจที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองมาเป็นเวลานานแล้ว
โดยพยายามขอถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนในกลางทศวรรษ 1960 และกลางทศวรรษ
1970 แต่จีนก็ปฏิเสธคำขอทั้ง 2 ครั้ง[3] เกาหลีเหนือจึงพยายามพัฒนาเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองจนในปลายทศวรรษ
1970 ได้สร้างฐานสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองยองเปียน
(Yongbyon) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเปียงยางไปทางเหนือ 100
กิโลเมตร นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังสนใจที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อีกด้วย
คิมอิลซุงได้ร้องขอเทคโนโลยีดังกล่าวในระหว่างการเยือนกรุงมอสโกเมื่อ ค.ศ. 1984
สหภาพโซเวียตจึงมอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเบา (light-water
nuclear power reactor) จำนวน 4 เตาโดยแลกกับการที่เกาหลีเหนือยอมลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนธันวาคม
ค.ศ. 1985 ซึ่งมีผลผูกพันไม่ให้เกาหลีเหนือซื้อหรือผลิตอาวุธนิวเคลียร์
รวมทั้งต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่จากไอเออีเอเข้าไปตรวจสอบเตาปฏิกรณ์ที่เมืองยองเปียนได้
ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1992 สภาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยของวัสดุนิวเคลียร์
(safeguards agreement) ที่ไอเออีเอกำหนด แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเดินทางไปตรวจสอบเตาปฏิกรณ์ของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีนั้นกลับพบความผิดปกติบางประการที่ส่อว่าเกาหลีเหนืออาจมิได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ
ทำให้ไอเออีเอขอเข้าไปตรวจสอบที่ตั้งของกากของเสียอีก 2 จุดเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน
แต่เกาหลีเหนือไม่อนุญาต คณะกรรมการปกครอง (Board of Governors) ของไอเออีเอจึงมีมติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993
เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบภายใน 1 เดือน แต่เกาหลีเหนือก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธ ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 12
มีนาคมของปีเดียวกัน
เกาหลีเหนือได้ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์
ทำให้ในวันที่ 18 มีนาคม
คณะกรรมการปกครองของไอเออีเอจึงมีมติเป็นครั้งที่ 2 เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบโดยกำหนดเส้นตายคือวันที่
31 มีนาคม
วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือทำให้จีนตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้า
คายไม่ออก (dilemma) เพราะในทางหนึ่งจีนเกรงว่าการที่เกาหลีเหนือลุกขึ้นมาท้าทายไอเออีเอจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธในเอเชีย
แต่ในอีกทางหนึ่งจีนก็เกรงว่าการใช้มาตรการกดดันหรือคว่ำบาตรเกาหลีเหนือจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของเกาหลีเหนือจนเกิดปัญหาผู้ลี้ภัยที่จะหลั่งไหลเข้ามายังจีน
ด้วยเหตุนี้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1993 ที่วิกฤตการณ์กำลังก่อตัวอยู่นั้น
จีนได้พยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอ
แต่ในขณะเดียวกันจีนก็บอกสเตเปิลตัน รอย (Stapleton Roy) ทูตอเมริกันประจำกรุงปักกิ่งว่าจีนคัดค้านการกดดันหรือบีบบังคับเกาหลีเหนือ[4]
และเมื่อเส้นตายคือวันที่ 31 มีนาคมใกล้เข้ามา
จีนได้เตือนสหรัฐอเมริกาว่าการนำเรื่องของเกาหลีเหนือเข้าไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะยิ่งทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจและตัดขาดการติดต่อกับไอเออีเอมากยิ่งขึ้น
ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการปกครองของไอเออีเอเมื่อวันที่ 1 เมษายนของปีนั้น
จีน(กับลิเบีย)ได้ลงมติคัดค้านการนำเรื่องของเกาหลีเหนือเข้าไปในองค์การสหประชาชาติ
แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเป็นเสียงข้างน้อย[5]
เรื่องดังกล่าวจึงเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1993 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอ
โดยจีนใช้สิทธิ์งดออกเสียง (abstain) ดังเหตุผลปรากฏในเอกสารประมวลภารกิจของคณะมนตรีความมั่นคง
ความว่า
ผู้แทนของจีนแสดงความเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีนั้น
โดยหลักแล้วเป็นเรื่องระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
ระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับสหรัฐอเมริกา
และระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับสาธารณรัฐเกาหลี จึงเป็นการสมควรที่จะคลี่คลายเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาโดยตรงและการปรึกษาหารือกันระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับอีก
3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ
จีนไม่สนับสนุนให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้ามาจัดการเรื่องนี้ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการที่คณะมนตรีจะมีมติใดๆ
ออกมา เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์วุ่นวายมากกว่าที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างเหมาะสม
จีนจึงของดออกเสียงในร่างมตินี้[6]
ในเวลาเดียวกัน
จีนได้แสดงบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ
โดยในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1993 ทูตอเมริกันประจำกรุงปักกิ่งได้เข้าพบถังเจียเสวียน
(Tang Jiaxuan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเพื่อยื่นข้อเสนอในการเจรจากับเกาหลีเหนือ
ซึ่งทางการจีนก็ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวไปให้เกาหลีเหนือ[7]
จนนำไปสู่การเจรจาระหว่างโรเบิร์ต แอล กัลลุชชี (Robert L. Gallucci) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กับคังซกจู (Kang
Sok Ju) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ณ
นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1993 ซึ่งเกาหลีเหนือยอมเลื่อนการถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ออกไปชั่วคราว
และยอมให้ไอเออีเอกลับเข้าไปตรวจสอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองยองเปียน
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเดินทางเข้าไปตรวจสอบในเดือนสิงหาคมของปีนั้น
เกาหลีเหนือกลับปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในบางจุดจนนำไปสู่ความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง
แต่จีนก็ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะกดดันเกาหลีเหนือในเวทีสหประชาชาติ ดังเช่นในวันที่ 1
พฤศจิกายน ค.ศ. 1993 ที่สมัชชาใหญ่มีมติเรียกร้องให้เกาหลีเหนือให้ความร่วมมือกับไอเออีเอ
จีนก็งดออกเสียง[8]
ท่าทีของจีนเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากสถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นใน
ค.ศ. 1994 เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาจะนำขีปนาวุธที่ใช้ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย
(The Gulf War) มาติดตั้งในเกาหลีใต้ จีนจึงเริ่มหันมากดดันให้เกาหลีเหนือประนีประนอมกับสหรัฐอเมริกา
โดยในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1994 ที่ประชุมคณะกรรมการปกครองของไอเออีเอมีมติให้นำเอากรณีที่เกาหลีเหนือไม่ปฏิบัติตามคำขอของไอเออีเอส่งไปให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณา
ซึ่งในการลงมติครั้งนี้จีนได้งดออกเสียง ต่างจากเดิมที่จีนเคยคัดค้านมติของคณะกรรมการปกครองที่กดดันเกาหลีเหนือ[9]
และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคมของปีเดียวกัน
สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงทั้งหมดซึ่งรวมถึงจีนได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ออกแถลงการณ์ของประธาน
(presidential statement) เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบอย่างสมบูรณ์จากไอเออีเอ[10]
นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเมื่อวันที่
29 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 ว่าจะต่ออายุสถานะการเป็นชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง
(Most-Favoured Nation – MFN) ของจีนต่อไปโดยไม่เอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนยอมร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ในครั้งนี้มากยิ่งขึ้น[11] โดยในวันที่
10 มิถุนายนของปีนั้น นักการทูตจีนทั้งในกรุงปักกิ่งและกรุงเปียงยางต่างแจ้งให้เกาหลีเหนือทราบว่า
แม้จีนจะคัดค้านการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่กระแสเรียกร้องจากนานาประเทศก็มีพลังมากจนอาจทำให้จีนไม่สามารถใช้สิทธิ์ยับยั้ง
(veto) เรื่องดังกล่าวในคณะมนตรีความมั่นคงได้อีกต่อไป[12]
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของจีนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกาหลีเหนือยอมต้อนรับการเยือนกรุงเปียงยางของอดีตประธานาธิบดีจิมมี
คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) แห่งสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 15
– 18 มิถุนายน ค.ศ. 1994 อันเป็นการปูทางไปสู่การลงนามในกรอบความตกลง
(Agreed Framework) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ ณ นครเจนีวา
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมของปีนั้น อันมีใจความสำคัญคือ
เกาหลีเหนือยอมยุติการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดและยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอ
โดยแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะจัดหาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเบาที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า
2,000 เมกกะวัตต์ให้แก่เกาหลีเหนือภายใน ค.ศ. 2003[13] ถือเป็นการปิดฉากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นที่พอใจของจีน ดังจะเห็นได้จากในที่ประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจเอเปกครั้งที่
2 ณ เมืองโบกอร์ (Bogor) ประเทศอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 เจียงเจ๋อหมินแสดงความชื่นชมต่อการลงนามในกรอบความตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ
โดยระบุว่าการเจรจาอย่างสันติเป็นวิธีการเดียวในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ
และจะนำไปสู่สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ[14]
---------------------------------------------------
[11] Oberdorfer, ibid., 320. ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะให้สถานะคู่ค้าถาวร
(Permanent Normal Trade Relations – PNTR) แก่จีนเมื่อเดือนตุลาคม
ค.ศ. 2000 สหรัฐอเมริกาให้จีนมีสถานะเป็นชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง
ซึ่งทำให้จีนสามารถส่งสินค้าไปยังตลาดอเมริกันได้โดยเสียภาษีขาเข้าในอัตราเดียวกับสินค้าจากประเทศอื่น
เดิมสถานะดังกล่าวไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะช่วงปลายทศวรรษ 1970 ต่อทศวรรษ 1980 สหรัฐอเมริกากับจีนยังคงมีความสัมพันธ์อันดีและร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต
จนกระทั่ง ค.ศ. 1989 ที่ภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตหมดไปและเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
จึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในปีถัดมาสภาคองเกรสจึงมีมติให้ทบทวนและต่ออายุสถานะดังกล่าวของจีนแบบปีต่อปี
โดยอ้างว่าเป็นไปตามรัฐบัญญัติการค้าแจ๊กสัน-แวนิก (Jackson-Vanik
Trade Act) ค.ศ. 1974
ที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลอเมริกันให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศที่ยังคงจำกัดเสรีภาพของประชาชน
โปรดดูใน เขียน ธีระวิทย์, นโยบายต่างประเทศจีน (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย,
2541), 513.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น