วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 2)


การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับเกาหลีใต้และปฏิกิริยาของเกาหลีเหนือ


            ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้มิได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินมากนัก ประธานาธิบดีโรห์แตวู (Roh Tae Woo) แห่งเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะร่วมขบวนไปกับสหรัฐอเมริกาในการประณามการกระทำของจีน โดยยังคงยึดมั่นในนโยบายมุ่งเหนือ (Nordpolitik) เพื่อสานสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมต่อไป และเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 11 ณ กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 เกาหลีใต้ก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและเทคโนโลยีสำหรับงานดังกล่าว[1] และเป็นครั้งแรกที่ธงชาติของทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ถูกเชิญขึ้นที่สนามกีฬากรุงปักกิ่ง ต่อมาในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน สมาคมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China International Chamber of Commerce) กับสมาคมส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ (Korea Trade and Investment Promotion Agency – KOTRA) ได้ทำข้อตกลงที่นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (Trade Office) ณ กรุงปักกิ่งและกรุงโซลในต้น ค.ศ. 1991 ซึ่งเรื่องนี้จีนได้แจ้งให้เกาหลีเหนือทราบล่วงหน้าและคิมอิลซุงก็ให้ความเห็นชอบ[2]

            จีนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญใน ค.ศ. 1991 เมื่อเกาหลีใต้แสดงความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติโดยถือว่าตนเองเป็นรัฐที่แยกต่างหากจากเกาหลีเหนือ ขณะนั้นสหภาพโซเวียตได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว และกอร์บาชอฟประกาศอย่างชัดเจนระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีใต้เมื่อเดือนเมษายนของปีนั้นว่าสหภาพโซเวียตจะไม่ขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิกของเกาหลีใต้[3] ในบรรดาสมาชิกถาวร 5 ประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงมีแต่จีนเท่านั้นที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้และต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยในระหว่างการเยือนกรุงเปียงยางเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 หลี่เผิงได้แจ้งให้เกาหลีเหนือทราบว่าคงเป็นการยากที่จีนจะใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ไม่ให้รับเกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิก[4] เมื่อได้ฟังเช่นนี้เกาหลีเหนือจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมไปกับเกาหลีใต้ แต่คิมอิลซุงก็ยังกังวลว่าสหรัฐอเมริกาอาจขัดขวางเกาหลีเหนือ เฉียนฉีเชินจึงเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางในเดือนถัดมาเพื่อยืนยันกับคิมอิลซุงว่าจีนจะช่วยให้การเข้าเป็นสมาชิกของเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างราบรื่น[5] ในที่สุดเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1991

            การที่จีนผลักดันให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติพร้อมกันสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1991 นโยบายเกาหลีเดียวที่จีนยึดมั่นตลอดมานับตั้งแต่สถาปนาประเทศนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วในทางปฏิบัติ เหลือแต่เพียงกระบวนการเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเท่านั้น เฉียนฉีเชินจึงอาศัยโอกาสที่เดินทางไปประชุมองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) ครั้งที่ 3 ณ กรุงโซลเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นเพื่อพบกับประธานาธิบดีโรห์แตวู โดยโรห์แตวูได้เปรียบเปรยว่าชายฝั่งตะวันตกของเกาหลีกับชายฝั่งตะวันออกของจีนอยู่ใกล้กันมากจนถึงขนาดได้ยินเสียงสุนัขเห่าและไก่ขันได้ เฉียนฉีเชินจึงตอบไปว่า “ในเมื่อสุนัขเห่าและไก่ขันยังได้ยินถึงกันก็ไม่ควรปฏิเสธการไปมาหาสู่กัน”[6] ซึ่งเท่ากับว่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันเป็นนัยที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตนั่นเอง   


                        สนามบินซุนอัน (Sunan Airport) กรุงเปียงยาง



            อย่างไรก็ตาม จีนมิได้รีบเร่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ในทันทีเพราะจะต้องทำความเข้าใจกับเกาหลีเหนือเสียก่อน โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1992 หยางซ่างคุนเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางเพื่อร่วมงานฉลองวันเกิด 80 ปีของคิมอิลซุงพร้อมกับแจ้งให้ทราบว่าจีนกำลังจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อคิมอิลซุงได้ฟังแล้วก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยโดยขอให้จีน “พิจารณาให้ลุ่มลึกอีกเล็กน้อย”[7] แต่จีนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปจนการเจรจาระหว่างจีนกับเกาหลีใต้เสร็จสิ้นลงในเดือนมิถุนายนของปีนั้น แต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เจียงเจ๋อหมินได้มอบหมายให้เฉียนฉีเชินเดินทางไปยังเกาหลีเหนืออีกครั้งในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1992 “เพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงต่อเกาหลีเหนือ”[8] ผลปรากฏว่าเฉียนฉีเชินได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาที่กรุงเปียงยาง ดังปรากฏในบันทึกการทูตของเขา ความตอนหนึ่งว่า

 

เมื่อก่อนเวลามาเยือนเกาหลีเหนือครั้งใด ก็จะพบกับบรรยากาศที่ครึกครื้น มีคณะต้อนรับใหญ่โต แต่ครั้งนี้เครื่องลงจอดในมุมสนามบินลับตาคน ส่วนบุคคลที่มารับข้าพเจ้านั้นมีแต่นายคิมยองนัม (Kim Yong Nam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นเอง[9]

 

            ในการพบปะกับคิมอิลซุง ณ บ้านพักตากอากาศฤดูร้อน เฉียนฉีเชินได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่จีนต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ และย้ำว่าจีนจะยังคงให้ความสำคัญกับมิตรภาพที่มีกับเกาหลีเหนืออยู่ต่อไป รวมทั้งสนับสนุนการผ่อนคลายความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีและการรวมเกาหลีโดยสันติวิธี ซึ่งคิมอิลซุงก็นั่งฟังเพียงครู่เดียวโดยบอกว่ารับทราบและเข้าใจจุดยืนของจีน แม้ว่าในบันทึกของเฉียนฉีเชินจะกล่าวถึงคิมอิลซุงอย่างยกย่อง หากแต่เมื่อดูจากเนื้อหาในบันทึกแล้วจะพบว่าคิมอิลซุงปฏิบัติกับเขาอย่างเย็นชาอยู่ไม่น้อย ดังความตอนหนึ่งว่า

 

            ท่านประธานาธิบดีคิมอิลซุงได้มองดูหยกแกะสลักเก้ามังกรคลอมุกและลิ้นจี่สดที่ข้าพเจ้านำมาฝากท่านแวบหนึ่ง แล้วท่านก็ลุกขึ้นส่งแขก เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ครั้งนี้เป็นการพบปะประธานาธิบดีคิมอิลซุงของคณะผู้แทนจีนที่ใช้เวลาสั้นที่สุด และหลังการพบปะก็มิได้มีการจัดงานเลี้ยงรับรองอย่างที่เคยทำกันมาในอดีต[10]

 

            ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1992 เฉียนฉีเชินกับลีซางอุก (Lee Sang Ock) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ได้ลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ (Diaoyutai) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเท่ากับปิดฉากนโยบายเกาหลีเดียวของจีนไปอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในวันเดียวกันนั้นคณะทูตสันถวไมตรีจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เดินทางไปเยือนกรุงเปียงยาง[11] อันสะท้อนให้เห็นว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนือในยุคหลังสงครามเย็นอยู่ต่อไป


-------------------------------------------


                        [1] Lee, Ibid., 150.
                [2] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, 219.
                [3] Oberdorfer, ibid., 231.
                [4] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, 220.
                [5] เพิ่งอ้าง, 221.
                [6] เพิ่งอ้าง, 210.
                [7] เพิ่งอ้าง, 225.
                [8] เพิ่งอ้าง, 226.
                [9] เพิ่งอ้าง, 226.
                        [10] เพิ่งอ้าง, 228.
                        [11] B. C. Koh, “Trends in North Korean Foreign Policy,” Journal of Northeast Asian Studies 13 (Summer 1994): 71 อ้างถึงใน Seongji Woo, “Adversarial Engagement and Alliance Relations: Triangular Politics on the Korean Peninsula, 1988-1994,” Issues & Studies 37 (March/April 2001): 130.  

ไม่มีความคิดเห็น: