วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 3)


จีนกับวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1


            ในทศวรรษ 1950 ถึงต้นทศวรรษ 1960 จีนถือว่าการมีอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิทธิอันชอบธรรมของทุกประเทศ โดยจำกัดเฉพาะประเทศมหาอำนาจเท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่จีนเชื่อว่าการมีอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นการคานอำนาจกับประเทศมหาอำนาจและนำโลกไปสู่เสถียรภาพ อีกทั้งจีนในขณะนั้นกำลังมีโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันภัยคุกคามจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเช่นกัน[1] แต่หลังจากที่จีนทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้สำเร็จใน ค.ศ. 1964 ท่าทีของจีนก็เริ่มเปลี่ยนไป โดยในต้นทศวรรษ 1970 จีนเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาเลเทโลโก (Treaty of Tlateloco) ซึ่งห้ามการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในละตินอเมริกาและแคริบเบียน และจีนเริ่มหันมายอมรับวิถีปฏิบัติระหว่างประเทศ (international regime) เกี่ยวกับการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์มากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศในทศวรรษ 1980 โดยมีสาเหตุสำคัญคือ (1) จีนต้องการใช้พลังงานมากขึ้นจนต้องพึ่งพาสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนั้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และ (2) จีนต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกาเพื่อให้การปฏิรูปเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้[2] จีนจึงเข้าเป็นสมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency – IAEA) เมื่อ ค.ศ. 1984 และลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty - NPT) เมื่อ ค.ศ. 1992 อันเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1 กำลังก่อตัวขึ้น

            เกาหลีเหนือสนใจที่จะมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองมาเป็นเวลานานแล้ว โดยพยายามขอถ่ายทอดเทคโนโลยีจากจีนในกลางทศวรรษ 1960 และกลางทศวรรษ 1970 แต่จีนก็ปฏิเสธคำขอทั้ง 2 ครั้ง[3] เกาหลีเหนือจึงพยายามพัฒนาเรื่องดังกล่าวด้วยตนเองจนในปลายทศวรรษ 1970 ได้สร้างฐานสำหรับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองยองเปียน (Yongbyon) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเปียงยางไปทางเหนือ 100 กิโลเมตร นอกจากนี้เกาหลีเหนือยังสนใจที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์อีกด้วย คิมอิลซุงได้ร้องขอเทคโนโลยีดังกล่าวในระหว่างการเยือนกรุงมอสโกเมื่อ ค.ศ. 1984 สหภาพโซเวียตจึงมอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเบา (light-water nuclear power reactor) จำนวน 4 เตาโดยแลกกับการที่เกาหลีเหนือยอมลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1985 ซึ่งมีผลผูกพันไม่ให้เกาหลีเหนือซื้อหรือผลิตอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งต้องยินยอมให้เจ้าหน้าที่จากไอเออีเอเข้าไปตรวจสอบเตาปฏิกรณ์ที่เมืองยองเปียนได้ ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1992 สภาประชาชนสูงสุดของเกาหลีเหนือได้ให้สัตยาบันต่อข้อตกลงพิทักษ์ความปลอดภัยของวัสดุนิวเคลียร์ (safeguards agreement) ที่ไอเออีเอกำหนด แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเดินทางไปตรวจสอบเตาปฏิกรณ์ของเกาหลีเหนือเมื่อเดือนกรกฎาคมของปีนั้นกลับพบความผิดปกติบางประการที่ส่อว่าเกาหลีเหนืออาจมิได้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ ทำให้ไอเออีเอขอเข้าไปตรวจสอบที่ตั้งของกากของเสียอีก 2 จุดเพิ่มเติมในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน แต่เกาหลีเหนือไม่อนุญาต คณะกรรมการปกครอง (Board of Governors) ของไอเออีเอจึงมีมติเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993 เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบภายใน 1 เดือน แต่เกาหลีเหนือก็ยังคงยืนกรานปฏิเสธ ในที่สุดเมื่อถึงวันที่ 12 มีนาคมของปีเดียวกัน เกาหลีเหนือได้ประกาศว่าจะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้ในวันที่ 18 มีนาคม คณะกรรมการปกครองของไอเออีเอจึงมีมติเป็นครั้งที่ 2 เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบโดยกำหนดเส้นตายคือวันที่ 31 มีนาคม   






            วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือทำให้จีนตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก (dilemma) เพราะในทางหนึ่งจีนเกรงว่าการที่เกาหลีเหนือลุกขึ้นมาท้าทายไอเออีเอจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันกันสะสมอาวุธในเอเชีย แต่ในอีกทางหนึ่งจีนก็เกรงว่าการใช้มาตรการกดดันหรือคว่ำบาตรเกาหลีเหนือจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของเกาหลีเหนือจนเกิดปัญหาผู้ลี้ภัยที่จะหลั่งไหลเข้ามายังจีน ด้วยเหตุนี้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1993 ที่วิกฤตการณ์กำลังก่อตัวอยู่นั้น จีนได้พยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอ แต่ในขณะเดียวกันจีนก็บอกสเตเปิลตัน รอย (Stapleton Roy) ทูตอเมริกันประจำกรุงปักกิ่งว่าจีนคัดค้านการกดดันหรือบีบบังคับเกาหลีเหนือ[4] และเมื่อเส้นตายคือวันที่ 31 มีนาคมใกล้เข้ามา จีนได้เตือนสหรัฐอเมริกาว่าการนำเรื่องของเกาหลีเหนือเข้าไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะยิ่งทำให้เกาหลีเหนือไม่พอใจและตัดขาดการติดต่อกับไอเออีเอมากยิ่งขึ้น ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการปกครองของไอเออีเอเมื่อวันที่ 1 เมษายนของปีนั้น จีน(กับลิเบีย)ได้ลงมติคัดค้านการนำเรื่องของเกาหลีเหนือเข้าไปในองค์การสหประชาชาติ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเป็นเสียงข้างน้อย[5] เรื่องดังกล่าวจึงเข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงในวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1993 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอ โดยจีนใช้สิทธิ์งดออกเสียง (abstain) ดังเหตุผลปรากฏในเอกสารประมวลภารกิจของคณะมนตรีความมั่นคง ความว่า

           

            ผู้แทนของจีนแสดงความเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีนั้น โดยหลักแล้วเป็นเรื่องระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับสหรัฐอเมริกา และระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับสาธารณรัฐเกาหลี จึงเป็นการสมควรที่จะคลี่คลายเรื่องดังกล่าวอย่างเหมาะสมผ่านการเจรจาโดยตรงและการปรึกษาหารือกันระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีกับอีก 3 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ จีนไม่สนับสนุนให้คณะมนตรีความมั่นคงเข้ามาจัดการเรื่องนี้ และยิ่งไม่ต้องพูดถึงการที่คณะมนตรีจะมีมติใดๆ ออกมา เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์วุ่นวายมากกว่าที่จะช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างเหมาะสม จีนจึงของดออกเสียงในร่างมตินี้[6]

           

            ในเวลาเดียวกัน จีนได้แสดงบทบาทเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ โดยในวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1993 ทูตอเมริกันประจำกรุงปักกิ่งได้เข้าพบถังเจียเสวียน (Tang Jiaxuan) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนเพื่อยื่นข้อเสนอในการเจรจากับเกาหลีเหนือ ซึ่งทางการจีนก็ได้ส่งข้อเสนอดังกล่าวไปให้เกาหลีเหนือ[7] จนนำไปสู่การเจรจาระหว่างโรเบิร์ต แอล กัลลุชชี (Robert L. Gallucci) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กับคังซกจู (Kang Sok Ju) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1993 ซึ่งเกาหลีเหนือยอมเลื่อนการถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ออกไปชั่วคราว และยอมให้ไอเออีเอกลับเข้าไปตรวจสอบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองยองเปียน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของไอเออีเอเดินทางเข้าไปตรวจสอบในเดือนสิงหาคมของปีนั้น เกาหลีเหนือกลับปิดกั้นไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในบางจุดจนนำไปสู่ความตึงเครียดอีกครั้งหนึ่ง แต่จีนก็ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะกดดันเกาหลีเหนือในเวทีสหประชาชาติ ดังเช่นในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993 ที่สมัชชาใหญ่มีมติเรียกร้องให้เกาหลีเหนือให้ความร่วมมือกับไอเออีเอ จีนก็งดออกเสียง[8]

            ท่าทีของจีนเริ่มเปลี่ยนไปหลังจากสถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้นใน ค.ศ. 1994 เมื่อสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณาจะนำขีปนาวุธที่ใช้ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย (The Gulf War) มาติดตั้งในเกาหลีใต้ จีนจึงเริ่มหันมากดดันให้เกาหลีเหนือประนีประนอมกับสหรัฐอเมริกา โดยในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1994 ที่ประชุมคณะกรรมการปกครองของไอเออีเอมีมติให้นำเอากรณีที่เกาหลีเหนือไม่ปฏิบัติตามคำขอของไอเออีเอส่งไปให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติพิจารณา ซึ่งในการลงมติครั้งนี้จีนได้งดออกเสียง ต่างจากเดิมที่จีนเคยคัดค้านมติของคณะกรรมการปกครองที่กดดันเกาหลีเหนือ[9] และต่อมาในวันที่ 31 มีนาคมของปีเดียวกัน สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงทั้งหมดซึ่งรวมถึงจีนได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ออกแถลงการณ์ของประธาน (presidential statement) เรียกร้องให้เกาหลีเหนือยอมรับการตรวจสอบอย่างสมบูรณ์จากไอเออีเอ[10] นอกจากนี้การที่ประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1994 ว่าจะต่ออายุสถานะการเป็นชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation – MFN) ของจีนต่อไปโดยไม่เอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเกี่ยวข้องก็ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้จีนยอมร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ในครั้งนี้มากยิ่งขึ้น[11] โดยในวันที่ 10 มิถุนายนของปีนั้น นักการทูตจีนทั้งในกรุงปักกิ่งและกรุงเปียงยางต่างแจ้งให้เกาหลีเหนือทราบว่า แม้จีนจะคัดค้านการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่กระแสเรียกร้องจากนานาประเทศก็มีพลังมากจนอาจทำให้จีนไม่สามารถใช้สิทธิ์ยับยั้ง (veto) เรื่องดังกล่าวในคณะมนตรีความมั่นคงได้อีกต่อไป[12]

            ท่าทีที่เปลี่ยนไปของจีนมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกาหลีเหนือยอมต้อนรับการเยือนกรุงเปียงยางของอดีตประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) แห่งสหรัฐอเมริการะหว่างวันที่ 15 – 18 มิถุนายน ค.ศ. 1994 อันเป็นการปูทางไปสู่การลงนามในกรอบความตกลง (Agreed Framework) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมของปีนั้น อันมีใจความสำคัญคือ เกาหลีเหนือยอมยุติการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดและยอมรับการตรวจสอบจากไอเออีเอ โดยแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะจัดหาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเบาที่มีกำลังผลิตไฟฟ้า 2,000 เมกกะวัตต์ให้แก่เกาหลีเหนือภายใน ค.ศ. 2003[13] ถือเป็นการปิดฉากวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นที่พอใจของจีน ดังจะเห็นได้จากในที่ประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจเอเปกครั้งที่ 2 ณ เมืองโบกอร์ (Bogor) ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1994 เจียงเจ๋อหมินแสดงความชื่นชมต่อการลงนามในกรอบความตกลงระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือ โดยระบุว่าการเจรจาอย่างสันติเป็นวิธีการเดียวในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศ และจะนำไปสู่สภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ[14]

---------------------------------------------------

                        [1] Evan S. Medeiros, Reluctant Restraint: The Evolution of China’s Nonproliferation Policies and Practices, 1980-2004 (Singapore: NUS Press, 2007), 33-34.
                [2] Ibid., 45-47.
                [3] Oberdorfer, ibid., 252-253.
                        [4] Joel S. Wit, Daneil B. Poneman, and Robert L. Gallucci, Going Critical: The First North Korean Nuclear Crisis (Washington, D.C.: Brooking Institution Press, 2004), 31.   
                [5] Ibid., 31-32. ไอเออีเอไม่มีระบบการใช้สิทธิ์ยับยั้ง (veto) แบบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ มีแต่การให้ความเห็นชอบ (yes) คัดค้าน (no) และงดออกเสียง (abstain) เท่านั้น
                        [6] Department of Political Affairs, Repertoire of the Practice of the Security Council:  Supplement 1993-1995 (New York, NY: United Nations Publications, 2009), 616.
                [7] Wit et al., ibid., 41.
                [8] Oberdorfer, ibid., 294.
                [9] Wit et al., ibid., 154.
                [10] Ibid., 158-159.
[11] Oberdorfer, ibid., 320. ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะให้สถานะคู่ค้าถาวร (Permanent Normal Trade Relations – PNTR) แก่จีนเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 สหรัฐอเมริกาให้จีนมีสถานะเป็นชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง ซึ่งทำให้จีนสามารถส่งสินค้าไปยังตลาดอเมริกันได้โดยเสียภาษีขาเข้าในอัตราเดียวกับสินค้าจากประเทศอื่น เดิมสถานะดังกล่าวไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะช่วงปลายทศวรรษ 1970 ต่อทศวรรษ 1980 สหรัฐอเมริกากับจีนยังคงมีความสัมพันธ์อันดีและร่วมกันต่อต้านอิทธิพลของสหภาพโซเวียต จนกระทั่ง ค.ศ. 1989 ที่ภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียตหมดไปและเกิดเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จึงมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน ในปีถัดมาสภาคองเกรสจึงมีมติให้ทบทวนและต่ออายุสถานะดังกล่าวของจีนแบบปีต่อปี โดยอ้างว่าเป็นไปตามรัฐบัญญัติการค้าแจ๊กสัน-แวนิก (Jackson-Vanik Trade  Act) ค.ศ. 1974 ที่ห้ามไม่ให้รัฐบาลอเมริกันให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศที่ยังคงจำกัดเสรีภาพของประชาชน โปรดดูใน เขียน ธีระวิทย์, นโยบายต่างประเทศจีน (กรุงเทพฯ : ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2541), 513.  
                [12] Oberdorfer, ibid., 320.
                [13] Ibid., 357.
                [14] Selected Works of Jiang Zemin, Volume I (Beijing: Foreign Languages Press, 2010), 402-403.  

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 2)


การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับเกาหลีใต้และปฏิกิริยาของเกาหลีเหนือ


            ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้มิได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินมากนัก ประธานาธิบดีโรห์แตวู (Roh Tae Woo) แห่งเกาหลีใต้ปฏิเสธที่จะร่วมขบวนไปกับสหรัฐอเมริกาในการประณามการกระทำของจีน โดยยังคงยึดมั่นในนโยบายมุ่งเหนือ (Nordpolitik) เพื่อสานสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมต่อไป และเมื่อจีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 11 ณ กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 เกาหลีใต้ก็ได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและเทคโนโลยีสำหรับงานดังกล่าว[1] และเป็นครั้งแรกที่ธงชาติของทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ถูกเชิญขึ้นที่สนามกีฬากรุงปักกิ่ง ต่อมาในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน สมาคมการค้าระหว่างประเทศของจีน (China International Chamber of Commerce) กับสมาคมส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ (Korea Trade and Investment Promotion Agency – KOTRA) ได้ทำข้อตกลงที่นำไปสู่การจัดตั้งสำนักงานการค้าระหว่างประเทศ (Trade Office) ณ กรุงปักกิ่งและกรุงโซลในต้น ค.ศ. 1991 ซึ่งเรื่องนี้จีนได้แจ้งให้เกาหลีเหนือทราบล่วงหน้าและคิมอิลซุงก็ให้ความเห็นชอบ[2]

            จีนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่นำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญใน ค.ศ. 1991 เมื่อเกาหลีใต้แสดงความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติโดยถือว่าตนเองเป็นรัฐที่แยกต่างหากจากเกาหลีเหนือ ขณะนั้นสหภาพโซเวียตได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว และกอร์บาชอฟประกาศอย่างชัดเจนระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีใต้เมื่อเดือนเมษายนของปีนั้นว่าสหภาพโซเวียตจะไม่ขัดขวางการเข้าเป็นสมาชิกของเกาหลีใต้[3] ในบรรดาสมาชิกถาวร 5 ประเทศของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจึงมีแต่จีนเท่านั้นที่ยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้และต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนเรื่องดังกล่าวหรือไม่ โดยในระหว่างการเยือนกรุงเปียงยางเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 หลี่เผิงได้แจ้งให้เกาหลีเหนือทราบว่าคงเป็นการยากที่จีนจะใช้สิทธิยับยั้ง (veto) ไม่ให้รับเกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิก[4] เมื่อได้ฟังเช่นนี้เกาหลีเหนือจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกพร้อมไปกับเกาหลีใต้ แต่คิมอิลซุงก็ยังกังวลว่าสหรัฐอเมริกาอาจขัดขวางเกาหลีเหนือ เฉียนฉีเชินจึงเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางในเดือนถัดมาเพื่อยืนยันกับคิมอิลซุงว่าจีนจะช่วยให้การเข้าเป็นสมาชิกของเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างราบรื่น[5] ในที่สุดเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1991

            การที่จีนผลักดันให้เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติพร้อมกันสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1991 นโยบายเกาหลีเดียวที่จีนยึดมั่นตลอดมานับตั้งแต่สถาปนาประเทศนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วในทางปฏิบัติ เหลือแต่เพียงกระบวนการเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเท่านั้น เฉียนฉีเชินจึงอาศัยโอกาสที่เดินทางไปประชุมองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation - APEC) ครั้งที่ 3 ณ กรุงโซลเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นเพื่อพบกับประธานาธิบดีโรห์แตวู โดยโรห์แตวูได้เปรียบเปรยว่าชายฝั่งตะวันตกของเกาหลีกับชายฝั่งตะวันออกของจีนอยู่ใกล้กันมากจนถึงขนาดได้ยินเสียงสุนัขเห่าและไก่ขันได้ เฉียนฉีเชินจึงตอบไปว่า “ในเมื่อสุนัขเห่าและไก่ขันยังได้ยินถึงกันก็ไม่ควรปฏิเสธการไปมาหาสู่กัน”[6] ซึ่งเท่ากับว่าทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันเป็นนัยที่จะมีความสัมพันธ์ทางการทูตนั่นเอง   


                        สนามบินซุนอัน (Sunan Airport) กรุงเปียงยาง



            อย่างไรก็ตาม จีนมิได้รีบเร่งสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ในทันทีเพราะจะต้องทำความเข้าใจกับเกาหลีเหนือเสียก่อน โดยในเดือนเมษายน ค.ศ. 1992 หยางซ่างคุนเดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางเพื่อร่วมงานฉลองวันเกิด 80 ปีของคิมอิลซุงพร้อมกับแจ้งให้ทราบว่าจีนกำลังจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อคิมอิลซุงได้ฟังแล้วก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยโดยขอให้จีน “พิจารณาให้ลุ่มลึกอีกเล็กน้อย”[7] แต่จีนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปจนการเจรจาระหว่างจีนกับเกาหลีใต้เสร็จสิ้นลงในเดือนมิถุนายนของปีนั้น แต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เจียงเจ๋อหมินได้มอบหมายให้เฉียนฉีเชินเดินทางไปยังเกาหลีเหนืออีกครั้งในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1992 “เพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงต่อเกาหลีเหนือ”[8] ผลปรากฏว่าเฉียนฉีเชินได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาที่กรุงเปียงยาง ดังปรากฏในบันทึกการทูตของเขา ความตอนหนึ่งว่า

 

เมื่อก่อนเวลามาเยือนเกาหลีเหนือครั้งใด ก็จะพบกับบรรยากาศที่ครึกครื้น มีคณะต้อนรับใหญ่โต แต่ครั้งนี้เครื่องลงจอดในมุมสนามบินลับตาคน ส่วนบุคคลที่มารับข้าพเจ้านั้นมีแต่นายคิมยองนัม (Kim Yong Nam) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้นเอง[9]

 

            ในการพบปะกับคิมอิลซุง ณ บ้านพักตากอากาศฤดูร้อน เฉียนฉีเชินได้ชี้แจงถึงความจำเป็นที่จีนต้องสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ และย้ำว่าจีนจะยังคงให้ความสำคัญกับมิตรภาพที่มีกับเกาหลีเหนืออยู่ต่อไป รวมทั้งสนับสนุนการผ่อนคลายความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีและการรวมเกาหลีโดยสันติวิธี ซึ่งคิมอิลซุงก็นั่งฟังเพียงครู่เดียวโดยบอกว่ารับทราบและเข้าใจจุดยืนของจีน แม้ว่าในบันทึกของเฉียนฉีเชินจะกล่าวถึงคิมอิลซุงอย่างยกย่อง หากแต่เมื่อดูจากเนื้อหาในบันทึกแล้วจะพบว่าคิมอิลซุงปฏิบัติกับเขาอย่างเย็นชาอยู่ไม่น้อย ดังความตอนหนึ่งว่า

 

            ท่านประธานาธิบดีคิมอิลซุงได้มองดูหยกแกะสลักเก้ามังกรคลอมุกและลิ้นจี่สดที่ข้าพเจ้านำมาฝากท่านแวบหนึ่ง แล้วท่านก็ลุกขึ้นส่งแขก เท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ครั้งนี้เป็นการพบปะประธานาธิบดีคิมอิลซุงของคณะผู้แทนจีนที่ใช้เวลาสั้นที่สุด และหลังการพบปะก็มิได้มีการจัดงานเลี้ยงรับรองอย่างที่เคยทำกันมาในอดีต[10]

 

            ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1992 เฉียนฉีเชินกับลีซางอุก (Lee Sang Ock) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีใต้ได้ลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ณ เรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถ (Diaoyutai) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเท่ากับปิดฉากนโยบายเกาหลีเดียวของจีนไปอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าในวันเดียวกันนั้นคณะทูตสันถวไมตรีจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เดินทางไปเยือนกรุงเปียงยาง[11] อันสะท้อนให้เห็นว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนือในยุคหลังสงครามเย็นอยู่ต่อไป


-------------------------------------------


                        [1] Lee, Ibid., 150.
                [2] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, 219.
                [3] Oberdorfer, ibid., 231.
                [4] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, 220.
                [5] เพิ่งอ้าง, 221.
                [6] เพิ่งอ้าง, 210.
                [7] เพิ่งอ้าง, 225.
                [8] เพิ่งอ้าง, 226.
                [9] เพิ่งอ้าง, 226.
                        [10] เพิ่งอ้าง, 228.
                        [11] B. C. Koh, “Trends in North Korean Foreign Policy,” Journal of Northeast Asian Studies 13 (Summer 1994): 71 อ้างถึงใน Seongji Woo, “Adversarial Engagement and Alliance Relations: Triangular Politics on the Korean Peninsula, 1988-1994,” Issues & Studies 37 (March/April 2001): 130.  

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 1)


 
“เกาหลีเหนือไม่ใช่ทั้งพันธมิตรและศัตรูของจีน

หากแต่เป็นเพียงประเทศเพื่อนบ้านประเทศหนึ่งเท่านั้น”

 

หลี่เผิง

นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

ค.ศ. 1997[1]

 

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 อันเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต เหตุการณ์เทียนอันเหมินที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการสิ้นสุดของสงครามเย็นและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต รวมทั้งการที่จีนยังคงเดินหน้านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป ซึ่งทำให้ในที่สุดจีนตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ใน ค.ศ. 1992 อันเป็นการปิดฉากนโยบายเกาหลีเดียวที่ยึดมั่นมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเมื่อ ค.ศ. 1949 ลงไปอย่างถาวร และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างค่อนข้างห่างเหินเกือบตลอดช่วงทศวรรษ 1990

 
ความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศและในประเทศของจีนเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 และผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ

            หลังจากที่ประธานาธิบดีเลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) แห่งสหภาพโซเวียตแสดงสุนทรพจน์ที่เมืองทาชเคนต์ (Tashkent) ของสาธารณรัฐอุซเบกิสถานเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1982 ซึ่งมีเนื้อหาแสดงความปรารถนาจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน ทางการจีนได้ตอบรับด้วยการเสนอว่าสหภาพโซเวียตจะต้องขจัด “อุปสรรค 3 ประการ” ออกไปให้ได้เสียก่อน นั่นคือ (1) การถอนทหารออกจากชายแดนจีน-โซเวียตและจีน-มองโกเลีย (2) การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และ (3) การหว่านล้อมให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา ซึ่งในที่สุดเมื่อมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตใน ค.ศ. 1985 เขาก็ได้รับปากทำตามข้อเสนอของจีน จนนำไปสู่การเดินทางเยือนกรุงมอสโกของเฉียนฉีเชิน (Qian Qichen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1988 ซึ่งเขาเรียกการเยือนในครั้งนั้นว่า “การเยือนที่ละลายน้ำแข็ง”[2] และนำไปสู่การเดินทางเยือนจีนของกอร์บาชอฟเพื่อพบกับเติ้งเสี่ยวผิงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1989 การสิ้นสุดของความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ยาวนาน 3 ทศวรรษทำให้จีนไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือเพื่อแข่งขันกับสหภาพโซเวียตอีกต่อไป ดังที่จ้าวจื่อหยางบอกกับคิมอิลซุงระหว่างเดินทางเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 ว่าจีนต้องการสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีสันติภาพและจะไม่แข่งขันกับสหภาพโซเวียตในการสร้างอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลี[3]

            แม้กระนั้น ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 จีนก็ยังคงให้ความสำคัญกับเกาหลีเหนืออยู่พอสมควร ทั้งนี้เป็นผลมาจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ที่ทางการจีนใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงจนถูกประณามจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งมุมมองของทางการจีนนั้นถือว่าความวุ่นวายดังกล่าวทั้งในจีนและในยุโรปตะวันออกเวลาเดียวกันล้วนแต่เป็นผลมาจากการวางแผนของโลกตะวันตกที่จะบ่อนทำลายโลกสังคมนิยมโดยไม่ทำสงคราม หรือที่เรียกว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ (peaceful evolution)”[4] ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวกับแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนของปีนั้นว่า

 

            พวกจักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังพยายามทำให้ประเทศสังคมนิยมทั้งหลายละทิ้งเส้นทางสังคมนิยม นำพาพวกเขาไปสู่กฎเกณฑ์ของทุนผูกขาดระหว่างประเทศ และนำไปสู่เส้นทางของลัทธิทุนนิยม เราจะต้องมุ่งมั่นต่อต้านกระแสทวนที่ว่านี้ เพราะหากเราไม่ยึดมั่นในลัทธิสังคมนิยม ในที่สุดเราจะกลายเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพิงประเทศอื่นๆ และยากที่จะพัฒนาต่อไปได้[5]

 

            เหตุการณ์เทียนอันเหมินทำให้จีนพยายามกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือในฐานะประเทศสังคมนิยมที่ยังเหลืออยู่ท่ามกลางกระแสของ “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” จากโลกตะวันตก เมื่อคิมอิลซุงเดินทางเยือนจีนอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1989 เติ้งเสี่ยวผิงก็ได้เดินขึ้นไปต้อนรับเขาถึงบนขบวนรถไฟพร้อมกับแนะนำให้รู้จักเจียงเจ๋อหมิน (Jiang Zemin) เลขาธิการพรรคคนใหม่[6] และทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำว่าจะเดินบนเส้นทางสังคมนิยมต่อไป รวมทั้งวิจารณ์นโยบายเปิดสังคม (Glasnost) และปรับระบบเศรษฐกิจ (Perestroika) ของกอร์บาชอฟว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกสังคมนิยมต้องปั่นป่วน[7] และใน ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการเข้าร่วมสงครามเกาหลีของจีน กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ เจียงเจ๋อหมินและฉินจีเหว่ย (Qin Jiwei) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนผู้เคยร่วมรบในสงครามเกาหลีได้เดินทางไปเยือนกรุงเปียงยางในเดือนมีนาคมและสิงหาคมของปีนั้นตามลำดับ ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1991 หลี่เผิง (Li Peng) นายกรัฐมนตรีของจีนได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือ ขณะที่คิมอิลซุงก็เดินทางเยือนจีนอีกครั้ง (และเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตของเขา) ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน


 
                     คิมอิลซุงเดินทางเยือนจีนครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ. 1991
            (จากซ้ายไปขวา) หยางซ่างคุน คิมอิลซุง เจียงเจ๋อหมิน หลี่เผิง




            อย่างไรก็ตาม การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในช่วงดังกล่าวมิได้หมายความว่าจีนจะยึดมั่นในนโยบายเกาหลีเดียวโดยไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ในเวลาเดียวกับที่จีนกำลังเกรงกลัว “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” อยู่นั้น เติ้งเสี่ยวผิงก็เน้นย้ำว่าหนทางที่จะทำให้ลัทธิสังคมนิยมของจีนอยู่รอดได้ก็คือการเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศ ดังที่เขากล่าวกับแกนนำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 1989 ว่า

 

            สิ่งสำคัญที่สุดก็คือจะต้องไม่เกิดความวุ่นวายในประเทศจีน และเราควรจะเดินหน้านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศต่อไป ถ้าไม่ทำเช่นนี้ประเทศจีนก็จะหมดอนาคต เราประสบความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพราะอาศัยการปฏิรูปและเปิดประเทศ ตราบเท่าที่เรายังดำเนินนโยบายเหล่านี้และชูธงสังคมนิยมอย่างเข้มแข็ง จีนก็จะมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวง[8]

 

            หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน จีนจึงยังคงเดินหน้าขยายความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้อยู่ต่อไป แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 8 ของจีน (ค.ศ. 1991-1995) ได้วางเป้าหมายที่จะสร้างเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast Economic Development Zone) ซึ่งจะเป็นจริงได้โดยอาศัยทุนจากเกาหลีใต้[9] ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ ในค่ายสังคมนิยมก็เริ่มหันมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ เริ่มจากฮังการีในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1989 และที่สำคัญที่สุดก็คือสหภาพโซเวียตในเดือนกันยายน ค.ศ. 1990 ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ทางการจีนเดินหน้าไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้ควบคู่ไปกับความพยายามสื่อสารให้ทางการเกาหลีเหนือทราบเพื่อรักษามิตรภาพระหว่างกันเอาไว้  


--------------------------------------


                        [1] Pak Tu-sik, Choson Ilbo, 17 April 1997, 2 อ้างถึงใน Kongdan Oh and Raph C. Hassig, North Korea through the Looking Glass (Washington, D.C.: Brooking Institution Press, 2000), 158. 
                        [2] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, 80.
                [3] Gilbert Rozman, Chinese Strrategic Thought toward Asia (New York, NY: Palgrave Macmillan, 2010), 180.
                [4] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III, 333
                        [5] Ibid., 302.
                [6] “KCTV(General Kim Il Sung in China [1989]-[1990]),” Korea Central Television, available from http://www.youtube.com/watch?v=WfMifjirULE, accessed 11 August 2013. 
                [7] Lee, ibid., 119.
                        [8] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III, 310
                [9] Xiaoxiong Yi, “China’s Korea Policy: From “One-Korea” to “Two Koreas,” Asian Affairs: An American Review, no. 2 (1995): 125.