วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น (ตอนที่ 3)


ความบาดหมางระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และการกลับมากระชับความสัมพันธ์อย่างจำกัด


            ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือมาสะดุดลงในครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 เริ่มจากการที่เกาหลีเหนือพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตหลังการสิ้นสุดอำนาจของครุสชอฟเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1964 โดยในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น เกาหลีเหนือส่งคิมอิล (Kim Il) และคิมชางมาน (Kim Chang Man) เป็นผู้แทนไปร่วมงานฉลอง 47 ปีแห่งการปฏิวัติรัสเซีย ณ กรุงมอสโก ตามมาด้วยการเยือนเกาหลีเหนือของอะเลคเซย์ โคซีกิน (Alexsei Kosygin) นายกรัฐมนตรีของสหภาพโซเวียตในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดมา ซึ่งจีนมองดูด้วยความไม่สบายใจ และหลังจากการเยือนครั้งนั้นโคซีกินเสนอยุทธศาสตร์ช่วยเหลือแก่เวียดนามเหนือที่กำลังทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาโดยจะส่งทหาร 4,000 คนไปยังเวียดนามเหนือผ่านแผ่นดินของจีน และจะขอใช้สนามบินทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นฐานในการช่วยเหลือ แต่จีนไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจนทำให้เกาหลีเหนือวิจารณ์ว่าจีนทอดทิ้งสหายร่วมอุดมการณ์อย่างเวียดนามเหนือ[1] ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือจึงเริ่มเลวร้ายลง ดูได้จากใน ค.ศ. 1965 ที่เกาหลีเหนือจัดงานฉลอง 20 ปีแห่งการปลดปล่อยเกาหลี สหภาพโซเวียตส่งอะเลคซานเดอร์ เอ็น เชเลปิน (Aleksandr N. Shelepin) กรรมการกรมการเมืองไปร่วมงาน แต่จีนส่งอู่ซินอวี้ (Wu Xinyu) ซึ่งเป็นเพียงรองเลขาธิการสภาผู้แทนประชาชนไปร่วมงาน[2]   

            ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือกับสหภาพโซเวียตทำให้เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1966 ยามพิทักษ์แดง (The Red Guards) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชิดชูเหมาเจ๋อตงอย่างสุดโต่งได้ออกมาโจมตีว่าคิมอิลซุงเป็นพวกลัทธิแก้เฉกเช่นสหภาพโซเวียต และต่างฝ่ายต่างเรียกทูตของตนเองกลับประเทศ นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของจีนหลายคนที่เคยทำงานหรือศึกษาในเกาหลีเหนือถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับของเกาหลีเหนือ ชนชาติส่วนน้อยเกาหลีที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจำนวนไม่น้อยพากันอพยพข้ามแม่น้ำยาลู่และแม่น้ำถูเหมินไปลี้ภัยในเกาหลีเหนือ และมีรายงานการปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนหลายครั้ง[3] อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มแผ่วเบาลงใน ค.ศ. 1969 ประกอบกับการปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนจีน-โซเวียตในปีเดียวกัน จีนจึงเริ่มเห็นความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือโดยใช้งานฉลองวันชาติและวันครบรอบ 20 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นประโยชน์ เดิมทางการจีนมิได้เชิญแขกต่างชาติมาร่วมงานเลย หากแต่ในบ่ายของวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1969 จีนได้ออกคำเชิญอย่างเร่งด่วนไปยังเกาหลีเหนือ และในคืนวันนั้นเอง โชยองกุน ผู้นำหมายเลข 2 ของเกาหลีเหนือก็เดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งเพื่อร่วมงานฉลองในวันรุ่งขึ้น[4] ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1970 ทั้งสองฝ่ายต่างส่งทูตกลับไปประจำซึ่งกันและกัน และโจวเอินไหลได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในเดือนต่อมา

            อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือการที่จีนหันไปปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและประเทศโลกเสรีเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ดังจะเห็นได้จากการที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1971 การเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) แห่งสหรัฐฯ และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1972 ด้วยเหตุนี้แม้จีนจะยังแสดงออกว่าตนเองเป็นผู้ให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่เกาหลีเหนืออยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสัปดาห์มิตรภาพจีน-เกาหลี ณ กรุงปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1971 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งการที่จีนคัดค้านข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้มีการรับรองไขว้ (cross-recognition) บนคาบสมุทรเกาหลีใน ค.ศ. 1974 โดยจีนยืนยันว่าตนเองจะคงนโยบายเกาหลีเดียว (one-Korea principle) เอาไว้ต่อไป[5] หากแต่จีนก็ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวและสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับโลกเสรีของเกาหลีเหนือ ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเยือนจีนอย่างเร่งด่วนของคิมอิลซุงในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1975 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเขมรแดง (The Khmer Rouge) เพิ่งล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาของนายพลลอนนอล (Lon Nol) ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังได้สำเร็จ และเวียดนามใต้ก็กำลังปราชัยแก่เวียดนามเหนือ คิมอิลซุงจึงได้บอกกับเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) รองนายกรัฐมนตรีของจีนว่าเขามีแผนจะใช้กำลังบุกเกาหลีใต้อีกครั้งเพื่อรวมประเทศ แต่ผู้นำของจีนไม่เห็นด้วย[6] และในงานเลี้ยงขอบคุณเจ้าภาพที่คิมอิลซุงจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนของปีนั้น เติ้งเสี่ยวผิงก็เน้นย้ำอีกครั้งว่าจีนสนับสนุนการรวมเกาหลีอย่างสันติ[7] ขณะที่การเยือนเกาหลีเหนือของฮว่ากั๋วเฟิง (Hua Guofeng) และเติ้งเสี่ยวผิงในฐานะประธานและรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน ค.ศ. 1978 ตามลำดับก็จบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า 2 ฝ่ายมีมุมมองและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันมากขึ้น
 

  
                         เหมาเจ๋อตงกับคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1975
 

            การถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1976 และการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ทำให้จีนยุตินโยบายส่งออกการปฏิวัติและการให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยหันมาเน้นเรื่องของสันติภาพและการพัฒนา (peace and development) ว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย ดังสุนทรพจน์ของหวงหัว (Huang Hua) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1982 ความตอนหนึ่งว่า

 

            ประชาชนของทุกประเทศต่างใฝ่หาสันติภาพ การสร้างความทันสมัยให้กับจีนจะเป็นจริงได้ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ ในฐานะผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งโลก เราพร้อมจะทำงานร่วมกับประเทศและประชาชนผู้รักสันติภาพทั้งหลายเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อความก้าวหน้าของมวลมนุษย์[8]

 

            ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศของจีนสวนทางกับเกาหลีเหนือที่ยังคงใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร ความรุนแรง และการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ ดังกรณีการวางระเบิดสังหารคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ระหว่างเดินทางเยือนพม่าเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1983[9] แต่ทว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ยังคงอยู่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนต้องประคับประคองความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือเอาไว้ เพราะการที่สหภาพโซเวียตสนับสนุนให้เวียดนามรุกรานกัมพูชาใน ค.ศ. 1978 และเข้ามาตั้งฐานทัพในเวียดนามที่อ่าวคัมรานห์ (Cam Ranh Bay) ในปีถัดมาทำให้จีนเกรงว่าเกาหลีเหนืออาจกลายเป็นฐานทัพอีกแห่งของสหภาพโซเวียตในเอเชีย เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางเยือนเกาหลีเหนืออีกครั้งพร้อมด้วยหูเย่าปัง (Hu Yaobang) เลขาธิการพรรคในเดือนเมษายน ค.ศ. 1982 ตามมาด้วยการให้เงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 100,000,000 เหรียญสหรัฐและมอบเครื่องบินรบ A-5 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดของจีนในขณะนั้นให้แก่เกาหลีเหนือจำนวน 40 ลำ[10] อีกทั้งผู้นำระดับสูงของจีนได้ไปเยือนเกาหลีเหนืออย่างสม่ำเสมอตลอดทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นหูเย่าปังเมื่อ ค.ศ. 1984 และ 1985 หลี่เซียนเนี่ยน (Li Xiannian) ประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1986 หยางซ่างคุน (Yang Shangkun) ประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1988 จ้าวจื่อหยาง (Zhao Ziyang) นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคเมื่อ ค.ศ. 1981 และ 1989 ตามลำดับ และจีนยังได้ต้อนรับการมาเยือนของคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1982, 1984, 1987 และ 1989 รวมถึงการมาเยือนของคิมจองอิล (Kim Jong Il) บุตรชายและทายาททางการเมืองของคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1983 อีกด้วย

            ในเวลาเดียวกัน จีนยังได้พยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจตามแบบจีน ดังเช่นเมื่อคิมอิลซุงเดินทางเยือนจีนใน ค.ศ. 1982 เติ้งเสี่ยวผิงได้พาคิมไปดูงาน ณ มณฑลเสฉวนด้วยตนเองพร้อมกล่าวกับคิมว่า

 

            เราจะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศของเราทั้งใหญ่และยากจน ถ้าเราไม่เพิ่มการผลิตก็คงไปไม่รอด ลัทธิสังคมนิยมจะเหนือกว่าได้อย่างไรถ้าประชาชนของเรายังมีชีวิตที่ลำบาก ... เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มพลังการผลิตและค่อยๆ ขจัดความยากจนพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง หาไม่แล้วลัทธิสังคมนิยมจะเอาชนะลัทธิทุนนิยมได้อย่างไร[11]

 

            นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับปรัชญาจูเช่ (Juche) ของคิมอิลซุงที่เน้นการพึ่งตนเอง บันทึกความทรงจำของฮวางชางยอบ (Hwang Jang Yop) ผู้นำระดับสูงของเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยไปยังเกาหลีใต้เมื่อ ค.ศ. 1997 ระบุว่าคิมอิลซุงและคิมจองอิลตราหน้าเติ้งเสี่ยวผิงว่า “ครุสชอฟแห่งเมืองจีน”[12] และในระหว่างการเยือนเยอรมนีตะวันออกของคิมอิลซุงเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1984 เขาได้สนทนากับเอริช โฮเนคเคอร์ (Erich Honecker) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โดยแสดงความเป็นห่วงว่าจีนกำลังเดินทางผิด ดังความตอนหนึ่งว่า

 

ถ้าเราปล่อยให้ประเทศจีนตกอยู่ในมือของพวกนายทุน จีนก็อาจเสี่ยงที่จะกลายเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมอีกครั้งหนึ่ง ... และเนื่องจากเรามีพรมแดนเป็นทางยาวติดกับจีน รวมทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดก็คือการที่ประเทศจีนไม่ยึดมั่นในลัทธิสังคมนิยม ประเทศจีนมีประชากร 1,000,000,000 คน เราจะต้องทำให้มั่นใจว่าพวกเขาเดินบนเส้นทางสังคมนิยมมากกว่าเส้นทางอื่นๆ[13]

                                      เติ้งเสี่ยวผิงกับคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1987
 

            อย่างไรก็ตาม ความหวังของคิมอิลซุงที่จะให้จีนกลับมาเดินบนเส้นทางเดิมเหมือนในทศวรรษ 1950 และ 1960 นั้นไม่อาจเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะในการสนทนากับเฮลมุท โคล (Helmut Kohl) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1984 เติ้งเสี่ยวผิงระบุว่าการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้ผลดีเกินคาด และจีนก็จะเดินหน้าเช่นนี้ต่อไปโดยจะพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศโลกที่ 3[14] และในทศวรรษ 1980 นั้นเองที่ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ได้เริ่มขึ้นจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายของจีนต่อคาบสมุทรเกาหลี


--------------------------------------


                [1] Choi, ibid., 40-41.
                [2] Ibid., 42.
                        [3] Lee, ibid., 101-102.
                [4] Chen, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance,” 7.
                [5] Choi, ibid., 77-90. การรับรองไขว้หมายถึงการที่สหรัฐอเมริกาจะรับรองเกาหลีเหนือ โดยแลกเปลี่ยนกับการที่จีนกับสหภาพโซเวียตรับรองเกาหลีใต้
                [6] Chen, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance,” 8.
                [7] Chinese-Korean Friendship – Deep-Rooted and Flourishing (Peking: Foreign Languages Press, 1975), 47.
                [8] “China’s Position on Current World Issues – Foreign Minister Huang Hua’s address to UN General Assembly, October 4,” Beijing Review (11 October 1982): 15.
                [9] Adrian Buzo, The Guerilla Dynasty: Politics and Leadership in North Korea (Boulder, CO: Westview Press, 1999), 125.
                [10] Choi, ibid., 179-181.
                [11] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III (1982-1992) (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 21.
                [12] Hwang Jang Yop’s Memoirs (Seoul: Zeigeist Publishing House, 2006), chapter 5, available from http://www.dailynk.com, accessed 3 July 2013.
                        [13] “Memorandum of Conversation between Erich Honecker and Kim Il Sung (31 May 1984),” available from http://digitalarchive.wilsoncenter.org/document/113198, accessed 3 July 2013. 
                        [14] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III (1982-1992), 88-89.

ไม่มีความคิดเห็น: