ความคิดเห็นหรือท่าทีของประชาชนกลุ่มใหญ่ที่มีต่อประเด็นสำคัญๆ ของสังคม หรือที่เรียกว่า มติมหาชน (public opinion) เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่เป็นรัฐอ่อน (soft state) ซึ่งหมายถึง รัฐที่ถูกครอบงำโดยสังคมและมักกำหนดนโยบายตามข้อเรียกร้องของสังคม ดังเช่นประเทศประชาธิปไตยในโลกตะวันตก ตรงข้ามกับรัฐแข็ง (strong state) ที่รัฐสามารถควบคุมสังคมหรือกลุ่มสังคมภายในรัฐไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำตามข้อเรียกร้องของสังคมเสมอไป ดูเหมือนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจมาตั้งแต่ ค.ศ. 1949 จะจัดอยู่ในรัฐประเภทนี้ อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศใน ค.ศ. 1978 ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลกระทบต่อความเป็นรัฐแข็งของจีน
ลักษณะสำคัญของรัฐจีนหลังยุคเหมา (post – Mao state) ก็คือ การที่รัฐยุติการเข้าไปแทรกแซงชีวิตประจำวันของประชาชน และเปิดให้ประชาชนมี “อาณาบริเวณสาธารณะ” (public sphere) ตราบเท่าที่พวกเขาไม่ท้าทายอำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ (Shambaugh, 2000, p. 184) ถึงแม้ว่าทางการจีนจะยังคงมีกลไกควบคุมสื่อมวลชนอยู่ หากแต่รัฐซึ่งต้องการลดภาระทางการเงินก็ได้ปล่อยให้สื่อต่างๆ ประกอบการในเชิงพาณิขย์เพื่อให้เลี้ยงตัวเองได้ ทำให้สื่อเหล่านี้นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายตามความสนใจของผู้บริโภค การเข้ามาของสื่ออินเตอร์เน็ตในทศวรรษ 1990 ซึ่งมีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งทำให้ประชาชนมีช่องทางในการรับข้อมูลที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจผูกขาดข้อมูลข่าวสารได้อีกต่อไปก็คือ การลดลงของยอดจำหน่ายหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (人民日报) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรค (党报) หลิวต้าเป่า (刘大保) นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์วิจัยของหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้ให้สัมภาษณ์กับวิภา อุตมฉันท์ เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 ว่า ประชาชนรายวัน มียอดจำหน่ายไม่ถึง 2 ล้านฉบับต่อวัน จากเดิมในยุคก่อนเปิดประเทศที่ยอดจำหน่ายสูงถึงวันละ 7-8 ล้านฉบับ (วิภา อุตมฉันท์ และ นิรันดร์ อุตมฉันท์, 2549, น. 94-95) สาธารณชนจึงรับรู้ประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสื่อเพื่อการค้าเหล่านี้ซึ่งมีเนื้อหาแบบสัจนิยม (realist) มากกว่าจะรับรู้จากสื่อของทางการที่มีเนื้อหาแบบอุดมคตินิยม (idealist) เหมือนอย่างแต่ก่อน (Qing Cao, 2007) ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ทางการจีนเรียกว่านโยบายต่างประเทศแบบ “สันตินิยม” (pacifism) อาจกลายเป็นนโยบายต่างประเทศที่อ่อนแอในสายตาของประชาชนจีนก็ได้
กรณีสำคัญที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับมติมหาชนด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เบี่ยงเบนไปจากแนวทางของรัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็คือ ใน ค.ศ. 1996 หนังสือที่ชื่อ จีนสามารถพูดว่าไม่ (中国可以说不หรือ China Can Say No) ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความที่มีจางเสี่ยวปอ (张小波) เป็นบรรณาธิการกลายเป็นหนังสือขายดี ในด้านหนึ่ง หนังสือเล่มนี้โจมตีสหรัฐอเมริกาว่าต้องการสกัดกั้นการเจริญเติบโตของจีน เช่น การขัดขวางไม่ให้จีนเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกเมื่อ ค.ศ. 2000 การถ่วงเวลาในการเจรจากับจีนซึ่งต้องการเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การสนับสนุนความเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของทิเบต ปฏิบัติการลับของซีไอเอ (CIA) ในจีน เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ก็ได้วิจารณ์ว่ารัฐบาลจีนอ่อนข้อให้กับสหรัฐอเมริกามากเกินไป โดยขาดความกล้าที่จะแสดงความเป็นมหาอำนาจด้วยการท้าทายหรือ “พูดว่าไม่” (say no) กับสหรัฐฯ (Fewsmith and Rosen, 2001, p. 163) ยอดจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ที่สูงถึง 2 ล้านเล่มสะท้อนให้เห็นว่า เนื้อหาในหนังสือน่าจะสอดคล้องกับความรู้สึกนึกคิดที่มีอยู่แต่เดิมของผู้อ่านพอสมควร และความรู้สึกเช่นนี้จะแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเกิดปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังกรณีของการประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1999 และ ค.ศ. 2005 ตามลำดับ
การประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1999
การประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1999 มีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ในโคโซโว (Kosovo) กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาได้นำเรื่องที่ประธานาธิบดีสโลโบดาน มิโลเซวิช (Slobodan Milosevic) แห่งเซอร์เบียทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมเชื้อสายอัลเบเนียนในแคว้นโคโซโวมาเป็นเหตุผลในการทำสงคราม โดยสหรัฐอเมริกาเริ่มทิ้งระเบิดในเซอร์เบียเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1999 และแล้วในวันที่ 7 พฤษภาคมของปีนั้น ได้มีระเบิดตกลงไปยังสถานทูตจีนในกรุงเบลเกรด ส่งผลให้มีชาวจีนเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บกว่า 20 คน โดยสหรัฐฯ อ้างว่านักบินที่ทิ้งระเบิดเข้าใจผิดว่าอาคารสถานทูตจีนเป็นสถานที่สำคัญทางทหารของเซอร์เบีย เรื่องนี้ทำให้ชาวจีนโกรธแค้นและพากันออกมาประท้วงตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศจำนวนรวมกันหลายแสนคน โดยเฉพาะที่สถานทูตอเมริกันในกรุงปักกิ่งซึ่งฝูงชนได้ปาก้อนหินและไข่จนอาคารสถานทูตได้รับความเสียหาย รวมทั้งมีการตะโกนว่า “ฆ่าชาวอเมริกัน” และเผาธงชาติสหรัฐฯ (Hughes, 2006, p. 85)
ทางการจีนมีความกังวลว่าอารมณ์โกรธแค้นของประชาชนจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่บานปลายจนกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะความพยายามของจีนที่จะเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ให้สำเร็จภายใน ค.ศ. 1999[1] แต่ในอีกทางหนึ่ง ถ้าทางการจีนห้ามปรามไม่ให้มีการประท้วง ประชาชนก็จะหันมาระบายอารมณ์โกรธเคืองกับทางการและวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้นำของตนไม่กล้า “พูดว่าไม่” (say no) กับสหรัฐฯ จนอาจกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทางการจีนอยู่ในสภาวะที่ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” (dilemma) นั่นเอง
ในวันที่ 9 พฤษภาคม หรือไม่ถึง 2 วันหลังการทิ้งระเบิด รองประธานาธิบดีหูจิ่นเทาได้กล่าวสุนทรพจน์ทางโทรทัศน์ซึ่งสะท้อนความพยายามของทางการจีนในการจัดการกับสภาวะดังกล่าว ในทางหนึ่ง หูได้ตอบสนองอารมณ์ของผู้ชุมนุมประท้วงด้วยการประณามการกระทำของสหรัฐอเมริกาและเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมฉุกเฉิน เขาระบุด้วยว่าการชุมนุมประท้วงสหรัฐอเมริกาถือเป็นสิทธิที่ชาวจีนผู้รักชาติทั้งหลายสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปในกรอบของกฎหมายและระวังไม่ให้ผู้ไม่ประสงค์ดีบ่อนทำลายเสถียรภาพทางสังคม แต่ในอีกทางหนึ่ง หูระบุว่านโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ รวมทั้งนโยบายต่างประเทศของจีนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในขั้นมูลฐาน (Hughes, 2006, pp. 85-86) ซึ่งเท่ากับเป็นการเน้นว่าการประท้วงครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในด้านอื่นๆ แต่กระนั้น ภาพแห่งความรุนแรงและก้าวร้าวของประชาชนจีนก็ได้แพร่ออกไปตามสื่อต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นภาพลักษณ์ในทางลบ
การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2005
ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ตกเป็นเป้าของอารมณ์โกรธแค้นของประชาชนจีน ทั้งนี้เป็นผลมาจากความทรงจำทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นสงครามจีน – ญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1894 ที่จีนต้องเสียไต้หวัน กรณีแมนจูเรียเมื่อ ค.ศ. 1931 สงครามต่อต้านญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1937 ถึง ค.ศ. 1945 ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง เพลง มาร์ชทหารอาสาสมัคร (义勇军进行曲) ซึ่งเป็นเพลงชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีกำเนิดจากเพลงปลุกใจที่ใช้ในการต่อต้านญี่ปุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นมีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อจุนอิชิโร โคอิซูมิ (Junichiro Koizumi) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ ค.ศ. 2001 ซึ่งหลังจากนั้นทุกๆ ปี เขาจะเดินทางไปทำพิธี ณ สุสานยาสุกูนิ (The Yasukuni Shine) ซึ่งเป็นที่ฝังศพของนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ชาวจีนจำนวนมากมองด้วยความไม่พอใจว่า การกระทำของเขาถือเป็นการให้ความชอบธรรมต่อลัทธิแสนยนิยม (militarism) ของญี่ปุ่น แต่กระนั้น จีนกับญี่ปุ่นก็มีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยใน ค.ศ. 2004 การค้าระหว่างสองประเทศมีมูลค่ารวม 1.67 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และในปีนั้นญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีนแทนที่สหรัฐอเมริกา รวมทั้งมีชาวจีนศึกษาอยู่ในญี่ปุ่นถึง 70,000 คน (เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 113)
ปัญหาที่เป็นชนวนไปสู่การประท้วงต่อต้านญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 9 – 10 เมษายน ค.ศ. 2005 ได้แก่ (1) การที่กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นอนุมัติให้ใช้ตำราเรียนประวัติศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 8 เล่ม ซึ่งชาวจีนมองว่ามีเนื้อหาบิดเบือนประวัติศาสตร์โดยละเลยที่จะยอมรับความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่กระทำต่อชาวจีน และ (2) ความพยายามของญี่ปุ่นที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้มีชาวจีนร่วมกันลงนามคัดค้านในอินเตอร์เน็ตถึง 20 ล้านคน (ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2548, น. 49) ในกรุงปักกิ่ง ชาวจีนนับหมื่นคนเดินขบวนไปยังสถานทูตและบ้านพักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น และได้ขว้างปาสิ่งของ รวมทั้งทุบทำลายหน้าต่างของอาคารและสถานที่ดังกล่าวเพื่อระบายความโกรธแค้น ขณะที่ในเซี่ยงไฮ้ ประชาชนนับหมื่นคนได้เดินขบวนไปยังสถานกงสุลญี่ปุ่น โดยระหว่างทางได้ทำลายบริษัทห้างร้านของชาวญี่ปุ่น คว่ำรถยนต์ญี่ปุ่น และตะโกนถ้อยคำเช่น “ญี่ปุ่นจงพินาศ” และ “จงไปให้พ้น” เป็นต้น (ไชยวัฒน์ ค้ำชู, 2548, น. 49-50)
เมื่อประเด็นทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่อ่อนไหวในความรู้สึกของประชาชน ถ้าทางการจีนละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวในระดับที่ประชาชนคาดหวังก็อาจนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชนได้ ดังกรณีของกระแสต่อต้าน “แนวคิดใหม่” (New Thinking) ในการดำเนินความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2003[2] ทางการจีนจึงอยู่ในสภาวะเดียวกับการประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1999 กล่าวคือ ในทางหนึ่งจะต้องตอบสนองต่ออารมณ์และความคาดหวังของประชาชนที่ออกมาประท้วง แต่ในอีกทางหนึ่งก็ต้องควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้บานปลายจนกระทบต่อความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ กับญี่ปุ่น ในวันที่ 12 เมษายน ถังเจียเสวียน (唐家璇) มุขมนตรีได้พบปะกับโตโยฮิโกะ ยามาโนอูชิ (Toyohiko Yamanouchi) ประธานสำนักข่าวเกียวโด (Kyodo News Agency) ของญี่ปุ่น ถังระบุว่าประชาชนจีนไม่อาจเข้าใจได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่ยอมรับประวัติศาสตร์อันก้าวร้าวของตนเอง และไม่เข้าใจความรู้สึกของคนต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อของการรุกรานจะสามารถทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้อย่างไร แต่ถังก็เน้นย้ำว่า ทางการจีนไม่สนับสนุนให้ผู้ประท้วงทำการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวญี่ปุ่น อีกทั้งยังหวังด้วยว่าประชาชนของทั้งสองประเทศจะมองไปข้างหน้าและเป็นมิตรต่อกันตลอดไป (Handling China – Japan Ties Carefully, 2005, April 28, p. 16) และในวันที่ 15 เมษายน สำนักงานความปลอดภัยสาธารณะ (Public Security Bureau) ของเทศบาลกรุงปักกิ่งได้ออกประกาศว่า การเดินขบวนหรือชุมนุมประท้วงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการถือว่าผิดกฎหมาย และขอให้ประชาชนมั่นใจว่าพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนจะสามารถจัดการความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นได้อย่างเหมาะสม (เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 114)
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการประท้วงต่อต้านสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า มติมหาชนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในชุมชนนโยบายต่างประเทศ (foreign policy community) ของจีน การเติบโตของธุรกิจสิ่งพิมพ์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ประชาชนจีนมีช่องทางในการรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอกโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อของทางการอย่างแต่ก่อน ทางการจีนปัจจุบันจึงมีความสามารถที่ลดลงกว่าเดิมในการควบคุมหรือจัดการกับมติมหาชน (แม้จะยังมีกลไกควบคุมสื่อมวลชนและระบบการศึกษาอยู่ก็ตาม) รวมทั้งยังต้องตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของมหาชนมากยิ่งขึ้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งความชอบธรรมทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือที่ Christopher R. Hughes (2006) ซึ่งศึกษาเรื่องลัทธิชาตินิยมของจีนในยุคโลกาภิวัตน์เรียกสภาวะดังกล่าวว่า “ความไร้อำนาจของผู้มีอำนาจ” (the powerlessness of the powerful) เนื่องจากวาทกรรมที่ผลิตโดยชนชั้นนำ (elite discourse) ต้องเผชิญความท้าทายจากลัทธิชาตินิยมแบบมวลชน (popular nationalism) ซึ่งมีลักษณะตรงกับที่ William A. Callahan (2010) เรียกว่า “ลัทธิชาตินิยมแบบมองโลกในแง่ดีผสมร้าย” (pessoptimist nationalism) กล่าวคือ เป็นลัทธิชาตินิยมที่ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตน และมีความเชื่อมั่นว่าประเทศของตนกำลังจะเดินไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นลัทธิชาตินิยมที่มีบาดแผลจาก ”ความอัปยศแห่งชาติ” (国耻) ในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ (ค.ศ. 1840 – ค.ศ. 1949) ที่จีนตกเป็นเหยื่อการรุกรานของประเทศมหาอำนาจ[3] ซึ่งบาดแผลดังกล่าวพร้อมเสมอที่จะกลายสภาพเป็นอารมณ์อันโกรธแค้นและรุนแรงเมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้น ลัทธิชาตินิยมแบบมวลชนในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพที่ทางการจีนพยายามเน้นย้ำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเรื่องสันติภาพตามแบบขงจื่อ การทะยานขึ้นอย่างสันติ (Peaceful Rise) รวมทั้งจิตวิญญาณของ “ทูตสันติภาพ” อย่างเจิ้งเหอในนโยบายต่างประเทศของจีน
บรรณานุกรม
เขียน ธีระวิทย์. (2549). จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มติชน.
ไชยวัฒน์ ค้ำชู. (2548). จีน - ญี่ปุ่น: ประวัติศาสตร์เบื้องหลังความขัดแย้งของสองมหาอำนาจและนัยต่อภูมิภาคเอเชียในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: openbooks.
วิภา อุตมฉันท์ และ นิรันดร์ อุตมฉันท์. (2549). เจาะลึกสื่อจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Callahan, William A. (2010). China: The Pessoptimist Nation. New York: Oxford University Press.
Fewsmith, Joseph and Stanley Rosen. (2001). The Domestic Context of Chinese Foreign Policy: Does “Public Opinion” Matter?. In David M. Lampton (Ed.), The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform (pp. 151-187). Stanford, CA: Stanford University press.
Handling China - Japan Ties Carefully. (2005, April 28). Beijing Review, 48(17), 16-17.
Hughes, Christopher R. (2006). Chinese Nationalism in the Global Era. London: Routledge.
Pearson, Margaret M. (2001). The Case of China’s Accession to GATT/WTO. In David M.
Lampton (Ed.), The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform (pp. 337-370). Stanford, CA: Stanford University Press.
Peng Guangqian. (2004). China’s National Defense (Chen Ru, trans.). Beijing: China Intercontinental Press.
Qing Cao. (2007). Confucian Vision of a New World Order?: Cultural Discourse, Foreign Policy and the Press in Contemporary China. International Communication Gazette, 69(5), 431-450.
Shambaugh, David. (2000). The Chinese State in the Post- Mao Era. In David Shambaugh (Ed.), The Modern Chinese State (pp. 161-187). New York: Cambridge University Press.
Xiao Zhou. (2004, April 15). New Thoughts, Old Grudges. Beijing Review, 47(15), 20-21.
Zhou Yihuang. (2004). China’s Diplomacy. Beijing: China Intercontinental Press.
[1] จีนต้องการเจรจาเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก WTO ให้สำเร็จใน ค.ศ. 1999 เพื่อให้ตรงกับโอกาสฉลอง 50 ปี สาธารณรัฐประชาชนจีน อันจะช่วยยกสถานะทางการเมืองของเจียงเจ๋อหมินให้สูงยิ่งขึ้น ขณะที่ Pearson (2001, pp. 344) มองว่าจีนไม่ต้องการรอให้ถึง ค.ศ. 2000 อันเป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งอาจมีการนำเอาประเด็นเรื่องจีนมาใช้หาเสียงจนเป็นอุปสรรคต่อการเข้าเป็นสมาชิก WTO อีกทั้ง WTO กำลังจะจัดประชุมที่เมืองซีแอตเติล ซึ่งอาจมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการรับสมาชิกใหม่
[2] “แนวคิดใหม่” (New Thinking) เป็นข้อเสนอของปัญญาชนจีนกลุ่มหนึ่งเมื่อ ค.ศ. 2003 ที่ให้จีนเลิกหยิบยกเอาประเด็นทางประวัติศาสตร์มาเป็นเงื่อนไขในการดำเนินความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น บุคคลที่มีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดนี้ได้แก่ หม่าลี่เฉิง (马立诚) ผู้เขียนบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน ศาสตราจารย์สือยินหง (时殷弘) แห่งมหาวิทยาลัยประชาชนจีน และเฟิ่งเจาขุย (冯昭奎) นักวิจัยอาวุโสแห่งบัณฑิตยสภาสังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวต้องเผชิญกับการโจมตีอย่างหนักจากทั้งนักวิชาการและประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะหม่าลี่เฉิงซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น “คนทรยศ” (汉奸) จนต้องลาออกจากตำแหน่งและย้ายไปทำงานกับ Phoenix TV ในฮ่องกง ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ได้ใน Xiao Zhou (2004, April 15, pp. 20-21) และ Hughes (2006, pp. 146-151)
[3] สถิติของทางการจีนระบุว่า ระหว่าง ค.ศ. 1840 ถึง ค.ศ. 1949 จีนต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับต่างชาติถึง 1,175 ฉบับ (Zhou Yihuang, 2004, p. 4)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น