วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เจิ้งเหอกับ Boeing 777-200LR Worldliner


เจิ้งเหอกับ Boeing 777-200LR Worldliner

จีนเริ่มมีเครื่องบินออกให้บริการรับส่งผู้โดยสารเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1930 ในเส้นทางระหว่างเซี่ยงไฮ้กับฮั่นโข่ว และนับตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ธุรกิจสายการบินของจีนได้เติบโตขึ้นอย่างมาก ดูจากเมื่อ ค.ศ. 1987 ที่มีผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศจีนด้วยเครื่องบินเพียง 13 ล้านคน แต่เมื่อถึง ค.ศ. 2006 ได้เพิ่มเป็น 160 ล้านคน (Wright, 1991; ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์, 2007) ขณะเดียวกัน สายการบินของจีนก็ได้ทยอยเลิกใช้เครื่องบินแบบรัสเซีย และหันมาซื้อเครื่องบินของบริษัทโบอิ้ง (Boeing) มากขึ้น จากเดิมใน ค.ศ. 1987 ที่สายการบินของจีนมีเครื่องบินโบอิ้งอยู่เพียง 45 ลำ กลายเป็น 537 ลำใน ค.ศ. 2005 หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของเครื่องบินโดยสารที่ใช้อยู่ในประเทศจีน (Wright, 1991; เขียน ธีระวิทย์, 2549, น. 232) และบริษัทโบอิ้งได้คาดการณ์ว่าในอีกสองทศวรรษนับจาก ค.ศ. 2005 จีนจะต้องการเครื่องบินโดยสารเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2,300 ลำ (Cao Desheng, 2005, July 30)

ใน ค.ศ. 2005 บริษัทโบอิ้งได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเครื่องบินรุ่น 777-200LR Worldliner ซึ่งถือเป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่มีพิสัยการบินไกลที่สุด โดยสามารถบินได้ไกลถึง 21,601 กิโลเมตร ในเวลา 22 ชั่วโมง 42 นาที โดยไม่ต้องหยุดพัก และในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมของปีนั้น บริษัทโบอิ้งได้นำเครื่องบินรุ่นนี้ออกบินเพื่อให้เป็นที่รู้จักตามเมืองต่างๆทั่วโลกกว่า 20 เมือง และได้บินมายังกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2005 หรือไม่กี่วันก่อนงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ และที่สนามบินนานาชาติกรุงปักกิ่งนั่นเอง ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า เครื่องบินโบอิ้งรุ่นนี้จะใช้ชื่อว่า “เจิ้งเหอ” โดย นิโคล เพียสกี้ (Nicole Piasecki) รองประธานคณะผู้บริหารซึ่งดูแลด้านการตลาดและยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของ Boeing Commercial Airplanes ได้กล่าวว่า ชื่อของเจิ้งเหอมีความหมายสอดคล้องกับการสำรวจ การรู้จักประดิษฐ์คิดค้นของมนุษย์ รวมทั้งจิตวิญญาณแห่งมิตรภาพและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing, 2005, June 29 เน้นโดยผู้วิจัย) ขณะที่หลินจู๋อี่ (林祖乙) อนุกรรมการจัดงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า

"พวกเราเชื่อว่า ชื่อเสียงของเจิ้งเหอจะได้รับการเน้นย้ำมากขึ้นผ่านการตั้งชื่อให้กับเครื่องบินและการเดินทางไปทั่วโลกของเครื่องบิน การเดินทางของเครื่องบินดังกล่าวนี้จะนำความปรารถนาในมิตรภาพ สันติภาพ และการพัฒนาของพวกเราไปสู่โลกภายนอก ให้โลกได้รู้จักเจิ้งเหอ ประเทศจีน และโบอิ้งมากยิ่งขึ้น"
(Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing, 2005, June 29)

แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเบื้องหลังการตัดสินใจของบริษัทโบอิ้งที่ตั้งชื่อเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจิ้งเหอ” หากแต่เมื่อพิจารณาถึงสถานะของจีนที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทนี้ ก็ทำให้มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าเรื่องดังกล่าวมีลักษณะของการต่างตอบแทน นั่นคือ บริษัทโบอิ้งยอมตั้งชื่อเครื่องบินรุ่นนี้ว่า “เจิ้งเหอ” ขณะที่จีนก็ตกลงที่จะสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้งเพิ่มอีกชุดใหญ่ โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005 หรือหลังจากที่งานเปิดตัวเครื่องบินโบอิ้ง 777-200LR Worldliner และงานฉลอง 600 ปี การเดินเรือของเจิ้งเหอผ่านพ้นไปได้เพียงไม่กี่เดือน จีนได้ลงนามในสัญญาซื้อเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-700/800 จำนวน 70 ลำ รวมมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการสั่งซื้อเครื่องบินครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การบินของจีน (China signs biggest aircraft purchase agreement with Boeing, 2005, November 20) การทำข้อตกลงทางธุรกิจจึงเป็นหนึ่งในวิธีการที่จีนใช้เพื่อให้ “ทูตสันติภาพ” อย่างเจิ้งเหอเป็นที่รู้จักแก่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

เขียน ธีระวิทย์. (2549). จีนใหม่ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มติชน.

ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์. จับตาธุรกิจสายการบินในประเทศจีน. เอกสารของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2552, จาก http://www.boi.go.th/thai/ download/publication_boi_today/127/boitoday_may_7_07.pdf.

Boeing 777-200LR Worldliner debuts in Beijing. (2005, June 29). People’s Daily Online. Retrieved August 28, 2009, from http://english.peopledaily.com.cn/200506/ 29/print20050629_192972.html.

Cao Desheng. (2005, July 30). US$6b deal for 50 Boeing jets in sight. China Daily Online. Retrieved November 11, 2008, from http://www.chinadaily.com.cn/ english/doc/2005-07/30/content_464789_2.htm.

China signs biggest aircraft purchase agreement with Boeing. (2005, November 20). People’s Daily. Retrieved August 28, 2009, from http://english.peopledaily. com.cn/200511/20/eng20051120_222762.html.

Wright, Timothy. (1991). Civil aviation. In The Cambridge Encyclopedia of China (pp. 50-51). Cambridge: Cambridge University Press.

ไม่มีความคิดเห็น: