“ผู้นำของจีนตัดสินผู้อื่นในเชิงศีลธรรมบนฐานความเข้าใจที่พวกเขามีต่อลัทธิมากซ์
ลัทธิเลนิน และลัทธิเหมา
ความหมายของลัทธิสังคมนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปและถูกขยายตามกาลเวลา
เนื่องจากประเทศสังคมนิยมจำนวนมากไม่ได้แสดงบทบาทในแบบที่จีนคาดหวัง
และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โลกทัศน์แบบสังคมนิยมของจีนนั้นเต็มไปด้วยความเป็นปฏิปักษ์อย่างแรงกล้า”
สือจืออี๋ว์ ค.ศ. 1993[1]
ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1960 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 1980 นั้นเต็มไปด้วยความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต
โดยคิวบาได้แสดงจุดยืนเข้าข้างสหภาพโซเวียตอย่างชัดเจนจนทำให้จีนยุติความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคเมื่อ
ค.ศ. 1966 และถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างกันเมื่อสิ้นทศวรรษ
1960 แต่ความสัมพันธ์ก็กลับเลวร้ายลงอีกหลัง ค.ศ. 1972
เมื่อจีนหันไปสมานไมตรีกับสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของคิวบาเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียต
ทำให้ต้องรอจนกระทั่งถึง ค.ศ. 1982 เมื่อจีนในยุคปฏิรูปและเปิดประเทศได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและเริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต
การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับคิวบาจึงเกิดขึ้นได้อีกครั้งจนนำไปสู่การการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคใน
ค.ศ. 1988 และตามด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโลกสังคมนิยมช่วง
ค.ศ. 1989 – 1991 ที่ยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศหันมากระชับความสัมพันธ์เพื่อรักษาไว้ซึ่งระบอบการปกครองของตน
เส้นทางของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาสะท้อนให้เห็นบทบาทของสิ่งที่เรียกว่า
“อุดมการณ์ (ideology)” ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีนได้เป็นอย่างดี
โดย Levine แบ่งอุดมการณ์ในแง่นี้ออกเป็น 2 แบบ คือ อุดมการณ์แบบเป็นทางการ (formal ideology) และอุดมการณ์แบบไม่เป็นทางการ
(informal ideology) โดยอุดมการณ์แบบแรกนั้นหมายถึงลัทธิมากซ์-เลนิน
และความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งมิได้เป็นเพียงกรอบที่ผู้นำของจีนใช้ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น
แต่ยังเป็นเครื่องมือของผู้นำในการสร้างความชอบธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น
ส่วนอุดมการณ์แบบหลังนั้นหมายถึงมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ไม่ว่าจะเป็นค่านิยม ความชอบ อคติ การมีใจโน้มเอียงล่วงหน้า ความเคยชิน และประพจน์
(proposition) เกี่ยวกับความเป็นจริง ซึ่งทั้งหมดนี้กลายเป็นความเชื่อและความคาดหวังของผู้นำจีนที่แฝงอยู่ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่ว่าจีนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่และเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมมาแต่โบราณ
แต่ต่อมากลับถูกกระทำย่ำยีจากบรรดาประเทศมหาอำนาจ ทำให้ผู้นำของจีนคาดหวังให้ประเทศต่างๆ
จะปฏิบัติต่อจีนให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และยอมรับว่าจีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มีสถานะเป็นศูนย์กลาง
(central position) ในกิจการโลก รวมทั้งความเชื่อที่ว่าตนเองมีพันธกิจในการเป็นผู้นำเชิงศีลธรรม
(moral leadership) ต่อบรรดาประเทศโลกที่สามที่เคยถูกกดขี่จากเจ้าอาณานิคม[2]
อุดมการณ์แบบเป็นทางการอย่างลัทธิมากซ์-เลนิน
และความคิดเหมาเจ๋อตงนั้นมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจรัฐได้ใน
ค.ศ. 1949 แล้ว และยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีกเมื่อจีนเริ่มขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตในปลายทศวรรษ
1950 ทั้งนี้ Levine ได้เตือนไม่ให้เรามองความขัดแย้งดังกล่าวว่าเป็นเรื่องของดินแดน
อำนาจอธิปไตย และความมั่นคงเท่านั้น
เพราะแท้จริงแล้วความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก การที่เหมาเจ๋อตงประณามครุสชอฟว่าเป็น
“ลัทธิแก้” นั้นแสดงให้เห็นว่า จีนกำลังประกาศจุดยืนว่าตนเป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้องของลัทธิมากซ์-เลนิน
และเป็นผู้สืบทอดมรดกของการปฏิวัติต่อจากเลนินและสตาลินที่แท้จริง ซึ่งการประกาศจุดยืนดังกล่าวส่งผลกระทบต่อทั้งการเมืองภายในประเทศของจีนและการดำเนินความสัมพันธ์กับขบวนการสังคมนิยมทั่วโลก
Levine ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า การทำเช่นนี้ของเหมาเจ๋อตงเหมือนกับในยุคราชวงศ์ที่จักรพรรดิจีนต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ให้นิยามและปกป้องหลักปฏิบัติอันถูกต้องทางการเมืองที่เป็นสากล
(universalist political orthodoxy)[3][4]
ซึ่งเท่ากับเป็นอุดมการณ์แบบไม่เป็นทางการที่แฝงอยู่ในความคิดของผู้นำจีนนั่นเอง
อุดมการณ์ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในแง่ที่ว่า
หลังวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาใน ค.ศ. 1962 จีนพยายามใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเพื่อจูงใจให้คิวบาเห็นด้วยกับตนและประณามสหภาพโซเวียต
แต่คิวบากลับเรียกร้องให้จีนปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและยุติการแจกจ่ายสิ่งพิมพ์โฆษณาชวนเชื่อที่โจมตีสหภาพโซเวียตในคิวบา
จีนจึงมองว่าคิวบาไม่ได้แสดงจุดยืนที่ “ถูกต้อง” ในการปกป้องลัทธิมากซ์-เลนินในฐานะหลักปฏิบัติอันถูกต้องทางการเมืองที่เป็นสากล
และเมื่อถึงทศวรรษ 1970 ที่คิวบาประณามการสมานไมตรีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
รวมทั้งแสดงจุดยืนเป็นฝ่ายเดียวกับสหภาพโซเวียตทั้งในกรณีของแองโกลาและกัมพูชา
จีนก็ได้ให้คำอธิบายใหม่ผ่านทฤษฎีสามโลกว่าภารกิจเร่งด่วนเพื่อปกป้องลัทธิมากซ์-เลนินก็คือ
การสร้างแนวร่วมอย่างกว้างขวางที่สุดเพื่อต่อต้าน “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม”
ของสหภาพโซเวียต รวมทั้งสรุปด้วยว่าคิวบาคือหุ่นเชิดของลัทธิดังกล่าว ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นได้ว่า
ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับแนวทางที่ถูกต้องของลัทธิมากซ์-เลนินเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบา
เพราะแม้คิวบาจะมิได้เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของจีนในเชิงกายภาพ
แต่การแสดงจุดยืนที่ “ไม่ถูกต้อง” ทางอุดมการณ์ของคิวบาก็ถือว่าเพียงพอแล้วที่จะทำให้จีนยุติความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคลงไป
หลี่เค่อเฉียงพบฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 2016
แม้ว่าเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ
1980 จีนภายใต้การนำของเติ้งเสี่ยวผิงจะยุติการผูกขาดการตีความอุดมการณ์มากซ์-เลนิน
ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต และฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคกับคิวบา
แต่อุดมการณ์ก็ยังคงมีบทบาทในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาอยู่ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการล่มสลายของระบอบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียต
เพราะจีนและคิวบาเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจและยังคงยืนยันความเชื่อเกี่ยวกับชัยชนะของลัทธิสังคมนิยมที่รออยู่เบื้องหน้า
ดังนั้น แม้ว่าตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ความสำคัญทางเศรษฐกิจของคิวบาที่มีต่อจีนจะลดลงไปมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
ในลาตินอเมริกา แต่จีนก็ยังคงเน้นย้ำความสำคัญของคิวบาในฐานะสหายร่วมอุดมการณ์สังคมนิยม
ดังที่หลี่เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีของจีนกล่าวระหว่างเดินทางเยือนคิวบาในเดือนกันยายน
ค.ศ. 2016 ว่า ไม่ว่าสถานการณ์โลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความสัมพันธ์แบบสหายร่วมอุดมการณ์และภราดาระหว่างจีนกับคิวบาก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง[5]
และเมื่อฟิเดล คาสโตรถึงแก่อสัญกรรมในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกัน สีจิ้นผิง (Xi
Jinping) ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็แสดงความอาลัยโดยระบุว่า
ประชาชนจีนได้สูญเสียสหายร่วมอุดมการณ์ที่ใกล้ชิดและมิตรที่จริงใจ[6]
-------------------------------------------
[1] Chih-yu Shih, ibid., 37.
[2] Steven I. Levine, “Perception and Ideology in Chinese
Foreign Policy,” in Chinese Foreign Policy: Theory and Practice, eds.
Thomas W. Robinson and David Shambaugh (Oxford: Clarendon Press, 1994),
30-46.
[3] Ibid., 40.
[5] “Chinese Premier Li Keqiang visits Cuban
revolutionary leader Fidel Castro (2016/09/27),” available from http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/zxxx_662805/t1402102.shtml;
accessed 8 April 2017.
[6] “History, people to remember Castro: Chinese
president (2016/11/26),” available from http://news.xinhuanet.com/english/2016-11/26/c_135860659.htm;
accessed 8 April 2017.