วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 13 การกระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับคิวบาเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น)


            หลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับคิวบาผ่านไปไม่กี่เดือน การชุมนุมประท้วงเพื่อท้าทายอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินก็เริ่มขึ้นจนรัฐบาลจีนใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 ส่งผลให้หลายประเทศโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปตะวันตกประณามว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย เหตุการณ์นี้สั่นคลอนความมั่นคงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมใน ค.ศ. 1976 และยังเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันกับที่ระบอบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตกำลังล่มสลาย เติ้งเสี่ยวผิงจึงมองว่าทั้งหมดเป็นแผนการของสหรัฐฯ ในการบ่อนทำลายระบอบสังคมนิยมโดยไม่ทำสงครามโดยตรง หรือที่เรียกว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” (peaceful evolution)”[1] ดังที่เขากล่าวกับจูลิอุส คัมบาราจ นายเรเร (Julius Kambarage Nyerere) อดีตประธานาธิบดีของแทนซาเนียซึ่งเดินทางมาเยือนจีนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 ความว่า

 

ประเทศโลกตะวันตกกำลังก่อสงครามโลกครั้งที่สามโดยไม่มีควันปืน หมายความว่าพวกเขาต้องการให้ประเทศสังคมนิยมแปรเปลี่ยนไปเป็นทุนนิยมอย่างสันติ เหตุการณ์ในยุโรปตะวันออกไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของเรา ... ประเทศโลกตะวันตกก็มีทัศนะต่อจีนเช่นเดียวกับที่มีต่อยุโรปตะวันออก พวกเขาไม่ชอบที่จีนยึดมั่นในลัทธิสังคมนิยม ความวุ่นวายของจีนในปีนี้จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว[2]  

 

            การล่มสลายของระบอบสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกและสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1989 – 1991 ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของคิวบาเช่นเดียวกัน จอร์จ บุช (George Bush) ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นเชื่อมั่นว่าระบอบสังคมนิยมในคิวบาก็กำลังจะพังทลายลงตามกัน และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่สหรัฐฯ จะต้องเจรจาลดความตึงเครียดกับคิวบาเหมือนที่เคยพยายามทำมาแล้วในสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ทั้งนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ 1990 เจมส์ เบเกอร์ (James Baker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่รุกรานคิวบา  และในกลางปีถัดมา เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ก็ออกมาแสดงความเห็นในที่สาธารณะว่า รัฐบาลอเมริกันควรเตรียมแผนสำหรับ “การแทรกแซงเพื่อมนุษยธรรมหากเกิดความไม่สงบในคิวบา ต่อมาใน ค.ศ. 1992 สหรัฐฯ ได้ออก รัฐบัญญัติประชาธิปไตยของคิวบา (Cuban Democracy Act) ซึ่งห้ามบริษัทลูกของสหรัฐฯ ในต่างประเทศค้าขายกับคิวบา และเรือสินค้าที่เข้าจอดในคิวบาแล้วจะต้องเว้นระยะ 6 เดือนจึงเข้าจอดในสหรัฐฯ ได้ และให้ทำเช่นนี้ไปจนกว่าคิวบาจะมีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี[3]

                             เจียงเจ๋อหมินเดินทางเยือนคิวบาใน ค.ศ. 1993



            ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ จีนกับคิวบาในปลายทศวรรษ 1980 ต่อต้นทศวรรษ 1990 จึงกลายเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อปกป้องระบอบสังคมนิยมและการต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างชาติ โดยในระหว่างการเยือนกรุงฮาวานาของเฉียนฉีเชินเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1989 หรือไม่กี่วันหลังจากที่ทางการจีนใช้กำลังจัดการความไม่สงบในกรณีเทียนอันเหมิน ฟิเดล คาสโตรบอกกับเฉียนฉีเชินว่าคิวบาสนับสนุนการกระทำของจีน และเอกภาพของจีนถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากจีนตกอยู่ในสภาวะอนาธิปไตยอย่างที่ประเทศโลกตะวันตกคาดหวังแล้วก็จะกลายเป็นโศกนาฏกรรมของโลก[4] ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1993 จีนตอบแทนการสนับสนุนของฟิเดล คาสโตรด้วยการเยือนคิวบาของเจียงเจ๋อหมิน ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่เขาเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการนับจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของจีนที่เดินทางเยือนคิวบาอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นบุคคลระดับประมุขแห่งรัฐคนเดียวที่เดินทางเยือนคิวบาในปีนั้น ฟิเดล คาสโตรจึงให้ความสำคัญกับการมาเยือนของผู้นำจีนในครั้งนี้เป็นพิเศษด้วยการให้ประชาชนหลายหมื่นคนออกมายืนต้อนรับสองข้างทางจากสนามบินไปยังโรงแรมที่พัก ทั้งๆ คิวบาที่ได้เลิกการปฏิบัติเช่นนี้ไปแล้วเมื่อหมดยุคของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ เขายังได้มอบอิสริยาภรณ์แห่งรัฐชั้นสูงสุดของคิวบาแก่เจียงเจ๋อหมิน และฝากความระลึกถึงไปยังเติ้งเสี่ยวผิงอีกด้วย[5]

ในระหว่างการสนทนากับฟิเดล คาสโตร เจียงเจ๋อหมินให้ความเชื่อมั่นกับผู้นำคิวบาถึงหนทางข้างหน้าที่สดใสของลัทธิสังคมนิยม โดยให้เหตุผลว่า (1) ยังคงมีหลายประเทศในโลกที่ยังยึดมั่นในลัทธิดังกล่าว โดยเฉพาะจีนซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก (2) ในช่วงสงครามเย็น จีนไม่ได้แข่งขันด้านการทหารกับสหรัฐอเมริกา ดังนั้นจีนจึงไม่ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่แบบสหภาพโซเวียต (3) ประสบการณ์ของประชาชนจีนหลายรุ่นได้พิสูจน์แล้วว่ามีแต่ลัทธิสังคมนิยมเท่านั้นที่จะรักษาประเทศจีนไว้ได้ และ (4) ลัทธิสังคมนิยมมีอายุน้อยกว่าลัทธิทุนนิยมหลายร้อยปีและอยู่ในระหว่างการพัฒนาซึ่งมีการสะดุดบ้าง จึงไม่ควรด่วนสรุปได้ว่าลัทธิสังคมนิยมนั้นไม่มีอนาคต[6] ซึ่งเมื่อฟิเดล คาสโตรได้ฟังแล้วก็บอกว่า การคงอยู่ของลัทธิสังคมนิยมในจีนถือเป็นแรงบันดาลใจอย่างที่สุดแก่คิวบา[7] นอกจากนี้ เจียงเจ๋อหมินยังได้วิจารณ์ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะแทรกแซงระบอบการปกครองของประเทศอื่นด้วยว่า

 

ประเทศโลกตะวันตกบางประเทศชอบนำเอาค่านิยมเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน รวมทั้งรูปแบบการปกครองของตนมาบังคับใช้กับประเทศอื่นๆ ข้าพเจ้าคิดว่าโลกนี้มีความหลากหลาย ลักษณะสังคมของแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน ประเทศไหนจะเดินเส้นทางไหนนั้นขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละประเทศโดยพิจารณาอย่างรอบด้านทั้งจากประวัติศาสตร์ ประเพณี ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และระดับการศึกษา พวกเราพิจารณาจากสภาพของประเทศจีนแล้วจึงได้เลือกเส้นทางของลัทธิสังคมนิยม ประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ แต่เป็นสิ่งสัมพัทธ์[8]

 

            การเยือนคิวบาของผู้นำจีนครั้งสำคัญต่อจากเจียงเจ๋อหมินก็คือ การเยือนของหลี่เผิง นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1995 ทั้งนี้แม้เขาเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนเม็กซิโกและแวะมาพบฟิเดล คาสโตร ณ สนามบินกรุงฮาวานาเป็นเวลาเพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น แต่การมาเยือนของเขาก็มีความสำคัญเพราะเป็นผู้แทนของเจียงเจ๋อหมินในการเชิญฟิเดล คาสโตรให้ไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ[9] ในที่สุดฟิเดล คาสโตรก็เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในวันที่ 29 พฤศจิกายนของปีนั้น ถือการเยือนจีนของบุคคลระดับประธานาธิบดีของคิวบาครั้งแรกในรอบ 34 ปีนับจากออสวัลโด ดอร์ติคอส ทอร์เรโดเมื่อ ค.ศ. 1961 เจียงเจ๋อหมินขอบคุณคิวบาที่มีจุดยืนสนับสนุนจีนในปัญหาไต้หวัน ทิเบต และสิทธิมนุษยชน และจีนก็ขอสนับสนุนอย่างไม่เปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ของรัฐบาลและประชาชนคิวบาเพื่อพิทักษ์อธิปไตยและต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติ[10] ขณะที่ฟิเดล คาสโตรก็ให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนโดยกล่าวย้อนไปถึงคุณูปการที่คนเชื้อสายจีนมีต่อการต่อสู้เพื่อเอกราชของคิวบา รวมทั้งชื่นชมการต่อสู้ของชาวจีนในการต่อต้านการแทรกแซงจากต่างชาติมานานนับศตวรรษ และแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนจะประสบความสำเร็จด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและเป็นยักษ์ใหญ่ที่ผงาดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 21[11]

การเดินทางเยือนจีนอย่างเป็นทางการของฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 1995 ถือเป็นสัญลักษณ์ของการปิดฉากความขัดแย้งระหว่างจีนกับคิวบาที่เริ่มต้นตั้งแต่ยุคของเหมาเจ๋อตงในกลางทศวรรษ 1960 มาจนถึงยุคของเติ้งเสี่ยวผิงในทศวรรษ 1980 สิ่งที่ฝ่ายจีนทำได้ตามคำร้องขอของฝ่ายคิวบาก็คือการวางกำหนดการให้ฟิเดล คาสโตรไปวางพวงมาลาที่หอรำลึกถึงเหมาเจ๋อตง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งไม่ใช่กำหนดการปกติที่ผู้นำต่างชาติที่มาเยือนจีนทุกคนจะต้องปฏิบัติ[12] อันแสดงให้เห็นว่าฟิเดล คาสโตรต้องการแสดงความเคารพต่อเหมาเจ๋อตงและยุติความบาดหมางในอดีต  สำหรับเติ้งเสี่ยวผิงนั้นแม้จะยังมีชีวิตอยู่ แต่ฝ่ายจีนก็อธิบายให้ฝ่ายคิวบาเข้าใจว่าผู้นำอาวุโสคนนี้อยู่ในสภาพที่ไม่อาจต้อนรับแขกได้อีกแล้ว[13] อย่างไรก็ตาม เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1997 ฟิเดล คาสโตรก็ยกย่องว่าเขาคือผู้สร้างความเข้มแข็งให้กับลัทธิสังคมนิยมในจีน[14]

 

---------------------------------------------

[1] คำว่า “การแปรเปลี่ยนอย่างสันติ” เป็นคำที่จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ใช้เพื่อเสนอแนวคิดว่าประเทศโลกตะวันตกควรหาช่องทางเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดของเยาวชนในโลกสังคมนิยมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้ใน ค.ศ. 1989 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการรณรงค์เพื่อต่อต้านการแปรเปลี่ยนอย่างสันติโดยมีจุดเน้น 3 ด้าน ได้แก่ (1) การให้พรรคมีบทบาทชี้นำในกิจการทุกด้าน (2) การประณามประเทศโลกตะวันตกที่ต้องการบ่อนทำลายระบอบสังคมนิยมของจีน และ (3) การวิจารณ์ว่าปัญหาทางการเมืองและสังคมของจีนเกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบอาศัยกลไกตลาด ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงเห็นด้วยเฉพาะการรณรงค์ด้านที่ 1 และ 2 เท่านั้น และเมื่อถึง ค.ศ. 1990 เขาได้ใช้อิทธิพลของตนเองยุติการรณรงค์ด้านที่ 3 ลงไป ดูรายละเอียดใน Wei-Wei Zhang, Ideology and Economic Reform under Deng Xiaoping, 1978-1993 (London: Kegan Paul International, 1996), 175-183.
[2] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume III (1982-1992), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/03/18/we-must-adhere-to-socialism-and-prevent-peaceful-evolution-towards-capitalism/; accessed 31 March 2017.
[3] Gillian Gunn, Cuba in Transition: Options for U.S. Policy (New York: Twentieth Century Fund Press, 1993), 18-21.
[4] เฉียนฉีเชิน, เรื่องเดียวกัน,169.
[5] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 86-88, 95-96.
[6] เจียงเจ๋อหมิน, เจียงเจ๋อหมินเหวินเสวี่ยน ตี้อีเจวี้ยน (สรรนิพนธ์เจียงเจ๋อหมิน เล่ม 1) (เป่ยจิง: เหรินหมินชูป่านเส้อ, 2006), 336-337.
[7] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 90.
[8] เจียงเจ๋อหมิน, เรื่องเดียวกัน, 338.
[9] หลี่เผิง, เรื่องเดียวกัน.
[10] เฉินจิ่วฉาง, เรื่องเดียวกัน, 298.
[11] “Further Reportage on Castro’s Visit to China, December 6, 1995” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1995/19951206.html; accessed 1 April 2017.
[12] สวีอี้ชง, เรื่องเดียวกัน, 243-244.
[13] เพิ่งอ้าง, 244.
[14] William Ratliff and Roger Fontaine, A Strategic Flip-flop on the Caribbean: Lift the Embargo on Cuba (Stanford, CA: Hoover Institution on War, Revolution and Peace, 2000), 54.

วันพุธที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 12 การฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคระหว่างจีนกับคิวบาใน ค.ศ. 1988)


บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาในช่วง ค.ศ. 1982 - 1983 มีเค้าลางว่าดีขึ้นเนื่องจากทั้งคู่มีจุดยืนตรงกันใน 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของลาตินอเมริกา ประเด็นแรกคือปัญหาหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งสหราชอาณาจักรฯ ยึดครองมาตั้งแต่ ค.ศ. 1840 จนกระทั่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1982 อาร์เจนตินาก็ส่งทหารเข้ายึดครองหมู่เกาะแห่งนี้ ฟิเดล คาสโตรซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นมรดกจากลัทธิอาณานิคมได้ยื่นข้อเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่อาร์เจนตินา และยังใช้สถานะประธานขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในขณะนั้นระดมเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอีกด้วย[1]  ขณะที่จีนก็ไม่ประณามอาร์เจนตินา โดยเมื่อสหราชอาณาจักรฯ เสนอร่างมติต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1982 อันมีเนื้อหาเรียกร้องให้อาร์เจนตินาถอนทหารออกจากหมู่เกาะดังกล่าวในทันที จีนก็ใช้สิทธิ์งดออกเสียง โดยระบุว่าไม่อาจสนันสนุนร่างมติดังกล่าวได้เนื่องจากคำนึงถึงจุดยืนของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด[2]

ประเด็นที่สองซึ่งจีนและคิวบามีจุดยืนสอดคล้องกันคือ ปัญหานิการากัว ซึ่งตั้งแต่ ค.ศ. 1979 ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลซานดินิสตา (Sandinista) ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจและใน ค.ศ. 1982 ได้เริ่มให้การสนับสนุนกองกำลังต่อต้านซานดินิสตาที่ชื่อว่า คอนทรา (Contra) ทำให้ฟิเดล คาสโตรซึ่งสนับสนุนรัฐบาลซานดินิสตาได้ออกมาประณามสหรัฐฯ[3] เช่นเดียวกับผู้แทนของจีนที่กล่าวในการประชุมด่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติว่าด้วยปัญหานิการากัวในช่วงวันที่ 23-29 มีนาคม ค.ศ. 1983 ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากการแทรกแซงของอภิมหาอำนาจชาติหนึ่ง และขอเรียกร้องให้อภิมหาอำนาจดังกล่าวยุติการแทรกแซงและเคารพอำนาจอธิปไตยของนิการากัว[4]

อีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งจีนและคิวบาต่างเห็นพ้องต้องกันคือ ปัญหาเกรนาดา ซึ่งเกิดรัฐประหารซ้อนกัน 2 ครั้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1983 ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งทหารเข้าแทรกแซงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคมของปีนั้นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนอเมริกันราว 600 คนที่อาศัยในเกรนาดา ทั้งนี้ฟิเดล คาสโตรออกมาประณามสหรัฐฯ และตัดสินใจไม่อพยพเจ้าหน้าที่ของคิวบาในเกรนาดากลับประเทศ โดยให้เหตุผลว่าการอพยพหนีจะทำให้เกียรติภูมิของคิวบาเสื่อมเสีย[5] ขณะที่จีนก็ประณามและเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเกรนาดาในทันทีโดยระบุว่าควรให้ชาวเกรนาดาเป็นผู้ตัดสินใจแก้ปัญหาภายในประเทศของตนเอง[6]

                เฉียนฉีเชินสนทนากับฟิเดล คาสโตรใน ค.ศ. 1989


นอกจากปัญหาในลาตินอเมริกาที่กล่าวมาข้างต้นจะทำให้จีนกับคิวบามีจุดยืนร่วมกันแล้ว ทั้งจีนและคิวบาต่างมีความจำเป็นของตนเองที่จะต้องปรับปรุงความสัมพันธ์กับอีกฝ่าย เพราะใน ค.ศ. 1982 จีนประกาศใช้ “นโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ (independent foreign policy)” ซึ่งหนึ่งในจุดเน้นของนโยบายดังกล่าวคือการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ[7] หูเย่าปังระบุในรายงานต่อสมัชชาพรรคในปีนั้นว่า จีนสนับสนุนความร่วมมือใต้-ใต้ (South-South cooperation) หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา อันจะนำไปสู่การเกิดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ (new international economic order) ที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น[8] ซึ่ง He Li ตั้งข้อสังเกตว่า หากจีนต้องการขยายความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว การปรับปรุงความสัมพันธ์กับผู้นำที่มีอิทธิพลในขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างฟิเดล คาสโตรก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง[9] ขณะที่คิวบาในต้นทศวรรษ 1980 ก็เริ่มประสบกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหภาพโซเวียตขายน้ำมันแก่คิวบาในราคาที่สูงขึ้น แต่ซื้อน้ำตาลจากคิวบาในราคาที่ถูกลง ตัวเลขการขาดดุลการค้าระหว่างคิวบากับสหภาพโซเวียตและประเทศกลุ่มโคเมคอนเพิ่มสูงขึ้นจาก 196 ล้านเปโซใน ค.ศ. 1979 เป็น 833 ล้านเปโซใน ค.ศ. 1980 และเพิ่มเป็น 1,023 ล้านเปโซใน ค.ศ. 1981[10] ทั้งนี้สหภาพโซเวียตแก้ปัญหาด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่คิวบาเพื่อชดเชยการขาดดุลการค้า แต่ก็มีผลทำให้คิวบามีภาระหนี้มากยิ่งขึ้น[11] คิวบาจึงจำเป็นต้องขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดใหญ่อย่างจีนที่ใน ค.ศ. 1980 ยังคงคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.6 ของการค้าที่คิวบาทำกับต่างประเทศทั้งหมด[12]

            ด้วยเหตุที่คิวบามีความจำเป็นเร่งด่วนในการแสวงหาลู่ทางขยายการค้ากับประเทศนอกกลุ่มโคเมคอนนี้เอง การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาจึงเกิดขึ้นโดยที่คิวบาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน โดยในวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1983 ริคาร์โด คาบริซาส (Ricardo Cabrisas) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศของคิวบาเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ซึ่งถือเป็นการเยือนระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับจากการเยือนของเช เกวาราเมื่อต้น ค.ศ. 1965 และยังเป็นการเยือนในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เลโอนิด อิลยิเชฟ (Leonid Illychev) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพโซเวียตเดินทางมาเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีน ต่อมาในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1984 จูฉี่เจิน (Zhu Qizhen) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เดินทางเยือนคิวบา โดยโฆษกกระทรวงดังกล่าวระบุว่าเป็นการเดินทางไปเยี่ยมสถานทูตจีนในกรุงฮาวานาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของคิวบา[13] และในเดือนพฤษภาคมของปีถัดมา เปเลกริน ทอร์ราส (Pelegrin Torras) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคิวบาก็เดินทางเยือนหลายเมืองของจีน ทั้งกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ หนานจิง กว่างโจว และเซินเจิ้น

            แม้ว่าในกลางทศวรรษ 1980 จะมีการทำข้อตกลงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับคิวบา แต่จีนก็ไม่อาจทำตามคำร้องขอของคิวบาในประเด็นทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด ดังเช่นในระหว่างที่เจิงเทา กรรมการประจำสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนเดินทางเยือนคิวบาเมื่อวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1986 เขาได้ปฏิเสธคำร้องขอของคาร์ลอส ราฟาเอล โรดริเกซ รองนายกรัฐมนตรีของคิวบาที่เสนอให้จีนซื้อน้ำตาลจากคิวบาในราคาอุดหนุน (subsidized price) เฉกเช่นที่ประเทศกลุ่มโคเมคอนปฏิบัติกับคิวบา[14] อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1985 มาเป็นมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) ซึ่งมีนโยบายลดการสนับสนุนทางการทหารและเศรษฐกิจแก่บรรดาประเทศพันธมิตรทั้งหลายก็ทำให้คิวบาไม่มีทางเลือกอื่นนอกเสียจากต้องเดินหน้าปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนต่อไป และแม้ว่าสุนทรพจน์ของฟิเดล คาสโตรในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาครั้งที่ 3 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1986 จะยังคงตำหนิเรื่องที่จีนใช้กำลังกับเวียดนาม[15] แต่พอถึงวันที่ 25 กันยายนของปีเดียวกัน โรดริเกซก็บอกกับหวังจิ้น (Wang Jin) เอกอัครรัฐทูตจีนประจำกรุงฮาวานาว่า ปัญหาเวียดนามไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคิวบากับจีนอีกต่อไปแล้ว[16] และต่อมาในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสครั้งที่ 26 เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 ผู้แทนของคิวบาได้พบกับเหยียนหมิงฟู่ (Yan Mingfu) เลขานุการประจำสำนักเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเสนอขอฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคต่อพรรคกับจีน[17]

อย่างไรก็ตาม จีนมิได้ตอบรับและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคกับคิวบาทันทีในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1987 บันทึกของหลี่เป๋ยไห่ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่าต้องรอจนถึงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ทบวงจึงส่งเขาเดินทางไปคิวบาเพื่อเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์[18] แม้ว่าบันทึกดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงสาเหตุที่จีนทิ้งช่วงระยะเวลานานถึง 7 เดือน แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจีนต้องการให้มีความคืบหน้าอย่างสำคัญในการเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตเสียก่อนที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ในระดับพรรคกับคิวบา ทั้งนี้เงื่อนไขที่จีนยื่นต่อสหภาพโซเวียตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1982 ก็คือ สหภาพโซเวียตจะต้องขจัด “อุปสรรคสำคัญสามประการ (Three Obstacles)” อันได้แก่ การถอนทหารออกจากชายแดนจีน-โซเวียตและมองโกเลีย การถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน และการบีบให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา ซึ่งเมื่อถึงสิ้น ค.ศ. 1987 อุปสรรคสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ก็คือกัมพูชา โดยในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1988 โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงว่าเติ้งเสี่ยวผิงจะยอมพบปะกับกอร์บาชอฟต่อเมื่อเวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาแล้วเท่านั้น[19]

โอกาสที่ทำให้จีนยินยอมฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคกับคิวบานั้นมาถึงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1988 เมื่อเวียดนามประกาศว่าจะถอนทหารออกจากกัมพูชาทั้งหมดภายในต้น ค.ศ. 1990 ทำให้ในเดือนถัดมา หลี่เป๋ยไห่จึงเดินทางไปยังกรุงฮาวานาเพื่อเจรจาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคกับคิวบา และในที่สุดเมื่อกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 1988 หรือเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่การเจรจาระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตรอบสุดท้ายประสบความสำเร็จ ผู้แทนของทบวงวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาก็เดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในฐานะแขกของทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงเท่ากับฟื้นฟูความสัมพันธ์ระดับพรรคต่อพรรคอย่างเป็นทางการ ตามด้วยการเยือนจีนของอิสิโดโร มัลเมียร์กา (Isidoro Malmierca) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของคิวบาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1989 จากนั้นเฉียนฉีเชิน (Qian Qichen) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็เดินทางเยือนคิวบาเป็นการตอบแทนในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน ต่อมาใน ค.ศ. 1992 บทความของหยางไป่ปิง รองอธิบดีกรมลาตินอเมริกาแห่งทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เขียนขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งทบวงดังกล่าวก็ระบุว่า การที่จีนเคยตราหน้าฟิเดล คาสโตรว่าเป็นลัทธิแก้และเป็นลูกสมุนของสหภาพโซเวียตนั้นเป็นเรื่องที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง[20]

 

----------------------------------------------------

[1] Domínguez, ibid., 237.
[2] Beijing Review, 12 April 1982, 12.
[3] “Castro FAR Day Speech Criticizes U.S. Policy, December 11, 1982” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1982/19821211.html; accessed 26 March 2017.
[4] Beijing Review, 25 April 1983, 13-14.
[5] “Press Conference on Grenada, October 26, 1983” in Castro Speech Database http://lanic.utexas.edu/project/castro/db/1983/19831026.html; accessed 27 March 2017.
[6] Beijing Review, 7 November 1983, 9-10.
[7] Sanqiang Jian, Foreign Policy Restructuring as Adaptive Behavior: China’s Independent Foreign Policy 1982-1989 (New York: University Press of America, Inc, 1996), 219.
[8] Beijing Review, 13 September 1982, 32.
[9] He Li, ibid., 1991, 64. 
[10] Domínguez, ibid., 94-95.
[11] Ibid., 88-89.
[12] Carmelo Mesa-Lago, “The Economic Effects on Cuba of the Down fall of Socialism in the USSR and Eastern Europe,” in Cuba After the Cold War, ed. Carmelo Mesa-Lago (Pittsburgh, PA: University of Pittsburgh Press, 1993), 139.
[13] “Peking Tries an End Run and Woos Soviet Allies,” The New York Times, 5 August 1984, available from www.nytimes.com, accessed 6 December 2016.  
[14] ผังปิ่งอัน, เรื่องเดียวกัน, 57.
[15] Fernandez, ibid., 21.
[16] ผังปิ่งอัน, เรื่องเดียวกัน, 57.
[17] หวังเจียรุ่ย, เรื่องเดียวกัน, 137.
[18] หลี่เป๋ยไห่, เรื่องเดียวกัน.
[19] Home News Library of the Xinhua News Agency, China’s Foreign Relations: A Chronology of Events (1949-1988) (Beijing: Foreign Languages Press, 1989), 479.
[20] หยางไป่ปิง, เรื่องเดียวกัน, 183-184.

วันจันทร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2560

ปักกิ่งปะทะฮาวานา: ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับคิวบาช่วง ค.ศ. 1964 – 1995 (ตอนที่ 11 การปรับเปลี่ยนนโยบายวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการเริ่มต้นปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตในต้นทศวรรษ 1980)


ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตตลอดทศวรรษ 1960 และ 1970 ตั้งอยู่บนข้อกล่าวหาที่ฝ่ายแรกมีต่อฝ่ายหลังรวม 2 ข้อกล่าวหา ข้อกล่าวหาแรกมีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 นั่นคือ การระบุว่าสหภาพโซเวียตเป็น “ลัทธิแก้” เนื่องจากผู้นำโซเวียตตีความลัทธิมากซ์-เลนินเสียใหม่ว่าโลกสังคมนิยมกับโลกทุนนิยมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้  ซึ่งจีนไม่เห็นด้วยและเชื่อมั่นว่าตนเองเดินตามเส้นทางของลัทธิมากซ์-เลนินอย่างแท้จริง  และยิ่งเมื่อการเมืองจีนเริ่มมีลักษณะซ้ายจัดมากขึ้นในกลางทศวรรษ 1960 ทางการจีนก็ถึงกับเสนอว่าแนวคิดของเหมาเจ๋อตงนั้นถูกต้องตามสภาพความเป็นจริงและสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการปฏิวัติทั่วโลก[1] ส่วนข้อกล่าวหาที่สองนั้นเกิดขึ้นหลังการบุกเชโกสโลวะเกียของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1968 นั่นคือการระบุว่าสหภาพโซเวียตเป็น “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม” อันหมายถึง การอ้างตนว่าเป็นลัทธิสังคมนิยม แต่กลับมีพฤติกรรมเฉกเช่นลัทธิจักรวรรดินิยม[2]

อย่างไรก็ตาม หลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงใน ค.ศ. 1976 และการกลับสู่อำนาจของเติ้งเสี่ยวผิงในปีถัดมา ทางการจีนได้เริ่มแสดงท่าทียืดหยุ่นมากขึ้นในการตีความเกี่ยวกับอุดมการณ์ ดังที่ในช่วง ค.ศ. 1977 – 1978 เติ้งเสี่ยวผิงได้วิจารณ์แนวคิด “อะไรก็ตามสองประการ (The Two Whatevers)” ของฮว่ากั๋วเฟิง (Hua Guofeng) ผู้สืบทอดตำแหน่งประธานพรรคต่อจากเหมาเจ๋อตง อันหมายถึงการดำเนินการตามนโยบายและคำสั่งของเหมาเจ๋อตงอย่างเคร่งครัด[3] เขายังเสนอด้วยว่าแท้จริงแล้วแนวคิดของเหมาเจ๋อตงตั้งอยู่บนการ “แสวงหาความจริงจากข้อเท็จจริง (seek truth from facts)”[4] ทั้งหมดนี้ปูทางไปสู่การประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนท่าทีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ ดังที่เติ้งเสี่ยวผิงกล่าวกับคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 1980 ว่า

 

ในยามที่พรรคคอมมิวนิสต์หนึ่งแสดงความเห็นต่อการกระทำของพรรคภราดาในต่างประเทศ พรรคดังกล่าวมักตัดสินพรรคอื่นด้วยรูปแบบที่เข้มงวดและตายตัว ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นแล้วว่าการทำเช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องจิตสำนึกทางการเมืองของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น และการรวมพลังของชนชั้น แล้วเราจะเอารูปแบบที่ตายตัวไปปรับใช้กับความแตกต่างเหล่านี้ได้อย่างไร ... กล่าวโดยสรุปก็คือ เราจะต้องเคารพวิถีทางที่พรรคและประชาชนในต่างประเทศจัดการกับเรื่องของพวกเขา และควรปล่อยให้พวกเขาแสวงหาทางเดินของตนเองและแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไม่ควรจะมีพรรคใดทำตัวเป็นพรรคปิตาธิปไตยและออกคำสั่งแก่พรรคอื่นๆ[5]

 
                 เลโอนิด เบรชเนฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตช่วง ค.ศ. 1964-1982



อย่างไรก็ตาม เมื่อถึง ค.ศ. 1980 พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์ได้สำเร็จเฉพาะกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตเท่านั้น เช่น พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียใน ค.ศ. 1978[6] และขบวนการยูโรคอมมิวนิสต์ (Eurocommunism) ใน ค.ศ. 1980[7] เป็นต้น โดยที่ยังไม่ได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและประเทศสังคมนิยมที่ใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตซึ่งรวมถึงคิวบาแต่อย่างใด เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ยังตึงเครียดกันอยู่ในกรณีเวียดนามยึดครองกัมพูชาและสหภาพโซเวียตยึดครองอัฟกานิสถานซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าแม้ในต้น ค.ศ. 1979 พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะแจกจ่ายเอกสารไปยังเจ้าหน้าที่ของพรรคโดยระบุว่าสหภาพโซเวียตนั้นไม่ใช่ “ลัทธิแก้” อีกต่อไปแล้ว แต่เอกสารดังกล่าวก็ยังคงระบุถึงภัยคุกคามที่เกิดจาก “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม” หรือ “ลัทธิครองความเป็นใหญ่” ของสหภาพโซเวียต[8]

ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตมาเริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อมิคาอิล ซุสลอฟ (Mikhail Suslov) รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและนักทฤษฎีคนสำคัญที่โต้เถียงกับจีนมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนมกราคม ค.ศ. 1982 ประกอบกับปัญหาทางเศรษฐกิจภายในประเทศและความอ่อนล้าทางการทหารได้ทำให้สหภาพโซเวียตเริ่มมีท่าทีประนีประนอมกับจีนมากขึ้น โดยในเดือนมีนาคมของปีนั้น เลโอนิด เบรชเนฟ เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีได้กล่าวสุนทรพจน์แสดงความประสงค์จะเริ่มต้นเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง หลังจากที่หยุดชะงักไปเมื่อสิ้น ค.ศ. 1979 และนำไปสู่การเจรจาระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในช่วง ค.ศ. 1982 - 1983 รวมกันถึง 3 ครั้ง

ถึงแม้ว่าจีนกับสหภาพโซเวียตจะยังต้องใช้เวลาจนถึง ค.ศ. 1989 จึงจะปรับความสัมพันธ์กันจนเป็นปกติได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็กล่าวได้ว่าช่วงตั้งแต่ ค.ศ. 1982 เป็นต้นมา บรรยากาศของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตในมุมมองของจีนนั้นดีขึ้นมาก ดูได้จากรายงานที่หูเย่าปัง (Hu Yaobang) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 12 เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1982 ซึ่งระบุว่า ภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกนั้นเกิดจากการแข่งขันกันระหว่างอภิมหาอำนาจ[9] ต่างจากรายงานของฮว่ากั๋วเฟิงที่เสนอต่อที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 11 เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1977 ที่เน้นว่าสหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงกว่าสหรัฐอเมริกา[10] อีกทั้งคำว่า “ลัทธิแก้” และ “ลัทธิสังคมจักรวรรดินิยม” ซึ่งปรากฏในรัฐธรรมนูญของจีนฉบับ ค.ศ. 1975 และฉบับ ค.ศ. 1978 นั้นก็หายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งประกาศใช้ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1982 และในช่วงเวลาเดียวกัน ทางการจีนก็ไม่พูดถึง “ทฤษฎีสามโลก” ของเหมาเจ๋อตงที่เน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างแนวร่วมในการต่อต้านสหภาพโซเวียตอีกต่อไป[11] และแทนที่ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ (independent foreign policy)” ซึ่งมีจุดเน้น 4ด้าน ได้แก่ สันติภาพ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ และการรวมประเทศให้เป็นเอกภาพ[12]

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ การปรับเปลี่ยนนโยบายวิเทศสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและการเริ่มต้นปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตได้ทำให้จีนหลัง ค.ศ. 1982 ไม่จำเป็นต้องนำคิวบามาเป็นเป้าโจมตีทางศีลธรรมเพื่อต่อต้านสหภาพโซเวียตเหมือนที่เคยเป็นมา หรือที่ Dittmer กล่าวว่า “การเจรจาปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็นปกติระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตทำให้จีนไม่ต้องนำเรื่องการต่อต้านลัทธิครองความเป็นใหญ่มาเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการปรับปรุงความสัมพันธ์ให้เป็นปกติกับกับประเทศสังคมนิยมในโลกที่สามอีกต่อไป”[13] โดยในเดือนมกราคม ค.ศ. 1983 จีนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลเอ็มพีแอลเอของแองโกลาที่คิวบาให้การสนับสนุน จึงเท่ากับลดความตึงเครียดระหว่างจีนกับคิวบาลงไปอีก และปูทางไปสู่การเริ่มต้นปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายในปีนั้น

--------------------------------------------------------------

[1] Lin Biao, “Long Live the Victory of People’s War (September 3, 1965),” available from Lin Biao Reference Archive https://www.marxists.org/reference/archive/lin-biao/1965/09/peoples_war/index.htm; accessed 8 March 2017.
[2] Peking Review, 6 September 1968, 12.
[3] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume II (1975-1982), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/02/25/the-two-whatevers-do-not-accord-with-marxism/; accessed 26 March 2017.
[4] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume II (1975-1982), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/02/25/hold-high-the-banner-of-mao-zedong-thought-and-adhere-to-the-principle-of-seeking-truth-from-facts/; accessed 26 March 2017.
[5] Deng Xiaoping, Selected Works of Deng Xiaoping Volume II (1975-1982), available from https://dengxiaopingworks.wordpress.com/2013/02/25/an-important-principle-for-handling-relations-between-fraternal-parties/; accessed 25 March 2017.
[6] ดูรายละเอียดใน สิทธิพล เครือรัฐติกาล. รายงานการวิจัยเรื่อง จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต: อุดมการณ์และการสมานไมตรีในทศวรรษ 1970. กองทุนวิจัยวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557.
[7] ขบวนการยูโรคอมมิวนิสต์ก่อตัวขึ้นในอิตาลี ฝรั่งเศส และสเปนมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 โดยมุ่งสร้างลัทธิสังคมนิยมผ่านระบบการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งต่างจากลัทธิสังคมนิยมแบบสหภาพโซเวียตที่เน้นการใช้กำลังทำลายล้างลัทธิทุนนิยม และต่างจากประชาธิปไตยสังคมนิยม (social democracy) ที่มุ่งเอาข้อดีบางด้านของลัทธิสังคมนิยมมาปฏิรูปลัทธิทุนนิยม
[8] Dittmer, ibid., 37.
[9] Beijing Review, 13 September 1982, 31.
[10] Peking Review, 26 August 1977, 40.
[11] จีนไม่เคยประกาศยกเลิกทฤษฎีสามโลกอย่างเป็นทางการ แต่ต่อมาในหนังสือประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนฉบับทางการที่ตีพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของพรรคใน ค.ศ. 1991 นั้นยอมรับว่าบางส่วนของทฤษฎีนี้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ดูใน Hu Sheng (ed.), A Concise History of the Communist Party of China (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 694.
[12] Sanqiang Jian, Foreign Policy Restructuring as Adaptive Behavior: China’s Independent Foreign Policy 1982-1989 (New York: University Press of America, Inc, 1996), 219.
[13] Dittmer, ibid., 132.