วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 6 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียและแอฟริกา)


            ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียยังมีความเกี่ยวข้องกับการที่ทั้ง 2 ฝ่ายพยายามแสวงหาอิทธิพลในเอเชียและแอฟริกาอีกด้วย กล่าวคือ หลังอสัญกรรมของสตาลินใน ค.ศ. 1953 จีนได้เริ่มดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการอิงเข้าหาสหภาพโซเวียตมาเป็นการแสวงหามิตรไมตรีกับประเทศนอกค่ายสังคมนิยม ดังที่เหมาเจ๋อตงบอกกับผู้แทนของพรรคแรงงานอังกฤษที่มาเยือนจีนเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1954 ว่า โลกนี้นอกจากจะมี 2 ขั้วที่นำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแล้ว ยังมี “พื้นที่ตรงกลาง (intermediate zone)” ที่ประกอบไปด้วยประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางอุดมการณ์ ซึ่งจีนต้องการอยู่ร่วมกับประเทศเหล่านี้อย่างสันติ[1] นำไปสู่การที่จีนประกาศใช้หลักปัญจศีล (The Five Principles of Peaceful Coexistence) กับอินเดียและพม่าในปีเดียวกัน และใน ค.ศ. 1955 จีนได้เข้าร่วมประชุมกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกา ณ เมืองบันดุง (Bandung) ประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย


                      โจวเอินไหลกับเนห์รู ในการประชุมบันดุง ค.ศ. 1955
ภาพจาก http://content.time.com/time/magazine/article/0,9171,2123279,00.html



            ขณะเดียวกัน ยูโกสลาเวียก็สนใจประเทศในเอเชียและแอฟริกาเช่นเดียวกับจีน กล่าวคือ เดิมยูโกสลาเวียมองว่าประเทศที่ได้เอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่ยังคงดำเนินนโยบายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของอดีตเจ้าอาณานิคม แต่สงครามเกาหลีในต้นทศวรรษ 1950 ทำให้ยูโกสลาเวียเปลี่ยนมุมมองใหม่ โดยเฉพาะท่าทีของอินเดีย พม่า และอียิปต์ในเวทีองค์การสหประชาชาติต่อสงครามครั้งนั้นที่เป็นตัวของตัวเองและมิได้คล้อยตามประเทศโลกตะวันตกไปทั้งหมด[2] ติโตจึงเดินทางเยือนอินเดียและพม่าใน ค.ศ. 1954 ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีบทบาทสำคัญในการช่วยประสานงานกับจีนจนทำให้จีนกับยูโกสลาเวียสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตได้อย่างรวดเร็วในต้นปีถัดมา[3] และใน ค.ศ. 1956 ติโตก็เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ 3 ฝ่าย อันประกอบไปด้วย ชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) นายกรัฐมนตรีของอินเดีย  กาเมล อับเดล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ประธานาธิบดีของอียิปต์ และตัวเขา ณ เกาะไบรโอนี (Brioni) จนนำไปสู่การเกิดขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (The Non-Aligned Movement) ในเวลาต่อมา

            ความสนใจที่ตรงกันในการแสวงหามิตรไมตรีกับประเทศในเอเชียและแอฟริกาทำให้เมื่อจีนกับยูโกสลาเวียเกิดความขัดแย้งกันในปลายทศวรรษ 1950 จีนได้พยายามสกัดกั้นความเคลื่อนไหวทางการทูตของยูโกสลาเวีย[4] โดยเมื่อติโตเดินทางเยือนอินโดนีเซีย พม่า อินเดีย ซีลอน (ศรีลังกา) เอธิโอเปีย ซูดาน สหสาธารณรัฐอาหรับ (อียิปต์) และกรีซ รวม 8 ประเทศเป็นเวลาติดต่อกันตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1958 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1959 จีนได้ออกมากล่าวโจมตีว่า ติโตเป็นเครื่องมือของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกันและมิได้สนับสนุนผลประโยชน์ของชาวเอเชียและแอฟริกาอย่างแท้จริง ดังความตอนหนึ่งในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1959 ที่ระบุว่า

 

กลุ่มของติโตไม่ได้สนับสนุนประชาชนอินโดนีเซียในการต่อสู้ที่เป็นธรรมเพื่อปลดปล่อยอีเรียนตะวันตกเลย และแทนที่จะสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชแห่งชาติของชาวอาหรับ กลุ่มของเขากลับขอให้บรรดารัฐอาหรับคำนึงถึงผลประโยชน์ของโลกตะวันตกและดำเนินมาตรการที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนเรื่องการต่อสู้อย่างทรหดและเด็ดเดี่ยวของประชาชนแอลจีเรียเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาตินั้น กลุ่มของติโตถึงขั้นบอกว่าไม่ควรยื่นข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น ภายหลังชัยชนะของการปฏิวัติแห่งชาติของอิรัก กลุ่มของติโตร้องขออย่างเปิดเผยให้อิรัก ปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ชอบธรรมของโลกตะวันตกและหลีกเลี่ยง ความตึงเครียดในความสัมพันธ์กับโลกตะวันตก เมื่อประชาชนชาวอิรักที่กล้าหาญได้ยึดมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวในเอกราชและอธิปไตยของชาติ สิ่งพิมพ์ของยูโกสลาเวียกลับโจมตีอิรักอย่างร้ายกาจอยู่หลายครั้ง กลุ่มของติโตชื่นชมข้อตกลงไตรภาคีระหว่างอังกฤษ ตุรกี และกรีซ โดยคัดค้านความปรารถนาของประชาชนชาวไซปรัสที่ต้องการเอกราช กลุ่มของเขาระบุว่าข้อตกลงนี้เป็น ข้อเท็จจริงเชิงบวก[5]

 

            ฝ่ายติโตเองก็ได้ออกมาตอบโต้ความพยายามของจีนในการสกัดกั้นบทบาทของยูโกสลาเวีย โดยหลังเสร็จสิ้นภารกิจเยือน 8 ประเทศในครั้งนั้น เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1959 โดยระบุว่า ในระหว่างที่เขาเดินทางเยือนอินโดนีเซียตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1958 ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1959 โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีนได้ออกมาปลุกปั่นไม่ให้ประชาชนชาวอินโดนีเซียเชื่อในคำพูดของเขา เนื่องจากเป็นคำพูดของผู้รับใช้ลัทธิจักรวรรดินิยม[6] เรื่องดังกล่าวทำให้ในวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1959 รองอธิบดีกรมโซเวียตและยุโรปตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศของจีนได้เรียกอุปทูตยูโกสลาเวียประจำกรุงปักกิ่งมาพบเพื่อประท้วง โดยระบุว่าโจวเอินไหลไม่เคยแสดงความเห็นใดๆ ต่อเรื่องดังกล่าว และการกุเรื่องเช่นนี้แสดงว่าติโตมีจุดประสงค์บางอย่างแอบแฝงอยู่[7]

            เมื่อยูโกสลาเวียเป็นเจ้าภาพจัดประชุมขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดครั้งแรกที่กรุงเบลเกรดเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1961 แม้จีนจะแสดงความชื่นชมต่อการประชุมครั้งนี้ที่ประเทศส่วนใหญ่ยังคงต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและขอบคุณที่สนับสนุนข้อเรียกร้องของจีนที่ต้องการมีที่นั่งในองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวัน แต่จีนก็ยังคงโจมตีติโต โดยบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ค.ศ. 1961 ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

 

ผลการประชุมครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ของพวกที่แก้ต่างให้กับลัทธิจักรวรรดินิยมและสวมเสื้อคลุมอำพรางว่าตนเองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พวกเขาซึ่งไม่อาจหันเหกระแสหลักของการประชุมที่เน้นการต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยมและลัทธิล่าอาณานิคมได้เผยธาตุแท้ออกมา และติโตก็แสดงบทบาทเช่นนี้ชัดเจนในการประชุม[8]


---------------------------------------------


[1] Mao Zedong, On Diplomacy, 123.
[2] Alvin Z. Rubinstein, Yugoslavia and the Nonaligned World (Princeton, NJ: Princeton University Press, 1970), 33.
[3] โจวว่าน, “อวี่จงซูเจิงตั๋วตี้ซานซื้อเจี้ย: อีจิ่วอู่ปาเต้าอีจิ่วอู๋จิ่วเหนียนเถี่ยทัวเตอะย่าเฟยจือสิง (ร่วมแข่งขันกับจีนและโซเวียตในโลกที่สาม: การเดินทางเยือนเอเชียและแอฟริกาของติโตช่วง ค.ศ. 1958 – 1959),” ใน เหลิ่งจ้านกั๋วจี้สื่อเหยียนจิว  จิ่ว (วิจัยประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคสงครามเย็น เล่มเก้า), บรรณาธิการโดย หลี่ตานฮุ่ย (เป่ยจิง: ซื้อเจี้ยจือซื่อชูป่านเส้อ, 2010), 73, เชิงอรรถ 2. ทั้งนี้ พม่าเป็นประเทศนอกค่ายสังคมนิยมประเทศแรกที่ประกาศรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1949 ส่วนอินเดียเป็นประเทศนอกค่ายสังคมนิยมประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1950
[4] เพิ่งอ้าง, 71-106
[5] Peking Review, 24 March 1959, 11.
[6] Ibid., 12.
[7] Ibid., 12.
[8] Peking Review, 15 September 1961, 6.

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 5 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในบริบทของการเมืองภายในของจีน)


         ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียนอกจากจะมีนัยที่เกี่ยวข้องกับสหภาพโซเวียตแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในของจีนอีกด้วย ดังบันทึกของอู๋ซิ่วเฉวียน เอกอัครราชทูตประจำกรุงเบลเกรดคนแรกที่ระบุว่า ความถดถอยในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ทางชนชั้น (class struggle) ภายในประเทศจีน[1] สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการอย่างเฉินเจียน (Chen Jian) ที่ชี้ให้เห็นความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะขัเคลื่อน “การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง (continuous revolution)” ภายในประเทศของตนโดยใช้นโยบายต่างประเทศมาช่วย ดังความตอนหนึ่งว่า

 

เพื่อรักษาไว้ซึ่งแรงขับเคลื่อนของการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง เหมาจำเป็นต้องหาวิธีการปลุกระดมมวลชน และในกระบวนการหาวิธีการดังกล่าวนี้เองที่เหมาตระหนักว่า นโยบายต่างประเทศที่ปฏิวัตินั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่ง ... นโยบายต่างประเทศที่ปฏิวัตินั้นช่วยให้โครงการเปลี่ยนแปลงรัฐและสังคมทั้งหลายของเหมาทรงพลังจนกลายเป็นแนวทางระดับชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเอาชนะข้อกังวลจากท้องถิ่น ภูมิภาค หรือกลุ่มการเมืองได้ เมื่อเกิดความตึงเครียดระหว่างเหมากับสมาชิกคนอื่นๆ ของพรรค หรือระหว่างพรรคกับประชาชน นโยบายต่างประเทศที่ปฏิวัติก็เป็นวิถีทางที่มีประสิทธิผลและอาจเป็นวิถีทางเดียวที่ช่วยให้เหมาสามารถยกระดับอำนาจและสร้างความชอบธรรมให้กับการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องได้[2]

 

           ความตกต่ำของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียซึ่งเริ่มต้นในครึ่งหลังของทศวรรษ 1950 นั้นตรงกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในจีน 2 เหตุการณ์ เหตุการณ์แรกคือ ขบวนการแก้ไขความคิดให้ถูกต้องและต่อต้านฝ่ายขวา (The Rectification and anti-Rightist Movement) ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิของ ค.ศ. 1957 ไปจนถึงฤดูร้อนของ ค.ศ. 1958 โดยหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนระบุว่า มีผู้ถูกทางการตราหน้าว่าเป็นฝ่ายขวารวมกันถึง 550,000 ค[3] การประณามยูโกสลาเวียในช่วงเวลานั้นจึงช่วยให้ขบวนการดังกล่าวทรงพลังและมีความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น ดูได้จากคำกล่าวของเหมาเจ๋อตงต่อบรรดาเลขานุการของคณะกรรมการพรรคในมณฑลต่างๆ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1957 ซึ่งผูกโยงยูโกสลาเวีย โปแลนด์ และฮังการีเข้ากับชนชั้นเจ้าที่ดิน ชาวนารวย กระฎุมพี และบรรดาพรรคประชาธิปไตยในจีนซึ่งรอคอยโอกาสจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ความตอนหนึ่งว่า

 

จากการสำรวจในกรุงปักกิ่ง นักศึกษาส่วนใหญ่เป็นบุตรของเจ้าที่ดิน ชาวนารวย กระฎุมพี และชาวนากลางที่มีอันจะกิน ขณะที่นักศึกษาจากครอบครัวของกรรมกรและชาวนาจนนั้นมีไม่ถึงร้อยละ 20 นี่อาจเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ฉายภาพทั้งประเทศ สถานการณ์เช่นนี้จะต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก็ต้องอาศัยเวลา โกมูวกาเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักศึกษาของเรา ติโตและคาร์เดจก็เช่นกัน จริงอยู่ ตอนที่เกิดความไม่สงบในโปแลนด์และฮังการี เจ้าที่ดินกับชาวนาในชนบท รวมทั้งนายทุนและสมาชิกพรรคประชาธิปไตยต่างประพฤติตัวดีและไม่ออกมาสร้างปัญหาหรือออกมาขู่ฆ่าคนนับพันนับหมื่น แต่เราก็ควรวิเคราะห์ว่าทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น ก็เพราะพวกเขาไม่มีทุนทางการเมืองอีกต่อไปแล้ว กรรมกรกับชาวนาจนและชาวนากลางระดับล่างไม่ฟังพวกเขาอีกต่อไปแล้ว พวกเขาเลยไม่มีที่ยืน แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ถูกโจมตีด้วยระเบิดนิวเคลียร์ พวกเขาจะไม่เปลี่ยนไปหรือ? คุณอย่ามั่นใจนักว่าพวกเขาจะไม่เปลี่ยน เพราะท้ายที่สุดจะเกิดการรวมตัวกันของเจ้าที่ดิน ชาวนารวย กระฎุมพี และสมาชิกของพรรคประชาธิปไตยทั้งหลาย[4] (เน้นโดยผู้วิจัย)

 

            เหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นถัดมาก็คือ การประกาศนโยบายก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) ที่เริ่มในฤดูหนาวปลาย ค.ศ. 1957 ไปจนถึง ค.ศ. 1959 อันเป็นความพยายามของเหมาเจ๋อตงที่จะนำจีนไปสู่การเป็นประเทศสังคมนิยมที่ก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมโดยอาศัยการระดมมวลชนมาทำการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ซึ่งมีแกนนำระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า “มติเกี่ยวกับการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกรรมกรที่กรุงมอสโก”  ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 นอกจากจะเป็นการตอบโต้ถ้อยแถลงของยูโกสลาเวียในการประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนก่อนหน้านั้นแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนจากเหมาไปยังผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายก้าวกระโดดด้วยว่า  พวกเขาสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นพวกลัทธิแก้เหมือนติโต[5]

            แม้ว่านโยบายก้าวกระโดดของเหมาเจ๋อตงจะประสบความล้มเหลวจนเหมาต้องเปิดทางให้หลิวเส้าฉี โจวเอินไหล และเติ้งเสี่ยวผิงเข้ามารับหน้าที่ฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของประเทศในต้นทศวรรษ 1960 โดยอาศัยกลไกตลาดบางส่วน แต่เหมาก็มิได้ลดละที่จะรณรงค์เรื่องการปฏิวัติอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการฟื้นตัวของลัทธิทุนนิยม โดยใน ค.ศ. 1962 เหมาจัดให้มีขบวนการศึกษาสังคมนิยม (The Socialist Education Movement) และในปีถัดมาเหมาประกาศว่า ลัทธิแก้ได้ก่อตัวขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว[6] เอกสารของทางการจีนใน ค.ศ. 1964 ระบุชัดเจนว่า ระบอบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพได้กลายเป็นลัทธิแก้เนื่องจากความเสื่อมถอยของผู้นำพรรคและรัฐ โดยมีบทเรียนสำคัญคือกรณีของยูโกสลาเวีย จึงต้องมีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับจีน[7]


  เหมาเจ๋อตงต้อนรับการชุมนุมของพวกยามแดง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ค.ศ. 1966
  (ภาพจาก www.hugchina.com )


            การเมืองจีนเข้าสู่ยุคซ้ายจัดใน ค.ศ. 1966 เมื่อเหมาเจ๋อตงเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) บุคคลที่เคยเกี่ยวข้องกับยูโกสลาเวียถูกนำตัวมาสอบสวนเนื่องจากต้องสงสัยว่าเป็นผู้ที่สมคบคิดกับพวกลัทธิแก้ เช่น เผิงเจินและอู๋ซิ่วเฉวียนถูกสอบสวนในกรณีที่พบปะกับติโตเป็นการส่วนตัวเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1957 ทั้งๆ ที่การพบปะดังกล่าวได้รับอนุญาตจากโจวเอินไหล นายกรัฐมนตรี[8] อู๋ซิ่วเฉวียนยังถูกสอบสวนเพิ่มเติมเนื่องจากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงเบลเกรด เขาได้รับเชิญให้ไปล่าสัตว์กับติโตเป็นประจำทุกปี[9] และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1967 สถานทูตยูกสาเวียในกรุงปักกิ่งก็ตกเป็นเป้าโจมตีของพวกยามแดง (The Red Guards) ซึ่งศรัทธาในอุดมการณ์ปฏิวัติของเหมา[10] ต่อมาในเดือนเมษายนของปีเดียวกัน แบรนโก โบกูโนวิช (Branko Bogunovic) ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวยูโกสลาเวียประจำประเทศจีนก็ถูกทางการจีนเชิญออกนอกประเทศด้วยข้อหาบิดเบือนและโจมตีการปฏิวัติวัฒนธรรม[11]

--------------------------------------------------


[1] Wu Xiuquan, ibid., 125-126.
[2] Chen Jian, Mao’s China and the Cold War (Chapel Hill, NC: The University of North Carolina Press, 2001), 11-12.
[3] Hu Sheng, A Concise History of the Communist Party of China (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 528.
[4] Mao Zedong, “"Talks at a Conference of Secretaries of Provincial, Municipal, and Autonomous Region Party Committees, January 1957,” available from https://www.marxists.org/reference/archive/mao/selected-works/volume-5/mswv5_57.htm, accessed 5 October 2015.
[5] “General Introduction,” in Communist China 1955-1959: Policy Documents with Analysis, ibid.,19.
[6] Hu Sheng, ibid., 605.
[7] “On Krushchov’s Phoney Communism and Its Historical Lessons for the World,” ibid.
[8] Wu Xiuquan, ibid., 118-119.
[9] Ibid., 108.
[10] A. Ross Johnson, ibid., 190.
[11] Peter Cheng, A Chronology of the People’s Republic of China from October 1, 1949 (Totowa, NJ: Littelfield, Adams & Co., 1972), 250.

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 4 ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียในบริบทของความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต)


        ข้อที่น่าสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียที่มาถึงจุดแตกหักในการประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเมื่อ ค.ศ. 1958 ก็คือ แม้ยูโกสลาเวียจะแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ยอมรับการเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตในขบวนการสังคมนิยมโลก แต่จีนกลับเป็นฝ่ายมีท่าที “ต่อต้านลัทธิแก้” (anti-revisionist) ของติโตมากกว่าสหภาพโซเวียตเสียอีก[1] กล่าวคือ แม้สหภาพโซเวียตจะประณามติโตว่าเป็นพวกนอกคอก แต่ก็ยังรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตเอาไว้ในระดับปกติ ต่างจากจีนที่ลดความสัมพันธ์ลงเหลือแค่ระดับอุปทูต ท่าทีที่ดุดันของจีนเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ มุมมองของจีนที่มีต่อบทบาทของตนเองในค่ายสังคมนิยม และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่เปลี่ยนไปในทางลบ


                             ครุสชอฟกับเหมาเจ๋อตง ณ กรุงปักกิ่ง ค.ศ. 1959




            การปฏิวัติในจีนเมื่อ ค.ศ. 1949 เกิดจากความสามารถของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเหมาเจ๋อตงที่ทำสงครามต่อสู้กับญี่ปุ่นและพรรคกั๋วหมินตั่งเป็นเวลารวมกันเกือบ 2 ทศวรรษ โดยพึ่งพาสหภาพโซเวียตไม่มากนักถ้าเทียบกับรัฐสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกที่สถาปนาขึ้นโดยอำนาจทางการทหารของสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม เหมาในต้นทศวรรษ 1950 ยังคงต้องดำเนินนโยบายอิงเข้าหาสหภาพโซเวียตด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือ สหภาพโซเวียตเป็นเกราะกำบังทางการเมืองและความมั่นคงของจีนในบริบทของสงครามเย็นที่ต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา และประการถัดมาคือ สถานะอันสูงส่งของสตาลินในฐานะศูนย์กลางแห่งความชอบธรรมของการปฏิวัติโลก[2] แต่หลังจากที่สตาลินถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1953 และครุสชอฟซึ่งสืบทอดอำนาจต่อมามิได้มีประสบการณ์การปฏิวัติที่โชกโชนดังเช่นสตาลิน เหมาซึ่งมั่นใจในประสบการณ์การปฏิวัติอันยาวนานของตนก็เริ่มแสดงท่าทีเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมทั้งยังมองว่าตนเองมีความชอบธรรมในการตัดสินความถูกผิดของขบวนการสังคมนิยมทั่วโลก จึงไม่แปลกที่ใน ค.ศ. 1958 จีนตราหน้าว่ายูโกสลาเวียเป็นลัทธิแก้ด้วยความดุดันมากกว่าสหภาพโซเวียต ดังที่มีนักวิชาการตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

อสัญกรรมของสตาลินทำให้เหมาสามารถรักษาความเป็นอิสระของจีนจากเครมลิน และถึงขั้นเป็นอิสระจากการครอบงำทางอุดมการณ์ในค่ายสังคมนิยมของมอสโกในขบวนการปฏิวัติคอมมิวนิสต์โลก มอสโกไม่ใช่พลังแห่งการปฏิวัติอีกต่อไปแล้ว เหมาต่างหากที่เป็นผู้สืบทอดประเพณีการปฏิวัติ ส่วนครุสชอฟนั้นเล่าเป็นใคร? ก็แค่ข้ารัฐการของพรรคและหนึ่งในบรรดาผู้นำที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในการปฏิวัติหรือในการสถาปนารัฐใหม่ เหมามองว่าตนเองยืนอยู่สูงกว่าผู้นำโซเวียตในลำดับชั้นของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์สากล ครุสชอฟเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วเคยระบายความรู้สึกโมโหลงในเทปบันทึกเสียงว่า “เหมามองตัวเองเป็นพระเจ้า คาร์ล มากซ์กับเลนินตายไปหมดแล้ว เหมามองว่าในโลกนี้มีใครอีกแล้วที่เทียบเท่ากับตน”[3]

 

            นอกจากนี้ เหมาเจ๋อตงยังมองการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียตสมัยครุสชอฟด้วยความกังวลใจ โดยเฉพาะข้อเสนอของครุสชอฟต่อสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1955 ที่จะทำข้อตกลงห้ามการทดลองนิวเคลียร์ (nuclear test ban) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับโลกทุนนิยม (peaceful coexistence) ที่ประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1956 ดังนั้น มติของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1958 ซึ่งประณามยูโกสลาเวียและเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกร่วมมือกันต่อสู้กับลัทธิแก้จึงเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณทางอ้อมให้ครุสชอฟยุตินโยบายดังกล่าว[4] แต่คำเตือนของเหมาก็ไม่เป็นผล และนโยบายดังกล่าวของครุสชอฟก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเสื่อมลงจนกลายเป็นศัตรูกันอย่างเปิดเผยเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1960 โดยจีนได้ตราหน้าครุสชอฟว่าเป็นพวกลัทธิแก้เฉกเช่นติโต

            ในต้นทศวรรษ 1960 ยูโกสลาเวียกับสหภาพโซเวียตได้กลับมาสมานไมตรีกันอีกครั้ง เลโอนิด เบรชเนฟ (Leonid Brezhnev) ประธานาธิบดีแห่งสหภาพโซเวียตเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดในเดือนกันยายน ค.ศ. 1962 และติโตก็เดินทางเยือนกรุงมอสโกในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน ซึ่งทำให้จีนไม่พอใจและประณามยูโกสลาเวียมากยิ่งขึ้น โดยเมื่อยูโกสลาเวียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 1963 หนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) และนิตยสาร ปักกิ่งปริทัศน์รายสัปดาห์ (เป่ยจิงโจวเป้า) ได้ตีพิมพ์บทความที่ชี้ให้เห็นว่า ยูโกสลาเวียกำลังพัฒนาเศรษฐกิจไปในเส้นทางสายทุนนิยมและรับใช้ผลประโยชน์ของลัทธิจักรวรรดินิยมอเมริกัน[5] ต่อมาในวันที่ 26 กันยายนของปีเดียวกัน ฝ่ายบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) และนิตยสาร ธงแดง (หงฉี) ได้เผยแพร่บทความชื่อว่า “ยูโกสลาเวียคือประเทศสังคมนิยมหรือไม่?” โดยระบุว่ากลุ่มผู้นำของยูโกสลาเวียได้นำพาประเทศไปสู่การเป็นลัทธิแก้ โดยที่สหภาพโซเวียตเองก็เดินตามเส้นทางของยูโกสลาเวียไปด้วย[6]

            จะเห็นได้ว่า ความพยายามของจีนในการตัดสินความถูกผิดในโลกสังคมนิยมนั้นนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์กับทั้งยูโกสลาเวียและสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังทำให้ประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกต้องเลือกข้างว่าจะอยู่ข้างจีนหรือสหภาพโซเวียต เพราะในต้นทศวรรษ 1960 จีนประกาศชัดเจนว่าพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ จะต้องเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งระหว่างลัทธิมากซ์-เลนิน หรือลัทธิแก้ของยูโกสลาเวียซึ่งในขณะนั้นรวมเอาสหภาพโซเวียตเข้าไปด้วย[7] ในที่สุดประเทศในยุโรปตะวันออกส่วนใหญ่เลือกเข้าข้างสหภาพโซเวียต ยกเว้นแอลเบเนียที่หันมามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีน ทั้งนี้เป็นเพราะแอลเบเนียมีข้อพิพาทกับยูโกสลาเวียในเรื่องดินแดนโคโซโว (Kosovo) และไม่พอใจที่สหภาพโซเวียตสมานไมตรีกับยูโกสลาเวีย[8] วันปลดปล่อยแอลเบเนียซึ่งตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายนของทุกปีจึงกลายเป็นโอกาสที่ผู้นำจีนจะแสดงทัศนะของตนด้วยการส่งสาส์นไปอวยพร โดยมีเนื้อหาชื่นชมลัทธิสังคมนิยมของแอลเบเนียและประณามลัทธิแก้ของยูโกสลาเวียและสหภาพโซเวียต[9]


-----------------------------------------------------
[1] A. Ross Johnson, ibid., 189.
[2] Vladislav Zubok and Constantine Pleshakov, Inside the Kremlin’s Cold War: From Stalin to Khrushchev (Cambridge, MA: Harvard University Press, 1996), 213-214.
[3] Ibid., 215.
[4] Roderick MacFarquhar, The Origins of the Cultural Revolution 2: The Great Leap Forward 1958-1960 (New York: Columbia University Press, 1983), 71-72;  Allan S. Whiting, “The Sino-Soviet Split,” in The Cambridge History of China Volume 14 The People’s Republic, Part I: The Emergence of Revolutionary China 1949-1965, eds. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank (New York: Cambridge University Press, 1987), 487-488.   
[5] Peking Review, 17 May 1963, 11-13.
[6] “Is Yugoslavia a Socialist Country?,” Comment on the Open Letter of the Central Committee of the CPSU (III) by the Editorial Departments of Renmin Ribao (People’s Daily) and Hongqi (Red Flag), 26 September 1963, available from https://www.marxists.org/history/international/comintern/sino-soviet-split/cpc/yugoslavia.htm, accessed 4 October 2015. 
[7] Roderick MacFarquhar, The Origins of the Cultural Revolution 3: The Coming of the Cataclysm 1961-1963 (New York: Columbia University Press, 1997), 349.
[8] ประทุมพร วัชรเสถียร, พฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปตะวันออก: ปัญหาและการวิเคราะห์ (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2527), 69-73, 181-184.
[9] Peking Review, 2 December 1966, 9-11, 27; Peking Review, 1 December, 1967, 6-7.

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2558

จีนกับยูโกสลาเวียสมัยติโต (ตอนที่ 3 วิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับยูโกสลาเวีย)


             วิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกเมื่อ ค.ศ. 1956 เกิดขึ้นในโปแลนด์และฮังการี กล่าวคือ ในเดือนมิถุนายนของปีนั้น กลุ่มกรรมกรแห่งเมืองพอซนาน (Poznan) ในโปแลนด์จำนวน 50,000 คนได้หยุดงานประท้วงเรียกร้องให้แก้ปัญหาขาดแคลนอาหารและให้มีการเลือกตั้งเสรี ภายใต้คำขวัญ “ขนมปังและเสรีภาพ” รวมทั้งให้รื้อฟื้นศาสนาจักรคาทอลิก[1] เมื่อการประท้วงขยายออกไปทั่วประเทศ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์จึงยอมผ่อนปรนโดยให้ฟวาดิสวาฟ โกมูวกา (Wladyslaw Gomulka) อดีตเลขาธิการพรรคที่ถูกปลดไปเมื่อ ค.ศ. 1948 กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง สหภาพโซเวียตซึ่งเกรงว่าตนจะเสียการควบคุมประเทศบริวารอย่างโปแลนด์จึงเตรียมใช้กำลังทหารเข้าจัดการ แต่ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็จบลงอย่างสันติเมื่อโกมูวกาให้คำมั่นกับครุสชอฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตว่า โปแลนด์ต้องการเพียงอิสระในการดำเนินนโยบายภายในประเทศ โดยที่ยังคงเป็นพันธมิตรร่วมค่ายสังคมนิยมที่นำโดยสหภาพโซเวียตอยู่ต่อไป[2]



                       การทำลายอนุสาวรีย์ของสตาลินในฮังการีเมื่อ ค.ศ. 1956
            (ภาพจาก http://adst.org/2013/10/the-hungarian-revolution-of-1956/ )


            ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน เกิดความไม่สงบขึ้นในฮังการี นักศึกษาและประชาชนนับหมื่นคนก่อการประท้วงในกรุงบูดาเปสต์ มีการเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีเลือกอิมเร นอจ (Imre Nagy) อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกปลดไปเมื่อปีก่อนให้กลับมาบริหารประเทศ รวมทั้งเรียกร้องให้ฟื้นคืนประชาธิปไตย ขับไล่กองทัพของสหภาพโซเวียตออกไป และทำลายอนุสาวรีย์ของสตาลิน ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีจึงยอมเปิดทางให้นอจกลับมาบริหารประเทศ และในวันที่ 1 พฤศจิกายนของปีนั้น นอจประกาศถอนฮังการีออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (The Warsaw Pact) ซึ่งเป็นองค์การพันธมิตรทางทหารที่สหภาพโซเวียตก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1955 ทำให้ในอีก 3 วันต่อมา สหภาพโซเวียตได้ยกกำลังทหารบุกฮังการีและปลดนอจออกจากตำแหน่ง มีประชาชนเสียชีวิตราว 2,000 คน บาดเจ็บและถูกจับกุมอีกนับหมื่นคน[3]    

            สำหรับท่าทีของจีนต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในยุโรปตะวันออกนั้น จีนแสดงจุดยืนสนับสนุนแนวทางการดำเนินนโยบายภายในประเทศที่เป็นอิสระของโกมูวกา เนื่องจากจีนเองก็ต้องการความเป็นอิสระระดับหนึ่งโดยที่ยังคงรักษาเอกภาพในค่ายสังคมนิยมเอาไว้[4] และมีความเป็นไปได้ว่า การเดินทางเยือนกรุงมอสโกของหลิวเส้าฉีและเติ้งเสี่ยวผิงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1956 เพื่อแสดงจุดยืนดังกล่าวต่อครุสชอฟนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้สหภาพโซเวียตยุติแผนการใช้กำลังกับโปแลนด์ แต่ในกรณีของฮังการี จีนเห็นว่าการประกาศถอนตัวออกจากองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเป็นการทำลายเอกภาพของค่ายสังคมนิยมอย่างชัดเจน จีนจึงสนับสนุนการใช้กำลังเข้าปราบปรามของสหภาพโซเวียต[5]

            สำหรับยูโกสลาเวีย แม้ติโตจะสนับสนุนการตัดสินใจของสหภาพโซเวียตทั้งในกรณีของโปแลนด์และฮังการี แต่ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1956 เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เมืองปูลา (Pula) โดยระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 2 ประเทศนี้มาจากอิทธิพลที่ครอบงำยุโรปตะวันออกของลัทธิสตาลิน (Stalinism) ที่เน้นลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) การปกครองโดยคนๆ เดียวซึ่งละเลยบทบาทและความต้องการของมวลชน สุนทรพจน์ดังกล่าวทำให้จีนเกรงว่าจะเป็นการทำลายเอกภาพของค่ายสังคมนิยม ในวันที่ 29 ธันวาคมของปีนั้น หนังสือพิมพ์ ประชาชนรายวัน (เหรินหมินรื่อเป้า) จึงได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการชื่อว่า “เพิ่มเติมว่าด้วยประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ของระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพเพื่อวิจารณ์ติโต โดยระบุว่า จริงอยู่ที่สตาลินเคยกระทำบางอย่างผิดพลาด แต่การที่ติโตนำเอาทุกเรื่องในทางลบไปเกี่ยวโยงกับสตาลินนั้นถือเป็นการสร้าง “ลัทธิแก้” ซึ่งนอกจากจะทำลายลัทธิมากซ์-เลนินแล้ว ยังเป็นการเสริมแรงให้กับลัทธิจักรวรรดินิยมอีกด้วย[6] แต่กระนั้น บทบรรณาธิการดังกล่าวก็เน้นย้ำว่านี่คือ “คำชี้แนะแบบพี่น้อง”[7] และความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียยังดำเนินไปตามปกติ ดูได้จากการเดินทางเยือนกรุงเบลเกรดของเผิงเจิน (Peng Zhen) ในฐานะผู้แทนของคณะกรรมการประจำแห่งสภาประชาชนแห่งชาติ (The National People’s Congress) เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1957

            ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยูโกสลาเวียเลวร้ายลงอย่างเป็นรูปธรรมในปลาย ค.ศ. 1957 ต่อถึงต้น ค.ศ. 1958 กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1957 สหภาพโซเวียตได้เชิญผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จากประเทศต่างๆ มาประชุมที่กรุงมอสโกเนื่องในโอกาสครบ 40 ปีแห่งการปฏิวัติบอลเชวิกส์ และผู้แทนเหล่านั้นได้ลงนามใน “คำประกาศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (The Declaration of the Communist Parties)” ซึ่งมีเนื้อหายอมรับความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียตในขบวนการสังคมนิยมของโลก แต่ผู้แทนของยูโกสลาเวียกลับไม่ยอมลงนาม ต่อมาในต้น ค.ศ. 1958 เมื่อสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเตรียมจัดประชุมสมัชชาครั้งที่ 7 และได้เผยแพร่เอกสารการประชุมให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอื่นๆ อ่านล่วงหน้า หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าวก็คือ ยูโกสลาเวียถือว่าประเทศสังคมนิยมทั้งหลายมีสถานะเท่าเทียมกันและไม่ยอมรับความเป็นผู้นำของสหภาพโซเวียต ด้วยเหตุนี้ สหภาพโซเวียตจึงแจ้งแก่บรรดาประเทศสังคมนิยมทั้งหลายว่าไม่ให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุม โดยให้ส่งแต่ผู้สังเกตการณ์ไปเท่านั้น รวมทั้งไม่ให้มีการกล่าวแสดงความยินดีต่อสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียอีกด้วย ซึ่งจีนก็ปฏิบัติตามคำสั่งของสหภาพโซเวียต[8]  

            เมื่อมีการเปิดประชุมสมัชชาสันนิบาตคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียในวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1958 ที่เมืองลูบลิยานา (Ljubljana) ยูโกสลาเวียก็กล่าวโจมตีการที่สหภาพโซเวียตเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในของพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศอื่นอย่างรุนแรง ทำให้เอกอัครราชทูตจีน โซเวียต และประเทศในยุโรปตะวันออก (ยกเว้นโปแลนด์) พากันเดินออกจากห้องประชุม[9] ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคมของปีเดียวกัน สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออก “มติเกี่ยวกับการประชุมผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคกรรมการที่กรุงมอสโก” ซึ่งประณามยูโกสลาเวียว่าเป็นลัทธิแก้ที่ต้องการบ่อนทำลายขบวนการคอมมิวนิสต์สากล[10] และในเดือนนั้นเอง จีนเรียกเอกอัครราชทูตประจำกรุงเบลเกรดกลับประเทศและลดความสัมพันธ์ลงเหลือเพียงระดับอุปทูต  


--------------------------------------------------
[1] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อีกฟากหนึ่งของยุโรป: ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของยุโรปตะวันออก ค.ศ. 1800-2000 (กรุงเทพฯ: ศูนย์ยุโรปศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553), 301.
[2] เพิ่งอ้าง, 301-302.
[3] เพิ่งอ้าง, 308-309.
[4] Mercy A, Kuo, Contending with Contradictions: PRC Policy towards Soviet Eastern Europe with Special Reference to Poland, 1953-1960 (Ph.D. Dissertation, the University of Oxford, 1999), 115.   
[5] Kapur, ibid., 31.
[6] More On the Historical Experience of the Dictatorship of the Proletariat, editorial in People’s Daily, December 29, 1956,” in Communist China 1955-1959: Policy Documents with Analysis, ibid., 264-265.  
[7] Ibid., 265.
[8] Wu Xiuquan, ibid., 123.
[9] Ibid., 123-124.
[10] Resolution on the Moscow Meetings of Representatives of the Communist and Workers’ Parties, adopted May 23, 1958, by the Second Session of the Eighth Party Congress of the Chinese Communist Party, in Communist China 1955-1959: Policy Documents with Analysis, ibid., 410-416.