วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 19)


จีนกับการสืบทอดอำนาจทางการเมืองในเกาหลีเหนือจากคิมจองอิลสู่คิมจองอึน

 

            คิมจองอิลมีอายุครบ 60 ปีใน ค.ศ. 2002 เดิมผู้สังเกตการณ์เกาหลีเหนือวิเคราะห์ว่าคิมจองอิลน่าจะให้บุตรชายคนโตนามว่า คิมจองนาม (Kim Jong Nam เกิด ค.ศ. 1971) ซึ่งเกิดจากซงเฮริม (Song Hye Rim) เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง หากแต่จุดอ่อนของคิมจองนามก็คือการที่ซงเฮริมผู้เป็นมารดาเคยแต่งงานมาแล้วและไม่ได้รับการยอมรับจากคิมอิลซุงให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และเมื่อซงเฮริมเสียชีวิตใน ค.ศ. 2002 ทางการเกาหลีเหนือได้เริ่มสร้างลัทธิบูชาบุคคลให้กับโกยองฮี (Ko Young Hee) ภรรยาอีกคนหนึ่งของคิมจองอิล ทำให้มีการคาดหมายกันว่าผู้ที่จะสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไปน่าจะเป็นบุตรชายคนใดคนหนึ่งของนางซึ่งได้แก่ คิมจองโชล (Kim Jong Chol เกิด ค.ศ. 1981) และคิมจองอึน (Kim Jong Un เกิด ค.ศ. 1983)[1] อย่างไรก็ตาม เมื่อคิมจองอิลล้มป่วยด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตกในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2008 ก็ยังไม่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง

การล้มป่วยหนักของคิมจองอิลโดยที่ยังไม่มีการกำหนดทายาททางการเมืองอย่างชัดเจน รวมทั้งการยุตินโยบายตะวันฉายของเกาหลีใต้และวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ยังไม่คลี่คลายได้สร้างความกังวลใจให้กับจีนเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในเกาหลีเหนือและสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี จีนจึงมีปฏิกิริยาต่อการปล่อยดาวเทียมของเกาหลีเหนือในวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 2009 อย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มแรงกดดันเกาหลีเหนือ โดยเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้จัดการประชุมด่วนในบ่ายวันนั้น ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำองค์การสหประชาชาติที่เรียกร้องให้คณะมนตรีฯ “ดำเนินการร่วมกันอย่างแข็งขัน (strong collective action)” ต่อเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังได้ประสานงานกับสหราชอาณาจักรฯ และเกาหลีใต้ในการร่างมติลงโทษเกาหลีเหนือเอาไว้แล้ว[2] แต่จางเย่สุ้ย (Zhang Yesui) เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติก็ขอให้คณะมนตรีฯ มีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างระมัดระวังและในระดับที่เหมาะสม (cautious and proportionate)[3] ทำให้ในที่สุดคณะมนตรีฯ จึงออกแต่เพียงแถลงการณ์ของประธาน (presidential statement) ในวันที่ 13 เมษายนโดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือเคารพมติที่ 1718 และสนับสนุนให้ใช้การประชุมษัฏภาคีในการเจรจาแก้ไขปัญหา[4]

แม้ว่าจีนจะหันมากดดันเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้นหลังการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2009 โดยร่วมมือกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในมติที่ 1874 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนของปีนั้นเพื่อการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการงดซื้อขายอาวุธทุกชนิดกับเกาหลีเหนือ (ยกเว้นอาวุธเบา) การห้ามให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกาหลีเหนือ (ยกเว้นความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการพัฒนาในทางพลเรือน) แต่จีนยังคงจุดยืนเดิมที่ไม่สนับสนุนการใช้มาตรการทางทหารกับเกาหลีเหนือโดยระบุว่าอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ข้อกังวลด้านความมั่นคงที่มีเหตุผล และสิทธิในการพัฒนาของเกาหลีเหนือในฐานะประเทศเอกราชและสมาชิกองค์การสหประชาชาตินั้นเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพ และควรใช้การเจรจาเพื่อแก้ปัญหาอย่างสันติ[5] ต่อมาเมื่อเกาหลีเหนือทดลองยิงขีปนาวุธจำนวน  7 ลูกลงในทะเลญี่ปุ่นอีกในวันที่ 4 กรกฎาคมของปีเดียวกันซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐอเมริกา จีนก็ยังคงขอให้ทุกฝ่ายสงบนิ่งและมีความยับยั้งชั่งใจ[6] และในระหว่างการเยือนสหรัฐอเมริกาของสวีไฉโห้ว (Xu Caihou) รองประธานกรรมาธิการทหารแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อเดือนตุลาคมของปีนั้น โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ถือโอกาสหารือเกี่ยวกับมาตรการที่จะใช้ในการรับมือกับเกาหลีเหนือ แต่สวีไฉโห้วตอบแต่เพียงสั้นๆ ว่า “ขอบคุณสำหรับความเห็นของคุณเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ”[7]

ความพยายามของจีนที่จะลดแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือเพื่อประคับประคองสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีเอาไว้ให้มีเสถียรภาพมากที่สุดในยามที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจในกรุงเปียงยางนั้นเห็นได้ชัดอีกครั้งหลังการจมของเรือโชนัน (Cheonan) ของกองทัพเรือเกาหลีใต้ในทะเลเหลืองเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ค.ศ. 2010 ซึ่งมีลูกเรือเสียชีวิต 46 คน และคณะผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และสวีเดนได้เสนอรายงานการสืบสวนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมของปีนั้นโดยสรุปว่าเรือลำดังกล่าวถูกยิงโดยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ แต่หม่าจาวซวี่ (Ma Zhaoxu) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกลับระบุว่าเรื่องดังกล่าวมีความซับซ้อนและจีนก็ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง จีนจึงต้องรับฟังและประเมินข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน[8]




โจวหย่งคัง (คนที่สองจากขวา) กรรมการประจำกรมการเมืองของจีนเยือนกรุงเปียงยางเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2010


การสืบทอดอำนาจทางการเมืองในเกาหลีเหนือมีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อพรรคกรรมกรเกาหลีจัดประชุมสมัชชาพรรคครั้งแรกในรอบ 30 ปีในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 2010 โดยคิมจองอึน บุตรชายคนเล็กของคิมจองอิลได้รับการประดับยศเป็นนายพลและดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของพรรค ซึ่งเท่ากับว่าเขาคือว่าที่ผู้นำรุ่นต่อไป และเกาหลีเหนือก็ได้เชิญผู้นำระดับสูงของจีนให้ไปร่วมงานฉลอง 65 ปีของพรรคกรรมกรเกาหลีในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน ซึ่งจีนได้ส่งโจวหย่งคัง (Zhou Yongkang) กรรมการประจำกรมการเมืองและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์เดินทางไปร่วมงานโดยได้รับเกียรติให้ยืนติดกับคิมจองอิลในพิธีสวนสนาม[9] ซึ่งน่าจะเป็นครั้งแรกที่ผู้นำระดับสูงของจีนได้พบกับคิมจองอึน และด้วยเหตุที่จีนต้องการให้การสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือดำเนินไปอย่างราบรื่น จีนจึงละเว้นการกดดันเกาหลีเหนือที่ยิงถล่มเกาะยอนเปียง (Yeonpyeong) ของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนของปีนั้นจนมีผู้เสียชีวิต 4 คน โดยหงเหล่ย (Hong Lei) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แต่ออกมาแสดงความเสียใจต่อสูญเสียที่เกิดขึ้น และเมื่อนักข่าวถามว่าควรนำเรื่องนี้เข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือไม่ เขาก็ตอบแต่เพียงว่าเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ควรใช้การเจรจาพูดคุยกัน[10] ต่อมาในการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของเมิ่งเจี้ยนจู้ (Meng Jianzhu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ของจีนเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 เขาก็ได้แสดงความชื่นชมต่อการที่เกาหลีเหนือสามารถจัดการเรื่องผู้สืบทอดอำนาจได้สำเร็จ[11] ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับสถานะว่าที่ผู้นำของคิมจองอึนนั่นเอง
 
            ข้อที่น่าสังเกตก็คือ การส่งบุคคลอย่างโจวหย่งคังและเมิ่งเจี้ยนจู้ซึ่งดูแลกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ไปเยือนเกาหลีเหนือนั้นสะท้อนให้เห็นความกังวลลึกๆ ของจีนเกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือ ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นก็อาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพในเกาหลีเหนือและอาจมีผู้ลี้ภัยจากเกาหลีเหนือเข้ามาในจีนมากขึ้น ซึ่งการจัดการกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะผู้นำของจีนยังไม่รู้จักกับคิมจองอึนเป็นการส่วนตัวมากเพียงพอ แม้จะมีรายงานข่าวจากเกาหลีใต้ว่าคิมจองอึนเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งเพื่อทำความรู้จักกับผู้นำของจีนในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011[12] แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันการเดินทางดังกล่าวจากทั้งสื่อของจีนและสื่อของเกาหลีเหนือ และมีหลักฐานแต่เพียงว่าเขาเดินทางไปรับประทานอาหารเย็นพร้อมกับบิดา ณ สถานทูตจีนในกรุงเปียงยางเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2011[13] อย่างไรก็ตาม เมื่อคิมจองอิลวัย 69 ปีถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการหัวใจวายในวันที่ 17 ธันวาคมของปีเดียวกัน จีนซึ่งต้องการให้การสืบทอดอำนาจในเกาหลีเหนือเป็นไปอย่างราบรื่นก็รีบรับรองผู้นำคนใหม่อย่างคิมจองอึน โดยในวันที่ 19 ธันวาคมของปีนั้น หยางเจี๋ยฉือ (Yang Jiechi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้แสดงความเชื่อมั่นกับปักเมียงโฮ (Pak Myong Ho) อุปทูตเกาหลีเหนือประจำประเทศจีนว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิมจองอึนจะประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์สังคมนิยมและเกิดสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี[14]

 
----------------------------


[1] Seong – Chang Cheong, “A Study on North Korea’s Power Succession in Kim Jong Il’s Regime,” East Asian Review 17, no. 1 (Spring 2005): 24-25.
[2] “UN Security Council meets on DPRK rocket launch,” Xinhua News Agency, 6 April 2009, available from http://news.xinhuanet.com/english/2009-04/06/content_11136566.htm, accessed 1 May 2014.
[3] Ibid.
[4] “UN Security Council Statement on N. Korea,” Reuters, 14 April 2009, available from http://in.reuters.com/article/2009/04/13/korea-north-un-text-idINN1333144920090413, accessed 1 May 2014. 
[5] “Security Council, acting unanimously, condemns in strongest terms Democratic People’s Republic of Korea nuclear test, toughens sanctions,” UN News Centre, 12 June 2009, available from http://www.un.org/News/Press/docs//2009/sc9679.doc.htm, accessed 1 May 2014. 
[6] “China hope relevant sides of Korea nuke issue remain calm, restraint,” Xinhua News Agency, 5 July 2009, available from http://news.xinhuanet.com/english/2009-07/05/content_11655220.htm, accessed 1 May 2014.
[7] Robert. M. Gates, Duty: memoirs of a Secretary at war (New York, NY: Alfred A. Knof, 2014), 414.
[8] “Foreign Ministry Spokeperson Ma Zhaoxu’s Regular Press Conference on May 27, 2010,” Embassy of the People’s Republic of China in the Federal Republic of Germany, available from http://de.chineseembassy.org/det/fyrth/t705632.htm, accessed 31 May 2014.
[9] “Senior Chinese official observes DPRK grand parade,” Xinhua News Agency, 10 October 2010, available from http://www.china.org.cn/world/2010-10/10/content_21093037.htm, accessed 31 May 2014.
[10] “Hong Lei, China’s Response to the Yeonpyeong Island Incident, November 25, 2010,” University of Southern California’s US-China Institute, available from http://china.usc.edu/Default.aspx, accessed 31 May 2014.  
[11] Jeremy Laurence, “China openly backs North Korea succession plan – report,” Reuter, 15 February 2011, available from http://uk.reuters.com/article/2011/02/15/uk-korea-north-idUKTRE71E0J120110215, accessed 31 May 2014.
[12] “หานเหมยเชิงจินเจิ้งเอินซื่อเยว่เจียงตานตู่ฝ่างฮว๋า,” (สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าคิมจองอึนจะเดินทางเยือนจีนคนเดียวในเดือนเมษายน) ข่าวบีบีซี (ภาคภาษาจีน), สืบค้นจาก http://www.bbc.co.uk/zhongwen/simp/world/2011/03/110326_brief_nkorea_china_kim.shtml, เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2014.
[13] Peter M. Beck, “North Korea in 2011: The Next Kim Takes the Helm,” Asian Survey 52 (January/February 2012): 68.
[14] “China expresses condolences on Kim’s death,” China Daily, 19 December 2011, available from http://www.chinadaily.com.cn/china/2011-12/19/content_14288718.htm, accessed 31 May 2014.

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยุคหลังสงครามเย็น (ตอนที่ 18)


การลงทุน

            ในทศวรรษ 2000 จีนเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเกาหลีเหนือ โดยการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากหลัง ค.ศ. 2005 (ดูตารางที่ 13) ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยจากทั้งฝ่ายเกาหลีเหนือและฝ่ายจีน กล่าวคือ ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2002 ทางการเกาหลีเหนือได้ออก “มาตรการปรับปรุงการจัดการทางเศรษฐกิจ” (Economic Management Improvement Measures) ซึ่งเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ[1] ขณะที่ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 ทางการจีนได้ออก “นโยบายฟื้นฟูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” (Revive the Northeast) อันประกอบไปด้วยมณฑลเหลียวหนิง จี๋หลิน และเฮยหลงเจียงซึ่งเคยเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหนักและที่ตั้งของวิสาหกิจขนาดใหญ่ของรัฐซึ่งเคยเฟื่องฟูอย่างมากหลังการปฏิวัติ ค.ศ. 1949 แต่เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิรูปและเปิดประเทศในปลายทศวรรษ 1970 มณฑลเหล่านี้ก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับมณฑลชายฝั่งทะเล ดูได้จากสัดส่วนของมูลค่าสุทธิของผลผลิตด้านอุตสาหกรรม (Gross Value of Industrial Output – GVIO) ของภูมิภาคนี้เมื่อเทียบกับทั้งประเทศลดลงจากร้อยละ 16.5 ใน ค.ศ. 1978 เหลือเพียงร้อยละ 9.3 ใน ค.ศ. 2003[2] และหนึ่งวิธีการฟื้นฟูพลังทางเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนก็คือ การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมณฑลเหลียวหนิงและมณฑลจี๋หลินต่างมีพรมแดนติดต่อกับเกาหลีเหนือ โดยหลังจากที่หูจิ่นเทาเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 หวังเจียรุ่ย รัฐมนตรีทบวงวิเทศสัมพันธ์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกมาแถลงผลการเยือนในครั้งนั้นซึ่งมีความตอนหนึ่งระบุว่าจีนสนับสนุนการเข้าไปลงทุนในเกาหลีเหนือ และเกาหลีเหนือก็ยินดีต้อนรับการลงทุนดังกล่าว[3]

            ข้อที่น่าสังเกตเกี่ยวกับการลงทุนของจีนในเกาหลีเหนือมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ประการแรก วิสาหกิจของจีนที่เข้าไปลงทุนส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งกล้าเสี่ยงเข้าไปบุกเบิกตลาดใหม่ ขณะที่วิสาหกิจขนาดใหญ่ไม่สนใจเข้าไปลงทุนเนื่องจากมองไม่เห็นลู่ทางการเติบโตในเกาหลีเหนือ [4] ประการที่สอง การลงทุนส่วนใหญ่ของจีนในเกาหลีเหนือมุ่งไปที่การขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหล็ก ถ่านหิน ทอง ทองแดง เป็นต้น[5] และมีนักวิชาการมองว่าอาจเป็นอุปสรรคของเกาหลีเหนือในการหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ (resource dependency) ไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (export-oriented industrialization)[6] ประการที่สาม แม้จีนจะเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเกาหลีเหนือ แต่การลงทุนดังกล่าวก็คิดเป็นสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนโดยตรงทั้งหมดของจีนในต่างประเทศ ซึ่งจากตารางที่ 18 จะเห็นได้ว่าใน ค.ศ. 2008 ที่จีนเข้าไปลงทุนโดยตรงในเกาหลีเหนือเป็นจำนวน 41.23 ล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 93.7 ของการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในเกาหลีเหนือทั้งหมด แต่จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงร้อยละ 0.07 ของการลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศ ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเกาหลีเหนือต้องพึ่งพาการลงทุนจากจีนเป็นอย่างมาก แต่เกาหลีเหนือก็ไม่ใช่จุดหมายสำคัญของนักลงทุนจีนส่วนใหญ่แต่อย่างใด

 
                        สะพานข้ามแม่น้ำถูเหมิน มองจากฝั่งมณฑลจี๋หลินของจีน
 
 

การชักจูงให้เกาหลีเหนือปฏิรูปเศรษฐกิจ

            แม้ว่าในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือตั้งแต่ ค.ศ. 1999 เป็นต้นมา จีนจะแสดงความเคารพต่อเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะของเกาหลีเหนือ[7] แต่ผู้นำของจีนก็มิได้ลดละความพยายามที่จะให้เกาหลีเหนือหันมาดำเนินนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศตามแบบตนเพื่อเสถียรภาพในระยะยาว ดังเช่นในการเยือนจีนของคิมจองอิลเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 เขาได้ไปดูงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่มหานครเซี่ยงไฮ้โดยมีจูหรงจี นายกรัฐมนตรีของจีนเป็นผู้พาชมด้วยตนเอง ซึ่งคิมจองอิลได้กล่าวชื่นชมว่าเซี่ยงไฮ้เจริญก้าวหน้ากว่าเมื่อครั้งที่เขามาเยือนเมื่อ 18 ปีที่แล้วมาก[8] และต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. 2002 ทางการเกาหลีเหนือก็ได้ประกาศให้เมืองซินุยจู (Sinuiju) ซึ่งตั้งอยูริมฝั่งแม่น้ำยาลู่ตรงข้ามกับเมืองตานตงของจีนเป็นเขตบริหารพิเศษ (Special Administrative Region - SAR) เพื่อทดลองเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศโดยมีหยางปิน (Yang Bin) นักธุรกิจจีนสัญชาติเนเธอร์แลนด์เป็นผู้บริหารเขตดังกล่าว

            แม้การก่อตั้งเขตบริหารพิเศษของเกาหลีเหนือนั้นจะตรงกับความปรารถนาของจีนที่ต้องการให้เกาหลีเหนือปฏิรูปเศรษฐกิจ หากแต่การเลือกสถานที่อย่างเมืองซินุยจูซึ่งอยู่ตรงข้ามเมืองตานตงก็สร้างความกังวลให้กับจีน เนื่องจากในต้นทศวรรษ 2000 เศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจีนยังอยู่ในสภาวะซบเซา จีนจึงเกรงว่าการก่อตั้งเขตบริหารพิเศษของเกาหลีเหนือจะยิ่งดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติไปยังเมืองซินุยจูและซ้ำเติมปัญหาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าวของจีนมากยิ่งขึ้นไปอีก และจูหรงจีได้เคยแนะนำคิมจองอิลไปแล้วว่าเมืองแกซอง (Gaeseong) ซึ่งอยู่ติดกับเกาหลีใต้นั้นเหมาะสมจะเป็นเขตบริหารพิเศษมากกว่า[9]  ทำให้หลังจากก่อตั้งเขตบริหารพิเศษดังกล่าวได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ หยางปินก็ถูกเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพิทักษ์สันติราษฎร์ของจีนจับกุมตัวเมื่อต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 2002 ด้วข้อหาเลี่ยงภาษีและถูกศาลพิพากษาจำคุก 18 ปี และการพัฒนาเขตบริหารพิเศษซินุยจูของเกาหลีเหนือต้องหยุดชะงักลง

            อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือตลอดทศวรรษ 2000 ทำให้จีนหันมาในความสนใจพื้นที่บริเวณนี้อีกครั้ง โดยโครงการสำคัญซึ่งปรากฏขึ้นในปลายทศวรรษ 2000 ต่อต้นทศวรรษ 2010 ประกอบไปด้วยการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำยาลู่เพื่อเชื่อมเมืองตานตงเข้ากับเมืองซินุยจูเพิ่มอีก 1 สะพาน และการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าจากเมืองตานตงไปยังเมืองอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติที่มาจากเกาหลีเหนือ[10] ขณะที่ในเขตลุ่มแม่น้ำถูเหมิน เมื่อเกาหลีเหนือรื้อฟื้นเขตเศรษฐกิจและการค้าเสรีนาจิน-ซอนบองขึ้นมาใหม่ใน ค.ศ. 2010 โดยใช้ชื่อว่าเมืองพิเศษนาซอน (Rason Special City) จีนก็ได้เข้าไปช่วยสร้างถนนในเขตเมืองดังกล่าวโดยแลกกับการได้สิทธิขนส่งสินค้าเข้าและออกผ่านเมืองพิเศษนาซอนซึ่งเป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลญี่ปุ่น[11] หรือเท่ากับเป็นการหาทางออกทะเลให้กับมณฑลจี๋หลินและมณฑลเฮยหลงเจียงของจีนนั่นเอง  โครงการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจีนมีแนวโน้มที่จะรุกเร้าให้เกาหลีเหนือเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ

            จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเป็นไปในลักษณะที่เกาหลีเหนือต้องพึ่งพาจีนทั้งในด้านความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนมากกว่าที่จีนจะเป็นฝ่ายพึ่งพาเกาหลีเหนือ จึงถือเป็นเป็นการพึ่งพากันและกันแบบไม่สมดุล ลักษณะดังกล่าวน่าจะทำให้จีนมีอิทธิพลในการกำหนดพฤติกรรมของเกาหลีเหนือให้เป็นไปในทางที่จีนต้องการได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เกาหลีเหนือไม่ยอมล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์และยังคงแสดงพฤติกรรมที่แข็งกร้าวอยู่นั้นสะท้อนให้เห็นว่า แรงจูงใจทางเศรษฐกิจของจีนต่อเกาหลีเหนือนั้นสามารถกำหนดพฤติกรรมของเกาหลีเหนือได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เช่น การที่จีนสร้างโรงงานผลิตแก้วมูลค่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่เกาหลีเหนือเมื่อ ค.ศ. 2003 เพื่อแลกกับการที่เกาหลีเหนือยอมเข้าประชุมษัฏภาคีรอบที่ 2 เป็นต้น แต่ไม่อาจทำให้เกาหลีเหนือล้มเลิกโครงการนิวเคลียร์และพฤติกรรมที่แข็งกร้าวอย่างถาวรได้


---------------------
[1] Ibid., 22-23.
[2] Jae Ho Chung, Hongyi Lai and Jang-Hwan Joo, “Assessing the “Revive the Northeast” (zhenxing dongbei) Programme: Origins, Policies and Implementation,” The China Quarterly 197 (March 2009): 110.
[3] “จงเหลียนปู้จวี่สิงหูจิ่นเทาจ่งซูจี้ฝ่างเฉาเฉิงกั่วซินเหวินฟาปู้หุ้ย,” (ทบวงวิเทศสัมพันธ์จัดแถลงข่าวความสำเร็จในการเยือนเกาหลีเหนือของเลขาธิการหูจิ่นเทา) สำนักข่าวซินหัว, 30 ตุลาคม 2005, สืบค้นจาก http://news.xinhuanet.com/world/2005-10/30/content_3703660.htm, เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2013.  
[4] Jae Cheol Kim, “The Political Economy of Chinese Investment in North Korea: A Preliminary Assessment,” Asian Survey 46 (November/December 2006): 904.
[5] Nanto and Manyin, “China-North Korea Relations,” 24; Yoon and Lee, “From old comrades to new partnerships,” 17-18.
[6] Balázs Szalontai and Changyong Choi, “China’s Controversial Role in North Korea’s Economic Transformation: The Dilemmas of Dependency,” Asian Survey 55 (March/April 2013): 269-291.
[7] “President Jiang Zemin Revisits DPRK in 11 Years,” People’s Korea 168 (15 September 2001), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/168th_issue/2001091501.htm, accessed 21 April 2013.
[8] “Kim Jong Il Pays Unofficial Visit to China,” People’s Korea 154 (25 January 2001), available from http://www1.korea-np.co.jp/pk/154th_issue/2001012501.htm, accessed 10 April 2014.
[9] Yinhay Ahn, “North Korea in 2002: A Survival Game,” Asian Survey 43 (January/February 2003): 52.
[10] Yoon and Lee, “From old comrades to new partnerships,” 26-27.
[11] “DPRK allows China domestic trade cargo to ship via its port,” China Daily, 4 July 2011, available from http://www.chinadaily.com.cn/bizchina/2011-07/04/content_12831822.htm, accessed 29 May 2014.

ตารางที่ 12

ปริมาณการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือช่วง ค.ศ. 2000 – 2010

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
จีนนำเข้าจากเกาหลีเหนือ
จีนส่งออกไปเกาหลีเหนือ
มูลค่ารวม
ร้อยละของการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือต่อการค้ากับต่างประเทศของเกาหลีเหนือทั้งหมด
2000
37.2
450.8
488.0
20.4
2001
166.8
570.7
737.5
27.6
2002
270.7
467.3
738.0
25.4
2003
395.3
627.6
1022.9
32.8
2004
585.7
799.5
1385.2
39.0
2005
499.2
1081.2
1580.4
39.0
2006
467.7
1231.9
1699.6
39.1
2007
581.5
1392.5
1974.0
41.7
2008
754
2033.2
2787.2
49.5
2009
793
1887.7
2680.7
52.6
2010
1187.8
2277.8
3465.6
57.0

ที่มาของข้อมูล: กระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้, องค์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนของเกาหลีใต้ และสถาบันวิจัยฮุนได  อ้างถึงใน Seung-Hyun Yoon and Seung-Ook Lee, “From old comrades to new partnerships: dynamic development of economic relations between China and North Korea,” The Geographical Journal 179, no. 2 (March 2013): 22.

 


ตารางที่ 13

การลงทุนโดยตรงของจีนในเกาหลีเหนือช่วง ค.ศ. 2004 - 2008

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ค.ศ.
(1)
มูลค่าการลงทุนโดยตรงของจีนในเกาหลีเหนือ
(2)
มูลค่าการลงทุนโดยตรงของจีนในต่างประเทศ
 
สัดส่วนของ
(1) ต่อ (2)
(3)
มูลค่าการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในเกาหลีเหนือ
 
สัดส่วนของ
(1) ต่อ (3)
2004
14.13
5497.99
0.25%
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
2005
6.50
12261.17
0.05%
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
2006
11.06
17633.97
0.06%
105
10.5%
2007
18.40
26506.09
0.06%
67
21.5%
2008
41.23
55907.17
0.07%
44
93.7%

แหล่งที่มาของข้อมูล: Trevor Clark, “Lips and Teeth: Chinese – North Korean Trade and Foreign Direct Investment’s Impact,” in SAIS US – Korea Yearbook 2012 (n.p.: US – Korea Institute at SAIS, 2013): 54; 2010 Statistical Bullitin of China’s Outward Foreign Direct Investment, 82, available from http://images.mofcom.gov.cn/hzs/accessory/201109/1316069658609.pdf, accessed 29 May 2014.