วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น (ตอนที่ 4 จบ)


การก่อตัวของความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้


            เกาหลีใต้ในช่วง ค.ศ. 1961 – 1979 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของประธานาธิบดีปักจุงฮีถือได้ว่าประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยใน ค.ศ. 1965 ประชากรเกาหลีใต้กว่าร้อยละ 40 ยังอยู่ใต้เส้นความยากจน (poverty line) แต่เมื่อถึง ค.ศ. 1980 กลับลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 10 ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มจาก 100 เหรียญสหรัฐในต้นทศวรรษ 1960 ไปเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐเมื่อสิ้นทศวรรษถัดมา[1] ความสำเร็จดังกล่าวเป็นที่สนใจของผู้นำจีนอยู่ไม่น้อย โดยในการประชุมเพื่อปฏิรูประบบการค้ากับต่างประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1978 หลี่เซียนเนี่ยนซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีได้ตั้งคำถามว่า “เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันเป็นเพียงประเทศและเขตเล็กๆ แต่มูลค่าการนำเข้าและส่งออกของพวกเขาสูงกว่าเรามาก ทำไมพวกเราจึงแซงหน้าพวกเขาไม่ได้”[2] และในการประชุมปฏิบัติงานเพื่อเตรียมการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 3 ของสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายนถึงวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1978 ก็ได้มีการหารือเกี่ยวกับตัวแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ และหนึ่งในประเทศที่ถูกนำมาพิจารณาก็คือเกาหลีใต้[3]   

            นอกจากนี้ จีนยังเริ่มสนใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกาหลีใต้อีกด้วย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของประธานาธิบดีปักจุงฮีที่ต้องการสานสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมภายหลังการเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสันเมื่อ ค.ศ. 1972 หรือเท่ากับเป็นการยกเลิกหลักการฮอลสไตน์ (The Hallstein Doctrine) ในความสัมพันธ์กับต่างประเทศของเกาหลีใต้[4] การค้าทางอ้อมระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ผ่านฮ่องกงและญี่ปุ่นเริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1979 และเปลี่ยนเป็นการค้าทางตรงในอีก 2 ปีต่อมา และเมื่อถึง ค.ศ. 1985 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ก็แซงหน้ามูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือไปอย่างถาวร (ดูตารางที่ 1) โดยจีนส่งออกข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถ่านหิน สิ่งทอ และไหมไปยังเกาหลีใต้ ส่วนเกาหลีใต้ส่งออกสินค้าจำพวกเหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร และปุ๋ยเคมีไปยังจีน[5] และตลอดทศวรรษ 1980 จีนได้ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เคยเข้มงวดหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่นแต่เดิมจีนไม่เคยเรียกชื่ออย่างเป็นทางการของเกาหลีใต้ แต่เรียกว่า “ก๊กหุ่นเชิดปักจุงฮี” (The Park Chung Hee puppet clique) ด้วยถือว่ามีแต่รัฐบาลเปียงยางเท่านั้นที่เป็นรัฐบาลเกาหลีที่ชอบธรรม แต่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1983 เมื่อพลเรือนจีน 6 คนจี้เครื่องบินจากเมืองเสิ่นหยาง (Shenyang) ไปยังกรุงโซล จีนก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาหลีใต้เพื่อคลี่คลายปัญหา หรือที่เรียกกันว่า “การทูตจี้เครื่องบิน” (hijack diplomacy)และเอกสารของจีนในครั้งนั้นได้เรียกเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐเกาหลี”[6] และในปีถัดมาเมื่อนักกีฬาจากเกาหลีใต้มาร่วมแข่งขันเทนนิสที่เมืองคุนหมิง (Kunming) จีนก็อนุญาตให้มีการประดับธงชาติเกาหลีใต้[7] นอกจากนี้จีนยังได้กำหนดกติกาใหม่ด้วยว่า หากองค์การระหว่างประเทศใดที่จีนเป็นสมาชิกอยู่แล้วได้มอบหมายให้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมแบบพหุภาคี จีนก็สามารถส่งคนไปร่วมได้ และถ้าจีนเป็นเจ้าภาพในกรณีเดียวกัน เกาหลีใต้ก็สามารถส่งคนเดินทางมายังจีนได้เช่นกัน[8]
 
                               หยางซ่างคุนกับคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1988
 
 
            การก่อตัวของความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้เกิดขึ้นโดยได้รับความเห็นชอบจากเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำสูงสุดของจีนที่มองว่านอกจากจีนจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังเป็นประโยชน์ต่อการรวมชาติของจีนอีกด้วย เพราะในทศวรรษ 1980 เกาหลีใต้เป็น 1 ใน 2 ประเทศในทวีปเอเชียที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน (อีกประเทศหนึ่งคือซาอุดีอาระเบีย) แต่เติ้งก็เน้นย้ำว่าเรื่องดังกล่าวจะต้องดำเนินไปโดยคำนึงถึงความรู้สึกของเกาหลีเหนือ[9] ดังจะเห็นได้จากเมื่อเกิดกรณี “การทูตจี้เครื่องบิน” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ของทางการจีนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของทางการเกาหลีใต้ จีนได้ส่งอู๋เสวียเชียน (Wu Xueqian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปอธิบายต่อคิมอิลซุงว่าเรื่องนี้ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายเกาหลีเดียวของจีนแต่อย่างใด[10] และเมื่อจีนส่งนักกีฬาไปเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพเมื่อ ค.ศ. 1988 ประธานาธิบดีหยางซ่างคุนได้บอกกับคิมอิลซุงว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่นำไปสู่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีใต้[11] อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองโลกเมื่อสิ้นทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดความของขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต และการสิ้นสุดของสงครามเย็นได้ทำให้ในที่สุดแล้วจีนไม่อาจรักษานโยบายเกาหลีเดียวไว้ได้อีกต่อไป

---------------------------------------------------


                        [1] Don Oberdorfer, The Two Koreas: A Contemporary History (New York, NY: Basic Books, 1997), 37
                [2] Li Lanqing, Breaking Through: The Birth of China’s Opening-Up Policy, trans. Ling Yuan and Zhang Siying (Hong Kong: Oxford University Press and Foreign Language Teaching and Research Press, 2009), 358. 
                [3] Ibid., 217.
                [4] Ahn Byung-joon, “South Korea and the Communist Countries,” Asian Survey 20 (November 1980): 1102. หลักการดังกล่าวมาจากชื่อของวอลเตอร์ ฮอลสไตน์ (Walter Hallstein) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีตะวันตกที่ประกาศไว้เมื่อ ค.ศ. 1955 ว่าประเทศของเขาจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับทุกประเทศที่รับรองเยอรมนีตะวันออก (ยกเว้นสหภาพโซเวียต) ซึ่งเมื่อนำมาใช้ในกรณีนี้หมายถึงการที่เกาหลีใต้จะไม่มีความสัมพันธ์กับประเทศใดก็ตามที่รับรองเกาหลีเหนือ   
                [5] Lee, ibid., 147.
                [6] Ibid., 107.
                [7] Ibid., 109.
                [8] เฉียนฉีเชิน, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549), 216.
                [9] เพิ่งอ้าง, 217-218.
                [10] Lee, ibid., 107
                [11] Ibid., 113.  




ตารางที่ 1

มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้

ช่วง ค.ศ. 1983 – 1989

 

ค.ศ.
มูลค่าการค้ากับเกาหลีเหนือ
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
มูลค่าการค้ากับเกาหลีใต้
(ล้านเหรียญสหรัฐ)
1983
527.7
120
1984
498.2
434
1985
488.3
1,161
1986
509.3
1.289
1987
513.3
1,679
1988
579.0
3,087
1989
562.7
3,143

ที่มาของข้อมูล: Chae-Jin Lee, China and Korea: Dynamic Relations (Stanford, CA: Hoover Institution Press, 1996), 140, 146.
 
 
 

วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น (ตอนที่ 3)


ความบาดหมางระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และการกลับมากระชับความสัมพันธ์อย่างจำกัด


            ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือมาสะดุดลงในครึ่งหลังของทศวรรษ 1960 เริ่มจากการที่เกาหลีเหนือพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตหลังการสิ้นสุดอำนาจของครุสชอฟเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1964 โดยในเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น เกาหลีเหนือส่งคิมอิล (Kim Il) และคิมชางมาน (Kim Chang Man) เป็นผู้แทนไปร่วมงานฉลอง 47 ปีแห่งการปฏิวัติรัสเซีย ณ กรุงมอสโก ตามมาด้วยการเยือนเกาหลีเหนือของอะเลคเซย์ โคซีกิน (Alexsei Kosygin) นายกรัฐมนตรีของสหภาพโซเวียตในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดมา ซึ่งจีนมองดูด้วยความไม่สบายใจ และหลังจากการเยือนครั้งนั้นโคซีกินเสนอยุทธศาสตร์ช่วยเหลือแก่เวียดนามเหนือที่กำลังทำสงครามกับสหรัฐอเมริกาโดยจะส่งทหาร 4,000 คนไปยังเวียดนามเหนือผ่านแผ่นดินของจีน และจะขอใช้สนามบินทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเป็นฐานในการช่วยเหลือ แต่จีนไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวจนทำให้เกาหลีเหนือวิจารณ์ว่าจีนทอดทิ้งสหายร่วมอุดมการณ์อย่างเวียดนามเหนือ[1] ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือจึงเริ่มเลวร้ายลง ดูได้จากใน ค.ศ. 1965 ที่เกาหลีเหนือจัดงานฉลอง 20 ปีแห่งการปลดปล่อยเกาหลี สหภาพโซเวียตส่งอะเลคซานเดอร์ เอ็น เชเลปิน (Aleksandr N. Shelepin) กรรมการกรมการเมืองไปร่วมงาน แต่จีนส่งอู่ซินอวี้ (Wu Xinyu) ซึ่งเป็นเพียงรองเลขาธิการสภาผู้แทนประชาชนไปร่วมงาน[2]   

            ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือกับสหภาพโซเวียตทำให้เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม (The Cultural Revolution) ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1966 ยามพิทักษ์แดง (The Red Guards) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เชิดชูเหมาเจ๋อตงอย่างสุดโต่งได้ออกมาโจมตีว่าคิมอิลซุงเป็นพวกลัทธิแก้เฉกเช่นสหภาพโซเวียต และต่างฝ่ายต่างเรียกทูตของตนเองกลับประเทศ นักวิชาการและเจ้าหน้าที่ของจีนหลายคนที่เคยทำงานหรือศึกษาในเกาหลีเหนือถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับของเกาหลีเหนือ ชนชาติส่วนน้อยเกาหลีที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนจำนวนไม่น้อยพากันอพยพข้ามแม่น้ำยาลู่และแม่น้ำถูเหมินไปลี้ภัยในเกาหลีเหนือ และมีรายงานการปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนหลายครั้ง[3] อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมเริ่มแผ่วเบาลงใน ค.ศ. 1969 ประกอบกับการปะทะกันทางทหารบริเวณชายแดนจีน-โซเวียตในปีเดียวกัน จีนจึงเริ่มเห็นความจำเป็นที่จะต้องเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือโดยใช้งานฉลองวันชาติและวันครบรอบ 20 ปีแห่งการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนให้เป็นประโยชน์ เดิมทางการจีนมิได้เชิญแขกต่างชาติมาร่วมงานเลย หากแต่ในบ่ายของวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1969 จีนได้ออกคำเชิญอย่างเร่งด่วนไปยังเกาหลีเหนือ และในคืนวันนั้นเอง โชยองกุน ผู้นำหมายเลข 2 ของเกาหลีเหนือก็เดินทางมาถึงกรุงปักกิ่งเพื่อร่วมงานฉลองในวันรุ่งขึ้น[4] ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1970 ทั้งสองฝ่ายต่างส่งทูตกลับไปประจำซึ่งกันและกัน และโจวเอินไหลได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในเดือนต่อมา

            อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1970 เกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเมืองโลกที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือการที่จีนหันไปปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและประเทศโลกเสรีเพื่อต่อต้านการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียต ดังจะเห็นได้จากการที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนที่ไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1971 การเดินทางเยือนจีนของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) แห่งสหรัฐฯ และการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1972 ด้วยเหตุนี้แม้จีนจะยังแสดงออกว่าตนเองเป็นผู้ให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่เกาหลีเหนืออยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสัปดาห์มิตรภาพจีน-เกาหลี ณ กรุงปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1971 เพื่อฉลองครบรอบ 10 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรระหว่างสองฝ่าย รวมทั้งการที่จีนคัดค้านข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะให้มีการรับรองไขว้ (cross-recognition) บนคาบสมุทรเกาหลีใน ค.ศ. 1974 โดยจีนยืนยันว่าตนเองจะคงนโยบายเกาหลีเดียว (one-Korea principle) เอาไว้ต่อไป[5] หากแต่จีนก็ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายต่างประเทศที่ก้าวร้าวและสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับโลกเสรีของเกาหลีเหนือ ดังจะเห็นได้จากการเดินทางเยือนจีนอย่างเร่งด่วนของคิมอิลซุงในกลางเดือนเมษายน ค.ศ. 1975 ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่มเขมรแดง (The Khmer Rouge) เพิ่งล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาของนายพลลอนนอล (Lon Nol) ที่มีสหรัฐฯ หนุนหลังได้สำเร็จ และเวียดนามใต้ก็กำลังปราชัยแก่เวียดนามเหนือ คิมอิลซุงจึงได้บอกกับเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) รองนายกรัฐมนตรีของจีนว่าเขามีแผนจะใช้กำลังบุกเกาหลีใต้อีกครั้งเพื่อรวมประเทศ แต่ผู้นำของจีนไม่เห็นด้วย[6] และในงานเลี้ยงขอบคุณเจ้าภาพที่คิมอิลซุงจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนของปีนั้น เติ้งเสี่ยวผิงก็เน้นย้ำอีกครั้งว่าจีนสนับสนุนการรวมเกาหลีอย่างสันติ[7] ขณะที่การเยือนเกาหลีเหนือของฮว่ากั๋วเฟิง (Hua Guofeng) และเติ้งเสี่ยวผิงในฐานะประธานและรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนพฤษภาคมและเดือนกันยายน ค.ศ. 1978 ตามลำดับก็จบลงโดยไม่มีแถลงการณ์ร่วม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า 2 ฝ่ายมีมุมมองและผลประโยชน์ที่แตกต่างกันมากขึ้น
 

  
                         เหมาเจ๋อตงกับคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1975
 

            การถึงแก่อสัญกรรมของเหมาเจ๋อตงในเดือนกันยายน ค.ศ. 1976 และการประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 ทำให้จีนยุตินโยบายส่งออกการปฏิวัติและการให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการฝ่ายซ้ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยหันมาเน้นเรื่องของสันติภาพและการพัฒนา (peace and development) ว่าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจีนให้ทันสมัย ดังสุนทรพจน์ของหวงหัว (Huang Hua) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1982 ความตอนหนึ่งว่า

 

            ประชาชนของทุกประเทศต่างใฝ่หาสันติภาพ การสร้างความทันสมัยให้กับจีนจะเป็นจริงได้ต้องอาศัยสภาวะแวดล้อมระหว่างประเทศที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ ในฐานะผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งโลก เราพร้อมจะทำงานร่วมกับประเทศและประชาชนผู้รักสันติภาพทั้งหลายเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อความก้าวหน้าของมวลมนุษย์[8]

 

            ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศของจีนสวนทางกับเกาหลีเหนือที่ยังคงใช้ยุทธวิธีแบบกองโจร ความรุนแรง และการก่อการร้ายเป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ ดังกรณีการวางระเบิดสังหารคณะรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ระหว่างเดินทางเยือนพม่าเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1983[9] แต่ทว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตที่ยังคงอยู่นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนต้องประคับประคองความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือเอาไว้ เพราะการที่สหภาพโซเวียตสนับสนุนให้เวียดนามรุกรานกัมพูชาใน ค.ศ. 1978 และเข้ามาตั้งฐานทัพในเวียดนามที่อ่าวคัมรานห์ (Cam Ranh Bay) ในปีถัดมาทำให้จีนเกรงว่าเกาหลีเหนืออาจกลายเป็นฐานทัพอีกแห่งของสหภาพโซเวียตในเอเชีย เติ้งเสี่ยวผิงเดินทางเยือนเกาหลีเหนืออีกครั้งพร้อมด้วยหูเย่าปัง (Hu Yaobang) เลขาธิการพรรคในเดือนเมษายน ค.ศ. 1982 ตามมาด้วยการให้เงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 100,000,000 เหรียญสหรัฐและมอบเครื่องบินรบ A-5 ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดของจีนในขณะนั้นให้แก่เกาหลีเหนือจำนวน 40 ลำ[10] อีกทั้งผู้นำระดับสูงของจีนได้ไปเยือนเกาหลีเหนืออย่างสม่ำเสมอตลอดทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นหูเย่าปังเมื่อ ค.ศ. 1984 และ 1985 หลี่เซียนเนี่ยน (Li Xiannian) ประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1986 หยางซ่างคุน (Yang Shangkun) ประธานาธิบดีเมื่อ ค.ศ. 1988 จ้าวจื่อหยาง (Zhao Ziyang) นายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคเมื่อ ค.ศ. 1981 และ 1989 ตามลำดับ และจีนยังได้ต้อนรับการมาเยือนของคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1982, 1984, 1987 และ 1989 รวมถึงการมาเยือนของคิมจองอิล (Kim Jong Il) บุตรชายและทายาททางการเมืองของคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1983 อีกด้วย

            ในเวลาเดียวกัน จีนยังได้พยายามชักจูงให้เกาหลีเหนือหันมาปฏิรูปเศรษฐกิจตามแบบจีน ดังเช่นเมื่อคิมอิลซุงเดินทางเยือนจีนใน ค.ศ. 1982 เติ้งเสี่ยวผิงได้พาคิมไปดูงาน ณ มณฑลเสฉวนด้วยตนเองพร้อมกล่าวกับคิมว่า

 

            เราจะต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศของเราทั้งใหญ่และยากจน ถ้าเราไม่เพิ่มการผลิตก็คงไปไม่รอด ลัทธิสังคมนิยมจะเหนือกว่าได้อย่างไรถ้าประชาชนของเรายังมีชีวิตที่ลำบาก ... เราจะต้องทำทุกอย่างเพื่อเพิ่มพลังการผลิตและค่อยๆ ขจัดความยากจนพร้อมกับยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง หาไม่แล้วลัทธิสังคมนิยมจะเอาชนะลัทธิทุนนิยมได้อย่างไร[11]

 

            นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้งเสี่ยวผิงขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับปรัชญาจูเช่ (Juche) ของคิมอิลซุงที่เน้นการพึ่งตนเอง บันทึกความทรงจำของฮวางชางยอบ (Hwang Jang Yop) ผู้นำระดับสูงของเกาหลีเหนือที่ลี้ภัยไปยังเกาหลีใต้เมื่อ ค.ศ. 1997 ระบุว่าคิมอิลซุงและคิมจองอิลตราหน้าเติ้งเสี่ยวผิงว่า “ครุสชอฟแห่งเมืองจีน”[12] และในระหว่างการเยือนเยอรมนีตะวันออกของคิมอิลซุงเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1984 เขาได้สนทนากับเอริช โฮเนคเคอร์ (Erich Honecker) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โดยแสดงความเป็นห่วงว่าจีนกำลังเดินทางผิด ดังความตอนหนึ่งว่า

 

ถ้าเราปล่อยให้ประเทศจีนตกอยู่ในมือของพวกนายทุน จีนก็อาจเสี่ยงที่จะกลายเป็นประเทศกึ่งอาณานิคมอีกครั้งหนึ่ง ... และเนื่องจากเรามีพรมแดนเป็นทางยาวติดกับจีน รวมทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น สิ่งที่เรากลัวมากที่สุดก็คือการที่ประเทศจีนไม่ยึดมั่นในลัทธิสังคมนิยม ประเทศจีนมีประชากร 1,000,000,000 คน เราจะต้องทำให้มั่นใจว่าพวกเขาเดินบนเส้นทางสังคมนิยมมากกว่าเส้นทางอื่นๆ[13]

                                      เติ้งเสี่ยวผิงกับคิมอิลซุงเมื่อ ค.ศ. 1987
 

            อย่างไรก็ตาม ความหวังของคิมอิลซุงที่จะให้จีนกลับมาเดินบนเส้นทางเดิมเหมือนในทศวรรษ 1950 และ 1960 นั้นไม่อาจเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะในการสนทนากับเฮลมุท โคล (Helmut Kohl) นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตกเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1984 เติ้งเสี่ยวผิงระบุว่าการปฏิรูปและเปิดประเทศของจีนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาได้ผลดีเกินคาด และจีนก็จะเดินหน้าเช่นนี้ต่อไปโดยจะพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือการขยายความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศโลกที่ 3[14] และในทศวรรษ 1980 นั้นเองที่ความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ได้เริ่มขึ้นจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายของจีนต่อคาบสมุทรเกาหลี


--------------------------------------


                [1] Choi, ibid., 40-41.
                [2] Ibid., 42.
                        [3] Lee, ibid., 101-102.
                [4] Chen, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance,” 7.
                [5] Choi, ibid., 77-90. การรับรองไขว้หมายถึงการที่สหรัฐอเมริกาจะรับรองเกาหลีเหนือ โดยแลกเปลี่ยนกับการที่จีนกับสหภาพโซเวียตรับรองเกาหลีใต้
                [6] Chen, “Limits of the ‘Lips and Teeth’ Alliance,” 8.
                [7] Chinese-Korean Friendship – Deep-Rooted and Flourishing (Peking: Foreign Languages Press, 1975), 47.
                [8] “China’s Position on Current World Issues – Foreign Minister Huang Hua’s address to UN General Assembly, October 4,” Beijing Review (11 October 1982): 15.
                [9] Adrian Buzo, The Guerilla Dynasty: Politics and Leadership in North Korea (Boulder, CO: Westview Press, 1999), 125.
                [10] Choi, ibid., 179-181.
                [11] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III (1982-1992) (Beijing: Foreign Languages Press, 1994), 21.
                [12] Hwang Jang Yop’s Memoirs (Seoul: Zeigeist Publishing House, 2006), chapter 5, available from http://www.dailynk.com, accessed 3 July 2013.
                        [13] “Memorandum of Conversation between Erich Honecker and Kim Il Sung (31 May 1984),” available from http://digitalarchive.wilsoncenter.org/document/113198, accessed 3 July 2013. 
                        [14] Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III (1982-1992), 88-89.

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือในยุคสงครามเย็น (ตอนที่ 2)


ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต สนธิสัญญาพันธมิตรและการแก้ไขปัญหาพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ


ความเป็นพันธมิตรระหว่างสหภาพโซเวียตกับจีนที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1950 ได้ตกต่ำลงในปลายทศวรรษเดียวกันและกลายเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงหลัง ค.ศ. 1960 สาเหตุสำคัญมาจากการที่เหมาเจ๋อตงพยายามยกสถานะของตนเองขึ้นเป็นผู้นำโลกคอมมิวนิสต์แทนที่โจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียตซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อ ค.ศ. 1953 อีกทั้งเหมายังได้ดำเนินนโยบายบางประการที่ทำให้สหภาพโซเวียตเกรงว่าอาจทำให้โลกสังคมนิยมต้องเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐอเมริกา เช่น การยิงถล่มเกาะจินเหมิน (Jinmen) และหมาจู่ (Mazu) ของไต้หวันเมื่อ ค.ศ. 1958 เพื่อปลุกกระแสมวลชนในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด (The Great Leap Forward) เป็นต้น[1] ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่สหภาพโซเวียตเคยให้กับจีนก็ลดลงและหมดไปอย่างสิ้นเชิงใน ค.ศ. 1960 จีนประณามนิกิตา ครุสชอฟ (Nikita Khrushchev) นายกรัฐมนตรีแห่งสหภาพโซเวียตว่าเป็นพวกลัทธิแก้ (revisionism) ที่ต้องการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization) และมุ่งเน้นนโยบายการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (peaceful coexistence) กับโลกทุนนิยมโดยมิได้ยึดมั่นในลัทธิมากซ์-เลนินอย่างแท้จริง[2]  นอกจากนี้ ปัญหาพรมแดนยิ่งทำให้เกิดความตึงเครียดมากขึ้น แม้ว่าจะมีการเจรจาเรื่องพรมแดนที่กรุงปักกิ่งใน ค.ศ. 1964 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ

ความขัดแย้งที่กล่าวมาข้างต้นทำให้จีนพยายามแสวงหาเสียงสนับสนุนในหมู่ประเทศสังคมนิยมซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเกาหลีเหนือ แม้ว่าในช่วงแรกคิมอิลซุงจะมิได้ประกาศตัวว่าเข้าข้างจีนอย่างชัดเจนแบบเอนเวอร์ โฮซา (Enver Hoxha) ผู้นำของแอลเบเนีย หากแต่การที่เขาพยายามสร้างลัทธิบูชาบุคคล (cult of personality) ในเกาหลีเหนือ รวมทั้งการที่เกาหลีใต้ยังคงเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกาทำให้เขาไม่เห็นด้วยกับการล้มล้างอิทธิพลสตาลินและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของครุสชอฟ[3] และเมื่อคิมเดินทางเยือนจีนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1958 เหมาเจ๋อตงก็ได้จัดการให้เขาได้พบกับโจวเป่าจง (Zhou Baozhong) และหลี่เหยียนลู่ (Li Yanlu) นายทหารแห่งกองทัพต่อต้านญี่ปุ่นแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คิมเคยเป็นสมาชิกมาก่อน ซึ่งเท่ากับเป็นการเตือนให้คิมระลึกถึงความสัมพันธ์ที่มีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมายาวนาน[4]

ขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและการเมืองของเกาหลีใต้ในต้นทศวรรษ 1960 ได้สร้างความกังวลใจแก่เกาหลีเหนือจนต้องแสวงหาหลักประกันด้านความมั่นคงเพิ่มเติม กล่าวคือ สหรัฐฯ ได้กระชับความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นด้วยการทำสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับใหม่เพื่อต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1960 และต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 1961 สหรัฐฯ ยังพยายามบุกอ่าวหมู (Bay of Pigs) เพื่อล้มล้างการปกครองของฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) แห่งคิวบาแต่ไม่สำเร็จ และในเดือนพฤษภาคมของปีเดียวกันก็เกิดรัฐประหารของนายพลปักจุงฮี (Park Chung Hee) ที่นำเกาหลีใต้เข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารและการกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1961 คิมอิลซุงจึงเดินทางเยือนกรุงมอสโกและกรุงปักกิ่ง โดยลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในวันที่ 6 กรกฎาคม และกับจีนในวันที่ 11 กรกฎาคม แม้ว่าสนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับจะตั้งอยู่บนหลักความมั่นคงร่วมกัน (collective security) ซึ่งหมายถึงฝ่ายหนึ่งจะเข้าช่วยอีกฝ่ายหนึ่งหากถูกโจมตีจากฝ่ายที่ 3 แต่เมื่อพิจารณาจากเนื้อความในสนธิสัญญาแล้วจะพบว่าจีนให้หลักประกันด้านความมั่นคงแก่เกาหลีเหนือเป็นพิเศษกว่าสหภาพโซเวียต เพราะสนธิสัญญากับสหภาพโซเวียตจะต้องต่ออายุทุก 5 ปี และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์บอกเลิกได้โดยแจ้งล่วงหน้า 1 ปี แต่สนธิสัญญากับจีนไม่มีวันหมดอายุ และการแก้ไขหรือบอกเลิกจะต้องได้รับความยินยอมจากทั้ง 2 ฝ่าย[5] สนธิสัญญานี้จึงเป็นการสกัดกั้นอิทธิพลของทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต อีกทั้งยังทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

            นอกจากนี้ จีนยังได้ประนีประนอมกับเกาหลีเหนือในเรื่องข้อพิพาทพรมแดนอีกด้วย โดยเฉพาะบริเวณภูเขาแปกตูซาน (Paektusan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาฉางไป๋ซาน (Changbaishan) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเกาหลีติดกับมณฑลจี๋หลินของจีน ภูเขาดังกล่าวสูง 2,744 เมตร และเป็นที่ตั้งของทะเลสาบเทียนฉือ (Tianchi) หรือชงจี (Chongji) ซึ่งเป็นทะเลสาบปากปล่องภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในโลก[6] ภูเขาดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำยาลู่หรือแม่น้ำอัมนอก (Amnok) ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้สู่ทะเลเหลือง และแม่น้ำถูเหมิน (Tumen) ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่ทะเลญี่ปุ่น ซึ่งทั้งจีนและเกาหลีต่างยอมรับว่าแม่น้ำทั้ง 2 สายเป็นแนวพรมแดนระหว่าง 2 ฝ่ายมาตั้งแต่ ค.ศ. 1712[7] แต่เมื่อเกาหลีกลายเป็นรัฐอารักขา (protectorate) ของญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1905 ก็ได้มีการทำข้อตกลงเรื่องพรมแดนกับจีนอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง โดยสนธิสัญญาเจียนเต่า (The Jiandao Treaty) หรือสนธิสัญญากันโด (The Gando Treaty) ที่จีนกับญี่ปุ่นลงนามกันในเดือนกันยายน ค.ศ. 1909 ระบุว่าภูเขาแปกตูซานและทะเลสาบเทียนฉืออยู่ในเขตแดนของจีนทั้งหมด[8] ซึ่งนักชาตินิยมเกาหลีจำนวนมากไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ได้ทำขึ้นโดยความสมัครใจของชาวเกาหลี อีกทั้งภูเขาแปกตูซานยังเป็นสถานที่เกิดของแทนกุน (Tangun) ซึ่งตามตำนานถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดอาณาจักรโชซอนโบราณเมื่อ 2,333 ปีก่อน ค.ศ. จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนชาติเกาหลี[9] และต่อมาทางการเกาหลีเหนือก็เพิ่มความหมายให้กับภูเขาดังกล่าวในฐานะ “ภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิวัติเกาหลี” เพราะเป็นฐานที่มั่นของคิมอิลซุงในการทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่นและเป็นสถานที่เกิด “อย่างเป็นทางการ” ของคิมจองอิล ผู้นำรุ่นที่ 2[10]     

                ภาพวาดคิมอิลซุงและคิมจองอิลยืนบนภูเขาแปกตูซาน ชายแดนจีน-เกาหลีเหนือ
                                                    ด้านหลังเป็นทะเลสาบเทียนฉือ
 
 
            การเจรจาระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือเพื่อแก้ไขปัญหาพรมแดนเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1962 และในที่สุดโจวเอินไหลกับคิมอิลซุงได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยพรมแดนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมของปีเดียวกัน จีนยอมแบ่งพื้นที่ร้อยละ 60 ของทะเลสาบเทียนฉือให้แก่เกาหลีเหนือ ส่วนแม่น้ำยาลู่และแม่น้ำถูเหมินซึ่งเป็นแนวพรมแดนนั้นทั้งสองฝ่ายตกลงใช้หลักการ 3 ร่วม นั่นคือ การเป็นเจ้าของร่วม การบริหารจัดการร่วม และการใช้ร่วม แต่เกาะต่างๆ ที่ตั้งอยู่กลางแม่น้ำนั้นจีนยกให้เกาหลีเหนือกว่าร้อยละ 80[11] รวมพื้นที่ที่จีนยกให้เกาหลีเหนือทั้งสิ้นราว 500 ตารางกิโลเมตร[12] คำถามที่น่าสนใจก็คือ เหตุใดเหมาเจ๋อตงจึงยินยอมทำข้อตกลงที่กระทบต่อบูรณภาพทางดินแดนและอำนาจอธิปไตยกับเกาหลีเหนือในระยะเวลาอันรวดเร็ว แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียตเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนต้องการแรงสนับสนุนจากเกาหลีเหนือและยินยอมต่อข้อเรียกร้องเรื่องดินแดนของเกาหลีเหนือ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของนักวิชาการจีนบางคนก็คือ ความคิดของเหมาเจ๋อตงที่ว่าถ้าประเทศสังคมนิยมใดๆ ก็ตามยอมรับความเป็นผู้นำของจีนแล้ว จีนก็จะแสดงความใจกว้างด้วยการยกดินแดน ประชากร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้โดยไม่เห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย[13]

            ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 1963 เมื่อผู้แทนจากเกาหลีเหนือที่เดินทางไปประชุมสมัชชาพรรคของเยอรมนีตะวันออกในเดือนมกราคมของปีนั้นถูกสหภาพโซเวียตขัดขวางไม่ให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์และแจกเอกสารที่มีเนื้อหาเข้าข้างจีน โดยเกาหลีเหนือบอกว่าประชากรจีนคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรโลกสังคมนิยมทั้งหมด การที่ประเทศสังคมนิยมรวมกำลังกันต่อต้านจีนจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง[14] และในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน โชยองกอน (Choe Yong Gon) ผู้นำหมายเลข 2 ของพรรคกรรมกรเกาหลีเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง และในเดือนต่อมาหลิวเส้าฉี (Liu Shaoqi) ประธานาธิบดีของจีนเดินทางเยือนกรุงเปียงยาง นับเป็นผู้นำระดับประมุขแห่งรัฐคนแรกของจีนที่ไปเยือนเกาหลีเหนือ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1964 เมื่อเกาหลีเหนือเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาว่าด้วยเศรษฐกิจเอเชีย จีนและเกาหลีเหนือต่างใช้เวทีดังกล่าววิจารณ์การให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศของสหภาพโซเวียตว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยและขูดรีดประเทศที่รับความช่วยเหลือ[15] และในเดือนถัดมาจีนกับเกาหลีเหนือได้จัดงานฉลองครบรอบ 3 ปีของการลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตร หากแต่ไม่มีการจัดงานดังกล่าวระหว่างสหภาพโซเวียตกับเกาหลีเหนือ


--------------------------------------------------------
[1] Chen, Mao’s China and the Cold War, 77.
[2] Allen S.Whiting, “The Sino-Soviet Split,” in The Cambridge History of China, Volume 14, The People’s Republic, Part  1: The Emergence of Revolutionary China 1949-1965, ed. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank (New York, NY: Cambridge University Press, 1987), 516.
                        [3] Suh, ibid., 176-177.
                [4] Ibid., 178.
                [5] “Treaty of Friendship, Co-operation, and Mutual Assistance Between the People’s Republic of China and the Democratic People’s Republic of Korea,” Peking Review, 4 (28): 5, available from    http://www.marxists.org/subject/china/documents/china_dprk.htm, accessed 2 July 2013.
                [6] Daniel Gomà, “The Chinese-Korean Border Issue: An Analysis of a Contested Frontier,” Asian Survey 46 (November/December 2006): 871.
                [7] Ibid., 869.
                [8] Zhihua Shen and Yafeng Xia, “Contested Border: A Historical Investigation into the Sino-Korean Border Issue, 1950-1964,” Asian Perspectives 37 (January-March 2013): 4.
                [9] ประโยคแรกในเพลงชาติของเกาหลีใต้ก็กล่าวถึงภูเขาลูกนี้เช่นกัน
                [10] Gomà, ibid., 871-872. แต่ที่จริงคิมจองอิลเกิดในค่ายทหารใกล้เมืองคาบารอฟสก์ (Khabarovsk) ทางภาคตะวันออกไกลของสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1942
                        [11] Chae–Jin Lee, China and Korea: Dynamic Relations (Stanford, CA: Hoover Institution Press, 1996), 100.
                [12] Shen and Xia, “Contested Border,” 21.
                [13] Ibid., 26-27. อย่างไรก็ตาม ทางการจีนคงตระหนักดีว่าการยกดินแดนให้เกาหลีเหนือเป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและนำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การเจรจาในครั้งนั้นจึงเป็นไปอย่างลับๆ และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณชน ส่วนเกาหลีเหนือก็ไม่เปิดเผยเรื่องนี้เช่นกัน เพราะการที่เกาหลีเหนือไม่สามารถทวงคืนทะเลสาบเทียนฉือซึ่งตั้งอยู่บน “ภูเขาอันศักดิ์สิทธิ์ของการปฏิวัติเกาหลี” กลับมาได้ทั้งหมดอาจกลายเป็นประเด็นที่บั่นทอนความชอบธรรมของคิมอิลซุง นอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้กล่าวถึงพื้นที่ทับซ้อนในทะเลเหลืองซึ่งยังคงเป็นข้อพิพาทระหว่างสองประเทศมาจนถึงปัจจุบัน
                [14] Suh, ibid., 181.
                [15] Ibid., 185-186.