วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ขอเชิญฟังการสอบป้องกันเค้าโครงร่างวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก


หัวข้อวิทยานิพนธ์
"ภาพลักษณ์ของเจิ้งเหอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของจีน"
โดย นายสิทธิพล เครือรัฐติกาล
วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2552
เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมวิทยาลัยสหวิทยาการ
ชั้น 5 อาคารเอนกประสงค์ 1 (ตรงข้ามคณะศิลปศาสตร์)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
คณะกรรมการสอบประกอบไปด้วย
1. รองศาสตราจารย์ ดร. โคริน เฟื่องเกษม (ประธาน)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จุฬาพร เอื้อรักสกุล (กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลัก)
3. รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ (กรรมการและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม)
4. รองศาสตราจารย์ อาทร ฟุ้งธรรมสาร (กรรมการ)
5. รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย มูลศิลป์ (กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมหาวิทยาลัย)
ผลการสอบ: ผ่าน (กรรมการให้ปรับแก้เค้าโครงเล็กน้อย โดยไม่ต้องสอบใหม่)

สถานะของเจิ้งเหอในประวัติศาสตร์จีน



1. เจิ้งเหอในสมัยก่อนสงครามฝิ่น

นโยบายกองเรือมหาสมบัติของจักรพรรดิหย่งเล่อและจักรพรรดิเซวียนเต๋อได้ก่อให้เกิดแรงต่อต้านจากบรรดาขุนนางและปัญญาชนซึ่งมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยและขัดกับหน้าที่ของรัฐตามแบบขงจื๊อ จนนำไปสู่การยกเลิกนโยบายดังกล่าวหลัง ค.ศ. 1435 และต่อมาก็มีการเผาทำลายเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับการเดินเรือในครั้งนั้น ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของเจิ้งเหอจึงเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งเมื่อราชวงศ์หมิงเข้าสู่ช่วงแห่งความตกต่ำในศตวรรษถัดมา จึงได้มีความพยายามในการรื้อฟื้นเรื่องราวของเขาขึ้นมาอีกครั้ง

ราชวงศ์หมิงในคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ประสบกับปัญหาความวุ่นวายจากทั้งภายนอกและภายใน โดยภายนอกนั้นจีนต้องเผชิญกับโจรสลัดญี่ปุ่น (倭寇) รวมทั้งข้อเรียกร้องทางการค้าของโปรตุเกส จนจีนต้องยกเอ้าเหมิน (澳门) หรือมาเก๊าให้ไปเมื่อ ค.ศ. 1557 ขณะเดียวกันก็มีการทำสงครามกับมองโกลระหว่าง ค.ศ. 1540 ถึง ค.ศ. 1573 และเหตุการณ์ที่บั่นทอนอำนาจของราชวงศ์หมิงลงเป็นอย่างมากก็คือ สงครามกับญี่ปุ่นบนคาบสมุทรเกาหลีใน ค.ศ. 1593 และ ค.ศ. 1597 ซึ่งราชสำนักต้องเสียค่าใช้จ่ายไปในสงครามครั้งละ 10,000,000 ตำลึง และทำให้ราชวงศ์หมิงอยู่ในสภาวะเกือบล้มละลาย (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510, น. 669-670) และเมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ราชวงศ์หมิงก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของชาวแมนจูจนนำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ในที่สุด

ส่วนภายในราชสำนักหมิงเอง จักรพรรดิเจียจิ้ง (嘉靖 ครองราชย์ ค.ศ. 1521 – ค.ศ. 1566) ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการแสวงหายาอายุวัฒนะและมิได้ออกว่าราชการเป็นเวลาหลายปี ส่วนจักรพรรดิว่านลี่ (万历ครองราชย์ ค.ศ. 1572 – ค.ศ. 1620) ถึงแม้ว่าจะเป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองในทางวรรณคดี หากแต่พระองค์ก็ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยทรงใช้เงินกว่า 90,000 ตำลึงเพื่อการอภิเษกสมรสของพระองค์ และ 12,000,000 ตำลึงเพื่อจ่ายให้กับเชื้อพระวงศ์ และอีกกว่า 9,000,000 ตำลึงเพื่อสร้างพระราชวังใหม่ (ไรสเชอร์ และแฟรแบงค์, 2510, น. 685) รวมทั้งยังทรงละเลยการบริหารราชการและปล่อยให้อำนาจอยู่ในมือของขันที เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลง อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่กับขันทีเว่ยจงเสียน (魏忠贤) ผู้ซึ่งกุมอำนาจต่อมาจนถึง ค.ศ. 1627

ในปลายราชวงศ์หมิงนี้เองที่ได้เกิดวรรณกรรมเกี่ยวกับเจิ้งเหอขึ้นมาสองเรื่อง เรื่องแรกคือนวนิยายที่ชื่อ การเดินทางท่องทะเลตะวันตกของขันทีซานเป่า (三宝太监下西洋记通俗演义) หรือที่เรียกสั้นๆว่า บันทึกการท่องทะเลตะวันตก (ซีหยางจี้) แต่งโดย หลัวเม่าเติง (罗懋登) เมื่อ ค.ศ. 1597 โดยในเรื่องระบุว่า การเดินเรือของเจิ้งเหอมีจุดประสงค์เพื่อตามหาตราแผ่นดินที่สูญหายไป ซึ่ง Finlay (1992) ได้วิเคราะห์ว่า การตามหาตราแผ่นดินกลับคืนมาสะท้อนให้เห็นว่าผู้แต่งนั้นไม่พอใจกับสภาพที่เสื่อมโทรมของราชวงศ์หมิง และต้องการให้จีนกลับมายิ่งใหญ่และเป็น “อาณาจักรกลาง” อย่างแท้จริงอีกครั้งหนึ่ง เฉกเช่นในสมัยของเจิ้งเหอ (Finlay, 1992, pp. 235-236)

วรรณกรรมเรื่องที่สองคือบทละครเรื่อง ขันทีซานเป่ารับพระราชโองการท่องทะเลตะวันตก (奉天命三宝下西洋) แต่งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1615 โดยไม่ปรากฏนามผู้แต่ง หากแต่ก็เป็นบทละครที่ใช้เล่นกันในราชสำนักของจีน โดยตอนหนึ่งของเรื่องได้เล่าว่า กองเรือของเจิ้งเหอแล่นเข้าไปในน่านน้ำที่เป็นประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน บรรดากษัตริย์ทั้งหลายในดินแดนแถบนั้นก็พากันยกพลมาล้อมเรือของเจิ้งเหอเอาไว้ พร้อมกับเรียกร้องขอผ้าไหมและเครื่องกระเบื้องเคลือบจากจีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่เจิ้งเหอจะสามารถเดินเรือผ่านได้อย่างปลอดภัย เจิ้งเหอจึงคิดกลอุบายด้วยการหลอกกษัตริย์เหล่านี้ว่า แท้จริงแล้วเครื่องกระเบื้องเคลือบของจีนนั้นงอกออกมาจากต้นไม้ และบนเรือของเขาก็มีต้นกระเบื้องเคลือบ (porcelain tree) ให้ชมด้วย เหล่ากษัตริย์ต่างพากันหลงเชื่อและเดินขึ้นไปบนเรือของเจิ้งเหอ ทำให้เจิ้งเหอสามารถจับกุมกษัตริย์เหล่านี้ได้โดยง่าย Levathes (1994) ได้ชี้ให้เห็นว่า ละครฉากดังกล่าวสะท้อนความเฉลียวฉลาดของเจิ้งเหอ รวมทั้งความปรารถนาของผู้แต่งที่ต้องการให้จีนกลับมามีแสนยานุภาพทางทะเลเฉกเช่นเมื่อครั้งต้นราชวงศ์หมิง (Levathes, 1994, pp. 188-189)

หลังจากที่ราชวงศ์หมิงล่มสลายลง จักรพรรดิในยุคต่อมาคือราชวงศ์ชิง (清朝ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1912) ยังคงแสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการว่าไม่สนับสนุนการค้าทางทะเล โดยเมื่อ ค.ศ. 1662 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในจักรพรรดิคังซี (康熙ครองราชย์ ค.ศ. 1661 – ค.ศ. 1722) ได้มีคำสั่งห้ามมิให้เมืองท่าต่างๆของจีนค้าขายกับต่างประเทศ ยกเว้นการติดต่อตามระบบบรรณาการเท่านั้น[1] นอกจากนี้ราชวงศ์ชิงยังได้บทเรียนจากราชวงศ์หมิงว่า การปล่อยให้ขันทีเข้ามามีบทบาททางราชการนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรงเพียงใด ตัวเอ่อร์กุน (多尔衮) เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงต้นรัชสมัยซุ่นจื้อ (顺治ครองราชย์ ค.ศ. 1643 – ค.ศ. 1661) ถึงกับเคยมีความคิดว่าควรยกเลิกระบบขันที ต่อมาใน ค.ศ. 1655 จักรพรรดิซุ่นจื้อก็ได้มีรับสั่งห้ามมิให้ขันทีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างเด็ดขาด โดยทำเป็นแผ่นป้ายจารึกตั้งไว้ที่ประตูหน้าพระตำหนักเจียวไท่ (交泰殿) ในพระราชวังต้องห้าม (หลี่กั๋วหญง, 2004, น. 185)[2] ส่วนจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆ครองราชย์ ค.ศ. 1735 - ค.ศ. 1795) ก็เคยรับสั่งว่าการรู้หนังสือทำให้ขันทีละโมบและทะเยอทะยานได้ง่ายขึ้น ขันทีจึงควรเรียนหนังสือแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น (Rawski, 1998, p. 192) หนังสือ ประวัติศาสตร์ราชวงศ์หมิง (明史) ที่นักประวัติศาสตร์ราชสำนักชิงเรียบเรียงเสร็จใน ค.ศ. 1739 จึงมิได้ให้ความสำคัญกับการเดินเรือของขันทีอย่างเจิ้งเหอมากนัก โดยกล่าวถึงเจิ้งเหออยู่เพียงประมาณ 700 ตัวอักษรจีน และได้อธิบายว่านโยบายกองเรือมหาสมบัติเป็นการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย และสิ่งของมีค่าที่จีนได้รับมาก็ไม่คุ้มค่ากับเงินที่ต้องเสียไป อย่างไรก็ตามหนังสือดังกล่าวยังคงยอมรับว่า ในมุมมองที่ไม่ใช่ของทางราชการแล้ว การเดินเรือของเจิ้งเหอถือเป็นความสำเร็จของจีนในต้นราชวงศ์หมิง (ดูคำแปลของหนังสือดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับเจิ้งเหอได้ในภาคผนวก 1 ของ Dreyer, 2007, pp. 187-191)

2. เจิ้งเหอหลังสงครามฝิ่นจนถึงสมัยสาธารณรัฐจีน

เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ราชวงศ์ชิงก็ประสบกับปัญหาความวุ่นวายจากทั้งภายในและภายนอก การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรได้นำไปสู่ความอดอยากและการกบฏ ขณะเดียวกันข้อพิพาททางการค้ากับอังกฤษก็ได้นำไปสู่การเกิดสงครามฝิ่น (鸦片战争) เมื่อ ค.ศ. 1840 และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของจีนและการลงนามสนธิสัญญานานกิง (南京条约) เมื่อ ค.ศ. 1842 หลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนใน ค.ศ. 1949 จีนต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยม การกบฏ การปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงใน ค.ศ. 1911 และสงครามกลางเมืองระหว่างขุนศึกในช่วงต้นของสาธารณรัฐจีน ในยุคที่มืดมนและตกต่ำของจีนนี้เองที่ชื่อของเจิ้งเหอได้ปรากฏขึ้นต่อสาธารณชนอีกครั้งหนึ่ง

ใน ค.ศ. 1904 เหลียงฉี่เชา (梁启超) ปัญญาชนนักปฏิรูปผู้เชื่อมั่นในระบอบรัฐธรรมนูญที่มีจักรพรรดิทรงเป็นประมุข[3] ได้เขียนบทความเรื่อง เจิ้งเหอ: นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาตุภูมิ (祖国大航海家郑和传) ลงในหนังสือพิมพ์ ซินหมินฉงเป้า (新民丛报) โดยเขาได้เปรียบเทียบว่าการเดินเรือของเจิ้งเหอเกิดขึ้นก่อนการเดินเรือของโคลัมบัสกว่า 60 ปี และก่อนวาสโก ดา กามาถึง 70 กว่าปี การเดินเรือของเจิ้งเหอจึงถือเป็น “เกียรติภูมิในประวัติศาสตร์ของประเทศ” (国史之光) (จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005) นักวิชาการจีนอย่างสือผิง (时平) ได้วิเคราะห์ว่า บทความดังกล่าวสะท้อนความคิดทางการเมืองของเหลียงฉี่เชาอยู่สามประการคือ (1) การกระตุ้นจิตสำนึกชาตินิยมเพื่อให้ประเทศจีนสามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่างามบนเวทีโลก โดยมีเจิ้งเหอเป็นตัวแบบ (2) สถาบันจักรพรรดิยังมีคุณประโยชน์ต่อประเทศจีน ดังเช่นจักรพรรดิที่ปรีชาสามารถอย่างหย่งเล่อผู้เคยส่งกองเรือของเจิ้งเหอออกไปสร้างความยิ่งใหญ่มาแล้ว ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมในการฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของจีนก็คือ การมีการปกครองแบบราชาธิปไตยทรงภูมิธรรม (开明专制)[4] และ (3) สาเหตุหนึ่งที่ทำให้จีนอ่อนแอและไม่อาจต้านทานการรุกรานของจักรวรรดินิยมได้ก็คือ การขาดแสนยานุภาพทางทะเล ดังนั้นจีนจึงควรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างอำนาจทางทะเลเหมือนเมื่อครั้งเจิ้งเหอในต้นราชวงศ์หมิง (สือผิง, 30 พฤษภาคม 2005) กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เหลียงฉี่เชานำเอาเจิ้งเหอมาเป็นสัญลักษณ์แห่งการฟื้นฟูเกียรติภูมิและความยิ่งใหญ่ของจีน

ต่อมาใน ค.ศ. 1919 ซึ่งเป็นปีแห่งการปฏิวัติเชิงปัญญาความคิดของจีน หรือที่รู้จักกันว่า “ความเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” (五四运动)[5] ดร.ซุนยัดเซ็น หรือซุนจงซาน (孙中山) นักปฏิวัติและผู้นำพรรคกั๋วหมินตั่ง (国民党) ได้เขียนบทความเรื่อง แผนการสร้างประเทศ (建国方略) โดยมีความตอนหนึ่งกล่าวถึงเจิ้งเหอว่า

เจิ้งเหอใช้เวลาเพียง 14 เดือนก็สามารถสร้างเรือใหญ่ 64 ลำได้สำเร็จ บรรทุกผู้คนกว่า 28,000 คนไปท่องทะเลใต้[6] สำแดงอำนาจของจีนให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศ ถือได้ว่าเป็นผลงานที่หาได้ยากทั้งในอดีตและอนาคต ทุกวันนี้ผู้คนในทะเลใต้ยังคงหวนระลึกถึงความน่าเกรงขามที่ซานเป่าได้ทิ้งไว้เมื่อครั้งกระโน้น ถือได้ว่าเป็นความยิ่งใหญ่ ปัจจุบันนี้ถ้าให้คนจีนเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเครื่องจักรกลจากต่างประเทศมาสร้างเรือหนึ่งลำที่มีขนาด 3,000 ตัน ยังถือว่าเป็นเรื่องยากเลย ลองคิดดูสิว่าความสำเร็จของเจิ้งเหอนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด?
(จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005)

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตามข้อตกลงที่ประเทศสัมพันธมิตรทำกันไว้ในการประชุมไคโร (The Cairo Conference) เมื่อ ค.ศ. 1943 และการประชุมปอตสดัม (The Potsdam Conference) เมื่อ ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นในฐานะผู้แพ้สงครามต้องส่งมอบดินแดนที่ยึดมาจากประเทศอื่นๆตั้งแต่ ค.ศ. 1895 คืนให้แก่เจ้าของเดิมทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ที่ญี่ปุ่นยึดไปจากจีนเมื่อทศวรรษ 1930 ดังนั้นเมื่อสาธารณรัฐจีนได้กลับมามีอำนาจเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้อีกครั้ง จึงได้นำเอาเจิ้งเหอมาเป็นสัญลักษณ์ของการได้อำนาจอธิปไตยคืนมา โดยใน ค.ศ. 1947 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนได้ประกาศตั้งชื่อแนวปะการังแนวหนึ่งในหมู่เกาะหนานซา (南沙群岛) หรือสแปรตลีย์ (The Spratly Islands) ว่า “แนวปะการังเจิ้งเหอ” (郑和群礁) และตั้งชื่อหมู่เกาะซีกตะวันตกและตะวันออกของหมู่เกาะซีซา (西沙群岛) หรือพาราเซล (The Paracel Islands) ว่า “หมู่เกาะหย่งเล่อ” (永乐群岛) และ “หมู่เกาะเซวียนเต๋อ” (宣德群岛) ตามชื่อรัชสมัยของจักรพรรดิที่ส่งกองเรือของเจิ้งเหอออกท่องมหาสมุทร (เจิ้งเหอหางไห่จือซื่อ, 26 กรกฎาคม 2007) และต่อมาใน ค.ศ. 1955 รัฐบาลกั๋วหมินตั่งซึ่งขณะนั้นได้ย้ายไปตั้งมั่นบนเกาะไต้หวันแล้ว ก็ได้กำหนดให้วันที่ 11 กรกฎาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันที่เจิ้งเหอออกเดินเรือครั้งแรก เป็นวันเดินเรือแห่งชาติ (航海日) ของสาธารณรัฐจีน (Yu Sen-lun, 11 January 2004)

3. เจิ้งเหอในสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน

หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1949 แนวทางการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของจีนก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดมากซ์-เลนิน (Marxist-Leninist Thought) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (文化大革命) ระหว่าง ค.ศ. 1966 ถึง ค.ศ. 1976 ที่มีการ “วิพากษ์สี่เก่า” (破四旧) คือ ความคิดเก่า วัฒนธรรมเก่า ประเพณีเก่า และนิสัยเก่า หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งต่างๆที่จีนได้สั่งสมมาเป็นเวลานับพันปีล้วนแต่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ที่เป็นตัวแทนของลัทธิสังคมนิยม (วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 2547, น. 109-110) ด้วยเหตุนี้บุคคลในประวัติศาสตร์อย่างเจิ้งเหอจึงมิได้อยู่ในสถานะที่ทางการจีนจะนำมาใช้ในการส่งเสริมลัทธิสังคมนิยมได้

อย่างไรก็ดี Michael H. Hunt (1996) ได้เตือนไม่ให้เรามองการดำเนินนโยบายต่างประเทศของจีนโดยยึดกรอบแบบมากซ์-เลนินมากจนเกินไป เขาได้ชี้ให้เห็นว่าในทางปฏิบัติแล้วผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่ไม่น้อย และพวกเขายังรู้จักนำเอาประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีนมาใช้เพื่อตอบสนองความจำเป็นในปัจจุบันอีกด้วย (Hunt, 1996, pp. 3-10) และเมื่อถึงทศวรรษ 1960 ที่จีนต้องการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่เพิ่งได้เอกราชใหม่ในแอฟริกาเพื่อเป็นแนวร่วมในการต่อต้านโลกทุนนิยมและจักรวรรดินิยม จีนก็ได้นำเอาเจิ้งเหอมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยในการเดินทางเยือนโซมาเลียและเคนยาของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล (周恩来) เมื่อ ค.ศ. 1964 เขาได้กล่าวว่า “เจิ้งเหอในสมัยราชวงศ์หมิงของจีนถือเป็นนักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่ เขาเคยเดินทางเยือนโซมาเลีย เคนยา และประเทศอื่นๆในแอฟริกาตะวันออกมาแล้ว เขามีคุณูปการต่อการสร้างมิตรภาพระหว่างจีนกับแอฟริกาเป็นอันมาก” (จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005)

ภายหลังจากที่การปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลงพร้อมกับการอสัญกรรมของเหมาเจ๋อตง (毛泽东) ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ ค.ศ. 1976 ผู้นำคนใหม่คือ เติ้งเสี่ยวผิง (邓小平) ได้ประกาศใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 มีการยกเลิกแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง โดยหันมายอมรับกลไกตลาด รวมทั้งยังเปิดให้จีนมีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกภายนอก ภายใต้สภาพการณ์ใหม่นี้เองที่จีนได้นำเจิ้งเหอมาเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศ ดังจะเห็นได้จากสุนทรพจน์ของเติ้งเสี่ยวผิงต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาส่วนกลาง (中央顾问委员会) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1984 ความตอนหนึ่งว่า

นโยบายปิดประตูทำให้ประเทศไม่อาจพัฒนาได้ พวกเราต่างก็เจ็บปวดจากการโดดเดี่ยวตนเอง บรรพชนของเราก็เช่นกัน เราเคยเปิดประตูมาแล้วในสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ มีการส่งกองเรือของเจิ้งเหอออกท่องทะเลตะวันตก แต่พอพระองค์สิ้นพระชนม์ ราชวงศ์หมิงก็ตกต่ำลง ... บทเรียนที่ผ่านมาบอกเราว่า ถ้าเราไม่เปิดประตูสู่ภายนอก เราก็ไม่อาจจะก้าวไปข้างหน้าได้
(Deng Xiaoping, 1994, pp. 96-97)

หลังจากสุนทรพจน์ครั้งดังกล่าว ชื่อของเจิ้งเหอก็ปรากฏขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม โดยใน ค.ศ. 1985 ทางการจีนได้จัดงานฉลองครอบรอบ 580 ปีการเดินเรือของเจิ้งเหอ และเมื่อถึง ค.ศ. 1987 กองทัพเรือจีนได้ตั้งชื่อเรือฝึกเดินสมุทร (training ship) ลำใหม่ว่า “เรือฝึกเจิ้งเหอ” (“郑和”号训练舰) โดยเรือลำดังกล่าวได้เดินทางไปเยือนอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 และถือเป็นครั้งแรกที่เรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนแล่นเข้าไปในซีกโลกตะวันตก (หูหญงผิง, 9 พฤษภาคม 2008)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 เจียงเจ๋อหมิน (江泽民) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสหภาพโซเวียต โดยมีความตอนหนึ่งระบุว่า เส้นทางสายไหมและการท่องทะเลตะวันตกของเจิ้งเหอนั้นเป็นประจักษ์พยานว่า จีนให้ความสำคัญกับการติดต่อและการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับนานาประเทศ “อย่างเป็นมิตร” (友好) มาแต่โบราณแล้ว (จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ, 1 มิถุนายน 2005) คำกล่าวของเจียงเจ๋อหมินดูเหมือนจะช่วยปูทางไปสู่การนำเสนอเรื่องราวของเจิ้งเหอในฐานะ “ทูตสันติภาพ” ที่จีนจะได้ดำเนินการอย่างจริงจังหลัง ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า สถานะของเจิ้งเหอในประวัติศาสตร์จีนนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางการเมืองและสังคมของแต่ละยุคสมัย โดยพอจะสรุปเป็นข้อๆได้ว่า (1) ในช่วงก่อนเกิดสงครามฝิ่นซึ่งระเบียบทางการเมืองและสังคมของจีนยังอยู่ในกรอบของลัทธิขงจื๊อ การเดินเรือของเจิ้งเหอจึงเป็นเพียงกิจกรรมของขันทีที่ฟุ่มเฟือยและไร้ประโยชน์ และถึงแม้ว่าจะมีความพยายามฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ของกองเรือเจิ้งเหอผ่านวรรณกรรมในปลายราชวงศ์หมิง หากแต่ก็ไม่สำเร็จ (2) เมื่อจีนเข้าสู่ช่วงแห่งความวุ่นวายนับจากสงครามฝิ่นมาจนถึงสมัยสาธารณรัฐจีน ชนชั้นนำและปัญญาชนจีนจึงได้หันมาพิจารณาเจิ้งเหอเสียใหม่ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของจีนในอดีต และเป็นแบบอย่างในการฟื้นฟูเกียรติภูมิของจีนในเวทีโลก (3) ในช่วงต้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ยังคงมีการเผชิญหน้ากับโลกเสรีในสงครามเย็น จีนได้เคยใช้ชื่อของเจิ้งเหอในการกระชับความสัมพันธ์กับบางประเทศในทวีปแอฟริกาเพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านโลกทุนนิยมและจักรวรรดินิยม และ (4) เมื่อจีนหันมาใช้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจหลัง ค.ศ. 1978 เจิ้งเหอก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดประเทศเพื่อมิตรภาพและผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนกับนานาชาติ และเมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2000 จีนจะได้นำเสนอเรื่องราวของเจิ้งเหออย่างเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ผู้วิจัยจะศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป

[1] อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้วจุดยืนดังกล่าวมีความยืดหยุ่นพอสมควร ดังเช่นเมื่อจีนประสบปัญหาขาดแคลนข้าวในทศวรรษ 1720 ราชสำนักชิงก็ได้ยอมให้มีการนำเข้าข้าวจากสยามได้ ดูรายละเอียดในงานศึกษาของ สารสิน วีระผล (2548, น. 69-120)
[2] สิ่งที่ดูเหมือนเป็น “ตลกร้าย” ก็คือ จักรพรรดิซุ่นจื้อเองเป็นผู้ที่ใช้ขันทีในการปฏิบัติราชการอย่างกว้างขวาง โดยใน ค.ศ. 1653 พระองค์ได้ตั้งหน่วยงานของขันทีรวม 13 กรม (十三衙门) ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสำนักพระราชวัง (内务府) จนเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงใน ค.ศ. 1661 หน่วยงานดังกล่าวจึงถูกยุบไป ดูรายละเอียดได้ใน Rawski (1998, pp. 160-194)
[3] แนวคิดของเหลียงฉี่เชานั้นตรงกันข้ามกับแนวคิดของ ดร.ซุนยัดเซ็น ที่ต้องการปฏิวัติล้มสถาบันจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐ โดยแนวคิดของทั้งสองฝ่ายต่างขับเคี่ยวกันอยู่ในทศวรรษ 1900
[4] แนวคิดเรื่องภูมิธรรม (The Enlightenment) เกิดขึ้นในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สถานะของราชาธิปไตยทรงภูมิธรรมก็คือ กษัตริย์จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสมัยของเหตุผล โดยไม่อ้างอำนาจแบบเทวสิทธิ์ (Divine Right) อีกต่อไป หากแต่จะต้องเป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถเป็นที่ยอมรับในสายตาของประชาชน บุคคลหนึ่งที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ทรงภูมิธรรมก็คือ พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราช (Frederick the Great ครองราชย์ ค.ศ. 1740 – ค.ศ. 1786) ผู้ทำให้รัฐเยอรมันอย่างปรัสเซียกลายเป็นประเทศมหาอำนาจของยุโรป
[5] แม้ว่าความเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1919 จะมีสาเหตุหลักมาจากข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมต่อจีนในสนธิสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์ (The Treaty of Versailles) หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หากแต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของการเบ่งบานทางความคิดในหมู่ปัญญาชนจีนรุ่นใหม่ ดูรายละเอียดใน แฟร์แบงค์ และคณะ (2550, น. 749-766)
[6] ทะเลใต้ หรือ หนานหยาง (南洋) หมายถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร

เอกสารอ้างอิง

แฟร์แบงค์, จอห์น เค., เอ็ดวิน โอ. ไรเชาเออร์ และ แอลเบิร์ต เอ็ม. เครก. (2550). เอเชียตะวันออกยุคใหม่: จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน (เพ็ชรี สุมิตร, ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ์, กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ชัยโชค จุลศิริวงศ์ และ วิสาขา เลห์แมน, ผู้แปล; เพ็ชรี สุมิตร บรรณาธิการ; วรศักดิ์ มหัทธโนบล และ สมถวิล ลือชาพัฒนพร, บรรณาธิการต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ไรสเชอร์, เอ็ดวิน โอ. และ ยอห์น เค. แฟรแบงค์. (2510). อู่อารยธรรมตะวันออก เล่ม 3 (จำนงค์ทองประเสริฐ นิทัศน์ ชูทรัพย์ วินิตา ไกรฤกษ์ และเขียน ธีระวิทย์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. (2547). เศรษฐกิจการเมืองจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สารสิน วีระผล. (2548). จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396/1652-1853 (พรรณงาม เง่าธรรมสาร, รังษี ฮั่นโสภา และ สมาพร แลคโซ, ผู้แปล; ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ กัณฐิกา ศรีอุดม, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

Deng Xiaoping. (1994). Selected Works of Deng Xiaoping, Volume III (1982-1992). Beijing: Foreign Languages Press.

Dreyer, Edward L. (2007). Zheng He: China and the Oceans in the Early Ming Dynasty, 1405-1433. New York: Pearson Education, Inc.

Finlay, Robert. (1992). Portuguese and Chinese Maritime Imperialism: Camoes’s Lusiads and Luo Maodeng’s Voyage of the San Bao Eunuch. Comparative Studies in Society and History, 34(2), 225-241.

Hunt, Michael H. (1996). The Genesis of Chinese Communist Foreign Policy. New York: Columbia University Press.

Levathes, Louise. (1994). When China Ruled the Seas: the Treasure Fleet of the Dragon Throne 1405-1433. New York: Simon&Schuster.

Yu Sen-lun. (11 January 2004). Following in the wake of Zheng He. Taipei Times, p. 17. Retrieved March 21, 2009, from http://www.taipeitimes.com/News/feat/ archives/2004/01/11/2003087264.

จิ้นไต้หมิงเหญินลุ่นเจิ้งเหอ (บุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคใกล้พูดถึงเจิ้งเหอ). (1 มิถุนายน 2005). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2009, จาก http://www.china.com.cn/chinese/ zhuanti/zhxxy/878345.htm.
近代名人论郑和。(2005/06/01)。2009 年4月18日,http://www.china.com.cn/ chinese/zhuanti/zhxxy/878345.htm。

เจิ้งเหอหางไห่จือซื่อ (ความรู้ด้านการเดินเรือของเจิ้งเหอ). (26 กรกฎาคม 2007). สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2009, จาก http://ytmsa.gov.cn/n435777/n436492/10450.html.
郑和航海知识。(2007/07/26)。2009 年4月18日,http://ytmsa.gov.cn/ n435777/n436492/10450.html。

สือผิง. (30 พฤษภาคม 2005). กวานอวี๋เหลียงฉี่เชา《จู่กั๋วต้าหางไห่เจียเจิ้งเหอจ้วน》เตอะไจ้เยิ่นซื่อ (การทำความรู้จักอีกครั้งกับหนังสือของเหลี่ยงฉี่เชาเรื่อง เจิ้งเหอ: นักเดินเรือผู้ยิ่งใหญ่แห่งมาตุภูมิ). สืบค้นเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2009, จาก http://www.china.com.cn/ chinese/zhuanti/zhxxy/876109.htm.
时平。(2005/05/30)。关于梁启超《祖国大航海家郑和传》的再认识。2009年1月31日,http://www.china.com.cn/chinese/zhuanti/zhxxy/876109.htm

หูหญงผิง. (9 พฤษภาคม 2008). อีจิ่วปาจิ่วเหนียน ตี้อีโซวหย่วนหยางหางไห่ซวิ่นเลี่ยนเจี้ยน “เจิ้งเหอ” เห้าฝางเหม่ย (ค.ศ. 1989 เรือฝึกเดินสมุทรลำแรกของจีนชื่อ “เจิ้งเหอ” ไปเยือนสหรัฐอเมริกา. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2008, จาก http://news.rednet. cn/c/2008/05/09/1503185.htm.
胡蓉平。(2008/05/09)。1989年 第一艘远洋航海训练舰“郑和”号访美。2008年11月9日,http://news.rednet.cn/c/2008/05/09/1503185.htm。