วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ (history) และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography)



แนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ (history) และประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography)

คำว่า “ประวัติศาสตร์” หรือ “history” ในภาษาอังกฤษ มาจากภาษากรีกที่ว่า “historia” ซึ่งหมายถึง “การเรียนรู้” โดย กอตชัลค์ (2525) ได้เสนอว่า นิยามของคำว่าประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบันก็คือ “เรื่องอดีตของมนุษยชาติ” และถึงแม้ว่าการศึกษาเกี่ยวกับอดีตของมนุษยชาติจะเป็นภารกิจหลักของนักประวัติศาสตร์ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วเขามองว่านักประวัติศาสตร์ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายของภารกิจดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญสองประการ ได้แก่ (1) เรื่องราวในอดีตของมนุษยชาตินั้นมีมากมายเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถสังเกต จดจำ หรือหวนรำลึกได้ กิจกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์จึงเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้ทิ้งร่องรอยหรือหลักฐานเอาไว้ หรือถ้ามีก็เป็นหลักฐานหรือร่องรอยที่ไม่อาจยืนยันข้อเท็จจริงได้อย่างสมบูรณ์ กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ถูกจำกัดโดยความไม่สมบูรณ์ของหลักฐานนั่นเอง และ (2) หลักฐานจำนวนน้อยที่หลงเหลืออยู่นั้น เป็นหลักฐานที่ไม่ได้สะท้อนความจริงในเชิงวัตถุวิสัย (objective reality) เพราะสิ่งที่จะเป็นวัตถุวิสัยได้ต้องปรากฏอย่างเป็นอิสระอยู่นอกเหนือความคิดของมนุษย์ หากแต่ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะมีรากฐานอยู่บนความทรงจำ อันได้แก่หลักฐานที่เป็นข้อเขียนหรือคำพูด ดังนั้นจึงมีแนวโน้มของความเป็นอัตวิสัย (subjective) อยู่มาก


ความไม่สมบูรณ์และความเป็นอัตวิสัยของหลักฐานนี้เองที่ทำให้ในการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษยชาติ นักประวัติศาสตร์ต้องพยายามสร้าง “มโนภาพ” ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดของอดีต โดยอาศัยหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ รวมทั้งนำเอาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ มาช่วยในการวินิจฉัย กระบวนการรื้อฟื้นมโนภาพเกี่ยวกับอดีตดังกล่าวเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การเขียนประวัติศาสตร์” หรือ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” (historiography) กอตชัลค์ (2525) ได้ย้ำว่า แม้ว่าประวัติศาสตร์นิพนธ์เชิงอุดมคติมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างมโนภาพในอดีตอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากนักประวัติศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกสรรข้อมูล การจัดระเบียบข้อมูล การเน้นความสำคัญหรือลดความสำคัญของข้อมูล รวมทั้งการจัดลำดับความเป็นเหตุเป็นผลของข้อมูล ซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์นิพนธ์มีความเป็นอัตวิสัยอย่างเลี่ยงไม่ได้ สอดคล้องกับที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี (2527) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า


"เมื่อเราหยิบผลงานทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาอ่าน สิ่งแรกที่เราพบไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นประวัติศาสตร์ล้วนๆ หากแต่อาจเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ได้เรียบเรียงขึ้นมามากกว่า ผลงานทางประวัติศาสตร์หรือบันทึกต่างๆที่เราอ่าน จึงอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงโดยเนื้อแท้ เพราะได้กลายรูปมาเป็นการคัดเลือก ตัดทอน หรือรวบรวมเรื่องเพื่อทำความตกลงใจก่อนที่จะเขียนขึ้นมานั่นเอง"
(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี, 2527, น. 3-4)

อี. เอช. คาร์ (2525) ได้ให้ข้อเตือนใจเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ไว้สามประการ ดังนี้

ประการแรก เราไม่ควรมองข้ามบทบาทที่สำคัญของนักประวัติศาสตร์ในการ “เลือก” ข้อเท็จจริงที่เหมาะสม และ “ตัดสิน” ว่าความจริงอะไรบ้างที่ควรให้ความสำคัญ ความจริงอะไรบ้างที่สามารถตัดทิ้งไปได้ ตัวอย่างเช่น นับแต่โบราณกาลมามีผู้คนจำนวนมากเดินข้ามแม่น้ำรูบิคอน (Rubicon) หากแต่มีเพียงการข้ามแม่น้ำดังกล่าวของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เมื่อ 49 ปีก่อนคริสต์ศักราชเท่านั้นที่นักประวัติศาสตร์ถือว่ามีความสำคัญ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผู้บันทึกพงศาวดารในสมัยกลางของยุโรปมักจะ “เลือก” บันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเสียเป็นส่วนใหญ่ จนทำให้คนรุ่นหลังที่มาอ่านพงศาวดารอาจเข้าใจผิดได้ว่าประวัติศาสตร์ยุคกลางมีแต่เรื่องการศาสนาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ในทัศนะของคาร์ ความเชื่อที่ว่ามีข้อมูลทางประวัติศาสตร์แท้ๆที่เป็นวัตถุวิสัยและเป็นอิสระจากการตีความของนักประวัติศาสตร์นั้นถือเป็น “ความเข้าใจผิดที่น่าหัวร่อเป็นอย่างยิ่ง” (คาร์, 2525, น. 6) เพราะในความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์มิได้ตกทอดมาถึงเราอย่างบริสุทธิ์


ประการที่สอง นักประวัติศาสตร์จะต้องมีจินตนาการเพื่อที่จะเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังผู้ที่เขาศึกษา ซึ่งการมีจินตนาการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย คาร์ได้ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากของนักประวัติศาสตร์เสรีนิยมในคริสตศตวรรษที่ 19 ที่จะมีจินตนาการเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในยุคกลาง เนื่องจากนักประวัติศาสตร์กลุ่มดังกล่าวถูกเลี้ยงดูอบรมมาให้ผูกพันกับรัฐชาติ ทำให้พวกเขาไม่อาจทำความเข้าใจในความรู้สึกนึกคิดของคนในสมัยกลางที่มีความผูกพันรวมศูนย์อยู่กับศาสนจักรได้อย่างสมบูรณ์

ประการที่สาม แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หากแต่พวกเขาก็ยังคงผูกพันอยู่กับกาลเวลาและสภาวะในยุคสมัยของเขา ซึ่งเขาไม่สามารถแยกตัวเองออกมาได้ ดังนั้นภาษาหรือการเลือกใช้คำของนักประวัติศาสตร์ เช่น สงคราม จักรวรรดิ ประชาธิปไตย จึงเป็นการนำเอาคำในความหมายในปัจจุบันไปใช้ในการอธิบายเรื่องราวในอดีต ซึ่งการใช้คำดังกล่าวมักมีความโน้มเอียงทางการเมืองแฝงมาด้วย นักประวัติศาสตร์จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอดีต หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบัน

ขณะที่ธงชัย วินิจจะกูล (2533) ก็ได้เสนอความเห็นในทำนองที่คล้ายคลึงกันว่า ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่เราเชื่อว่าเป็นการรื้อฟื้นความจริงที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นผลผลิตที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ด้วยเหตุที่นักประวัติศาสตร์นำเอาคุณค่าในยุคปัจจุบันไปประเมินพฤติกรรมของบุคคลในอดีต จึงทำให้นักประวัติศาสตร์อ่านเอกสารโดยเข้าใจจารีตทางวรรณกรรมของเอกสารนั้นผิดไป ธงชัยได้ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ไทยกรณีของสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ซึ่งร่วมมือกับพระเจ้าบุเรงนองของพม่าจนนำไปสู่การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2112 โดยเหตุที่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่นับจากครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมาต่างมีสำนึกเรื่องชาติ (nation) พวกเขาจึงอธิบายพฤติกรรมของสมเด็จพระมหาธรรมราชาในการไปร่วมมือกับพม่าว่าเป็นลักษณะของ “ผู้ร้าย” และเมื่อถึงบั้นปลายพระชนม์ชีพที่พระองค์ทรงหันมาสนับสนุนสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้เป็นพระราชโอรสในการต่อสู้กับพม่า นักประวัติศาสตร์กลุ่มนี้ก็ได้อธิบายว่าพระองค์เป็น “ผู้ร้ายกลับใจ” ที่หันมาสนับสนุนพระราชโอรสในการ “กู้ชาติ”

ธงชัยมองว่าคำอธิบายดังกล่าวดูจะแตกต่างไปมากจากประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทยในยุคก่อนหน้านั้นอย่าง ลิลิตตะเลงพ่าย และ สังคีตยวงศ์ ซึ่งมิได้ฉายภาพความเป็นผู้ร้ายของสมเด็จพระมหาธรรมราชาออกมาเลย หากแต่กลับให้ภาพว่าพระองค์เป็น “ขุนพลแก้ว” ของพระเจ้าบุเรงนองผู้เป็น “พญาจักรพรรดิราช” ตามคติทางพุทธศาสนา ขณะที่สมเด็จพระมหินทราธิราชผู้ซึ่งพยายามปกป้องกรุงศรีอยุธยาจากการรุกรานของพม่ากลับกลายเป็นผู้ที่ขัดขวางบุญบารมีของพระเจ้าบุเรงนอง สอดคล้องกับงานของสมบัติ จันทรวงศ์ (2533) เกี่ยวกับพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวได้เน้นย้ำ “กษัตริยภาพ” ของสมเด็จพระมหาธรรมราชาไว้อย่างโดดเด่นเหนือพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆของกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นรองเพียงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ธงชัยจึงมองว่าประวัติศาสตร์เป็นการสร้างระเบียบความสัมพันธ์ของเหตุการณ์อันไร้ระเบียบ ให้กลายเป็นความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยอาศัยภาษาและโครงเรื่องเข้ามาช่วย จนทำให้เราอาจหลงคิดไปได้ว่าเรากำลังเข้าใกล้ความจริง ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วประวัติศาสตร์อาจมิได้แตกต่างไปจากเรื่องแต่ง (fiction) เลยก็ได้

อย่างไรก็ตาม คาร์ (2525) ได้แสดงความไม่เห็นด้วยต่อทฤษฎีที่มองประวัติศาสตร์อย่างสุดโต่งเกินไป ทั้งทฤษฎีที่มองว่าประวัติศาสตร์คือผลผลิตที่เป็นอัตวิสัยล้วนๆ โดยผ่านการตีความของนักประวัติศาสตร์ และอีกทฤษฎีหนึ่งที่ว่าประวัติศาสตร์คือการรวบรวมข้อเท็จจริงอย่างเป็นวัตถุวิสัยและให้ความสำคัญต่อข้อเท็จจริงเหนือการตีความ คาร์มองว่าในความเป็นจริงแล้ว “นักประวัติศาสตร์” และ “ข้อมูล” ต่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและพึ่งพาอาศัยกัน เพราะนักประวัติศาสตร์ไม่อาจทำงานได้หากปราศจากข้อมูล และข้อมูลก็ไม่อาจมีความหมายได้หากปราศจากนักประวัติศาสตร์ เขาจึงมองว่าโดยที่สุดแล้ว ประวัติศาสตร์ก็คือ “กระบวนการอันต่อเนื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักประวัติศาสตร์กับข้อมูลของเขา ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาอันไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างปัจจุบันกับอดีต” (คาร์, 2525, น. 23)


เอกสารอ้างอิง


กอตชัลค์, หลุยส์. (2525). การเข้าใจประวัติศาสตร์: มูลบทว่าด้วยระเบียบวิธีวิจัยประวัติศาสตร์ (ธิติมา พิทักษ์ไพรวัน, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

คาร์, อี. เอช. (2525). ประวัติศาสตร์คืออะไร (ชาติชาย พณานานนท์, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี. (2527). บทกล่าวนำ: ประวัติศาสตร์และปรัชญาประวัติศาสตร์. ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และสุชาติ สวัสดิ์ศรี (บรรณาธิการ), ปรัชญาประวัติศาสตร์ (น. 1-8). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2533). ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย: กรณีพระมหาธรรมราชา. ใน สุนทรี อาสะไวย์ และกาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ), ไทยคดีศึกษา (น. 173-196). กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง.

สมบัติ จันทรวงศ์. (2533). ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยความสำคัญของคำพูดในการเขียนประวัติศาสตร์อยุธยา: ศึกษาเฉพาะกรณีบทสนทนาในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. ใน สุนทรี อาสะไวย์ และกาญจนี ละอองศรี (บรรณาธิการ), ไทยคดีศึกษา (น. 123-171). กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้ง.

วันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แนวคิดเรื่อง soft power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy)


แนวคิดเรื่อง soft power และการทูตสาธารณะ (public diplomacy)


ความหมายและลักษณะของ soft power[1]

ในต้นทศวรรษ 1990 Nye (2004) เป็นบุคคลแรกที่ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า soft power ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยได้อธิบายว่า ปกติเรามักจะเข้าใจ “อำนาจ” ว่าหมายถึง ความสามารถในการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่เราต้องการ (the ability to get the outcomes one wants) เช่น การใช้อำนาจทางทหารหรือทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศอื่นปรับเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อประเทศของตน หรือการใช้ไม้แข็ง (sticks) และไม้นวม (carrots) ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งอำนาจแบบดังกล่าวนี้เพียงรูปแบบหนึ่งของอำนาจเท่านั้น หรือที่ Nye เรียกว่าเป็น hard power หากแต่ยังมีอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งที่เราอาจละเลยหรือมองข้ามไป นั่นคือ soft power อันหมายถึงอำนาจที่ทำให้ประเทศอื่นๆปฏิบัติตามความต้องการของเรา (co-opt) โดยที่เราไม่จำเป็นต้องดำเนินการบังคับ (coerce) หรือมีข้อแลกเปลี่ยนแต่ประการใด กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นความสามารถในการทำให้ผู้อื่นมีความพอใจในการเลือก (preference) ที่สอดคล้องกับความต้องการของเรา เป็นการใช้อำนาจเชิงดึงดูด (attractive power) เพื่อนำไปสู่การยอมรับโดยดุษณี (acquiescence) ซึ่งแตกต่างไปจากการใช้อิทธิพล (influence) ที่ต้องอาศัยอำนาจแบบ hard power อยู่มาก


ที่มาของ soft power


Nye (2004) ระบุว่า แหล่งทรัพยากรสำคัญที่เป็นที่มาของ soft power นั้นประกอบไปด้วย 3 แหล่ง ได้แก่

1. วัฒนธรรม (culture) ถ้าวัฒนธรรมของประเทศหนึ่งมีความสอดคล้องกับผลประโยชน์และค่านิยมของประเทศอื่นๆ โอกาสที่วัฒนธรรมดังกล่าวจะกลายเป็น soft power ของประเทศนั้นก็จะมีมากขึ้น ช่องทางที่ทำให้วัฒนธรรมของประเทศหนึ่งเป็นที่รู้จักในประเทศอื่นๆนั้นมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้า การเยี่ยมเยือน การติดต่อสื่อสาร และการแลกเปลี่ยน

2. ค่านิยมทางการเมือง (political values) ถ้าประเทศดังกล่าวมีค่านิยมทางการเมืองที่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ soft power ของประเทศนั้นจะเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันถ้าค่านิยมของประเทศดังกล่าวขัดกับค่านิยมของประเทศอื่นๆอย่างชัดเจน soft power ของประเทศนั้นก็จะลดลง ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 1950 ยังคงมีการแบ่งแยกสีผิว (racial segregation) ทำให้ soft power ของสหรัฐอเมริกาในทวีปแอฟริกานั้นมีน้อย เป็นต้น

3. นโยบายต่างประเทศ (foreign policies) ถ้าประเทศหนึ่งดำเนินนโยบายที่หน้าไหว้หลังหลอก (hypocritical) ก้าวร้าว และไม่แยแสต่อท่าทีของประเทศอื่นๆ โอกาสที่จะสร้าง soft power จะมีน้อย ดังเช่นกรณีของสหรัฐอเมริกาที่บุกยึดอิรักใน ค.ศ. 2003 โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของประเทศอื่นๆ เป็นต้น แต่ถ้าประเทศดังกล่าวมีแนวนโยบายต่างประเทศที่รักสันติภาพและเคารพในสิทธิมนุษยชน โอกาสที่จะสร้าง soft power ให้เกิดขึ้นจะมีมาก

การทูตสาธารณะ (public diplomacy)


Nye (2004) ได้เสนอว่า เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ soft power บรรลุผลในทางปฏิบัติก็คือสิ่งที่เรียกว่า การทูตสาธารณะ (public diplomacy) ซึ่งหมายถึงปฏิสัมพันธ์ที่มิได้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลของต่างประเทศ หากแต่พุ่งเป้าหมายหลักไปยังปัจเจกบุคคลและองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศของตนเองแล้ว ยังมุ่งหวังที่จะสร้างบรรยากาศอันดีในระยะยาวเพื่อรองรับนโยบายต่างประเทศที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย โดยการทูตสาธารณะสามารถแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่


1. การสื่อสารประจำวัน (daily communications) ใช้เพื่ออธิบายการตัดสินใจด้านนโยบาย เช่น การแถลงข่าวหรือนโยบายของรัฐบาลต่อสื่อสารมวลชนทั้งในและต่างประเทศ (press conference) หรือการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อการแถลงจุดยืนหรือท่าทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือวิกฤตการณ์ เป็นต้น


2. การสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ (strategic communications) ซึ่งออกมาในรูปของการรณรงค์ (campaign) เชิงสัญลักษณ์ โดยมีการกำหนดแนวเรื่อง (theme) ของการรณรงค์ดังกล่าว ดังเช่นในทศวรรษ 1990 ที่บริติช เคาน์ซิล (The British Council) ได้พยายามส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศอังกฤษว่าเป็นดินแดนที่มีความทันสมัย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และยอมรับการดำรงอยู่ของสังคมแบบพหุชาติพันธุ์ เป็นต้น

3. การพัฒนาความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนผ่านบุคคลสำคัญ (the development of lasting relationships with key individuals) โดยอาศัยช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนบุคลากร การฝึกงาน การสัมมนา การประชุม การพบกันระหว่างสื่อมวลชน การฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน การให้ความช่วยเหลือทางทหารในยามสันติ ฯลฯ


Melissen (2005) ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารและข้อมูลข่าวสารนั้นพัฒนาไปมากจนทำลายเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการทูตสาธารณะ (public diplomacy) ซึ่งเน้นกลุ่มผู้รับสารภายนอกประเทศ กับ กิจการสาธารณะ (public affairs) ซึ่งเน้นกลุ่มผู้รับสารภายในประเทศ ด้วยเหตุที่โลกของเรามีลักษณะเชื่อมโยงกัน (interconnected) เช่นนี้ทำให้บางครั้งการดำเนินการทูตสาธารณะสามารถกระทำผ่านกลุ่มผู้รับสารภายในประเทศได้ ดังเช่นที่กระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษในปัจจุบันมักจะชี้แจงนโยบายต่างประเทศของตนที่มีต่อภูมิภาคตะวันออกกลางผ่านองค์กรมุสลิมสายกลางในอังกฤษ เป็นต้น


การทูตสาธารณะและแนวคิดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง


Melissen (2005) ได้เปรียบเทียบการทูตสาธารณะ (public diplomacy) กับแนวคิดอื่นๆที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. การโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda)
แม้ว่าการโฆษณาชวนเชื่อจะมีจุดประสงค์เดียวกับการทูตสาธารณะ นั่นคือการชักจูงให้ผู้รับสารคิดเห็นไปในทางเดียวกับผู้ส่งสาร หากแต่ความแตกต่างที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า การโฆษณาชวนเชื่อนั้นมักจะออกมาในรูปของการสื่อสารทางเดียว (one-way messaging) คือจากผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร และพยายามทำให้ผู้รับสาร “เชื่อ” โดยไม่ต้องไตร่ตรองอย่างมีอิสระ หากแต่การทูตสาธารณะนั้นจะเป็นการสื่อสารสองทาง (two-way street) ที่จะมีการสื่อสารไปมาระหว่างผู้ส่งสารกับสาธารณชนในต่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้ “คิด” อย่างมีอิสระมากกว่า

2. การสร้างตราแห่งชาติ (nation-branding)
แม้ว่าการสร้างตราแห่งชาติจะมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศเช่นเดียวกันกับการดำเนินการทูตสาธารณะ หากแต่สองสิ่งนี้มีจุดเน้นที่ต่างกัน การทูตสาธารณะจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่จำกัดขอบเขตอยู่เฉพาะบางประเด็น เนื่องด้วยผู้ดำเนินการทูตดังกล่าวตะหนักดีว่า ในปัจจุบันการสื่อสารระหว่างประเทศมีผู้แสดงและระดับชั้นที่มากมายหลากหลาย โดยที่รัฐไม่สามารถผูกขาดการสื่อสารระหว่างประเทศได้อีกต่อไป ในขณะที่การสร้างตราแห่งชาติมุ่งเน้นการส่งเสริมภาพลักษณ์แบบองค์รวม (holistic approach) เพื่อปรับเปลี่ยนการรับรู้ (perception) เกี่ยวกับประเทศนั้นๆในทุกด้าน อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าการสร้างตราแห่งชาติกับการทูตสาธารณะนั้นมีลักษณะที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน (complementary) อยู่มากพอสมควร

3. ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ (foreign cultural relations)
ปัจจุบันขอบเขตของความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศและการทูตสาธารณะนั้นมีความเหลื่อมซ้อนกันอยู่มาก เนื่องจากความหมายของคำว่า “ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ” มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม (art and culture) อีกต่อไป หากแต่ยังขยายมาครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนความคิด การวิจัย การสื่อสารมวลชน และวิวาทะแห่งชาติ (national debate) อีกด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเอาชนะใจ (winning hearts and minds) และสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาประเทศในระยะยาว ซึ่งการทูตสาธารณะก็มีจุดประสงค์ที่ไม่ต่างกัน

จุดอ่อนของ soft power และการทูตสาธารณะ


Nye (2004) ได้เตือนว่า soft power มีจุดอ่อนสำคัญอยู่ 2 ประการ จุดอ่อนประการแรกก็คือ ขณะที่การใช้ hard power นั้นผูกขาดโดยภาครัฐ หากแต่ soft power บางส่วนอยู่นอกเหนือไปจากขอบเขตที่รัฐจะควบคุมหรือจัดการได้ เพราะมีตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actors) เข้ามามีบทบาทด้วย โดยที่บทบาทดังกล่าวอาจเป็นไปโดยสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐ เช่น บทบาทของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด (Hollywood) ที่ทำให้ผู้ชมในประเทศจีนจำนวนหนึ่งเริ่มหันมาตระหนักในสิทธิที่ตนพึงมีตามกฎหมายมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลและรัฐสภาอเมริกันที่พยายามเรียกร้องให้จีนปรับปรุงระบบกฎหมายและสร้างระบบนิติรัฐ (rule of law) เป็นต้น หากแต่บางครั้งบทบาทของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐก็ขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐ เช่น แนวคิดต่อต้านสงครามในหมู่ปัญญาชนและสื่อสารมวลชนอเมริกันช่วงทศวรรษ 1960 ขัดแย้งกับแนวนโยบายของรัฐบาลอเมริกันที่ต้องการทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ต่อไป เป็นต้น


จุดอ่อนประการที่สองในความคิดของ Nye ก็คือ soft power ให้ผลในทางอ้อมและใช้เวลายาวนานกว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับ Melissen (2005) ที่เน้นว่า การทูตสาธารณะ (public diplomacy) มิใช่เครื่องมือที่สามารถบรรลุผลได้ทันทีทันใด (immediate foreign policy tool) หากแต่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน (trust and credibility) ในระยะกลางและระยะยาว


[1] คำว่า soft power นี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์รัฐศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ยังมิได้บัญญัติคำแปลในภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่มีนักวิชาการบางท่านใช้คำแปลว่า “อำนาจละมุน”


เอกสารอ้างอิง


Melissen, Jan. (2005). The New Public Diplomacy: Between Theory and Practice. In Jan Melissen (Ed.), The New Public Diplomacy: Soft Power in International Relations (pp. 3-27). Hampshire: Palgrave Macmillan.


Nye, Jr., Joseph S. (2004). Soft Power: The Means to Success in World Politics. New York: PublicAffairs.

แนวคิดเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรและภาพลักษณ์ของชาติ


แนวคิดเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรและภาพลักษณ์ของชาติ


การศึกษาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ขององค์กร (corporate/organizational image) เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมองค์กร (organizational behavior) การตลาด (marketing) การสื่อสาร (communications) สังคมวิทยา (sociology) การโฆษณา (advertising) และการประชาสัมพันธ์ (public relations) Brown et al. (2006) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า แม้ว่าสาขาวิชาต่างๆจะมีแนวทางการพิจารณาเรื่องภาพลักษณ์ที่แตกต่างกันไปบ้าง หากแต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับภาพลักษณ์ร่วมกันอยู่จำนวนหนึ่ง นั่นคือ (1) บุคคลต่างๆรับรู้หรือมีความเชื่อเกี่ยวกับองค์กรนั้นๆอย่างไร (What do individuals know or believe about an organization?) (2) องค์กรดังกล่าวได้พัฒนา ใช้ และ/หรือ เปลี่ยนแปลงข้อมูลที่ได้จากคำถามข้อแรกอย่างไร (How does a focal organization develop, use, and/or change this information?) และ (3) เมื่อบุคคลต่างๆรับรู้หรือมีความเชื่อเกี่ยวกับองค์กรนั้นๆแล้ว พวกเขามีท่าทีตอบกลับอย่างไรบ้าง (How do individuals respond to what they know or believe about an organization?)


จากคำถามทั้งสามข้อข้างต้น Brown et al. จึงได้ทำการสังเคราะห์แนวคิดเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรในสาขาวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน แล้วนำเสนอออกมาเป็นกรอบแนวคิด (framework) และคำนิยามเพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างสาขาวิชาต่างๆเกี่ยวกับภาพลักษณ์ขององค์กร และจะช่วยนำไปสู่การสื่อสารข้ามสาขาวิชาและการศึกษาภาพลักษณ์ขององค์กรในเชิงสหวิทยาการ (interdisciplinary) ได้มากขึ้น


Brown et al. (2006) ได้ทำความเข้าใจกับผู้อ่านในเบื้องแรกว่า การศึกษาเรื่องภาพลักษณ์ขององค์กรนั้นสามารถพิจารณาได้เป็น 2 แบบคือ (1) ภาพลักษณ์ขององค์กรแบบรวม (all aspects) และ (2) ภาพลักษณ์ขององค์กรแบบแกนกลาง (central - C) ดำรงอยู่นาน (enduring - E) และเด่นชัด (distinctive – D และเรียกรวมกันว่า CED aspects) ตัวอย่างของภาพลักษณ์แบบแรกก็คือ การที่ผู้บริโภคจำนวนมากนึกถึงเครื่องดื่มโคคา-โคล่า (Coca-Cola) ควบคู่ไปกับซานตาคลอส (Santa Claus) เนื่องจากผู้บริโภคเคยชินกับโฆษณาที่มีข้อความว่า “Santa drinking a Coke” ทั้งๆที่จริงแล้วซานตาคลอสมิได้สื่อความหมายให้เห็นภาพลักษณ์ที่สำคัญของบริษัทโคคา-โคล่าแต่อย่างใด งานศึกษาของ Brown et al. จึงเน้นไปที่ภาพลักษณ์แบบที่สองมากกว่า ซึ่งหมายถึงภาพลักษณ์ที่สะท้อนลักษณะสำคัญขององค์กร (organizational characteristic) และด้วยเหตุที่การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ในแบบที่สองนั้นเป็นการวิเคราะห์แบบ CED ระดับของการวิเคราะห์จึงมุ่งไปที่การวิเคราะห์องค์กรในระดับองค์กร (organizational analysis) มากกว่าการวิเคราะห์องค์กรในระดับปัจเจกบุคคล (individual analysis)

Brown et al. ได้นำเสนอกรอบแนวคิดรวมทั้งหมด 4 ประการ ดังนี้


1. อัตลักษณ์ (identity) คำถามที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ องค์การของเราคือใคร (Who are we as an organization?) หมายถึง ผู้ที่อยู่ในองค์กรนั้นมีการรับรู้ (perception) เกี่ยวกับองค์กรของตนเองอย่างไร โดยเน้นไปที่การรับรู้ของผู้คนในฐานะกลุ่มทางสังคม (social group)


2. ภาพลักษณ์ที่ต้องการนำเสนอสู่ภายนอก (intended image) คำถามที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ องค์กรของเราต้องการให้ผู้อื่นคิดเกี่ยวกับองค์กรของเราอย่างไร (What does the organization want others to think about the organization?) หมายถึง เราต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจคุณลักษณะ (attributes and characteristics) ขององค์กรเราในลักษณะใด โดยที่ภาพลักษณ์ที่องค์กรนำเสนอออกไปยังกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง (stakeholder groups) นั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ เช่น บริษัทแห่งหนึ่งอาจนำเสนอภาพลักษณ์ของการเป็นหน่วยงานที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (customer-centered) ไปยังคนกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันก็แสดงภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทที่อนุรักษ์นิยมในเรื่องงบประมาณ (fiscally conservative) ไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำเสนอภาพลักษณ์โดยมีกลุ่มเป้าหมาย (target group) ที่แตกต่างกันไปนั่นเอง


3. ภาพลักษณ์ที่เราเชื่อว่าผู้อื่นมีต่อเรา (construed image) คำถามที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ องค์กรของเราเชื่อว่าผู้อื่นมององค์กรของเราอย่างไร (What does the organization believe others think of the organization?) คำถามดังกล่าวสำคัญในแง่ที่ว่า การรับรู้มุมมองที่ผู้อื่นมีต่อองค์กรของตนอาจส่งผลต่ออัตลักษณ์ (identity) ขององค์กรนั้นๆได้ นอกจากนี้การรับรู้ดังกล่าวยังทำให้องค์กรต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ต้องการนำเสนอสู่ภายนอก (intended image) ขึ้นมาอีกด้วย


4. ชื่อเสียง (reputation) คำถามที่สำคัญของแนวคิดนี้ก็คือ จริงๆแล้วผู้อื่นที่เกี่ยวข้องคิดต่อองค์กรของเราอย่างไร (What do stakeholders actually think of the organization?) ซึ่งหมายถึง การรับรู้ (perception) ที่ผู้อื่นมีต่อองค์กรของเรานั่นเอง ชื่อเสียงขององค์กรจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับความพยายามขององค์กรในการนำเสนอภาพลักษณ์สู่ภายนอก (intended image) แล้ว บางครั้งก็ยังมาจากปัจจัยอื่นๆที่ตัวองค์กรเองก็ไม่สามารถควบคุมหรือจัดการได้ เช่น การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรของเราโดยบริษัทคู่แข่ง โดยนักวิเคราะห์ หรือโดยสื่อสารมวลชน เป็นต้น


Fan (n.d.) ได้นำแนวคิดของ Brown et al. มาประยุกต์ใช้กับเรื่องภาพลักษณ์ของชาติ (nation image) โดยเฉพาะการจัดการภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศ Fan มองว่าภาพลักษณ์และชื่อเสียงต่างเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กันและสัมพันธ์กัน (a pair of interrelated constructs) เพราะภาพลักษณ์ (image) คือสิ่งที่คนในชาติต้องการสื่อสารออกไปให้โลกภายนอกได้เข้าใจในสิ่งที่เป็นแกนกลาง ดำรงอยู่นาน และเด่นชัด (CED) เกี่ยวกับประเทศของตน ขณะที่ชื่อเสียง (reputation) คือผลย้อนกลับ (feedback) ที่ประเทศนั้นๆได้รับจากโลกภายนอกในเรื่องที่เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ (credibility) ของประเทศ ด้วยเหตุนี้แต่ละประเทศจึงให้ความสำคัญต่อสิ่งที่เรียกว่า ตราแห่งชาติ (nation brand) และการสร้างตราแห่งชาติ (nation-branding)


Fan ได้อธิบายว่า ตราแห่งชาติ (nation brand) หมายถึง ความรู้สึกนึกคิดที่นานาประเทศมีต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยตราแห่งชาตินั้นจะปรากฏออกมาได้ใน 3 รูปแบบ คือ (1) ในเชิงการเมือง (political) (2) ในเชิงเศรษฐกิจและการค้า (economic/commercial) และ (3) ในเชิงวัฒนธรรม (cultural) โดยปกตินานาประเทศมักจะมีความรู้สึกนึกคิด หรือ “ตรา” เกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่งอยู่แล้ว เช่น การมองว่าประเทศ A เป็นประเทศเล็กและอ่อนแอ เป็นต้น ดังนั้นหากประเทศ A ต้องการจัดการกับ “ตรา” ที่ประเทศอื่นๆมอบให้แก่ตน ประเทศ A ก็จะต้องใช้เทคนิคทางการสื่อสารเพื่อส่งเสริม (promote) และจัดการ (manage) ภาพลักษณ์ให้กับประเทศตนเอง หรือที่เรียกว่า การสร้างตราแห่งชาติ (nation-branding) นั่นเอง


เอกสารอ้างอิง


Brown, Tom J., Peter A. Dacin, Michael G. Pratt and David A. Whetten. (2006). Identity, Intended Image, Construed Image, and Reputation: An Interdisciplinary Framework and Suggested Terminology. Journal of the Academy of Marketing Science 34(2), 99-106.


Fan, Ying. (n.d.). Key Perspectives in Nation Image: A Conceptual Framework for Nation Branding, 1-13. Retrieved October 23, 2008, from http://bura.brunel.ac.uk/ bitstream/2438/1872/4/Key%2Bperspectives%2Bin%2Bnation%2Bimage.pdf.

วันเสาร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2551

บรรณานุกรมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (ค.ศ. 1644 - ค.ศ. 1949)



ภาษาไทย

กรุนเฟลด์, เอ. ทอม. 2546. ทิเบตที่เป็นจริง. แปลโดย ส.สุวรรณ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

กัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้า (ทรงรวบรวม). 2540. จีนอีสานและเสฉวน: จากแดนแมนจูสู่ภูง่อไบ๊. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วงศ์จร.

เขียน ธีระวิทย์. 2547. วิวัฒนาการการปกครองของจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2539. ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอุตสาหกรรมเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.

ทวีป วรดิลก. 2538. ประวัติศาสตร์จีน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

บัทสัน, เบนจามิน เอ. 2543. สยาม, ราชาธิปไตยกับมหาอำนาจตะวันตก. ใน อวสานสมบูรณาญา สิทธิราชย์ในสยาม. บรรณาธิการแปลโดย กาญจนี ละอองศรี และ ยุพา ชุมจันทร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ผู่อี๋, อ้ายซิน เจวี๋ยหลัว. 2533. จากจักรพรรดิสู่สามัญชน. แปลโดย ยุพเรศ วินัยธร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์รวมทรรศน์

พาย, ลูเชียน ดับเบิ้ลยู. 2547. จีนสามยุค. แปลโดย คณิน บุญสุวรรณ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ.

แฟร์แบงค์, จอห์น เค. และคณะ. 2518. เอเชียตะวันออกยุคใหม่ เล่ม 1. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

--------. 2520. เอเชียตะวันออกยุคใหม่ เล่ม 2. แปลโดย ศรีสุข ทวิชาประสิทธิ์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

--------. 2521ก. เอเชียตะวันออกยุคใหม่ เล่ม 3. แปลโดย กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ ชัยโชค จุลศิริวงศ์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

--------. 2521ข. เอเชียตะวันออกยุคใหม่ เล่ม 4. แปลโดย กุสุมา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ วิสาขา เลห์แมน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

ภูวดล ทรงประเสริฐ. 2547. จีนโพ้นทะเลสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: แบรนด์เอจ.

มัวร์ จูเนียร์, บาร์ริงตัน. 2519. จีน-อินเดีย: รากฐานการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง. แปลโดย ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. กรุงเทพฯ: ศึกษิตสยาม.

มิตามูระ, ตาอิซุเกะ. ม.ป.ป. ขันทีจีน. แปลโดย วินัย พงศ์ศรีเพียร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วรรณศิลป์

มูเนมิซึ, มุซึ. 2534. เคน เคน โรคุ: บันทึกการทูตของผู้นำญี่ปุ่นเกี่ยวกับสงครามกับจีนเมื่อ ค.ศ. 1894-95. แปลโดย กมล เพ็ญศรีนุกูร. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ล. เสถียรสุต. 2529. ประวัติวัฒนธรรมจีน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ ก.ไก่.

วงเดือน นาราสัจจ์. 2543. “Chinese Exclusion Acts: รัฐบัญญัติกีดกันชาวจีน.” ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากล: สหรัฐอเมริกา เล่ม 2 อักษร C-D ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.

วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน (บก.). 2542. พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

วุฒิชัย มูลศิลป์. 2534. การปรับตัวของไทยและจีนในสมัยจักรวรรดินิยมใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นอ้อ.

สารสิน วีระผล. 2548. จิ้มก้องและกำไร: การค้าไทย-จีน 2195-2396. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

สิทธิพล เครือรัฐติกาล. 2548ก. ย้อนพินิจประธานาธิบดีวังจิงเว่ย. จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา (พฤษภาคม 2548): 1-2.

--------. 2548ข. สงครามฝิ่นและสนธิสัญญานานกิงในทัศนะใหม่. จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา (สิงหาคม 2548): 1-2.

--------. 2548ค. ปัญหาว่าด้วยจักรวรรดินิยมทางเศรษฐกิจในจีน. จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา (ตุลาคม 2548): 1-2.

--------. 2548ง. ความเป็น “สมัยใหม่” ของจีน. จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา (พฤศจิกายน 2548): 1-2.

--------. 2549. วิพากษ์ “การปรับตัวให้กลายเป็นจีน” ของราชวงศ์ชิง. จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา (สิงหาคม 2549): 1-2.

--------. 2550ก. พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง (1). จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (เมษายน 2550): 3-4.

--------. 2550ข. พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง (จบ). จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา ฉบับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (พฤษภาคม 2550): 3-4.

สืบแสง พรหมบุญ. 2525. ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ. 1282-1833. แปลโดย กาญจนี ละอองศรี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช.

สุวรรณา สถาอานันท์. 2548. กระแสธารปรัชญาจีน: ข้อโต้แย้งเรื่อง ธรรมชาติ อำนาจ และจารีต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หม่า เย่า และคณะ. 2549. ประวัติศาสตร์ยูนนานสมัยใหม่. แปลและเรียบเรียงโดย อุษา โลหะจรูญ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์.

หวาง เสี่ยวชิว. 2537. เปรียบเทียบการปฏิรูปประเทศระหว่างจีน-ญี่ปุ่น-ไทยในครึ่งหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19. แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร. วารสารไทย-ญี่ปุ่นศึกษา (ธันวาคม): 1-22.

อดุลย์ รัตนมั่นเกษม. 2534. ฮ่องเต้ สิบปฐมกษัตริย์ผู้สร้างประวัติศาสตร์แต่ละยุคของจีน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ยินหยาง.

อภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค), พระยา. 2518. รายงานเกี่ยวด้วยสถานการณ์บางประการในกรุงนานกิง. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงอภิบาลราชไมตรี (รื่น บุนนาค) ณ เมรุวัดธาตุทอง วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2518. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมพงษ์.

อาทร ฟุ้งธรรมสาร. 2524. วิจารณ์เรื่องสั้นของหลู่ซิ่น. วารสารธรรมศาสตร์ (ธันวาคม): 110-128.

ภาษาจีน (บรรทัดบนเป็นภาษาจีน บรรทัดล่างเป็นคำแปล)

张研, 牛贯杰 2004 ๐ 清史十五讲๐ 北京: 北京大学出版社 ๐
จาง เหยียน และ หนิว กว้านเจี๋ย. 2004. ชิงสื่อสืออู๋เจี่ยง (คำอธิบายสิบห้าเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิง). เป่ยจิง: เป่ยจิงต้าเสวียชูป่านเส้อ.

李国荣(主编) 2004 ๐ 清宫档案揭秘๐ 北京: 中国青年出版社๐
หลี่ กว๋อหรง, บก. 2004. ชิงกงต้างอ้านเจียมี่ (ไขปริศนาจากจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง). เป่ยจิง: จงกว๋อชิงเหนียนชูป่านเส้อ.

李擘 (主编) ๐ 正说清朝 29 皇后๐ 北京: 团结书版社๐
หลี่ ป้อ, บก. 2005. เจิ้งซัวชิงเฉาเอ้อสือจิ่วหวงโฮ่ว (ความจริงเกี่ยวกับจักรพรรดินียี่สิบเก้าพระองค์แห่งราชวงศ์ชิง). เป่ยจิง: ถวนเจี๋ยชูป่านเส้อ

阎崇年2004 ๐ 正说清朝十二帝๐ 北京: 中华书局๐
เหยียน ฉงเหนียน. 2004. เจิ้งซัวชิงเฉาสือเอ้อตี้ (ความจริงเกี่ยวกับจักรพรรดิสิบสองพระองค์แห่งราชวงศ์ชิง). เป่ยจิง: จงหัวชูจวี๋.

ภาษาอังกฤษ

Anderson, Benedict O’Gorman. 2001. “Nationalism.” In The Oxford Companion to Politics of the World, ed. Joel Krieger.

Beasley, W.G. 1987. Japanese Imperialism, 1894-1945. Oxford: Clarendon Press.

Chang, Hao. 1980. Intellectual Change and the Reform Movement, 1890-8. In The Cambridge History of China Vol. 11 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 2, eds. John King Fairbank and Liu Kwang-Ching, 274-338. New York: Cambridge University Press.

Chen Jian. 2001. Mao’s China and the Cold War. Chapel Hill: University of North Carolina Press.

Chun, Hae-jong. 1974. Sino-Korean Tributary Relations in the Ch’ing Period. In The Chinese World Order, ed. John King Fairbank, 90-111. Cambridge, M.A.: Harvard University Press.

Chung, Sue Fawn. 1979. The Much Maligned Empress Dowager: A Revisionist Study of the Empress Dowager Tz’u-Hsi (1835-1908). Modern Asian Studies 13-2: 177-196.

Cohen, Paul C. 1996. Discovering History in China: American Historical Writing on the Recent Chinese Past. New York: Columbia University Press.

Dennerline, Jerry. 2002. The Shun-Chih Reign. In The Cambridge History of China Vol. 9 Part One: The Chi’ng Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 120-182. New York: Cambridge University Press.

Eastman, Lloyd E. 1988. Family, Fields, and Ancestors: Constancy and Change in China’s Social and Economic History, 1550-1949. New York: Oxford University Press.

Elleman, Bruce A. 2001. Modern Chinese Warfare, 1795-1989. London: Routledge.

Eto, Shinkichi. 1990. China’s International Relations, 1911-1931. In The Cambridge History of China Vol. 13: Republican China 1912-1949 Part Two, eds. John King Fairbank and Albert Feuerwerker, 74-115. Cambridge: Cambridge University Press.

Fairbank, John King. 1974. A Preliminary Framework. In The Chinese World Order, ed. John King Fairbank, 1-19. Cambridge, M.A.: Harvard University Press.

Fairbank, John King and Merle Goldman. 1998. China: A New History. Cambridge, M.A.: Belknap Press of Harvard University Press.

Feuerwerker, Albert. 1980. Economic Trends in the Late Ch’ing Empire, 1870-1911. In The Cambridge History of China Vol. 11 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 2, eds. John King Fairbank and Liu Kwang-Ching, 1-69. New York: Cambridge University Press.

Goldstein, Melvyn C. 1999. The Snow Lion and the Dragon: China, Tibet, and the Dalai Lama. Berkeley, CA: University of California Press.

Goma, Daniel. 2006. The Chinese-Korean Border Issue: An Analysis of a Contested Frontier. Asian Survey 46-6: 867-880.

Gray, Jack. 1990. Rebellions and Revolutions: China from the 1800s to the 1980s. Oxford: Oxford University Press.

Grieder, Jerome B. 1970. Communism, Nationalism and Democracy: The Chinese Intelligentsia and the Chinese Revolution in the 1920’s and 1930’s. In Modern East Asia: Essays in Interpretation, ed. James Crowley, 207-233. New York: Harcourt, Brace & World.

Hao, Yen-P’ing and Wang Erh-Min. 1980. Changing Chinese Views of Western Relations, 1840-95. In The Cambridge History of China Vol. 11 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 2, eds. John King Fairbank and Liu Kwang-Ching, 142-201. New York: Cambridge University Press.

Harrison, Henrietta. 2001. China (Inventing the Nation Series). London: Arnold.

Hartford, Kathleen and Steven M. Goldstein. 2003. Perspectives on the Chinese Communist Revolution. In Twentieth-Century China: New Approaches, ed. Jeffrey N. Wasserstrom, 138-168. London: Routledge.

Hsu, Immanuel C.Y. 1980. Late Ch’ing Foreign Relations, 1866-1905. In The Cambridge History of China Vol. 11 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 2, eds. John King Fairbank and Liu Kwang-Ching, 70-141. New York: Cambridge University Press.

--------. 2000. The Rise of Modern China. New York: Oxford University Press.

Huang, Ray. 1990. China: A Macro History. New York: M.E. Sharpe, Inc.

Hunt, Michael H. 1996. The Genesis of Chinese Communist Foreign Policy. New York: Columbia University Press.

Ichiko, Chuzo. 1980. Political and Institutional Reform, 1901-11. In The Cambridge History of China Vol. 11 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 2, eds. John King Fairbank and Liu Kwang-Ching, 375-415. New York: Cambridge University Press.

Jin Guangyao. 2004. The Nationalist Government and the Creation of the United Nations. Social Sciences in China 25 (Autumn): 37-50.

Johnson, Chalmers. A. 1992. Peasant Nationalism and Communist Power: The Emergence of Revolutionary China 1937-1945. Stanford: Stanford University Press.

Kirby, Wiliiam C. 2000. The Internationalization of China: Foreign Relations at Home and Abroad in the Republican Era. In Reappraising Republican China, ed. Frederic Wakeman, Jr. and Richard Louis Edmonds, 179-204. New York: Oxford University Press.

Kuo, Ting-Yee and Liu Kwang-Ching. 1978. Self-Strengthening: the Pursuit of Western Technology. In The Cambridge History of China Vol. 10 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 1, ed. John King Fairbank, 491-542. New York: Cambridge University Press.

Kutcher, Norman. 1997. The Death of the Xiaoxian Empress: Bureaucratic Betrayals and the Crises of Eighteenth-Century Chinese Rule. The Journal of Asian Studies 56-2 (August 1997): 708-725.

Liu Beisi and Xu Qinian. 1997. Exquisite Figure-Pictures from the Palace Museum. Beijing: Forbidden City Publishing House.

Liu, Kwang-Ching. 1978. The Ch’ing Restoration. In The Cambridge History of China Vol. 10 Late Ch’ing, 1800-1911, Part 1, ed. John King Fairbank, 409-490. New York: Cambridge University Press.

Lo Hui-min. 1991. “Manchu abdication (1912).” In The Cambridge Encyclopedia of China, ed. Brian Hook.

Mackerras, Colin. 1998. China in Transformation 1900-1949. New York: Longman.

Meisner, Maurice. 1970. Yenan Communism and the Rise of the Chinese People’s Republic. In Modern East Asia: Essays in Interpretation, ed. James Crowley, 265-297. New York: Harcourt, Brace & World.

Michael, Franz. 1964. State and Society in the Nineteenth-Century China. In Modern China, ed. Albert Feuerwerker, 57-69. Englewood Cliffs, N.J.: Prentice Hall.

Miller, H. Lyman. 2000. The Late Imperial Chinese State. In The Modern Chinese State, ed. David Shambaugh, 15-41. New York: Cambridge University Press.

Millward, James A. 1994. A Uyghur Muslim in Qianlong’s Court: The Meanings of the Fragrant Concubine. The Journal of Asian Studies 53-2 (May 1994): 427-458.

Myers. Ramon H. 2000. The Chinese State during the Republican Era. In The Modern Chinese State, ed. David Shambaugh, 42-72. New York: Cambridge University Press.

Myers, Ramon H. and Yeh-Chien Wang. 2002. Economic Development, 1644-1800. In The Cambridge History of China Vol. 9 Part One: The Chi’ng Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 563-646. New York: Cambridge University Press.

Paine, S.C.M. 2003. The Sino-Japanese War of 1894-1895: Perceptions, Power, and Primacy. Cambridge: Cambridge University Press.

Phillips, R.T. 1991. “Manchukuo (Manzhouguo).” In The Cambridge Encyclopedia of China, ed. Brian Hook.

Rankin, Mary Backus. 2000. State and Society in Early Republican Politics, 1912-18. In Reappraising Republican China, ed. Frederic Wakeman, Jr. and Richard Louis Edmonds, 6-27. New York: Oxford University Press.

Rawski, Evelyn S. 1998. The Last Emperors: A Social History of Qing Imperial Institutions. Berkeley, CA: University of California Press.

Reaching for A Renaissance: A special report on China and its region. 2007. The Economist (special report section), 31 March, 4.

Roberts, J.A.G. n.d. A History of China. London: Macmillam Press.

Roth Li, Gertraude. 2002. State Building before 1644. In The Cambridge History of China Vol. 9 Part One: The Chi’ng Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 120-182. New York: Cambridge University Press.

Roskin, Michael et al. 1997. Political Science: An Introduction. Upper Saddle River, NJ: Prentice Hall.

Roy, Denny. 2003. Taiwan: A Political History. Ithaca: Cornell University Press.
Spence, Jonathan D. 1988. Emperor of China: Self-Portrait of K’ang-hsi. New York: Vintage Books.

--------. 1999. The Search for Modern China. New York: W.W. Norton.

--------. 2002. The K’ang-hsi Reign. In The Cambridge History of China Vol. 9 Part One: The Chi’ng Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 120-182. New York: Cambridge University Press.

Strauss, Julia C. 2000. The Evolution of Republican Government. In Reappraising Republican China, eds. Frederic Wakeman, Jr. and Richard Louis Edmonds, 75-97. New York: Oxford University Press.

Sun, Youli. 1993. China and the Origins of the Pacific War, 1931-1941. New York: St. Martin’s Press.

Sutton, D.S. 1991. “Yuan Shikai.” In The Cambridge Encyclopedia of China, ed. Brian Hook.

van de Ven, Hans. 2000. The Military in the Rebublic. In Reappraising Republican China, ed. Frederic Wakeman, Jr. and Richard Louis Edmonds, 98-120. New York: Oxford University Press.

Wakeman Jr., Frederic. 2000. A Revisionist Review of the Nanjing Decade: Confucian Fascism. In Reappraising Republican China, ed. Frederic Wakeman, Jr. and Richard Louis Edmonds, 141-178. New York: Oxford University Press.

Whiting, Allen S. 1989. China Eyes Japan. Berkeley: University of California Press.

Wilson, Verity. 2002. Dressing for Leadership in China: Wives and Husbands in an Age of Revolutions (1911-1976). Gender & History 14-3 (November 2002): 608-628.

Woodside, Alexander. 2002. The Ch’ien-lung Reign. In The Cambridge History of China Vol. 9 Part One: The Chi’ng Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 120-182. New York: Cambridge University Press.

Young, Ernest P. 1970. Nationalism, Reform, and Republican Revolution: China in the Early Twentieth Century. In Modern East Asia: Essays in Interpretation, ed. James Crowley, 151-179. New York: Harcourt, Brace & World.

Zelin, Madeleine. 2002. The Yung-cheng Reign. In The Cambridge History of China Vol. 9 Part One: The Chi’ng Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 120-182. New York: Cambridge University Press.

Zhang Guanrong et al., eds. 1993. Life of Emperors and Empresses in the Forbidden City. Beijing: China Travel and Tourism Press.

การเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กับญาณวิทยาในทางพระพุทธศาสนา


การเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กับญาณวิทยาในทางพระพุทธศาสนา
รายงานเสนอต่อศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ในวิชา สห. 821 ญาณวิทยา ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 โครงการปริญญาเอกสหวิทยาการ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิทธิพล เครือรัฐติกาล

ญาณวิทยา (Epistemology) หรือทฤษฎีความรู้ (Theory of Knowledge) เป็นหนึ่งในสามสาขาใหญ่ของวิชาปรัชญาอันประกอบไปด้วย อภิปรัชญา (Metaphysics) ญาณวิทยา (Epistemology) และคุณวิทยา (Axiology) ญาณวิทยาศึกษาเรื่องเกี่ยวกับความรู้ ธรรมชาติของความรู้ แหล่งเกิดหรือปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรู้ ขอบเขตของความรู้ กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ รวมทั้งสิ่งที่ถูกรู้ (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 1) ญาณวิทยาจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นวิธีการในการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับสรรพสิ่งต่างๆ และเป็นพื้นฐานในการเก็งถึงความจริงทางอภิปรัชญาด้วย (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 1)

ญาณวิทยาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานคือญาณวิทยาตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่เมื่อราว 250 ปีก่อนคริสต์ศักราช และพระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่คู่กับประวัติศาสตร์ไทยตลอดมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกได้เริ่มแพร่หลายเข้ามาในสังคมไทยและดำรงอยู่ควบคู่กันกับญาณวิทยาแบบพระพุทธศาสนาตราบจนปัจจุบัน โดยมักจะมีการอธิบายว่าพระพุทธศาสนามีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัวแล้ว ด้วยเหตุนี้ญาณวิทยาทั้งสองแบบจึงมิได้ขัดแย้งกัน หากแต่ยังมีส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันและกันอีกด้วย (ดูตัวอย่างใน พระราชวรมุนี 2540) อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะพบว่า พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์มีจุดเน้นทางญาณวิทยาที่แตกต่างกันไม่น้อย รายงานชิ้นนี้จะเป็นการทบทวนและเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์กับแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท (ในที่นี้ขอเรียกอย่างย่อว่า พระพุทธศาสนา) โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติของความรู้ แหล่งที่มาของความรู้ ขอบเขตของความรู้ แนวทางในการตรวจสอบความรู้ และบทสรุปเชิงเปรียบเทียบ


ธรรมชาติของความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ (Science) เป็นการค้นหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ (nature) ซึ่งหมายถึง สสาร (matter) และพลังงาน (energy) ทั้งในรูปของสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต (ฟิสเชอร์ 2527, 19) ความรู้ที่จะจัดเป็นวิทยาศาสตร์ได้นั้นจะต้องตั้งอยู่บนฐานแห่งเงื่อนไข 3 ประการ (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 217) คือ

1. จะต้องเป็นความรู้ของธรรมชาติ หรือปรากฏการณ์ของธรรมชาติ
2. จะต้องได้จากการใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์ และ
3. จะต้องเป็นความรู้ที่ผ่านการทดสอบยืนยันแล้วว่าเป็นความจริง

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกได้เป็น 6 ประเภท (พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 217-218) ได้แก่

1. ข้อเท็จจริงเชิงเดี่ยว (Facts) หมายถึงข้อมูลดิบที่ยังไม่ได้จัดระเบียบ เป็นสิ่งที่ได้มาจากการสังเกตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง
2. ความคิดรวบยอดหรือมโนคติ (Concepts) หมายถึง ความคิดเข้าใจที่สรุปเกี่ยวกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งอันเกิดจากการสังเกต หรือได้รับประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งนั้นหลายๆแบบแล้วใช้คุณลักษณะของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นมาประมวลเข้าด้วยกันให้เป็นข้อสรุปหรือคำจำกัดความ มโนคติเป็นความรู้ความเข้าใจของแต่ละบุคคลเกี่ยวกับวัตถุหรือปรากฏการณ์ต่างๆโดยนำความรู้มาสัมพันธ์กับประสบการณ์เดิม
3. หลักการ (Principles) หมายถึง ความจริงที่สามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงได้ เป็นการนำมโนคติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ซึ่งได้รับการทดสอบว่าเป็นจริงแล้วมาผสมผสานกัน แล้วนำไปใช้อ้างอิง หลักการต้องเป็นความจริงที่สามารถตรวจสอบได้ และได้ผลเหมือนกัน
4. กฎ (Laws) หมายถึง ข้อความที่ระบุความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลโดยผ่านการทดสอบที่เชื่อถือได้มาแล้ว
5. สมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Hypotheses) หมายถึง ข้อความที่คาดคะเนคำตอบ โดยอาศัยข้อมูลและความรู้เดิมเป็นพื้นฐาน สมมติฐานจะจริงหรือเท็จต้องอาศัยการหาหลักฐานมาคัดค้านหรือสนับสนุน
6. ทฤษฎี (Theory) หมายถึง ข้อความที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการอธิบายกฎ หลักการ หรือข้อเท็จจริง อันเป็นข้อความที่ใช้อธิบายหรือทำนายปรากฏการณ์ต่างๆนั่นเอง

สมภาร พรมทา (2534, 17) ได้สรุปเอาไว้ว่า โดยรวมแล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีอยู่สองประเภทหลักๆ ได้แก่ กฎ (law) และทฤษฎี (theory) ความแตกต่างระหว่างทั้งสองก็คือ ข้อความที่เราเรียกว่ากฎจะพูดถึงสิ่งที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส แต่สำหรับทฤษฎีแล้วจะมีข้อความบางตอนพูดถึงของที่มนุษย์ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยประสาทสัมผัส เนื่องจากมีข้อจำกัดทางธรรมชาติอยู่ ดังนั้นมนุษย์จึงใช้ “เหตุผล” เข้ามาช่วยในการประกอบขึ้นเป็นทฤษฎี ส่วนโรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 76-77) ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า กฎทางวิทยาศาสตร์มีลักษณะเป็นคำอธิบาย (descriptive) ความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอที่พบได้ในธรรมชาติ ขณะที่ทฤษฎีนั้นได้มาจากการการใช้เหตุผลเชิงอุปนัย (induction)

นอกจากนี้ เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544, 4) และ โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 79) ได้ตั้งข้อสังเกตที่ตรงกันว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้ใส่ใจกับการค้นหา “ความจริงแบบสัมบูรณ์” (absolute truth) โดยปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของนักปรัชญา หากแต่สิ่งที่วิทยาศาสตร์สามารถค้นหาได้คือ “ความจริงแบบสัมพัทธ์” (relative truth) ความจริงแบบนี้อิงกับหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่นักวิทยาศาสตร์แสวงหามาได้ โดยอาศัยการตีความด้วยตรรกะ “ความจริง” ดังกล่าวจึงไม่เป็นอิสระจากหลักฐาน และไม่เป็นอิสระจากสามัญสำนึกของมนุษย์ กล่าวได้อีกอย่างก็คือ เราไม่สามารถแยก “ข้อเท็จจริง” ตามธรรมชาติ ออกจาก “การตีความข้อเท็จจริง” ของเราได้

สรุปได้ว่าวิทยาศาสตร์เน้นการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” อันได้แก่ สสาร และพลังงาน โดยมีการแบ่งความรู้ออกเป็นสองประเภทหลักๆ ได้แก่ ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส และความรู้ในระดับความคิดหรือโลกของทฤษฎี และความรู้ที่ได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นความรู้แบบสัมพัทธ์ มากกว่าที่จะเป็นความรู้แบบสัมบูรณ์

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
ในทางพระพุทธศาสนา ความจริงหรือสัจภาวะที่มนุษย์เราศึกษาและรู้กันในโลกนี้มีอยู่ 4 ประการ (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 33-35) ได้แก่

1. สมมติสัจจะ (Conventional Truth) หมายถึงความจริงขั้นนอกแบบผิวเผินที่คนเราสมมติว่าเป็นจริงและยอมรับกันในชีวิตประจำวัน หากแต่เมื่อได้ศึกษาค้นคว้าลงให้ละเอียดแล้วจะพบว่า ความจริงขั้นนี้ไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด ตัวอย่างเช่น มนุษย์เห็นพ้องต้องกันว่าดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกลงในทางทิศตะวันตก หากแต่เมื่อศึกษาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าดวงอาทิตย์ไม่ได้ขึ้นและตกแต่อย่างใด ปรากฏการณ์ที่เห็นนั้นเกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองต่างหาก
2. สภาวสัจจะ (Empirical Truth) หมายถึงความจริงที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า วินิจฉัย วิเคราะห์ วิจารณ์ให้ลึกซึ้งจนสามารถรู้ความจริงระดับลึกลงไปอีก เช่น การรู้ว่าปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นและลงนั้นเกิดจากการหมุนของโลก เป็นต้น
3. ปรมัตถสัจจะ (Metaphysical Truth) หมายถึงความจริงที่อยู่เหนือวิสัยของประสาทสัมผัสของมนุษย์ เช่น ความจริงเกี่ยวกับจิตวิญญาณ นรก สวรรค์ นิพพาน เป็นต้น ซึ่งก็คือความจริงทางอภิปรัชญานั่นเอง
4. อริยสัจจ์ (The Four Noble Truth) หมายถึงความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย (เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์) พระพุทธเจ้าถือว่าทรงสรรเสริญความจริงข้อนี้ว่าสูงส่งกว่าความจริงข้อ 1-3 เนื่องจากเป็นความจริงที่ช่วยให้มนุษย์ไปสุ่การพ้นทุกข์ได้

พระพุทธศาสนายังจำแนกความรู้ของมนุษย์ออกเป็น 6 ระดับ จากต่ำไปสูง (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 42-44) ได้แก่

1. วิญญาณ (Consciousness) หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายในของมนุษย์อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับอารมณ์หรือสิ่งเร้าจากภายนอก ความรู้ในระดับนี้มีลักษณะง่ายๆ เช่น เมื่อตาเห็นรูป ก็รู้แต่เพียงว่าเป็นรูป แต่ไม่รู้รายละเอียดว่าเป็นรูปอะไร เป็นต้น ความรู้ระดับวิญญาณนี้เกิดขึ้นเองทุกครั้งที่อายตนะใดอายตนะหนึ่งของเรากระทบกับสิ่งเร้าจากภายนอก
2. สัญญา (Perception) หมายถึง การรู้คุณลักษณะต่างๆของอารมณ์หรือสิ่งเร้านั้นๆ โดยมีความรู้ระดับวิญญาณเป็นรากฐาน เช่น เมื่อตาเห็นรูปแล้วก็รู้ว่านั่นเป็นรูปอะไร หรือรูปใคร เป็นต้น หรือที่เรียกกันว่า “จำได้หมายรู้” นั่นเอง
3. ทิฏฐิ (Conception) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากการพิจารณาเปรียบเทียบแล้วสรุปเป็นความเห็นอีกทีหนึ่ง เช่น พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย จึงทรงพิจารณาและสรุปเป็นความคิดรวบยอดที่เรียกว่า “ความทุกข์”
4. อภิญญา (Extra-Sensory Perception) หมายถึง ความรู้ที่เกิดจากความสามารถพิเศษทางจิต กล่าวคือจิตสามารถรับรู้อารมณ์หรือสิ่งเร้าต่างๆได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสใดๆ เช่น สามารถเห็นเหตุการณ์ที่อยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลได้ หรือเห็นเหตุการณ์ในอนาคต เป็นต้น
5. ญาณ (Intuitive Insight) หมายถึง ความรู้ที่สมบูรณ์ รู้ทุกส่วน มิได้จำกัดเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง เป็นการเรียนรู้โลกของตนโดยอาศัยประสบการณ์ทางจิตโดยตรง
6. สัมมาสัมโพธิญาณ (Enlightenment) เป็นความรู้ขั้นสูงสุดในพุทธปรัชญา เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งปวง

สรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาเน้นการแสวงหาความรู้เกี่ยวกับ “ชีวิตมนุษย์” โดยอาศัยประสาทสัมผัส เหตุผล และการฝึกจิต เพื่อให้มนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงของชีวิตได้ และพระพุทธศาสนาเชื่อในการมีอยู่ของความจริงสูงสุด

แหล่งที่มาของความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 20) ได้ให้นิยามของวิทยาศาสตร์ว่าเป็น “องค์ความรู้ที่เราได้รับโดยวิธีการต่างๆโดยอาศัยการสังเกตการณ์” ซึ่งหมายความว่า แหล่งที่มาของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็คือการสังเกตการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย นั่นเอง สิ่งใดก็ตามที่อยู่นอกขอบเขตหรือพ้นไปจากความรู้สึกที่คนเราสามารถสังเกตได้แล้ว สิ่งนั้นย่อมอยู่นอกขอบเขตหรือพ้นไปจากปริมณฑลของวิทยาศาสตร์ (ฟิสเชอร์ 2527, 22) กระบวนการทางวิทยาศาสตร์นับแต่เริ่มต้นจนถึงการได้มาซึ่งองค์ความรู้นั้นประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน (พิสิฎฐ์ โคตรสุโพธิ์ 2543, 214) ได้แก่

1. ขั้นตั้งคำถามเชิงวิทยาศาสตร์ ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง (what) เกิดขึ้นมาอย่างไร (how) และเพราะเหตุใดจึงเกิดขึ้น (why)
2. การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ค้นหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต การวัด การหาความสัมพันธ์ การจัดประเภท การคำนวณ การพยากรณ์ การควบคุมตัวแปร การแปลผลข้อมูล การตั้งสมมติฐาน การทดลอง การตีความหมาย ฯลฯ
3. การสรุปเป็นองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนามองว่าการแสวงหาความรู้จะต้องอาศัยอายตนะหรือประตูเชื่อม 6 ประการ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อประตูใดประตูหนึ่ง เช่น ตา เป็นต้น ไปกระทบกับอารมณ์คือรูปจึงเกิดผัสสะ ผัสสะนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการรับรู้ว่าสิ่งที่ไปสัมผัสนั้นคืออะไร (บุญมี แท่นแก้ว 2545, 15) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความรู้อันทำให้เกิดความคิดนั้นย่อมมีรากฐานมาจากข้อเท็จจริงทางประสาทสัมผัส (สมัคร บุราวาศ 2542, 108)
ในคัมภีร์สคารวสูตร พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าความรู้เกิดจากแหล่ง 3 ประการ (บุญมี แท่นแก้ว 2543, 48-49) ได้แก่

1. ความรู้ที่ได้จากการฟังตามกันมา เช่น ผู้ศึกษาคัมภีร์พระเวทโดยตรง เป็นต้น เรียกอีกอย่างว่า “สุตมยปัญญา”
2. ความรู้ที่ได้จากการใช้เหตุผลคาดคะเน เก็งความจริงตามหลักเหตุผล เรียกอีกอย่างว่า “จินตามยปัญญา”
3. ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ตรงของผู้แสวงหาความรู้นั้น เรียกอีกอย่างว่า “ภาวนามยปัญญา”
ในความรู้ทั้ง 3 แหล่งนี้ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญสูงสุดกับภาวนามยปัญญา ถ้าความรู้จาก 3 แหล่งนี้เกิดขัดแย้งกัน ไม่เห็นสอดคล้องกัน ภาวนามยปัญญาจะเป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดความรู้ที่ถูกต้องและมีน้ำหนักมากที่สุด กล่าวได้ว่าการแสวงหาความรู้ตามแนวทางของพระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะของแนวคิดประจักษนิยม (Empirical Knowledge) (บุญมี แท่นแก้ว 2545, 18)

ในส่วนของกระบวนการได้มาซึ่งความรู้นั้น พระพุทธเจ้าทรงเน้นหลักอริยสัจ 4 อันมีองค์ประกอบดังนี้ (พระราชวรมุนี 2540, 43-46)

1. ขั้นกำหนดทุกข์ ได้แก่ การกำหนดว่าปัญหาคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน
2. ขั้นสืบสาวสมุทัย ได้แก่ การค้นหาสาเหตุของปัญหา
3. ขั้นเก็งนิโรธ ได้แก่ สภาพที่ไร้ปัญหา โดยต้องตั้งสมมติฐานว่าสภาพไร้ปัญหานั้นคืออะไร เข้าถึงได้หรือไม่ โดยวิธีใด
4. ขั้นเจริญมรรค ได้แก่ วิธีปฏิบัติและลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา

ขอบเขตแห่งความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันมีรากฐานมาจากความพยายามดิ้นรนให้พ้นจากการครอบงำของศาสนาจักรซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในยุโรปช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือที่เรียกกันว่ายุคกลาง (The Middle Ages) เมื่อศาสนจักรเสื่อมอำนาจลงหลังคริสต์ศตววรษที่ 16 ยุโรปก็เข้าสู่ยุคแห่งเหตุผล (The Age of Reasons) ชาวยุโรปมีอิสระทางความคิดมากขึ้นโดยไม่ต้องอยู่ในกรอบของความเชื่อทางศาสนาอย่างแต่ก่อน การแสวงหาความจริงทางธรรมชาติก็เน้นวิธีการแห่งวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) มากขึ้น ลักษณะสำคัญของนักคิดในยุคนี้มี 4 ประการ (ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม 2542, 240) ได้แก่

1. สนใจศึกษามนุษย์ในฐานะเป็นสัตว์โลก (Secularization of Learning) เลิกศึกษาในแนวศาสนา ด้วยเห็นว่าความเชื่อในทางศาสนาเป็นสิ่งกีดขวางความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และกีดขวางความเป็นอิสระเสรีในทางความคิด
2. มีความเชื่อในเหตุผล (Faith in Reason) เชื่อว่าเหตุผลมีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกปรากฏการณ์ ผลต่างๆที่เกิดขึ้นย่อมมาจากเหตุ ปัญหาต่างๆย่อมแก้ได้ด้วยวิธีการแห่งเหตุและผล
3. เชื่อในความมีประโยชน์ของสิ่งต่างๆ (Utilitarianism) เช่น ทรัพย์สิน ถ้ารู้จักใช้อย่างฉลาดก็สามารถก่อประโยชน์ให้เกิดแก่ชีวิตได้ สิทธิเสรีภาพต่างๆก็เช่นกัน ถ้ารู้จักใช้ก็จะเป็นทางนำไปสู่ความก้าวหน้าแห่งชีวิตได้
4. มองโลกในแง่ดีและความเชื่อมั่นในตนเอง (Optimism and Self-confidence) เห็นว่าโลกนี้เป็นที่น่าอาศัยอยู่ ปัญหาต่างๆในโลกเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่ได้เกิดจากอำนาจลึกลับ หากแต่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีความเชื่อมั่นและภูมิใจในความเป็นมนุษย์ เชื่อในความสามารถของมนุษย์ มนุษย์สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้เองโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจจากภายนอก

แนวคิดที่ยกมาข้างต้นได้ทำให้ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กลายเป็นสมัยแห่งการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (The Scientific Revolution) และผลของการปฏิวัติดังกล่าวก็มีผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆของมนุษย์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ทำให้ “ศรัทธา” ซึ่งมนุษย์สมัยก่อนเชื่อว่าเป็นเครื่องชี้ทางดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ค่อยๆถูก “เหตุผล” เข้าแทนที่ จนมนุษย์เกิดความมั่นใจว่าเหตุผลจะตอบปัญหาต่างๆทั้งมวลของตนได้ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์นอกจากจะเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าทางปัญญาแล้ว ยังสร้างสรรค์ความเจริญทางวัตถุอีกด้วย นับแต่นั้นมามนุษย์จึงได้อาศัยวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความก้าวหน้าทางวัตถุอย่างไม่หยุดยั้ง (สุวิมล รุ่งเจริญ 2540, 3) ขอบเขตการศึกษาของวิทยาศาสตร์จึงครอบคลุมโลกฝ่ายวัตถุทั้งหมดเท่าที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายจะสามารถเข้าถึงได้

อย่างไรก็ตาม การอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการแสวงหาความรู้ของวิทยาศาสตร์นั้นมิได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์ปฏิเสธการมีอยู่ของสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ดังที่ โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 110-111) ได้เน้นย้ำว่า เราไม่ควรนำคำว่า “วิทยาศาสตร์” (Science) ไปปะปนกับคำว่า “ลัทธิวิทยาศาสตร์” (Scientism) เพราะคำว่า “ลัทธิวิทยาศาสตร์” นั้นเป็นแนวคิดที่เชื่อว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติควรจะนำไปปรับใช้ในการศึกษาค้นคว้าของศาสตร์ทั้งปวง รวมทั้งปรัชญา มนุษยศาสตร์ และสังคม เป็นความเชื่อที่ถือว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่เป็นประโยชน์ต่อการแสวงหาความรู้ ลัทธิวิทยาศาสตร์จึงเปรียบเสมือนอำนาจและอุดมการณ์อย่างหนึ่งที่พยายามกำหนดและอธิบายความเป็นไปของทุกสิ่งทุกอย่าง และปฏิเสธความรู้ที่ไม่อาจเข้าถึงได้โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเพียงเรื่องที่ไร้สาระ

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาแบ่งความรู้ในโลกนี้ออกเป็น 5 หมวดใหญ่ (พระราชวรมุนี 2540, 27-28) ได้แก่

1. อุตุนิยาม (Physical Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของปรากฏการณ์ในธรรมชาติฝ่ายวัตถุที่ไร้ชีวิตทุกชนิด เช่น ปรากฏการณ์ฝนตก ฟ้าร้อง เป็นต้น
2. พีชนิยาม (Biological Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์
3. จิตตนิยาม (Psychic Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของจิต ช่วยอธิบายว่าการรับรู้แต่ละครั้งของจิตมีกระบวนการทำงานอย่างไร
4. กรรมนิยาม (Karmic Laws) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่ครอบคลุมความเป็นไปของชีวิตมนุษย์โดยรวม หรือที่เรารู้จักกันว่า “กฎแห่งกรรม”
5. ธรรมนิยาม (General Law) ได้แก่ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผลของสิ่งทั้งหลาย เป็นกฎสากลที่ครอบคลุมความเป็นไปทั้งฝ่ายจิตและฝ่ายวัตถุ

จุดมุ่งหมายที่สำคัญของพระพุทธศาสนาคือ วิมุตติ หรือความหลุดพ้น นั่นคือการให้มนุษย์ไปสู่อิสรภาพ หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ (พระเทพเวที 2535, 113) ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องจิตตนิยามและกรรมนิยามเป็นหลัก เพราะเป็นความรู้ที่จะช่วยในการพ้นทุกข์ได้ เนื้อหาตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกก็ได้เน้นย้ำว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญเฉพาะความรู้ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดับทุกข์เท่านั้น เรื่องดังกล่าวมีใจความว่า ครั้งหนึ่ง ณ ป่าไม้ประดู่ลายแห่งเมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าทรงหยิบใบไม้ประดู่ลาย 2-3 ใบมาไว้ในกำมือและตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจะพึงคิดอย่างไร ใบไม้ในกำมือของเรานี้กับใบไม้ในป่าทั้งหมดอย่างไหนจะมากกว่ากัน” ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบไม้ในกำมือของพระองค์เล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใบไม้ในป่าที่เหลือมากมายเหลือเกินพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า

“แม้เรื่องนี้ก็เป็นเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายที่มีสิ่งอื่นอีกมากมายที่เราได้รู้แล้วแต่มิได้นำมาสั่งสอนเธอ สิ่งที่เราได้สั่งสอนเธอนั้นมีเพียงจำนวนน้อยนิด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นภิกษุทั้งหลาย เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย การคลายกำหนัด เพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม หรือเพื่อพระนิพพาน เพราะเหตุนั้นเราจึงมิได้นำมาสอนพวกเธอ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเล่าที่เรานำมาสั่งสอนพวกเธอ สิ่งนั้นคือความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ เหตุของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ ความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ นี่แหละคือสิ่งที่เรานำมาสอนเธอ” (อ้างใน เบินส์ 2513, 38-39)

นอกจากจะเน้นการแสวงหาความรู้เฉพาะในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพ้นทุกข์แล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงเน้นอีกว่า การศึกษาธรรมเพื่อประดับสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ลงมือปฏิบัติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความรู้ (ปริยัติ) จะต้องนำไปสู่การลงมือทำ (ปฏิบัติ) เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและหลุดพ้นจากกิเลส (ปฏิเวธ) นั่นเอง (พระราชวรมุนี 2540, 36)

แนวทางในการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้

มุมมองทางวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ถือว่าการแสวงหาความรู้และการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ต่างต้องอาศัยแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ วิทยาศาสตร์อาศัยการแสวงหาความรู้โดยอาศัยการสังเกตการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เมื่อสังเกตแล้วก็ตั้งสมมติฐานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้น จากนั้นก็สังเกตปรากฏการณ์เดียวกันต่อไปอีกเพื่อทดสอบสมมติฐาน และเมื่อได้รับการยืนยันก็ตั้งเป็นกฎ ทั้งหมดนี้มีประสบการณ์เป็นหัวใจ กฎทางวิทยาศาสตร์ได้จากข้อมูลที่มาทางประสบการณ์ การทดสอบความจริงของกฎก็ต้องทดสอบด้วยประสบการณ์เช่นกัน (สุวิมล รุ่งเจริญ 2540, 67)

โรเบิร์ต บี. ฟิสเชอร์ (2527, 62) เสนอว่า วิทยาศาสตร์คือกระบวนการสังเกตแบบทดลอง (experimental observation) ที่ไม่เคยสิ้นสุดอย่างแท้จริง โดยจะมีการสังเกตต่อไปเรื่อยๆอย่างไม่ขาดสายเพื่อทดสอบว่าความรู้ที่เราค้นพบมาก่อนหน้านี้มีความถูกต้องเพียงใด ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่ากระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ (เดิม) ทางวิทยาศาสตร์ไปในตัวด้วย

เสมอชัย พูลสุวรรณ (2544, 5) ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า นอกจากวิทยาศาสตร์จะสอนให้มนุษย์ยอมรับ “ความจริง” ที่อิงกับหลักฐานที่เป็นรูปธรรม และวิธีตีความที่เที่ยงตรงสมเหตุผลแล้ว ขณะเดียวกันก็กระตุ้นเตือนให้มนุษย์พยายามแสวงหา “ข้อเสนอ” แบบอื่นๆที่แตกต่างออกไปโดยใช้วิธีการค้นหาความจริงแบบเดียวกัน วิทยาศาสตร์ในอุดมคติจะต้องเป็นกระบวนการหาความรู้ซึ่งไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด

มุมมองทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแบบอเทวนิยม (Atheism) กล่าวคือ ไม่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ที่จะบรรลุธรรมได้ด้วยการฝึกฝนตนเอง ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเน้นการตรวจสอบสิ่งต่างๆโดยไม่อาศัยความเชื่อ ดังที่ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “การที่จะเปลี่ยนความเชื่อซึ่งฝังอยู่ในจิตใจเสียแล้วนั้น เป็นการยากมาก แต่บุคคลควรจะทดสอบลัทธิความเชื่อทั้งปวงโดยเสรีด้วยตนเอง สิ่งใดชอบก็พึงรับไว้ ที่ไม่ชอบก็พึงปัดไปเสีย” (อ้างใน เบินส์ 2513, 51) พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มนุษย์ใช้กาลามสูตร 10 ประการ เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบความรู้ดังนี้

1. มา อนุสฺสเวน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังตามกันมา
2. มา ปรมฺปราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆกันมา
3. มา อิติกิราย – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ
4. มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
5. มา ตกฺกเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ
6. มา นยเหตุ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน
7. มา อาการปริวิตกฺเกน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
8. มา ทิฏฺฐินิชฺฌานกฺขนฺยิตา – อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีที่พินิจแล้ว
9. มา ภพฺพรูปตาย – อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะว่าน่าเป็นไปได้
10. มา สมโณ โน ครูติ – อย่าปลงใจเชื่อเพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

จากข้อความ 10 ประการในกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทรงแนะว่าก่อนจะเชื่อสิ่งใดนั้นจะต้องมีการตรวจสอบให้รอบคอบเสียก่อน เมื่อประจักษ์ด้วยตนเองและเกิดผลเป็นกุศลเมื่อนำไปปฏิบัติแล้ว จึงค่อยเชื่อและถือว่าความรู้นั้นใช้ได้ (บุญมี แท่นแก้ว 2545, 17)

บทสรุปเชิงเปรียบเทียบ

ในส่วนนี้จะเป็นการสรุปและเปรียบเทียบญาณวิทยาแบบวิทยาศาสตร์และญาณวิทยาแบบพระพุทธศาสนา โดยจะแบ่ง 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ญาณวิทยาทั้งสองแบบสอดคล้องกัน ส่วนที่ญาณวิทยาทั้งสองแบบเห็นต่างกัน และส่วนที่ญาณวิทยาทั้งสองแบบเห็นสอดคล้องกันในหลักการแต่แตกต่างกันในรายละเอียด และในตอนท้ายผู้เขียนจะเสนอข้อคิดเห็นบางประการที่ได้จากการศึกษาญาณวิทยาทั้งสองแบบนี้

ญาณวิทยาที่สอดคล้องกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
วิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาต่างเน้นการอาศัยประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสเป็นแกนหลักในการแสวงหาความรู้และตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง (ภาวนามยปัญญา) มากกว่าความรู้ที่ได้จากการฟัง(สุตมยปัญญา) และความรู้ที่ได้จากการคิด (จินตามยปัญญา) แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับกระบวนการสังเกตและทดลอง (experimental observation) ตามหลักวิทยาศาสตร์

เมื่อลองเปรียบเทียบกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์กับหลักอริยสัจ 4 ในทางพระพุทธศาสนาแล้วจะพบว่ามีความสอดคล้องกันดังนี้

1. การกำหนดปัญหาในทางวิทยาศาสตร์ เทียบได้กับการกำหนดทุกข์ในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นขั้นตอนของการชี้ให้เห็นตัวปัญหาและที่มาของปัญหา
2. การตั้งสมมติฐานในทางวิทยาศาสตร์ เทียบได้กับการสืบสาวสมุทัยและการเก็งนิโรธในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นขั้นตอนในการหาสาเหตุของปัญหาและวิธีการในการขจัดปัญหา
3. การสังเกต การทดลอง การวิเคราะห์ข้อมูล และการสรุปผลในทางวิทยาศาสตร์ เทียบได้กับการเจริญมรรคในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการลงมือปฏิบัติเพื่อคลี่คลายประเด็นปัญหานั้นๆ


ญาณวิทยาที่แตกต่างกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
วิทยาศาสตร์เน้นการแสวงหาความรู้ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมชาติ” อันได้แก่ สสาร (matter) และพลังงาน (energy) อันมีขอบเขตกว้างขวาง ตรงกับหมวดความรู้ที่เรียกว่าอุตุนิยาม (Physical Laws) และพีชนิยาม (Biological Laws) ตามเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา ขณะที่ตัวพระพุทธศาสนาเองจะเน้นเฉพาะการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้ออำนวยให้มนุษย์เดินไปสู่การดับทุกข์ได้เท่านั้น ซึ่งหมายถึงความรู้ในส่วนของจิตตนิยาม (Psychic Laws) และกรรมนิยาม (Karmic Laws) ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงเน้นหลักปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ กล่าวคือ ความรู้จะต้องนำไปสู่การลงมือทำเพื่อให้เกิดความรู้แจ้งและหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง นั่นเอง

ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ ในทางวิทยาศาสตร์ถือว่า ความจริงที่มนุษย์ค้นหามาได้ตามกระบวนการค้นคว้าแบบวิทยาศาสตร์นั้นมีข้อจำกัดหลายประการจนทำให้ความจริงดังกล่าวเป็นเพียงความจริงสัมพัทธ์ (Relative Truth) เท่านั้น หากแต่พระพุทธศาสนาเชื่อว่าการบำเพ็ญเพียรทางจิตจะทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงปรมัตถสัจจะ (Metaphysical Truth) และอริยสัจจ์ (The Four Noble Truth) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระพุทธศาสนามองว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความจริงสัมบูรณ์ (Absolute Truth) ได้

ญาณวิทยาที่สอดคล้องกันในหลักการแต่แตกต่างกันในรายละเอียดระหว่างวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา
แม้ว่าวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาจะเน้นการแสวงหาความรู้ด้วยการสังเกตผ่านประสาทสัมผัส หากแต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่ในประเด็นเรื่องของจิต (หรือใจ) กล่าวคือ วิทยาศาสตร์เน้นการแสวงหาความรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย สิ่งใดก็ตามที่อยู่เหนือความสามารถในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ก็ถือว่าอยู่นอกเขตการศึกษาของวิทยาศาสตร์ ขณะที่พระพุทธศาสนาเน้นการใช้อายตนะ 6 อันประกอบไปด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในทางวิทยาศาสตร์ และเพิ่มเรื่องของจิตเข้ามาอีกประเด็นหนึ่ง พระพุทธศาสนาถือว่าการบำเพ็ญเพียรทางจิตมีความสำคัญต่อการแสวงหาความรู้เพื่อการพ้นทุกข์ เนื่องด้วยจิตนั้นจะเป็นสะพานไปสู่อาสวักขยญาณ อันหมายถึงความสามารถในการทำลายกิเลสได้อย่างสิ้นเชิงนั่นเอง

ข้อสังเกตบางประการของผู้เขียน
แม้ว่าในทางพระพุทธศาสนาจะมีหลักกาลามสูตร 10 ประการที่เปิดทางให้มีการตรวจสอบความถูกต้องของความรู้เช่นเดียวกับกระบวนการตรวจสอบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วพุทธบริษัท 4 (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ในประเทศไทยส่วนใหญ่กลับมีการยึดมั่นคำสอนในพระไตรปิฏกอย่างเคร่งครัด โดยมักจะมีการกล่าวกันว่าคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็น “อกาลิโก” คือไม่เนื่องด้วยเวลา เป็นความจริงตลอดกาล ผู้ที่ตั้งข้อสงสัยในความถูกต้องของพระไตรปิฎกหรือมีแนวทางการปฏิบัติที่ผิดเพี้ยนไปจากแนวทางที่บัญญัติไว้ในพระไตรปิฎกจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง ดังเช่นกรณีของพระเมตตานันโท และกรณีของวัดพระธรรมกาย เป็นต้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าขบคิดว่า พระพุทธศาสนากระแสหลักในประเทศไทยนั้นอาจมีลักษณะเป็นประกาศิตนิยม (Authoritarianism) ที่เชื่อในหลักฐานสำเร็จรูปที่สามารถนำมาอ้างอิงเป็นความรู้ได้เลยโดยไม่ต้องใช้วีธีการตรวจสอบอื่นๆอีกแล้วก็เป็นได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การยึดมั่นพระไตรปิฎกประดุจคัมภีร์จะขัดแย้งกับหลักกาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้หรือไม่ โดยเฉพาะข้อที่ว่า

มา ปิฏกสมฺปทาเนน – อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ ล้อมลิ้ม. 2542. ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1453 – 1804. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

บุญมี แท่นแก้ว. 2543. ญาณวิทยา (ทฤษฎีความรู้). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

บุญมี แท่นแก้ว. 2545. พุทธปรัชญาเถรวาท. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์.

เบินส์, ดักลาส เอ็ม. 2513. ความเกี่ยวข้องระหว่างพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์และอเทวนิยม. ไม่ปรากฏผู้แปล. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายซิว กาญจนจารี ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2513. พระนคร: บริษัทชุมนุมช่าง จำกัด.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). 2535. พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม. ฯร. พเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโตลิาวllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllllll

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต). 2540. วิทยาศาสตร์ในทัศนะของพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.

พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์. 2543. ทฤษฎีความรู้. เชียงใหม่: โครงการสนับสนุนงานวิจัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

ฟิสเชอร์, โรเบิร์ต บี. 2527. ปรัชญาวิทยาศาสตร์: ความหมายแห่งยุคสมัย. แปลโดย ศรีภราดร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ต้นหมาก.

สมภาร พรมทา. 2534. พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

สมัคร บุราวาศ. 2542. พุทธปรัชญา: มองพุทธศาสนาด้วยทรรศนะทางวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม.

สุวิมล รุ่งเจริญ และคณะ (บรรณาธิการ). 2540. อารยธรรมสมัยใหม่-ปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เสมอชัย พูลสุวรรณ. 2544. วิทยาศาสตร์กับความจริงในวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

บรรณานุกรมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์จีน-พม่า


บรรณานุกรมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์จีน-พม่า

บรรณานุกรมภาษาไทย

“กงสุลจีนเมิน ไม่รับหนังสือนักสิ่งแวดล้อมร้องคุมบริษัทเขื่อนจีนทำลายสิ่งแวดล้อมพม่า.” ประชาไทออนไลน์, 4 ธันวาคม 2550. เข้าไปที่ http://www.prachathai.com/; เข้าไปเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2551.

กลุ่มวิหคเหิร. บันทึกจากจีน: เอกสารการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติสมัยที่ 1 ชุดที่ 5 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน. กรุงเทพฯ: พิชัยยุทธ์การพิมพ์, 2522.

เขียน ธีระวิทย์. นโยบายต่างประเทศจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2541.

----------------. เวียดนาม: สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง และการต่างประเทศ. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2542.

“คำรายงานและคำปราศรัยของเจียงเจ๋อหมิน.” ใน สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน?, แปลโดย ดาวประกาย รุ่งอรุณ และบรรณาธิการโดย บุญศักดิ์ แสงระวี, 149-208. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543.

จุลชีพ ชินวรรโณ. สู่สหัสวรรษที่ 3 กระแสเศรษฐกิจการเมืองโลกที่ไร้พรมแดน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2542.

“ใจความสำคัญของการสนทนาที่อู่ชาง เซินเจิ้น จูไห่ และเซี่ยงไฮ้.” ใน สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน?, แปลโดย ดาวประกาย รุ่งอรุณ และบรรณาธิการโดย บุญศักดิ์ แสงระวี, 104-123. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543.

เฉียนฉีเชิน. บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง. แปลโดย อาทร ฟุ้งธรรมสาร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. พม่า: ประวัติศาสตร์และการเมือง. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), 2544.

ฐิตวัชร์ เสถียรทิพย์ และจันทิมา วุฒิ. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ. เอกสารกรมข่าวทหารบก, 12 กรกฎาคม 2547. เข้าไปที่ http://www.rta.mi.th/13200u/Myanmar/IDVMYNBAS00023.%20html; เข้าไปเมื่อ 1 กรกฎาคม 2551.

ฐิติพร จิระสวัสดิ์. นโยบายต่างประเทศของจีนต่อพม่าช่วงระหว่าง ค.ศ. 1988 – 1997. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

ดุลยภาค ปรีชารัชช. “เพียงมะนา เนปิดอว์ ราชธานีแห่งใหม่ของสหภาพพม่า.” ศิลปวัฒนธรรม, พฤศจิกายน 2550, 151-169.

ทรงฤทธิ์ โพธิ์เงิน. “ยูนนาน ประตูสู่ใต้ของจีน.” ผู้จัดการรายเดือน, ตุลาคม 2536, 178-190.

เทย์เลอร์, โรเบิร์ต เอช. รัฐในพม่า. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2550.

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. “พม่ากับการเมืองระหว่างประเทศในเอเชีย.” ใน สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. เอกสารการสอนชุดวิชาการเมืองระหว่างประเทศในเอเชีย หน่วยที่ 8-15, 467-526. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2529.

นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2550.

ประทุมพร วัชรเสถียร. พฤติกรรมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของยุโรปตะวันออก: ปัญหาและการวิเคราะห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2527.

พรพิมล ตรีโชติ. ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2542.

พันธุ์สูรย์ ลดาวัลย์, มล. การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองพม่า. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2542.

พาย, ลูเชี่ยน ดับเบิ้ลยู. จีนสามยุค. แปลโดย คณิน บุญสุวรรณ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2547.

ภูวดล ทรงประเสริฐ. จีนโพ้นทะเลสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: แบรนด์เอจ, 2547.

“ยืนหยัดในสังคมนิยม ป้องกันการแปรเปลี่ยนอย่างสันติ.” ใน สรรนิพนธ์เติ้งเสี่ยวผิง จีนจะไปทางไหน?, แปลโดย ดาวประกาย รุ่งอรุณ และบรรณาธิการโดย บุญศักดิ์ แสงระวี, 96-98. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543.

รัชนีกร บุญ-หลง. ภูมิศาสตร์การเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.

วรศักดิ์ มหัทธโนบล. “จีนกับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ.” ใน พรพิมล ตรีโชติ และคณะ. รายงานการวิจัยเรื่องสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ: ความเป็นจริงและผลกระทบ, 19-77. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541.

-----------------------. “การปฏิรูปจีน: ยุทธศาสตร์พื้นที่ทางเศรษฐกิจกับความขัดแย้งเชิงนโยบาย.” ใน จีน-ไทยในศตวรรษที่ 21, บรรณาธิการโดย วรศักดิ์ มหัทธโนบล, 105-152. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2542.

---------------------- . เศรษฐกิจการเมืองจีน. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2547.

วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, อักษรศรี พานิชสาส์น และอวยพร สุธาทองไทย. หนึ่งมณฑล หนึ่งประเทศ: เศรษฐกิจจีน 11 มณฑลที่มีนัยสำคัญต่อไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2549.

วิมลวรรณ ภัทโรดม. ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียสมัยใหม่กับสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1947 – ค.ศ. 1980). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, 2532.

--------------------------. ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, 2540.

วิไลเลขา ถาวรธนสาร. “Anti-Chinese Riots (1967): การจลาจลต่อต้านชาวจีนในพม่า (พ.ศ. ๒๕๑๐).” ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2539.

สมร นิติทัณฑ์ประภาศ. สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน (ค.ศ. 1945 – 1980) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2531.

----------------------------. สหรัฐอเมริกาในโลกปัจจุบัน (ค.ศ. 1945 – 1980) เล่ม 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2531.

สุทธิดา มะลิแก้ว และนุศรา สวัสดิ์สว่าง. “จีนดูดการลงทุนเข้าชายแดน ใช้จุดขายความสัมพันธ์อันดีกับพม่า.” ผู้จัดการรายเดือน, กุมภาพันธ์ 2538, 130-139.

เสมอชัย พูลสุวรรณ. “รัฐฉาน” (เมืองไต): พลวัตของ “ชาติพันธุ์” ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย. รายงานวิจัยเสนอต่อโครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2546.

หม่าเย่า และคณะ. ประวัติศาสตร์ยูนนานสมัยใหม่. แปลโดย อุษา โลหะจรูญ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สร้างสรรค์, 2549.

อารยชน (นามแฝง). จีน 1980: นโยบายภายในและต่างประเทศปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศตวรรษ, 2523.

อุดม เกิดพิบูลย์. พม่าในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ. เชียงใหม่: โชตนาพริ้นท์, 2549.

ฮอลล์, ดี. จี. อี. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: สุวรรณภูมิ-อุษาคเนย์ภาคพิสดาร เล่ม 1. แปลโดย วรุณยุพา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และคณะ, บรรณาธิการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2549.



บรรณานุกรมภาษาอังกฤษ

Arnott, David. Burma-China Chronology to 1999. Available from http://burmalibrary.org/docs4/%20China-Burma_Chronology.pdf. Accessed 15 July 2008.

Bert, Wayne. “Chinese Policy toward Democratization Movements: Burma and the Philippines.” Asian Survey Vol. 30, No.11 (November 1990): 1066-1083.

Chen Jian. Mao’s China and the Cold War. Chapel Hill: The University of Northern Carolina Press, 2001.

“China donates to tsunami-hit Myanmar.” China Daily, 5 January 2005. Available at http://www.chinadaily.com.cn/english/doc/2005-01/05/content_406189.htm; accessed 16 January 2007.

“China Helps Myanmar Design Master plan for Industrial Zone.” Xinhua News Agency, 20 December 2005. Available at http://english.hanban.edu.cn/english/international/152520.%20htm; accessed 13 July 2008.

“China, India ‘key’ to junta.” Bangkok Post, 9 September 2007, section 1, 4.

“China-Myanmar economic, trade co-op makes new progress.” People’s Daily, 9 December 2007. Available at http://english.people.com.cn/90001/90776/90883/6317490.html; accessed 10 December 2007.

“China, Russia veto Myanmar resolution.” China Daily, 13 January 2007. Available at http://www.chinadaily.com.cn/china/2007-01/13/content_782772.htm; accessed 16 January 2007.

“China signs up to UN demand.” Bangkok Post, 13 October 2007, section 1, 4.

“China urges restraint from all parties in Myanmar.” Xinhua News Agency, 27 September 2007. Available at http://news.xinhuanet.com/english/2007-09/27/content_6802849.htm; accessed 27 September 2007.

“Chinese Consulate in Mandalay Attacked.” The Irrawaddy, 9 October 2007. Available at http://www.irrawaddy.org/print_page.php?art_id=8956; accessed 9 October 2007.

Chinese Embassy in Myanmar. “Exchange of Ministerial and Senior Visits (Year 2004).” Available at http://mm.china-embassy.org/eng/xwdt/t74778.htm; accessed 2 February 2007.

“Chinese firm to build hydro plants in Burma.” Bangkok Post, 6 May 2007, 3.

“Chinese gov’t special envoy ends Myanmar visit.” People’s Daily, 17 November 2007. Available from http://english.people.com.cn/90001/90776/90883/6304369.html; accessed 19 November 2007.

“Chinese provincial delegation, Myanmar hold business cooperation meeting.” People’s Daily, 30 March 2007. Available at http://english.people.com.cn/200703/30/eng20070330_362335.%20html; accessed 11 April 2007.

“Chinese relief materials arrive in Myanmar.” China Daily, 7 May 2008. Available at http://www.chinadaily.com.cn/china/2008-05/07/content_6668522.htm; accessed 12 May 2008.

“Chinese Ruili municipality delegation visits Myanmar.” People’s Daily, 4 December 2007. Available at http://english.people.com.cn/90001/90776/6314853.html; accessed 10 December 2007.

Dean, Karin. “Space and territorialities on the Sino-Burmese boundary: China, Burma and the Kachin.” Political Geography 24 (2005): 808-830.

“Demonstrators at Chinese Consulate Want Olympics Boycott.” The Irrawaddy, 4 October 2007. Available at http://www.irrawaddy.org/print_page.php?art_id=8889; accessed 4 October 2007.

“Driving Force.” Far Eastern Economic Review, Vol.155, No.16, 23 April 1992, 8.

Edwards, Penny. “Outside In: Sino-Burmese Encounters.” In China Inside Out: Contemporary Chinese Nationalism & Transnationalism, eds. Pal Nyiri and Joana Breidenbach. Budapest: Central Europrean University Press, 2004. Available at http://cio.hu/courses/CIO/%20modules/Modul09Edwards/print.html; accessed 14 July 2006.

“External Pressure.” Far Eastern Economic Review, Vol. 156, No.8, 25 February 1993, 9.

Fairbank, John King. “A Preliminary Framework.” In The Chinese World Order: Traditional China’s Foreign Relations, ed. John King Fairbank, 1-19. Cambridge, MA: Harvard University Press, 1974.

Haacke, Jurgen. Myanmar’s Foreign Policy: Domestic influences and international implications. London: The International Institute for Strategic Studies, 2006.

Han Nianlong et al. (eds). Diplomacy of Contemporary China. Hong Kong: New Horizon Press, 1990.

Hensengerth, Oliver. The Burmese Communist Party in the State-to-State Relations between China and Burma. Leeds: East Asia Papers No. 67, University of Leeds, 2005.

Hinton, Peter. “Resource Management in Yunnan Mekong Basin.” Asia Research Centre Working Paper No. 72, 1998.

“International cooperation curbs poppy planting in Golden Triangle.” People’s Daily, 22 May 2007. Available at http://english.people.com.cn/200705/22/print20070522_376860.html; accessed 18 June 2997.

The Irrawaddy. Chronology of Chinese-Burmese Relations. Chiang Mai: Irrawaddy Publishing Group, 2003. Available at http://www.irrawaddy.org/research_show.php?art_id=446. Accessed 8 October 2006.

Johnstone, William C. Burma’s Foreign Policy: A Study in Neutralism. Cambridge, MA: Harvard University Press, 1963.

“Joint Communique on the Establishment of Diplomatic Relations Between the People’s Republic of China and the United States of America, 1 January 1979.” In The State Council Information Office of the People’s Republic of China. 30 Years of Sino-US Relations, 120. Beijing: Xiyuan Publishing House and China Intercontinental Press, 2002.

Kramer, Tom. The United Wa State Party: Narco-Army or Ethnic Nationalist Party?. Washington, D.C.: East-West Center Washington, 2007.

Kristof, Nicholas D. “China Province Forges Regional Trade Links.” The New York Times, 7 April 1991. Available at http://query.nytimes.com/; accessed 17 April 2008.

Kuah Khun Eng. “Negotiating Central, Provincial, and County Policies: Border Trading in South China.” In Where China Meets Southeast Asia: Social and Cultural Change in the Border Region, eds. Grant Evans et al., 72-97. Bangkok: White Lotus Press, 2000.

Lintner, Bertil. The Rise and Fall of the Communist Party of Burma (CPB). Ithaca, NY: Southeast Asia Program, Cornell University, 1990.

------------------. “Burma and its Neighbours.” Paper presented at a conference in February 1992 at the Nehru Memorial Museum and Library, New Delhi. Available at www.asiapacificms.com; Accessed 27 July 2006.

Lixin Geng. “Sino-Myanmar Relations: Analysis and Prospects.” The Culture Mandala Vol.7, No. 2 (December 2006). Available at http://www.international-relations.com/CM7-2WB/Sino-Myanmar.htm; Accessed 16 January 2007.

Longmire, R.A. Soviet Relations with South-East Asia. London: Kegan Paul International, 1989.

MacFaquhar, Roderick. “The succession to Mao and the end of Maoism.” In The Cambridge History of China, Volume 15, The People’s Republic, Part 2: Revolutions within the Chinese Revolutions 1966-1982, eds. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank, 305-401. New York: Cambridge University Press, 1987.

Maung Aung Myoe. “Sino-Myanmar Economic Relations Since 1988.” Asia Research Institute Working Paper No. 86, April 2007.

The Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China. “Foreign Ministry Spokesman Qin Gang’s Regular Press Conference on 10 July 2007.” Available at http://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw/s2510/t339428.htm; accessed 21 July 2007.

The Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China. “State Councilor Tang Jiaxuan Meets with Special Envoy of SPDC Chairman of Myanmar.” 13 September 2007. Available at http://www.fmprc.gov.cn/eng/wjdt/wshd/t363133.htm; accessed 19 September 2007.

The Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China. “Foreign Ministry Spokesman Qin Gang’s Regular Press Conference on May 8, 2008.” Available at http://www.fmprc.gov.cn/eng/xwfw/s2510/t432941.htm; accessed 12 May 2008.

The Ministry of Foreign Affairs of the People’s Republic of China and the Party Literature Research Center under the Central Committee of the Communist Party of China. Mao Zedong on Diplomacy. Beijing: Foreign Languages Press, 1998.

Mya Maung. “On the Road to Mandalay: A Case Study of the Sinonization of Upper Burma.” Asian Survey Vol.34, No.5 (May 1994): 447-459.

“Myanmar Hopes to Learn from China in Building High-tech Park.” Xinhua News Agency, 18 February 2006. Available at http://www.china.org.cn/english/international/1585449.htm; accessed 13 July 2008.

Nakajima, Mineo. “Foreign relations: from the Korean War to the Bandung Line.” In The Cambridge History of China, Volume 14, The People’s Republic, Part 1: The Emergence of Revolutionary China 1949-1965, eds. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank, 259-289. New York: Cambridge University Press, 1987.

Ong, Russell. China’s Security Interests in the Post-Cold War Era. London: Curzon, 2002.

“Overseas Chinese in Myanmar condemn Chen Shui-bian for Taiwan independence remarks.” People’s Daily, 16 March 2007. Available from http://english.people.com.cn/200703/16/%20eng20070316_358035.html; accessed 11 April 2007.

Pan Qi. “Opening the Southwest: An Expert’s Opinion.” Beijing Review, 2 September 1985, 23. อ้างถึงใน ฐิติพร จิระสวัสดิ์. นโยบายต่างประเทศของจีนต่อพม่าช่วงระหว่าง ค.ศ. 1988 – 1997. กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

Ramachandran, Sudha. “Myanmar plays off India and China.” Asia Times, 17 August 2005. Available at http://www.atimes.com/; accessed 26 September 2006.

Robinson, Thomas. “China confronts the Soviet Union: warfare and diplomacy on China’s Inner Asian frontiers.” In The Cambridge History of China, Volume 15, The People’s Republic, Part 2: Revolutions within the Chinese Revolutions 1966-1982, eds. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank, 218-301. New York: Cambridge University Press, 1987.

Rosenau, James N. “Toward the Study of National-International Linkages.” In Linkage Politics: Essays on the Convergence of National and International System, ed. James N. Rosenau, 44-66. New York: The Free Press, 1969.

Rui Wen. “Neighbors in Harmony: China-Myanmar relations based on trust and mutual understanding.” Beijing Review, 10 June 2004, 21-23.

Sai Kham Mong. Kokang and Kachin in the Shan State (1945-1960). Bangkok: Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University, 2005.

Selth, Andrew. “Chinese Military Bases in Burma: The Explosion of a Myth.” Griffith Asia Institute’s Regional Outlook Paper No. 10, 2007.

Shambaugh, David. “Peking’s Foreign Policy Conundrum Since Tienanmen: Peaceful coexistence vs. Peaceful evolution.” Issues & Studies 28 (November 1992): 65-85.

Sirin Phathanothai. The Dragon’s Pearl: Growing up among Mao’s Reclusive Circle. London: Pocket Books, 2006.

“Situation in Myanmar poses no threat to peace, security, China says.” Xinhua News Agency, 6 October 2007. Available at http://news.xinhuanet.com/english/2007-10/06/content_%206832826.htm; accessed 10 Octber 2007.

Spence, Jonathan D. “The K’ang-hsi Reign.” In The Cambridge History of China, Volume 9, Part One: The Ch’ing Empire to 1800, ed. Willard J. Peterson, 120-182. New York: Cambridge University Press, 2002.

Tin Maung Maung Than. “Myanmar and China: A Special Relationship?.” In Southeast Asian Affairs 2003, 189-210. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2003.

The United Nations’ Department of Public Information, News and Media Division. “Security Council notes Myanmar’s announcement on May referendum, elections in 2010; underlines needs for inclusive process, participation of all political actors.” 2 May 2008. Available at http://www.un.org/News/Press/docs/2008/sc9320.doc.htm; accessed 12 May 2008.

Wang Jun-fu. “Sino-Myanmar Relation and Its Prospects.” Paper presented at the conference on “Myanmar Towards the 21st Century: Dynamics of Continuity and Change” at Rimkok Hotel, Chaing Rai, Thailand, 1-3 June 1995.

Whiting, Allen S. “The Sino-Soviet Split.” In The Cambridge History of China, Volume 14, The People’s Republic, Part 1: The Emergence of Revolutionary China 1949-1965, eds. Roderick MacFarquhar and John K. Fairbank, 478-538. New York: Cambridge University Press, 1987.

Yahuda, Michael B. The International Politics of Asia-Pacific, 1945-1995. London: Routledge, 1996.


บรรณานุกรมภาษาจีน
(เรียงตามลำดับคำแปลในอักษรไทย แถวล่างเป็นชื่อเอกสารต้นฉบับภาษาจีน)

“จีนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในพม่าเป็นครั้งแรก สร้างเสร็จแล้วจ่ายไฟให้ทั้งสองประเทศ.” (จงกั๋วไจ้เหมี่ยนเตี้ยนโส่วซื่อโถวจือเจี้ยนสุ่ยเตี้ยนจ้าน เจิ้ยนเฉิงโห้วเซี่ยงเหลี่ยงกั๋วซ่งเตี้ยน) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 5 มกราคม 2007. เข้าไปที่ http://www.chinanews.com.cn/cj/tzcl/news/2007/01-05/848994.shtml; เข้าไปเมื่อ 12 พฤษภาคม 2551.
“中国在缅甸首次投资建水电站 建成后向两国送电。” 中国新闻社,2007年1月 1日。http://www.chinanews.com.cn/cj/tzcl/news/2007/01-05/%20848994.shtml; 于2008年 5月12日获得。

“จีนและพม่าเตรียมสร้างท่อส่งก๊าซข้ามพรมแดนระหว่างกัน.” (จงกั๋วเหมี่ยนเตี้ยนคว่าจิ้งซูชี่กว่านเต้าไคสือโฉวเจี้ยน) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 24 มิถุนายน 2008. เข้าไปที่ http://www.chinanews.com.cn/cj/cyzh/news/2008/06-27/1294576.shtml; เข้าไปเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008.
“中国缅甸跨境输气管道开始筹建。” 中国新闻社,2008年6月27日。http://www.chinanews.com.cn/cj/cyzh/news/2008/06-27/1294576.shtml; 于2008年7月28日获得。

“ทำไมพม่าย้ายเมืองหลวง? เปิดม่านปริศนาแห่งเมืองหลวงใหม่ของพม่า.” (เหมี่ยนเตี้ยนเว่ยเหอเชียนตู? เจี่ยไคเหมี่ยนเตี้ยนซินโส่วตูเสินมี่เมี่ยนซา) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 23 พฤษภาคม 2007. เข้าไปที่ http://www/chinanews.com.cn/gi/kong/news/2007/0523/941942.%20shtml; เข้าไปเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008.
“缅甸为何迁都?揭开缅甸新首都神秘面纱。” 中国新闻社,2007年5月23日。http://www/chinanews.com.cn/gi/kong/news/2007/05-23/%20941942.shtml; 于2008年5月12日获得。

“นายกรัฐมนตรีเวินเจียเป่าพบกับผู้นำเวียดนาม กัมพูชา และพม่า.” (เวินเจียเป่าหุ้ยเจี้ยนเยว่หนานเจี๋ยนผู่ไจ้เหมี่ยนเตี้ยนหลิงเต่าเหญิน) ประชาชนรายวัน (ฉบับต่างประเทศ) (เหญินหมินยื่อเป้า ไห่ว่ายป่าน), 20 พฤศจิกายน 2007, 8.
“温家宝会见越南柬埔寨缅甸领导人。” 人民日报(海外版),2007年11月20日,第8页。

“ผู้แทนของจีนไม่เห็นด้วยกับการนำเอาประเด็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยในพม่ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง.” (จงกั๋วไต้เปี่ยวปู้เชิงจ้านเจียงเหมี่ยนเตี้ยนจิ้วไจเวิ่นถีเจิ้งจื้อฮว่า) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 7 มิถุนายน 2008. เข้าไปที่ http:// www.chinanews.com.cn/gi/zgsy/news/2008/06-07/1275390.shtml; เข้าไปเมื่อ 18 มิถุนายน 2008.
“中国代表不称赞将缅甸救灾问题政治化。” 中国新闻社,2008年6月7日。http:// www.chinanews.com.cn/gi/zgsy/news/2008/06-07/1275390.shtml; 于2008年6月18日获得。

“พม่าสั่งปิดตายสมาคมจีนอายุกว่าร้อยปี.” (เหมี่ยนเตี้ยนเฟิงซาไป่เหนียนหัวซางเส้อถวน) เหวินหุ้ยเป้า (ฉบับประเทศไทย) (เหวินหุ้ยเป้า ไท่กั๋วป่าน), 30 พฤษภาคม 2007, 1.
“缅甸封杀百年华商社团。” 文汇报 (泰国版),2007年5月30日,第1页。

“ไล่ซงเซิง ประธานหอการค้าจีนประจำพม่า: การเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเป็นเกียรติสูงสุดของข้าพเจ้า.” (เหมี่ยนเตี้ยนหัวซางซางหุ้ยหุ้ยจ่างไล่ซงเซิง: ชานเจียอ้าวยุ่นซื่อหว่อจุ้ยต้าหญงกวาง) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 28 กรกฎาคม 2008. เข้าไปที่ http://www.chinanews.com.cn/hr/yzhrxw/news/2008/07-28/1326305.shtml; เข้าไปเมื่อ 28 กรกฎาคม 2008.
“缅甸华商商会会长赖松生:参加奥运是我最大荣光。” 中国新闻社,2008年7月28日。http://www.chinanews.com.cn/hr/yzhrxw/news/ 2008/07-28/1326305.shtml; 于2008年7月8日获得。

“เวินเจียเป่าและบราวน์สนทนาทางโทรศัพท์.” (เวินเจียเป่าอวี่ปู้หลางทงเตี้ยนฮว่า) ประชาชนรายวัน (ฉบับต่างประเทศ) (เหญินหมินยื่อเป้า ไห่ว่ายป่าน), 27 กันยายน 2007, 1.
“温家宝与布朗通电话。” 人民日报(海外版),2007年9月29日,第1页。

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสหภาพพม่า. “การเดินทางเยือนพม่า 9 ครั้งของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล.” (โจวเอินไหลจ๋งหลี่จิ่วซื่อฝ่างเวิ่นเหมี่ยนเตี้ยน) เข้าไปที่ http://mm.%20chineseembassy.org/chn/zmgx/zzgx/t258741.htm; เข้าไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2551.
中华人民共和国驻缅甸联邦大使馆。周恩来总理九次访问缅甸。 http://mm.chineseembassy.org/chn/zmgx/zzgx/t258741.htm。于2008 年7 月17 日获得。

สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำสหภาพพม่า. “บทกวีแด่มิตรชาวพม่าของจอมพลเฉินอี้.” (เฉินอี้หยวนส้วยซือ เจิงเหมี่ยนเตี้ยนโหย่วเหญิน) เข้าไปที่ http://mm.chineseembassy.%20org/chn/zmgx/zzgx/t258742.htm; เข้าไปเมื่อ 17 กรกฎาคม 2551.
中华人民共和国驻缅甸联邦大使馆。陈毅元帅诗《赠缅甸友人》。http://mm.chineseembassy.org/chn/zmgx/zzgx/t258742.htm。于2008 年7 月17 日获得。

“สิ่งของบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินชุดที่สองจากจีนถึงพม่าแล้ว คิดเป็นมูลค่า 5 แสนเหรียญสหรัฐฯ.” (จงกั๋วตี้เอ้อพีจิ่นจี๋หยวนจู้อู้จือยวิ่นตี่เหมี่ยนเตี้ยน เจี้ยจื๋อเยวียอู่สือว่านเหม่ยหยวน) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 9 มิถุนายน 2008. เข้าไปที่ http://%20www.chinanews.com.cn/gn/news/2008/05-09/1244556.shtml; เข้าไปเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008.
“中国第2批紧急援助物资运抵缅甸 价值约50万美元。” 中国新闻社,2008年5月9日。http://%20www.chinanews.com.cn/gn/news/2008/05-09/1244556.shtml; 于2008年5月12日获得。

“สิ่งของบรรเทาทุกข์ฉุกเฉินชุดที่สามจากจีนรวม 58 ตันถึงพม่าแล้ว.” (จงกั๋วตี้ซานพีอู่สือปาตุนจิ่นจี๋หยวนจู้อู้จือยวิ่นตี่เหมี่ยนเตี้ยน) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 11 พฤษภาคม 2008. เข้าไปที่ http://www.chinanews.com.cn/gj/yt/news/2008/05-11/1245184.shtml; เข้าไปเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008.
“中国第三批58吨紧急援助物资运抵缅甸。” 中国新闻社,2008年5月11日。http://www.chinanews.com.cn/gj/yt/news/2008/05-11/1245184.shtml; 于2008年5月12日获得。

“หอการค้าจีนประจำพม่าจัดงานฉลองการก่อตั้งครบ 96 ปี โดยมีเอกอัครราชทูตหลี่จิ้นจวินเข้าร่วมด้วย.” (เหมี่ยนเตี้ยนหัวซางซางหุ้ยชิ่งจู้เฉิงลี่จิ่วสือลิ่วโจวเหนียน หลี่จิ้นจวินต้าสือชูสี) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 6 มกราคม 2005. เข้าไปที่ http://%20www.chinanews.com.cn/news/2005/2005-01-06/26/525012.shtml; เข้าไปเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008.
“缅甸华商商会庆祝成立96 年 李进军大使出席。” 中国新闻社,2005 年1月6日。http://www.chinanews.com.cn/news/2005/2005-01-06/26/%20525012.shtml; 于2008年5月12日获得。

“หอการค้าจีนประจำพม่าจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำฉลองการก่อตั้งครบ 98 ปี.” (เหมี่ยนเตี้ยนหัวซางซางหุ้ยจวี่สิงเหลียนหวนหว่านหุ้ย ชิ่งจู้เฉิงลี่จิ่วสือปาโจวเหนียน) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 1 มกราคม 2007. เข้าไปที่ http://www.chinanews.com.cn/hr/news/%202007/01-01/847879.shtml; เข้าไปเมื่อ 12 พฤษภาคม 2008.
“缅甸华商商会举行联欢晚会 庆祝成立98 周年。” 中国新闻社,2007年1月1日。http://www.chinanews.com.cn/hr/news/2007/01-01/847879.shtml; 于2008年5 月12日获得。

“หอการค้าจีนประจำพม่าและสมาคมจีนรวมสามแห่งกลับมามีสถานะถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้ง.” (เหมี่ยนเตี้ยนหัวซางซางหุ้ยเติ่งซานเจียหัวเฉียวถวนถี่อี่หุยฟู่เหอฝ่าตี้เว่ย) ศูนย์ข้อมูลข่าวเมืองเทียนจิน (จื้อเหนิงเทียนจิน), 31 พฤษภาคม 2007. เข้าไปที่ http://www.tjol.tv/news/ gjxw/2007-05-31/1180569966d217543.html; เข้าไปเมื่อ 13 พฤษภาคม 2008.
“缅甸华商商会等3家华侨团体已恢复合法地位。” 智能天津,2007年5月31日。http://www.tjol.tv/news/gjxw/2007-05-31/1180569966d217543.%20html; 于2008年5月13日获得。

“เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่าเยี่ยมเยียนชาวจีนโพ้นทะเลที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่น.” (จงกั๋วต้าสือฟู่ เหมี่ยนเตี้ยนไถเฟิงจ้งไจชวีเว่ยเวิ่นโซ่วไจหัวเฉียวหัวเหญิน) สำนักข่าวแห่งประเทศจีน (จงกั๋วซินเหวินเส้อ), 12 มิถุนายน 2008. เข้าไปที่ http://www.chinanews.com.cn/hr/yzhrxw/news/%202008/06-12/1279347.shtml; เข้าไปเมื่อ 18 มิถุนายน 2008.
“中国大使赴缅甸台风重灾区慰问受灾华侨华人。” 中国新闻社,2008年6月1日。http://www.chinanews.com.cn/hr/yzhrxw/news/2008/06-12/1279347.shtml; 于2008年6月18日获得。

วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551

China’s Korea Policy in the Era of Reform, 1978-1992, Conclusion and Bibliography


China’s Korea Policy in the Era of Reform, 1978-1992, Conclusion and Bibliography

Conclusion
China’s decision to pursue a two-Koreas policy was based chiefly on domestic factors. The death of Mao Zedong led to the rise of Deng Xiaoping and his clique who abandoned rigid doctrinism and emphasised market-oriented reforms. The new leadership considered South Korea as a model of economic development and a source of capital and technology and thus economic relations between the two countries began in the late 1970s. South Korea’s open-door policy also facilitated the relations. As the economic relations had been closer, China’s began to recognise South Korea’s governmental authority. However, due to security and political reasons, it could not establish diplomatic ties with South Korea in the 1980s.

The Sino-Soviet conflict and the Tiananmen incident retarded the Sino-South Korean normalisation. China feared that the normalisation with South Korea during the Sino-Soviet conflict might antagonise Kim Il Sung and bring North Korea into the Soviet orbit. Therefore, it had to maintain close ties with Pyongyang by reaffirming China’s North Korean security commitment, providing economic and military aids, and approving Kim Il Sung’s designation of his successor. In addition, realising that economic reform could not be achieved without a peaceful environment, China encouraged North Korea to open a dialogue with the United States. Although the rift with the Soviets ended in the late 1980s, the Tiananmen incident, followed by the end of the Cold War, retarded the prospect of normalisation. The fear of the United States’ peaceful evolution policy and the crisis of Communist legitimacy after the collapse of the Soviet bloc strengthened the Sino-North Korean relations. Ironically, the end of the Cold War itself led to the reorientation of Chinese foreign policy that favoured the normalisation with South Korea.

China’s negative view toward the emergence of the U.S.-dominated unipolar world after the Cold War was responsible for the strengthening of its regional base by improving relations with its Asian neighbours. By the beginning of the 1990s, therefore, China decided to normalise its relations with South Korea. The de-escalation of inter-Korean tensions, Deng Xiaoping’s southern tour, Taiwan’s diplomacy, and the Sino-U.S. trade disputes further precipitated the normalisation. However, China’s diplomacy toward Pyongyang during the normalisation shows that the two-Koreas policy tried not to alienate North Korea and that Pyongyang was still important to China.

In the post-normalisation era, China has played a significant role in Korean affairs. As the only major power, apart from Russia, which has diplomatic ties with both Pyongyang and Seoul, China’s cooperation in dealing with the Korean problem is indispensable, as seen in the 1993/1994 nuclear crisis, the 1997/1998 four-party talks, the 2000 Korean summit, and the present 2002/2003 nuclear crisis. Given the two Koreas’ strategic and economic importance for China, it is likely that China would have its say in the future Korean affairs, perhaps even after the Korean reunification.

Bibliography
Ahn, Byung-joon. “South Korea and the Communist Countries.” Asian Survey 20 (November 1980): 1098-1107.

Buzo, Adrian. The Guerilla Dynasty: Politics and Leadership in North Korea. Boulder, Colorado: Westview Press, 1999.

Chang, Parris H. “China’s East Asian Policy during the Deng Era.” In Peace and Cooperation in Northeast Asia, ed. Dalchoong Kim, 39-58. Seoul: Institute of East and West Studies, Yonsei University, 1990.

Chang, Parris H. “Beijing’s Policy toward Korea and PRC-ROK Normalization of Relations.” In The Changing Order in Northeast Asia and the Korean Peninsula, eds. Manwoo Lee and Richard W. Mansbach, 155-172. Seoul: Institute for Far Eastern Studies, Kyungnam University, 1993.

Cheung, Peter T.Y. and James T.H. Tang. “The External Relations of China’s Provinces.” In The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform, ed. David M. Lampton, 91-120. Stanford, California: Stanford University Press, 2001.

Chu Sung-po. “Peking’s Relations with South and North Korea in the 1980s.” Issues & Studies 22 (November 1986): 67-79.

Chung, Chong Wook. “China’s Role in Two-Korea Relations in the 1980s.” Journal Northeast Asian Studies 5 (Fall 1986): 52-66.

Chung, Jae-Ho. “South Korea-China Economic Relations: The Current Situation and Its Implications.” Asian Survey 28 (October 1988): 1031-1048.

Chung, Jae Ho. “Sino-South Korean Economic Cooperation: An Analysis of Domestic and Foreign Entanglements.” Journal of Northeast Asian Studies 9 (Summer 1990): 59-79, [journal on-line]; Available from http://weblinks2.epnet.com/delivery.asp?tb=1&_ug=dbs+0+1n+en-us+sid+3087E9E8-D6C...; Accessed 25 July 2003.

Gu, Weiqun. “China’s ‘Open-Door’ Policy and the Korean Peninsula.” In Peace and Cooperation in Northeast Asia, ed. Dalchoong Kim, 109-120. Seoul: Institute of East and West Studies, Yonsei University, 1990.

Hao Yufan. “China and the Korean Peninsula: A Chinese View.” Asian Survey 27 (August 1987): 862-884.

Hong Liu. “The Sino-South Korean Normalization: A Triangular Explanation.” Asian Survey 33 (November 1993): 1083-1094.

Hsu, Immanuel C.Y. The Rise of Modern China. 3rd ed. New York: Oxford University Press, 1983.

Hsu, Immanuel C.Y. The Rise of Modern China. 6th ed. New York: Oxford University Press, 2000.

Huang Hua. “China’s Position on Current World Issues.” Beijing Review, 11 October 1982, 14-17.

Jia Hao and Zhuang Qubing. “China’s Policy toward the Korean Peninsula.” Asian Survey 32 (December 1992): 1137-1156.

Kim, Hakjoon. Korea’s Relations with Her Neighbors in a Changing World. Seoul: Hollym International Corp., 1993.

Kim, Ilpyong. “China and the Two Koreas in the Post-Seoul Olympics Era.” Korea Observer 14 (Autumn 1988): 267-283.

Kim, Samuel S. “The Making of China’s Korea Policy in the Era of Reform.” In The Making of Chinese Foreign and Security Policy in the Era of Reform, ed. David M. Lampton, 371-408. Stanford, California: Stanford University Press, 2001.

Lee Chae-Jin. “The Role of China in the Korean Unification Process.” Asian Perspective 10 (Spring-Summer 1986): 96-112.

Lee, Chae-Jin. “China’s Pragmatic Policy Orientation and Its Implications for Korean Unification” In Perspectives on The Peaceful Reunification of Korea, eds. Hong Nack Kim, Byung Chun Minn, and Yong Soon Yim, 1-27. Seoul: Institute of Korean Studies, 1988.

Lee, Chae-Jin. China and Korea: dynamic relations. Stanford, CA: Hoover Institution Press, 1996.

Lee, Hong Yung. “Future Dynamics in Sino-Korea Relations.” Journal of Northeast Asian Studies 9 (Fall 1990): 34-49, [journal on-line]; Available from http://weblinks1.epnet.com/delivery.asp?tb=0&_ug=dbs+0+ln+en-us+sid+...; Accessed 1 April 2003.

Lee, Hong Yung. “China and the Two Koreas: New Emerging Triangle” In Korea and the World: Beyond the Cold War, ed. Young Whan Kihl, 97-110. Boulder, Colorado: Westview Press, 1994.

Levin, Norman D. “Evolving Chinese and Soviet Policies toward the Korean Peninsula.” In Chinese Defense and Foreign Policy, ed. June Teufel Dreyer (second printing), 187-213. New York: Paragon House, 1988.

Nathan, Andrew J. and Robert S. Ross. The Great Wall and the Empty Fortress: China’s Search for Security. New York: W.W. Norton & Company, 1997.

Oberdorfer, Don. The Two Koreas: A Contemporary History. New York: Basic Books, 1997.
Ong, Russell. China’s Security Interests in the Post-Cold War Era. London: Curzon, 2002.

“Premier Zhao Ziyang Visits Korea.” Beijing Review, 4 January 1982, 5.

Sanford, Dan C. South Korea and the Socialist Countries: The Politics of Trade. London: Macmillan, 1990.

Shambaugh, David. “Peking’s Foreign Policy Conundrum Since Tienanmen: Peaceful coexistence vs. Peaceful evolution.” Issues & Studies 28 (November 1992): 65-85.

Suettinger, Robert L. Beyond Tiananmen: The Politics of U.S.-China Relations 1989-2000. Washington D.C.: Brookings Institution Press, 2003.

Woo, Seongji. “Adversarial Engagement and Alliance Relations: Triangular Politics on the Korean Peninsula, 1988-1994.” Issues & Studies 37 (March/April 2001): 106-146.

Yahuda, Michael B. The International Politics of Asia-Pacific, 1945-1995. London: Routledge, 1996.

Yi, Xiaoxiong. “China’s Korea Policy: From “One Korea” to “Two Koreas.” Asian Affairs: An American Review no.2 (1995): 119-140.

Zhang, Wei-Wei. Ideology and Economic Reform under Deng Xiaoping, 1978-1993. London: Kegan Paul International, 1996.

Zhang Xiaoming. “The Korean Peninsula and China’s National Security: Past, Present and Future.” Asian Perspective no.3 (1998): 259-272.